พาไปรู้จัก “การศึกษาแบบวอลดอร์ฟ” โรงเรียนยุคใหม่ที่ให้เด็กได้เรียน เล่น จินตนาการ และเติบโตตามธรรมชาติ

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เวลาพูดถึง “โรงเรียน” เราอาจคุ้นเคยกับการเรียนตามตารางที่จัดไว้ทุกสัปดาห์ การวัดผลสำเร็จทางวิชาการจากคะแนนสอบ และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่ช่วงหลังมานี้มีการศึกษาทางเลือกที่น่าจับตามองมาก นั่นก็คือการศึกษาใน ‘ระบบวอลดอร์ฟ’ (Waldorf Education) ที่เน้นประสบการณ์ชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน ให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ การเล่น การทำกิจกรรม และเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ที่สำคัญคือระบบที่ว่านี้ยังเลี่ยงการสอบแข่งขันและวัดเกรดด้วย!

แต่หลายคนอาจสงสัยว่าระบบวอลดอร์ฟนี้มีรากฐานจากไหน? อะไรคือจุดเด่นของหลักสูตรนี้?  แล้วครูจะวัดผลนักเรียนจากการประเมินด้านใดบ้าง? มาหาคำตอบกันในบทความนี้เลยค่ะ
 

โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรก
เกิดขึ้นหลังสิ้นสุด WWI

 

ระบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดมนุษยปรัชญา และริเริ่มโดยนักปรัชญาชาวออสเตรเลียชื่อ รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) โดยในปี 1919 เขาถูกขอให้สร้างโรงเรียนสำหรับลูกหลานของพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงาน Waldorf Astoria Zigaretten Fabrik เมืองสตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี ความพิเศษคือไม่ว่าเด็กแต่ละคนจะอยู่ในชนชั้นไหนหรือมีความสามารถต่างกันเพียงใด ก็จะได้เรียนในสิ่งครูสอนเหมือนๆ กัน ส่งผลให้โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบของการศึกษาที่มีความเสมอภาคนั่นเองค่ะ

โรงเรียนระบบวอลดอร์ฟแห่งแรกก่อตั้งขึ้นภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศ ปัญญาชนในสมัยนั้นจึงพยายามหาทางเพื่อช่วยบูรณะฟื้นฟูสังคมขึ้นใหม่หลังความเสียหายจากสงคราม และสไตเนอร์ก็เชื่อมั่นว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่มีศิลปะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กทุกคน จึงได้คิดค้นหลักสูตรการเรียนรูปแบบใหม่ที่นำเอาความมีชีวิตชีวาของศิลปะมาผสานไว้ในวิชาเรียนต่างๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้แหละคือความสุขและทำให้การเรียนเป็นเรื่องน่าจดจำ

Photo Credit:https://www.freepik.com
Photo Credit:https://www.freepik.com 

เปิดลักษณะพิเศษ
ฉบับโรงเรียนระบบวอลดอร์ฟ

ไม่อัดวิชาการ เน้นลงมือทำจริง

เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้โรงเรียนวอลดอร์ฟต่างจากโรงเรียนทั่วไปคือการให้ความสำคัญกับศิลปะ, การคิดเชิงวิพากษ์ และความคิดสร้างสรรค์ เขาจะจัดการเรียนการสอนตามพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยเลย โดยเฉพาะเด็ก 0-7 ปีจะไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นให้ลงมือทำ ในขณะที่ระบบการศึกษาหลักจะให้ความสำคัญการวัดผลทางวิชาการ และส่วนมากอัดเนื้อหาคณิตศาสตร์และการอ่านตั้งแต่ 5 ขวบ!

และก่อนจะมีหลักฐานและงานวิจัยมากมายมายืนยัน สไตเนอร์เป็นผู้มาก่อนกาลที่รู้ว่า การลงมือทำกิจกรรมจะช่วยกระตุ้นสมองของเด็กได้ดี ดังนั้นพวกงานศิลปะที่ทำด้วยมือและงานประดิษฐ์เลยถูกบรรจุลงหลักสูตรการเรียนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ม.ปลาย เช่น ทุกคนได้เรียนถักนิตติ้งตอน grade 1  (= ป.1) จากนั้นก็ค่อยๆ ไต่ระดับไปสร้างสิ่งของเน้นประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เด็กๆ จะได้เรียนพวกวิชางานไม้ งานสร้างบ้าน ทำสวน ทำรองเท้า ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจที่มาและเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ด้วยค่ะ

ห้องเรียนเด็กเล็กไม่มีโต๊ะและเก้าอี้

แต่เป็นห้องเรียนกว้างๆ ให้เด็กทำกิจกรรมและเล่นอย่างอิสระ ส่งเสริมให้เด็กเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีในเด็กเล็กทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านอีกด้วย

ไม่มีหนังสือเรียน

ด้านเนื้อหาวิชาการจะใช้วิธีสอนแบบ project-based approach ที่ส่งเสริมให้เด็กสังเกตสิ่งรอบตัวและสรุปผล  ดังนั้นแทนที่จะเรียนอิงหนังสือเรียนเหมือนโรงเรียนทั่วไป ครูจะเป็นผู้เตรียมสไลด์และวิธีนำเสนอให้ดูมีสตอรี่น่าสนใจ ส่วนเด็กจะเป็นผู้ทำหนังสือเรียนแต่ละวิชาขึ้นมาเองโดยการวาดภาพและจดบันทึกใจความสำคัญของสิ่งที่ครูสอน (โดยเฉพาะเด็กประถมจะไม่มีแบบเรียนเลย) หนังสือเรียนของพวกเขาจึงเหมือนเป็นงานศิลปะชั้นยอดเลยก็ว่าได้ค่ะ ^^

จัดตารางเรียนแบบเน้นโฟกัส

แนวทางการเรียนแบบวอลดอร์ฟถือเป็นต้นกำเนิดของการสอนที่เรียกว่า block scheduling  โดยในช่วงเช้าครูจะสอนวิชาหลัก 2 ชั่วโมง และเรียนวิชาเดิมต่อเนื่องไป 3-4 สัปดาห์รวด แล้วค่อยสลับไปเรียนวิชาอื่น เขาให้เหตุผลว่าการเรียนแบบนี้ช่วยให้นักเรียนมีพลัง กระตือรือร้น มีสมาธิจดจ่อ และมีเวลาทำความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้นด้วย

เรียนกับครูประจำชั้นคนเดิม 8 ปี

โดยที่ครูประจำชั้นจะทำหน้าที่สอนวิชาหลักเองทั้งหมด เช่น ประวัติศาสตร์, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เมื่อใช้เวลาร่วมกันหลายปีย่อมทำให้ครูกับศิษย์ผูกพันกัน และครูก็จะเป็นผู้ที่คอยติดตามและประเมินศักยภาพเพื่อหาแนวทางการเรียนให้เหมาะกับแต่ละคนด้วยค่ะ

เลี่ยงการแข่งขัน & ไม่มีตัดเกรด

ใครที่กลัวการสอบหรือกลัวได้คะแนนไม่ดีก็สบายใจได้เลย เพราะรูปแบบการเรียนที่ว่านี้จะหลีกเลี่ยงการสร้างบรรยากาศของการแข่งขันและไม่มีการตัดเกรด ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน การทำคะแนนสอบ หรือกิจกรรมในคลาส ยังเป็นการเล่นเกมที่ไม่มีการแข่งขันเพื่อเอาชนะ ในทางกลับกัน คุณครูจะประเมินนักเรียนจากพัฒนาการด้านบุคลิกภาพและนิสัย มีเพียงเด็กโตที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ทางโรงเรียนจะมีการวัดผลคะแนนสอบและวัดเกรดเฉลี่ย  

Photo Credit:https://img.freepik.com/free-photo
Photo Credit:https://img.freepik.com/free-photo 

ตัวอย่างวิชาและสไตล์การสอน
 

  เป้าหมายของการศึกษาระบบวอลดอร์ฟคือมุ่งให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม มีวุฒิภาวะทางสังคมที่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์ โดยในหลักสูตรการเรียน 12 ปี เด็กจะได้เรียนวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์, วรรณกรรม, ประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ ตลอดจนการทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบด้วย เดี๋ยวเรามาดูกันต่อค่ะว่าการเรียนการสอนแต่ละวิชาจะออกมาในรูปแบบไหนบ้าง?

ยูริธมี (Eurythmy)

เป็นศิลปะการเคลื่อนไหวทางร่างกายอันเป็นเอกลักษณ์ของการศึกษาวอลดอร์ฟ โดยนำเอาศิลปะท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายมาผสานกับบทเพลงหรือบทกวี อย่างเช่นครูจะเล่นเปียโนไปพร้อมกับสอนให้เด็กๆ ฝึกทำท่าเคลื่อนไหวพร้อมออกเสียงสระ (vowels) พูดง่ายๆ คือเป็นการทำให้เสียงพูดและเสียงดนตรีสามารถรับรู้ได้ทางตา ยูริธมีจึงเหมาะกับเด็กวัยหัดเรียนรู้ภาษาในช่วงอายุประมาณ 7 ขวบ ส่วนในระดับมัธยมปลายจะเรียนการแสดงละครเวที และขึ้นแสดงจริงให้ผู้ปกครองและเพื่อนชมด้วย

วิชาศิลปะ

โรงเรียนวอลดอล์ฟจะเน้นนำศิลปะมาประยุกต์ควบคู่กับการเรียนด้านวิชาการอย่างสมดุล เพื่อกระตุ้นจินตนาการและพลังความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เช่น มีชั่วโมงสำหรับการเล่นละครเวที, การทำงานจิตรกรรม, การวาดภาพ, การเล่นดนตรี ฯลฯ ช่วยให้โลกการเรียนรู้ของเด็กมีสีสันขึ้นมาเลยค่ะ

Photo Credit:https://pixabay.com
Photo Credit:https://pixabay.com 

วิชามนุษยศาสตร์และภาษาศาสตร์

เนื่องจากมนุษย์เราเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเห็นภาพแล้วเปล่งเสียงออกมา ตามด้วยการเขียนและการอ่าน ดังนั้นช่วงปฐมวัยจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่านิทาน บทสนทนา และร้องเพลง ไปพร้อมกับเปิดโลกมรดกทางวัฒนธรรมและอ่านวรรณกรรมทรงคุณค่าจากทั่วทุกมุมโลก เช่น นิทานอีสป, ภควัตคีตา, แผ่นดินแห่งกาเลวา ตำนานเทพแห่งฟินแลนด์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของมนุษยชาติ

วิชาวิทยาศาสตร์

วิชานี้จะเน้นใช้เวลาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวต่างๆ นอกห้องเรียน (Experiential Learning) เช่น ครูจะทำการทดลองแล้วให้เด็กๆ สังเกตและอภิปรายหาข้อสรุปเพื่อนำไปสู่การค้นพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นับเป็นวิธีเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณและให้อิสระทางความคิดอีกด้วย

วิชาดนตรี 

เด็กเล็กจะได้เรียนร้องเพลง ฝึกเป่าขลุ่ย หรือบางทีอาจสอนเล่นพิณ จากนั้นพอ grade 3-4 (=ป.3-4) จะได้เริ่มลองเล่นดนตรีเครื่องสาย ทั้งนี้เพราะเสียงดนตรีไม่ใช่แค่ช่วยสร้างความสุขและทำให้จิตใจอ่อนโยน แต่ระบบเรียนแบบวอลดอร์ฟยังเน้นดึงศักยภาพทางดนตรีที่ีซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคนออกมาด้วย

วิชาภาษาต่างประเทศ

หลักสูตรของวอลดอร์ฟก็ให้ความสำคัญกับวิชาภาษาต่างประเทศเช่นกัน เพราะเขาเชื่อว่าภาษาเป็นสื่อของความคิดที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง

Photo Credit:https://www.freepik.com
Photo Credit:https://www.freepik.com 

 โรงเรียนระบบวอลดอร์ฟในไทย 
มีที่ไหนบ้าง?

 

ปัจจุบันมีโรงเรียนวอลดอร์ฟมากกว่า 1,000 แห่งใน 60 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นรูปแบบการเรียนที่เป็นที่ได้รับการยอมรับในยุโรป และโรงเรียนหลายแห่งยังได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐด้วยเช่นกัน สำหรับในประเทศไทยตอนนี้มีโรงเรียนระบบวอลดอร์ฟหลายแห่งอยู่เหมือนกันค่ะ เช่น 

  • อนุบาลบ้านรัก
  • โรงเรียนปัญโญทัย
  • โรงเรียนเพลินพัฒนา
  • โรงเรียนศิริ์รัถยา
  • โรงเรียนไตรพัฒน์
  • โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะบางมด
  • โรงเรียนวรรณสว่างจิต
  • ศูนย์การเรียนอาภา
  • โรงเรียนฟ้ากว้าง
  • โรงเรียนดุลยพัฒน์

เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะช่วยให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับระบบการเรียนแบบวอลดอร์ฟไม่มากก็น้อย หากใครเคยมีประสบการณ์การเรียนในสไตล์วอลดอร์ฟก็อย่าลืมมาแชร์ให้พี่และเพื่อนๆ ชาว Dek-D ฟังกันเพิ่มเติมด้วยนะคะ

sources:https://www.youtube.com/watch?v=BkrgkslnD9ghttps://waldorfinspiredlearning.com/unique-aspects-waldorf-education/https://www.nytimes.com/2020/04/19/parenting/waldorf-school.html  
พี่ไก่กุ๊ก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น