What’s a Flower Boy? รู้จัก “หนุ่มดอกไม้” กระแสความเป็นชายสายซอฟต์หวานที่กำลังเบ่งบานในเกาหลี

อันยองงชาว Dek-D ทุกคนค่ะ~ อย่างที่หลายคนรู้กันว่า “เกาหลีใต้” เป็นประเทศแห่งปิตาธิปไตยหรือมีสังคมเป็นชายใหญ่มาอย่างยาวนาน ดังนั้นคนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับความเป็นชายแบบดั้งเดิมมากๆ แต่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ทัศนคติต่อความเป็นชายของคนเกาหลีก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ซึ่งเห็นได้จากเทรนด์ผู้ชายสายซอฟต์หวาน หรือที่เรียกกันว่า ผู้ชายดอกไม้ (Flower Boy) นั่นเองค่ะ ว่าแต่เทรนด์นี้มากจากไหน? หนุ่มดอกไม้ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นชายแบบเดิมยังไงบ้าง? ตามมารู้จักไปพร้อมกันเล้ย

Photo credit: ASTRO - All Night MV
Photo credit: ASTRO - All Night MV

หนุ่มดอกไม้คืออะไร เริ่มมาจากไหนกันแน่?

หนุ่มดอกไม้ (Flower Boy) หรือที่เรียกเป็นภาษาเกาหลีว่า “꽃미남”  (ก๊ดมีนัม) ที่มาจาก 꽃 (ก๊ด) = ดอกไม้ และ 미남 (มีนัม) = ผู้ชายหน้าตาดี  พอมารวมกันแล้วก็เลยเป็นชื่อที่ใช้อธิบายถึงผู้ชายที่นุ่มนวล บอบบาง หน้าหวาน ผิวเนียน มีความเป็นผู้ดี แต่งหน้าและใส่เสื้อผ้าทันสมัย (ตรงข้ามกับความเชื่อเดิมๆ ที่มักมองว่าผู้ชายต้องแข็งแกร่ง) แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดเกี่ยวกับหนุ่มดอกไม้ก็มีหลากหลายข้อสันนิษฐานถึงจุดแรกเริ่มเดิมที และก็มีวิวัฒนาการมาหลายยุคสมัยเลยทีเดียวค่ะ จะมีอะไรบ้าง ตามมาอ่านกันต่อเลย~

ก่อนก๊ดมีนัมก็เคยมี ‘ฮวารัง’

Photo credit: WeTV
Photo credit: WeTV

น้องๆ รู้มั้ยว่าในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เองก็เคยมีนักรบ “ฮวารัง” (화랑) ที่แปลว่า “ชายรูปดอกไม้” หรือ “อัศวินดอกไม้” แห่งราชวงศ์ชิลลา ผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นฮวารังจะต้องเป็นชายหนุ่มรูปงามและหล่อเหลา เพราะมาจากความเชื่อว่า ‘ยิ่งมีรูปลักษณ์สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ ก็ยิ่งใกล้ชิดกับเหล่าเทพเทวามากขึ้นเท่านั้น’ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเรื่องการให้ค่ากับรูปลักษณ์ภายนอกนั้นได้ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีมาอย่างเนิ่นนานเลยค่ะ 

หนุ่มดอกไม้ในยุค 90’s

Photo credit: flickr.com
Photo credit: flickr.com

แม้ว่าจะมีแนวคิดเกี่ยวกับฮวารังในอดีต แต่เทรนด์ “หนุ่มดอกไม้ (Flower Boy)” นั้นเริ่มเป็นกระแสจริงจังในประเทศเกาหลีใต้ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเงินหรือฟองสบู่แตกที่กระทบกับเศรษฐกิจไปทั่วทั้งเอเชียในปี 1997 นั่นเองค่ะ  วิกฤตดังกล่าวทำให้หลายบริษัทในเกาหลีปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นพนักงานหญิงซะงั้น

และความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้ทำให้ผู้หญิงเกาหลีกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองและค่อยๆ มีความเป็นสตรีนิยมมากขึ้น พร้อมเริ่มละทิ้งจากความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) แล้วหันมามองหาผู้ชายที่ดูนุ่มบอบบางและเข้าใจธรรมชาติของผู้หญิงแทน (Soft Masculinity) 

ซอฟต์พาวเวอร์จากมังงะก็มีส่วน!

Photo credit: skdesu.com
Photo credit: skdesu.com

นอกจากนี้บางส่วนก็มาจากความนิยมของมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้กลายเป็น soft power ส่งผลต่อแนวคิดความเป็นหนุ่มดอกไม้ในเกาหลี  โดยต้นแบบนั้นมาจาก “บิโชเน็น” (美 少年 = เด็กชายแสนสวย) ที่ตัวละครนำชายมีขายาว อ่อนหวาน ใบหน้าเรียวเล็ก ผมยาวหรือหยักศก ยิ้มหวาน อ่อนโยน สุภาพและรักกับตัวละครหญิงที่แสนธรรมดาๆ จนทำให้ไปถูกอกถูกใจกลายเป็นหนุ่มในฝันของสาวเกาหลีในที่สุด 

แม้ว่าในภายหลังจะมีข้อพิพาทเรื่องฟุตบอลโลกระหว่างสองประเทศนี้ ส่งผลให้สินค้าต่างๆ จากแดนปลาดิบรวมถึงมังงะถูกยกเลิกห้ามนำเข้ามาในแดนกิมจิ แต่ชาวฮันกุกก็ได้ดัดแปลงมาเป็นแบบฉบับตัวเอง หรือที่เรารู้จักกันในนามการ์ตูน “มันฮวา” (만화) นั่นเองค่ะ

ASTRO's Cha Eun Woo/ THE BOYZ's Younghoon/ NCT's Teayong 
ASTRO's Cha Eun Woo/ THE BOYZ's Younghoon/ NCT's Teayong 
Photo credit: Twitter @offclASTRO, @IST_THEBOYZ, @NCTsmtown

Note: หนุ่มดอกไม้จะเน้นไปที่รูปลักษณ์ภายนอกที่อ่อนหวาน นุ่มนวล น่ารักและบอบบางค่ะ และนอกจากก๊ดมีนัมแล้ว ในเกาหลียังมีคำเรียกลักษณะผู้ชายอีกหลายแบบเลย เช่น 훈남 (ฮุนนัม) หมายถึงผู้ชายที่มีทั้งรูปลักษณ์และนิสัยอบอุ่นอย่าง “กงยู” หรือ “นัมกุงมิน” หรือจะเป็น 만찢남 (มันจิกนัม) ผู้ชายที่เหมือนออกมาจากหนังสือการ์ตูนอย่าง ชาอึนอู ASTRO, ยองฮุน THE BOYZ หรือ แทยง NCT เป็นต้น

วงการ K-POP และ K-Drama กับการแพร่หลายของหนุ่มดอกไม้

Photo credit: asianwiki.com
Photo credit: asianwiki.com

เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง สื่อต่างๆ ในเกาหลีก็ต้องเดินตามกระแสสังคม ดังนั้นภาพความเป็นชายที่มีความบึกบึนและแข็งแกร่งจึงถูกแทนที่ด้วยหนุ่มดอกไม้ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อโทรทัศน์ วงการเพลง ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ต่างก็หยิบภาพลักษณ์หนุ่มดอกไม้มานำเสนอ ตัวอย่างซีรีส์เกาหลีที่มีคอนเซ็ปต์ก๊ดมีนัม เช่น  Flower Boy Next Door, Shut-up Flower Boy Band และ Flower Boy Ramen Shop  เป็นต้น

Rain/ TVXQ/ Super Junior/ SHINee
Rain/ TVXQ/ Super Junior/ SHINee
Photo credit: KBS, SM Entertainment

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือวงการ K-POP ที่กวาดกระแสฮันรยูไปทั่วโลก (‘Hallyu Industry Support Development Plan’ หรือ Korean Wave) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับความงามและรูปลักษณ์ภายนอกของผู้ชายเช่นกัน อย่างที่น้องๆ หลายคนเคยเห็นกันว่าเมมเบอร์ในวงบอยกรุปส่วนใหญ่จะต้องเป็นไอดอลที่มีความสมบูรณ์รอบด้านแบบ all rounder ที่ไม่เพียงแค่มีความสามารถด้านการร้องเพลง การเต้นและทำการแสดงได้ดีเท่านั้น แต่ยังมีภาพลักษณ์หรือวิชวลที่ดูดีด้วย 

ซึ่งอุดมคติของหนุ่มดอกไม้ในวงการ K-POP ก็จะต้องมีผิวที่เนียน ตาสวย บอบบางและมีเซนส์ด้านแฟชั่น  โดยเหล่าศิลปินรุ่นพี่ที่ขับเคลื่อนกระแสหนุ่มดอกไม้ก็มีมาตั้งแต่รุ่นเดอะๆ อย่าง H.O.T, Sechs Kies, Shinhwa, TVXQ, Rain, Super Junior และ SHINee ฯลฯ ที่เริ่มนำเสนอภาพลักษณ์ของไอดอลชายที่นุ่มนวลขึ้น ปูทางให้ศิลปินรุ่นน้องได้ทำตามต่อๆ กันมา ถึงแม้ว่าจะผ่านมาหลายรุ่นหลายสมัยแต่หนุ่มดอกไม้ก็ยังเป็นเทรนด์ใน K-POP และยังคงได้รับความนิยมตลอดจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ตัวอย่างบอยกรุปที่เป็นตัวแทนนิยามของหนุ่มดอกไม้ในยุคนี้ เช่น ASTRO, THE BOYZ, Treasure, The Wind (วงนี้มีคนไทยด้วยนะ) หรือที่เพิ่งเดบิวต์สดๆ ร้อนๆ อย่าง ZEROBASEONE เป็นต้น 

THE BOYZ/ ZEROBASEONE/ Treasure/ The Wind
THE BOYZ/ ZEROBASEONE/ Treasure/ The Wind
Photo credit: Twitter @IST_THEBOYZ, @ZB1_official, @treasuremembers, @officialTheWind

ต้องบอกเลยว่าเทรนหนุ่มดอกไม้นั้นมีอิทธิพลอย่างมากในแวดวงสายอาร์ต ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง ศิลปะ แฟชั่นและความงามของผู้คนทั่วโลก อย่างประเทศไทยของเราเองก็รับมาเช่นกัน เห็นได้จากบทละครหรือซีรีส์หลายเรื่องมีการนำเสนอภาพลักษณ์พระเอกที่มีความอ่อนโยน นุ่มนวล หรือหล่อเหลาสไตล์โอปป้ามากขึ้น 

ทำไมคนเกาหลีถึงชอบหนุ่มดอกไม้?

Photo credit: tvN
Photo credit: tvN

การที่ผู้หญิงถูกกดขี่และถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียม ไม่เพียงทำให้พวกเธอหันไปหาผู้ชายที่มีความอบอุ่น ดูเข้าใจความรู้สึกผู้หญิงและเป็นสุภาพบุรุษเท่านั้น แต่ผู้หญิงเกาหลียังรู้สึกอยากดูแล ทะนุถนอมหนุ่มดอกไม้ด้วย เช่นเดียวกับผู้ชายเกาหลีเลยที่รู้สึกว่าหนุ่มดอกไม้งดงาม บอบบาง และน่าปกป้อง 

เมื่อสเปคของผู้หญิงเปลี่ยนไป ผู้ชายจึงรู้สึกกดดันและสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง จนผันตัวมาเป็นหนุ่มดอกไม้ พยายามดูแลตัวเองและปฏิบัติในแบบที่ผู้หญิงชอบมากขึ้น ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อและโฆษณาต่างๆ ทำให้การแต่งหน้าแต่งตัวของผู้ชายดูเป็นเรื่องปกติในสังคมเกาหลี ไม่แปลกที่ผู้ชายเกาหลีบางส่วนมองว่าการดูแลตัวเองไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกความเป็นหญิง (Femininity) แต่เป็นเรื่องของการทำรูปลักษณ์ให้ดูดีมากขึ้นมากกว่า 

Photo: นิว The Boyz & ซองฮันบิน ZEROBASEONE
Photo: นิว The Boyz & ซองฮันบิน ZEROBASEONE

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยค้นพบว่าการที่ผู้หญิงและผู้ชายถูกดึงดูดเข้าหาความเป็นชายที่นุ่นวล (Soft Masculinity) ก็เป็นเพราะว่าหนุ่มดอกไม้มีความเป็นหญิง (Femininity) อยู่ในตัวสูงนั่นเองค่ะ **แต่ต้องขอโน้ตไว้ก่อนนะคะว่าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะชอบผู้ชายที่ดูหวานนะ เพราะจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของรสนิยมด้วยค่ะ

หนุ่มดอกไม้กับความลื่นไหลทางเพศ

กระแสหนุ่มดอกไม้ (Flower Boy) ทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางเพศในสังคมทั้งในเกาหลีและต่างประเทศทั่วโลกอย่างมาก นอกจากจะทำให้ผู้ชายหลายคนยอมรับความเป็นชายที่นุ่มนวล (Soft Masculinity) และหันมาใส่ใจในรูปลักษณ์ภายนอกมากขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ Flower Boy ยังทำให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและแฟชั่นของเกาหลีเติบโตไปสู่ระดับโลกภายใต้แผนการฮันรยูที่ได้พูดถึงไปข้างต้นนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าแบรนด์เครื่องสำอาง เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับต่างๆ ที่นำนักแสดงหรือไอดอลชายมาเป็นพรีเซนเตอร์มากขึ้น และยังครอบคลุมไปถึงสินค้าบางกลุ่มที่ดูเหมือนจะเป็นของใช้สำหรับผู้หญิง เช่น รองพื้น มาสคารา บลัชออน และลิปสติก เป็นต้น

Photo credit: ygnatics.wordpress.com
Photo credit: ygnatics.wordpress.com

ย้อนไปเมื่อปี 2013 ที่มีการเปิดตัวศิลปิน K-POP ตัวพ่ออย่าง ‘G-Dragon’ ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นพรีเซนเตอร์ชายคนแรกให้กับแบรนด์ลิปสติกสีแดงสุดจี๊ดจนเป็นกระแสฮือฮาในยุคนั้นสุดๆ จากนั้นหลายแบรนด์ก็เริ่มดึงเซเลบชายมานำเสนอผลิตภัณฑ์ของตัวเองกันมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับวงการในที่สุด

EXO's Kai/ Stray kids' Hyunjin/ WayV's Ten/ Mark Tuan
EXO's Kai/ Stray kids' Hyunjin/ WayV's Ten/ Mark Tuan
Photo credit: Twitter @weareoneEXO, @Stray_Kids, @NCTsmtown, THE STAR MAGAZINE

ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งเพศชายและหญิงเริ่มจางลง ปัจจุบันแบรนด์เครื่องสำอางก็ใช้คำว่า Gender Neutral กันมากขึ้น (จากแต่ก่อนจะต้องมีคำว่า For Women หรือ For Men กำกับ) หรือจะเป็นการออกแบบเสื้อผ้าแบบไม่จำกัดเพศในวงการแฟชั่น (Genderless Fashion) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงตัวตนได้อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น เห็นได้จากแฟชั่นขอเหล่าไอดอลชายที่สวมใส่เสื้อครอป กระโปรง หรือเสื้อผ้าลวดลายดอกไม้ได้โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป~  

หนุ่มดอกไม้ ≠ LGBTQ+

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

แม้ว่าหนุ่มดอกไม้จะมีความเป็นหญิงสูง (Femininity) แต่ไม่ได้หมายความว่าหนุ่มดอกไม้ทุกคนจะเป็น LGBTQ+ เสมอไป เราต้องแยกก่อนนะคะว่ารสนิยมทางเพศกับรูปลักษณ์ภายนอกนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะคนๆ หนึ่งสามารถมีได้ทั้งส่วนผสมของความเข้มแข็งในแบบผู้ชายและความอ่อนโยนในแบบผู้หญิง และแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ (Androgynym) ดังนั้น การแสดงออกไปทางสาวหรือแมนไม่ใช่เครื่องบ่งบอกรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) เสมอไปนั่นเองค่ะ

 แม้ว่าชายเกาหลีจะมีอิสระในเรื่องนี้ สังคมส่วนใหญ่ก็ยังคงคาดหวังให้พวกเขาแข็งแกร่ง และมอบหมายบทบาทสำคัญให้พวกเขาเช่นเดิมอยู่ดีค่ะ และในขณะเดียวกัน การเปิดเผยตัวตนว่าเป็น LGBTQ+ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมเกาหลี เมื่อเทียบกับหนุ่มดอกไม้ ถึงคนรุ่นใหม่อาจมีความคิดเห็นในทางบวกและเปิดกว้างเรื่องทางเพศขึ้นมากกว่าแต่ก่อนก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับแบบ 100% รวมถึงหลายๆ คนยังขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือกลุ่ม LGBTQ+ ในเกาหลียังเป็นที่ยอมรับในฐานะ “หนุ่มดอกไม้” มากกว่าการยอมรับเพศทางเลือกที่เขาเป็นจริงๆ // นับเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีมากๆ เลยค่ะ TT 

เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวหนุ่มดอกไม้ที่พี่นำมาฝากกันในวันนี้ เรียกได้ว่าปรากฏการณ์ที่สร้างอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกในหลากหลายมิติเลยทีเดียว และยังเป็นเทรนด์ที่ทำให้ผู้ชายแสดงออกได้เสรีมากขึ้น แต่อีกมุมก็อาจสร้าง Beauty Standards และความกดดันให้กับผู้ชายได้เช่นกัน เพราะทุกวันนี้รูปลักษณ์กลับเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมใช้ตัดสินคุณค่าและความสำเร็จของบุคคลนั้นๆ 

และความจริงแล้ว “หนุ่มดอกไม้ในอุดมคติ” อาจจะต้องดูทั้งภาพลักษณ์และตัวตนข้างใน เพราะต่อให้มีหน้าตาที่อ่อนหวาน นุ่มนวลเข้ากับบรรทัดฐาน แต่ถ้าตัวตนที่แท้จริงยังคงมีความเป็น Toxic Masculnity แฝงอยู่ ก็คงไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาได้ และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปิดโอกาสเสรีภาพต่างๆ ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นกับทุกคนโดยไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศเช่นกันนะคะ ^^

Sources:https://doingsociology.org/2021/09/16/https://en.wikipedia.org/wiki/Kkonminamhttps://vm-people.de/2020/10/29/https://www.bbc.com/news/world-asia-42499809https://koreanwaveflowerboys.weebly.com/https://www.hellokpop.com/editorial/drastic-change-in-korean-male-prototypes-the-flower-boys/https://www.google.co.th/books/edition/Pretty_Boys/JwHrDwAAQBAJ?https://www.google.co.th/books/edition/Korean_Masculinities_and_Transcultural_C/npgE-K9rawUC?https://www.facebook.com/YoungPrideClub/posts/2207759489476767/
พี่ครีม
พี่ครีม - Columnist มนุษย์อิ้งสปีค Chinese ชอบ Eat ปิ้งย่าง พร้อมว่างเมื่อเจอนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

NewThaiSure23 Member 18 ก.ค. 66 07:07 น. 1

ที่นี่มีใครที่เป็นลูกหลานสว.บ้าง ช่วยกันไปบอกให้ สว. ญาติผู้ใหญ่ของเรา ให้โหวตเลือกพิธาเป็นนายกในวันประชุมสภาที่ 19 กรกฎานี้ เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉม อันจะเป็นผลดีที่จะทำให้มีช่องทางทำมาหากินที่มากขี้น ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหนูในอนาคต

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด