เรียนต่อ ป.โท ที่ไหนดี? เทียบชัดๆ ข้อแตกต่าง ‘อังกฤษ vs อเมริกา’ พร้อมชี้เป้าทุนเรียนต่อ!

สวัสดีชาว Dek-D ค่ะ ถ้าพูดถึงประเทศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากไปเรียนต่อ เชื่อว่าลิสต์อันดับต้นๆ จะต้องมี “สหราชอาณาจักร (UK)” และ “สหรัฐอเมริกา (USA)” อย่างแน่นอน เพราะอย่างที่รู้กันว่า 2 ประเทศนี้ระบบการศึกษามีคุณภาพ เป็นที่ตั้งของยูระดับท็อปโลก และเปิดกว้างให้กับชาวต่างชาติสามารถทำงานต่อได้หลังเรียนจบ เรียกว่ามีช่องทางต่อยอดได้ในระยะยาวเลยทีเดียว

แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าควรปักหมุดเรียนต่อปริญญาโทที่ไหนดี วันนี้เราเลยสรุปข้อมูลและประเด็นสำคัญๆ ที่ควรใช้พิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะเป็นทีมไหนดี ทั้งเกณฑ์การสมัครเรียน, ประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น, การขอวีซ่าทำงานต่อหลังเรียนจบ รวมถึงชี้พิกัดทุนการศึกษาด้วย จะมีเรื่องอะไรที่ควรอัปเดตบ้าง เลื่อนไปอ่านกันเลยค่ะ Let’s go~

……………………….

Image by drobotdean on Freepik
Image by drobotdean on Freepik

ตัวอย่างสาขายอดฮิต

อยากเรียนต่อสาขานี้ ควรเลือกที่ไหนดี? ถือว่าเป็นประเด็นท็อปๆ ที่หลายคนมักถามกัน ดังนั้นเรามาเริ่มต้นด้วยตัวอย่างสาขาวิชาที่คนนิยมไปเรียนต่อใน UK กับ USA กันก่อนเลยค่ะ 

อังกฤษ

อเมริกา

  • วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
  • จิตวิทยา (Psychology)
  • การตลาด (Marketing)
  • การจัดการ (Mahagement)
  • สถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architecture)
  • วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
  • วิศวกรรมสารสนเทศ (IT Engineering)
  • การเงิน (Finance)
  • การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics)
  • การตลาด (Marketing)
  • วิทยาการข้อมูล (Data Science)
  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)

Note: อย่างไรก็ตาม ตารางด้านบนก็ไม่อาจสรุปเป็นข้อมูลตายตัวได้เสมอไป แนะนำว่า ถ้าอยากเรียนสาขาไหน ให้ลองเช็กอันดับจาก QS World University Rankings by Subject ซึ่งเค้าจะสรุปข้อมูลมาให้ว่า ถ้าอยากเรียนต่อด้านนี้ มีมหาวิทยาลัยอะไรจากประเทศไหนที่มีชื่อเสียงบ้าง (ค้นหาได้ทั้งโลก ไม่ได้จำกัดแค่ UK กับ USA) ลองเช็กให้ชัวร์ อาจจะช่วยให้เราพบคำตอบได้ง่ายขึ้น!

จะเรียนต่อ ป.โท ต้องใช้อะไรบ้าง?

มาต่อกันที่หัวข้อเบสิกอย่าง ‘เกณฑ์การสมัครเรียน’ กันค่ะ สำหรับการสมัครเรียนที่สหราชอาณาจักร มักกำหนดเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น ดังนี้

  • ผลการเรียนระดับ ป.ตรี : ควรมีเกรดขั้นต่ำเทียบเท่า Upper Second-Class Honours (2:1) หรือ Lower Second-Class Honours (2:2) ของการเรียนในประเทศอังกฤษ ซึ่งถ้าจะเทียบกับ GPA ของมหาวิทยาลัยในไทยก็จะอยู่ที่ประมาณ 3.3-3.7 (2:1) และ 2.8-3.2 (2:2) นั่นเองค่ะ
  • ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ : ส่วนใหญ่ใช้ผลสอบ IELTS Academic ขั้นต่ำ band 6.5 (อาจยื่นผลสอบประเภทอื่น เช่น TOEFL, PTE, CAE แทนได้) แต่หากใครไม่ชัวร์ว่าเราจะสอบได้ band ที่มหา’ลัยกำหนดไว้หรือไม่ อาจใช้ผลสอบ ‘IELTS UKVI’ (แล้วแต่มหา’ลัย) ซึ่งได้รับการรับรองจาก UK Visas and Immigration (UKVI) แทนได้ โดยความพิเศษจะอยู่ที่กรณีสอบไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถใช้ผลสอบนี้ยื่นสมัคร Pre-sessional English Course ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อนเริ่มเรียน ป.โท ที่มหาวิทยาลัยใน UK ได้เลย (ไม่ต้องสอบใหม่)

ส่วนมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกากำหนดเงื่อนไขการสมัครเรียนเบื้องต้นไว้ ดังนี้

  • ผลการเรียนระดับ ป.ตรี : ควรมี GPA ขั้นต่ำ 3.00
  • ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ : มักใช้ผลสอบ TOEFL ขั้นต่ำ 80 คะแนน ทั้งนี้อาจใช้ผลสอบประเภทอื่น เช่น IELTS, PTE, CAE แทนได้ (ขึ้นอยู่กับมหา’ลัย)
  • ผลสอบ GRE หรือ GMAT : หลายมหา’ลัยกำหนดให้สอบ GRE (Graduate Record Examination) ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความสามารถสำหรับสมัครเรียนต่อ ป.โท และสำหรับใครเล็งเรียนต่อ Business School (เช่น สาขา MBA, Marketing, Finance ฯลฯ) มักต้องสอบ GMAT (Graduate Management Admission Test) ที่ใช้วัดระดับสำหรับผู้ที่จะเรียนต่อในด้านนี้โดยเฉพาะเพิ่มเติมด้วย

Note: ทั้งนี้มหาวิทยาลัยอาจกำหนดเกณฑ์การรับสมัครแตกต่างจากที่ระบุไว้ด้านบน โปรดตรวจสอบที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละแห่งค่ะ  

 

Image by artursafronovvvv on Freepik
Image by artursafronovvvv on Freepik

หลักสูตร & ระยะเวลาเรียน

เรื่องระยะเวลาในการเรียนก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนใช้ในการตัดสินใจ ถ้าหากใครมีข้อจำกัดต้องการอัปเกรดความรู้ในระยะเวลาสั้นๆ ปักหมุดที่ UK ก็น่าจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะหลักสูตรระดับ ป.โท ของที่นี่ใช้เวลาเรียนประมาณ 9-12 เดือน โดยจะเน้นการเรียนแบบเจาะลึกในสาขาวิชานั้นๆ สำหรับโพรเจกต์จบก็มีให้เลือกหลายประเภท (แล้วแต่หลักสูตร) เช่น วิทยานิพนธ์ (Dissertation), การฝึกงาน (Internship), โพรเจกต์ให้คำปรึกษา (Consulting Plan) เป็นต้น

ทางฝั่ง USA ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 2 ปี (อาจมีบางหลักสูตรใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี ขึ้นอยู่กับหน่วยกิตของสาขานั้นๆ) ซึ่งการเรียนการสอนก็จะเน้นรอบด้าน ครอบคลุมทุกความรู้พื้นฐานแบบแน่นๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถต่อยอดการเรียนช่วงครึ่งหลังของหลักสูตรได้ ส่วนโพรเจกต์จบก็มีหลากหลายทั้งวิทยานิพนธ์ (Thesis),  Capstone Project และอื่นๆ  

Note: ถ้าหากใครที่มีผลสอบวัดระดับภาษาไม่ถึงเกณฑ์ จะต้องเรียนปรับพื้นฐานก่อน จึงจะสามารถเรียนต่อ ป.โท ได้ 

ค่าเล่าเรียน

  • ค่าเล่าเรียนที่ UK โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17,109 ปอนด์/ปี (ประมาณ 755,190 บาท)
  • ค่าเล่าเรียนที่ USA โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 ดอลลาร์/ปี (ประมาณ 768,000 บาท)

Note: 

  • แม้ค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยต่อปีจะมีอัตราใกล้เคียงกัน แต่อย่าลืมว่าหลักสูตรที่อเมริกาใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี ดังนั้นจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในปีการศึกษาถัดไปด้วยค่ะ
  • แต่ละหลักสูตรมีค่าเล่าเรียนแตกต่างกัน แนะนำให้เช็กที่หน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโดยตรง
  • ส่องอัตราค่าครองชีพของเมือง คลิกที่นี่
  • อ้างอิงเรตเงิน 1 ปอนด์ = 44.14 บาท และ 1 ดอลลาร์ = 34.94 บาท (อัปเดตเมื่อ 22 ธ.ค. 66)

เปิดรับสมัครเมื่อไหร่?

เชื่อว่าหลายคนอาจมีคำถามประมาณว่า “แล้วถ้าอยากสมัครเรียนต่อ ป.โท ที่ UK และ USA ควรเตรียมตัวตอนไหนดีล่ะ?” การวางแผนเรื่องเวลานั้นก็สำคัญมากๆ ซึ่งโดยปกติแล้วควรเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ก่อนวันเปิดรับสมัคร เพราะอย่างเรื่องขอเอกสารสำคัญบางอย่าง เช่น ใบวุฒิการศึกษา, ใบแสดงผลการเรียน, ผลสอบวัดระดับ ฯลฯ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องแปลและนำไปรับรองที่กงสุล อาจใช้เวลานานและคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เผื่อเวลาเอาไว้ และเริ่มดำเนินการอย่างน้อย 6-12 เดือนก่อนมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัคร 

แล้วมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่? ปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครล่วงหน้า 1 ปี ก่อนปีที่เราจะไปเรียนค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดเทอม Fall ของปีนี้เสร็จปุ๊บ เค้าก็จะเปิดรับสมัครเทอม Fall ของปีถัดไปต่อเนื่องกันเลยค่ะ ก็คือใน 1 ปีเต็มๆ นี้เราต้องสมัครเรียน, ติดต่อมหาวิทยาลัย, ตอบรับ offer, ดำเนินการเรื่องวีซ่า, หาที่พัก, จองตั๋วเครื่องบิน พูดง่ายๆ ก็คือต้องดำเนินการให้เรียบร้อย จากนั้นจึงจะสามารถบินไปเข้าเรียนใน Intake ที่เราสมัครไปได้ // ว่าแล้วเรามาดู Timeline ของแต่ละประเทศกันว่า ในแต่ละเทอมเค้าเปิดรับสมัครช่วงไหนบ้าง?

Timeline สมัครเรียนต่อ UK

Intake

ระยะเวลารับสมัคร

September (เปิดเทอมเดือนกันยายน)เดือนกันยายน - มีนาคม
January (เปิดเทอมเดือนมกราคม) เดือนกันยายน -  พฤศจิกายน

Timeline สมัครเรียนต่อ USA

Intake

ระยะเวลารับสมัคร

Fall (เปิดเทอมเดือนกันยายน)เดือนสิงหาคม - ธันวาคม
Spring (เปิดเทอมเดือนมกราคม)เดือนมกราคม - เมษายน
Summer (เปิดเทอมเดือนมิถุนายน)เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม

Note: 

  • บางหลักสูตร/มหาวิทยาลัยอาจมีกำหนดการรับสมัครแตกต่างไป โปรดตรวจสอบที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละแห่ง
  • บางเทอม (Intake) อาจไม่ได้เปิดรับสมัครทุกหลักสูตร ดังนั้นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เราควรเช็กดีๆ ว่าคอร์สที่อยากเรียนนั้นเปิดรับสมัครเทอมไหน เพราะบางทีอาจมีคนสมัครเป็นจำนวนมาก และอาจรับแบบ first come, first serve (โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นเทอม Fall จะมีหลักสูตรเปิดรับสมัครเยอะกว่าเทอมอื่นๆ ค่ะ)
  • ข้อมูลในตารางด้านบนอ้างอิงจากเว็บไซต์ UCAS ระบบส่วนกลางที่ใช้สมัครเรียนต่ออังกฤษ และ Hands On ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนต่อ UK และ USA
Image by rawpixel.com on Freepik
Image by rawpixel.com on Freepik

ทำงานพาร์ตไทม์ได้ไหม?

แน่นอนว่าการเรียนต่อต่างประเทศนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมานักศึกษาไทยหลายคนจึงหาช่องทางในการทำงานหลังเลิกเรียน เพื่อเพิ่มทั้งประสบการณ์และหาเงินเพื่อช่วยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปในตัว ซึ่งความดีงามทั้งอังกฤษและอเมริกาก็คือ อนุญาตให้นักศึกษาในหลักสูตร ป.โท แบบเต็มเวลาสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • UK : ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  และ ทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในช่วงปิดเทอม
  • USA : ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ ทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ได้ในช่วงปิดเทอม แต่ขอโน้ตไว้นิดนึงว่าต้องเป็นงานที่อยู่ภายในมหา’ลัย (on campus) เท่านั้นค่ะ

Graduate Visa 
โอกาสหางานต่อหลังเรียนจบ

หลายคนที่วางแผนบินไปเรียน ป.โท มักจะสนใจเรื่องการทำงานต่อในประเทศนั้นๆ เพราะเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรม และอาจเป็นลู่ทางในการขอ PR ในอนาคตได้  ซึ่งทั้ง UK และ USA ต่างมีวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติหางานหลังเรียนจบได้ ช่วยยืดระยะเวลาออกไปช่วงนึงค่ะ  โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขจะต่างกัน ดังนี้ 

  • UK : อนุญาตให้ผู้ถือ Student Visa ระดับ ป.โท สามารถสมัคร Graduate Visa เพื่ออยู่หางานต่อได้ 2 ปี และเมื่อจบระยะวีซ่านี้แล้วสามารถสมัครวีซ่าประเภทอื่นๆ เพื่อพำนักต่อได้อีก เช่น Skilled Worker, Global Talent หรือ Innovator routes
  • USA : อนุญาตให้ผู้ถือ F Student Visa สามารถสมัครโปรแกรม Optional Practical Training (OPT) ประเภท Pre-completion OPT (ทำงานก่อนเรียนจบ) และ/หรือ Post-completion OPT (ทำงานหลังเรียนจบ) โดยแบ่งเป็น
    • กรณีเรียนจบสาขาอื่นๆ : ได้สิทธิ์ทำงานเป็นเวลา 12 เดือน
    • กรณีเรียนจบสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics): ได้รับสิทธ์ขยายเวลาทำงาน (STEM OPT Extension) เพิ่มอีก 24 เดือน (รวมเป็น 36 เดือน)

Note: ยกเว้นกรณีถ้าหากเป็นนักเรียนทุน Chevening จากรัฐบาล UK จะมีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับทุนต้องเดินทางกลับประเทศไทยและพำนักอย่างน้อย 2 ปีหลังเรียนจบ จะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานได้ค่ะ

Image by rawpixel.com on Freepik
Image by rawpixel.com on Freepik

เปิดวาร์ปแหล่งทุนเรียนต่อ

อย่างที่รู้กันว่าไม่ว่าจะอเมริกาหรืออังกฤษก็ล้วนมีค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง แต่อย่าเพิ่งนอยด์ไปค่ะ เพราะยังมีโครงการทุนหลายประเภทที่พร้อม support นักศึกษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุนจากมหาวิทยาลัย จากองค์กรต่างๆ และจากรัฐบาล สำหรับพาร์ตนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักทุนเต็มจำนวนจากรัฐบาล UK และ USA กันค่ะ!

Chevening Scholarships

  • ทุนชีฟนิ่งมอบโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีศักยภาพความเป็นผู้นำ ประวัติการศึกษา-การทำงานโดดเด่น และมุ่งสร้างการเปลี่ยนเชิงบวกให้กับโลก สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใน UK ได้
  • ความปังของทุนนี้คือเป็นทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อใช้เรียนต่อในระดับปริญญาโท แบบไม่จำกัดสาขาวิชาและจะเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ใน UK  
  • มูลค่าทุน & สิทธิประโยชน์
    • ค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน
    • ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ชั้นประหยัด
    • ค่าตั้งรกราก (Arrival allowance)
    • ค่าทำวีซ่าขาเข้า
    • เงินสนับสนุนหลังเรียนจบ (Departure allowance)
    • ค่าตรวจปอดเพื่อหาเชื้อวัณโรค (TB test) สูงสุด 75 ปอนด์ (ถ้ามี)
    • ค่าเดินทางแบบเติมเงิน (Travel top up allowance)
    • เบี้ยเลี้ยงรายเดือน ครอบคลุมค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
    • โอกาสเข้าร่วมเครือข่ายศิษย์เก่าทุนชีฟนิ่งกว่า 55,000 คน
  • ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ประมาณเดือนกันยายน - พฤศจิกายนของทุกปี
อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ทางการ

Fulbright Thai Graduate Scholarship (TGS)

  • ทุนฟุลไบร์ทเป็นทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีโควตาให้คนไทยโดยเฉพาะ
  • เปิดรับสมัครทุกสาขาวิชา ยกเว้น แพทยศาสตร์ (Medicine), ทันตแพทยศาสตร์ (Dentistry), พยาบาลศาสตร์ (Nursing) และสัตวแพทยศาสตร์ (Veterinary Medicine)
  • มูลค่าทุน & สิทธิประโยชน์
    • ทุนเต็มจำนวนในปีการศึกษาแรก มูลค่าไม่เกิน $35,500 หากยังไม่จบหลักสูตรสามารถขอทุนต่อในปีที่สองได้ไม่เกิน $17,500
    • ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน
    • ประกันสุขภาพ
    • ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
    • ได้รับวีซ่า J-1 (Exchange Visitor) สามารถฝึกงานหรือทำงานต่อได้ 9-18 เดือนหลังเรียนจบ และสามารถขอวีซ่าทำงานได้หลังกลับมาประเทศไทยแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี
  • ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ประมาณเดือนมกราคม - เมษายนของทุกปี
อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ทางการ

มัดรวมแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์

หากใครต้องการหาข้อมูลการเรียนต่อในประเทศอังกฤษและอเมริกาเพิ่ม ขอแนะนำช่องทางต่อไปนี้ค่ะ

แหล่งข้อมูลสำหรับเรียนต่อ UK

  • เว็บไซต์ UCAS (www.ucas.com) : เว็บไซต์ส่วนกลางที่ใช้สมัครเรียนต่อ และรวบรวมรายละเอียดการเรียนที่ UK ตั้งแต่ระดับ ป.ตรี-ป.เอก
  • เว็บไซต์ Discover Uni (https://discoveruni.gov.uk/)  : เว็บไซต์การศึกษาในความร่วมมือของประเทศในเครือสหราชอาณาจักร
  • FB เพจ “UK in Thailand” : เพจของสถานทูตอังกฤษ คอยอัปเดตข่าวสาร-เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ UK, รายละเอียดการขอวีซ่า และอื่นๆ
  • FB เพจ “Chevening Awards (FCDO)” : อัปเดตข่าวการรับสมัครทุนชีฟนิ่ง และข้อควรรู้ต่างๆ

แหล่งข้อมูลสำหรับเรียนต่อ USA

  • เว็บไซต์ EducationUSA (https://educationusa.state.gov/) : เว็บไซต์รวมรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อระดับปริญญาในสหรัฐอเมริกา
  • FB เพจ “EducationUSA Thailand” : แชร์ข้อมูลการเรียนต่อ, โครงการแลกเปลี่ยน, ทุนการศึกษา ฯลฯ
  • FB เพจ “Fulbright Thailand” : อัปเดตข่าวการรับสมัครทุนฟุลไบร์ทประเภทต่างๆ

……………………….

เป็นยังไงบ้างคะกับข้อแตกต่างการเรียนต่อ ป.โท ที่ 2 ประเทศสุดฮิตที่เราสรุปมาให้ในวันนี้ สำหรับใครที่เลือกได้แล้วว่าจะเป็น #ทีมอังกฤษ หรือ #ทีมอเมริกา ขอแนะนำให้เตรียมเอกสารการสมัครไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ กันนะคะ แต่หากใครยังไม่แน่ใจก็แนะนำให้ศึกษาข้อมูลจากช่องทางต่างๆ ที่เราแปะไว้และหน้าเว็บไซต์ของหลักสูตรที่อยากเรียนค่ะ

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า “แม้ความฝันนั้นจะไกลแค่ไหน แต่ก็เป็นไปได้เพียงแค่เราลงมือทำ” แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ~ 

สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D

 

Sources:https://www.youtube.com/watch?v=VP0Nabhsg6Uhttps://ielts.idp.com/thailand/about/which-test-do-i-take/academic-ukvi/th-th https://yocket.com/blog/ms-in-uk-vs-ms-in-ushttps://www.ukstudyonline.com/uk-masters-vs-us-masters/ https://www.masterstudies.com/articles/master-s-in-the-uk-vs-ushttps://www.studies-overseas.com/blogs/cost-to-study-in-usahttps://study-uk.britishcouncil.org/moving-uk/cost-studying#https://www.topuniversities.com/student-info/studying-abroad/can-you-work-part-time-us-student-visahttps://www.internationalstudents.cam.ac.uk/student-visa-responsibilities/working-student-visahttps://www.hio.harvard.edu/stem-ophttps://yocket.com/blog/intakes-in-uk-universities
พี่พลอยกี้
พี่พลอยกี้ - Columnist หนอนหนังสือ ผู้หลงรักเพลง K-POP ฝันอยากท่องโลกกว้าง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น