รู้ทัน Jet Lag อาการสามัญหลังกลับจากต่างประเทศและวิธีบรรเทาอาการ

        อาการเจ๊ทแล็ก (Jet Lag) ก็คืออาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในไทม์โซน (Time Zone) ที่แตกต่างกับที่เคยอยู่ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ได้ อีกทั้งการเดินทางบนเครื่องบินยังส่งผลต่อร่างกายของเรา เช่น อาการปวดเมื่อยจากการนั่งนานๆ เลือดไม่หมุนเวียน ความกดอากาศต่ำ ทำให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง และอากาศแห้ง ทำให้ร่างกายขาดน้ำค่ะ

        การนอนไม่หลับก็ส่งผลให้เกิดอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ไม่กระตือรือร้น ไม่อยากอาหาร ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และจะหายไปเมื่อร่างกายของเราปรับตัวได้แล้ว แต่สำหรับบางคนอาจเป็นรุนแรงจนต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์หรืออาจต้องพึ่งคุณหมอเลยทีเดียว

        อาการนี้จะอยู่ยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างเวลาของประเทศเรากับประเทศปลายทาง สมมติพี่น้องจะบินไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลีใต้ ซึ่งเวลาที่นั่นเดินเร็วกว่าบ้านเรา 2 ชั่วโมง พี่น้องอาจจะมีอาการเจ๊ทแล็กไปอย่างนี้ราว 1-2 วัน ตามจำนวนชั่วโมงที่ห่างกันเลยค่ะ
        แต่ถ้าพี่น้องจะบินไปแลกเปลี่ยนที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางย้อนจากตะวันออกไปตะวันตก (อารมณ์เหมือนเราย้อนเวลาเลยเนอะ) ที่นั่นเวลาช้ากว่าบ้านเรา 12 ชั่วโมง แต่อาการเจ๊ทแล็กจะกินระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน น้อยกว่าการเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออกแบบที่ไปเกาหลีค่ะ
        ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เกิดเจ๊ทแล็กเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพความพร้อมของร่างกาย ช่วงเวลาที่เดินทาง กิจกรรมที่ทำเมื่อไปถึง หรือแม้แต่อาหารที่เรากินเข้าไป

        เจ๊ทแล็กอาจทำให้เราหมดสนุกในการเดินทางไปต่างประเทศ และแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่มีวิธี "บรรเทา" อาการนี้ได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ
 

1. ปรับเวลานอนล่วงหน้า

        ถ้าเราจะเดินทางไปแลกเปลี่ยนที่นิวยอร์ก อเมริกา ซึ่งเวลาช้ากว่าบ้านเราประมาณ 12 ชั่วโมง แปลว่าถ้าเราเดินทางไปถึงที่นั่นแล้วเราจะนอนตามเวลาปกติแบบในไทยไม่ได้ ต้องรอถึง 12 ชั่วโมงแหนะ
        เราจึงต้องจำลองสถานการณ์ด้วยการทำให้ตัวเราชินกับการนอนในเวลาที่เปลี่ยน โดยเริ่มจากปรับการนอนจากแต่เดิมนอนเที่ยงคืน ให้เลื่อนเข้ามาเรื่อยๆ วันละ 2 ชั่วโมง เป็นนอน 4 ทุ่ม 2 ทุ่ม 6 โมงเย็น 4 โมงเย็น บ่ายสอง และเที่ยง ตามลำดับ

        แน่นอนว่าเคสนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องไปเรียนหรือทำอะไรก่อนเดินทางไปต่อนอก แต่ถ้าจำเป็นต้องทำธุระ นอนตอนกลางวันที่ไทยไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ปรับเวลานอนมาให้ค่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น อาจจะเริ่มปรับเวลาให้ชินกับการนอนตอน 2 ทุ่ม เพื่อลดช่องว่างเวลาที่เราควรจะได้นอนจริงให้เหลือแค่ 8 ชั่วโมง ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยเนอะ
 

2. นอนบนเครื่อง VS ไม่นอนบนเครื่อง

        บางคนสงสัยว่าถ้าเราเดินทางบนเครื่องเป็นสิบๆ ชั่วโมง จะนอนบนเครื่องไปเลยดีไหม จะมีผลอะไรหรือเปล่า ขอให้เช็กดังนี้ค่ะ

        ถ้าเป็นการเดินทางระยะยาว (เกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป) ให้ใช้ผ้าปิดตาและที่อุดหูเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อให้นอนหลับได้สนิท จะให้ผลดีกว่าเดี๋ยวหลับเดี๋ยวตื่น

        แต่ถ้าเป็นการเดินทางระยะสั้น (ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง) นั่งไปสักพักเดี๋ยวก็มีอาหารมาเสิร์ฟ มีขนมมาเสิร์ฟ พี่น้องแนะนำว่าหาอะไรทำแทนการนอนดีกว่าค่ะ เพราะการนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ จะยิ่งทำให้เราเพลียมากกว่าไม่ได้นอนเลยอีกนะ
 

3. เลือกบินรอบเช้า VS เลือกบินรอบกลางคืน

        ถ้าไปท่องเที่ยว หลายคนก็มักจะเลือกจองตั๋วเครื่องบินที่เดินทางกลางคืนแล้วไปถึงจุดหมายตอนเช้า จะได้ไม่เสียเวลา ถึงปุ๊บเที่ยวเลย แต่การเดินทางไปแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเลือกแบบนั้นก็ได้ เพราะเรามีเวลาเป็นเดือนๆ การเดินทาง ถ้าเกิน 4 ชั่วโมง ร่างกายเราจะเริ่มอ่อนเพลียอยู่แล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือไปถึงอีกประเทศปุ๊บแล้วได้พักผ่อนเลยค่ะ

        บางคนอาจกังวลว่าจะนอนหลับเหรอ จะดีเหรอถ้านอนบนเครื่องบินแล้วมานอนต่อแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างนอนน้อยไปกับนอนมากไป นอนน้อยไปย่อมส่งผลเสียกว่าอยู่แล้วค่ะ

        อีกอย่างเราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าเราจะได้พักผ่อนบนเครื่องบินจริงหรือเปล่า บางคนกะไปนอนบนเครื่อง แต่พอเอาเข้าจริงดันได้นั่งข้างๆ เด็กเล็กที่ร้องโยเยตลอดก็ไม่ได้นอนพอดี ดังนั้นเผื่อเหลือดีกว่าขาดนะคะ
 

4. ดื่มน้ำให้มาก

        อย่างที่บอกว่าการเดินทางบนเครื่องบินที่มีอากาศแห้ง ทำให้ร่างกายเราขาดน้ำ และเราดื่มน้ำน้อยลงจากการเดินทางด้วย พี่น้องแนะนำให้ดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิมสองเท่าตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง ระหว่างขึ้นเครื่อง และหลังขึ้นเครื่องค่ะ น้ำจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลได้ในที่สุด
 

5. ขยับตัวบ้าง

        แน่นอนว่าที่นั่งบนเครื่องบิน โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์มักจะไม่เหลือที่ให้เราได้ขยับตัวเลยแม้แต่น้อย ทางออกที่ดีที่สุดคือการลุกไปเข้าห้องน้ำและยืดกล้ามเนื้อแขนขาเพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้นค่ะ
 

6. สวมเสื้อผ้าที่สบายตัว

        บางคนจะบินไปประเทศเมืองหนาว กลัวไม่มีเวลาเปลี่ยนเสื้อ กลัวหนาว ก็จัดเต็ม อัดแน่นตั้งแต่เมืองไทย พอขึ้นเครื่องไปอึดอัด หายใจไม่สะดวก (พี่เคยเป็นมาแล้วค่ะ เข็ดไปอีกนาน) เราจึงควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดเกินไป ใส่พอดีๆ แล้วใช้วิธีสวมทับหลายๆ ชั้นแทนเผื่ออากาศหนาวขึ้นหรือร้อนขึ้น จะได้เปลี่ยนเสื้อผ้าได้สะดวก

        รวมถึงสุขภาพฝ่าเท้าของเรา ก็ไม่ควรสวมถุงเท้าแน่นเพราะจะทำให้เลือดเดินไม่สะดวก ควรสวมรองเท้าที่ถอดง่ายไว้ด้วย เวลานั่งเครื่องแล้วจะได้ถอดรองเท้าออกยืดแข้งยืดขาได้สะดวก ทั้งนี้ต้องเกรงใจคนนั่งรอบๆ ด้วยนะคะ อย่าเท้าเหม็น อย่ายกแข้งยกขามาพาดกับที่วางแขนเบาะหน้า หรือเบียดบังคนอื่นนะคะ
 

7. เลือกอาหารการกิน

        เรื่องอาหารนี่ก็สำคัญค่ะ รองจากความอร่อยคือการเลือกอาหารที่เหมาะต่อการเดินทางระยะยาว เช่น อาหารที่มีโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ อาหารจำพวกธัญพืชอย่างขนมปัง หรือผลไม้ที่มีวิตามินและน้ำในตัวสูง เพื่อช่วยให้ร่างกายเราอิ่มแบบพอดีๆ และมีน้ำ

        อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคืออาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรต เพราะมันหนักท้อง ร่างกายที่อิ่มเกินไปจะนอนไม่หลับและรู้สึกอึดอัดจากอาหารไม่ย่อย อีกอย่างที่ควรเลี่ยงคือแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ควรเลี่ยงตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องเลยค่ะ
 

8. อาบน้ำอุ่น ช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย

        เมื่อมาถึงประเทศปลายทางซึ่งส่วนใหญ่มักจะอุณหภูมิต่ำกว่าเมืองไทย การอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้ร่างกายของเราปรับอุณหภูมิ และยังทำให้หลับง่ายขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อผ่อนคลายขึ้นค่ะ
 
        อาการเจ๊ทแล็กอาจส่งผลกระทบไม่มากนักถ้าเรามาแลกเปลี่ยนระยะยาว เพราะเรามีเวลาปรับตัวนานมาก แต่ถ้าเป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น ก็อาจทำให้เราเที่ยวไม่สนุกได้เลยทีเดียว สำหรับคนที่รู้สึกว่าอาการนี้ไม่หายสักที ยังคงนอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์อย่างเร่งด่วนนะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
webmd.com
thestudentworld.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
This is ME Member 30 พ.ย. 58 05:59 น. 2

ไม่ค่อย jetlag เท่าไหร่ พอถึงโรงแรมปุ๊บหลับเป็นตายเลยค่ะขนาดเวลาต่างกัน 12 ชม.วันต่อมาสบายบรื๋อ มีง่วงบ้างตอนกลางวันแต่ก็ปกติง่วงกลางวันเป็นประจำอยู่แล้วเลยคิดว่าตัวเองไม่มี Jetlag หรอก

0
กำลังโหลด
พลอยนิล-อะเมะยูคิ Member 3 ธ.ค. 58 23:51 น. 3

ไม่เป็นเลยค่ะ ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นหลับเป็นตาย เพราะอยู่บ้านทำแต่งาน ไม่ค่อยได้นอน แหะๆ ใครจะเอาวิธีนิลไปใช้ก็ได้นะคะ

เขิลจุง

0
กำลังโหลด
อ้อย 9 ส.ค. 60 03:45 น. 4

แงๆๆๆๆ นอนไม่ได้เลยค่ะ เดินทาง 13ชม. เหนื่ยและเพลียมาก ง่วงมาก แต่นอนไม่หลับ สองคืนแล้วววว

1
โกลัญญา 31 ก.ค. 62 14:38 น. 4-1

เราพึ่งกลับมาจากเดนมาร์กได้ 8 วันแล้ว กว่านอน 6โมงเช้า เพราะห่างกันที่โน้น 5 ชม พรุ่งนี้วันที่ 1 สิงหาคม ต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า 9 โมงจะไหวมั้ย กลัวไปยืน หลับกลางอากาศจัง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด