เรียนที่ออสมันยอดมาก! ‘พี่ฟรองซ์’ รีวิวครบทั้งคอร์สภาษา → Diploma → ป.ตรี U. of Canberra → ป.โท UTS Sydney

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครอยากเรียน “ออสเตรเลีย” บ้าง? ถ้าเกิดมีการจัดอันดับประเทศที่คนอยากไปเรียนมากที่สุด ประเทศนี้แทบไม่หลุดจาก Top 10 โพลไหนเลย ทั้งข้อดีเรื่องคุณภาพการศึกษา อากาศที่บริสุทธิ์แบบสูดได้สดชื่นเต็มปอด ความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม แม้แต่สภาพแวดล้อมและระบบการจัดการยังเอื้อให้เราเรียนและใช้ชีวิตได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมด้วย

และวันก่อนเราได้ติดต่อ “พี่ฟรองซ์ – ปาณิสรา สุทธิกาญจนวงศ์” เจ้าของช่อง PNSR CHANNEL มาแชร์ประสบการณ์เรียนออสเตรเลียมาหลายปี ตั้งแต่คอร์สภาษาจนถึงปริญญาโทมหาวิทยาลัยดัง ตั้งแต่

  • คอร์สภาษาอังกฤษของ University of Canberra (1 ปี)
  • อนุปริญญา หรือ University of Canberra College (1 ปี)
  • ป.ตรี Communication and Media (Journalism) ที่ University of Canberra (2 ปี)
  • ป.โท Strategic Communication ที่ UTS Business School ของ University of Technology Sydney หรือ UTS Sydney (1 ปีครึ่ง)

อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ “พี่ฟรองซ์" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่ฟรองซ์จะมาในวันที่ 28 เม.ย. 67)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

ตามมาเริ่มพาร์ตแรกกันเลยค่ะ

ทักทายผู้อ่านกันก่อน~

Hellooooo  สวัสดีค่า “ฟรองซ์” นะคะ จบ ม.6 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์แล้วตัดสินใจไปเรียนต่อออสเตรเลีย เพราะอยากฝึกภาษาอังกฤษจริงจังค่ะ ตอนนั้นคุณอาแนะนำว่าที่นี่ใช้เวลาเดินทางแค่ 8 ชั่วโมงจากไทย เขตเวลาก็ไม่ต่างกันมาก (เวลาที่ออสเร็วกว่าไทยประมาณ 4 ชั่วโมง) แล้วเขาก็แนะนำว่าถ้าเกิดอยากฝึกภาษา “เมืองแคนเบอร์รา” (Canberra) เหมาะมากเพราะไม่ค่อยมีคนไทย 

รีวิวคลาสภาษาอังกฤษที่ UC

เราสามารถเลือกเทกคอร์สของ สถาบันภาษา หรือ มหาวิทยาลัย ก็ได้ค่ะ ตอนนั้นฟรองซ์สมัครผ่านเอเจนซี บินไปตั้งแต่ปี 2016 เรียนคอร์สของ University of Canberra (หลังจากนี้จะขอเรียกย่อว่า “UC” นะคะ) พอไปถึงก็ได้สอบวัดระดับก่อนเพื่อแยกเข้าคลาสที่เหมาะกับระดับของแต่ละคน ด้วยความที่อยากให้พื้นฐานภาษาแน่นๆ ก็เลยเรียนไป 1 ปี คอร์สนึงเรียน 10 สัปดาห์​ 

เรื่องการปรับตัว เป็นอย่างที่เค้าบอกเลยค่ะว่าคนไทยน้อยจริงงง 3 เดือนแรกไม่เจอเลย แต่คนจีนเยอะจนเหมือนเราได้ซึมซับมานิดนึง ไม่ต้องปรับตัวเยอะเพราะวัฒนธรรมใกล้ๆ กัน ช่วงแรกๆ เรายังไม่รู้ที่ทางเท่าไหร่ ยังไม่รู้ว่าคนที่นี่ใช้ชีวิตยังไงบ้าง พักกับโฮสต์ไป 7-8 เดือนจนชิน แล้วถึงย้ายออกมาอยู่คนเดียวในหอที่ UC

พอจบคอร์สภาษา ฟรองซ์ไปสมัครเรียน Diploma of Communication ต่อ 1 ปี เป็นโปรแกรม Pathway to University เพื่อเรียนต่อ ป.ตรี Bachelor of Communication and Media (Journalism) ที่มหา’ลัยนี้ค่ะ ถ้าจบ Diploma ตามที่เขากำหนด จะสามารถ waive ป.ตรี ปีแรก = ไปเริ่มป.ตรี ปี 2 ได้เลยค่ะ

https://www.canberra.edu.au/course/951AA/6/2024
https://www.canberra.edu.au/course/951AA/6/2024 
ค่าเรียน Diploma ของ UC (อัปเดต ก.พ.2024)
ค่าเรียน Diploma ของ UC (อัปเดต ก.พ.2024)
https://www.canberra.edu.au/uc-college/courses/course-fees 
Guide Book ปี 2024

รีวิวเรียน The Diploma of Communication ที่ University Of Canberra College (UCC)

  • ข้อดี การเรียน Diploma เป็นอีก Pathway ที่ใช้ยื่นสมัครต่อ ป.ตรีได้ (แต่ละหลักสูตรจะมีกำหนดว่าต้องมีวุฒิ Diploma ไหนถึงสมัครได้) และข้อดีคือช่วยให้นักเรียนเอเชียปรับตัวกับวิธีเรียน กล้าใช้ภาษาอังกฤษขึ้น เพราะถ้าขึ้น ป.ตรี จะสอนเร็วและยากกว่าพอสมควร
     
  • ฟรองซ์เลือกเรียน Diploma of Communication เกณฑ์ปัจจุบันคือใช้คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS ขั้นต่ำ 5.5 และทุกสกิลต้องห้ามต่ำกว่า 5.5
     
  • ระบบลงทะเบียนเหมือนมหา’ลัย ต้องวางแผนจัดตารางและลงเรียนเอง โดย UC กำหนดว่า 1 ปีต้องเรียนครบ 8 Units (ฟรองซ์เรียน 2 เทอม เทอมละ 4 Units) นักเรียนต่อห้องไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนต่างชาติ และมีโอกาสเจอคนออสซี่ด้วย
     
  • รูปแบบการเรียนใกล้เคียง ป.ตรี ผสมผสานระหว่าง Lecture, Tutorials กับ Workshop (ป.ตรี จะมี Seminar เพิ่มเข้ามา) เนื้อหาค่อนข้างเบสิกและง่ายกว่าเยอะมาก เช่น ถ้าข่าวแบบนี้จะเขียนวิเคราะห์ยังไง สอนทฤษฎี จับกลุ่มทำงาน ฯลฯ

อธิบายการเรียนแต่ละแบบ

  • Lecture มีทุกวิชา อาจารย์บรรยายในฮอลล์ใหญ่ นักเรียนจะมากหรือน้อยแล้วแต่รุ่นและความเฉพาะเจาะจงของสาขา
  • Tutorials ห้องละประมาณ 10-15 คน ทำกิจกรรม เช่น วิเคราะห์ Scenario
  • Workshop มีแค่บางวิชา คล้าย Tutorials แต่ฝึกปฏิบัติและเน้นการมีส่วนร่วม

รีวิว ป.ตรี Communication and Media (Journalism) ที่ University of Canberra

UC
UC

เรียนเน้นปฏิบัติ 

การเรียน ป.ตรี ที่เราเจอทั้งยาก เข้มข้น อาจารย์สอนไปเร็วกว่าตอน Diploma (มากกกก) และจะมีคลาสที่เป็น Seminar เพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งถ้าเกิดไม่เตรียมทำความเข้าใจเนื้อหามาก่อน เรียนในคลาสไม่รู้เรื่องแน่นอน แล้วก็จะทบสะสมไปเรื่อยๆ เครียดกว่าเดิมอีกค่ะ

ตอนนั้นฟรองซ์เลยเปิด Course Syllabus ดูว่าคาบไหนเรียนอะไร สอนวีคไหน การบ้านมีอะไรบ้าง ฯลฯ เหนื่อยแต่คุ้มกว่า เพราะถ้าเรียนแล้วเข้าใจ ตามคนอื่นทัน มันสนุกกว่าอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเพื่อนทุกคนมีประสบการณ์สายข่าวมาก่อน มีความแอคทีฟอยู่ในสายเลือด อาจารย์เปิดประเด็นขึ้นมา คนนี้พูด คนนั้นแชร์อีกมุม แต่ละคนมองเรื่องนี้ยังไงกันบ้าง ฯลฯ เราได้ฟังความคิดจากคนที่มีหลาย background แล้วเราก็ได้แชร์เรื่องในประเทศตัวเองด้วย

Note: ที่นี่มีให้ทำ “Peer-reviewed” สมมติทำงานกลุ่ม 5 คน เราต้องประเมินว่าจะให้เพื่อนแต่ละคนเท่าไหร่บ้าง เขียนเหตุผลได้เต็มที่เลยนะ แล้วส่วนนั้นจะถูกนำมาคิดเป็นคะแนนจริง (คะแนนรวมของทุกคนคือความลับ) บางครั้งอาจารย์อาจจะมาแนะนำแนวทางการปรับจุดที่เราสามารถพัฒนาอีกได้

ปลุกจิตวิญญาณและสกิลนักข่าว

การเรียนนิเทศฯ คะแนนมักจะมาจาก Assignments หรือ Projects บางวิชาอาจมีคะแนนสอบแค่ 10% ซึ่งเราชอบการเรียนแบบ Practical แบบนี้มาก!

แน่นอนเราจะได้เรียนการนำเสนอข่าวสายต่างๆ เช่น การเมือง, เศรษฐกิจ, กีฬา ฯลฯ (อาจาย์บางคนเป็นนักข่าวสายนั้นจริงๆ) สมมติมีการเลือกตั้งในเมือง เขาก็เชิญ ส.ส. มาหาเสียง หรือ วิชากฎหมายที่ให้เราเข้าไปฟังการพิจารณาคดีของศาลจริงๆ แล้วเราก็ต้องกลับมาเขียนรายงานข่าวค่ะ

หรืออย่างในวิชานึงที่ต้นคาบอาจารย​์ให้กระดาษเปล่าแล้วถามว่า “ตอนนี้โลกเรากำลังมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น?” ทำให้เราติดนิสัยดูข่าวตอนเช้าทุกวันเพื่ออัปเดตสถานการณ์ และจะให้ Assignments ที่เปิดกว้าง ตีความได้ไม่มีถูกผิดและไม่มีสอบ เช่น มีงานนึงฟรองซ์ทำหัวข้อ Living on the street ได้ไปสัมภาษณ์คนไร้บ้าน (Homeless) ที่อาศัยตามถนนจริงๆ

ขอเล่าว่ามีคาบที่ฟรองซ์ได้หยิบยกเหตุการณ์ประท้วงเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2022 “What Happened In Thailand” (แฮ็ชแท็ก #WhathappenedInThailand) มาพรีเซนต์ในคลาสด้วย เพราะอยากใช้โอกาสที่อยู่ต่างประเทศ เล่าให้คนภายนอกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา จำได้ว่าใส่อารมณ์เต็มสตรีม อาจารย์ถึงกับชมเลยว่าพรีเซนต์ครั้งนั้นทำได้ดีมาก

อีกวิชาที่รู้สึกทำได้ดีมากคือมหา’ลัยจะมี co กับบริษัทในแคนเบอร์รา สอนทำ CV, Resume, Portfolio ยื่นสมัครจริง ถ้าสัมภาษณ์แล้วถูกตาต้องใจเขาก็อาจชวนเราเข้าทำงานจริงค่ะ

เกือบทุกคณะต้องเรียน “กฎหมาย”

ที่นี่จะให้ความสำคัญกับกฎหมายค่ะ เขามองว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง ดังนั้นเกือบทุกคณะที่ UC เขาจะบังคับเรียนวิชากฎหมาย อย่างมาเทอมแรกฟรองซ์ก็เจอเลย วิชา “Law of Communication” เน้นท่องจำและปรับใช้จริง เช่น เรื่องลิขสิทธิ์, PDPA, ขอบเขตการทำข่าว ฯลฯ โหหเอาจริงนะ เครียดสุดในชีวิต เครียดจนเก็บไปฝัน เพราะมีศัพท์เฉพาะทางเยอะ แปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทยแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ท้อมากจนดาวน์ไปช่วงนึง แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้

ที่น่าสนใจคือวิชานี้จะมีเหมือนทัศนศึกษาเล็กๆ ให้ไป ศาล (Court) นั่งฟังการพิจารณาคดีจริงแบบสดๆ เราจะพกเข้าไปได้แค่กระดาษกับปากกานะคะ จากนั้นก็กลับมาเขียนรายงานข่าว // จำได้ว่าครั้งแรกที่ไปศาล ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากกก เขาพูดอะไรกันเนี่ย ฟังไม่รู้เรื่องเลยยย~ เพื่อนๆ เขาไปกันรอบเดียวจบ แต่ฟรองซ์ไปมา 3 รอบ จนกว่าจะรู้สึกว่าเราได้เนื้อที่จะมาเขียนข่าวได้มากพอแล้วถึงจะเลือกเขียนข่าวคดีนั้นส่งอาจารย์

ปกติ ป.ตรีที่ออสเรียน 3 ปี
แต่เลือกเรียนเกียรตินิยม 4 ปีได้

คนที่ถือวีซ่านักเรียนต่างชาติต้องลงเรียนแบบ Full-time เท่านั้น ปกติหลักสูตร ป.ตรี ที่ออสเตรเลียเรียน 3 ปี แต่จะมีอีกทางเลือกนึงคือ เรียนแบบเกียรตินิยม (4 ปี) ถ้าเกิดคะแนนถึงเราสามารถเลือกได้ตั้งแต่สมัครเรียนตอนแรก หรือ ถ้าไม่ได้ลงไว้แล้วอาจารย์เห็นแววว่าเราไปต่อได้ เขาจะมาคุยและเสนอให้เรียนต่อเป็นปีเกียรตินิยม

เช่น ฟรองซ์เคยได้รับการนำเสนอจากอาจารย์ตอนที่พรีเซนต์ #WhatHappenedInThailand ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่เรียนต่ออีกปี เพราะได้งานที่ SBS Thai และเจอหลักสูตร ป.โท ที่สนใจพอดีค่ะ

หน้าหลักสูตร Comm. & Media (2024)

เรียนพร้อมทำงานเป็นประธานชมรม

ช่วงที่สนุกสุดคือตอนทำกิจกรรม ฟรองซ์เป็นประธานนักเรียน Thai Student Club of University of Canberra จริงๆ เป็นคนที่ทำกับข้าวไม่ได้ รำไม่ได้ แต่อยู่ๆ ก็ปลดล็อกสกิลเฉย เพราะต้องทำมาชาเย็นกับผัดไทขายวันที่มหา’ลัยเขาจัด Market Day หาเงินเข้าชมรมค่ะ 5555

แล้วทีนี้จะมีบางอีเวนต์ต้องไป join กับคนชมรมอื่น เช่น Japan Club, Malaysian Club ฯลฯ เราได้นำเสนอวัฒนธรรมประเทศตัวเอง ตอนนั้นก็เลยเปิดยูทูบแล้วฝึกรำซะเลยสิคะ!

แล้วหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเมืองหลวงของออสเตรเลียคือ “แคนเบอร์รา” นะไม่ใช่ซิดนีย์หรือเมลเบิร์นแต่อย่างใด ซึ่งแคนเบอร์ราก็คือแหล่งรวมสถานทูตประเทศต่างๆ ด้วย บางครั้งเขาจะเชิญเด็กชมรม Thai Club ไปร่วมงาน ฟรองซ์เลยมีโอกาสพูดคุยกับท่านทูต และคนอื่นๆ เช่น รุ่นพี่ที่อยู่เมืองนี้มานาน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ฯลฯ เปิดหูเปิดตามากกอ่ะ ปลดล็อกสกิลใหม่แล้วได้รู้จักคนเยอะแบบคิดไม่ถึงเลยค่ะ

ข้อมูลหลักสูตร ป.ตรี Journalism

To get a job at SBS Thai!

พอจบ ป.ตรี ตอนแรกฟรองซ์ยังลังเลว่าจะยังไงต่อดี เลยส่งอีเมลปรึกษาอาจารย์ว่า ถ้าอยากทำงานสายข่าว เด็กอินเตอร์พอจะมีโอกาสหางานทำที่ออสได้ไหม หรือควรย้ายเมือง อาจารย์ก็บอกว่าซิดนีย์โอกาสจะดีกว่า แล้วแนะนำมหา’ลัยเผื่อจะต่อ ป.โท ด้วย เพราะสายนักข่าวการแข่งขันสูงมากจริงๆ แม้กระทั่งคนออสซี่ก็แข่งขันกันเองเดือด ฉะนั้นถ้าลองไปสาย Communcation พวก PR, Marketing โอกาสหางานจะมีมากกว่า 

ต่อมาฟรองซ์ได้งานที่ Special Broadcasting Service ของสำนักข่าว SBS Thai (ออสเตรเลีย) ซึ่งก็คือผู้รายงานข่าวทาง Podcast เป็นงานฟรีแลนซ์ พร้อมกับเรียน ป.โทที่ UTS ไปด้วยค่ะ มีลงคลิปเบื้องหลังการทำงานไว้ด้านล่างนี้ค่ะ

สมัครเรียนต่อ ป.โท UTS Business School

หลังจากจบ ป.ตรี และได้งาน ฟรองซ์ก็มีทั้งใบจบและประสบการณ์ไว้พร้อมสมัคร ป.โทได้แล้วค่ะ วิธีคร่าวๆ คือเลือกคณะ -> มหาวิทยาลัย -> เช็กเกณฑ์การรับสมัคร -> ดูวิธีการสมัคร -> สมัครตรงในระบบของมหาวิทยาลัยที่สนใจได้เลย

ตอนนั้นสนใจ ป.โท Master of Strategic Communication เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์กับงานสายเราแน่นอน สุดท้ายก็ยื่นและติดที่ University of Technology Sydney (UTS) เป็นหลักสูตร 1 ปีครึ่ง และได้ทุนส่วนลด 3,000 AUD (ตอนนั้นประมาณ 75,000 บาท) เหลือจ่ายเพิ่มอีก 5,500 AUD กับอีกส่วนเราที่ต้องจ่ายคือค่าใช้อุปกรณ์ของมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า SSAF (Student Services and Amenities Fee) ประมาณ 200-300 AUD แต่แอบเสียดายตรงที่ฟรองซ์เจอช่วงโควิด-19 เรียนที่บ้านค่ะ TT

UTS: University of Technology Sydney
UTS: University of Technology Sydney 

ถ้าเป็นสาขาฟรองซ์จะเน้นประสบการณ์ ตอนนั้นเลยทำ Portfolio แบบออนไลน์ส่งไปด้วย ไม่ได้บังคับส่งแต่คิดว่าจะเป็นผลดีกับการสมัคร และกรรมการได้เห็นคาแรกเตอร์กับแนวการทำงานของเราค่ะ ผลงานในพอร์ตก็จะมีตั้งแต่ การบ้านที่ทำตอน ป.ตรี เพราะเราทำแบบจริงจังมากทุกงาน, กิจกรรมที่เคยทำตอน ป.ตรี เช่น Thai Club, Student Ambassador ฯลฯ และแนบเอกสารที่ SBS รับเข้าทำงาน กับงานสัมภาษณ์ที่ทำตอนนั้นไปด้วย เพราะการหางานที่ออสได้คือเรื่องยากมากสำหรับเด็กอินเตอร์

ส่วนคะแนนภาษา ฟรองซ์จบจากออสเลย waive คะแนนภาษาได้​ (=ไม่ต้องยื่น) แต่จะมีกำหนดว่าต้องจบสาขาไหนมาบ้าง เช่น Communication Arts, Journalism เป็นต้น หรือ อาจมีอนุโลมว่ามีประสบการณ์ทำงานสายนี้ 2 ปีขึ้นไป ถ้าใครสนใจลองเช็กอัปเดตที่เว็บหลักสูตรได้เลยค่า

รีวิว ป.โท Strategic Communication ที่ UTS

จุดแข็งของออสฯ คือมีคนต่างชาติเยอะและหลากหลายมาก และให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าการเรียน เพื่อน ป.โท เลยมักจะมีอายุมากกว่าและเคยทำงานมาแล้ว ต้องการมาเรียนเพื่อเอาไปต่อยอดกับงานที่ทำ (เรียนหลักสูตร Full-time เริ่มเรียนเย็นๆ ถึงค่ำ) ถ้าสนใจสาขานี้ แนะนำว่าควรมีประสบการณ์มาเพื่อดิสคัสกับคนในคลาส

ถ้าให้เทียบกับตอน ป.ตรี UC เมื่อก่อนเรียนสกิลเขียนข่าว พร้อมเป็นนักข่าวเต็มตัว พอขึ้น ป.โท UTS ยังคงเน้น Practical มากเหมือนกัน  เรียนกึ่งๆ Marketing, PR วางกลยุทธ์ให้กับบริษัท ต้องสังเกตและอัปเดตเทรนด์ตลอดเวลา เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ในสไลด์และหนังสือที่เขาให้ไปอ่านมาล่วงหน้า และเห็นได้ชัดว่าคลาส ป.โท เน้นการตอบคำถาม ต้องเตรียมตัวมาดีมากกกก ถ้าอึกอักถูกตัดคะแนนแน่ๆ

ถามความเห็นเกี่ยวกับสื่อในออสเตรเลียและไทย นำเสนอข่าวยังไงกันบ้าง?

จากความเห็นฟรองซ์คิดว่า แวดวงสื่อประเทศไทยจะมีการใส่อรรถรสและความแซ่บลงไป เน้นกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกให้คนเสพข่าวรู้สึกอินไปด้วย สังเกตว่าเรตติ้งข่าวกับละครจะใกล้เคียงกันมาก ส่วนที่ออสฯ เราสังเกตว่าเขาจะนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แทบไม่ได้ใส่ความบันเทิงลงไปเลย (ถ้าจะเสพบันเทิงต้องไปดูอะไรที่ไม่ใช่ข่าว) ดังนั้นอาจรู้สึกน่าเบื่อไปนิดสำหรับบางคน แต่มั่นใจได้ว่าเป็นความจริงแบบไม่บิดเบือน ไม่ใส่สีตีไข่เพิ่ม ไม่มีอคติ (bias) เชื่อถือได้ตามที่ข่าวนำเสนอแน่นอน

อย่างในทุกวิชาที่ฟรองซ์เรียน จะสอนการเขียนอย่างมีจรรยาบรรณ และมีโค้ชที่ดูเรื่อง Journalistic Ethics สอนสิ่งทื่เป็น Do & Don’t ถ้าอาจารย์อ่านงานของนักเรียนแล้วรู้สึกเกินจริง เขาจะมาลองคุยและแนะนำแนวทางการปรับด้วยค่ะ

แนะนำช่องข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจ

  • The Guardian https://www.theguardian.com/international
  • ABC (Australian Broadcasting Corporation) https://www.abc.net.au/
  • 9News https://www.9news.com.au
  • The Telegraph https://www.telegraph.co.uk
  • SBS https://www.sbs.com.au  *แนะนำสำหรับคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็ง เพราะถ้าเป็นฝั่งออนไลน์จะมีหลายภาษา เช่น ไทย จีน อินเดีย ลาว ฯลฯ มีการผสมผสานวัฒนธรรมและเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวกับเราโดยตรง เช่น สัมภาษณ์คนไทยที่ประสบความสำเร็จในออสเตรเลีย การทำวีซ่า Citizen เป็นต้น

ปัจจุบันทำงานสายข่าวเต็มตัว

หลังเรียนจบฟรองซ์กลับไทย และมีโอกาสเข้ามาเป็น “Content Creator” สายเศรษฐกิจของ SPOTLIGHT AMARIN กลุ่มเป้าหมายคือคนที่สนใจติดตามเศรษฐกิจ  นำเสนอให้ทุกคนเสพข่าวได้ง่ายและรู้สึกเศรษฐกิจคือเรื่องใกล้ตัวขึ้น

รีวิว 3 เมืองในออสเตรเลีย

แคนเบอร์รา (Canberra)

  • บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเมืองหลวงคือซิดนีย์ แต่จริงๆ คือ “แคนเบอร์รา” ข้อดีคือเราจะมีโอกาสได้ไปงานประชุม (Conference) หรือมีเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาบรรยาย ให้เราฟังแล้วสรุปส่งเป็นรายงานหรือบทความ
     
  • เมือง Canberra คนไทยน้อยมาก ช่วง 3 เดือนแรกฟรองซ์ไม่เจอคนไทยเลยค่ะ คิดว่าเหมาะกับฝึกภาษาเหมือนที่เราตั้งใจมาตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือเจอสังคมอบอุ่น เพื่อนบ้านน่ารัก ตอนฟรองซ์วิ่งจ็อกกิ้งตอนเช้าก็ได้ทักทายคุณลุงคุณป้าด้วย 
     
  • หลังมหาวิทยาลัย UC คือป่าและทะเลสาบ เดินเลาะเรื่อยๆ ก็จะเจอซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ทุกอย่างปิด 5 โมงเย็น อาจเป็นเมืองที่เหงาๆ แต่มีสถานที่สำคัญและแหล่งเที่ยวหลายแห่ง เช่น อาคารรัฐสภา (Parliament House of Canberra) อุทยานแห่งชาติ (National Park), พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึก (Australian War Memorial) ฯลฯ หรือช่วง Winter ขับรถเลยไปจะเจอภูเขาน้ำแข็งให้เล่นสกีได้
     
  • เอาจริงๆ คิดถึงช่วงเวลาที่อยู่แคนเบอร์ราเหมือนกันนะคะ เพราะสูดอากาศแล้วรู้สึก Fresh มากๆ ส่วนซิดนีย์จะมีความเป็นชุมชนและคนอยู่กันหนาแน่นมากกว่า
     
  • และมาออสเตรเลียทั้งทีไม่พูดถึงน้องไม่ได้ ในเมืองแคนเบอร์รามี “จิงโจ้” กระโดดเต็มเลยค่าา ยิ่งจิงโจ้ในป่าชอบอยู่กันเป็นฝูง เวลาเดินผ่านเราอาจรู้สึกเหมือนโดนจ้องแบบดุๆ แต่จริงๆ เค้าอยู่ในที่ของตัวเอง ไม่ได้เจ๊าะแจ๊ะถ้าเราไม่ได้ไปยุ่งกับเค้า
Photo Credit: ParliamentHouseCanberra [FB]
Photo Credit: ParliamentHouseCanberra [FB]  

ซิดนีย์ (Sydney)

  • เป็นเมืองที่มีคนไทยเยอะมาก! ชุมชนคนไทยในซิดนีย์ใหญ่รองลงมาจากคนไทยใน Los Angeles เลยนะคะ อะไรๆ ก็เลยมีหมด ทั้งผับไทย ร้านหมูกระทะ ร้านค้าของไทย, แลกเงินไทย, อยากหาของพวกครก, สากกะเบือ, ชาเขียว, บิงซู, ชาพะยอม, วัดไทย, จัดงานทอดกฐิน รวมไปถึงคอนเสิร์ตศิลปิน The Toys มีคนไทยซื้อหนังพี่มากพระโขนงมาฉาย บุพเพสันนิสวาสเราก็เคยไปดูมาเหมือนกัน
     
  • จะว่าไปก็เหมือนไทยเวอร์ชันที่เจริญแล้ว ใช้ชีวิตสนุกจริงไม่ homesick การได้เจอเพื่อนคนไทยก็ทำให้อุ่นใจขึ้น และไปเที่ยวแฮงก์เอาต์กันบ่อยๆ
     
  • สายธรรมชาติไม่ต้องน้อยใจ นั่งรถไม่ถึงครึ่งชั่วโมงชั่วโมงไปแคมป์ปิ้งที่ป่าได้ นั่งรถสัก 2-3 ชั่วโมงถึง Blue Mountains National Park และมีทะเลให้ไปนอนอาบแดด เดินเล่น ปิ้งบาร์บีคิวริมหาดฟินๆ เลยค่า // ใครสนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Official Sydney Tourism ได้ทางเว็บไซต์ https://www.sydney.com/

เมลเบิร์น (Melbourne)

  • รีวิวจากประสบการณ์ส่วนตัวเบาๆ เพราะไม่ใช่เมืองที่ไปเรียน เรารู้สึกคนไทยที่เมลเบิร์นน้อยกว่าซิดนีย์ แต่ก็มีร้านอาหารไทยกับผับไทยเยอะ
  • อากาศแปรปรวนมาก วันเดียวมีโอกาสเจอได้ครบทั้ง 4 ฤดู ก่อนออกจากบ้านต้องวางแผนดีๆ เตรียมทุกอย่างให้พร้อมรับทุกสภาพอากาศ ลมที่นี่ก็แรงแบบร่มพับ ต้องใส่เสื้อกันฝนเท่านั้น

การใช้ชีวิตในออสเตรเลีย

  • อากาศดี คนน่ารัก บ้านเมืองดี การจัดการสภาพแวดล้อมก็ดีมากๆ
  • ค่าเดินทางถูก มีทั้งบัสและรถไฟ แทบไม่มีรถติด อาจมีบ้างถ้าเกิดเหตุประท้วง (Strike) แต่ไม่ต้องกังวล เพราะที่นี่จะแจ้งวันแล้วประกาศมาก่อนว่าจะกระทบระบบขนส่งสาธารณะไหนบ้าง ให้เราวางแผนเลี่ยงไปเดินทางวิธีอื่นแทน
  • พูดถึงการประท้วง ที่นี่สามารถทำได้นะคะ กลุ่มเล็กขนาดไหนก็มีตำรวจมาดูแลความปลอดภัยให้ โดยผู้จะประท้วงต้องทำหนังสือแจ้งว่าจะขอประท้วงเพราะอะไร ขออนุญาตใช้พื้นที่แถวนี้ได้ไหม ประเทศเขาเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน คุณมีสิ่งที่อยากได้ เพียงแต่ทำในขอบเขตเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น
  • รัฐบาลดูแลคนพื้นเมืองอย่างดี เขาจะมี “National Sorry Day” เพื่อขอโทษกับประวัติศาสตร์การริดรอนที่เคยเกิดขึ้น ไม่มีการฉลองวันชาติแล้วค่ะ
  • เด็กอินเตอร์จำเป็นต้องมีบัตรประกันสุขภาพนะคะ สำคัญมากกก การหาหมอที่ออสเตรเลียทั้งราคาสูงและรอนาน ถ้าเราจ่ายค่าประกันช่วยเซฟเงินได้

แนะนำวิธีประหยัด

  • ทำอาหารเท่านั้น แคนเบอร์ราอาหารแพงมากกก ซิดนีย์ยังเบากว่า
  • ใช้ขนส่งสาธารณะแทน Grab หรือ Uber บางครั้งขึ้นรถบัสก็ถูกกว่าด้วย
  • ใครเพิ่งไปครั้งแรกอยากเตรียมของใช้ส่วนตัวไปก่อนก็ได้
  • มีร้านขายของเอเชีย เช่น วัตถุดิบ ผงปรุง กระเพรา พริกแห้ง ฯลฯ แนะนำให้ไม่ให้เอาอาหารไป เพราะสนามบินตรวจเข้มมาก
  • เอาเสื้อผ้าไปบ้างบางส่วน มีตลาดของมือสอง ซูเปอร์มาร์เก็ต ราคาประมาณ 10-20 AUD
  • ถือวีซ่านักเรียนสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้

รีวิวทำงาน Part-time

ตอนเรียนฟรองซ์มีทำพาร์ตไทม์หลายแนวทั้ง Brunch (ฺBreakfast+Lunch), แซนด์วิช, แพนเค้ก, คาเฟ่, สเต็ก และมีโอกาสได้ทำกาแฟด้วยเพราะบาริสต้าไปเข้าห้องน้ำค่ะ 555 เราเองก็สังเกตวิธีทำมาบ้าง ส่วนใหญ่ลูกค้ากับเพื่อนร่วมงานที่เจอน่ารัก เป็นโอกาสได้เรียนรู้วิธีเมเนจ การคุยกับคน วัฒนธรรมของคนที่นี่

งานที่ออสฯ เขาให้เงินเยอะมากเป็นรายชั่วโมง แลกกับการที่เราต้องไม่หยุดนิ่ง ห้ามยืนเฉยๆ อย่างน้อยก็ต้องเช็ดจาน เช็ดโต๊ะ คอยดูว่าลูกค้าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ต้องทำคุ้มค่าจ้างจริงๆ 

แชร์ชีวิตการเรียนที่ออส
ลงช่องยูทูบสุดเก๋ “PNSR CHANNEL”

ฟรองซ์เปิดช่องยูทูบเพื่อแชร์ชีวิตวัยเรียนที่ออส ทำสนุกๆ เพราะมีคนทักมาขอคำแนะนำบ่อย อย่างวันก่อนมีคนที่เห็นเราจากคลิป เจอเราใน Thai Town แล้วจำได้ด้วยค่ะ 55555 จริงๆ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อัปคลิปใหม่ๆ แต่ก็ทักมาปรึกษาที่ IG: @ffraancee ได้ค่า

. . . . . . . .  .

​​You’re Invited!
เสาร์ 27 - อาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024
งานเรียนต่อนอก Dek-D ครั้งที่ 3

รอบนี้พิเศษสุดๆ เพราะ Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรามากถึง 23 คน เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครอง  Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลีย

สำหรับใครที่อยากพูดคุยกับ “พี่ฟรองซ์” สามารถ Walk-in มาปรึกษา 1:1 ได้ในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024 นะคะ แล้วเจอกันนน!

เช็กไฮไลต์งานแฟร์ที่นี่
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น