‘พี่ปิง’ เล่าชีวิตสุดปังฉบับเด็กเอกจีนศึกษา มธ. ได้แลกเปลี่ยน ม.ดังของจีน 1 เทอมเต็ม!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ปัจจุบัน “ประเทศจีน” ยังคงมาแรงในกลุ่มนักเรียนไทย/ผู้ปกครองที่วางแผนหาจุดหมายการเรียนให้บุตรหลาน เพราะไม่ใช่แค่ทุนเยอะและเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยดังหลายแห่ง แต่ยังเป็นโอกาสทองของการฝึกภาษาที่ทรงอิทธิพลของโลก ได้ออกสำรวจวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ด้วยตาตัวเอง และสัมผัสเทคโนโลยีกับสวัสดิการที่ถูกใช้เพื่อซัปพอร์ตคุณภาพชีวิตของประชากรเต็มที่

แต่หากใครยังไม่พร้อมจะไปเรียน ป.ตรี แบบยิงยาว  ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในไทยและจีนหลายแห่งที่ทำ MOU ร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือเอกจีนศึกษา ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ (Pridi Banomyong International College, Thammasat University หรือ PBIC TU) นั่นเองค่ะ โดยเด็กเอกจีนของ PBIC TU จะต้องไปแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 1 เทอมที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในประเทศจีนด้วยค่ะ

และวันนี้เรามีรีวิวจาก "พี่ปิง" ศิษย์เก่าเด็กเอกจีนศึกษา PBIC TU ที่แชร์ให้ฟังว่าได้เรียนประมาณไหน ตอบโจทย์เรามั้ย และประสบการณ์แลกเปลี่ยนให้อะไรกับเราบ้าง ฯลฯ พร้อมแล้วมาเก็บข้อมูลกันเลยค่า

Note: อ่านจบอยากปรึกษาตัวต่อตัวกับ “พี่ปิง” เกี่ยวกับหลักสูตร PBIC TU, โอกาสแลกเปลี่ยน, เรียนต่อ, ขอทุนไปเรียนจีน, การใช้ชีวิตในเมืองต่างๆ ฯลฯ ลิสต์คำถามไว้ แล้วเตรียมมาพบกันที่งานแฟร์ฟรี Dek-D’s Study Abroad Fair วันเสาร์ที่ 27 และอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024 ณ ไบเทคบางนา (ฮอลล์ EH98) หนึ่งในไฮไลต์ของพวกเราคือ “บูธปรึกษารุ่นพี่ต่อนอก” รวม 16 รุ่นพี่ดีกรีปังจากหลายประเทศมาให้ปรึกษา 1:1 และ "พี่ปิง" ก็ให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาในวันที่  28 เมษายน 2024 ด้วยค่ะ
 

และพิเศษมากๆ สำหรับทีมจีน รอบนี้เราได้เชิญ “พี่อู๋” นักเรียนแพทย์จีน ม.ฟู่ตั้น  และ "พี่ต้นหลิว" รุ่นพี่ทุนรัฐบาลจีน (CSC) เรียนต่อ ม.ชิงหวา มาด้วยเช่นกัน มาครั้งเดียวได้คุยครบ ฟังหลายแง่มุม ใครอยากเป็นทีมจีนห้ามพลาดค่ะ!

เริ่มเรียนจีนแบบไม่ตั้งใจ แต่พอใช่ก็ไปยาวๆ

เล่าก่อนว่าตอนแรกพี่ไม่ได้สนใจภาษาจีน แต่ครอบครัวอยากให้เรียน และอากงจะดีใจมากถ้าลูกหลานพูดจีนได้ เขาไม่ได้บังคับ แต่พี่ก็ตัดสินใจลองเรียนดูแบบงงๆ มีอาแปะมาช่วยสอนครับ 555 แล้วพอไปๆ มาๆ รู้สึกตัวเองจำได้ เขียนได้ สมองรับ ก็เลยเรียนต่อจนอายุ 12 และเข้า ม.ปลาย สายศิลป์-ภาษา Intensive English and Chinese รร.โพธิสารพิทยากร ระหว่างเรียน อาจารย์ก็เคยส่งพี่ไปแข่งความรู้ทั่วไปประเทศจีนและได้รางวัลกลับมา ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าหัวเราไปทางนี้ได้ จากนั้นก็มุ่งตรงสมัครโปรแกรม PBIC TU : Chinese Studies เลยครับ 

สรุปจุดเด่นคร่าวๆ ของเอกจีนศึกษาที่ PBIC TU

  • โปรแกรมสองภาษา (English-Chinese) สอนโดยอาจารย์ชาวจีน หรืออาจารย์คนไทยที่จบ ม.ชั้นนำของประเทศจีน
     
  • เรียนเชิงค้นคว้า วิเคราะห์-ทำความเข้าใจจีนแบบรอบด้าน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง ทักษะการสื่อสาร ประวัติศาสตร์ มารยาทการทำธุรกิจ หลักปรัชญา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ  ตอบโจทย์พี่ที่ไม่ได้อยากลงลึกภาษาเพื่อเป็นนักอักษรศาสตร์ แต่อยากเอาดีด้าน General Knowledge
     
  • โปรแกรมจะกำหนดให้นักศึกษาไปแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 1 เทอมที่มหาวิทยาลัยที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งก็คือช่วงปี 3 เทอม 2 ครับ ประเด็นคือจีนมีมหา’ลัยเป็นพันแห่ง แต่ PBIC TU เด่นเรื่อง Connection มีจับมือกับ ม.ระดับ Top5 เช่น Peking University (ม.ปักกิ่ง หรือ เป่ยต้า) อันดับ 1 ของจีน หรือ Fudan University (ม.ฟู่ตั้น) อันดับ 3 ของจีน

    ช่วงก่อนแลกเปลี่ยน มหา’ลัยจะคาดหวังว่าทุกคนมีคะแนน HSK 5 ในมือแล้ว เขาจะมีโควตามาให้เราเลือกสมัครและยื่นเอกสาร ถ้าปลายทางตอบรับก็จะได้ไปแลกเปลี่ยนครับ ตอนนั้นพี่ก็เลือกเป็น ม.ฟู่ตั้น เพราะชื่อเสียงดี และยังตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ซึ่งจัดว่าเป็นเมืองที่ทันสมัยที่สุดในประเทศจีน
Photo by Li Yang on Unsplash.com
Photo by Li Yang on Unsplash.com

คิดว่าภาษาเราไหวมาตลอด 
จนกระทั่งไปแลกเปลี่ยนที่จีน

อย่างที่บอกพี่คือพี่สมัครแล้วได้ไปแลกเปลี่ยน 1 เทอม (ประมาณ 4-5 เดือน) ม.ฟู่ตั้น นับเป็นมหา’ลัยที่การแข่งขันสูงมากแม้กระทั่งในกลุ่มนักเรียนจีนเอง ถ้าเป็นชาวต่างชาติอาจจะมีเกณฑ์เบาลงมาหน่อย แต่กำหนดคะแนนภาษาขั้นต่ำ HSK 4 หรือควรจะ 5 ด้วยซ้ำ คะแนนยิ่งสูงประวัติเรายิ่งเด่น เพิ่มโอกาสให้ได้รับเลือก

Handan Campus
Handan Campus

ตอนอยู่ไทยเรียนภาษาจีน พี่ก็คิดว่าไหวมาตลอด จนกระทั่งไปเจอของจริงครับ ทุกอย่างใหม่หมดสำหรับพี่ที่เพิ่งเคยไปจีนครั้งแรก เขาพูดรัวใส่เราในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เราเจอ Culture Shock ลิ้นแข็ง ไม่กล้าคุย กลัวพูดผิด (อยากบอกทุกคนว่าจริงๆ แค่ต่างชาติพูดได้นิดหน่อยเขาก็ชื่นชมแล้ว บางคนบอกว่าภาษาคุณเป๊ะ แต่แค่ไม่กล้าใช้มันแบบมั่นใจเฉยๆ)

แล้วพอเข้าคลาสอาจารย์ให้หนังสือมาเล่มนึง โหตาลายยยย ช็อกอยู่แหละ เนื้อหาเยอะมากกกกก บางทีเราอ่านไม่ครบไม่หมดเล่มด้วยซ้ำครับ แต่ดีที่อาจารย์เขาสรุปเนื้อหาใส่สไลด์มาสอนเราอีกที เราสามารถดูตามเป็นประเด็นๆ ได้ 

พี่คิดว่าตัวหนังสือจีนคือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนยอมแพ้กับการเรียนภาษานี้ แนะนำให้ลองเปิดใจก่อน กับการเรียนภาษาจีน มองที่ประโยชน์ของมันในการเอาไปต่อยอดในอนาคต โดยเริ่มจากการฝึกจำคำศัพท์ และ อ่านประโยค บทความภาษาจีน ให้คล่องปาก ก็จะช่วยให้เราเริ่มสื่อสารได้แล้ว และ หลังจากนั้นก็เริ่มเตรียมสอบ HSK 3, 4, 5 ซึ่ง 3 ระดับนี้จะเป็นพื้นฐานของการเรียนต่อ และ ทำงานในอนาคตเลยครับ ที่จะการันตีว่าเรามีพื้นฐานภาษาจีนมาดีเพียงพอด้วย

ส่วนการพูดภาษาจีน สำหรับพี่คิดว่าทุกภาษามีความยากหมด เพราะเราต้องปรับสภาพลิ้นให้คล่องกับการออกเสียงภาษานั้นๆ และจะยิ่งยากถ้าเกิดเสียงนั้นไม่มีในภาษาแม่ แต่พอมาเรียนจริงพี่กลับไม่ได้รู้สึกยากขนาดนั้น ถ้าจับจุดว่าหลักการคืออะไร แล้วไปโฟกัส จะพบว่าพอเทียบเคียงกับการออกเสียงในภาษาไทยได้

Cr. ECITutor
Cr. ECITutor

การไปแลกเปลี่ยน ≠ การปูพื้นฐานภาษา

จุดประสงค์คืออยากให้เรานำความรู้ช่วงปี 1-3 ไปลงภาคสนามในสังคมที่รายล้อมด้วยคนจีน ลองเข้าใกล้ไปสัมผัสประเทศจีนให้ลึกซึ้งขึ้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด และลองมองหาลู่ทางว่าความรู้ที่มี จะใช้กับการทำงานหลังเรียนจบได้ยังไงบ้าง เมื่อไปถึงเราจะได้เรียนคลาสแยกสำหรับเด็กเอกจีนศึกษา PBIC TU โดยเฉพาะ ซึ่ง 5-6 วิชาเทอมนั้นไม่ใช่การปูพื้นฐานแล้ว แต่จะได้เรียนลึกด้านต่างๆ เช่น

  • ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและนานาชาติ เช่น จีนกับไต้หวัน, อเมริกา, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เราจะได้เข้าใจภาพกว้างๆ ถ้าสนใจก็ค้นคว้าเพิ่มนอกรอบ อาจจะอ่านเองหรือต่อ ป.โท ก็ได้
     
  • การค้าและการลงทุน เรื่องนี้จีนเด่นสุดๆ เราจะได้เรียนเชิงข้อกำหนดกฎหมาย สิ่งที่ต้องคำนวณ กรณีศึกษา ฯลฯ มีเรียนคิดเลขแบบภาษาจีนด้วย อาจจะลำบากตรงที่ต้องคิดสองต่อ (แปลโจทย์ -> คิดเลข)  แต่พี่ว่าถ้ามีความรู้เรื่องนี้ติดตัวไว้ จะเป็นประโยชน์กับเราในระยะยาวเลยครับ
     
  • การพูดในที่สาธารณะ ตอนอยู่ไทยเราจะได้เรียนใน Textbook แต่พอมาที่จีน เราได้สื่อสารและโต้วาที (Debate) กันในคลาส เช่น จากประเด็นด้านวัฒนธรรมเรื่องนี้ คุณคิดเห็นอย่างไร? เห็นด้วยไหม? แบ่งกันพูดกับเพื่อนเป็นภาษาจีนทั้งหมด เป็นประโยชน์มากกกเพราะจะได้เข้าใจภาษาเต็มที่ ฝึกการฟังแล้วตอบกลับได้ทันที
Cr. ECITutor
Cr. ECITutor

เรียนกับเพื่อนคนไทย 
ได้บัดดี้ชาวต่างชาติที่คาดไม่ถึง

เด็กแลกเปลี่ยนมีโอกาสแค่เทอมเดียว พี่เลยตั้งใจว่า 4-5 เดือนนี้พี่จะเข้าหาเพื่อนคนจีนให้มากที่สุด พยายามเข้าร่วมกิจกรรมที่เขาจัดสำหรับนักศึกษาต่างชาติครับ เช่น เล่นบาสเกตบอลหลังเลิกเรียนกับคนจีนและเพื่อนต่างชาติ หรือไปทำกิจกรรมก็ได้บัดดี้คนแรกเป็นชาวอุยกูร์ (Uyghurs) เขาสอนภาษาจีนให้พี่ ส่วนพี่สอนภาษาอังกฤษให้เขา การพูดคุยทำให้เราได้เปิดโลกไปอีกกว้างมาก ไม่ใช่โอกาสที่จะเจอได้ง่ายๆ เลยครับ

ส่วนบัดดี้คนที่ 2 พี่ได้เพื่อนคนจีน ทุกวันนี้ยังรู้สึกขอบคุณและประทับใจอยู่เลยครับ ตอนนั้นพี่ป่วย เขาอาสาพาไปโรงพยาบาล ช่วยคุยกับหมอ เป็นล่ามให้ ซื้อโจ๊กให้ ฯลฯ เพิ่งรู้จักกันแต่เขาใจดีเหมือนเป็นพี่สาวคนนึง วันที่บินกลับเขาก็มาส่งที่สนามบินด้วย

Note: ค่าเรียนโปรแกรม PBIC TU ตีคร่าวๆ 570,000 บาท ตอนเรียนอยู่ไทยเทอมละ 60,000 บาท แต่เทอมแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับมหา’ลัยที่เราไป อย่างของ ม.ฟู่ตั้น ค่าเรียนกับค่าที่พักรวมกันประมาณ 150,000 บาท

#รีวิวประเทศจีน #รีวิวเซี่ยงไฮ้
จากประสบการณ์ส่วนตัว

  • จีนเป็นประเทศที่การแข่งขันสูง ด้วยจำนวนประชากรที่เยอะมาก ทำให้เขาต้องยิ่งพยายามรักษาสิทธิ์ของตัวเอง เช่น เบียดกันขึ้นรถเมล์ รถไฟใต้ดิน เดินชนตัวกันเป็นเรื่องปกติ พี่ไปจีนแล้วก็ค้นพบว่า ถ้าใช้ระดับเสียงปกติของคนไทยเขาจะไม่ค่อยได้ยินจริงๆ นะ เสียงไม่ถึง ต้องเพิ่ม volumn ถึงขั้นตะโกน หรือถ้าจะยกมือเงียบๆ ก็อาจไม่เห็นเพราะโดนคนบังหมด เลยพอเข้าใจว่าทำไมนักท่องเที่ยวจีนมาไทยแล้วแสดงสิ่งที่ดูปกติในบ้านเขา แต่อาจจะลบสำหรับสังคมบ้านเรา
     
  • จากที่ไปเที่ยวมาหลายที่มากๆ ถ้าพูดถึงการเข้าถึงข่าวสาร เทคโนโลยีและวิถีชีวิตคนเมืองใหญ่ (เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฯลฯ) เราจะค่อนข้างสบายใจได้ว่าเขาทันสมัย ถึงแม้ Facebook จะถูกปิดกั้นในประเทศจีน แต่ก็มีช่องทางให้คนจีนรับรู้ได้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับโลก มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ
     
  • เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่ กฎระเบียบเข้มงวด หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องน้ำ หลายๆ คนคงเคยได้ยินและกังวลเรื่องห้องน้ำที่จีนมาก่อน จริงๆ อยากบอกว่า มันดีขึ้นกว่าในอดีตเยอะจนไม่ต้องกังวลเลยครับ เช่น สร้างเป็นชักโครก มีติดแอร์ ฯลฯ ส่วนเรื่องความสะอาดพี่ว่าดีขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่คุมยากเพราะประชากรเยอะ
Photo by Denys Nevozhai on Unsplash
Photo by Denys Nevozhai on Unsplash
  • ระบบขนส่งสาธารณะดีมากกก เดินทางสะดวกแน่นอนครับ อย่างรถเมล์ รถไฟใต้ดิน ก็มีสถานีเยอะและครอบคลุมมาก ต่างจังหวัดอาจไม่มากเท่าแต่ก็มี แล้วตอนนั่งรถไปต่างเมืองแถบชนบทหน่อย เราก็จะได้เห็นบรรยากาศที่ต่าง ความเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่อาจหาไม่ได้ในเมืองใหญ่ // สำหรับคนชอบเที่ยว การเดินทางข้ามเมืองที่นี่ง่ายเพราะมีรถไฟความเร็วสูง เผลอๆ ค่าเดินทางยังถูกกว่าเครื่องบินอีกนะครับ
     
  • สำเนียงคนจีนหลากหลาย เล่ากว้างๆ ว่าถ้าเป็นคนจีนทางเหนือ เช่น ปักกิ่ง จะใช้ภาษาจีนมาตรฐาน (Standard) จัดว่าสำเนียงเพราะที่สุด ราชการจะกำหนดให้เรียนและใช้ทั่วไป ส่วนคนทางใต้อาจเป็นสำเนียงที่ฟังแล้วจะคล้ายๆ เวลาคนไทยออกเสียง จะเล็กน้อย

พาเที่ยวจีนนนน~

ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนต่อประเทศจีน

การให้ทุนคือหนึ่งในวิธีส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลจีน ส่วนมากเป็นระดับมหาวิทยาลัย เช่น ทุนรัฐบาลจีน (CSC), ทุนขงจื่อ (CIS), ทุนมณฑล, ทุนเมือง ฯลฯ 

พี่คิดว่าคนไทยจะได้ยิน CSC บ่อยสุด เพราะเลือกคณะได้หลากหลาย ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนทั้งค่าเรียน ค่ากิน ค่าที่พัก ค่าดำเนินการต่างๆ และค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่อาจจะยากตรงที่คะแนน HSK ต้องผ่าน และให้เวลาเยอะกับการเขียน Study Plan และเตรียมสัมภาษณ์ให้ดีครับ ในขณะที่ทุน CIS เน้นภาษาและการสอนภาษาจีนให้ชาวต่างชาติ มีตั้งแต่ระยะสั้น 1-2 เทอม ไปจนถึงหลักสูตรปริญญา แต่ถึงขอบเขตแคบลง การจะได้ทุนนี้ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

ช่วงปิดท้าย ชวนพี่ปิงขายของ~

ตอนนี้พี่ปิงดูแลช่องทาง ECITutor กับเพจ CZ Society (Angbao Society เก่า) แต่ช่วงหลังๆ พอ FB ปิดกั้นมากๆ พี่ก็เริ่มย้ายบ้านไป TikTok แล้วครับ 555 ในช่องจะมีทำสื่อแนะนำ PBIC TU กับสอนภาษาจีนไว้ มีตารางติวผ่าน LIVE สด หรือถ้าชอบฟังก็จะเป็น ECI PODCAST น้องๆ ที่สนใจลองเข้าไปเที่ยวก่อนที่ https://openlink.co/ecinspiration ถ้าสนใจกดติดตามกันได้นะครับบ ขอบคุณคร้าบบ :D

YouTube: CZ.Society
YouTube: CZ.Society

ตัวอย่างคลิป

 คณะ PBIC TU จีนศึกษา เรียนอะไร น่าสนใจยังไง ต้องมาดู!!

https://vt.tiktok.com/ZSL7BS9Ln/ 

[University] 4 ปี ที่ คณะ PBIC TU จีนศึกษา เรียนอะไร น่าสนใจยังไง ต้องมาดู!!

https://vt.tiktok.com/ZSL7BLGon/ 

(PBIC 66-67) เทคนิคการเตรียมสอบเข้า PBIC สำหรับ เด็ก 66 / 67 ทั้ง Portfolio / Interview / Writing

https://www.ecinspiration.com/article/pbic-technique-how-to-be-ready-all-parts

 

เข้าสู่เว็บไซต์ PBIC TUเฟซบุ๊กแฟนเพจ PBIC TU

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

You're Invited!
พูดคุยกับ "พี่ปิง" ได้ที่งานแฟร์ต่อนอก
พิกัดไบเทคบางนา  27-28 เมษายน 2567

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่ปิง" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น