เปิดเคล็ดลับ 4 นักเรียนไทยที่พิชิตทุนอาเซียน-เรียนฟรีมัธยมที่ "สิงคโปร์" (+รีวิวชีวิตหลังติดทุน)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงมีนาคมของทุกปีจะเข้าสู่ช่วงเปิดรับสมัครชิงทุนเต็มจำนวน อย่าง ASEAN Scholarship จากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ (MOE) เป็นโอกาสให้ได้ไปเรียนต่อโรงเรียนรัฐบาลในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความทันสมัยและคุณภาพการศึกษาดีติดอันดับโลก แต่แน่นอนว่าศึกนี้ไม่ธรรมดา เพราะการแข่งขันสูงและเป็นระดับภูมิภาค เฉือนกันตั้งแต่ขั้นตอนส่งใบสมัครทุน ตามด้วยด่านสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์

และวันนี้เราจะพาไปคุยกับ 4 รุ่นพี่นักเรียนทุนอาเซียน  มาเล่าให้ฟังตั้งแต่การเตรียมตัวและชีวิตในสิงคโปร์หลังติดทุน แม้รายละเอียดแต่ละปีจะแตกต่างกันบ้าง แต่น้องๆ สามารถจดทริคจากรุ่นพี่เพื่อเพิ่มโอกาสติดทุนนี้ได้นะคะ ถ้าพร้อมแล้วมาลุยกันเลยย!

พาไปทำความเข้าใจข้อแตกต่าง
ระบบการศึกษาไทย vs. สิงคโปร์ 

หลักสูตรสามัญของไทยและสิงคโปร์จะมี “การแบ่งช่วงชั้น” ต่างกัน ถ้าเป็นในไทยเราจะคุ้นเคยกันดีว่ามีระดับมัธยมต้น (ม.1-3) และมัธยมปลาย (ม.4-6) แต่สำหรับประเทศสิงคโปร์จะมีมัธยมเพียง 4 ปี เรียกว่าระดับ Secondary 1-4 (เทียบเท่า ม.1-4 ของไทย) ส่วนอีก 2 ปีการเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เรียกว่าระดับ Pre-University 1-2 (เทียบเท่า ม.5-6 ของไทย) สรุปความแตกแตกต่างง่ายๆ ในตารางด้านล่างนี้

เทียบช่วงชั้นหลักสูตรสามัญสิงคโปร์ vs. ไทย
(เฉพาะช่วง Sec 1-4 ถึง Pre-U 1-2)

ระดับการศึกษาที่สิงคโปร์ (เทียบกับของไทย)รูปแบบ รร.ในสิงคโปร์วุฒิหลังเรียนจบหมายเหตุ
Secondary 1-4 (เทียบเท่า ม.1-4 ในไทย)Secondary SchoolGCE O-Level หรือ Singapore-Cambridge GCE Ordinary Level นักเรียนทุนต้องสอบ O-Level เพื่อยื่นสมัครเรียนต่อ Junior College (ระดับ Pre-U 1-2) 
Pre-University 1-2 (เทียบเท่า ม.5-6 ในไทย)Junior CollegeGCE A-Level หรือ Singapore-Cambridge GCE Advanced Levelนักเรียนทุนต้องสอบ A-Level เพื่อยื่นเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบสิงคโปร์/UK ที่รับวุฒินี้
*ในบทสัมภาษณ์จะมีการใช้คำย่อต่อไปนี้; Secondary = Sec, Pre-University = Pre-U, Junior College = JC

คนในประเทศอาเซียนจะมีสิทธิ์สมัคร ASEAN Scholarship ได้ต่างกัน ถ้ากรณีคนไทยคือสมัครได้แบบใดแบบหนึ่งต่อไปนี้

  • ทุนระดับ Secondary 3  ระยะเวลารับทุน 4 ปี  เทียบเท่า ม.3-6 ของไทย
  • ทุนระดับ Pre-University  ระยะเวลารับทุน 2 ปี เทียบเท่า  ม.5-6 ของไทย

*กำหนดการปี 2022 ส่งใบสมัครได้ตั้งแต่ 15 มีนาคม - 13 พฤษภาคม 2565 ศึกษาเงื่อนไขเพิ่มเติมที่นี่ และช่องทางหลักของ ASEAN Scholarship for Thailand

และหลังจากนี้เราจะพาเข้าสู่ช่วง Q&A กับ 4 นักเรียนทุนรุ่น 2011, 2019 และ 2021 (รุ่นล่าสุด) ว่าด้วยเรื่องการกรอกใบสมัคร, การเตรียมสอบ, ความท้าทายเรื่องภาษา, บรรยากาศการเรียน รวมถึงเส้นทางการก้าวจากระดับมัธยมสู่เตรียมมหาวิทยาลัย (ขอขอบคุณเครือข่ายรุ่นพี่นักเรียนทุนอาเซียน @TSnxtgen สำหรับข้อมูลแน่นๆ และยังช่วยประสานให้เรามีโอกาสพูดคุยกับนักเรียนทุนในบทความนี้นะคะ ^^)

_____________

Q: So, tell me about yourself…

พี่กฤต: สวัสดีครับ “พี่กฤต-กรกฤต จงเจียมดี” เรียนจบภาคไทยจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้ทุนอาเซียนตอนปี 2011 ไปเรียนต่อระดับ Sec 3 จนจบ Pre-U 2 แล้วกลับไทยมาเรียนต่อ ป.ตรี ด้านการตลาด Mahidol University International College ทุกวันนี้พี่ทำงานอยู่ที่ธนาคาร UOB ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารของประเทศสิงคโปร์ครับ

พี่เคนนี่: สวัสดีครับ “เคนนี่-ภัทรภณ วงศ์แจ่มเจริญ” ก่อนมาสิงคโปร์ผมเรียนหลักสูตร English Program (EP) ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และได้ทุนอาเซียนปี 2019 ไปเรียนระดับ Sec 3 ส่วนตอนนี้อยู่ช่วงเรียน Pre-U และกำลังเตรียมตัวสมัครเรียน ม.ต่างประเทศครับ

พี่ไอซ์: สวัสดีค่ะ “ไอซ์-ณพิมพ์ กุลฤชากร” มาจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน (EP) ได้ทุนอาเซียนปี 2019 ไปเริ่มเรียน Sec 3 ตอนนี้กำลังเรียน Pre-U ช่วงนี้เริ่มเตรียมสมัครเรียนต่อต่างประเทศเหมือนกันค่ะ

พี่แพท: สวัสดีค่า ชื่อ “แพท-พิชญ์สินี นฤนาทวานิช” มาจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน (EP) เป็นนักเรียนทุนอาเซียนปี 2021 กำลังจะเปิดเทอม 2 ของระดับ Sec 3 ค่ะ *แพทสมัครปีที่เจอโควิด เลยมีบางกระบวนการที่ต่างกับรุ่นพี่ปีก่อนๆ เช่น วิชาที่สอบ, ขั้นตอนสัมภาษณ์, ระยะเวลา, มาตรการกักตัว, คอร์สปรับภาษา ฯลฯ เดี๋ยวแพทจะเล่าเสริมจากพี่ๆ ตอนหลังนะคะ ^^

_____________

Q: เริ่มต้นด้วยใบสมัครทุนที่เป็นเหมือน first impression ให้กรรมการรู้จักเรา แต่ละคนใช้โอกาสนี้นำเสนอโพรไฟล์และประสบการณ์อะไรบ้าง?

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไป Apply ในระบบรับสมัครออนไลน์ โดยต้อง Register เพื่อสร้างแอ็กเคานต์ก่อนแล้วกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ *ทีมงานเคยรวบรวม Q&A คำถามยอดฮิตของทุน ASEAN 2019 อาจลองเข้าไปศึกษาเป็นไกด์ควบคู่กับการศึกษาระเบียบการของปีล่าสุดได้นะคะ  

ประวัติส่วนอื่นน้องๆ น่าจะไม่มีปัญหา แต่เราจะพาไปเจาะลึก 2 Sections ที่เป็นตัวชี้ชะตาสำคัญคือ

  1. Outstanding Academic Achievement หรือ ผลงานด้านวิชาการ พวกเกียรติบัตร การประกวดแข่งขัน หรือว่ารางวัลเรียนดี
  2. CCAs in School หรือ กิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น ชุมนุม ชมรม ดนตรี กีฬา อาสาสมัคร หรือบำเพ็ญประโยชน์ อะไรที่ทำใน 2 ปีนี้กรอกให้ครบ แล้วอย่าลืมบอกระดับด้วย เช่น โรงเรียน (school) อำเภอ (district) จังหวัด (provincial) ระดับประเทศ (national) หรือ นานาชาติ (international) กับตำแหน่งว่าเป็น Leader, President, Member หรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าไม่มีตำแหน่งจริงๆ ใส่เป็น Participant ก็ได้

พี่กฤต (รุ่น 2011): เขาจะมีกำหนดช่องมาให้เราลิสต์รายชื่อกิจกรรมที่เคยทำเรียงลงมา แนะนำว่าควรเขียนให้เต็มทุกช่อง เพราะสิงคโปร์จะมองหาเด็กที่เก่งและมีความสนใจรอบด้าน (well-rounded) ไหนๆ เขาก็เปิดโอกาสให้เราโชว์ของเต็มที่แล้ว ถ้าใครเคยทำจิตอาสาโรงเรียน แข่งกีฬา เก็บขยะในโอกาสต่างๆ แข่งคอร์สเวิร์ด ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นระดับห้อง โรงเรียน นานาชาติ ฯลฯ ระบุลงไปได้หมด แต่จะยิ่งดีถ้าเป็นตำแหน่ง Leader ของกิจกรรมนั้น เช่น หัวหน้าทีมโตวาที รองหัวหน้าชมรม หรือแม้แต่หัวหน้าหมู่ลูกเสือ ก็หยิบมาพรีเซนต์ได้นะ

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): นอกจากจิตอาสา ส่วนใหญ่ผมจะทำกิจกรรมแนววิชาการด้านวิทย์ เช่น เคยแข่งได้เหรียญเงินจากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับประถมศึกษา แต่ตอนมัธยมจะเน้นไปลงโต้วาที (Debate) มากกว่าครับ ส่วนเกรดที่ยื่นตอนสมัครทุนคือ 4.00  // กิจกรรมที่ผมทำตอนอยู่ไทยมีประโยชน์ตอนสมัครเรียน Junior College ด้วย เพราะเราสามารถยื่น Portfolio ความสามารถได้ เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มเติมตอนหลังนะครับ

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): ส่วนไอซ์ก็จะระบุว่าเคยแข่งกรีฑาโรงเรียน โต้วาที ละครเวที เป็นเชียร์ลีดเดอร์กีฬาสี หรือแข่งประวัติศาสตร์กับภาษาอังกฤษเพชรยอดมงกุฎสมัย ป.6 ส่วนเกรดที่ยื่นสมัครทุนคือ 3.97 ค่ะ

พี่แพท (รุ่น 2021): กรณีแพทคือยื่นคะแนน Cambridge IGCSE ปกติเด็กอินเตอร์จะได้สอบตอน ม.4-5 แล้วได้คะแนนมาเป็นเกรดคล้ายๆ O-Level ค่ะ แต่แพทติวไปสอบ IGCSE 6 วิชาเพราะตั้งใจจะสมัครเรียนต่อต่างประเทศอยู่แล้ว เนื้อหาวิชาวิทย์กับเลขจะเทียบเท่า ม.4 หลักสูตรอินเตอร์ของ Cambridge และวิชาภาษาอังกฤษจะเน้นฟัง-พูด-อ่าน-เขียน สุดท้ายแพทก็สมัครทุนอาเซียนโดยใช้ผลสอบนี้ 3 วิชาคือ English (เกรด A*), International Mathematics (เกรด A), Biology (เกรด A)

ตอนเรียนแพททำกิจกรรมเยอะ เช่น อยู่ชมรม Climate Club (เคยจัด Host Meeting กับนักวิทยาศาสตร์และ NASA), อยู่ชมรมแมกกาซีน และเคยมีผลงานลงแมกกาซีนของโรงเรียน 2 ฉบับ, อยู่ชมรมโต้วาทีตอนเรียน รร.สาธิตปทุมวันฯ หนึ่งในรางวัลที่เคยได้คือชนะเลิศในงาน TWSDO Thailand World Schools Debate Open Competition

_____________

Q: เตรียมตัวขอทุนตั้งแต่ตอนไหน?

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): ไอซ์เริ่มสมัครทุนตอน ม.4 เริ่มเตรียมตัวตอน ม.2 ค่ะ เตรียมแบบเรื่อยๆ คอยทบทวนและทำข้อสอบ mock รวมแล้วใช้เวลาประมาณปีครึ่ง ถ้าเป็นวิชาภาษาอังกฤษไอซ์อ่านของ SAP Education ส่วนคณิตอ่านของ Shing Lee Publishers แหล่งที่เจอหนังสือเตรียมสอบ Sec 3 ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติค่ะ

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): ผมสมัครทุนตอน ม.3 เริ่มเตรียมตัวตอน ม.2 ใช้เวลาครึ่งปีกว่าๆ เตรียมแบบไม่หักโหมแต่ก็ต้องบริหารเวลาให้ดี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน วันธรรมดารีบเคลียร์การบ้านที่โรงเรียนให้เสร็จ แล้วใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์มาเตรียมตัวสอบทุน มีทั้งติวกับพี่กฤตและพี่อ๋อง TSnxtgen กับหาข้อสอบทางออนไลน์มานั่งทำ

จุดที่ต้องเน้นคือเสริมอังกฤษกับคณิตแบบหนักๆ เพราะสองวิชานี้ที่สิงคโปร์ยากมาก ผมคิดว่าข้อสอบทุนระดับ Sec 3 น่าจะใกล้เคียงข้อสอบ Sec 3 ของสิงคโปร์ครับ

พี่กฤต (รุ่น 2011): อาจลองเข้า Google ใช้คำค้น secondary 3 english exam singapore / book / sap ประมาณนี้ก็ได้นะครับ จะมีเว็บให้ลองไปนั่งทำเยอะอยู่ เพราะเด็กสิงคโปร์ก็พยายามกับทุนนี้เหมือนกัน

พี่แพท (รุ่น 2021): ส่วนแพทจะเตรียมตัวค่อนข้างกระชั้น เพราะเพิ่งมาอ่านหนังสือและติวจริงจังตอนติดเข้าไปเป็นหนึ่งใน 50 shortlisted candidates คนที่เข้ารอบข้อเขียน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม ม.2 จนถึงเปิดเทอม ม.3 ช่วงต้นๆ *ปกติรุ่นพี่ปีก่อนๆ จะมีเวลา 1-2 สัปดาห์หลังประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียน แต่รุ่นแพทเว้น 2 เดือน เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ตอนนั้นแพทได้คำแนะนำและการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ในโรงเรียน และติดต่อไปปรึกษาพี่ๆ เพจ TSnxtgen ค่ะ สำคัญคือเราจะได้ Pre-test มาทำฟรีเพื่อให้รู้ระดับตัวเอง และปรึกษาได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย จากนั้นก็เรียนคอร์สวิดีโอ (อันนี้เสียเงิน แต่ราคาไม่แพง)​ 

_____________

Q: ชวนคุยข้อสอบวิชา English คิดว่าพาร์ตไหนยากที่สุด?

*ผู้ที่ได้รับคัดเลือกรอบเอกสารเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์สอบข้อเขียน ประกอบด้วยวิชา Mathematics และ English  

Paper A

  • Error Identification (10 ข้อ 5 ตัวเลือก)
  • Vocab fill in the blank (15 ข้อ)
  • Preposition fill in the blank (10 -15 ข้อ)
  • Comprehension (2 passages)
  • MCQ + Short-structured questions

Paper B

  • Essay writing 300 คำ 30 นาที (คำศัพท์ระดับยาก)
  • Choose (1 from 2 questions)

*มีแยกเป็นวิชา General Ability วัด Aptitude (48 ข้อ 20 นาที) แต่สองปีที่ผ่านมาไม่มีสอบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ทางสิงคโปร์ต้องการลดเวลาที่เด็กต้องอยู่ในห้องสอบ

พี่กฤต (รุ่น 2011): พวก Vocab กับ Error ตรงตัวเลย แต่ Reading อาจจะท้าทายหน่อย ถ้าจะให้รู้ศัพท์ทั้งหมดใน passages เลยก็คงยาก พี่แนะนำว่าควรฝึกการเดาความหมายจากบริบท ตอนสอบอ่านคำถามดีๆ ว่าเขาต้องการอะไร คิดว่าคำศัพท์น่าจะเป็นระดับ CU-TEP ไม่ถึงขั้น IELTS หรือ SAT

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): ดังนั้นวิธีเช็กว่าเราพร้อมกับการสอบนี้มากแค่ไหน น่าจะเป็นการลองอ่านข่าวภาษาอังกฤษ ถ้าเข้าใจก็เป็นเกจวัดที่ดีว่าเราพอเดาศัพท์จากภาพรวมได้

พี่แพท (รุ่น 2021): พาร์ตที่แพทกังวลคือ Vocab ข้อสอบอาจให้คำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แล้วให้เราเดาว่าเป็นศัพท์คำไหน ช่วงเตรียมสอบเลยพยายามเพิ่มคลังศัพท์ให้ตัวเองโดยการทำ Flash cards เขียนคำด้านนึง ความหมายด้านนึง แต่ไม่แนะนำให้จำความหมายเป็นภาษาไทย เพราะบางทีก็อธิบายได้ไม่ตรงกับความหมายของคำในภาษาต้นทาง

_____________

Q: พาร์ต Essay เราจำเป็นต้องใช้ศัพท์ยากมั้ย มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมสำหรับน้องๆ บ้าง

พี่แพท (รุ่น 2021): โจทย์จะกำหนดให้เราเลือกทำ 1 จาก 2 ข้อ เราต้องเขียน Essay 250-300 คำภายใน 30 นาที ระยะเวลาสั้นและคาดเดาโจทย์ไม่ได้เลย เพราะแนวกว้างมากกกกเพื่อวัดภาษาและทักษะการวิเคราะห์ของเราค่ะ เช่น 2 ปีก่อนที่แพทสอบ เขาให้อธิบายบ้านในฝัน ส่วนอีกข้อเขากำหนดสถานการณ์สมมติให้เราใช้ไหวพริบและจินตนาการ ส่วนใหญ่จะพลาดเพราะเขียนไม่ทัน เราต้องแพลนในหัวแล้วเขียนไปด้วย ส่วนตัวถนัดอธิบายให้เข้าใจ แต่ไม่ได้เน้นใช้ศัพท์ยากๆ

คำแนะนำ

  • ก่อนสอบแพทฝึกเขียนวันละ 2 essays จากโจทย์ของรุ่นพี่ทุน แล้วจับเวลาเพื่อฝึกบริหารเวลา พอฝึกมากๆ ก็ได้รู้จักและคุ้นชินกับศัพท์ใหม่ๆ ถึงบางทีจะเป็น short-term memory แต่ก็มีคำหลักๆ ที่นำมาใช้ในงานเขียนปกติได้
  • พยายามหลากคำ ระวังไม่ให้เผลอใช้คำศัพท์เดิมซ้ำบ่อยๆ
  • ไม่ควรใช้คำที่กำกวม อย่างเช่น “It’s Interesting” คำนี้ไม่ได้บ่งบอกไปในทางดีหรือไม่ดี สื่อความรู้สึกจริงๆ ของเราไม่ได้ ควรใช้คำที่เจาะจงชัดเจนลงไปอีก

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): บางคนโฟกัสว่าจะต้องใช้ศัพท์ยากๆ หรูๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรารู้จักคำนี้ แต่ไอซ์แนะนำให้เลือกใช้คำที่มั่นใจ เขียนให้ลื่นไหลและถูกแกรมมาร์ ไอซ์ว่าเขาน่าจะโฟกัสแกรมมาร์มากกว่า ตอนสอบไอซ์เขียนเสร็จเหลือเวลา 3-4 นาทีสุดท้ายแล้วมาตรวจทาน

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): +1 ไอซ์ครับ ตอนนั้นผมก็เขียนศัพท์ที่มั่นใจ ไม่ได้ใช้ศัพท์ยากมาก แล้วตัวเองก็ไม่ได้ถนัดแนวพรรณนาด้วย เลยไม่ได้เลือกตอบข้อที่วัดจินตนาการ แนะนำให้เขียน Essay เสร็จก่อนหมดเวลาสัก 5 นาทีเพื่อมาตรวจเช็กว่าไวยากรณ์ถูก เอาให้ถูกมากที่สุด ถ้าสะกดผิดบ้างนิดหน่อยก็แก้ทัน

พี่กฤต (รุ่น 2011): คิดว่าเด็กที่เรียนภาคไทยอาจจะเจอความท้าทายเรื่องเวลาและแนวคำถาม แนะนำให้อ่านคำถามดีๆ ว่าเขาอยากรู้อะไร แล้วแพลนโครงเรื่องไว้คร่าวๆ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือมีไอเดีย แต่พอเขียนสดมาถึงครึ่งทาง กำลังอินๆ เอ๊ะ เมื่อกี้เราคิดอะไรออกนะ ลืมไปแล้ว ทำให้รวนและใช้เวลามากขึ้นไปอีก การวางแผน และเขียนโครงเรื่องออกมาก่อนสำคัญมากครับ

_____________

Q: ข้อสอบ Aptitude Test ก็น่าจะเอาเรื่องเหมือนกัน อะไรคือจุดยากของพาร์ตนี้คะ?

พี่กฤต (รุ่น 2011): Aptitude Test เป็นข้อสอบแนววัด IQ หา pattern ของรูปภาพ อธิบายง่ายๆ คือทั้งหมดมี 9 ช่อง เราจะได้ดู 8 ข้อเพื่อหาคำตอบช่องสุดท้าย *ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาเขายกเลิกพาร์ตนี้ไป ปีนี้ต้องไปเช็กดูก่อนว่าจะให้กลับมาสอบมั้ย แต่ถ้ามีสอบ จุดที่ยากคือเรื่องเวลาทำข้อสอบมี 20 นาที / 60 ข้อ ข้อหลังจะยากขึ้นเรื่อยๆ อย่าชะล่าใจ รีบทำ ข้อไหนไหนไม่ชัวร์ใส่คำตอบไปก่อน ข้ามไปทำข้ออื่น แล้วถ้ามีเวลาค่อยกลับมาเช็กคำคอบอีกทีครับ เน้นทำจำนวนข้อให้มากที่สุด

พี่แพท (รุ่น 2021): แพทก็คือหนึ่งในรุ่นที่ไม่ได้สอบค่ะ เมื่อ 2 ปีก่อนเขาไม่ได้ให้สอบ Aptitude Test แต่แพทก็มีฝึกทำไปเหมือนกันนะ แล้วอย่างที่พี่กฤตบอกเลย ข้อแรกๆ จะง่าย ส่วนข้อหลังๆ คือยากมากกก ซึ่งเราจะคาดเดาไม่ได้ด้วยนะว่าข้อที่ยากให้คะแนนเยอะกว่ารึเปล่า เทคนิคที่ดีที่สุดคือเน้นจำนวน 

_____________

Q: เล่าความรู้สึกหลังออกจากห้องสอบ

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): ภาษาอังกฤษไอซ์โอเค ส่วนคณิตทำทันประมาณ 70% แต่ข้อที่ทันก็มั่นใจนะ แนะนำให้น้องๆ ระวังเรื่องเวลาค่ะ และเท่าที่ลองคุยกับเพื่อนภาคไทยที่ไม่เคยเรียนเลขเป็นภาษาอังกฤษ ก็อาจเจอปัญหาเรื่องแปลโจทย์บ้าง อาจจะมีไม่เข้าใจบางจุด ไม่เคลียร์ 100% ลองฝึกทำข้อสอบเยอะๆ ให้คุ้นชิน

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): ส่วนตัวก็ทำคณิตไม่ทันไป 2-3 ข้อครับ ส่วน English กับ Aptitude Test ทันแบบมั่วบ้างนิดหน่อย

พี่กฤต (รุ่น 2011): อันนี้เรื่องจริงเลย ถึงพวกเราเป็นนักเรียนทุนแต่ก็ไม่ใช่จะไม่มั่วข้อสอบเลย 555 สำหรับพี่แนะนำให้พยายามพลิกข้อสอบดูทุกข้อก่อน แล้วลงมือทำข้อที่เราคิดว่าง่าย แต่ถ้าเจอข้อยากก็อย่าเพิ่งข้ามทันที อาจทำเท่าที่ไหว เช่น เขียนวิธีไปก่อนสัก 2 บรรทัด ถ้าไม่ชัวร์ก็ค้างไว้ เพราะบางข้อมี 3 คะแนน อย่างน้อยถ้าแสดงวิธีทำอาจได้สัก 1-2 คะแนนก็ได้ แต่ถ้าผ่านไป 2-3 นาทีแล้วยังคิดอะไรไม่ออก ก็ค่อยข้ามไปทำข้ออื่น

พี่แพท (รุ่น 2021): แพทก็คล้ายพี่ๆ คนอื่น คือทำเลขทันประมาณ 70-75% แต่ข้อที่ทำได้ก็ค่อนข้างมั่นใจ แล้วรู้สึกมีหวังขึ้นตอนสอบภาษาอังกฤษค่ะ ส่วนตัวเราเองไม่ใช่คนแข็งเลข และเขายังไม่ให้ใช้เครื่องคิดเลขด้วยนะ ดังนั้นความยากคือการทำข้อสอบ 30 ข้อให้ทันภายใน 1 ชั่วโมง แต่ละข้อก็มีแตกย่อยอีก 1a, 1b,... ทำให้กะยากว่าต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน // พอได้ข้อสอบแล้วลองมาเช็กดูทั้งหมดก่อนค่อยลงมือทำ เพราะพวกข้อย่อยเยอะๆ อาจกระจุกอยู่ด้านหลัง

_____________

Q: ด่านแรกผ่านไป ด่านสองค่อยๆ ผ่านไป งั้นขอถามด่านสุดท้ายบ้าง พี่นักเรียนทุนเจอบรรยากาศตอนสัมภาษณ์ประมาณไหนกันคะ

พี่กฤต (รุ่น 2011): พี่ได้ไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตสิงคโปร์ในไทยครับ บรรยากาศก็สบายๆ เหมือนนั่งคุยกัน กรรมการจะเริ่มจากชวนคุยเล็กๆ น้อยๆ ให้เราแนะนำตัวเอง แล้วค่อยๆ ยิงคำถามเกี่ยวกับทุนมากขึ้น จะมีช่วงท้ายๆที่คำถามจะเริ่มยากเพราะเขาต้องการดูวิธีรับมือกับความกดดัน และไหวพริบกับวิธีมองคำถามที่ถูกยิงมา

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): ตอนนั้นยังไม่มีโควิด ผมก็ได้ไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตฯ หลังสอบเขียนเสร็จประมาณ 1 สัปดาห์ครับ ตอนนั้นผมเจอกรรมการ 3 คน และหนึ่งในนั้นคือนักจิตวิทยา บรรยากาศสบายๆ คำถามมีตั้งแต่เบสิกๆ อย่าง Please introduce yourself. ทำไมถึงอยากได้ทุน เรื่องการปรับตัวต่างๆ ที่ยากขึ้นมาก็คือคำถามวัดไหวพริบ มีอึ้งแป๊บนึงแต่โชคดีที่ไม่เจอยากเท่าไหร่ 

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): เขาอยากรู้จุดเด่นและทัศนคติของเรา ทริคคือพยายามนำเสนอจุดเด่นโดยที่ไม่กดคนอื่น นอกนั้นก็เรื่องมารยาททั่วไป เช่น ตอนเดินเข้าไปแล้วควรรอให้เขาบอกให้นั่งก่อน แล้วก็อาจทักทายกรรมการ // เขาจะดูเราทุกอย่างตั้งแต่เดินเข้าห้องแล้วค่ะ

ของไอซ์จะระทึกตรงที่วันสัมภาษณ์ทุนตรงกับช่วงสอบมิดเทอมของโรงเรียนไอซ์พอดี! พออ่านหนังสือเตรียมสอบมิดเทอมเสร็จ ก็กลับบ้านมาเตรียมสัมภาษณ์ แล้วพอเสร็จจากสอบมิดเทอมก็ไปสถานทูตต่อเลย เราเหมือนกับต้องโฟกัสและเผื่อใจในเวลาเดียวกัน จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและความคาดหวัง ระวังไม่ให้ตัวเองเครียดเกินไป

พี่แพท (รุ่น 2021): แพทเป็นรุ่นที่เจอโควิดพอดี เลยได้สัมภาษณ์ออนไลน์ผ่าน Video Call ค่ะ มีกรรมการจากกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ และครูใหญ่หนึ่งในโรงเรียนที่เรามีโอกาสถูกส่งไปค่ะ // ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากกก แต่ช่วงเวลาไม่ได้มีผลนะคะ ไม่ต้องกังวล ถ้าไม่ประหม่าเองจะพบว่าบรรยากาศค่อนข้างเป็นกันเอง

_____________

Q: ในที่สุดช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง! หลังจากเราติดหนึ่งในรายชื่อผู้ได้ทุน แต่ละคนทำอะไรกับช่วงเวลาที่เหลือในประเทศไทยบ้าง มีอะไรกังวลมั้ยคะ

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): เคนนี่ก็อาจจะกังวลเพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องขึ้นเครื่องบินด้วยตัวเอง 555 รุ่นไอซ์กับเคนนี่ยังไม่มีโควิด แต่คิดว่ารุ่นหลังอาจต้องเจอกระบวนการที่เพิ่มเข้ามาเพื่อความปลอดภัยนะครับ

พี่กฤต (รุ่น 2011): ช่วงนั้นพี่พยายามตักตวงความสุขแหละ อยู่กับครอบครัวและใช้ชีวิตตรงนี้ให้เต็มที่ อยากกินอะไรกิน อยากทำอะไรทำ ก่อนจะต้องเดินทางไปเจอและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ครับ

พี่แพท (รุ่น 2021): ทางทุนประกาศผล 26 ต.ค. แล้วแพทบิน 1 ม.ค. อีกปีนึง เป็นสองเดือนสุดท้ายก่อนจะมาเจอการเรียนที่เข้มข้นในสิงคโปร์ เลยใช้เวลาอยู่กับคนที่เรากำลังจะไม่ได้อยู่กับเขาเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว

_____________

Q: เริ่มชีวิตใหม่ในสิงคโปร์ อยากให้เล่าการปรับตัวเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ต้องรับมือกับอะไรบ้าง

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): กรณีนักเรียนทุนอาเซียนจะได้ปรับภาษาก่อน 1-2 เดือน สมมติว่าเราไปโรงเรียนนึง ตอนปรับพื้นฐานก็จะได้เรียนกับเพื่อนทุนอาเซียนประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดไปโรงเรียนเดียวกัน กว่าจะเจอเพื่อนสิงคโปร์ก็คือตอนเปิดเทอมจริง

แล้วเราก็จะได้เจอความท้าทายครั้งใหญ่คือ Singlish ค่ะ! เป็นภาษาอังกฤษสำเนียงสิงคโปร์ “Singlish” (Singapore English) ที่จะมีคำสแลงภาษาจีน ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง มาเลย์ มาปนกับภาษาอังกฤษ ส่วนไวยากรณ์จะไปคล้ายภาษาจีน ช่วงแรกเลยอาจงงว่าทำไมไม่เหมือนที่เรียนมาเนี่ยยย 555 ไอซ์ใช้เวลาปรับตัวเป็นปี อันนี้เล่าให้เตรียมรับมือแต่ไม่อยากให้กังวลมาก ตอนแรกเราพูดแบบที่ตัวเองชินเขาก็เข้าใจกัน เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่รวมคนหลายเชื้อชาติ มีทั้งเพื่อนอินเดีย เพื่อนจีน ฯลฯ เราแค่เป็นอีกสำเนียงนึงท่ามกลางความหลากหลายนั้น

พี่แพท (รุ่น 2021): แพทยังรีวิวไม่ได้เพราะยังไม่ได้ปรับพื้นฐานค่ะ >< รุ่นแพทจะต่างจากพี่ๆ เพราะเจอช่วงโควิดพอดี ไปถึงก็เริ่มเรียน Sec 3 เลย แต่เท่าที่ลองสอบถามครูที่โรงเรียน เขาบอกว่าจะมีให้เรียน English Intensive Course ตอนปิดเทอมแทน เหมือนสลับช่วงกัน 

_____________

Q: พี่นักเรียนทุนทั้ง 4 คน ได้ทุน 4 ปีไปเรียนต่อ Sec 3-4 และ Pre-U 1-2 แต่ละคนเจอประสบการณ์เรียนและทำกิจกรรม (CCA) แบบไหนบ้าง?

Note:

  • ทางกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้จัดให้ว่านักเรียนทุนจะได้ไปอยู่ในโรงเรียนไหน (เป็นโรงเรียนที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ
  • นักเรียนทุนสามารถสมัครเข้า Junior College ได้ 2 วิธี ได้แก่ การยื่นคะแนน O-Level ใช้เกรดและวิชาเรียนที่ทางโรงเรียนกำหนด  และ Direct School Admission (DSA) ด้วยการยื่น Portfolio โดยโฟกัสด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะรับต่างกัน เช่น DSA Debate หรืออย่าง DSA กีฬา ก็จะเจาะจงชนิด เช่น ฮอกกี้ เทนนิส ฯลฯ

พี่กฤต (รุ่น 2011):

Sec 3-4 : Commonwealth Secondary School 

Pre-University 1-2 : Innova Junior College (IJC) *ปัจจุบันรวมกับโรงเรียนอื่นแล้ว

เกิดมาไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้มาก่อน แต่รู้สึกมันส์ สนุก ยิ่งตอนก้าวจาก Sec 3-4 ไป Pre-Uni ก็ยิ่งยากไปอีก แต่ที่แน่ๆ เรามี freedom เราต้องจัดการเองทุกอย่าง แล้วเขาจะไม่ได้เน้นแค่เรียน แต่กระทรวงศึกษาของสิงคโปร์มีนโยบายให้นักเรียนทุกคนทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หรือที่เรียกว่า Co-curricular activities (CCA) เพื่อให้ได้เปิดโลกและช่วยเหลือผู้อื่น เพราะบุคลากรคุณภาพคือคนที่มองรอบด้านและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

ตอนนั้นพี่เลือกชมรมสภานักเรียน (Student Council) มิชชันคือการดูแลนักเรียนในโรงเรียนให้มีความสุข อะไรที่พัฒนาได้นอกเหนือจากที่โรงเรียนจัดสรร เด็กสามารถมาบอกเรา แล้วเราก็พิจารณาเพื่อเสนออาจารย์ใหญ่ เช่น พี่เคยขอ Game Room เราก็ต้องอธิบายว่าเป็นกิจกรรมนี้สร้างสรรค์และช่วยให้ผ่อนคลายจากการเรียนได้ยังไงบ้าง หรือโปรเจกต์ที่สนุกคือการทำ Care Tag เขียนข้อความกำลังใจน่ารักๆ ยื่นพร้อมกับขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กที่กำลังเรียนหรืออ่านหนังสือ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าการเรียนที่สิงคโปร์เหนื่อยและมีการแข่งขันสูงมาก

สุดท้ายแล้วแม้เราจะเป็นเด็กทุน แต่ก็เป็นเด็กแหละ มีไปปาร์ตี้บาร์บีคิวริมชายหาด ร้องรำทำเพลงเหมือนกัน เป็นความทรงจำที่ดีและครบรสชาติจริงๆ ครับ

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019):

Sec 3-4 : Commonwealth Secondary School 

Pre-University 1-2 : National Junior College 

ผมไปเรียน Commonwealth เหมือนพี่กฤตครับ ที่นี่เป็นโรงเรียนสหศึกษา ครูเอาใจใส่มากกกก ทุกวันนี้ยังมี keep contact ถ้าเรามีคำถามก็ขอคำปรึกษาจากครูได้ตลอด ช่วงที่เรียน Sec 3-4 ยังไม่เครียดเท่าไหร่เพราะเจอเนื้อหาที่ไทยมาแล้วส่วนนึง เก็ตไอเดียคร่าวๆ แล้วทำฝึกทำโจทย์เพิ่มนิดหน่อย

ส่วน CCA ผมอยู่ชมรมประสานเสียงของโรงเรียน ที่นี่ดังพอสมควร มีส่งเด็กไปแข่งต่างประเทศด้วย ผมพลาดโอกาสนี้ไปเพราะเจอสถานการณ์โควิด แต่ก็เคยไปแข่งระดับประเทศ นอกจากนี้ Commonwealth ยังมีจัดคอนเสิร์ตของตัวเองทุก 10 ปี โชคดีที่ตรงกับรุ่นผม เลยมีโอกาสไปร่วมโชว์ประสานเสียงที่โรงละครเอสพลานาด (Esplanade - Theatres on the Bay) หรือที่บางคนรู้จักกันชื่อ “โรงละครหนามทุเรียน” ตั้งอยู่ริมอ่าวมาริน่าเบย์ (Marina Bay) ครับ ^^

Photo by Nick Fewings on Unsplash
Photo by Nick Fewings on Unsplash
Photo by Pascal Riben on Unsplash
Photo by Pascal Riben on Unsplash

ปกติหลังเรียนจบ Sec 3 เด็กทุนจะต้องสอบ O-Level เพื่อนำคะแนนมายื่นสมัครเรียนต่อระดับ Junior College แต่จะมีอีกวิธีนึงคือการยื่น Portfolio ครับ ในเว็บของแต่ละโรงเรียนจะมีบอกว่าปีนี้มีรับ Portfolio ใน area ไหนบ้าง เช่น CCA Excellence (Sport, Performing Arts, Club & Societies) / Art Excellence / Music Excellence / Science Research Excellence / Language Elective Programme

(ตอนนั้นผมลองยื่นเป็น Portfolio ของ Debate ตอนอยู่ไทย และได้เข้ามาเรียนที่ National Junior College ตัวอย่างศิษย์เก่าดังๆ ก็อย่างเช่น Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คนปัจจุบัน)

*ตัวอย่างประกาศรับสมัครของ National Junior College (Direct School Admission) 

การเรียนที่ JC จะหนัก ไปเร็ว และสอบเยอะกว่า Sec School อย่างชัดเจน และมาพร้อมบรรยากาศความเป็น Independent Learning เพราะเป็นขั้นเตรียมพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว วิชานึงจะแบ่งเป็น Lecture คลาสใหญ่ 100 กว่าคน และจะแยกเป็นห้อง Tutorial อัตราส่วนประมาณ 10-15 คน ต่อครู 1 คน ทำให้มีความใกล้ชิด จุดประสงค์คือเพื่อเช็กความเข้าใจจากคลาส Lecture เพื่อนแต่ละคนก็ระดับหัวกะทิ เขาจะอ่านหนังสือหนักกว่าสมัย Sec 3 ทำให้เราต้องสปีดตัวเองตามไปด้วย

แต่แม้จะอ่านหนักกว่า Sec 3-4 แต่ยังมีช่วงวันหยุดและเวลาทำกิจกรรมเหมือนเดิม ช่วงนี้ผมก็กลับมาอยู่ชมรมดีเบต ทำกิจกรรมเยอะมาก และ JC จะมีการส่งนักเรียนไปแข่งขันทุกเดือนเลยครับ

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019):

Sec 3-4 : Convent of the Holy Infant Jesus (CHIJ)

Pre-University 1-2 : St Andrew's Junior College

ไอซ์ได้เรียน Sec 3-4 ที่แคมปัสหลักค่ะ ที่นี่จะมีหลายแคมปัสและเด่นด้านภาษาเป็นพิเศษ นักเรียนส่วนใหญ่จะต้องเจอ Literature เป็นวิชาบังคับในขณะที่โรงเรียนอื่นอาจเป็นวิชาเลือก ในภาพรวมไอซ์ไม่มีปัญหาเลย มีแค่ช่วงสอบที่ต้องโฟกัสเยอะๆ และใช้คะแนน O-Level สอบเข้า St Andrew's Junior College

สำหรับกิจกรรม CCA สิงคโปร์จำกัดให้นักเรียนอยู่ได้แค่ 1 หรือ 2 ชมรมเท่านั้น เพราะถ้าเลือกชมรมไหนเขาก็คาดหวังให้เราโฟกัสและทุ่มเทสุดๆ อย่างตอน CHIJ ไอซ์เลือกเข้าชมรมสภานักเรียนกับชมรมประสานเสียงค่ะ เขาจริงจังถึงขั้นส่งเด็กไปแข่งนานาชาติ ต้องซ้อมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ครั้ง และยังมีซ้อมวิ่งนอกรอบเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปอดด้วย

และด้วยความที่ตอนอยู่ไทยเคยเรียนกรีฑา อยากกลับไปทำกิจกรรมแนวนี้อีกครั้ง พอเข้า JC เราก็เปลี่ยนมู้ดมาอยู่ชมรมพายเรือแคนู (Canoeing) แทน ช่วงเรียน JC ต้องใช้เวลาซ้อมมากกว่าตอนอยู่ Sec School โดย 1 สัปดาห์ต้องซ้อมรวม 10 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง และจะมีซ้อมวิ่งกับทดสอบความแข็งแรงเหมือนกัน ในการแข่งขันแคนูระดับประเทศ ทีมเรือ K4 ของไอซ์ได้เหรียญทองเแดงด้วยค่ะ ก็ถือว่าจบซีซั่นไปได้ด้วยดี

พี่แพท (รุ่น 2021):

Sec 3-4 : Tanjong Katong Girls' School

ตอนนี้แพทกำลังเรียน Sec 3 (เทอม 2) ที่ Tanjong Katong Girls' School เป็นโรงเรียนหญิงล้วนค่ะ แพทรู้สึกว่าทุกโรงเรียนในสิงคโปร์จะสนับสนุนทุกด้านเท่าเทียมกัน อย่างเช่น มาตรฐานการเรียนใน Sec School จะเหมือนกันทั้งประเทศ ต่างแค่ว่าที่ไหนเด่นกิจกรรมอะไรมากกว่ากัน 

เล่าประสบการณ์เรียนที่ Sec School เทอมที่ผ่านมาเขากำหนดให้เรียน 8 วิชา มีทั้งวิชาบังคับและ slot ที่ให้นักเรียนเลือกลงวิชาที่สนใจได้ แต่ละวันจะได้เรียนตั้งแต่ 7.30-14.45 น. จุดที่น่าสนใจคือมีวัน Home-based learning (HBL) ซึ่งก็คือการเรียนจากบ้านผ่าน Zoom ไม่ใช่มาตรการที่เพิ่งเกิดตอนมีโรคระบาด แต่เป็นรูปแบบที่มีอยู่แล้ว เพราะเขาต้องการผลักดันให้เด็กรู้ว่าเราสามารถเรียนด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่เรียนเพราะถูกบังคับ

สำหรับเรื่องภาษา เราคุ้นชินจากการเรียน EP แต่เนื้อหาจะยากขึ้นและมีศัพท์เฉพาะเยอะ ในการสอบแต่ละครั้งเป็นข้อเขียนเกือบทั้งหมด วิชาเลขเป็นการแสดงวิธีทำล้วนๆ ฟิสิกส์พอมีคำนวณบ้าง ไม่ต้องจำเยอะเท่าไหร่ แต่ที่ท้าทายมากก็อย่างวิชาเคมีกับชีวะค่ะ ข้อสอบเป็นปลายเปิดก็จริง แต่เราต้องเข้าใจแนวคิดและเขียนตอบด้วยแนวทางกับ keywords ที่เขาต้องการด้วย

แพทเชื่อเลยว่าเด็กทุกคนที่มาถึงจุดนี้จะต้องชอบวิทย์และการทดลองมากขึ้นแน่นอน เพราะเราจะได้ทำแล็บเจ๋งๆ ใหม่ๆ ทุกสัปดาห์! มีสิ่งที่สนุกละน่าสนใจรอให้เราค้นหา และช่วยให้เห็นภาพหลังจากที่เคยเรียนทฤษฎีจากไทยมาแล้วค่ะ

สำหรับวิชาเลือกเขาก็จะมีกรุ๊ปวิชามาให้เราเลือกเรียนหนึ่งในนั้น เช่น ภูมิศาสตร์ (Geography) / ประวัติศาสตร์ (History) / วรรณกรรม (Literature) แพทชอบอ่านงานเขียนและอยากเรียนอะไรใหม่ๆ เลยเลือกวรรณกรรม แม้เป็นตัวเลือกที่ไม่เซฟที่สุดในนี้ 555 เราจะได้เรียนวรรณกรรมเอกของโลกที่ไม่ใช่แค่แง่มุมประวัติศาสตร์หรือผู้แต่ง แต่ได้รู้ไปถึงกระบวนการเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ผู้เขียนสื่อถึงอะไร ช่วยให้เราได้ Analyze ทำความเข้าใจงานเขียนชิ้นนึงอย่างลึกซึ้งเลยค่ะ เวลาอ่านหนังสือหรือเจอกลอนก็จะทำให้เราชอบวิเคราะห์ไปโดยอัตโนมัติ

ระบบเกรด O-Level ของสิงคโปร์

Cr. https://www.singaporeeducation.info
Cr. https://www.singaporeeducation.info

สำหรับกิจกรรม (CCA) ตอนแรกแพทแอบเสียดายที่จำกัดให้เข้าได้คนละ 1 ชมรม แต่พอมาเรียนจริงแล้วเข้าใจเลย เพราะชมรมของโรงเรียนในสิงคโปร์ต้องใช้ทุ่มเวลาและพลังเยอะมากกกก เขาจะเทรนเราอย่างจริงจังไปด้านใดด้านหนึ่ง ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกด้วยวิธี Audition แสดงความสามารถให้ครูหรือโค้ชคัดเลือกเข้าชมรม ถ้าไม่ติดก็ต้องหาตัวเลือกอื่น"

ตอนนั้นแพทเข้าชมรม Debate ซ้อมวันจันทร์และวันศุกร์ ตั้งแต่ 15.00-18.00 น. พอดีมีพื้นฐานการโต้วาทีจากไทยเลยรู้สึกชิลๆ สนุกดี แต่เท่าที่สังเกตจากเพื่อนที่เขาเลือกชมรมแนวกีฬา จะซ้อมเยอะและเหนื่อย อาจหนักสำหรับคนที่ไม่เก่งกีฬาชนิดนั้นมาก่อน โดยทั่วไปซ้อมกัน 3 วัน ต้องระวังไม่ให้หลุดโฟกัสจากการเรียน

_____________

Q: เรียนโหด แต่เขาก็มีเตรียมอะไรไว้ฮีลใจเด็กเหมือนกัน?

พี่กฤต (รุ่น 2011): เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจมากๆ มาตั้งแต่รุ่นผมแล้ว ถึงระบบเรียนแบบ Work hard, play hard แต่ในขณะเดียวกันก็ High expectations, high care ถ้าเกิดเราเครียด เขาจะจัด Teacher mentor เหมือนเป็นผู้ปกครองในโรงเรียนที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน

พี่เคนนี่ (รุ่น 2019): หรือถ้าเป็น NJC ที่ผมเรียนก็จะมีทั้ง Student’s Counselling  ให้นัดปรึกษาส่วนตัวได้ และยังมี Teacher Mentor อันนี้คือนอกจากคาบเรียนวิชาการ เขาจะมีประมาณ 2 คาบต่อสัปดาห์ที่ให้นักเรียนได้คุยกับครูประจำชั้นของตัวเอง และจะมีจัดเวลาให้ทุกคนคุยตัวต่อตัวด้วยนะ

พี่ไอซ์ (รุ่น 2019): ใช่ๆ ไอซ์คิดว่าตอนนี้ทุกโรงเรียนในสิงคโปร์น่าจะมีที่ปรึกษา (Counselor) ที่กระทรวงศึกษาธิการเทรนมาโดยเฉพาะ ให้นักเรียนสามารถจอง session เพื่อปรึกษาได้ทั้งเรื่องเรียน ครอบครัว เพื่อน ฯลฯ ได้หมดเลย

พี่แพท (รุ่น 2021): นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีอะไรให้ทำเพื่อ relax เยอะมากๆ เช่น อาจจะชวนกันไป Music Room เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ไปกินข้าว ไปสวนสาธารณะก็ได้ เพราะทุกพื้นที่ในสิงคโปร์จะประกอบด้วยสัดส่วนพื้นที่สีเขียว จะย่านไหนก็มีสวนหย่อมให้นั่งพัก เครียดตอนไหนก็นั่งรถไปได้เลยค่ะ เหมือนอย่างโรงเรียนแพทจะอยู่ใกล้ East Coast Park ไปนั่งเล่นตรงนั้นบ่อยๆ คือดีมาก!

Photo Credit: nparks.gov.sg
Photo Credit: nparks.gov.sg

_____________

Q: จบทุนแล้วไปไหนต่อได้บ้าง?

ระดับ (ระบบสิงคโปร์)เทียบเท่า (ระบบไทย)วุฒิที่ได้หลังเรียนจบ
Secondary 3ประมาณ ม.3-4GCE O-Level หรือ Singapore-Cambridge General Certificate of Education Advanced
Pre-Universityประมาณ ม.5-6GCE A-Level หรือ Singapore-Cambridge General Certificate of Education Advanced Level 
Cr. เพจ TSnxtgen
Cr. เพจ TSnxtgen

_____________

Q: ก่อนปิดบทสัมภาษณ์ ขอชวนมาเล่าทิ้งท้ายเกี่ยวกับ TSnxtgen สั้นๆ

พี่กฤต (รุ่น 2011): ยินดีเลยครับ ชื่อเต็มๆ ของ TSnxtgen คือ “Thai Scholar Next Generation” เกิดจาก pain point ที่ว่าเมื่อก่อนไม่ค่อยมีข้อมูลและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับทุน ASEAN Scholarship กลุ่มรุ่นพี่ทุนอาเซียนรุ่น 13 (ปี 2011-2014) พี่กฤต พี่อ๋อง พี่ชาช่า จึงตั้งใจก่อตั้งเพจ TSnxtgen ขึ้นมาเพื่อแบ่งปันข้อมูลและดันให้น้องๆ คนไทยได้ทุนนี้ไปเรียนต่อสิงคโปร์มากขึ้น

และนอกจากจัดอีเวนต์พิเศษอย่าง “งานพี่พบน้อง” ให้รุ่นพี่มาเล่าเรื่องทุนและเส้นทางการเรียนหลังจบทุน เรายังมีเตรียมความพร้อมโดยการทำคอร์ส หลักๆ ก็มี Intensive ติวเข้มครบ 3 วิชาหลักที่มีสอบ (อังกฤษ, คณิต, IQ Test) โดยหนังสือที่ใช้เรียนเราจะรวบรวมจากข้อสอบเก่า สอบถามรุ่นน้องที่เพิ่งเจอข้อสอบรุ่นล่าสุด และนำข้อสอบจากหนังสือสิงคโปร์มาดัดแปลงให้ใกล้เคียงกับแนวข้อสอบจริงมากที่สุด เช่น 

  • วิชาคณิตศาสตร์ เน้นทำข้อสอบ โจทย์ภาษาอังกฤษสไตล์สิงคโปร์ (เน้นวิธีทำ)
  • วิชาภาษาอังกฤษ มีหลายพาร์ต อย่างเช่น “Reading Comprehension” เราจะสอนทริคว่าการคาดเดาคำตอบจากบริบทโดยที่อาจจะไม่ต้องรู้ศัพท์ทุกคำ หรือพาร์ต “Essay” จะสอนแก้ pain point ให้นักเรียนคุ้นชินกับตัวคำถาม และสามารถ generated ไอเดียออกมาได้เยอะ เรียบเรียงปะติดปะต่อให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ

ตั้งแต่พี่รุ่น 13 ก่อตั้งเพจขึ้นมา ปัจจุบันนี้มีนักเรียนไทยได้ทุนถึงรุ่น 24 แล้ว ถ้าใครอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับทุนนี้ อยากชวนเข้ามาอ่านต่อหรือชมวิดีโอของ TSnxtgen กันได้เลย 

เพจ TSnxtgen
เพจ TSnxtgen

พี่แพท (รุ่น 2021): อยากรีวิวว่าเพจนี้เป็นส่วนสำคัญให้แพทติดทุน การได้ก้าวเข้ามาติดต่อและปรึกษา = ก้าวเข้ามาในสังคมรุ่นพี่ทุนที่เขาซัพพอร์ตดีมากค่ะ พี่บางคนได้ทุนและเรียนจบมาจะสิบปี แล้วก็ยังคอยช่วยเหลือน้องๆ จนถึงตอนนี้ เพราะอย่างที่พี่กฤตเล่าคือเขาอยากให้มีคนไทยติดทุนนี้มากขึ้น (บางปีคนไทยได้คนเดียว ส่วนปีแพทได้ 12 คน) 

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์และโรงเรียนเขาดูแลเราดีมาก ตั้งแต่กักตัวจนถึงตอนเรียน และยังประทับใจทั้งแง่การเรียนและการใช้ชีวิตด้วย แพทเลยอยากขอส่งต่อแรงบันดาลใจนี้ให้ทุกคน หวังว่าน้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่จะได้เข้ามาเป็นครอบครัวเด็กทุนด้วยกันค่ะ *ถ้าต้องการปรึกษาสามารถ DM มาที่ IG ส่วนตัวของแพท (@ppatpitsinee) ได้เลยค่ะ ยินดีมากกก ^^

พี่กฤต (รุ่น 2011): สุดท้ายนี้! เนื่องจากกระบวนการขอทุนนี้ค่อนข้างหนัก และอาจเป็นครั้งแรกสำหรับ ม.ต้น บางคนที่ได้มาเจอสถานการณ์ที่เข้มข้นและเคร่งเครียด ทั้งต้องเรียน ทำกิจกรรม บริหารเวลา เตรียมอ่านหนังสือสอบ วางแผนการเดินทาง ฯลฯ อาจกระทบสุขภาพกายและสภาพจิตใจของน้องๆ ได้ ถ้าเป็นไปได้ แนะนำว่าลองคุยกับผู้ปกครองว่าทุนนี้สำคัญกับเรายังไงบ้าง และอยากให้ครอบครัวก้าวเข้ามาช่วยดูแลหรือช่วยน้องๆ วางแผนตารางเวลาจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

เปิดรับสมัครแล้ว! ทุน “ASEAN Scholarships 2022” เรียนต่อมัธยมที่สิงคโปร์ (ฟรีทุกอย่าง)

https://www.dek-d.com/studyabroad/59933 

 

ไขข้อข้องใจ ทุน ASEAN 2019 และขั้นตอนการสมัครอย่างละเอียด

https://www.dek-d.com/studyabroad/49254
 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น