อ่านหัวข้อแล้วหลายคนอาจจะร้อง “เฮ้ย! เป็นไปได้เหรอ?” แต่กรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในปี 2018 ค่ะ ถ้าใครยังจำได้ นั่นคือคดีที่เด็กชายชั้นม.6 ตัดสินใจกระโดดลงมาจากระเบียงอาคารเรียนชั้น 5 เพราะถูกเพื่อนล้อว่า ‘อ้วน’
 
          จริงอยู่ที่คำว่า ‘อ้วน’ ดูเหมือนเป็นคำแซวกันเล่นๆ เป็นคำที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่เราไม่มีทางรู้ความรู้สึกลึกๆ ของอีกฝ่ายได้เลยค่ะ ว่าเค้ากำลังคิดอะไรอยู่ หรือชีวิตเคยผ่านอะไรมาบ้าง ดังนั้นการตัดสินใจจบชีวิตจากการโดนล้อ กลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ด้วยถ้อยคำต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ค่ะ เรื่องน่าสลดใจในลักษณะนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ และน่ากลัวที่นับวันยิ่งถี่ขึ้นเรื่อยๆ เลย ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พี่โอ๊ตสังเกตว่าเด็กๆ ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายจากการโดนแกล้ง โดนล้อ มีอายุประมาณ 12-15 ปีเท่านั้นเองค่ะ


          ไม่ใช่แค่ถูกล้อเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกว่าอ้วน เตี้ย ดำ แต่การล้อเลียนเรื่องเพศ เรื่องครอบครัว เรื่องฐานะ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน นับวันยิ่งมากขึ้นๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย พี่โอ๊ตเลยอยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องนี้ในมุมมองของนักจิตวิทยากันดูค่ะ เราจะได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจเพื่อนมากขึ้น ซึ่งพี่โอ๊ตก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณเม-เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ "ตามใจนักจิตวิทยา" ที่มาให้ทั้งความรู้ และแง่คิดดีๆ เยอะมากเลยค่ะ
 

อะไรที่เรียกว่า “การบูลลี่ (Bully)” หรือการกลั่นแกล้ง

          “การบูลลี่ในภาษาไทยก็คือการกลั่นแกล้งนั่นเองค่ะ โดยปกติแล้วคนจะชอบคิดไปถึงการกลั่นแกล้งที่ทำให้เกิดบาดแผลทางกาย แต่จริงๆ แล้วการกลั่นแกล้ง คือการทำให้เกิดบาดแผลทางใจ สามารถเกิดได้จากการทำร้ายทางกาย จิตใจ และคำพูด ถึงแม้เราจะบอกว่ามันเป็นแค่การล้อเล่น เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ดี ก็ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งแล้วค่ะ การบูลลี่มีหลากหลายรูปแบบมากๆ เช่น การชกต่อย การตบตี แต่ว่าสิ่งที่เรามักมองข้ามคือ การบอยคอต (Boycott) ไม่รับเข้ากลุ่ม หรือการเงียบใส่ การเพิกเฉย การไม่มองเห็นตัวตน อันนี้ก็เป็นการกลั่นแกล้งที่ค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน”
 

 

ทำไมการบูลลี่ถึงทำให้คนเราฆ่าตัวตายได้

          เพราะความร้ายแรงของการถูกกลั่นแกล้ง ขึ้นอยู่ที่ผู้ถูกกระทำค่ะ บางคนรู้สึกเจ็บปวดกับการถูกทำร้ายร่างกาย มากกว่าการทำร้ายทางโซเชียล ต้องแล้วแต่มุมมองและภูมิคุ้มกันของแต่ละคนเลยว่าเค้ารู้สึกกับอะไรมากกว่ากัน”
 

ก่อนจะไปถึงโรคซึมเศร้าหรืออยากฆ่าตัวตาย เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

          “เราไม่จำเป็นต้องรอให้รุนแรงถึงขนาดคิดว่าอยากฆ่าตัวตายแล้วถึงเริ่มปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์นะคะ แค่เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ตื่นมาแล้วไม่อยากทำอะไร ไม่มีความสุขที่จะไปโรงเรียน หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่โอเคกับชีวิตเลยในช่วงนี้ แค่นี้ก็เพียงพอที่จะไปขอคำปรึกษาได้แล้ว เปรียบเทียบง่ายๆ แบบนี้ค่ะ ถ้าเรารู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรง เราก็สามารถไปออกกำลังกายได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นโรคร้ายแล้วถึงมาเริ่มออกกำลังกาย อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อจิตใจเราเริ่มไม่โอเคแล้ว เอาว่าเกิน 7 วันก็เพียงพอแล้วที่เราจะต้องเริ่มหาความช่วยเหลือ อย่าคิดว่าการไปพบนักจิตหรือจิตแพทย์คือเราอ่อนแอหรือเราเป็นบ้า แต่มันเหมือนกับการที่เราไปปรึกษาคุณหมอว่าทำยังไงให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นโรคแล้วถึงไปหาหมอนะคะ
 

          ยิ่งถ้าสังเกตตัวเองได้เร็ว เราไม่ต้องไปพบจิตแพทย์เลยด้วยซ้ำ อาจจะปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือถ้าโรงเรียนไหนมีครูแนะแนวที่เข้าใจเด็ก ก็สามารถปรึกษาครูแนะแนวได้ ไม่ต้องรอให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าคือโรคที่ทำให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ แล้วส่งผลกระทบถึงทางกาย รักษาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะหายขาด ถ้าเมื่อไหร่จิตใจอ่อนแอก็กลับมาเป็นได้อีกค่ะ”
 

กลัวที่บ้านไม่เข้าใจ ถ้าอยากไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

          “ถ้าเรากังวลมากๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่เข้าใจว่าเราจะไปพบจิตแพทย์ทำไม ลองพบนักจิตวิทยาดูก่อนก็ได้ค่ะ เพราะถ้าพบจิตแพทย์จะต้องลงประวัติเป็นคนไข้ เหมือนเราไปรักษาโรคปกติเลย แต่การพบนักจิตวิทยาเราสามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า เราอยากไปปรึกษาพี่ๆ ที่เค้าเป็นนักจิตวิทยา ซึ่งนักจิตวิทยาไม่ได้รักษา ไม่ได้จ่ายยา ไม่ได้วินิจฉัยโรค ดังนั้นจะไม่เกิดการตีตราอยู่แล้วว่าเราจะเป็นโรคอะไร เราไปเพื่อระบายความทุกข์ของเราที่ผู้ฟังเป็นกลาง และเค้าก็จะช่วยเราในเชิงสะท้อนกลับ ให้ความเข้าใจ และให้การยอมรับเราในแบบที่เราเป็น ระยะเวลาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับเรา อาจจะหลายครั้งก็ได้ จนกว่าเราจะพ้นวิกฤตินี้ บางคนมา 2-3 ปีก็มี จนพ้นเลยช่วงวัยรุ่นไปก็มีค่ะ”
 

4 วิธีเยียวยาจิตใจด้วยตัวเองเมื่อรู้สึกแย่

          1. ให้คิดเสมอว่า คนที่คิดจะบูลลี่คนอื่น เค้าก็ต้องทำอะไรแย่ๆ เพื่อที่จะมาบูลลี่เรา และการบูลลี่จะสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำรู้สึกกับมัน ลองดูว่าเราสามารถเพิกเฉยได้มั้ย เราอาจจะแกล้งเพิกเฉยก็ได้ แม้ในใจเราจะรู้สึกก็ตาม เพราะการเพิกเฉยเป็นสิ่งที่ตอบสนองการบูลลี่ได้ดีที่สุดแล้ว ยิ่งถ้าเราไม่ตอบสนองโดยการร้องไห้ โวยวาย หรือแสดงออกว่ารู้สึกแย่ อีกฝ่ายก็จะรู้สึกว่าเค้าทำไม่สำเร็จ พอบ่อยครั้งเข้าก็จะเลิกไป 
          2. อย่ารู้สึกแย่จนเกินไป การที่เราไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมกลุ่มนี้ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก สังคมโรงเรียนเป็นแค่สังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง ซึ่งเด็กบางคนก็มองว่ามันเป็นทั้งชีวิตของเค้าแล้ว แต่เมื่อเราออกมาจากตรงนั้น เราจะรู้ว่ามันมีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ที่รอเราอยู่ ลองทำกิจกรรมในสิ่งที่เราชอบ เข้าชมรมที่ชอบ เราอาจจะได้เพื่อนที่มีความชอบเดียวกันเพิ่มขึ้น เพราะบางครั้งเราอาจไม่เจอคนที่มีความชอบเหมือนกันในห้องเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกแย่กับมัน ให้ลองคิดว่ามีคนอีกหลายคนที่เค้าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แล้วก็เรียนจบออกมาได้
          3. คุยกับคนที่เราไว้ใจ และรู้สึกปลอดภัย อันนี้เป็นทางที่ดีที่สุดเลย เพื่อให้เราระบายความทุกข์ได้บ้าง ไม่ใช่เก็บไว้อยู่คนเดียว เพราะมันจะทำให้เราเกิดความทุกข์ที่เนิ่นนานและเรื้อรังได้
          4. ถ้าไม่สามารถคุยกับใครได้เลย ตอนนี้ก็ตัวช่วยเยอะอยู่ค่ะ ทั้ง สายด่วนสุขภาพจิต (โทร. 1323) ที่มีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์รับสายตลอด 24 ชม. เพจนักจิตวิทยา ที่ให้การดูแลวัยรุ่นโดยเฉพาะ ก็สามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ค่ะ
 
 
          พี่โอ๊ตเองเคยถูกล้อมากๆ ในช่วงวัยเด็กจนถึงมัธยมเลย มันก็คือสิ่งที่ยุคนี้เรียกว่าบูลลี่นั่นแหละค่ะ พี่โอ๊ตตอนนั้นค่อนข้างผอม ตัดผมติ่งหู สะพายเป้หนักๆ จนไหล่ตก เลยทำให้ช่วงคอดูยาวกว่าเพื่อน โดนพูดว่ากะเหรี่ยงบ้าง ยีราฟบ้าง ถามว่าตอนนั้นเสียใจมั้ย บอกเลยว่ามาก สิ่งที่เค้าเอาเราไปเปรียบเทียบไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะคะ แต่มันทำให้พี่หมดความมั่นใจไปเลย กลายเป็นคนไม่อยากทำอะไรที่ต้องออกหน้า ไม่ชอบพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียน ไม่ชอบทำกิจกรรม เพราะรู้สึกระแวงว่าจะโดนใครล้ออีกมั้ย ตอนนั้นพยายามแสดงว่ามันเป็นเรื่องตลก แต่ในใจคือร้องไห้ทุกครั้ง มันไม่สนุกเลยสำหรับเรา แต่พอเวลาผ่านไป ผมเริ่มยาวขึ้น มันก็ทำให้จุดด้อยเรื่องคอค่อยๆ หายไป เพื่อนก็เลิกล้อ แต่ถามว่าพี่ลืมมั้ย ก็ไม่ค่ะ 5555 ช่วงนึงจิตตกขนาดว่าไม่อยากกลับไปตัดผมสั้นอีกแล้ว แต่พอเห็นคนตัดแล้วน่ารัก ลองตัดดูบ้าง กลายคนก็ฟีดแบ็คว่าดีนะ เลยคลายปมนั้นไปเองอย่างไม่รู้ตัวเลยค่ะ
 
          เพราะฉะนั้น น้องๆ คนไหนที่กำลังรู้สึกเฟล รู้สึกทุกข์ใจจากการถูกล้อเลียน พี่โอ๊ตอยากให้ลองเอาคำแนะนำของคุณเมไปปรับใช้นะคะ อย่าเก็บทุกอย่างไว้กับตัวเอง อย่าทำให้ความทุกข์ของเราเป็นเรื่องตลกของคนอื่น เพราะเรื่องบางเรื่องมันก็ไม่สามารถแก้ไขด้วยการหลอกตัวเองได้ค่ะ ส่วนน้องๆ คนไหน ที่ชอบล้อชอบแกล้งเพื่อน พี่โอ๊ตอยากให้คิดไว้เสมอนะคะ ว่าคำพูดของเรา อาจจะไม่ได้ตลกสำหรับคนอื่นเสมอไป คิดก่อนพูด จะได้ไม่เผลอทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัวนะคะ
 
พี่โอ๊ต
พี่โอ๊ต - Columnist คอลัมนิสต์สายบิวตี้ ชอบอัปเดตเมคอัพ และศึกษาเรื่องสกินแคร์ เพื่อผิวสวยอย่างปลอดภัย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

เรโกะ จิทาคุ Member 26 ต.ค. 62 06:59 น. 1

บอยคอต...มีนะ มีประจำ กับเรานี่แหละ แต่ก็ชินแล้ว ไม่สนใจอะไรเท่าไหร่ เป็นมาก็ถือว่าหลายปี

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด