5 เรื่องล้อเล่น แกล้งแค่นี้ เป็นซึมเศร้าได้เลยหรอ


          ทุกวันนี้ เด็กทั้งหลายโดนแกล้งที่โรงเรียนจนเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าเรื่องแบบนี้ควรจะเป็นเรื่องปกติหรอ? และการแกล้งกันแบบนี้แหล่ะที่เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าในวัยเรียนกันเยอะมากขึ้น วันนี้พี่ซุปและคอลัมน์ Girl Advice จะมาพูดคุยเรื่องของซึมเศร้าและวัยเรียนให้ฟังค่ะ สาเหตุมาจากไหน อาการเป็นอย่างไร และการแกล้งกันแบบไหนที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่แกล้งแบบนี้เพื่อนอาจเป็นซึมเศร้าได้ มาดูกันค่ะ
 


 
โรคซึมเศร้าและเด็กวัยเรียน ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว?
 
          พี่ซุปได้มีโอกาสอ่านข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตมาค่ะ เขาบอกว่า ผลการสำรวจในปี 2560 ในประเทศไทยมีเด็กถูกรังแกที่โรงเรียนกว่า 6 แสนคน ซึ่งถือว่าเยอะมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากประเทศญี่ปุ่น) ทั้งนี้ยังมีการสำรวจอีกว่า เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น มักมีพื้นฐานครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่แกล้งอาจจะเป็นเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวชก็เป็นได้ ส่วนเด็กที่มักจะถูกแกล้ง พบว่า เป็นกลุ่มของเด็กพิเศษซะส่วนใหญ่ค่ะ
 
          หากไม่มีการจัดการเรื่องของการแกล้งกันในโรงเรียน อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังเรื่องของการใช้ความรุงแรงในเด็กได้ แน่นอนว่า เด็กที่ถูกรังแกมักจะมีความเครียดสะสม มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกแกล้งเรื้อรังไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และรุนแรงถึงการฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว 
 

 
*****
นักจิตวิทยาอธิบายว่า ถ้าเป็นแค่ 1-2 ข้อ อาจจะไม่เป็นอะไร
แต่ถ้ามีอาการนั้นๆ ยาวนานเป็นอาทิตย์ และไม่มีท่าทีจะหยุด
ต้องเริ่มขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญแล้วนะ
*****

 
5 เรื่องล้อเล่น แกล้งแค่นี้ เป็นซึมเศร้าได้เลยหรอ
 

ข้อบกพร่องเพื่อนเยอะ แต่ทำไมเราต้อง "พูดถึงรูปลักษณ์ของเพื่อน" บ่อยๆ 
          หลายคนน่าจะรู้ข้อนี้แล้ว แต่พี่ซุปอยากจะย้ำอีกรอบ การพูดแซว การล้อปมด้อยเพื่อน หรือชี้จุดบกพร่องที่เพื่อนไม่มั่นใจซ้ำๆ และย้ำๆ ให้เพื่อนฟัง สามารถทำให้เพื่อนไม่สบายใจได้ บางครั้งเรามองว่า ที่เราทำไปทั้งหมดก็เพราะเราหวังดีกับเพื่อนนะ เราทำไปเพราะความเป็นห่วง แต่การเลือกคำพูดและสีหน้าท่าทางก็สำคัญมากๆ ถ้าเลือกคำไม่ดี ก็ทำร้ายจิตใจเพื่อนได้เหมือนกัน ดังนั้นพี่ซุปจึงอยากจะให้ระวังเรื่องนี้กันสักนิดนะ
 

รู้ว่าเพื่อนชอบใคร ทำไมต้อง "ล้อชื่อคนที่เพื่อนแอบชอบ"
          เรื่องน่าตีเรื่องหนึ่งที่พี่ซุปอยากให้น้องๆ เลิกทำคือ การล้อชื่อคนที่เพื่อนแอบชอบ บางคนไว้ใจเพื่อนมาก ยอมที่จะบอกความลับ และเรื่องน่าอายให้ฟัง โดยหวังว่าเพื่อนจะช่วยเก็บความลับให้ แต่เพื่อนก็ยังทำให้ผิดหวังอีก! ก็ในเมื่อเพื่อนเขาบอกความลับนี้กับเราแล้ว ทำไมเราไม่ช่วยเพื่อนเก็บความลับหน่อยล่ะ เที่ยวเอาไปพูดให้คนอื่นเขารู้ หรือแซวเวลาหนุ่มคนนั้นเดินผ่านทำไม เพื่อนควรจะเก็บความลับของเพื่อนได้สิ! ในสายตาคนพูด อาจดูเหมือนสนุก เห็นเพื่อนอาย เพื่อนหน้าแดง พยายามชง หรือสร้างโมเมนต์ให้เพื่อน แต่สำหรับคนที่ถูกล้อ จิตตกได้เลยนะ นอกจากจะทำให้เพื่อยเครียดแล้ว ยังทำให้คนที่เพื่อนแอบชอบยิ่งตีตัวออกห่างอีก เพราะว่าเขากลัวน่ะสิ เพื่อนหลายคนเก็บเอาเรื่องนี้ไปร้องไห้ที่บ้านด้วย รู้กันรึเปล่าว่าเพื่อนเครียด 
 

เห็นของเพื่อนวางไว้ไม่ได้ ต้อง "เอาของๆ เพื่อนไปซ่อน"          
          เนี่ย การแกล้งเล่นแบบนี้เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำเพื่อนจิตตกได้เหมือนกัน เวลาของๆ เราหาย เราเครียดมั้ย เราร้องไห้มั้ย ใช่ค่ะ ทั้งเครียดทั้งร้องไห้เลย เพื่อนบางคนไม่ได้โดนเอาของไปซ่อนแค่ครั้ง สองครั้งนะ ตลอดเวลา แทบจะทุกวัน เวลาเพื่อนหาของไม่เจอ ดูน่าขำเนอะ สีหน้าเพื่อนตลกจัง แต่กลับไม่ได้คิดเลยว่าเพื่อนวิตกกังวลแค่ไหน ถ้ายังคงแกล้งเพื่อนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นานๆ เข้า เพื่อนจะเริ่มระแวง กลัวว่าของจะหายตลอดเวลา เกิดเป็นความไม่ไว้ใจคนอื่น ทำให้เครียดสะสมไปอีก อีกอย่างนะ ของบางอย่าง เกิดเราแกล้งจนหาย หรือพังไปจริงๆ ชดใช้ไม่ไหวจะทำไงล่ะทีนี้?
 

เล่น "เปิดกระโปรง ดึงกางเกง" ใครๆ ก็ทำกัน 
          เรื่องแกล้งข้อนี้ ไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนชายล้วน หรือโรงเรียนชายหญิง ต้องเคยเจอแน่นอน เราอาจจะมองว่ามันปกติเนอะ ใครๆ ก็เล่นกัน แต่พี่ซุปมองว่า การเปิดกระโปรงหรือดึงกางเกงเพื่อน คือการคุกคามทางเพศอีกอย่างหนึ่งนะ พื้นที่ใต้กระโปรงและใต้กางเกงถือเป็น พื้นที่ส่วนตัว คนอื่นไม่มีสิทธิมาลุกล้ำ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ยิ่งถ้าคนถูกเปิดกระโปรงหรือถูกดึงกางเกงไม่สบายใจ และรู้สึกไม่ดีกับพฤติกรรมนี้ ยิ่งแย่เข้าไปอีก  และแน่นอนว่าการคุกคามทางเพศเล็กๆ แบบนี้แหล่ะ มักเป็นจุดเริ่มต้นให้ความเครียดสะสม ความไม่สบายใจนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เลยหล่ะ   
 

ใครว่าแกล้งกันต้องเกิดเฉพาะในโรงเรียน "โซเชียลก็ทำเพื่อนเศร้าได้"
          ใครแซวเก่ง คอมเมนต์เก่งในโลกโซเชียล อยากให้ระวังกันสักนิด บางอย่างที่เราคอมเมนต์ลงไป อาจจะเกิดจากการคิดน้อย คิดไม่รอบครอบ แต่เมื่อมันเผยแพร่สู่โลกสาธารณะแล้ว มันสร้างความอับอายให้เพื่อนได้ โดยเฉพาะการวิจารณ์รูปลักษณ์ของเพื่อน การต่อว่าด้วยคำหยาบคาย หรือแม้กระทั่งการโพสต์ และส่งภาพ หรือคลิปที่ทำให้เพื่อนไม่สบายลงในโลกออนไลน์ พฤติกรรมแบบนี้สร้างปมในใจให้คนมาเยอะนะ
          มีงานวิจัยบอกว่า Cyberbullying (การแกล้งกันในโลกออนไลน์) ทำให้คนเป็นซึมเศร้ามากกว่าคนที่โดนแกล้งตามโรงเรียนอีกนะ เพราะคนโดนแกล้งจะรู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกไม่ได้รับการช่วยเหลือ อีกอย่างที่น่ากลัวคือ คนโดนแกล้งจะไม่รู้ว่าคนที่ว่านั้นเป็นใคร และเด็กที่โดนแกล้งในโซเชียลมักจะเป็นเด็กที่โดนแกล้งที่โรงเรียนด้วย ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้จึงไปกันใหญ่เลย 
 
           เราเล่นกับเพื่อน เราสนุกกับเพื่อน เป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่การทำให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ พี่ซุปอยากให้ระวังกันสักนิดนะคะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราไม่รู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ทำนั้นดีหรือไม่ดี ลองเอาตัวเองลงไปแทนที่เพื่อนดู ลองสมมติดูว่า ถ้าเป็นเรา เราโอเคมั้ย? วิธีนี้จะช่วยให้เราได้คิดทบทวนก่อนที่จะพูด หรือแกล้งเพื่อนได้ค่ะ สำหรับวันนี้พี่ซุปและ Girl Advice ขอตัวไปก่อน ใครมีเรื่องอะไรอยากปรึกษาพี่ซุป คอมเมนต์ไว้ได้เลยค่า 


 
ขอขอบคุณ
https://theprototype.pim.ac.th/2018/01/11/cyberbullying01/
https://www.everydayhealth.com/back-to-school/cyberbullying-and-kids-safety.aspx
https://www.everydayhealth.com/depression/caregiving/depression-and-bullying-whats-the-link.aspx
https://www.bbc.com/thai/thailand-45837661
https://waymagazine.org/sadness_generation/
พี่ซุป
พี่ซุป - Columnist จบจิตวิทยา ไม่ได้เป็นบ้า แค่ชอบพูดคนเดียว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
ฟ้า 14 พ.ย. 64 17:48 น. 3

คิดมากเกินไปหรือป่าว เราเป็นผู้หญิงยังแกล้งดึงกางเกงเพื่อนผู้ชายเลย เพื่อนก็หัวเราะกันสนุกดีนะ

1
ญชไม่ต่างนะ 14 พ.ย. 64 17:53 น. 3-1

เพื่อนอาจหัวเราะสนุก แต่เพื่อนไม่ชอบก็มี เขาอาจจะไม่พูดก็ได้ แต่เชื่อเถอะ ถึงเป้นผู้ชายก็ไม่ได้หน้าทนเห็นของส่วนตัว หรือเห็น กกน กันได้ทุกคน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด