สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ มีศัพท์ที่เจอมาทั้งชีวิตแต่ไม่ว่าจะเจอกี่ครั้งก็ยังต้องเปิดพจนานุกรมมั้ยคะ พี่พิซซ่า มีศัพท์อยู่ 2 กลุ่มที่มีปัญหานี้ กลุ่มแรกคือเจอกี่ครั้งก็ยังต้องเปิดความหมาย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจำไม่ได้ซักทีทั้งที่เจอแทบทุกวัน ส่วนอีกกลุ่มคือคำที่รู้ความหมายแต่สะกดไม่ถูก รู้ว่าออกเสียงแบบไหนใช้ยังไง แต่มันสะกดยังไงหว่า วันนี้ English Issues ก็เลยจะพูดถึงศัพท์ในกลุ่มที่ 2 นี้กันค่ะ พี่พิซซ่ารวมทั้งศัพท์ที่ตัวเองชอบสะกดผิด และที่คนรอบตัวชอบสะกดผิดมาให้ เผื่อจะมีคำไหนที่น้องๆ ก็เจอเหมือนกัน
misspell [V] สะกดผิด
เริ่มคำแรกด้วยคำว่า "สะกดผิด" นี่แหละ เป็นคำที่พี่ต้องนึกให้ดีก่อนเขียนว่ามันมี s กี่ตัว คิดไปคิดมาจนได้ข้อสรุปว่า mis แปลว่าผิด, spell แปลว่าสะกด พอเอามารวมกันจึงเป็น misspell ห้ามรวม s สองตัวเป็นตัวเดียวเด็ดขาด
believe [V] เชื่อ, เชื่อมั่น, เชื่อถือ
คำนี้เจอกันบ่อย แต่ก็เห็นคนสะกดผิดบ่อยเช่นกัน ส่วนมากจะเป็นตรงสระในคำว่าลีฟ ไม่รู้จะใส่ตัวไหนมาก่อนกันดี ให้จำว่า "อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะมันมีคำโกหก (lie) อยู่ด้วยเสมอ"
achieve [V] สำเร็จ, ประสบผลสำเร็จ
คำนี้อ่านว่าอะชีฟ หลายคนจะเอาไปเขียนปนกับ archive [N] สถานที่เก็บเอกสารสำคัญ ซึ่งคำหลังอ่านว่าอาร์ไคฟ์ ต้องระวังดีๆ
perceive [V] รับรู้, เข้าใจ
เจอเสียงท้ายอีฟๆ มา 2 คำก็ทำให้คิดว่าอะไรอีฟๆ ควรเขียน ieve แบบ believe, achieve, retrieve, relieve และอีกมากมาย แต่เพอร์ซีฟดันมาเป็น eive ตอนแรกที่สังเกตเห็นพี่พิซซ่าก็สงสัยเหมือนกันค่ะว่า ทำไมมันเป็น eive ล่ะ เลยไปสืบค้นมาได้ความว่า -ceive มาจากภาษาละติน แปลว่าได้รับ ดังนั้นคำไหนที่ลงด้วยซีฟและใช้ตัว c จึงต้องเขียน ceive ค่ะ เช่น perceive, deceive, receive, reconceive
accommodate [V] จัดที่พักให้, ทำให้เหมาะสม, ปรับตัว
อีกหนึ่งคำที่มีตัวอักษรเบิ้ลถึง 2 คู่ ทั้ง cc และ mm จำไว้เลยว่าต้องทั้ง cc และ mm ค่ะ พี่พิซซ่าเคยคิดวิธีจำว่า "เราหาที่พักให้ตัว c และ m ได้ครบคู่เลย" เป็นการจำตัวสะกดและความหมายในแบบของพี่ น้องๆ จะคิดวิธีจำของตัวเองยังไงก็ได้นะคะ
calendar [N] ปฏิทิน
ตัวนี้ชวนสับสนเพราะหน้าตาไม่ตรงกับเสียง พยางค์สุดท้ายออกเสียงเดอร์ แต่ดันสะกดเป็นดาร์ คำนี้อาจจะต้องคิดวิธีจำเองว่ามันเขียนยังไงและออกเสียงยังไงค่ะ บางคนเขียนถูกแต่อ่านผิดก็มี
conscience [N] ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี, จิตสำนึก
คำนี้อ่านว่าคอนเชินซ์แต่ดันเขียนเป็น con + วิทยาศาสตร์ และเป็นคนละคำกับ conscious [ADJ] ที่คิดได้, ที่ตระหนักได้, ที่รู้สึกตัว ซึ่งอ่านว่าคอนเชิส และคำนามของ conscious คือ consciousness ยาวเลย ค่อยๆ ย่อยข้อมูลกันนะ
changeable [ADJ] ที่เปลี่ยนแปลงได้, เปลี่ยนได้ง่าย
คำนี้เคยเห็นหลายคนตัด e ออก เพราะโดยทั่วไปถ้าคำกริยาลงท้ายด้วย e พอเติมพวก able/ible ก็มักจะตัด e ออกกัน แต่คำนี้ต้องเก็บไว้ค่ะ เพราะ e ตัวนี้ช่วยบอกเสียงของตัว g ข้างหน้า ถ้าตัดออกมันจะกลายเป็น เชนเกเบิล ทั้งที่จริงๆ มันคือ เชนเจเบิล ตัว e มาช่วยบอกว่า g นี้ออกเสียง จ นะไม่ใช่ ก (ดูอย่าง gorgeous เห็นมั้ยว่าตัวแรกคือ ก ตัวที่สองคือ จ)
noticeable [ADJ] สะดุดตา, โดดเด่น, น่าสังเกต
มาในเคสเดียวกับคำเมื่อกี้ค่ะ และเหตุผลที่เราเก็บ e ไว้ก็เหมือนข้อที่แล้วเลย นั่นคือ e ช่วยบอกว่าเสียง c ในคำนี้เป็นเสียง ซ ไม่ใช่เสียง ค มันจึงอ่านว่าเซเบิล (ถ้า cable ก็เป็นสายเคเบิ้ลไปเลย)
handkerchief [N] ผ้าเช็ดหน้า
เห็นคำนี้แล้วก็อยากเอาผ้าเช็ดหน้ามาซับน้ำตาเลย พี่เคยสะกดคำนี้ผิดอยู่หลายปี ด้วยความที่ได้ยินเขาอ่านว่า แฮงเคอชิฟ ก็มโนไปว่ามันต้อง hanker เลยแน่ๆ และเขียนแบบนั้นอยู่หลายปีจนไปเห็นคำนี้ในหนังสือ ถึงได้รู้ว่ามันเขียนว่า handkerchief แต่มันไม่ออกเสียง d เฉยๆ จากนั้นก็เลยจำว่า "ผ้าเช็ดหน้าต้องเอามือ (hand) หยิบขึ้นมาจากกระเป๋า"
playwright [N] นักเขียนบทละคร
จริงอยู่ว่าเขาคือคนเขียน แต่ไม่ได้ใช้ไรท์แบบ write ค่ะ คำว่า wright นี้แปลว่าผู้สร้าง ดังนั้นจะมองว่า playwright คือผู้สร้างบทละครแทนก็ได้ จะได้ไม่ไปจำว่าเขียน
restaurant [N] ร้านอาหาร, ภัตตาคาร
ปัญหาของคำนี้มักอยู่ตรงพยางค์กลางที่ไม่รู้จะใส่สระอะไรและอะไรมาก่อนมาหลัง คำนี้พี่จำว่า "อ๊ะ ยู (au) ยูไปกินข้าวด้วยกันมั้ย"
embarrass [V] ทำให้เขิน, ทำให้อาย, ทำให้กระดากอาย
คำนี้เคยเขียนผิดทั้งแบบใส่อาร์ตัวเดียวหรือผิดสระที่พยางค์สุดท้าย พี่ก็เคยจำว่า "อร๊ายอร๊าย (ขออนุญาตเขียนวิบัติ)" หมายถึงมี a สองตัว และมี r สองตัว แต่น้องๆ คิดวิธีจำแบบของตัวเองได้เลยนะคะ
pronunciation [N] การออกเสียง
คำนามส่วนใหญ่มักเขียนเหมือนกริยาแล้วเติมอะไรซักอย่างไว้ข้างหลัง เช่น predict [V] เป็น prediction [N] แต่คำว่าการออกเสียงดันเปลี่ยนหน้าตาของกริยาเดิมไปเลย นั่นคือจาก pronounce [V] เป็น pronunciation [N]
maintenance [N] การบำรุงรักษา, การดูแลรักษา, การซ่อมบำรุง
อีกคำนามที่เปลี่ยนรูปจากกริยาไปแบบชวนให้สับสน นั่นคือเปลี่ยนจาก maintain [V] เป็น maintenance [N]
pharaoh [N] ฟาโรห์
แม้จะอ่านว่าฟาโรห์ แต่ก็สะกดเป็นฟาราโอ้นะคะ แต่ก็เห็นคนเขียนว่าฟาโรอ้ากันบ่อยๆ อยู่ ฟาโรห์ต้องไม่อ้าค่ะ
personnel [N] ฝ่ายบุคคล, กำลังพล, พนักงาน
คำนี้ดูละม้ายคล้ายคลึงกับ personal [ADJ] ส่วนตัว, ด้วยตัวเอง จำไว้ว่า personnel คือฝ่ายบุคคล มีคนหลายคนเลยมี n สองตัว
guarantee [N] สิ่งการันตี, ใบรับรอง, ผู้ค้ำประกัน
เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่าการันตีแต่ก็อาจจะเขียนภาษาอังกฤษผิดไปบ้างเพราะมันดันหน้าตาและออกเสียงคล้าย warranty ซึ่งทั้ง 2 คำมีความหมายเหมือนกันอีกด้วย
dumbbell [N] ดัมเบล, ที่ยกน้ำหนัก
หลายคนใส่ตัว b ไม่ครบ ฉะนั้นจำว่า "ต้องยกทั้งสองข้างแขนจะได้เท่ากัน" จึงต้องมี b สองตัว
rhyme [N] คำสัมผัสในกลอน [V] ใช้เสียงสัมผัส, เขียนบทกวี
คำนี้อ่านว่าไรม์ ส่วนริธึ่มที่สะกดคล้ายกันคือ rhythm [N] จังหวะ, จังหวะสัมผัสในกลอน คู่นี้อาจจะต้องหาวิธีจำกันเอาเองค่ะ
ใครมีคำที่ชอบสะกดผิดและวิธีจำเก๋ๆ ก็เขียนลงในกล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลยนะคะ แล้วเจอกับ English Issues ได้ใหม่ในตอนหน้าค่ะ
3 ความคิดเห็น
อ่านผิดเกือบทุกคำเลย
เราจำว่า'คนโง่ยกกระดิ่ง' 555 จิงๆมันเป็นสแลงแปลว่า'คนโง่'ได้ด้วยนะ
ขอบคุณค่าาา