พาไปรู้จัก ‘ยูทูบเบอร์เกาหลีเหนือ’ รีวิวชีวิตแบบเรียลๆ หรือแค่โฆษณาชวนเชื่อ?

อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่า ถ้าพูดถึงประเทศที่มีการปิดกั้นเสรีภาพประชาชนจนติดอันดับโลก เชื่อว่าชื่อของประเทศ “เกาหลีเหนือ” จะต้องเป็นคำตอบแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงแน่ๆ เพราะภาพที่เรามักเห็นคือทุกอย่างเหมือนถูกหยุดสต๊าฟเอาไว้กับอดีต ไม่ค่อยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสื่อบันเทิงที่ทันสมัย แต่ไม่นานมานี้กลับมีการปรากฏตัวของยูทูบเบอร์และบล็อกเกอร์เกาหลีเหนือขึ้นมา ซึ่งพวกเธอได้มาเผยมุมมองต่างๆ ในประเทศไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต อาหารการกิน และการท่องเที่ยว ซึ่งภาพที่เธอนำเสนอก็อาจทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับดินแดงโสมแดงไปเลยก็ว่าได้ // เธอเป็นใคร? ใครส่งเธอมา? และรีแอ็กชันของชาวเน็ตเกาหลีใต้เป็นยังไงบ้าง? ตามไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเล้ยยย~

Photo credit: pixabay.com
Photo credit: pixabay.com

Olivia Natasha ยูทูบเบอร์เกาหลีเหนือ

Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily
Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily

เริ่มแรกเรามาทำความรู้จักกับ Olivia Natasha หรือ Yu Mi กันก่อนค่ะ โดยเธอเป็นยูทูบเบอร์สาวจากเปียงยาง (평양) เมืองหลวงของประเทศเกาหลีเหนือ ได้ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับช่องยูทูบที่มีชื่อว่า Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2022 ซึ่งวิดีโอของเธอกลายเป็นไวรัลและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะปกติแล้วคนเกาหลีเหนือจะถูกจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อภายนอก จะมีเพียงแค่กลุ่มคนบางส่วนและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิพิเศษนี้ แต่เธอกลับมีทั้งช่อง YouTube, TikTok รวมถึง Twitter เป็นของตัวเองซะงั้น ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยอย่างถล่มถลายและตั้งสันนิษฐานถึงเบื้องหลังการปรากฏตัวของเธอว่าอาจมาจากรัฐบาลก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม Yu Mi ไม่ได้เปิดเผยอย่างชัดเจนของเธอว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือไม่ เธอบอกเพียงแค่ว่าอยากพาผู้ชมมารู้จักกับเมืองเปียงยางในเวอร์ชันเรียลๆ เท่านั้น แม้ว่าภายหลังช่องทาง YouTube และ TikTok ของเธอถูกปิดตัวลงไป แต่เธอก็ยังคงอัปเดตเรื่องราวต่างๆ ผ่านทาง Twitter: @YuMi_DPRK_daily อยู่ค่ะ (ลองเข้าไปส่องๆ กันได้ค่า~)

Note: ช่องและวิดีโอทั้งหมดของ Yu Mi ถูกลบไปแล้วเนื่องจากโดนแบนจากทางยูทูบ แต่ยังมีคนสำรองข้อมูลและแชร์วิดีโอไว้อยู่นะคะ ใครสนใจสามารถตามเข้าไปดูกันได้เลยค่า

#รีวิวเกาหลีเหนือ
ตามติดชีวิตของเหล่าคนชนชั้นสูง

Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily
Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily

ถ้าเปิดดูคอนเทนต์รีวิวของ Yu Mi แบบเพลินๆ ก็คงคิดว่าเป็นยูทูบเบอร์ทั่วไป เพราะว่าสไตล์การรีวิวของเธอนั้นดูเข้าถึงง่ายมากๆ เลยค่ะ แถมยังใช้ภาษาอังกฤษคล่องสุดๆ อีกด้วย ซึ่งเธอก็พาไปรีวิวทุกซอกทุกมุมในกรุงเปียงยางด้วยความภาคภูมิใจสุดๆ ทั้งบรรยากาศครอบครัวสุขสันต์ที่พากันมาเพลิดเพลินที่สวนสนุกและสวนน้ำในวันหยุด, พาไปชิมอาหารร้านดัง, พาไปชมภาพยนตร์, ออกกำลังกายในฟิตเนสที่มีอุปกรณ์แบบครบครั้น รวมถึงรีวิวการเดินทางโดยรถไฟใต้ดินภายในเมือง เป็นต้น  

Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily
Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily

และไม่ใช่แค่พาไปรีวิวหรือชมชีวิตประจำวันของชาวเมืองเท่านั้น เธอยังทำ street interview พาไปสัมภาษณ์คนท้องถิ่นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้จักคนเกาหลีเหนือมากขึ้น เช่น “ใครคือนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับคุณ?” ซึ่งคำถามนี้น่าสนใจตรงที่ปกติแล้วเราจะคิดว่าคนเกาหลีเหนือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายนอกประเทศได้ แต่น้องๆ ที่ให้สัมภาษณ์กลับรู้จักนักบอลดังๆ หลายคนเลย ทั้งคริสเตียโน โรนัลโด และลิโอเนล เมสซิ ฯลฯ

Photo credit: @YuMi_DPRK_daily (Twitter)
Photo credit: @YuMi_DPRK_daily (Twitter)

ต้องบอกว่าภาพสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ สกูตเตอร์ สวนน้ำ สนามกอล์ฟ รวมถึงบ้านเมืองที่สะอาดเรียบร้อย ที่ได้เห็นในรีวิวของ Yu Mi นั้นดูยิ่งใหญ่อลังการจนอาจลบภาพจำต่างๆ ในหัวเราไปเลยทีเดียวก็ว่าได้ แต่ความเป็นจริงคือมีเพียงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งมักจะเป็นคนชั้นสูงและมีความร่ำรวยในเกาหลีเหนือนั่นเองค่ะ  โดยนักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่าสถานที่เหล่านี้ไม่ได้เปิดทำการเป็นประจำ เพราะเกาหลีเหนือขึ้นชื่อเรื่องไฟดับบ่อยครั้ง และมีประชากรแค่เพียงราวๆ 26% ที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ (ตามการประมาณการในปี 2019 จาก CIA World Factbook) ดังนั้นแหล่งจ่ายไฟฟ้าไม่น่าเพียงพอต่อการใช้งานในทุกวัน แต่จะเปิดใช้งานในช่วงวันหยุดสัปดาห์หรือช่วงเวลาพิเศษ (รวมถึงการถ่ายทำวิดีโอของ Yu Mi ด้วย) เลยทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตกันว่าวิดีโอของ Yu Mi เป็นการนำเสนอแค่ภาพที่สวยงามของเหล่าชนชั้นกลางและชนชั้นนำของเกาหลีเหนือเท่านั้นหรือไม่

Note: การใช้โทรศัพท์มือถือเริ่มถูกห้ามในปี 2004 และได้รับอนุญาตอีกครั้งในปี 2008 ซึ่งดำเนินการร่วมกันโดยบริษัท Egyptian Orascom และ Korea Post and Telecommunications Corporation ที่เป็นของรัฐบาลฯ โดยมีค่าบริการที่สูงมากและสามารถเข้าถึงได้เฉพาะหมู่สมาชิกพรรคที่ร่ำรวยในกรุงเปียงยางเท่านั้น

ไม่ใช่แค่ Yu Mi แค่คนเดียว

Photo credit: www.rfa.org
Photo credit: www.rfa.org

ต้องบอกว่าไม่ได้มีแค่ Yu Mi แค่เพียงคนเดียวนะคะ ก่อนหน้านี้ก็มีการปรากฏตัวของยูทูบเบอร์เกาหลีเหนืออีกหลายคนเลยค่ะ รวมถึง Sary Voline 송아 SongA Vlog ของ ‘ซงอา’ เด็กผู้หญิงวัย 11 ปี มาจากเมืองเปียงยางเช่นเดียวกัน ซึ่งเธอเก่งภาษาอังกฤษมากกก และยังได้รับคำชมถึงสำเนียงบริติชอีกด้วย 

Photo credit: Sary Voline 송아 SongA Vlog
Photo credit: Sary Voline 송아 SongA Vlog

ซงอาได้ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2022 โดยวิดีโอแรกของเธอเป็นการแนะนำเมืองเปียงยางและแนะนำหนังสือเล่มโปรดของเธออย่าง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” (Harry Potter) ฟังเผินๆ อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในประเทศอื่น แต่ว่าไม่ใช่กับเกาหลีเหนือ เพราะว่าที่นี่มีกฎห้ามนำหนังสือรวมถึงสื่อที่มีแนวคิดแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเชื่อเข้าประเทศเด็ดขาด เพราะถ้าถูกจับได้อาจโดนโทษร้ายแรง อย่างปลายปีที่แล้วก็มีข่าวการสั่งประหารชีวิตนักเรียนชั้น ม.ปลาย 3 คน โทษฐานที่ลักลอบดูซีรีส์เกาหลีใต้และเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นข่าวที่ฮือฮาไปทั่วโลกถึงความโหดเหี้ยม

 นอกจากนี้ซงอายังได้รีวิวเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเธออีกหลากหลายมุม เช่น พาไปเยี่ยมชมสถานที่ขึ้นชื่อในช่วงวันหยุด, เปิดบ้านทำ home tour, แนะนำอาหารจานโปรด รวมถึงรีวิวชีวิตนักเรียนในโรงเรียนเกาหลีเหนือ นอกจากนี้เธอยังโชว์ว่าเธอได้รับการช่วยเหลือจากทางการทหารตอนช่วงกักตัวโควิด-19 อีกด้วย

Photo credit: pixabay.com
Photo credit: pixabay.com

อย่างไรก็ตามหลายคนที่ได้ดูวิดีโอต่างตั้งขอสังเกตว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาของ Song Ah และ Yumi นั้นมีลักษณะคล้ายกันคือ ทั้งสองคนมักจะชื่นชมเมืองหลวงเปียงยางและขอบคุณผู้นำสูงสุดอยู่เสมอ แถมยังมีคนพบว่า Song Ah เป็นหนึ่งในลูกหลานผู้มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับทางรัฐบาลฯ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่เธอสามารถเข้าถึงสถานที่ที่เข้าถึงได้ยากได้และอาจเป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของทางรัฐบาลเกาหลีเหนือนั่นเอง

เรื่องจริงหรือว่าแค่เรื่องชวนเชื่อ?

Photo credit: www.flickr.com
Photo credit: www.flickr.com

ต้องบอกว่าการโฆษณาชวนเชื่อในเกาหลีเหนือนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีปรากฏให้เห็นจากสื่อทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งในรูปแบบของโปสเตอร์ ภาพยนตร์ หรือวิดีโอ โดยแรงบันดาลใจในการสร้างก็มาจากหลักที่พวกเขายึดในการดำเนินชีวิตอย่าง ‘ปรัชญาจูเช่’ (Juche Ideology) หรือแนวคิดการพึ่งพาตนเองที่คิดค้นโดยผู้นำคิม อิล-ซ็อง ปรัญชานี้ว่าด้วยการที่ประชาชนเป็นผู้กุมชะตาชีวิตตนเอง พวกเขาเชื่อว่าสามารถผลิตทุกอย่างเองได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาพรรคแรงงานแห่งเกาหลีเหนือให้คงอยู่อีกด้วย และแน่นอนว่าการโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือจะเป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่การเกี่ยวข้องกับปรัญชาจูเช่และท่านผู้นำสูงสุดของประเทศ เช่น สารคดีการทำงานของคิมจองอึน (ผู้นำคนปัจจุบัน) เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าท่านผู้นำนั้นมีความเสียสละ มีความสามารถในการทำเพื่อชาติและประชาชน เป็นต้น

แม้ว่าจะปิดกั้นประเทศ แต่ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือมีการสร้างแอ็กเคานต์ที่มีชื่อว่า อุริมินซอกกิริ  (Uriminzokkiri) บนโซเชียลมีเดียครั้งแรกในปี 1990 เพื่อให้บริการข่าวสารเป็นภาษาเกาหลีและโฆษณาชวนเชื่อจากสำนักข่าวกลางของประเทศ และเมื่อบางช่องทางปิดตัวไป ก็เกิดช่องใหม่ๆ ให้คนภายนอกได้ติดตาม อย่างเช่น DPRK Today, Red Star TV และ Echo of Truth แต่ก็ถูกลบทิ้งไปในภายหลังเช่นกัน 

Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily
Photo credit: Olivia Natasha-Yumi Space DPRK daily

และเพื่อให้ทันต่อกระแสโลกที่เปลี่ยนไป เกาหลีเหนือจึงหันมาทำโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบใหม่อย่าง ‘ยูทูบเบอร์’ ที่มีรูปแบบการตัดต่อที่น่าสนใจ ทันสมัย และมีความเป็นมืออาชีพ เพื่อทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายและทำลายภาพจำเดิมๆ ได้อย่างดีเลยทีเดียว // ถ้าน้องๆ ได้ดูวิดีโอหรือตามส่องใน Twitter แล้วก็คงจะเห็นได้ว่าเมืองหลวงเปียงยางดูเป็นเมืองที่สะดวกสบายเมืองหนึ่งเลยค่ะ 

Photo credit: @YuMi_DPRK_daily (Twitter)
Photo credit: @YuMi_DPRK_daily (Twitter)

โดยนักวิชาการหลายๆ ท่านก็ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า เกาหลีเหนืออาจพยายามนำเสนอภาพ “ประเทศที่ปลอดภัย” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเศรษฐกิจทำพิษ โดยเฉพาะช่วงหลังการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 และถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่านอกจาก Yu Mi และ Song Ah จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารแล้ว พวกเธอยังมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษด้วย เช่น “Olivia Natasha” ของ Yu Mi และ “Sally Parks” ของ Song Ah นี่อาจสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามเข้าถึงความเป็น World Wide ของเกาหลีเหนือก็เป็นได้

ส่วนท่าทีของทางฝั่งประเทศที่ยังคงมีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ อย่าง ‘เกาหลีใต้’ ก็ได้มีการร้องขอจากหน่วยกรองข่าวแห่งชาติ (NIS) ต่อหน่วยงานเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของประเทศ (Korea Communications Standards Commission) ให้ปิดกั้นช่องทางเหล่านี้ เพราะกังวลว่าประชาชนเกาหลีใต้จะถูกวางเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และยังเป็นการทำสงครามจิตวิทยารูปแบบหนึ่งของเกาหลีทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย 

ส่องคอมเมนต์ชาวต่างชาติ & ชาวเกาหลีใต้
ที่มีต่อยูทูบเบอร์เกาหลีเหนือ

การปรากฏตัวของยูทูบเบอร์เกาหลีเหนือดูจะไม่ใช่ภาพที่ปกตินักในสายตาของชาวต่างชาติ ทำให้คนในโซเชียลออกมาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายมุม พี่ครีมจะขอยกบางส่วนมาสรุปให้น้องๆ อ่านกันค่ะ

“ในวิดีโอของเธอไม่ค่อยมีผู้คนในบริเวณนั้นเลย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับคนรวยหรือผู้มีอำนาจในรัฐและครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น แล้วลองสังเกตว่าตู้เย็นพวกนั้นว่างขนาดไหนตอนเธอออกไปชอปปิง ระบอบเผด็จการดูถูกสติปัญญาของพวกเราจริงๆ”

“ไม่มีที่ไหนดีไปทั้งหมด และไม่มีที่ไหนแย่ไปทั้งหมด เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ อาจมีบางแง่มุมของชีวิตที่แท้จริงสำหรับพวกเขาบางคน”

“อินเทอร์เน็ตถูกจำกัดอย่างมากในเกาหลีเหนือ ฉันไม่อยากจะเชื่อว่าวิดีโอ Vlogger นี้เป็นชาวเกาหลีเหนือจริงๆ ฉันคิดว่าเธอคงเป็นเด็กที่ได้รับสิทธิพิเศษ ถ้าคุณเกิดในเกาหลีเหนือและมีครอบครัวที่ได้รับสิทธิพิเศษ คุณคือคนโชคดี“

“เด็กชาวเกาหลีเหนือที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี? และมีเสื้อผ้าสีสันสดให้ใส่ด้วย? เธอต้องมาจากครอบครัวที่ดีอย่างแน่นอน ใช่แล้วแหละ ทั้งหมดนั่นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เธอเป็นแค่คนเดียวที่มีแบบนั้นและมันน่ารังเกียจที่พวกเขาเลือกใช้เด็กผู้หญิง (ในการโฆษณาชวนเชื่อ)”

มาดูคอมเมนต์ทางฟังคนเกาหลีใต้กันบ้าง แต่ละคนมีความเห็นต่อเรื่องนี้ยังไงกันบ้างนะ? 

“มันบ้ามากๆ ที่ชีวิตของพวกเรากลับสลับกันคนละขั้วในแผ่นดินเล็กๆ แห่งนี้ เราทุกคนควรจะใช้ชีวิตอย่างรู้สึกขอบคุณที่เกิดในเกาหลีใต้” 

“ว้าว ว่าแต่การออกเสียงภาษาอังกฤษของเธอดีมากๆ เลยนะเนี่ย”

“ซงอาสู้ๆ นะ ㅠㅠ ฉันหวังว่าคุณจะสนุกกับอิสระทางความคิดในใจของคุณ….”

แล้วชีวิตจริงของคนเกาหลีเหนือเป็นยังไง?

จากที่ Yu Mi และ Song Ah พาไปรีวิวมุมต่างๆ ในประเทศ อาจทำให้น้องๆ หลายคนเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเกาหลีเหนือกันใช่มั้ยคะ? แต่จริงๆ ต้องบอกว่า นั่นก็เป็นแค่ข้อมูลที่เค้าเลือกมานำเสนอให้เราเห็น เพราะความเป็นจริงแล้วประชาชนก็ยังคงถูกควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายๆ เรื่องอยู่ดีค่ะ แต่ว่าจะมีเรื่องไหนบ้าง? เรามาทำความรู้จักชีวิตในดินแดงโสมแดงให้มากขึ้นผ่านสัมภาษณ์ของ Harry ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือกันค่ะ

มาเริ่มต้นด้วยประเด็นการทำงานในเกาหลีเหนือกันค่ะ น้องๆ หลายคนอาจจะคิดว่ามีการบังคับและกำหนดอาชีพให้กับประชาชน แต่จริงๆ แล้วผู้คนนั้นมีสิทธิเลือกทำงานในงานที่ชอบ แต่ถ้าหากใครไม่มีงานทำก็จะต้องติดคุกตามกฎหมายของประเทศค่ะ 

Q: ผู้คนยังคงถูกมอบหมายให้ทำงานอยู่ไหม? แล้วการทำงานในเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร?

Harry: พวกเรา (คนเกาหลีเหนือ) ได้รับโอกาสในการเลือกงานที่อยากทำ แต่คุณจะติดคุกถ้าไม่ได้ทำงาน นั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ

ต่อด้วยเรื่องรากฐานที่สำคัญอย่าง ‘การศึกษา’ โดย Harry ได้อธิบายว่าระบบการศึกษาถูกควบคุมโดยรัฐบาล เด็กๆ จะได้เรียนแค่ชีวประวัติของผู้นำสูงสุด ปรัชญาจูเช่หรือถูกสอนว่าอเมริกา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นศัตรูของพวกเขา รวมถึงหนังสือแนวความคิดต่างๆ ก็ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นไปได้ยากมากๆ ที่พวกเขาจะเข้าถึงโลกภายนอก นอกจากสิ่งที่รัฐบาลอยากให้รู้ นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาศรัทธาต่อผู้นำสูงสุดมากๆ นั่นเองค่ะ

เปิดมุมการศึกษาของ ‘เกาหลีเหนือ’ ที่ทุกวิชาเน้นปลูกฝังรักชาติ&เชิดชูผู้นำ! (เล่าโดยอดีตนักเรียนผู้แปรพักตร์)
เปิดมุมการศึกษาของ ‘เกาหลีเหนือ’ ที่ทุกวิชาเน้นปลูกฝังรักชาติ&เชิดชูผู้นำ! (เล่าโดยอดีตนักเรียนผู้แปรพักตร์)

Q: ก่อนหน้านี้ คุณรู้จักโลกภายนอกมากน้อยแค่ไหน?

Harry: ทุกอย่างในประเทศ รวมถึงระบบการศึกษาถูกสร้างโดยรัฐบาลฯ พวกเขาสอนว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยากจนและขาดแคลนอาหารมาก พวกเขาขายเลือดเพื่อเงินและติดยา ดังนั้นพวกเราต้องช่วยเหลือและหาอาหารให้กับพวกเขา อะไรประมาณนี้ครับ และผมคิดว่าพวกเขาดูไม่ชอบอเมริกา เพราะทุกรูปที่เกี่ยวกับอเมริกามักจะเป็นเรื่องทหารที่มีปืนและดูน่ากลัว

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ในเกาหลีเหนือก็คือ การขาดแคลนอาหารและความยากจน เพราะเกาหลีเหนือสามารถทำการเพาะปลูกได้แค่เพียง 20% ของประเทศ อีกทั้งยังไม่มีระบบเศรษฐกิจที่มารองรับในส่วนนี้ จึงมีคนจำนวนมากที่เสียชีวิตจากความอดยากและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลฯ ในทางกลับกันทางการทหารเป็นเพียงระบบเดียวที่ยังคงดูดีและมีการพัฒนาอยู่เสมอ

Q: ประชาชนเกาหลีเหนือเดือดร้อนอย่างไรบ้าง?

Harry: ผมคิดว่าความอดยากเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีเหนือ เพราะเราต้องซื้ออาหารจากข้างนอกแต่กลับไม่มีเงินเพียงพอ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงมีผู้คนที่อดตายบนถนนโดยปราศจากการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก

Photo credit: www.reuters.com
Photo credit: www.reuters.com

แม้ว่าชีวิตหลังจากลี้ภัยของ Harry จะได้รับเสรีภาพ แต่เขากลับบอกว่าไม่ได้รู้สึกสนุกและมีความสุขกับอิสระที่ได้รับมา เพราะเขายังคงนึกถึงผู้คนที่เขาได้ทิ้งไว้ที่เกาหลีเหนืออยู่เสมอ เพราะชีวิตของผู้คนที่นั่นถูกแขวนไว้กับอำนาจของรัฐบาล ไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือลุกขึ้นมาเรียกร้องได้ 

Q: คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างกับเกาหลีเหนือ?

Harry: แน่นอนว่าพวกเขาต้องการเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการศึกษา มันเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยได้สัมผัสเลยตอนอยู่ที่เกาหลีเหนือ ผมไม่เคยรู้เลยว่าประชาชนสามารถวิจารณ์หรือประท้วงผู้นำได้ ที่นั่นไม่มีการประท้วง ไม่มีการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ รัฐบาลตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเกาหลีเหนือถึงยากที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

Note: นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พี่นำมาจากบทสัมภาษณ์เท่านั้นนะคะ ยังมีอีกหลายแง่มุมของเกาหลีเหนือเลยที่ไม่ได้นำมาหยิบยกขึ้นมามา น้องๆ สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมในคลิปด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ 

เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวยูทูบเบอร์เกาหลีเหนือที่พี่นำมาฝากกันในวันนี้ ถึงแม้ว่าวิดีโอหรือรูปภาพที่ได้แสดงออกมาสู่โลกภายนอกอาจเป็นเพียงภาพที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นเห็นหรืออาจจะเป็นการใช้ชีวิตของพวกเขาจริงๆ แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ลำบากและยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือ TT // แล้วน้องๆ มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ยังไงกันบ้างคะ? สามารถคอมเมนต์มาแลกเปลี่ยนกันได้น้าา ^^

 Sources:https://edition.cnn.com/2023/02/04/asia/north-korea-youtuber-yumi-intl-hnk-dst/index.htmlhttps://www.nknews.org/2022/12/new-north-korean-vlogger-pushes-propaganda-via-tiktok-copycat/https://www.koreaboo.com/news/south-korean-netizens-unimpressed-north-koreas-new-english-vlogger/https://www.koreaboo.com/news/11-year-old-north-korean-vlogger-south-koreans-impressed-worried/https://www.rfa.org/english/news/korea/vlogs-07032023120605.htmhttps://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/07/103_353540.htmlhttps://en.wikipedia.org/wiki/Propaganda_in_North_Korea#cite_note-peoplesKorea-3
พี่ครีม
พี่ครีม - Columnist มนุษย์อิ้งสปีค Chinese ชอบ Eat ปิ้งย่าง พร้อมว่างเมื่อเจอนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น