สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D มีใครชอบทำกิจกรรม หรือว่าคิดอยากจะทำแต่ยังไม่กล้าออกจาก Comfort zone บ้างมั้ยคะ วันนี้พี่ออมสินจะพาไปพูดคุยกับ รัชชานนท์ วิลวัฒน์ หรือที่เรารู้จักในนาม ‘ตอนยอน’ เจ้าของแอคทวิตเตอร์ @tonyon_ ผู้ที่มีคลิปปังๆ ที่เป็นไวรัลในโลกโซเชียลขณะนี้ แต่ขอบอกว่าก่อนจะมาเป็นบุคคลหน้ากล้อง พี่ตอนยอนเคยเป็นคนขี้อายและไม่กล้าแสดงออกมาก่อน อะไรทำให้เค้าคนนี้กลายมาเป็น TikToker คนดังได้อย่างทุกวันนี้ ตามไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ!
‘ทับปุด’ สถานที่แห่งจุดเริ่มต้น
เรียนเองได้ไม่ง้อการเรียนพิเศษ
“บ้านพี่อยู่อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ตอนนั้นครอบครัวยากจน พี่เลยต้องเรียนที่ ทับปุดวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอของที่นั่น และได้สัมผัสปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมกับระบบการศึกษา
นอกจากไม่มีเงินไปเรียนพิเศษให้ได้เกรดดีๆ ก็ยังไม่มีโอกาสขึ้นกรุงเทพฯ ไปติว Brand Summer Camp ที่เพื่อนๆ เค้าไปกันด้วย แต่เราตระหนักดีว่าการศึกษามันสำคัญ ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ เลยขอคอมพ์กับเครื่องปริ้นท์จากคุณพ่อคุณแม่ แล้วขอกระดาษใช้แล้วจากครูที่โรงเรียน เอามาปริ้นท์ข้อสอบและแบบฝึกหัดที่เค้าแจกฟรีทางอินเทอร์เน็ตมานั่งเรียนนั่งทำเองเป็นพันๆ ข้อ"
ข้าราชการสิดี การงานมั่นคง
ตอนนั้นก็เข้าเว็บ Dek-D ทุกวันเลยนะ 555555 เข้าไปนั่งจัดอันดับ ไปเรียงคะแนนว่าต้องทำให้ได้เท่าไหร่ๆ ถึงจะติดคณะที่อยากเข้า ซึ่งตอนนั้นพี่ก็ถูกผู้ใหญ่ปลูกฝังค่านิยมเดิมๆ มาตลอดว่าเรียนอะไรก็ได้ที่จบไปจะเป็นข้าราชการ เพราะเป็นงานมั่นคงและทำให้พ่อแม่สบาย
พี่เลยเลือกคณะครุศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ-เทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงพี่จะเรียนจบสายวิทย์-คณิตและเป็นตัวท็อปของโรงเรียน 55555 แต่พี่รู้สึกตัวเองไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ต่อ แล้วก็มองว่าเราน่าจะได้ใช้ภาษาไปต่อยอดได้หลายช่องทางด้วย
(สุดท้ายพี่ตอนยอนก็สอบติดโดยไม่ได้เรียนพิเศษ และเหมือนจะเป็นคนแรกในรอบ 10 ปีของโรงเรียนเลยที่ติดจุฬาฯ)
‘CU Miracle’ ก้าวแรกของเส้นทางพิธีกร
อดีตเด็กเนิร์ดขี้อาย
“สมัยมัธยมพี่เหมือนเป็นเด็กเนิร์ดสายวิชาการอ่ะ ไม่กล้าแสดงออก ไม่ได้ Come out กับที่บ้านด้วยว่าเป็นตุ๊ด (แอบคิดว่าพ่อแม่น่าจะรู้แค่ไม่พูด) ตอนกีฬาสีพวกเพื่อนๆ ที่เป็นกะเทยก็จะลงเป็นเชียร์ลีดเดอร์อะไรนู่นนี่ แต่พี่คือจองแสตนด์ตลอด เป็นแค่คนนั่งเชียร์เฉยๆ ไม่มีบทบาทอะไร
พอขึ้นปี 1 ก็เลยอยากหาอะไรที่เป็นตัวเองทำ พี่ไม่เคยแสดงออก ไม่เคยเต้น ไม่เคยเอนเตอร์เทนผู้คน แต่ลึกๆ แล้วเหมือนหัวใจเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา เพราะเวลาได้ยินเสียงเพลงเท้าเรากระดิกนำไปแล้ว 55555
ที่มาของ ‘ตอนยอน ต๊ะตอนยอน’
จุดเริ่มต้นคือเข้าชมรมสันทนาการที่ชื่อว่า ‘CU Miracle’ ของคณะครุศาสตร์ ชื่อเล่นจริงๆ ของพี่คือเจมส์ แต่ตอนนั้นมันต้องมีชื่อลับเป็นสเตจเนมอะไรงี้ พี่ก็อยากได้อะไรที่มัน contrast กับตัวเอง พอดีเป็นคนใต้เลยเลือกชื่อตอนยอนแล้วกัน (เป็นคำเหนือ แปลประมาณว่าลั้นลา chill chill) พอตั้งแบบนี้คนก็จะชอบมาถามจริงๆ ว่าเป็นคนเหนือเหรอ
ที่ชมรมพี่ได้ฝึกร้อง ฝึกเต้น ได้เชียร์และสร้างความสนุกและเสียงหัวเราะให้กับผู้คน แล้วค้นพบว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านการพูด ตอนเป็นพิธีกรก็เห็นคนดูเค้าสนุกไปกับเรา ยิ่งพอจบงานมีคนบอกว่าชอบที่เราพูดก็ยิ่งทำให้รู้สึกดีมากๆ ทำให้ตอนปี 2 ตัดสินใจไปสมัครเป็นพิธีกรของมหา’ลัย คือ MC of Chula และ MC of CU Band แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 2 ที่เลยค่ะ
ค่ายจังหวัดเป็นดั่งสถานที่ลับฝีมือ
เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก
“อย่างที่บอกว่าพี่เป็นเด็กต่างจังหวัดที่โตมากับค่านิยมการรับราชการ เพราะฉะนั้นมุมมองการรับรู้เกี่ยวกับคณะที่จะเรียนของพี่คือน้อยมาก ตอนสอบก็เลือกคณะตามใจคนอื่น พอมาเรียนจริงพี่กลับไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ยิ่งพอมาอยู่ชมรมสันทนาการแล้วค้นพบว่าชอบสายนี้ ตอนปี 1 เลยคิดจะซิ่วไปสอบเข้านิเทศจุฬาฯ รายงานตัวเรียบร้อย เหลือขั้นตอนจะลาออกจากคณะเดิมเท่านั้น
ตอนนั้นคิดหนักมากเลยนะ มีเวลาให้ตัดสินใจ 1 เดือน เอาแต่นั่งคิดวนว่าจะเอายังไงดี จะออกหรือไม่ออก เพราะยังมีความคิดฝังหัวอยู่ว่าจบนิเทศแล้วหางานยาก จนวันสุดท้ายประมาณบ่ายสามโมง พี่โทรไปหาสำนักงานทะเบียนถามเค้าว่ายังลาออกทันมั้ย เจ้าหน้าที่บอกทำได้แต่ขั้นตอนยุ่งยากหน่อย ตอนนั้นเลยแบบโอเค ยอมแพ้ไม่ลาออกแล้ว”
สร้างเส้นสายและเครือข่ายให้ตัวเอง
“ทีนี้เราก็ไปสมัคร MC of Chula กับ MC of CU Band อีก แต่ไม่ผ่านรอบแรก พอมานั่งคิดจริงจังว่าอยากทำอะไรสักอย่าง ก็นึกถึงตัวเองตอนมัธยมที่ไม่รู้เรื่องสายการเรียนใดๆ ทำให้อยากลองแนะนำให้น้องๆ ที่บ้านได้ค้นหาเส้นทางของตัวเองจนเจอ ซึ่งปกติที่จุฬาเค้าจะมีค่าย เช่น จุฬาขอนแก่น จุฬาเชียงใหม่ จุฬานครศรีธรรมราช ฯลฯ เป็นเหมือน Community คนจังหวัดนั้นๆ ที่เค้ามาเรียนที่นี่ แล้วกลับไปทำค่ายที่จังหวัดตัวเองทุกปี แต่จุฬาพังงายังไม่มี
ตอนนั้นพี่อยากจัดมากกก เลยเริ่มไปเข้าร่วมกับทุกค่ายเลย ไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ตะลุยทุกจังหวัด เหมือนเป็น World Tour 555555 พอสร้างคอนเนกชันได้มากพอ ปี 3 เลยทำเรื่องจัดตั้งจุฬาพังงารุ่นที่ 1 สำเร็จค่ะ! เราแฮปปี้กับบทบาทประธานค่ายในครั้งนั้นมากเหมือนบรรลุเป้าหมายแรกของชีวิต ยิ่งตอนจบค่ายน้องเดินมาบอกว่า ‘ขอบคุณนะคะที่ทำค่ายให้พวกเรา’ โอ้โห ตื้นตันในอก บอกเลยว่าภูมิใจที่สุดในชีวิตแล้ว”
เพชรที่ถูกเจียระไน
“ช่วงที่ไปเข้าร่วมทุกค่ายเนี่ยแหละเหมือนได้ลับฝีมือ เพราะพี่ได้เป็นพิธีกรดำเนินรายการเองบ่อยมาก พบเจอพูดคุยกับน้องๆ ตลอดจนมีประสบการณ์และมั่นใจกับงานตรงนี้มากขึ้น พอขึ้นปี 3 เลยลองไปสมัคร MC of Chula และ MC of CU Band อีกครั้ง คราวนี้ได้รับการคัดเลือก เลยได้ทำงานควบสองหน้าที่พร้อมกันเลย
เส้นทางกว่าจะได้เป็นพิธีกร
MC of Chula
“ถือเป็นงานใหญ่สุดในจุฬาฯ สำหรับคนที่อยากเป็นพิธีกร มีให้เลือกเป็นภาคพิธีการ ภาคบันเทิง และภาคอินเตอร์ ส่วนพี่เลยเลือกภาคบันเทิง รอบแรกจะได้ Audition ก่อน มีโจทย์กับเวลา 3 นาทีให้เราดำเนินรายการเองทั้งหมด คัดเหลือจากประมาณ 1,000 คนเหลือภาคละ 10 กว่าคน
พอเข้าสู่ Semi-final รอบนี้จะสุ่มแบบจับคู่ให้ดำเนินรายการร่วมกัน เค้าจะดูการทำงานเป็นทีม แต่ตัดสินจากทักษะส่วนบุคคล จากสถิติที่ดูมาคือส่วนมากถ้าผ่านมักจะผ่านเป็นคู่แหละ ดังนั้นคู่จะมีผลค่อนข้างมาก ต้องพึ่งแต้มบุญแต้มดวงสุ่มให้ได้คู่ดีๆ ในรอบนี้คัดออกเหลือแค่ 8 คน
รอบ Final ยิ่งใหญ่สุด จัดที่หอประชุมคณะครุศาสตร์ ต้องดำเนินรายการโดยการสุ่มคู่และมีเวลาเตรียมตัวกับคู่เพียงแค่ 10 นาทีก่อนขึ้นเวที นอกจากนี้จะมี Pop-Up ขึ้นมาให้แก้สถานการณ์ ซึ่งท้าทายมากก แล้วจะประกาศผลคนที่ได้รับการคัดเลือกตรงนั้นเลย โดยจะมีภาคพิธีการ 4 คน ภาคบันเทิง 4 คน และภาคอินเตอร์ 2 คน ดังนั้นในแต่ละปี MC of Chula จะมี 10 คนเท่านั้น และดำรงวาระ 1 ปี”
MC of CU Band
“เป็นหน้าที่พิธีกรในวงดนตรีค่ะ คัดเลือกรอบแรกโดยการ Audition ก่อน เค้าจะกำหนดโจทย์ให้เราดำเนินรายการเองเหมือนกัน ถ้าผ่านจะได้เข้าไปแข่งรอบ Workshop แล้วประกาศผู้ได้รับคัดเลือกเลย
ตรงนี้จะต่างจาก MC of Chula คือหากได้รับคัดเลือกจะทำหน้าที่ตลอดแบบไม่มีหมดวาระ อย่างพี่ได้รับการคัดเลือกตอนปี 3 พอขึ้นปี 4 5 ก็ยังทำอยู่”
“การเป็นพิธีกรสนุกมาก ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ”
MC of Chula จับงานท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน
“จริงๆ พี่ชอบทุกงานที่ได้ทำ เพราะทุกครั้งมีเรื่องราวและความประทับใจตลอด แต่ถ้าที่สุดในใจขอยกให้งานลอยกระทงที่จุฬา เป็นงานแรกที่ทำในฐานะ MC of Chula งานใหญ่มาก และสอนอะไรดีๆ เยอะเช่นกัน มันเป็นงานที่ไม่นิ่ง เพราะมีคนเดินไปเดินมาตลอด เราจะควบคุมคนยังไง จะเรียกความสนใจจากเค้าแบบไหน ไหนจะมีคอนเสิร์ตอีก เราจะต้องดำเนินรายการไปแบบไหนให้งานออกมา smooth มากที่สุด
อีกอันนึงก็ Freshy Game / Freshy Night เป็นงานสเกลใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้ว ต้องควบคุมเด็กปี 1 เป็นหมื่น ใช้เสียง ใช้พลังเยอะมากๆ ตอนจบงานมีคอนเสิร์ตอีกก็ยิ่งต้องขุดพลังมหาศาล แต่สนุกและทำให้เติบโตไปอีกสเต็ป หรือมีอีกงานที่หนักหน่วงเหมือนกันคือได้พิธีกรงานวิ่ง Science Run วันนั้นตื่นตี 4 เลย ต้องปล่อยคนจากจุดสตาร์ต และคอยพูดเชียร์ผู้เข้าแข่งขันอีก
สุดท้ายคืองานประเพณีรักบี้ระหว่างจุฬากับธรรมศาสตร์ งานนี้เป็นโฆษกหน้าปรัมพิธี แล้วต้องดวลไมค์ประชันกับ MC of TU พูดเชียร์ พูดบลัฟกันตรงนั้นสดๆ พร้อมกับพากษ์กีฬาที่ไม่คิดเลยว่าจะได้มาทำตรงนี้ เป็นอีกงานที่ประทับใจจนลืมไม่ลงเลย”
MC of CU Band อีกโลกของการทำหน้าที่พิธีกร
“เรารู้สึกเหมือนได้ใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีในตัวแล้ว เพราะไม่ได้ทำแค่หน้าที่พิธีกร แต่ต้องแสดงร่วมไปกับวงดนตรีด้วย แล้วปกติ CU Band จะมีออกทัวร์ไปเปิดแสดงตามต่างจังหวัด ไปทีก็เป็นอาทิตย์ ทำให้เลยได้โอกาสติดสอยห้อยตามไปด้วย
เวลาออกทัวร์แต่ละครั้งสถานที่ก็ต่างกันแบบสุดๆ อย่างเช่นมีอยู่ครั้งนึง วันแรกไปแสดงที่โรงเรียน ต้องใช้เอนเนอร์จี้คุยกับน้องๆ ด้วยเสียงแปดเสียงเก้า แต่อีกวันไปแสดงในเทศกาลดนตรีที่มีหลายมหา'ลัยมาเข้าร่วม ค่อนข้างทางการเลยแหละ พอวันต่อมาไปแสดงที่ลานเบียร์ ก็จะได้คุยกับคุณลุงคุณป้าด้วย
ในสัปดาห์นึงมีรูปแบบการทำงานต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้พี่ได้เรียนรู้และเติบโตบนเส้นทางสายนี้แบบเกินคาดไปมาก คิดว่าถ้าไม่มาเข้า CU Band คงไม่มีโอกาสได้จับงานพิธีกรที่สนุกและท้าทายแบบนี้ได้อีกแล้ว”
เมื่อไม่ได้เรียนนิเทศฯ เลยต้องหาทักษะอย่างอื่นมาทดแทน
ขอฝึกงาน Upskill
“อย่างที่เล่าว่าเรียนจริงแล้วนึกภาพตัวเองเป็นครูไม่ออก ในใจมีแต่ความคิดอยากทำงานสายนิเทศฯ ซึ่งปกติแล้วพอจบปี 3 คณะอื่นจะมีฝึกงาน แต่ครุไม่มีเพราะเราจะได้ฝึกสอนตอนปี 5 พี่เลยอาศัยเวลาช่วงนั้นมาเพิ่มสกิลนิเทศฯ ที่เราไม่ได้เรียนในคณะ ก็เลยไปฝึกงานตำแหน่ง Creative ที่ Trasher, Bangkok เป็นบริษัทคล้ายๆ เอเยนซี่ มีถ่ายงาน ทำโปรดักชัน คิดสคริปต์งาน แล้วจะมีปล่อยคลิปแนวตลกๆ ด้วย เลยได้พัฒนาทักษะสำหรับสายงานนี้จริงจังและเห็นการทำงานสายบันเทิงชัดขึ้น
พอฝึกครบ 2 เดือน พี่ที่ทำงานบอกว่าเห็นเรามีแวว มีความตลกในสายเลือดและเอนเตอร์เทนคนได้ ก็เลยให้โอกาสไปทำงานถ่ายคลิปกับเค้าด้วย ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก คนชอบ แมสและเป็นไวรัล
โควิดเป็นเหตุ
ตอนนั้นโควิดกำลังระบาดหนักรอบแรก พี่เลยถ่ายสตอรี่ไอจีแล้วเอามาอัปลงเฟสบุ๊ก ปรากฏว่าแมสเฉยเลย คนแชร์เยอะมาก พอมีคนเอาไปลงทวิตก็แมสอีก ช่วงนั้นเลยลองทำคลิปออกมาเรื่อยๆ เริ่มจากเฟซบุ๊กแล้วเห็นคนเอาไปลงแพลตฟอร์มอื่นจนแมสอีก จุดนั้นเราเริ่มคิดว่า ‘Sense of Humor’ เราก็ได้อยู่
เราตัดสินใจเปิด Account เป็นของตัวเองมันทุกช่องทาง แรกๆ ก็ลงคลิปมันทั้งวันทุกช่วงเวลา เพื่อดูว่าช่วงไหนจะได้ยอดเอนเกจเยอะที่สุด แล้วมารู้ทีหลังว่ามันมีแอปพลิเคชันที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเจาะลึกได้ว่าเวลาไหนที่ผู้ติดตามเราจะเห็นคลิปเรามากที่สุด”
TikTok แอปมหัศจรรย์ที่ใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้
กว่าจะได้มาซึ่ง In basic gay คอนเทนต์สุดแมส
“ถ้าเป็นการทำงานปกติจะมีพี่ทำคนเดียว แต่สำหรับโปรเจกต์พิเศษอย่าง parody หนังหรือละคร ก็จะมีรุ่นน้องมาคอยช่วยบ้าง
เราได้เอาความรู้จากตอนที่ฝึกงานมาใช้ทั้งหมด เริ่มแรกเราจะหาไอเดียก่อน โดยการจับนั่นจับนี่มาผสมกัน พอคิดได้ว่าอยากทำอะไรก็เขียนสคริปต์ เตรียมเสื้อผ้า หา reference การแต่งหน้าว่าอยากให้ออกมาแบบไหน เซตไฟ ถึงเวลาก็ตั้งกล้องถ่าย เรื่องตัดต่อก็ทำเองเหมือนกันเพราะเดี๋ยวนี้มันง่ายมาก มีแอปฟรีๆ ดีๆ ให้โหลดเยอะ
ขั้นตอนที่เล่าไปจะเป็นคลิปส่วนที่สต็อกไว้แล้วจะลงตอนไหนก็ได้ (คลิปที่ไม่ได้เล่นกับกระแส) สมมติมีไอเดียทั้งหมด 5 คอนเทนต์ เราจะเตรียมการทำทั้งหมดไว้ พอถ่ายก็ถ่ายรวด 5 คลิป แต่ถ้าเป็นพวก Gag สั้นๆ หรือคลิปที่ต้องการความเร็วเพราะเดี๋ยวกระแสหาย ก็ตั้งกล้องถ่ายเลยประมาณ 10 นาที ไม่ได้เตรียมเยอะ”
Multiskill ไปกับ TikTok
“การเป็น TikToker ทำให้พี่ได้เรียนรู้เยอะมากเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าพี่ทำเองทุกอย่าง ดังนั้นเราจะได้เป็นทั้งครีเอทีฟ คนเขียนบท สไตลิสต์ ช่างไฟ ตากล้อง คนตัดต่อ และดู marketing ด้วยว่าจะทำยังไงให้คลิปแมส เพราะถ้าแมสจะมีโอกาสที่ลูกค้าเข้ามา มีทั้งให้เรา tie-in สินค้าในคลิป หรือสมมติเป็นค่ายเพลงที่อยากโปรโมตเพลงใหม่ เค้าอาจจะมาจ้างพี่ให้ใช้เพลงนั้นๆ"
เดี๋ยวนี้ภาพจำสำหรับคนทั่วไป Tiktok ไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่ใช่แอปจากจีนที่เอาไว้ลงแต่คลิปเต้น แต่มีคอนเทนต์หลากหลายและมีประโยชน์ พวกคนสอนเล่นหุ้นก็มี
"พี่ยังมองด้วยว่า TikTok คือแอปมหัศจรรย์ คือถึงเราจะเป็นมือใหม่มีผู้ติดตามเป็นศูนย์ แต่ยอดวิวคลิปเรามีโอกาสทะลุล้านได้ ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเป็น Content Creator ได้ อยากนำเสนออะไรก็หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย ในขณะเดียวกันคือเป็นแอปมาแรงที่บริษัทต่างๆ จับตามองเป็นช่องทางโปรโมต ลูกค้าบางคนของพี่ก็เข้ามาจ่ายแพ็กเกจเหมาให้เราลงทุกแพลตฟอร์ม (1 คลิปลงหลายที่) บางเจ้าก็เจาะจงเลยว่าต้องเป็นแพลตฟอร์ม TikTok"
เรียนครู คือ การเรียนเพื่อพูดให้คนอื่นเข้าใจ
“พี่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปเรียนนิเทศ แต่ไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่ได้เรียนครู หลังจากเข้าชมรม CU Miracle พี่ถึงพบว่าตัวเองรักการพูด และการเรียนครุฯ ก็มีความสุขเพราะครูเป็นอาชีพที่ต้องพูด ต้องย่อยข้อมูลยากๆ ให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย
อย่างในคณะจะมีวิชาที่ชื่อว่า ‘วิธีวิทยาการสอน’ เราต้องทำแผนและสื่อการสอน รวมถึงฝึกวิธีพูดให้เด็กเข้าใจง่ายๆ และกระชับ จากนั้นเราจะได้สอนจริงหน้าห้องเรียนด้วย
ดังนั้นการเป็นทั้งพิธีกรและคนที่สร้างคอนเทนต์ เลยได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเต็มๆ เพราะคนดูใน TikTok ก็เปรียบเสมือนนักเรียน เราต้องมาคิดแล้วว่าจะพูดแบบไหนให้เขาสนใจสารที่เราต้องการนำเสนอ”
ในอีกหนึ่งบทบาท คุณครูแม่พิมพ์ของชาติ
"มีแผลในใจกับครูแบบไหน จะไม่เป็นครูแบบนั้น”
“ช่วงที่ฝึกสอนและได้เป็นครูจริงๆ เรามองหน้าเด็กๆ แล้วเหมือนได้ flashback ไปตอนเห็นตัวเองและเพื่อนสมัยเรียน ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาดี อย่างตอนเทอม 2 พี่ไปฝึกสอนที่โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง แล้วที่นั่นมี LGBTQ+ เยอะมาก ตอนนั้นพี่เข้าใจเลยว่าพวกเค้ารู้สึกยังไง ต้องเผชิญกับอะไร และอยากจะทำอะไร พวกเค้าต้องการครูแบบไหนที่จะเข้าใจเค้าได้ เราก็จะเป็นครูแบบนั้นให้พวกเขา ตั้งใจเลยว่าตอนเด็กมีแผลในใจกับครูแบบไหน พี่จะไม่เป็นครูแบบนั้นเด็ดขาด”
ปัญหาการศึกษาไม่ได้อยู่ที่นักเรียน
“เด็กรุ่นใหม่เค้ากล้าพูดและกล้าแสดงความคิดเห็นกันมากๆ เพราะเค้ารู้ว่าสิทธิของเค้าคืออะไรและทำยังไงถึงจะได้มันมา เพราะฉะนั้นปัญหาการศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เด็กเลยค่ะ แต่อยู่ที่ครูรุ่นเก่าๆ ที่เค้ายึดติดและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงต่างหาก
ถึงแม้พี่จะไม่ได้เป็นครูแล้ว แต่จะคอยมองอยู่ห่างๆ ตลอด ถ้ามีประเด็นเรื่องการศึกษาเมื่อไหร่พี่จะกระโดดเข้าไปทันที จะไปอยู่ข้างเด็กๆ ไปช่วยพวกเค้า เป็นปากเป็นเสียงให้กับนักเรียนทุกคน เพราะพี่ถือว่าครั้งหนึ่งพี่ก็เคยเป็นครูและมีนักเรียนเป็นของตัวเองเหมือนกัน”
โควิดกับการต้องสอนออนไลน์
“พี่เป็นนิสิตที่ได้เรียนออนไลน์ พอไปฝึกสอนก็ได้สอนออนไลน์ ทำให้เข้าใจปัญหาทั้งในมุมของผู้สอนและผู้เรียน ตอนพี่เรียนในคณะ เค้าจะมีสอนวิธีการสอนและการรับมือกับเด็กในห้องเรียน เช่นถ้าเด็กเริ่มเสียงดังเราจะต้องไปยืนใกล้ๆ เค้า หรือถ้าเด็กมีปฏิกิริยาแบบนี้แบบนั้นเราจะต้องรับมือแบบไหน ซึ่งก็เป็นเทคนิคที่มักจะใช้ได้แค่กรณีเรียนในห้อง พอเป็นออนไลน์ก็ต้องเรียนรู้เองที่หน้างาน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ ตอนนั้นมีนักเรียนที่เข้ามาเรียนได้แค่ 10 กว่าคน แล้วก็บอกว่าเพื่อนคนนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ คนนี้ไม่มีอินเตอร์เน็ต ขนาดเป็นโรงเรียนในกรุงเทพยังขนาดนี้ แล้วเด็กในต่างจังหวัดจะขนาดไหน จะมีเด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาอีกกี่คน”
อยากฝากอะไรถึงน้องๆ บ้าง
“กล้าเป็นตัวเองค่ะ หาตัวเองให้เจอ เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้ว่าอยากทำหรืออยากเป็นอะไร เราจะทำสิ่งนั้นได้อย่างมีความสุข สิ่งที่ช่วยได้มากคือกิจกรรม เป็นพื้นที่ให้เราเข้าไปสำรวจตัวเองได้ อย่างพี่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองพูดได้ ถ้าไม่ตัดสินใจเข้าชมรม CU Miracle วันนั้น คงไม่มีตอนยอนในวันนี้ ตอนเข้าชมรมวันแรกมีเต้นมีแสดง ต้องแต่งตัวใส่รองเท้าซ้อมเต้น แต่พี่ไม่มีเลยไปยืมเพื่อนในคณะ ต้องขอบคุณรองเท้าคู่นั้นของเพื่อนเหมือนกันที่ทำให้พี่มาถึงจุดนี้ และยังคงพัฒนาเรื่อยๆ เป็น Tiktoker หลังเรียนจบแค่ 2 เดือน หาเงินพอเลี้ยงตัวเองได้
และอยากทิ้งท้ายถึงน้องๆ LGBTQ+ ทุกคน ขอให้หนูเป็นตัวเราเอง ไม่ต้องทำอะไรเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะหนูมีค่าในตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดใครมีปัญหาที่บ้านหรือปัจจัยอะไรก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถ Come out ได้ พี่ขอเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ ในเมื่อเราเลือกครอบครัวที่ให้กำเนิดไม่ได้ แต่เรามี Chosen family ของเราเองได้ อยู่กับกลุ่มคนที่รักและรายล้อมไปด้วยคนที่เข้าใจในตัวน้อง พี่เชื่อว่าน้องๆ จะมีความสุข พี่อยู่ข้างน้องเสมอนะคะ”
......................
โอ้โห! ต้องบอกว่าการทำกิจกรรมสร้างประสบการณ์ชีวิตที่คุ้มค่าให้พี่ตอนยอนสุดๆ ไปเลยนะคะ น้องๆ คนไหนที่ลังเลอยากทำกิจกรรม อยากก้าวออกมาจาก Comfort zone แต่ยังไม่กล้า อย่ารอช้าค่ะ พุ่งไปทำสิ่งที่อยาก ไม่แน่น้าน้องๆ อาจจะได้พบว่าอะไรที่สร้างความสุขให้ชีวิตเราก็ได้นะคะ
ส่วนน้องคนไหนที่ไม่ชอบทำกิจกรรม ไม่เป็นไรค่ะไม่ต้องรู้สึกกดดันว่าชีวิตเราจะคุ้มมั้ยนะจนกลายเป็นฝืนตัวเอง เพราะความคุ้มค่าและความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังที่พี่ตอนยอนบอก การเป็นตัวเอง ฟังเสียงหัวใจของตัวเรานั้นดีที่สุดแล้วค่ะ
3 ความคิดเห็น