Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ย้อนไปดูยุคที่ “หมีแพนด้า” ดังกว่าไอดอล!

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ชาวเกาหลีใต้พากันร่วมพิธีส่งคืนเจ้า #ฟู่เป่า ลูกแพนด้ายักษ์ตัวแรกที่เกิดในเกาหลีใต้เดินทางกลับประเทศจีน จากข่าวดังกล่าวทำให้กระแส #หมีแพนด้า บนโลกโซเชียลได้รับความสนใจจากชาวเน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยสัตว์ชนิดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทูตแพนด้าของจีน  
.
#ความรู้จากข่าว จะพาทุกคนไปย้อนดูเส้นทางการทูตแพนด้าของจีนกันค่ะว่า เริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัยไหน แล้วประเทศไทยได้รับแพนด้าจากจีนครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่?
.

จุดเริ่มต้นการทูตแพนด้า (Panda diplomacy)

  • “การทูตแพนด้า” มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์จีนมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ถัง ที่จักรพรรดิมอบแพนด้าให้กับญี่ปุ่น ต่อมายุคเจียงไคเช็กได้มอบแพนด้า 1 คู่ให้กับสวนสัตว์ในสหรัฐอเมริกาตอบแทนความช่วยเหลือในสงครามกับญี่ปุ่น

  • โดยจะส่งแพนด้ายักษ์ไปให้ในลักษณะของขวัญ ซึ่งเป็นวิธีอย่างหนึ่งที่ทางการทูตของจีนใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสัตว์หายาก พบได้ในป่าทางตอนกลางของประเทศจีนเท่านั้น 

  • ต่อมาประชากรแพนด้ายักษ์เริ่มลดลง ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา จีนเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพนด้ายักษ์ไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะสัญญาเช่า เพื่อการอนุรักษ์แทน โดยประเทศคู่สัญญาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 37 ล้านบาท)

  • และมีข้อกำหนดว่า ลูกของแพนด้ายักษ์ที่เกิดระหว่างสัญญา ให้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศจีน และต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าลูกแพนด้าเพิ่มเติมในแต่ละปีด้วย

  • ที่ผ่านมาประเทศจีนส่งแพนด้าไปเป็น “ทูตสันถวไมตรี” มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ฯลฯ และหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยของเราอีกด้วย

ย้อนเส้นทางการทูตแพนด้าของไทย

  • เมื่อปี พ.ศ.2535 “สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์” เคยนำแพนด้า 2 ตัว จากจีนมาจัดแสดงก่อนแล้ว ชื่อ “ดองดอง” และ “ย่าชิง” แต่ครั้งนั้นเป็นการจัดแสดงอย่างเดียว ไม่ได้ร่วมมือกับทางการจีน เพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์แพนด้า โดยทั้งคู่ใช้เวลาอยู่ไทยแค่ 180 วันเท่านั้น

  • ต่อมาในปี พ.ศ.2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปเยือนจีนและได้เริ่มต้นเจรจาขอแพนด้าจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยและจีน

  • ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 แพนด้ายักษ์ 2 ตัว “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในไทย โดยมีสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแลแพนด้าทั้งสองตัว 

  • เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 หลินฮุ่ยได้ให้กำเนิด "หลินปิง" ลูกแพนด้าตัวแรกในเมืองไทย ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียมของนักวิจัยไทย ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาให้ความสนใจครอบครัวแพนด้ายักษ์เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

  • เกิดเป็นกระแส “แพนด้าฟีเวอร์” ในไทย มีเพลงประจำตัวที่คนร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง “จั๊ด จัด จา ดา ดา ดา จั๊ด จัด”  และมีรายการ “หลินปิง เดอะ เรียลลิตี้” ในช่อง “แพนด้า แชนแนล” ที่ถ่ายทอดสดชีวิตของหลินปิง และครอบครัว ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลานานถึงเกือบ 3 ปี 

  • หลินปิงอยู่โชว์ความน่ารักที่ไทยได้เพียง 4 ปีเท่านั้น เพราะข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่า ไทยต้องส่งลูกแพนด้ากลับไปยังจีน ทำให้หลินปิงต้องเดินทางกลับจีนในวันที่ 28 กันยายน 2556 หลังจากนั้นกระแสแพนด้าในไทยก็เงียบเหงาลงเรื่อยๆ 

  • ตามสัญญาเดิม ไทยต้องคืน “ช่วงช่วง” และ "หลินฮุ่ย" ให้กับจีนในปี พ.ศ.2556 ซึ่งครบกำหนดวาระ 10 ปี แต่มีการต่อสัญญารอบใหม่อีก 10 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงตุลาคม 2566         

  • ต่อมา “ช่วงช่วง” ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ก่อนที่ “หลินฮุ่ย” จะเสียชีวิตลงเมื่อปี 2566 ขณะอายุ 21 ปี ถือเป็นการปิดตำนานแพนด้าตัวสุดท้ายในเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในวันที่ 19 เมษายน 2567 เป็นวันครบรอบ 1 ปี แห่งการจากไปของหลินฮุ่ย 

.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" แย้มข่าวว่าดี ประเทศไทยอาจจะได้ "หมีแพนด้า" มาอยู่ในความดูแลอีกครั้ง  เนื่องจากได้หารือประเด็นดังกล่าวร่วมกับ “นายหวัง อี้” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและ รมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายหวัง อี้ อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ประเทศไทยหมีแพนด้าอีกครั้งหรือไม่ และหากเป็นจริงคนไทยจะมีความคิดเห็นอย่างไร?


ที่มา : 
https://www.tap-magazine.net/blog-th/panda190423 
https://www.thaipbs.or.th/news/content/319881 
https://mgronline.com/travel/detail/9660000036179 
https://www.springnews.co.th/news/infographic/847395 

ภาพจาก : thairath
 

แสดงความคิดเห็น

>