ปังเกินต้าน! ม.กรุงเทพ จับมือ Berkeley SkyDeck Fund
ปั้น Innovative Business Startup ปีที่ 2 มีผู้เข้าแข่งขันจาก 7 ประเทศทั่วโลก
จากความตั้งใจของ อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าถึง และลดช่องว่างทางการศึกษากับการทำงาน เราจึงได้เห็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพในเวอร์ชันใหม่ๆ ที่นอกจากสนุก สร้างสรรค์ ทันสมัยแล้ว ยังได้เห็นถึงการพัฒนานักศึกษาให้ก้าวเข้าสู่นวัตกรรมอย่างแท้จริง
ใครเป็นสายเทคโนโลยี ติดตามวงการ Startup มาบ้าง ต้องได้เคยยินชื่อ BU Hackathon ซึ่งในปีนี้กิจกรรม BU x Berkeley SkyDeck Fund Hackathon 2024 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ในหัวข้อ Innovative Business Project โดยยังคงร่วมมือกับ Berkeley SkyDeck Fund หนึ่งในองค์กรให้คำปรึกษาและแหล่งเงินทุนกับสตาร์ทอัพระดับโลกเช่นเคย โครงการนี้เปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท เข้าร่วมการแข่งขันได้ พร้อมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 270,000 บาทเลยทีเดียว
เป้าหมายของกิจกรรมนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองไปถึง 3 ระดับ คือ
- พัฒนานักศึกษาให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ซึ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจและพัฒนานวัตกรรม
- พัฒนาการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
- ยกระดับความร่วมมือระหว่างนักศึกษาไทยและนักศึกษาจากต่างประเทศ พร้อมความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ เงินลงทุนเริ่มต้น (VCs) ในประเทศไทย ตลอดจน Berkeley SkyDeck Fund เพื่อสร้างความเข้มแข็งระดับโลก
สำหรับปีนี้การจบลงไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 58 ทีม กว่า 23 มหาวิทยาลัย จาก 7 ประเทศทั่วโลก โดยในการแข่งขันแต่ละทีมจะต้องนำเสนอโครงการธุรกิจเป็นภาษาอังกฤษ ในรอบคัดเลือกจะต้องส่งผลงานโครงการเป็นวิดีโอคลิปผ่านออนไลน์ และในรอบชิงจะเป็นการแข่งขันแฮกกาธอน ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นเวลา 2 วัน (28-29 มีนาคม 2567) ซึ่งจะได้รับการอบรมทางธุรกิจจากผู้ประกอบการตัวจริงจากแวดวงต่างๆ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การนำเสนอโครงการธุรกิจที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาธุรกิจและการเงิน เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะต่อไป
สำหรับผลการแข่งขัน มีดังนี้
ทีมที่ชนะรางวัลที่ 1 ทีม Glowco จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โครงการ “Painless home use cholesterol screening kit”
- ได้รับรางวัล 100,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร
ทีมที่ชนะรางวัลที่ 2 ทีม Workhard REPS จาก Petra Christian College
- โครงการ “Repurposed – Green Bin”
- ได้รับรางวัล 80,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร
ทีมที่ชนะรางวัลที่ 3 ทีม Surety จาก Singapore University of Social Sciences
- ชื่อโครงการ “Surety Menopause Management”
- ได้รับรางวัล 50,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัล Honorable Mention (ได้รับรางวัล 10,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร)
- ทีม PEER Lab จาก Hosei University - ชื่อโครงการ “Pineapple Leather”
- ทีม Excel In Stone จาก Asian Institute of Technology – ชื่อโครงการ “Thirsty Concrete”
- ทีม UGBN จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี - ชื่อโครงการ “IoT-ULAP”
- ทีม League Apollo: Quick Tech จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ - ชื่อโครงการ “Innovative Business Idea”
กิจกรรมนี้ ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพกำลังก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและต่อยอดเข้าสู่แวดวงธุรกิจ โดยเริ่มต้นสร้างแพชชั่นให้กับนักศึกษาและสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ อาจารย์ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เห็นความสำคัญของ Bridging the gap ว่า
“เรามองเห็นโอกาสในการลดช่องว่างทางการศึกษากับอุตสาหกรรม หรือ การ Bridging the gap ระหว่างวิชาการ ทักษะความรู้ กับการทํางานจริงในองค์กรระดับสากลและบริษัทชั้นนําของโลก หากไม่สามารถปรับตัวได้ ช่องว่างจะยิ่งห่างออกไป และกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ แต่ถ้าสามารถลดช่องว่างนี้ได้ก็จะเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยในการผลิตนักศึกษาที่พร้อมเข้าสู่โลกธุรกิจอย่างแท้จริง”
ดังนั้น แค่น้องๆ กล้าเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เหมือนได้เข้าสู่โลกธุรกิจตั้งแต่เป็นนักศึกษา ไม่ต้องรอฝึกงานจนถึงปี 4 แต่ในทุกๆ ชั้นปีจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ สร้างมุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ ใครอยากมีโอกาสดีๆ แบบนี้ อย่าลืมติดตาม BU Hackathon ปีหน้า หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ ม.กรุงเทพ เลยยย!
0 ความคิดเห็น