Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เรื่องราวของลุงฟรุตตี้ ลุงที่ขายผลไม้ในจุฬาฯ เห็นแล้วประทับใจเลยเอามาแบ่งปัน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เชื่อว่าใครหลายคนที่เคยสัมผัสกับอัธยาศัยที่ดีของลุงฟรุตตี้แล้ว อ่านบทสัมภาษณ์ต้องประทับใจแน่ ๆ 


ไม่เคยคิดเลยว่าเงาะไร้เม็ดที่เราเคยซื้อจากลุงเนี่ย มีที่มาจากความใส่ใจสุด ๆ อ่า ลองอ่านดูนะ


พอดีไปเจอมาอ่านแล้วประทับใจเลยเอามาแบ่งปันกัน






แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 / 00:42

แสดงความคิดเห็น

>

43 ความคิดเห็น

น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:20 น. 1
เข็มนาฬิกาชี้เวลาบ่ายเศษๆ เสียงย่ำเท้าลงบันไดของเหล่านิสิตที่เพิ่งเลิกจากการร่ำเรียนมาทั้งวันเริ่มดังขึ้น บางคนลงมานั่งรอพ่อแม่อยู่ที่ใต้ถุนตึก บ้างก็จับกลุ่มปรับทุกข์ถึงความยากแสนสาหัสของวิชาที่เพิ่งเรียนมา
       
       พลันเสียง
"แต่ก แต่ก แต่ก แต่ก"
ของรถเวสป้าเก่าๆ ก็ดังแหวกอกาศอันอัดแน่นไปด้วยเสียงจ้อกแจ้กจอแจๆไม่ต่างอะไรจากนกกระจอกเพิ่งแตกรังเข้ามาจอดเทียบอยู่ข้างอาคาร
       
       แทบจะไม่ต้องเหลียวหลังกลับไปดูก็รู้ได้ทันทีว่าเสียงนั่นเป็นสัญญาณที่บอกถึงการมาถึงของ
"ลุงป๊ง", "ลุงฟรุต", "ลุงฟรุตตี้....."
หรือชื่ออื่นๆ อีกมากมายตามแต่ว่าเด็กคณะไหนจะบัญญัติขึ้นมา
       
       แต่ท้ายสุดก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า กำลังพูดถึง อาแป๊ะแก่ๆ หัวล้านเหม่งแต่ไม่เคยเม้งใคร ขี่เวสป้าเก่าๆ สีเขียว มีถังน้ำแข็งใบใหญ่พ่วงท้าย ข้างในบรรจุผลไม้พร้อมทาน รสชาติหวานลิ้น กินแล้วชื่นใจ
       
       ใครคือลุงป๊ง???
0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:22 น. 2

 ลุงป๊ง หรือ ประมวล หรือชื่อจีนว่า บักเซี้ย แซ่ลิ้ม เป็นชายวัย 53 ที่เร่ขายผลไม้อยู่ในรั้วจามจุรีมานานกว่า 20 ปี ลุงป๊งเป็นคนขายผลไม้เพียงไม่กี่คนที่รับในอาชีพนี้มาจากรุ่นพ่อและกำลังพยายามถ่ายทอดให้คงอยู่ไปสู่รุ่นลูก สิ่งสำคัญที่ทำให้ผลไม้ในถังของลุงป๊งต่างจากผลไม้หาบเร่อื่นๆ ก็คือ ทุกครั้งที่ลุงป๊งขาย ลุงป๊งจะใส่ความรักและหัวใจลงในผลไม้ทุกๆ ชิ้นด้วย
       
       และด้วยความรักในอาชีพนี้เองที่ทำให้ลุงป๊งสามารถจดจำชื่อลูกค้าได้เกือบทุกคน ลุงจำได้แม้กระทั่งว่าลูกค้าคนไหนชอบทานอะไร ลูกค้าคนไหนเคยถามถึงผลไม้ชนิดไหนไว้ บางคนเพิ่งเคยซื้อผลไม้ของลุงเป็นวันแรกแต่พอรุ่งขึ้นกลับต้องแปลกใจที่พบว่าชื่อของเขากับรายการผลไม้ที่ซื้อไปเมื่อวานได้เข้าไปอยู่ในเสี้ยวความจำของลุงป๊งไปเสียแล้ว
       
       "ลุงรักงานนี้ ลุงจะพยายามจำให้ได้ว่าลูกค้าคนไหนชอบทานผลไม้แบบไหน ความสุขในการทำงานของลุงมาจากนิสิตกับคณาจารย์ ลุงชอบให้ลูกค้าเข้ามาคุย ชอบให้ลูกค้าเข้ามาติจะได้รู้ความจริง เวลาลุงมีเรื่องไม่สบายใจจากที่บ้านลุงก็จะออกมาขายของ พอออกมาขายก็จะรู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น" ลุงป๊งกล่าวอย่างอารมณ์ดี






       
       ความรักในงานขายผลไม้นั้นไม่ใช่ลุงป๊งคนเดียวที่มีหากย้อนไปสมัยเมื่อ 56 ปีก่อน เมื่อครั้งที่คุณพ่อของลุงป๊งหรือที่ประชาคมชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นเรียกกันว่า "ลุงเทียมมี่" หรือ "ทิมมี่" ยังขายอยู่ ผู้ซื้อและคนละแวกนั้นก็สามารถรับรู้ได้เช่นกันว่าลุงทิมมี่ได้ใส่ความรักลงไปในการขายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลุงป๊งผู้เป็นลูกคนนี้
       
       ลุงป๊งยังเล่าให้เราฟังอีกว่าคุณพ่อของลุงเป็นคนอารมณ์ดี ชอบชวนลูกค้าคุย และวิธีการขายของคุณพ่อก็ไม่เหมือนกับคนอื่นนั่นคือ "ไม่รอให้ลูกค้าเข้ามาหาแต่จะแต่เดินเข้าไปพูดคุยเหมือนลูกค้าเป็นคนในครอบครัวที่คุ้นเคยกันมานาน" ซึ่งวิธีนี้เองเป็นวิธีการขายที่รุ่นพ่อ "ทิมมี่" ได้เพียรพยายามถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูก "ฟรุตตี้" และนี่ก็เป็นการขายที่ทำให้นิสิตหลายคนอดไม่ได้ที่จะล้วงกระเป๋าหยิบเงินขึ้นมาซื้อผลไม้ของลุงทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะซื้อ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกขู่บังคับให้ซื้อหรือซื้อเพราะความจนใจเพื่อที่คนขายจะได้ไปๆ จากชีวิตเหมือนอย่างที่เคยรู้สึกกับเซลส์แมนบางรายที่พยายามยัดเยียดการขายจนทำให้ลูกค้าหลายคนต้องรีบจบการสนทนาโดยการรีบซื้อเพื่อรีบที่จะตัดบท....
       
       "คุณแจ๋วครับวันนี้มีส้มเช้ง แตงโมเย็นๆ มะม่วงก็มีนะครับ อ้อ...มีมะม่วงสุกด้วยเห็นวันก่อนคุณแจ๋วถามหา พอดีเมื่อวานมีของมาเลยทำมาด้วยเผื่อคุณแจ๋วอยากทาน ไม่ทราบว่าคุณแจ๋วจะทานอะไรดีครับ" แจ๋ว,อัจฉรา นิสิตจุฬาฯ รหัส 45 หนึ่งในลูกค้าประจำของลุงป๊งบอกกับเราถึงประโยคที่ทำให้เธอกลายมาเป็นลูกค้าประจำของลุงอย่างเต็มตัว พร้อมทั้งยังบอกอีกว่าหากให้นึกถึงลุงป๊งสิ่งแรกที่จำได้คือรอยยิ้มแล้วก็เสียงหัวเราะ "แหะๆ ๆ ผลไม้มั้ยคร้าบ....."
       
       จากประสบการณ์อันโหดร้ายสู่ตำราการทำผลไม้หวาน อร่อย


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 / 00:37

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:25 น. 3

"เท่าที่จำความได้ลุงก็นั่งปอกผลไม้ตั้งแต่ 8 ขวบแล้ว ตอนตี 2 ก็ต้องถูกปลุกไปช่วยพ่อซื้อผลไม้ที่ตลาด ดูอะไร ซื้ออะไรก็ไม่เป็นหรอก คุณพ่อลุงก็ให้นั่งเฝ้าของบ้าง แบกของบ้าง ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าเบื่อมาก พอคุณพ่อลุงเผลอทีไรลุงก็จะแอบหนีไปเที่ยวประจำ" ลุงป๊งเริ่มเล่าต่อถึงเหตุการณ์ที่พาให้ชีวิตของลุงต้องหันมาทำอาชีพที่ลุงเคยเบื่อแสนเบื่อ
       
       ลุงป๊งเล่าว่านอกจากลุงจะต้องช่วยพ่อทำผลไม้แล้วลุงก็ยังต้องช่วยพ่อขายด้วย แต่หลังจากที่ลุงป๊งเรียนจบประถม 4 คุณพ่อของลุงก็บอกให้ลุงออกไปหาประสบการณ์นอกบ้านด้วยหวังอยู่ลึกๆ ว่าประสบการณ์เหล่านั้นจะช่วยหล่อหลอมให้เด็กชายตัวน้อยๆ ที่คอยรุนรถเข็นวิ่งตามพ่อไปขายของที่จุฬาฯ บ้าง สวนลุมบ้าง ให้เติบใหญ่เป็นชายหนุ่มที่เข้มแข็ง อดทนและพร้อมที่จะออกมาเป็นเถ้าแก่ มีกิจการเป็นของตัวเองไม่ต้องหาบผลไม้เร่ขายตากแดด ตากฝนเหมือนอย่างที่ผู้เป็นพ่อเคยเผชิญมาก่อน
       
       "โรงพิมพ์, ล้างรูป, สำเพ็ง ลุงเคยทำมาหมดแล้ว ที่ทำได้นานหน่อยเห็นจะเป็นเซลล์ขายเสื้อผ้าในต่างจังหวัด เป็นเจ้าของเองด้วยนะ โห...ช่วงนั้นได้เงินดีมากๆ แต่พอล้มก็หมดตัวจนไม่เหลืออะไรเลยเหมือนกันแม้แต่บ้านยังไม่มีไว้ให้ซุกหัวนอน เหลือแค่ลูกเล็ก 4 คน แฟนลุง เวสป้าคันนี้ แล้วก็รถตู้เก่าๆ คันหนึ่ง ลุงก็เลยต้องหันกลับมาช่วยพ่อขายผลไม้"
       
       ตอนที่หันมาขายผลไม้อีกครั้งลุงบอกว่าก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ารักหรือชอบในอาชีพนี้สักเท่าไหร่ คิดเพียงว่าจะหาเลี้ยงลูก4 คน อย่างไรให้ไปรอด พอขายมาเรื่อยๆ ได้เข้ามาคุยกับนิสิตบ้าง คณาจารย์บ้าง ทำให้ลุงเริ่มรู้สึกว่าในรั้วจามจุรีแห่งนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก ที่นี่ได้ทำให้ลุงได้พบกับสังคมใหม่ เป็นสังคมที่ไม่มีการแก่งแย่งแข่งขัน ไม่มีคำว่าผลประโยชน์ ไม่มีคำว่าได้เปรียบเสียเปรียบ และที่นี่เองที่ทำให้ลุงเกิดมุมมองใหม่ในความหมายของคำว่า "คนขายผลไม้" ซึ่งพ่อของลุงเคยย้ำนักย้ำหนามาตลอดว่า "อย่าทำเลยทำไปก็ไม่รวย"
       
       "ตอนนั้นลุงเครียดมาก คนเราเมื่อล้มเหลวจะรู้สึกว้าเหว่ เพื่อนฝูงก็ห่างเหิน แต่พอได้มาคุยกับนิสิตรู้สึกว่านิสิตไม่เหมือนคนข้างนอก รู้สึกว่าเขาเข้าใจลุง จุดนี้เลยทำให้ลุงหายเครียด และเริ่มมองอาชีพนี้ใหม่ ลุงเริ่มบอกตัวเองว่าอาชีพนี้ก็มีรายได้หมุนเวียนเข้ามาทุกวัน ถ้าเราประหยัดเราก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้" แม้จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายในชีวิตแต่ลุงก็สามารถเล่าไปยิ้มไปได้พร้อมทั้งบอกว่า "หากลุงไม่ล้มในครั้งนั้นก็คงไม่เห็นความสุขจากอาชีพที่หลายคนคิดว่าเป็นอาชีพเล็กๆ รายได้น้อย อย่างคนขายผลไม้ที่ลุงทำอยู่ทุกวันนี้"
       
       หลังจากที่ลุงป๊งตัดสินใจแล้วว่าจะขายผลไม้ตามรอยของคุณพ่อที่ได้สร้างฐานลูกค้าไว้แล้วจำนวนหนึ่งก็ใช่ว่าโชคชะตาจะเข้าข้างส่งให้ลุงป๊งขายดิบขายดีเหมือนอย่างสมัยของลุงทิมมี่ผู้เป็นพ่อเคยประสบ ในช่วงแรกๆ ผลไม้ของลุงป๊งแทบจะขายไม่ได้เลย แม้อากาศจะร้อนแสนอบอ้าวเพียงใดก็ไม่มีใครหันมาซื้อแตงโมที่แสนเย็นฉ่ำของลุงทาน บางวันขายตั้งแต่เช้าจรดเย็นได้แค่ 4-5 ถุง ลุงป๊งจึงต้องหันกลับมาปรึกษาแฟนว่า "ทำไมนะผลไม้เราจึงขายไม่ออก?", "ผลไม้ของเราสกปรกรึเปล่านะ?"

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:26 น. 4

ลุงป๊งเริ่มถามไถ่ลูกค้าถึงเหตุผลที่ชอบและไม่ชอบผลไม้ของลุง ลุงป๊งเริ่มสังเกตว่าเด็กที่นั่งอยู่ใต้ถุนคณะต่างๆ เขาทานและไม่ทานผลไม้อะไร จนวันหนึ่งมีนิสิตหญิงคณะบัญชีเข้ามาซื้อผลไม้ของลุงพร้อมกับพูดทีเล่นทีจริงว่า "ทำไมลุงไม่เอาแตงโมไร้เมล็ดมาขายละ ขายดีนะ"
       
       "ลุงนึกว่าเด็กคนนั้นพูดเล่นเพราะสมัยก่อนยังไม่มีแตงโมไร้เมล็ด แต่ลุงก็ลองเอาไม้เสียบลูกชิ้นแคะเม็ดออกนะแล้วก็ลองเอาไปขาย ปรากฏว่าขายดี ลุงยังจำได้แม่นว่าวันนั้นแตงโมลุงขายหมดเกลี้ยงเลย" ลุงป๊งพูดด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น



       


       อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชีวิตของลุงป๊งพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในช่วงข้ามวันก็คือ เหตุการณ์เมื่อครั้งที่ลุงยังรุนรถเข็นขายอยู่ใต้โรงอาหารคณะอักษรศาสตร์ บ่ายวันนั้นมีผู้หญิงวัยกลางคนเดินเข้ามาแล้วเข้ามาถามหามะม่วงเขียวเสวยลุงก็บอกว่าหมดแล้ว ลุงก็เลยถามต่อไปว่า "ชอบหรือ" หญิงคนนั้นเลยตอบลุงมาว่า "จะซื้อไปถวายพระเทพฯ ได้ยินว่าท่านชอบทานมะม่วงเขียวเสวยลุง"
       
       จากเหตุการณ์นั้นทำให้ลุงป๊งรู้สึกตื้นตันใจทั้งที่ลุงก็ไม่ใช่คนเด่นคนดังอะไร แต่พระองค์ก็ยังทรงซื้อผลไม้ของลุงทานอยู่เป็นประจำ และความตื้นตันใจนี้เองที่ทำให้ลุงเกิดกำลังใจที่จะทำอาชีพนี้ต่อไป ความหวังในชีวิตของลุงได้กลับคืนมาอีกครั้ง แล้วตำราว่าด้วยการทำผลไม้ของลุงก็เริ่มต้นขึ้น.....


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 / 00:38

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:27 น. 5

 บทเรียนที่ 1 ว่าด้วย"การเลือกซื้อ"
       
       ตำราการทำผลไม้ของลุงป๊งนั้นไม่มีอะไรที่พิเศษไปกว่าการทำผลไม้ของที่อื่นๆ อาจต่างไปตรงที่ต้องใช้ความละเอียดเข้ามาจับในทุกขั้นตอนการผลิตซึ่งขั้นตอนแรกที่เป็นหัวใจคือ "ต้องดูว่าลูกค้าชอบอะไร" ลุงป๊งบอกว่าส่วนใหญ่ลุงจะสังเกตเอาเอง บ่อยครั้งลูกค้าก็จะแนะนำว่าให้เอาอย่างนี้ อย่างนั้นมาขาย แล้วลุงก็มักจะเปรียบตัวเองเป็นคนซื้อ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เอาของที่ไม่มีประโยชน์มาขาย
       
       เมื่อรู้ว่าลูกค้าชอบอะไรแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการออกไปเลือกซื้อผลไม้สดเพื่อนำมาแปรรูปให้เป็นผลไม้บรรจุถุง แช่ในถังน้ำแข็งขนาดกลาง ภายในมีอุณหภูมิเย็นเฉียบ แถมท้ายด้วยไม้ปลายแหลมขนาดพกพาพร้อมที่จะจิ้มทานได้ทุกเมื่อ
       
       "การซื้อนี่สำคัญมากๆ เลยนะ ถ้าพลาดไปจุดหนึ่งจุดอื่นๆ ก็จะพลาดไปด้วยเหมือนโดมิโนตรงที่ล้มแค่1 ตัว ตัวที่เหลือในแถวก็จะล้มตามๆ กันมา" ลุงป๊งเกริ่นก่อนที่จะพาเราเข้าไปรู้จักกับวิธีการซื้อผลไม้ที่มองผิวเผินเหมือนว่าจะง่ายแต่เอาเข้าจริงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าค่อนคืนจึงจะได้ผลไม้ที่มีคุณภาพ ราคาพอซื้อหาได้ ไม่แพงเกินไปสำหรับนิสิต นักศึกษา
       
       "ผลไม้บางอย่างดูแค่ฉาบฉวยไม่ได้ อย่างมะม่วงที่ผิวสวย เปลือกสวย ยิ่งยามที่ต้องแสงของหลอดนีออนตอนกลางคืนยิ่งดูแล้วนวลตา น่าซื้อ น่าทาน แต่พอซื้อกลับมาปรากฏว่าลูกอื่นๆที่ถูกกดทับอยู่ด้านล่างกลับช้ำแล้วช้ำอีก บางทีสวยแค่ 10 กว่าลูกที่อยู่ด้านหน้า ที่เหลือต้องตัดใจทิ้งทั้งเข่ง" นี่คือบทเรียนแรกของการเลือกซื้อผลไม้ที่เราได้เรียนรู้มาจากลุงป๊ง
       

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:27 น. 6

  บทเรียนที่สองของเราคือ "การใช้ความใจเย็นเป็นที่ตั้ง" เพราะผลไม้ราคาถูกแต่คุณภาพดีมักจะเป็นสิ่งหายาก ลุงป๊งบอกว่าการซื้อมันยากตรงที่เราต้องการราคานี้ คุณภาพแบบนี้ แต่พอเดินดูก็จะเจอแต่ราคานี้แต่คุณภาพต่ำกว่านี้ หรือเกรดนี้แต่ราคาสูงจนไม่มีช่องให้กำไรได้ผุดขึ้นมาหายใจ ที่นี้ถ้าใครไม่ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ เดินได้หน่อยเดียวก็จะเริ่มถอดใจแล้วก็จะไม่สนด้วยว่าเคยตั้งราคากับคุณภาพไว้ที่เท่าไหร่และอย่างไร รู้แต่ใจอยากกลับบ้านนอนเอนหลังให้หายเหนื่อย หรือสักแต่ว่าซื้อให้เสร็จๆ ไป เมื่อคุณภาพดีมันหายากก็เอาแบบราคาถูกแต่พอกินได้ก็แล้วกัน
       
       "ความใจเย็นไม่ได้ใช้กับเรื่องนี้เรื่องเดียวนะ ในทุกเรื่องถ้าเรามีความใจเย็นเป็นทุน โอกาสชนะของเราก็มากกว่าครึ่งหนึ่งแล้วนะ" ลุงป๊ง กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่บทเรียนต่อไป
       
       นอกจากจะต้องเลือกให้เป็นว่าผลไม้ชนิดไหนควรซื้ออย่างไร อย่างไหนที่เรียกว่าตำหนิ อย่างไหนที่เรียกว่าค้างคืนแล้ว ขั้นสุดท้ายของการเลือกซื้อคือ "การวัดระดับความจริงใจ" ด้วยเหตุผลที่ลุงป๊งเพิ่งผ่าตัดเปลี่ยนมาใส่ดวงตาเทียมทำให้ความเฉียบคมในการมองเห็นลดน้อยลงจึงต้องอาศัยซื้อจากคนคุ้นเคย หรือจากการถามไถ่ประกอบการมองเห็น

       
       "อย่างแตงโมเราต้องรู้ก่อนว่ามีกี่ประเภท แบบไหนเรียกแตงสวน แบบไหนเรียกแตงไร่ แตงค้างคืนต้องมีลักษณะอย่างไร ก่อนจะซื้อเราก็ต้องถามคนขายดูว่าเขาจะบอกเราจริงมั้ย ตรงมั้ย อย่างชมพู่นี่ซื้อยากมากเพราะไม่สามารถตรวจได้ทุกลูกก็อาศัยความเชื่อใจ จริงใจต่อกันนี่แหละเข้ามาเป็นตัวช่วย" บทเรียนสุดท้ายของหัวเรื่องการซื้อผลไม้นี้ทำให้เราเกิดความอุ่นใจขึ้นมาเล็กๆ ว่าในโลกซึ่งผู้คนมักนิยมชมชื่นกันที่เงินตราใบนี้ยังมีคนอีกกลุ่มที่ใช้ความจริงใจเป็นอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะเป็นสกุลเงินที่มีค่าเพียงน้อยนิด แต่ก็กว้านซื้อไม่ได้ด้วยกระดาษศักดิ์สิทธิ์สีแดง, ม่วง,เทา...


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 / 00:40

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:28 น. 7

 ตั้งสมาธิ พร้อมจรดปลายมีด
       หลังจากเดินเลือกซื้อผลไม้มาอย่างเหน็ดเหนื่อย เราก็ต้องมาตั้งสมาธิอีกครั้งก่อนจะจดปลายมีดลงไปบนเปลือกหนาของผลไม้เหล่านั้น แต่การจรดปลายมีดหนัก เบาลงไปในแต่ละครั้งไม่ได้หมายเพียงการปอกเปลือกจนเกลี้ยงเกลา ทว่าการทิ้งน้ำหนักลงไปบนลูกผลไม้ในแต่ละครั้งย่อมหมายถึงรสชาติ ความหอมหวาน และความน่าทานรวมอยู่ด้วย
       
       "บางอย่างปอกเกลี้ยงเกินไปก็ไม่อร่อย บางอย่างต้องปอกตื้นๆ บางอย่างปอกลึกไปแล้วความหอม หรือความหวานจะลดลงทันที" นี่คือคำแนะนำที่ฟังดูเหมือนจะทำง่ายแต่เอาเข้าจริงกว่าจะปอกจนชำนาญต้องใช้เวลาฝึกปรือเกือบ 1 ปีเต็ม อย่างมะม่วงนี้ถือได้ว่าเป็นผลไม้ปราบเซียนถ้าเป็นมะม่วงมันก็จะต้องปอกไม่ให้เกลี้ยงเกินไปแต่ก็ไม่ใช่ว่าเหลือเปลือกติดอยู่เต็มไปหมดจนคนไม่กล้าซื้อ ถ้าเป็นมะม่วงสุกก็ต้องปอกให้เกลี้ยงแต่ก็ต้องไม่จับจนช้ำอีกเช่นกัน ทั้งยังต้องระวังไม่ให้ปอกลึกเกินไปจนเสียรสชาติความหวาน ปอกตื้นก็จะมีความขมของเปลือกพอให้ติดลิ้นอยู่บ้าง ต้องปอกโดยทิ้งน้ำหนักกลางๆ ก็จะได้มะม่วงที่ทั้ง หอม หวาน สวยน่าทาน
       
       กระบวนการผลิตผลไม้ของลุงป๊งไม่ได้หยุดอยู่แค่ "ปอกเสร็จ ใส่ถุง จับวางลงถังน้ำแข็ง สตาร์ทรถเวสป้า ขับวนรอบจุฬาฯ ขายเสร็จ กลับบ้าน อาบน้ำ เอนหลัง" แต่ตลอดช่วงชีวิตที่ลุงได้ขายผลไม้มาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากระบวนการผลิตของลุงเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา และทุกสถานที่
       
       ที่ใต้ถุนตึกลุงมักเข้าไปนั่งคุย และไถ่ถามนิสิตว่าอยากทานอะไร ส้มที่ทานเมื่อวานอร่อยมั้ย
       
       วันเสาร์ตอน 4 ทุ่ม หลังละครเวทีเลิกลุงก็ยังคงยืนขายผลไม้อยู่ที่หน้าทางออกเผื่อใครหิวตอนดึก และเผื่อจะได้ข้อมูลจากลูกค้ากลุ่มใหม่
       
       กลับบ้านลุงนั่งคุยกับแฟนว่าทำยังไงดีเงาะขายไม่ออกเลย ถูกแล้วผิด ผิดแล้วถูก คิดแล้วลอง ลองอยู่จนดึกดื่น รุ่งขึ้นเงาะคว้านเม็ดก็ถูกนำออกวางตลาด





       
       "ตอนนี้ลุงกำลังพัฒนาส้มสายน้ำผึ้งอยู่ กำลังหาวิธีเอาเม็ดออก เพราะลูกค้าชอบทานส้มพอหมดหน้าส้มเช้งลูกค้าก็ถามหา ลุงก็เลยคิดต่อไปว่าถ้าไม่มีส้มเช้งเราจะสามารถเอาส้มเขียวหวานมาขายได้อย่างไรโดยให้ลูกค้ายังชอบอยู่และแน่นอนว่าลูกค้าชอบทานแบบไม่มีเม็ด แฟนลุงก็เลยเริ่มลองใช้มีดเลาะเม็ดออกอยู่แต่ยังทำไม่สวย เลยคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะให้สวย น่าทานมากกว่าที่เป็นอยู่" ลุงป๊งยังบอกอีกว่ามีผลไม้หลายอย่างที่ยังไม่ได้พัฒนาแต่ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่.....


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 / 00:44

0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:29 น. 8
เงิน งาน และความสุข
       
       น้อยครั้งนักที่เราจะเห็นคนที่มีความสุขกับงานที่ทำได้มากถึงเพียงนี้ ความสุขของลุงป๊งไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินอย่างที่บัณฑิตใหม่ทั้งหลายกำลังมองหา ความสุขของลุงป๊งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความใหญ่โตในตำแหน่งหน้าที่ แต่ลุงก็สามารถทำให้ผลไม้ในถังใบเล็กๆ เปลี่ยนเป็นความสุขแก่ผู้ที่ได้ทาน ผิดกับนักบริหารที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวใหญ่ในห้องแอร์แต่ไม่เคยคิดที่จะสร้างสรรค์ความสุขที่แท้จริงให้กับคนในสังคม
       
       ลุงป๊งอาจเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ที่มิอาจสร้างพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทิศทางใดๆ ได้ แต่ลุงป๊งก็ยังคงพร่ำบอกกับนิสิตที่กำลังจะจบทั้งหลายที่เข้ามาซื้อผลไม้ลุงว่า "ตั้งใจทำงานนะ ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองของเราเอง"
0
น้องตี๋ 16 พ.ค. 52 เวลา 00:30 น. 9

ไป search เจอโดยบังเอิญอ่า อ่านแล้วแบบโอ ผลไม้ที่เคยซื้อจากลุง เลยเอามาแบ่งกันอ่านดีกว่า คนที่เคยเจอลุงน่าจะประทับใจเหมือนกัน


เครดิตจาก ผู้จัดการ online


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000052434



0
เล่าให้ฟัง 16 พ.ค. 52 เวลา 09:19 น. 17

สมัยก่อน เทียมมี่ จะเข็นรถขายผลไม้ไปทั่ว

ถ้าไปคณะวิศวฯแกจะไปจอดรถแถวตึกจักรฯ

ถ้าไปวิดยาแกจะไปจอดรถอยู่แถว Gen. Science ชาวจุฬาทุกคนรู้จัก เทียมมี่&nbsp ดี

เเกเขียนคำว่า&nbsp "เทียมมี่ CU." ติดไว้ที่กระจกตู้ผลไม้เลย

แล้วจะมีรูปผู้ชายขนาดโปสเตอร์ในชุดรับพระราชทานปริญญาจุฬาฯเสียบติดอยู่ที่ตู้ด้วย

ถามแกก็บอกว่าลูกชาย ลูกเล่นเยอะฮาดี

เวลามีคนไปซื้อผลไม้ แกจะพูดว่า อองเซล&nbsp คับ อองเซล&nbsp &nbsp on sell ทั้งปีนั่นแหละ&nbsp 

วลาขายผลไม้แกจะเฉาะจะหั่นเดี๋ยวนั้นเลย

มีบางคนไม่กล้าทานผลไม้ของแกเพราะไม่แน่ใจ

แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ ผลไม้ของแกขายได้เรื่อยๆ

จีรนันท์ พิตรปรีชา ก็เป็นลูกค้าของแก



ทุกวันนี้ถ้าพูดถึง จุฬา บางครั้งยังอดพูดถึงเทียมมี่ไม่ได้

เคยเห็น ฟรุตตี้ ผ่านตามาแล้วแต่ไม่สนใจ

แต่ก็ยังนึกว่ายุคนี้มีฟรุตตี้&nbsp เพิ่งรู้ว่าเป็นลูกของเทียมมี่นี่เอง

0
พี่ 16 พ.ค. 52 เวลา 09:51 น. 19

แพง แต่ดี เคยกินเงาะ ลุงคว้านเม็ดออกหมดจด

ใครนึกภาพไม่ออก ก็ ลองนึกถึง เงาะที่ไม่มีเปลือกของเม็ดมันติดอยู่เลยอะ สุดๆ ยิ่งกว่า เงาะกระป๋องอีก

0
111 16 พ.ค. 52 เวลา 10:35 น. 20

ลุงยังมี ผลไม้ไฮโซๆ&nbsp ด้วยนะ

เราเคยกิน กีวี่ สตอรวเบอรี่ ค่อนข้างแพง แต่ก้อชอบบกิน 55

กินสมัย พี่ยังเรียนอยุจุฬา ไปหาพี่บ่อยๆ

ตอนนี้ติดเองแล้ววว&nbsp ฮ่าๆๆ

รักจุฬ่าที่สุด

0