Q&A มัดรวมคำถามสุดฮิต! มือใหม่อยากเรียนต่อนอก ควรรู้อะไรบ้าง?

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ค่ะ เชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้อยู่อาจกำลังวางแผนเรียนต่อต่างประเทศ หรือบางคนอาจมีความสนใจที่จะเรียนต่อ แต่ยังจับจุดไม่ถูกว่าว่าควรเริ่มจากตรงไหน และมีเรื่องอะไรที่เราควรรู้บ้าง 

วันนี้พี่พลอยกี้เลยขออาสาทำ Q&A พาไปเคลียร์ให้ชัดทุกประเด็นที่หลายคนมักสงสัยกัน  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกมหาวิทยาลัย,  การเขียน SoP ให้โดนใจกรรมการ, วิธีการสมัครทุนการศึกษา, การเตรียมตัวสมัครเรียน ฯลฯ จะมีคำถามที่เราสงสัยอยู่มั้ย ตามมาหาคำตอบกันต่อเลย!

…………………..

Image by azerbaijan_stockeers on Freepik
Image by azerbaijan_stockeers on Freepik

ปักหมุดเรียนต่อที่ไหนดี?

“อยากเรียนต่อนอก แต่ไม่รู้ว่าควรไปที่ไหนดี?” 

“อยากเรียนต่อต่างประเทศ ไปที่ไหนก็ได้ ช่วยแนะนำหน่อย” 

ที่ผ่านมามีน้องหลายคนเข้ามาปรึกษาและขอคำแนะนำเกี่ยวกับประเทศที่จะไปเรียนต่อ บางคนอาจมีช้อยส์และไอเดียในใจไว้บ้างแล้ว บางคนก็อยากให้ช่วยแนะนำว่าประเทศไหนก็ได้ เบื้องต้นแนะนำว่าให้น้องๆ ลองพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ลองแยกออกมาทีละประเด็น เพื่อหาจุดหมายที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของเราที่สุด ยกตัวอย่างเช่น 

สาขาที่ต้องการเรียนต่อ   

แต่ละประเทศมีสาขาวิชาที่คนนิยมไปเรียนต่อแตกต่างกัน สำหรับใครที่มีสาขาในใจอยู่แล้ว ขอแนะนำให้ลองเช็กจากเว็บ QS World University Rankings by Subject ซึ่งจัดอันดับให้เห็นกันชัดๆ ว่าสาขาที่ต้องการเรียนนั้น มีมหาวิทยาลัยไหนในโลกที่มีชื่อเสียงบ้าง อาจช่วยให้เจอมหา’ลัยที่ใช่ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้น้องๆ ควรเข้าไปหน้าเว็บของมหาวิทยาลัยพื่อเช็กข้อมูลหลักสูตรที่เราสนใจว่าจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง ใช้เวลาเรียนนานไหม ค่าเทอมเท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรในการสมัครเรียนบ้าง เป็นต้น เพราะแต่ละสาขาจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน การศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนถือเป็นสิ่งสำคัญเลยก็ว่าได้

ค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อ 

อย่างที่รู้กันว่าการเรียนต่อต่างประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งค่าเทอม ค่าครองชีพ ค่าที่พัก ค่าประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย โดยเบื้องต้นอาจคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้

  • ค่าเทอม & ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการเรียน : เช็กได้ที่เว็บไซต์ของโปรแกรมที่อยากเรียนต่อ
  • ค่าครองชีพ : เช็กข้อมูลเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ NUMBEO (เว็บนี้จะสรุปค่าใช้จ่ายรายเดือนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น อาหาร, ที่พัก, ค่าเดินทาง ฯลฯ และยังมีโปรแกรมเทียบค่าใช้จ่ายระหว่าง 2 ประเทศให้ใช้งานด้วย)

ภาษาที่ใช้เรียน

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ในบางประเทศที่มีภาษาเป็นของตัวเอง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส เป็นต้น อาจจะมีโปรแกรมที่ต้องภาษาตัวเองในการเรียนการสอน ดังนั้น น้องๆ จึงอาจต้องเตรียมความพร้อมภาษา และต้องมีคะแนนใช้ยื่นสมัครเรียนด้วย 

แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละที่จะมีคอร์สปรับพื้นฐานภาษาให้ลงเรียนก่อนเปิดเทอม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียน 1 ปี จากนั้นจึงจะเรียนต่อในระดับปริญญาได้ อีกทั้งบางสาขาอาจเปิดสอนเป็นหลักสูตรอินเตอร์ด้วย (แล้วแต่มหา’ลัย)   

Image by Freepik
Image by Freepik

โอกาสทำงานต่อหลังเรียนจบ

ในการเรียนต่อต่างประเทศ น้องๆ ควรตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองเอาไว้ว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร จะใช้ต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือมีเส้นทางอาชีพสายไหนที่เราอยากทำ ถ้าเรามีคำตอบให้ตัวเองอย่างแน่วแน่ ก็จะยิ่งช่วยให้เราเตรียมพร้อมและเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างเป็นไปตามโกลมากขึ้น 

ดังนั้นจึงแนะนำให้ศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรที่เราสนใจเรียนต่อว่า จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง หรือทางคณะ/มหาวิทยาลัยที่เราจะไปเรียนนั้นมี connection ร่วมกับบริษัทหรืออุตสาหกรรมมากแค่ไหน หรือมีการช่วย support เส้นทางหลังเรียนจบ (career paths) ให้กับนักศึกษายังไงบ้าง หรือลองหารีวิวจากรุ่นพี่ใน YouTube, Blog หรือในคอลัมน์ประสบการณ์เด็กนอก by Dek-D เพื่อเป็นแนวทางและเห็นภาพรวมมากขึ้น 

นอกจากนี้หลายคนที่วางแผนเรียนต่อนอก มักสนใจเรื่องการทำงานต่อในประเทศนั้นๆ เพราะนอกจากเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้ว บางประเทศก็อาจสนับสนุนการขอ Permanent Residence หรือ PR เพื่อย้ายถิ่นฐานในอนาคตได้ด้วย 

ตัวอย่างประเทศที่มีวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติ สามารถทำงานหลังเรียนจบได้
(อัปเดตข้อมูล เมษายน 2567)
 

  • สหราชอาณาจักร: อนุญาตให้ผู้ถือ Student Visa ระดับ ป.ตรี/โท สามารถสมัคร Graduate Visa เพื่ออยู่หางานต่อได้ 2 ปี (3 ปี สำหรับระดับ ป.เอก) และเมื่อจบระยะวีซ่านี้แล้วสามารถสมัครวีซ่าประเภทอื่นๆ เพื่อพำนักต่อได้อีก เช่น Skilled Worker, Global Talent หรือ Innovator routes
  • สหรัฐอเมริกา: อนุญาตให้ผู้ถือ F Student Visa สามารถสมัครโปรแกรม Optional Practical Training (OPT) ประเภท Pre-completion OPT (ทำงานก่อนเรียนจบ) และ/หรือ Post-completion OPT (ทำงานหลังเรียนจบ) โดยแบ่งเป็น
    • กรณีเรียนจบสาขาอื่นๆ : ได้สิทธิ์ทำงานเป็นเวลา 12 เดือน
    • กรณีเรียนจบสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics): ได้รับสิทธ์ขยายเวลาทำงาน (STEM OPT Extension) เพิ่มอีก 24 เดือน (รวมเป็น 36 เดือน)
  • ออสเตรเลีย: ผู้ถือวีซ่านักเรียน (Subclass 500) ระดับปริญญา สามารถยื่นขอวีซ่าทำงานชั่วคราวหลังเรียนจบ (Subclass 485) ประเภท Post Study Work ได้ โดยมีระยเวลาดังนี้
    • ป.ตรี: 4 ปี
    • ป.โท: 5 ปี
    • ป.เอก: 6 ปี

Note: รายละเอียดการยื่นขอวีซ่าทำงานหลังเรียนจบอาจเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่หน้าเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของแต่ละแห่งค่ะ

วัฒนธรรม 

เพราะการไปเรียนต่อต่างประเทศ เราไม่ได้แค่ไปเรียนอย่างเดียว แต่ต้องใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนในประเทศนั้นๆ ด้วย ดังนั้น ถ้าหากจะไปเรียนต่อที่ไหนก็ควรศึกษาเรื่องสังคม และไลฟ์สไตล์แต่ละประเทศ เพื่อเลือกดูว่าเราเข้ากับวัฒนธรรมแบบไหน ลองจินตนาการภาพว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างราบรื่นหรือไม่ หรือว่ามีเรื่องอะไรที่เราควรรู้และปรับตัวก่อนไปเรียนบ้าง  

สภาพอากาศ

ต้องบอกว่าเรื่องของอากาศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญมากๆ ในการใช้ชีวิตเรียนต่อในต่างประเทศ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจโดยตรง น้องๆ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากเราได้ไปเรียนต่อในประเทศที่มีฝนตกแทบทุกวัน หรือบางประเทศมีฤดูหนาวที่ยาวนาน มีหิมะตกทุกวันและแทบไม่มีแสงแดด เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้มั้ย? เพราะที่ผ่านมามีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกซึมเศร้าและหดหู่กับสภาพอากาศ และตกอยู่ในภาวะ Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือซึมเศร้าตามฤดูกาล 

ดังนั้น น้องๆ จึงต้องศึกษาให้ดีว่าประเทศนั้นๆ มีกี่ฤดู ฝนตกบ่อยไหม อุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุดเท่าไหร่ ฯลฯ เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมปรับตัวและรับมือกับสภาพอากาศที่จะเจอหลังไปเรียนต่อนั่นเองค่ะ   

Image by freepik
Image by freepik

ควรเตรียมตัวตั้งแต่ตอนไหน?

การเตรียมตัวที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง! ดังนั้นใครที่มีจุดหมายชัดเจนแล้วว่าอยากเรียนต่อที่ไหน ขอแนะนำให้เตรียมตัวล่วงหน้าก่อนสมัครประมาณ 1 ปี เพราะการเตรียมเอกสารอาจกินเวลานานได้ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น 

  • เอกสารบางฉบับ (เช่น Transcript, ใบแสดงวุฒิการศึกษา, เอกสารที่เป็นภาษาไทย) จะต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ และรับรองให้เรียบร้อยก่อนสมัคร (แล้วแต่มหาวิทยาลัย)
  • จดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) ควรติดต่ออาจารย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ท่านมีเวลาในการเขียน
  • หากต้องใช้คะแนนภาษายื่นสมัครด้วย เราก็ต้องไปสอบวัดระดับภาษาก่อน โดยแต่ละประเภทจะเปิดสอบเป็นช่วงๆ และอาจใช้เวลาตรวจนาน ถ้าเราสอบช่วงใกล้วันเปิดรับสมัคร ผลคะแนนอาจออกมาไม่ทันได้ค่ะ

ต้องยื่นเอกสารอะไรบ้าง?

เอกสารที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ให้ยื่นส่ง มีดังนี้

  • เอกสารยืนยันตัวตน เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น
  • เอกสารทางการศึกษา เช่น ใบคาดว่าจะจบ, ใบแสดงวุฒิการศึกษา, Transcript เป็นต้น
  • จดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) จากอาจารย์หรือหัวหน้างาน
  • เรียงความแนะนำตัว (Statement of Purpose; SoP)
  • ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ

Note: แต่ละหลักสูตร/มหา’ลัยจะกำหนดเอกสารการสมัครเรียนแตกต่างกัน น้องๆ ควรเช็กในหน้าเว็บไซต์ รวมถึงระเบียบการรับสมัคร (Guideline) อย่างละเอียดนะคะ

Image by benzoix on Freepik
Image by benzoix on Freepik

เขียน SoP ยังไงให้โดนใจกรรมการ?

Statement of Purpose (SoP) หรือ Personal Statement เป็นเอกสารสำคัญในการสมัครเรียนหรือสมัครทุนก็ว่าได้ เพราะช่วยทำให้คณะกรรมการรู้จักเรามากขึ้นว่า เราเป็นใคร มาจากไหน มีจุดเด่นอะไรบ้าง ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นการพรีเซนต์ตัวเองผ่านเรียงความ เพื่อให้เขาเห็นว่าทำไมควรเลือกเรานั่นเอง

ต้องสอบวัดระดับภาษาใดบ้าง?

ผลสอบวัดระดับภาษาที่ต้องยื่นสมัครมักขึ้นอยู่กับหลักสูตรนั้นๆ ว่าใช้ภาษาอะไรในการเรียนการสอน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีหลักๆ ดังนี้ค่ะ

  • หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ: มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ให้ยื่นคะแนนภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น IELTS Academic, TOEFL, SAT, ACT, PTE เป็นต้น (แล้วแต่มหา’ลัย)
  • หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาต่างประเทศอื่นๆ: มักใช้ผลสอบวัดระดับภาษาของประเทศนั้นๆ เช่น TOPIK (เกาหลี), JLPT (ญี่ปุ่น), DELF (ฝรั่งเศส), Goethe-Zertifikat (เยอรมนี), HSK (จีน) เป็นต้น

Note: คะแนนขั้นต่ำขึ้นอยู่กับทางหลักสูตรกำหนด 

มหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่? 

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเปิดรับสมัครล่วงหน้า ประมาณ 6 เดือน - 1 ปี ก่อนที่เราจะไปเรียนค่ะ โดยมหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศจะมีช่วงวันเปิด-ปิดรับสมัครแตกต่างกัน // ลองมาเช็ก Timeline คร่าวๆ ของจุดหมายการเรียนต่อยอดฮิตกันค่ะ!  

Timeline สมัครเรียนต่อ ‘สหราชอาณาจักร’

เทอม (Intake)

ช่วงเวลารับสมัคร

September (เปิดเทอมเดือนกันยายน)เดือนกันยายน - มีนาคม
January (เปิดเทอมเดือนมกราคม) เดือนกันยายน -  พฤศจิกายน

Timeline สมัครเรียนต่อ ‘สหรัฐอเมริกา’

เทอม (Intake)

ช่วงเวลารับสมัคร

Fall (เปิดเทอมเดือนกันยายน)เดือนสิงหาคม - ธันวาคม
Spring (เปิดเทอมเดือนมกราคม)เดือนมกราคม - เมษายน
Summer (เปิดเทอมเดือนมิถุนายน)เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม

Timeline สมัครเรียนต่อ ‘เกาหลีใต้’

เทอม (Intake)

ช่วงเวลารับสมัคร

Fall (เปิดเทอมเดือนกันยายน)เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน
Spring (เปิดเทอมเดือนมีนาคม)เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม

Note: 

  • บางหลักสูตร/มหาวิทยาลัยอาจมีกำหนดการรับสมัครและวิธีการสมัครแตกต่างไป โปรดตรวจสอบที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละแห่ง
  • บางเทอม (Intake) อาจไม่ได้เปิดรับสมัครทุกหลักสูตร ดังนั้นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เราควรเช็กดีๆ ว่าคอร์สที่อยากเรียนนั้นเปิดรับสมัครเทอมไหน เพราะบางทีอาจมีคนสมัครเป็นจำนวนมาก และอาจรับแบบ first come, first served
  • ข้อมูลในตารางด้านบนอ้างอิงจากเว็บไซต์ UCAS ระบบส่วนกลางที่ใช้สมัครเรียนต่ออังกฤษ, ระเบียบการรับสมัครของมหา’ลัยในเกาหลีใต้ รวมถึง Hands On ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนต่อ UK และ USA
Image by artursafronovvvv on Freepik
Image by artursafronovvvv on Freepik

How To: สมัครเรียนยังไง?  

ปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะให้กรอกใบสมัครและอัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ อาจมีบางแห่งที่ต้องส่งเอกสารการสมัครไปทางไปรษณีย์ น้องๆ สามารถศึกษาวิธีการสมัครอย่างละเอียดได้ที่หน้าเว็บไซต์ของแต่ละที่ค่ะ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยอาจเป็นพาร์ตเนอร์กับเอเจนซีต่างๆ ซึ่งเราสามารถใช้บริการในการสมัครผ่านตัวเอเจนซีได้ด้วยเช่นกัน 

ใช้บริการเอเจนซีดีไหม?

อย่างที่บอกไว้ในหัวข้อที่แล้วว่า บางมหาวิทยาลัยเป็นพาร์ตเนอร์กับเอเจนซี ซึ่งเป็นตัวแทนให้บริการด้านการเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งข้อดีคือเขาจะให้คำปรึกษาแบบไม่คิดค่าบริการ ตั้งแต่ขั้นตอนหาโปรแกรมและมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์กับเรา, ดำเนินการสมัครเรียน, คอยติดตามผลการสมัคร รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องการหาที่พักให้ด้วย (แล้วแต่เอเจนซี) 

เหมาะสำหรับใครบ้าง?

ถ้าหากน้องๆ คนไหนที่ไม่มีเวลาในการเตรียมตัวด้วยตัวเอง ไม่มีข้อมูลมาก่อน และอยากได้ที่ปรึกษาเพื่อช่วยเพิ่มความอุ่นใจการสมัครเรียน การเลือกใช้บริการเอเจนซีก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดความกังวลได้ไม่น้อย แถมบางเอเจนซียยังมีการจัด meeting เพื่อแลกเปลี่ยนสร้างคอนเน็กชันกับเพื่อนๆ คนไทยที่จะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเดียวกันอีกด้วย ถือว่าได้พบปะเพื่อนๆ เวลาบินไปเรียนจะได้ไม่เหงาเกินไป~

มีช่องทางช่วยเซฟงบบ้างไหม?

แน่นอนว่าการไปเรียนต่อต่างประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งค่าเทอม ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะมากมายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นหลายคนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศจึงมักหาช่องทางที่จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนต่อ ยกตัวอย่างเช่น  

การทำงานพาร์ตไทม์

การทำงานหลังเลิกเรียนเป็นตัวเลือกยอดฮิตสำหรับนักเรียนนอก เพราะได้ทั้งประสบการณ์การทำงานและเงินบางส่วนมาช่วยซัพพอร์ตสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ แต่ก่อนที่จะทำพาร์ตไทม์ น้องๆ ต้องเช็กกับทางมหาวิทยาลัยก่อนว่าอนุญาตให้ทำงานระหว่างเรียนได้หรือไม่ รวมถึงศึกษารายละเอียดวีซ่านักเรียนของประเทศที่เราไปเรียนว่า อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติทำงานพาร์ตไทม์ได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง และมีเงื่อนไขว่าอย่างไรบ้าง เช่น 

  • สหราชอาณาจักร: ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  และ ทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในช่วงปิดเทอม
  • สหรัฐอเมริกา: ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ ทำงานเต็มเวลา (สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ได้ในช่วงปิดเทอม โดยต้องเป็นงานที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย (on campus) เท่านั้นค่ะ
  • ออสเตรเลีย: ช่วงเปิดเทอมสามารถทำงานพาร์ตไทม์ได้สูงสุด 48 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ และไม่จำกัดชั่วโมงทำงานในช่วงปิดเทอม

(ข้อมูลอัปเดตเมษายน 2567)

Image by rawpixel.com on Freepik
Image by rawpixel.com on Freepik

ขอทุนการศึกษา

อีกทางเลือกที่แนะนำคือ การสมัครทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนต่างชาตินั่นเองค่ะ ซึ่งทุนนั้นมีหลายประเภท โดยมูลค่าและเงื่อนไขในการรับทุนก็จะแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ส่วนลดค่าเล่าเรียน, ทุนเรียนฟรี (ยกเว้นค่าเล่าเรียน 100%) และทุนเต็มจำนวน ที่ให้ทั้งค่าเทอม, เบี้ยเลี้ยง, ตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก ฯลฯ (แล้วแต่ประเภททุน) ซึ่งเราสามารถเช็กได้ที่หน้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยหรือสถานทูตประเทศต่างๆ ค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น  

1) ทุนจากมหาวิทยาลัย สำหรับวิธีการสมัครก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละทุน เช่น

  • ทุนที่พิจารณาให้อัตโนมัติ: จะตัดสินผู้ได้รับทุนจากเอกสารสมัครเรียนที่เราส่งไป เช่น Transcript, Portfolio, SoP เป็นต้น หรือพูดง่ายๆ คือไม่ต้องสมัครทุนแยกนั่นเอง
  • ทุนที่เปิดรับพร้อมการสมัครเรียน: มักมีช่องทางให้กรอกใบสมัครทุนทางออนไลน์แยกจากระบบรับสมัครเรียน โดยน้องๆ อาจต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น Letter of Motivation หรือตอบคำถามต่างๆ เป็นต้น
  • ทุนที่สมัครหลังมหา’ลัยตอบรับแล้ว: ส่วนใหญ่จะให้ยื่นสมัครผ่านระบบออนไลน์หลังจากได้รับ Offer ให้เข้าเรียนแล้ว โดยจะกำหนดวันเปิด-ปิดรับสมัครเฉพาะของโครงการทุนนั้นๆ

2) ทุนรัฐบาลไทย หรือ ทุนสำนักงาน ก.พ. เป็นทุนเต็มจำนวนสำหรับคนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อ ป.ตรี ป.โท ป.เอก หรือ ป.โทควบเอก ในสาขาวิชาที่กำหนด ณ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แบ่งเป็นหลายประเภททุน เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง, ทุนกระทรวงการต่างประเทศ, ทุน UiS เป็นต้น 

ทุนนี้มีเงื่อนไขว่า ผู้รับทุนจะต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานที่กำหนด สำหรับระยะเวลาการทำงานจะขึ้นอยู่ประเภททุนที่ได้รับ โดยจะเปิดรับสมัครคัดเลือกในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคมของทุกปี ใครที่สนใจสมัครก็สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเบื้องต้นที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ได้เลยค่ะ

3) ทุนรัฐบาลต่างประเทศ เช่น  ทุน Chevening (UK), ทุน Fulbright (US), ทุน MEXT (ญี่ปุ่น) เป็นต้น มอบให้หลายระดับทั้ง ป.ตรี ป.โท ป.เอก รวมถึงหลักสูตรอนุปริญญา (แล้วแต่ประเภททุน) เพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นทุนเต็มจำนวน และไม่ต้องใช้ทุนคืนหลังเรียนจบ โดยแต่ละโครงการมีช่วงระยะเวลาเปิด-ปิดรับสมัครแตกต่างกันไป 

4) ทุนจากองค์กรเอกชน ส่วนใหญ่จะมอบให้ไปเรียนต่อระดับ ป.ตรี หรือ ป.โท ในสาขาวิชาที่กำหนด มักเป็นทุนเต็มจำนวนที่มีเงื่อนไขรับทุนแตกต่างกันไป โดยอาจระบุให้กลับมาบรรจุเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ หลังเรียนจบแล้ว ตามระยะเวลาตามที่กำหนด ตัวอย่างโครงการทุนการศึกษาจากองค์กรดัง เช่น SCG New Gen Scholarship, KBank Annual Scholarship, PTT International Scholarship Program เป็นต้น
 

Image by rawpixel.com on Freepik
Image by rawpixel.com on Freepik

…………

ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างคำถามฮิตๆ ที่พี่ได้รวบรวมมาฝากสำหรับมือใหม่ที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ เชื่อว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจภาพรวมในการาสมัครเรียนได้มากขึ้นนะคะ ^^  

และหากใครอยากค้นคว้าข้อมูลเรื่องการเรียนต่อต่างประเทศเพิ่มเติม สามารถกดติดตามเพจ Study Abroad by Dek-D และ Study Guide ไปเรียนต่อนอกกันเถอะ เพราะเราจะมาอัปเดตข่าวสารการเรียนต่อ ทุนการศึกษา รวมถึงแชร์ประสบการณ์ของเหล่ารุ่นพี่ทีมต่อนอก ฯลฯ แบบจัดเต็มทุกวีคเลยค่ะ! 

รวมถึงติดตามงานอิเวนต์สุดจึ้งสำหรับสายต่อนอก “Dek-D’s Study Abroad Fair” งานแฟร์เรียนต่อต่างประเทศที่จะจัดขึ้นทุกปี ได้ที่เว็บไซต์ DekDstudyabroadfair.com ได้เลยค่ะ~ 

…………

สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D" 

Source:https://www.educations.com/articles-and-advice/how-to-study-abroad-14160 https://www.gooverseas.com/blog/most-popular-and-important-study-abroad-questionshttps://www.ucas.com/undergraduate/applying-university/when-apply/dates-and-deadlines-uni-applications https://www.studyaustralia.gov.au/en/work-in-australiahttps://www.educations.com/articles-and-advice/how-to-apply-for-schools-abroad-12940
พี่พลอยกี้
พี่พลอยกี้ - Columnist หนอนหนังสือ ผู้หลงรักเพลง K-POP ฝันอยากท่องโลกกว้าง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น