สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... วันก่อน พี่เป้ มีโอกาสไปเจอเพื่อนเก่าคนนึงซึ่งไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่เรียนจบม.ปลาย คุยไปคุยมาเลยสังเกตได้ว่า เพื่อนคนนี้จะพูดภาษาไทยช้าลงกว่าแต่ก่อน แถมบางทีก็เรียงคำแปลกๆ เช่น อยู่บ้านว่าจะนอนพรุ่งนี้ (จริงๆ ควรจะเป็น "พรุ่งนี้ว่าจะนอนอยู่บ้าน") ซึ่งเพื่อนเองก็ยอมรับว่า บางทีการไปอยู่เมืองนอกนานๆ ก็อาจทำให้หลงๆ ลืมๆ ภาษาไทยบางคำไปเหมือนกัน .... เอ๊ะ เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกันนะเนี่ย พี่เป้ เลยลองถามน้องๆ ที่เค้าไปอยู่เมืองนอกเกิน 3 ปี ว่ามีอาการหลงๆ ลืมๆ ภาษาไทยยังไงบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็ตอบมาตามนี้ค่ะ
อาการที่ 1 ! ลายมือไม่สวยเหมือนเดิม นั่นเพราะไปอยู่เมืองนอกนานๆ ก็ไม่ค่อยได้เขียนภาษาไทย เวลาจด short note ในห้องเรียนก็จดเป็นภาษาอังกฤษ(เพราะอยากฝึกภาษา) พอนานๆ ไปไม่ได้เขียนภาษาไทย กว่าจะรู้ตัวอีกทีลายมือก็ไม่สวยเหมือนเดิมซะแล้ว
อาการที่ 2 ! คำไหนที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน จะนึกไม่ค่อยออก เช่น อยากพูดว่า "ผู้หญิงคนน้นอัธยาศัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่" บางทีก็จะนึกคำว่า "อัธยาศัย" ไม่ค่อยออก เลยต้องพูดแทนว่า ผู้หญิงคนนั้นไม่ค่อยเฟรนด์ลี่เท่าไหร่
อาการที่ 3 ! ใช้ทับศัพท์บ่อยขึ้น (มาก) เป็นผลมาจากอาการที่ 2 นั่นเองค่ะ บางทีนึกศัพท์ไทยไม่ออก ก็เลยต้องพูดทับศัพท์ไปซะอย่างนั้น ยกตัวอย่างคำที่เด็กนอกมักพูดทับศัพท์บ่อยๆ โดยไม่จำเป็น เช่น panic (ตกใจ,วิตก) แก ใจเย็นๆ นะ อย่าแพนิคมากไป responsible (ความรับผิดชอบ) คุณทำตัวแบบนี้ไม่เรสพอนซิเบิลเลยนะ appointment (การนัดหมาย) วันนี้มีแอพพอยนท์เมนท์กับลูกค้าตอนเย็นๆ
อาการที่ 4 ! เวลาดูละครที่ตัวละครพูดเร็วๆ หรือเถียงกัน หรือฟังเพลงแร็พ จะฟังไม่ทัน โดยเฉพาะคนที่ไปอยู่เมืองนอกในเมืองหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคนไทย อาจจะทำให้ไม่ค่อยได้ฟังภาษาไทยเท่าไหร่ ดังนั้นประสาทการรับรู้ก็เหมือนจะทำงานช้าลงเล็กน้อย เวลาเจอคนพูดเร็วๆ (ภาษาไทย) ก็จะอึ้ง ! เพราะฟังไม่ทันนั่นเอง
อาการที่ 5 ! ศัพท์วัยรุ่น มันแปลว่าอะไร ?? ยิ่งถ้าใครไปอยู่เมืองนอกแล้วเป็นพวกไม่แตะอินเตอร์เน็ต ไม่ใช้ Social Network ล่ะก็ รับรองตามพวกศัพท์วัยรุ่นแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ทันแน่ เช่น แรง / เกรียน / เนียน / โอ(เค) / เบาๆ / เทพ / โอโม่ / งานเข้า / แหล่ม
อาการที่ 6 ! ไม่แน่ใจเวลาเขียนหนังสือภาษาไทย โดยเฉพาะต้องเขียนคำยากๆ เช่น ไม่แน่ใจว่าต้องใส่การันต์ที่ตัวไหน ไม่แน่ใจว่าคำนี้มี ร กี่ตัว ไม่แน่ใจว่าคำนี้ต้องมีสระรึเปล่า คือบางทีก็เขียนถูกนี่แหละค่ะ แต่ก็จะมีความรู้สึกค้างๆ คาๆ ว่าที่เขียนไปนี่มันถูกรึเปล่าเนี่ย เพราะไม่ได้เขียนนาน
อาการที่ 7 ! สำเนียงภาษาไทยแปร่ง อาการนี้มักจะเป็นกับคนที่ไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ไปอยู่ตั้งแต่ 4-5 ขวบ ซึ่งตอนนั้นก็ยังพูดภาษาไทยรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พอโตมาก็อาจจะทำให้สำเนียงไทยแปร่งๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน แต่สำหรับคนที่ไปอยู่เมืองนอกแค่ 2-3 ปีแล้วพูดภาษาไทยแปร่ง แบบนี้เรียกว่า .... (จงเติมคำในช่องว่าง) 55555
นั่นก็คือ 7 อาการมึนๆ งงๆ ของคนที่มีหลงลืมภาษาไทยไปชั่วขณะ ดังนั้นถ้าน้องๆ คนไหนต้องไปอยู่เมืองนอกนานๆ ล่ะก็ อย่าลืมพกหนังสือภาษาไทยอะไรก็ได้ไปด้วยเยอะๆ หรือไม่ก็อ่านข่าวภาษาไทยในอินเตอร์เน็ตบ่อยๆ รับรองไม่ลืมแน่นอนค่ะ !
|
89 ความคิดเห็น
พูดไทยชัดเปรี้ยะ ทุกคำ ชัดกว่าคนไทยที่เกิดในไทยอีก
ของอย่างนี้อยู่ที่ความตั้งใจแต่ละคน
ยังไม่ทันไป พี่แกเหน่อเลย = ='
55555
ถ้ากลับมาคงไม่เหลือ = ='
หนูเป็นคนไทยๆ ยังเขียนไทยไม่ถูกเลยค่ะ
ก-ฮ ทุกวันนี้ท่องยังไม่จบ
5 5 5 5 55
ส่วนในเรื่องลายมือ ผมเขียนไม่สวย แต่ไม่ใช่เพราะจดแต่ภาษาอังกฤษ แบบว่า ตอนแรกผมก็ลายมือสวยนะ แต่ตั้งแต่ ป.6 มา เริ่มมีการบอกจด แล้วผมก็จดไม่ค่อยทัน เลยต้องปั่นซะจนลายมือเละ แล้วมันก็ชิน
พวกภาษาวัยรุ่น ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะผมไม่ค่อยใช้ ผมจะพิมพ์ ผมจะพูดอะไร ก็พูดตรงๆ ไม่ค่อยใช้ภาษาวัยรุ่น
จะว่าไปก็มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเป็นคนไทยนี่แหละ แต่ผมหมั่นไส้เขามากๆๆๆๆๆๆๆ เพราะเขาพยายามทำตัวให้ทันสมัย ชอบพูดสำเนียงผิดๆ สำเนียงกระแดะๆ พยายามทำให้ภาษาวิบัติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาไปดูในเฟซบุ๊คของเขา ผมนึกว่าไม่ใช่ภาษาไทย แล้วเขาชอบใช้ภาษาอังกฤษมาก แบบว่า ตอนนั้น เขาทำงบประมาณเรื่องงานกีฬาสี แล้วเขาก็จะแบ่งช่องไงครับ เป็นค่านู้นค่านี้ แล้วเขาก็จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ คำไหนที่เขียนไม่ได้ เขาก็จะถามเพื่อน เหมือนจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเขียนไม่เป็น
แล้วในเรื่องการออกเสียง เขาชอบออกเสียง ท เป็น ช เหมือนนักร้องสมัยนี้ แต่เพื่อนผม แม้แต่ตอนพูด เขาก็ออกเสียงแบบนั้น ไม่ต้องรอให้ร้องเพลงเลย ร้องเพลงชาติก็ร้อง ประเทศไชย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไชย พูดตรงๆ ผมอยากฆ่าเขามากๆ
#2 #3 #4 #5 #7 ... มี7ข้อ เป็น5ข้อ
ข้อ1 ลายมือไม่สวยนี่ก็ยังทรงๆอยู่ค่ะ แต่เขียนช้าลงมาก รู้เลย ลายมืออาจจะเปลี่ยนไปด้วยนิดนึง ถ้าไปต่างประเทศตั้งแต่เด็กโดยที่ยังไม่มีลายมือคัดไทยเป็นตัวเป็นตนแล้วล่ะก็ -_- แต่ถ้าไปตอนโต ลายมือไม่ใช่เร่องน่าห่วง >_<
ข้อ6 น้อยครั้งมากที่จะนึกไม่ออกว่าตัวไหนมีตัวการันต์เป็นตัวไหน >_< ค่อนข้างจะหมดปัญหา แต่ที่น่าห่วงมากๆก็คือ.. อาการที่2 คล้ายๆเพื่อนพี่เป้ พูดสลับคำบ่อยมากๆ ToT..
ตอนนี้ปิดเทอมกลับมาเมืองไทย ประสาทการรับรู้ การมอง การได้ยินช้าลงมาก ช้าลงทุกปีๆ ปกติเป็นคนที่อ่านหนังสือเร็วมาก แต่ตอนนี้ต้องยอมรับเลยว่า บางครั้งนอกจากจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับคำศัพท์แล้ว บางทีเพิ่งรู้สึกตัวว่าเราเปิดข้ามหน้าไปตั้งแต่เมื่อไหร่ คือที่จำได้ เรายังไม่ได้อ่านหน้าที่ผ่านมาเลย แล้วทำไมมาโผล่หน้านี้ได้ -*-.. เหมือนตอนอ่านมันไม่ได้เข้าหัวเลย ตาเราดูอย่างเดียวแล้วก็ผ่านไป 555
ศัพท์วัยรุ่นที่ไทย มีคำใหม่เกิดขึ้นทุกวันๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันสื่อถึงอะไรบ้างจริงๆ T_T
ส่วนทับศัพท์นี่ก็เป็นเวลาคุยกับน้องๆ พ่อแม่ เวลาที่นึกคำศัพท์ภาษาไทยไม่ออกจริงๆ กับน้องยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเรียนด้วยกัน อยู่ด้วยกันทั้งวัน แต่คำศัพท์นี่พากัน -_-''
เรื่องสำเนียง.. คิดว่าเป็นปกติสำหรับคนที่อยู่สถานที่นั้นนานๆ แต่เมื่อเราย้ายที่อยู่ อาจจะไปประเทศอื่น ไม่นานสำเนียงก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยค่ะ เพราะเรื่องของการสื่อสารเข้ากับคนในที่นั้นๆ ^^ .. ณ ตอนนี้ภาษาอังกฤษกับไทยเรา แทบจะออกสำเนียงบ้านเค้าอยู่แล้ว =_=;;
คนไทยเราอาจจะไม่ชินกับคนไทยด้วยกันพูดอังกฤษคำไทยคำ หรือพูดอังกฤษมีสำเนียง แต่ถ้าเราไม่หัด (เพราะต่างชาติเป็นเรื่องปกติ) เราไม่มีวันพูดแบบประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้หรอกค่ะ .. แล้วในกรณีพูดไทยคำอังกฤษคำของเด็กนอกนั้น มันคนละเรื่องกับเด็กไทยกลุ่มอื่นที่พูดแบบนั้นเป็นแฟชั่นนะคะ.. เป็นไปได้เราก็ไม่อยากให้มันเกิดแบบนั้นหรอกค่ะ -_- ทุกวันนี้กลับบ้านมาทีต้องซื้อหนังสืออ่านเล่นเยอะมาก พอกลับไปเรียนทีก็อ่านได้แต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น คิดๆดูถ้าปีนึงไม่กลับบ้านเลยนี่ คำศัพท์คงแทบจะหายออกไปจากหัวหมด..
บางคนพูดภาษาท้องถิ่นของตัวเองจนติดสำเนียง อย่างภาคใต้ ภาคเหนือไรงี้
อย่าว่าแต่คนที่ไปอยู่เมืองนอกจะเขียน ภาษาไทยไม่ถูกเลย
ไอคนที่อยู่ตั้งแต่เกิดจนตายบางคน(เช่นเรา)
บางคำยังมั่วๆอยู่เลย= =;
น่าจะเพราะการเรียนอยู่ต่างประเทศ ก็จะใช้ภาษาของประเทศนั้นๆมากกว่า ลายมือก็เขียนแต่ภาษาของประเทศนั้นๆ พวกคำที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็เลยจะลืมๆไป เหมือนคนทั่วไปแหละ ใช้กันได้ถูกรึเปล่า ว่าราชาศัพท์คำไหนแปลว่าอะไรบ้าง ใช้กับบุคคลใดบ้าง เอาจริงๆก็ใช้กันไม่ถูกถึง100%หรอก
การสะกดมากกว่า ส่วนเรื่องทับศัพท์ ก็มีส่วนนะ เพราะบางครั้ง การที่อยู่ต่างประเทศก็จะติดศัพท์ประเภทที่ต้องใช้ตามชีวิตประจำวันไปใช้จนชินเหมือนกัน
ส่วนสำเนียงก็ แปล่งๆเหน่อบ้างตามท้องถิ่น
อันนี้ คหสต.นะครับ เพราะผมเองก็เป็น ตรงซะส่วนใหญ่ด้วย ทั้งๆที่อยู่ต่างประเทศได้ปีเดียวเอง จะให้เป๊ะเหมือนตอนอยู่เมืองไทยได้ไงล่ะครับ ในเมื่อต้องคุยกับคนที่เค้าไม่ได้ใช้ภาษาไทยเหมือนเรา จรมันติดปากไปแล้วนี่ครับ
ปล.อย่าลืมว่านิสัยของคนไทยเป็นอย่างไร คนไทยชอบดัดแปลงจนลืมคำเดิมทั้งนั้นแหละ บางครั้งคำต่างประเทศคนไทยยังดัดแปลงปนกับภาษาไทยมาใช้กับเจ้าของภาษาเลย