เปิดมุม LGBTQ หลังฟิล์ม: ‘Your Name Engraved Herein’ หนังเกย์สะท้อนเรื่องจริงแสนขื่นขมในสังคมไต้หวัน

หนีห่าวค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง กฎหมายการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน (Same-sex marriage legalization) ในไต้หวันบ้างแล้วใช่ไหมคะ แน่นอนแหละว่ากว่าจะเดินทางมาถึงปัจจุบัน กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มคนความหลากหลายทางเพศคงได้รับแรงกดดันรวมถึงต้องปกปิดตัวตนของตัวเองเอาไว้ วันนี้พี่ปลื้มเลยขอทำหน้าที่อาสาพาน้องๆ ไปดูความรักของเด็กวัยรุ่นชายคู่หนึ่งที่ต้องปกปิดตัวตนเอาไว้ในยุค 80-90 ผ่าน ‘Your Name Engraved Herein’ ภาพยนตร์ที่สะท้อน LGBTQ+ ยุค 80-90 ในไต้หวัน อีกทั้งยังดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของผู้กำกับด้วย! ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูความรักของพวกเขากันเลยค่ะว่าต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง 

__________

** Spoiler Alert! **
บทความนี้มีการหยิบเรื่องราวบางส่วนมาจากหนัง อาจมีสปอยล์ในบทความนะคะ

__________

Photo Credit: YourNameEngravedHereinEnglishfanpage
Photo Credit: YourNameEngravedHereinEnglishfanpage

หนังเรื่อง Your Name Engraved Herein ถูกดัดแปลงมาจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับ แพทริก หลิว (Patrick Kuang-Hui Liu) นำความทรงจำบางส่วนของเขามาเป็นพล็อตเรื่องเพื่อบอกเล่าความรู้สึกของเกย์ที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติทางสังคมไต้หวันในยุคหลังยกเลิกกฎอัยการศึก (Martial Law: 1949-1987) แม้ผลงานเรื่องนี้จะเป็นการกำกับหนังยาวเรื่องแรก แต่ก็สามารถทุบสถิติหนังแนว LGBTQ+ ของไต้หวันได้ด้วยการกวาดรายได้ไปกว่า 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน นับว่าสูงสุดในประวัติการณ์ แต่เท่านั้นไม่พอค่ะ หนังเรื่องนี้ยังคว้ารางวัลใหญ่อย่าง ม้าทองคำ (The Golden Horse Award 2020) มาครองด้วย

เรื่องย่อ

เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง อาฮั่น กับ เบอร์ดี้ เด็กหนุ่มในโรงเรียนมัธยมชายล้วนคาทอลิกที่มีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน แต่ความรักก็ไม่ได้สดใสราบรื่นถึงขนาดออกสื่อได้ค่ะ เพราะสังคมในช่วงนั้น(ปี 1987) รวมถึงครอบครัวยังไม่สามารถยอมรับในเรื่องของ LGBTQ+ ได้ ความรักของทั้งสองคนจึงเป็นสิ่งต้องห้าม หลบๆ ซ่อนๆ ทำได้แค่ปิดบังความรู้สึกเอาไว้ จนเมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึก โรงเรียนก็เปิดให้นักเรียนหญิงเข้ามาเรียนร่วมกันในโรงเรียนชายล้วน ความสัมพันธ์ของ อาฮั่นกับเบอร์ดี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปเพราะมีตัวละคร ปันปัน เด็กสาวผู้ที่ได้ร่วมซ้อมในวงดุริยางค์เข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ 

สะท้อนความอึดอัดของ LGBTQ+ ในปี 1987s - ต้น 1990s

ในช่วงต้นเรื่อง ในแต่ละฉากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดของโรงเรียนชายล้วนคาทอลิก เริ่มตั้งแต่การตรวจหาเทปเพลงและหนังสือนิตยสารตามหอพักนักเรียน (แค่กินขนมในหอยังไม่ได้เลยค่ะ) การลงโทษของคุณครูที่รุนแรงเกินไปเอะอะสั่งยืน ฟาดเอาๆ ไปจนถึงการไม่ยอมรับและกลั่นแกล้งกลุ่ม LGBTQ+ ถ้าเผลอทำให้คนอื่นรู้เข้า

Photo Credit: http://neocha.com/magazine
Photo Credit: http://neocha.com/magazine

อย่างที่ได้บอกไปค่ะว่าหนังดำเนินอยู่ที่ไต้หวันในยุคหลังยกเลิกกฎอัยการศึก ช่วงที่การเมืองกำลังเดือดปุดๆ ประชาธิปไตยเริ่มผลิบาน แต่สังคมยังถกเถียงกันเรื่องความหลากหลายทางเพศ (สมัยนั้นยังไม่มี Q+ เลย) แม้จริงๆ แล้วจะเคยมีหนังสือเกี่ยวกับ LGBTQ+ ได้รับการตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะให้อ่านในปี 1983 นั่นก็คือเรื่อง ‘Crystal Boys’ ชื่อภาษาจีนคือ ‘เน่ยจึ’ (孽子: Nièzǐ) เขียนโดย ป๋ายเซียนหย่ง (Pai Hsien-yung) ในหนังสือป๋ายเซียนหย่งได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับชีวิตของเกย์ (Gay life in 1970s) ไว้ว่า 

“ ที่นี่พวกเราไม่สามารถใช้ชีวิตตอนเช้าได้ ออกมาได้แค่ตอนกลางคืน และต้องหลบซ่อนทันทีหลังพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเป็นเรื่องผิดกฏหมาย พวกเราไม่มีรัฐบาล ไม่มีรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับการยอมรับหรือเคารพจากใคร ” 

แค่ไม่กี่บรรทัดยังรู้สึกเศร้าขนาดนี้ จินตนาการแทบไม่ออกเลยนะคะว่าหลายคนที่อยู่ในยุคนั้นจะต้องอึดอัดขนาดไหน

Photo Credit: http://neocha.com/magazine
Photo Credit: http://neocha.com/magazine

“การแต่งงานเป็นสิทธิมนุษยชน รักเพศเดียวกันไม่ใช่โรค”

หนังได้สอดแทรกเรื่องการเมินเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการมีฉากที่ทำให้ตัวละครหลักได้ไปพบกับ LGBTQ+ คนหนึ่งที่ยืนอยู่บนสะพานพร้อมถือป้ายเรียกร้องสิทธิ แน่นอนค่ะว่าทุกคนเห็นเป็นเรื่องพิลึกและตลก อ่านป้ายจบแล้วเดินผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจใยดีกับคำพูดตรงนั้นเลย เช่นเดียวกับปี 1986 ฉีเฉียเหวย (Chi Chia-wei) บุคคลที่ได้จุดประกายและต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ ไต้หวันมาร่วม 30 ปี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงไทเป เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่รักเพศเดียวกันได้ การยื่นเพื่อเรียกร้องสิทธิควรเป็นเรื่องที่ดี แต่เหตุการณ์นั้นกลับส่งผลให้เขาถูกจำคุกเกือบ 6 เดือน เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าฉีเฉียเหวยเป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล 

เมื่อความรักขัดต่อหลักศาสนา

Photo Credit: http://neocha.com/magazine
Photo Credit: http://neocha.com/magazine

“คุณชอบผู้หญิงได้ แต่ผมชอบผู้ชายไม่ได้สินะ 

ความรักของคุณยิ่งใหญ่กว่าผมเหรอ บอกมาสิว่าความรักของคุณกับผมต่างกันยังไง”

พี่ขอแตกประเด็นเรื่องศาสนาออกมาอีกนิ๊ดดดด เพราะอีกหนึ่งความตึงที่หนังเรื่องนี้ใส่เข้ามาเป็นพลังในการดำเนินเรื่องคือความเชื่อในพระเจ้าค่ะ คำพูดด้านบนเป็นคำถามที่อาฮั่นได้ถามกับคุณพ่อโอลิเวอร์ (บาทหลวงหรืออาจารย์สอนดนตรี) ซึ่งเป็นคำพูดแทนวัยรุ่นสมัยนั้นว่าทำไมความรักของเขาถึงเป็นเรื่องผิดบาปในทางศาสนา ทั้งที่เราต่างก็รักเหมือนกัน

แม้ในหนังจะเปิดมาด้วยบทเพลงโซโลมอน 8:7 (Song of Solomon 8:7) ที่ร้องว่า 

Many water cannot quench love 

น้ำมากหลายไม่อาจดับความรักให้มอดเสียได้

Neither can the floods drown it; 

หรืออุทกธารทั้งหลายไม่อาจท่วมความรัก

If a man would give all the substance of his house for love,  

แม้ว่าคนใดจะเอาทรัพย์สมบัติในเหย้าเรือนของตนทั้งสิ้นมาแลกกับความรักนั้น

His offer would be viewed with utter contempt 

คนนั้นจะได้รับความหมิ่นประมาทจากคนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

แปลเป็นภาษาพี่ก็จะประมาณว่าความรักนั้นยิ่งใหญ่มาก ต่อให้น้ำท่วมสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ความรักจมลงไปได้ ใครที่ใช้เงินซื้อความรัก คนพวกนั้นสมควรถูกดูหมิ่น ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมคะ แต่!!! ในเรื่องนี้จะเห็นบาทหลวงพูดหลายครั้งเลยนะว่ามันเป็น ‘บาป’ เราไม่ควรดึงใครลงมา ‘นรก’ ด้วย เพราะฉะนั้นในเชิงศาสนาเอง ต่อให้คำสอนตีความออกมาเป็นยังไงก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดค่ะ (ไม่เหลือทางไหนให้พึ่งพาแล้วนะ T_T)

Photo Credit: news.abs-cbn.com
Photo Credit: news.abs-cbn.com

“พวกรักเพศเดียวกัน ถ้าตายไปแล้วสมควรจะตกนรกไม่ใช่เหรอ 

ส่งผมไปหน่อยสิ ผมอยากตกนรก อย่างน้อยตรงนั้นก็ยังมีคนที่เข้าใจผม”

สุดท้ายมาจบกับฉากที่พี่ชอบที่สุดค่ะ (ปาดน้ำตา) เพราะเป็นฉากที่อาฮั่นฟูมฟายระบายความในใจกับคุณพ่อโอลิเวอร์ ประโยคเดียวแต่แทนใจความอึดอัดของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เก็บไว้ออกมาจนหมด มองไปตรงไหนก็ไม่มีใครเข้าใจ สุดท้ายก็ต้องเลือกเดินทางตามที่สังคมกำหนดให้เป็นแม้จะไม่ต้องการ

การขับเคลื่อน LGBTQ ของ Your Name Engraved Herein 

“ถ้าฉันรู้ว่าการชอบผู้ชายมันเป็นอาการตั้งแต่เกิด ฉันคงไม่พยายามฝืนหรอก” คำพูดของตัวละครปันปันที่ได้พูดไว้ในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งได้สะท้อนเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในสมัยก่อนว่าคนที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ นั้นคืออาการป่วย ถ้ารักษาอาจจะหายได้ ซึ่งตรงนี้นำแสดงนำอย่าง เอ็ดเวิร์ด เฉิน (Edward Chen) ที่รับบทเป็นอาฮั่นก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เราควรทำความเข้าใจและเปิดใจมากกว่านี้ เพราะเฉินเองก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สาวที่เป็น LGBTQ+ เช่นเดียวกัน และเธอก็เป็นคนให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวละครที่มีความสับสนนี้ด้วย

นอกจากนี้เหล่าทีมงาน นักแสดงนำ ผู้กำกับ ยังเป็นกระบอกเสียงให้กับชาว LGBTQ+ ด้วย เช่นการจัดทอล์กตามมหาวิทยาลัย และการร่วมเดินขบวนในงาน LGBT Pride ในไต้หวัน เป็นการเรียกร้องสิทธิที่จริงจัง ไม่ใช่แค่เพื่อกระแสเท่านั้นค่ะ

ในส่วนของเพลงประกอบ Your Name Engraved Herein ร้องโดยหลู ก่วงจ้ง (Crowd Lu) ก็ได้ติดชาร์ตอันดับหนึ่งของไต้หวัน รวมถึงหลู ก่วงจ้งก็ได้แสดงในพิธีมอบรางวัลแบบถ่ายทอดสด มีนักแต่งเพลงจากสิงคโปร์และมาเลเซียเข้าร่วมด้วย พิธีมอบรางวัลนี้ได้เพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับ LGBTQ+ มากขึ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศยังคงเซ็นเซอร์เนื้อหาสื่อ LGBTQ+ และยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีความสัมพันธ์กับเกย์

กฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันในไต้หวัน

ตามที่พี่ได้พูดถึง ฉีเฉียเหวย (Chi Chia-wei) ไปด้านบนว่าเขาได้ยื่นฟ้องต่อศาลเนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคนรักได้ในปี 1986 แล้วต้องจำคุก แต่เขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ ใช้เวลาต่อสู้มากกว่า 30 ปี กว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้มาค่ะ รวมถึงได้พบกับองค์กรสำคัญเบื้องหลังการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ด้วย นั่นก็คือ TAPCPR (Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights) เป็น NGO ไต้หวันที่ก่อตั้งในปี 2009 โดยคู่รักเพศเดียวกัน (ผู้หญิงกับผู้หญิง) ซึ่งเป็นนักกฎหมายทั้งคู่ ซึ่งพี่จะขอสรุป timeline แบบรวดรัดไว้ให้ตามนี้เลยค่ะ

  • ปี 1986 : ฉีเฉียเหวยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงไทเป เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่รักเพศเดียวกันได้ แต่ถูกจำคุกเกือบ 6 เดือน
  • ปี 2012 : ขอจดทะเบียนสมรสอีกครั้งที่สำนักงานเขตว่านหัว และถูกปฏิเสธแต่เขาขอยื่นฟ้องต่อศาลปกครองทันที
  • ปี 2014 : ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง ฉีเฉียเหวยเดินหน้าสู้ต่อและได้พบกับ TAPCPR
  • ปี 2015 : TACPR ออกมากดดันกระทรวงยุติธรรมให้เร่งออกกฎหมายแต่ไม่สำเร็จ
  • ปี 2016 : ฉีเฉียเหวย TAPCRP และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรุงไทเป) ได้มาพบกันเพื่อเป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันเพื่อให้วินิจฉัยว่าการจำกัดสิทธิการสมรสแก่ LGBT ไต้หวันนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญไต้หวันด้านสมอภาคและสิทธิการสมรสหรือไม่
  • ปี 2017 : วันที่ 24 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันสั่งรัฐดำเนินการแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ ภายใน 2 ปีให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายได้
  • ปี 2019 : วันที่ 17 พฤษภาคม สภานิติบัญญัติไต้หวันได้ออกกฎหมายให้บุคคลสองคนที่มีเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนตามกฎหมายนี้ในรูปแบบของกฎหมายเฉพาะ และเมื่อจดทะเบียนแล้ว บุคคลทั้งสองถือเป็น ‘คู่สมรส’

นี่ก็เป็น timeline แบบรวบตึงของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ ในไต้หวันค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายองค์กรมากๆ ที่มีส่วนร่วม อย่างเช่น เครือข่ายการสมรสเท่าเทียมไต้หวัน (Marriage Equality Coalition Taiwan) ซึ่งในเครือข่ายก็จะมีองค์กรยิบย่อยไปอีกมากมายค่ะ

TAPCRP เคยจัดงาน International Forum Connect the Rainbow Dots Marriage Equality and LGBT Movement in East Asia เพื่อนัดคนอุดมการณ์เดียวกันระหว่างประเทศให้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ LGBTQ+ ของแต่ละประเทศค่ะ (แน่นอนว่ามีพี่ไทยของเราร่วมด้วย)

มีกฎหมายแต่ไม่ได้เปิดรับ ? 

มาถึงTopic สุดท้ายที่ต้องยอมรับกันจริงๆ นั่นแหละค่ะ ว่าถึงแม้ไต้หวันจะมีกฎหมายการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันแล้ว แต่ก็ใช่ว่าสังคมในประเทศจะเห็นด้วย 100% ยกตัวอย่างจากคุณเจ๋อเจ๋อ (Youtuber ช่องเจ๋อเจ๋อ Jer Jer) ที่ได้ออกมาพูดถึงเรื่อง LGBTQ+ ในไต้หวันที่เขาเพิ่งย้ายมาว่า 

“ถึงแม้ที่ไต้หวันจะมีความก้าวหน้าด้านกฎหมาย และทุกปีก็มี Pride parade แต่ว่าในสังคมไต้หวัน ขอบอกตรงๆ เลยนะ ยอมรับเรื่องแบบเนี้ยยังไม่ค่อยได้เลย” 

รวมถึงคุณเจ๋อเจ๋อยังได้ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสนิทของเขาเองด้วยค่ะ 

“เพื่อนสนิทของเจ๋อเขาเป็นเกย์ จนถึงทุกวันนี้เขาอายุประมาณ 35 ปี เขาไม่เคยบอกใครเลยว่าเขาชอบผู้ชาย เพราะว่าการที่ออกมาพูดว่าชอบผู้ชายมันเครียดจริงๆ อะ สังคมไม่ได้มองในแง่ดีขนาดนั้น” 

และนี่ก็เป็นเบื้องหลังสังคมจริงของ LGBTQ+ ที่หนังเรื่อง Your Name Engraved Herein ได้ถ่ายทอดออกมาค่ะ อย่างที่เรารู้กันว่าไม่ได้มีเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น ทุกประเทศก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหมดเลยแม้จะมีการพัฒนาและยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีสายตามากมายในสังคมที่ยังเป็นลบ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งสังคมของเราจะสามารถรวมกันเป็น community เดียวกันได้ค่ะ! เพราะรักก็คือรักเนอะ Love has no Gender ^^

สุดท้ายน้องๆ คนไหนที่สนใจดู Your Name Engraved Herein ก็สามารถเข้าชมได้ทาง Netflix ค่ะ ดูแล้วคิดเห็นยังไงอย่าลืมมาคอมเมนต์บอกเล่ากันบ้างน้า
 

Sources:https://www.netflix.com/th-en/title/81287844https://en.wikipedia.org/wiki/Your_Name_Engraved_Hereinhttps://oftaiwan.org/social-movements/lgbtq-movement-in-taiwan/https://www.wikiwand.com/en/LGBT_history_in_Taiwanhttps://www.jstor.org/stable/20192444?seq=1https://time.com/5922735/your-name-engraved-herein-true-storyhttps://www.facebook.com/YourNameEngravedHereinEnglishfanpage/https://psycho-milk.com/2020/03/19/your-name-engraved-herein/ http://neocha.com/magazine/your-name-engraved-herein/https://news.abs-cbn.com/entertainment/01/04/21/netflix-review-your-name-engraved-herein-reminds-public-that-fight-for-lgbt-rights-is-far-from-over 
พี่ปลื้ม
พี่ปลื้ม - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น