รีวิว 10 ประเด็นจาก 'Minari' หนังเกาหลี-อเมริกัน ตัวเต็งรางวัลใหญ่งาน Oscars 2021

อันยองครับน้องๆ ชาว Dek-D ...ไม่กี่วันก่อนพี่วุฒิมีโอกาสได้ไปดูหนังอเมริกัน-เกาหลีเรื่อง Minari ซึ่งเค้าว่ากันว่าเป็นตัวเต็งรางวัลใหญ่จากเวที Oscars 2021 หรือ Academy Awards ครั้งที่ 93 ซึ่งจะจัดในวันที่ 25 เมษายนนี้  

ถ้าหากใครยังจำได้ ปีก่อนหนังจากสัญชาติเดียวกันอย่าง Parasite หรือ ชนชั้นปรสิต ก็ได้กวาดรางวัลใหญ่ไปเช่นกัน จึงทำให้หลายคนต่างจับตากันว่าในปีนี้หนังจากผู้สร้างเกาหลีจะมาสานต่อความสำเร็จอีกครั้งได้หรือไม่  

Minari เข้าชิง Oscars 2021 ทั้งหมด 6 รางวัล

  • รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
  • รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) – Lee Isaac Chung
  • รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor) – สตีเฟน ยอน: เป็นนักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชียและเกาหลีคนแรกที่เข้าชิง
  • รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress) – ยุนยอจอง:  เป็นนักแสดงชาวเกาหลีคนแรกที่เข้าชิง
  • รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay)
  • รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score) – Emile Mosseri
Photo Credit:  Minari
Photo Credit:  Minari

นอกจาก Oscars ก่อนหน้านี้ก็ได้กวาดรางวัลมาจากหลายเวที แต่ที่ทำให้หลายคนจับตามองมากขึ้นไปอีก เพราะล่าสุดก็เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จาก Golden Globe Awards 2021 หรือเวทีลูกโลกทองคำนั่นเอง (Parasite ก็เคยได้เช่นกัน)  

และหลังจากได้ดูเรื่อง Minari พี่เองก็มีจุดประทับใจหลายเรื่องและทำให้เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ถึงกวาดรางวัลมาจากหลายสำนัก ว่าแล้วเลยขอรีวิวสรุปเป็น 10 ประเด็นที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้นะครับ // อาจมีการหยิบยกเนื้อหาจากหนังบางฉากมาเล่า ใครอยากหลบสปอยล์ หลบได้เลยครับ ^^

1. American Dreams

Minari เป็นเรื่องราวของครอบครัวเกาหลีที่ได้ตัดสินใจย้ายมาตั้งรกรากปักฐานที่อเมริกาในช่วงปี 1980 ซึ่งยุคนั้นชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพมาอยู่อเมริกาเพื่อต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า ตามแนวกรอบความคิด ‘American Dreams’ หรือความฝันแบบอเมริกันชน ที่เชื่อว่าในดินแดนนี้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าใครก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะมีบ้าน มีรถ มีอาชีพที่มั่นคง หากเราขยันหมั่นเพียรมากพอ ทุกคนก็สามารถทำตามความฝันนั้นได้  

2. เกิดขึ้นในยุคเผด็จการเกาหลี

น้องๆ บางคนอาจจะพอทราบมาบ้างว่าก่อนที่ประชาธิปไตยในเกาหลีจะงอกงามอย่างทุกวันนี้ ก่อนหน้านั้นเกาหลีเองเคยถูกปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการทหารกว่า 39 ปี (1948-1987) ซึ่งในช่วงนั้นประชาชนเกาหลีได้ออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรมนี้อยู่บ่อยครั้ง และเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ มีการสั่งฆ่าเด็ก นักศึกษา ประชาชนที่เห็นต่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่กวางจูเมื่อปี 1980 ที่ว่ากันว่ามีคนเสียชีวิตหลายพันคน นับว่าเป็นความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีเลยก็ว่าได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับการอพยพของครอบครัวเกาหลีจากเรื่อง Minari ที่ต้องการหนีออกไปเจออิสรภาพและชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกา   

ภาพจากในหนัง Minari (ซ้าย) และภาพครอบครัวของผู้กำกับ (ขวา)
ภาพจากในหนัง Minari (ซ้าย) และภาพครอบครัวของผู้กำกับ (ขวา)

    3. หนังเล่าเรื่องชีวิต

หากจะบอกว่า Minari เป็นเหมือนเรื่องเล่าถึงความยากลำบากชีวิตของครอบครัวหนึ่งก็คงจะเป็นแบบนั้น เพราะว่าเรื่องนี้ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน-เกาหลี ‘อี ไอแซค จุง’ ซึ่งเป็นคนเขียนบทเองกับมือ เค้าได้นำเรื่องจริงของครอบครัวที่เคยผ่านความยากลำบากตามวิถีเอเชียในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย มาเล่าลงในหนังเรื่องนี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหลายคนดูแล้วจะรู้สึกอินตามได้ง่ายๆ และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ต้องใช้ชื่อว่า Minari  

4. ทำไมต้อง ‘มินาริ’

ต่อจากข้อเมื่อกี้เลยครับ เล่าก่อนว่า Minari หรือ 미나리 นั้นเป็นผักพื้นบ้านของเกาหลี มีลักษณะคล้ายคลึงกับผักชี มีกลิ่นฉุน บางคนที่ไม่ชอบก็คืออาจจะยี้ไปเลย แต่หลายคนก็ชอบผักนี้ เพราะว่า มันมีประโยชน์ต่อร่างกายและช่วยรักษาโรคได้ด้วย และผักมินารินั้นเป็นผักที่สามารถเติบโตได้ทุกที่ ไม่ว่าจะนำไปปลูกที่ไหนก็ตามแต่ แม้ว่าในครั้งแรกอาจจะไม่ค่อยเติบโตและต้องใช้เวลาสักพักในการผลัดใบ แต่หลังจากนั้นแหละ มินาริจะเจริญงอกงามและขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงจะเหมือนเรื่องราวของครอบครัวนี้ที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อนั่นเอง /ลึกซึ้งมากก

Photo Credit:  Maangchi
Photo Credit:  Maangchi

5. รากเหง้าความเป็นเกาหลี  

ในเรื่องเราจะเห็นพัฒนาการของตัวละครในครอบครัวที่ได้เรียนรู้กับรสชาติของชีวิตที่มากขึ้น บวกกับการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ในอเมริกา แต่พวกเขาก็ยังคงรากเหง้าเดิมของความเป็นเกาหลีเอาไว้อยู่ และด้วยความที่เราเป็นเอเชีย มีวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างคล้ายกัน ส่วนตัวตอนที่ดูก็เลยรู้สึก touch มากกกก 5555 พี่เชื่อว่าเวลาที่น้องๆ หลายคนไปเรียนต่อหรือไปอยู่ต่างประเทศ ต่อให้เราอยากจะเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็อาจโหยหาและคิดถึงอะไรก็ตามที่จากบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ไม่ว่าจะครอบครัว อาหาร เพื่อน หรือวิถีการใช้ชีวิต

6. เอเชีย vs. อเมริกา  

ด้วยความที่ลูกๆ ทั้ง 2 คนนั้นเติบโตในอเมริกา และไม่เคยอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเอเชียมาก่อน และเมื่อจู่ๆ พ่อแม่ได้พายายจากเกาหลีมาอยู่ด้วย ซึ่งยายคนนี้เป็นเกาหลี แบบเกาหลี๊เกาหลีเลยครับ ไลฟ์สไตล์ต่างๆ คือต่างจาก Grandma สไตล์อเมริกันที่เด็กๆ เค้าวาดฝันไว้ว่าจะต้องสุภาพ ไม่พูดคำหยาบ และก็ชอบอบขนมให้เด็กๆ กิน แต่คุณยายคนนี้คือต่างสุดขั้ว เปิดฉากมาก็ชวนเด็กเล่นไพ่ 5555555 และเมื่อต้องมาใช้ชีวิตด้วยกันจริงๆ เราจึงได้เห็นการปะทะกันระหว่างความคิดแบบเอเชียและอเมริกันผ่านตัวละครยาย-หลาน และนอกจากนี้ยังเห็นผ่านตัวละครอื่นๆ อีกด้วย

Photo: Minari (Twitter)
Photo: Minari (Twitter)

7. ปิตาธิปไตย  

หลายคนดูแล้วบอกว่าเรื่อง Minari นั้นมีบางมุมที่สะท้อนความเป็น ‘ปิตาธิปไตย(Patriarchy)’ หรือกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งมักเห็นได้ในครอบครัวเกาหลีและอาจจะรวมถึงหลายๆ ประเทศในเอเชียด้วย ความเป็นปิตาฯ ในที่นี้ก็คือมาจากตัวละคร ‘เจคอบ’ ผู้เป็นทั้งสามีและพ่อที่ต้องแบกภาระและเป็นผู้นำครอบครัว ซึ่งตลอดเรื่องมักจะการทะเลาะมีปากมีเสียงกับ ‘โมนิก้า’ ภรรยาของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่เค้าเองไม่ได้อยากทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่นไปตลอดชีวิต และอยากจะทำอะไรเป็นของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยตามกรอบความคิด American Dreams จึงได้ย้ายบ้านจากแคลิฟอร์เนียออกมาอยู่ในเขตต่างจังหวัดที่ห่างไกลออกไป 5 ชั่วโมง (สภาพเป็นภูเขาห่างไกลผู้คน) และเริ่มต้นทำเกษตรกรรม ปลูกผักเพื่อขายให้กับคนเกาหลี

แต่ในขณะเดียวกันภรรยาของเขากลับมองว่าบางทีมันก็เสี่ยงเกินไป และไม่คิดว่ามันจะทำได้จริง เพราะหลังจากที่ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เจอเหตุการณ์มากมายจนทำให้รู้สึกอยากเลือกความมั่นคง (เช่น มีงานประจำให้ทำ) และอยากให้ลูกๆ ได้รับการศึกษา และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าตอนนี้ เธอจึงอยากย้ายกลับไปอยู่ในแคลิฟอร์เนียตามเดิม  ซึ่งประเด็นนี้ก็ทำให้มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง

Photo: Minari (Twitter)
Photo: Minari (Twitter)

8. ครอบครัว

ต่อจากข้อเมื่อกี้เลยครับ หนังเรื่องนี้คือสะท้อนความเป็นครอบครัวได้ดีมากๆ เพราะการใช้ชีวิตคู่นั้นแค่เพียงความรักอย่างเดียวก็คงไม่พอ พออยู่ด้วยกันจริงๆ มันมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวน ยิ่งพอออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยที่ตัวเองเคยอยู่ แล้วมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งพร้อมเจอกับนานาอุปสรรคที่ต้องช่วยกันหาทางออก ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับหลายครอบครัว บางคู่อาจทะเลาะกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน และสุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป ซึ่งครอบครัวจากเรื่อง Minari ก็คือได้เจอกับบททดสอบนี้อยู่บ่อยครั้ง และพวกเค้าเองก็ต้องเลือกว่าจะไปทางไหนดี เชื่อว่าหลายคนดูแล้วก็คงอินและบีบหัวใจไม่น้อยเลยล่ะ

9. ศาสนา

หนังเรื่องนี้แอบสะท้อนมุมมอง ‘ศาสนา’ อยู่ตลอดเรื่อง อย่างคนอเมริกันส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์กัน และเวลาจะทำอะไรแต่ละอย่างก็มักมีเรื่องความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการชี้นำแนวทาง แต่ในทางตรงกันข้าม ฝั่งเจคอบชายผู้ที่ผ่านความยากลำบากมามากมายกลับไม่ได้มองว่าศาสนาจะช่วยเค้าได้ (เพราะถ้าช่วยได้ชีวิตก็คงไม่ต้องปากกัดตีนถีบและไม่ต้องอพยพข้ามน้ำข้ามทะเลขนาดนี้หรอก) สุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยตัวเองนี่แหละที่ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจเลยครับ เพราะว่าปัจจุบันคนเกาหลีนั้นไม่ค่อยนับถือศาสนากันเยอะมากกกก หลายคนเลือกเชื่อในตัวเองกันซะมากกว่า  

10. การเหยียดชาติ

ประเด็นนี้ก็พบอยู่ในหนังเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็นการล้อเลียนตามมายาคติที่คนอเมริกันมองชาวเอเชียซะมากกว่า แม้ในหนังยังไม่ได้มีฉากที่ให้เห็นถึงความรุนแรงเกี่ยวกับการเหยียดชาติมากนัก แต่ใดๆ ก็คือ เค้าก็พยายามเสนออีกแง่มุมว่าชาวอเมริกันก็ต้อนรับเอเชีย ฟีลประมาณว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหยียดไปซะหมด  

.........................

โดยส่วนตัวรู้สึกอินกับเรื่องนี้มากๆ และเชื่อว่าถ้าใครได้ดูก็อาจจะรู้สึก relate กับตัวเองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะน้องๆ คนไหนที่กำลังอยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศหรือไปใช้ชีวิตในต่างแดน หรือว่าใครที่ตอนนี้กำลังพยายามเพื่อให้ตัวเอง ‘มีชีวิตที่ดีกว่า’ ซึ่งตอนนี้อาจจะเจอกับอุปสรรคมากมายเข้ามาทดสดสอบ หนังเรื่อง Minari ก็อาจจะช่วยปลอบประโลมและช่วยให้เรามี ‘ความหวัง’ ในการใช้ชีวิตต่อไป  

Photo: Minari (Twitter)
Photo: Minari (Twitter)

นอกจากประเด็นต่างๆ ด้านบน ส่วนตัวรู้สึกว่านักแสดงเรื่องนี้ทุกคนเล่นดีมากๆ เข้าถึงบทบาท ดูแล้วเชื่อเลยครับแต่ถ้าชอบที่สุดก็คงเป็นตัวละครของคู่ยายหลาน ‘ซุนจา’ กับ ‘เดวิด’ เป็นคู่ที่เข้ามาทำให้หนังเรื่องนี้ดูไม่เครียดเกินไป และรู้สึกอบอุ่นในความสัมพันธ์ของครอบครัวมากๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่นักแสดงเรื่องนี้พาเหรดกันเข้าชิงรางวัลจากหลายสำนัก  

และถ้าหากปีนี้เรื่อง Minari ได้รางวัลใหญ่จาก Oscars 2021 ส่วนตัวพี่ก็คิดว่าน่าจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมเกี่ยวกับประเด็น #StopAsianHate หรือการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดชาวเอเชีย ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องมารอลุ้นกันนะครับว่าปีนี้ Minari จะเข้ามาสานต่อความสำเร็จ เป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีต่อจากเรื่อง Parasite บนเวทีใหญ่ระดับโลกได้อีกหรือไม่ และสำหรับใครที่หาหนังดีๆ ดูอยู่ Minari ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาดเลย!  

 

 

พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น