ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'นักโบราณคดี' ฮีโร่ผู้พิทักษ์แหล่งโบราณสถาน

สวัสดีจ้า ชาว Dek-D.com พบกันอีกเช่นเคยกับ A day in life สกู๊ปพิเศษที่จะพาทุกคนไปตามติดชีวิต 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน ว่าแต่ช่วงนี้เห็นน้องๆ หลายคนกำลังฝันหวานถึงพี่หมื่น พร้อมทั้งสนุกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยผ่านบทบาทของแม่การะเกด คู่พระนางในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้ใครๆ ต่างก็อยากนั่งไทม์แมนชีนกลับไปหาอดีตกันยกใหญ่ พี่ส้มจึงขอพาทุกคนไปเกาะติดอาชีพของคนที่เชี่ยวชาญทางด้านการสืบหาความจริงในอดีตกันซะเลย!!!

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงอะไรให้มาก เพราะวันนี้เราจะบุกไปถึงสำนักงาน แล้วตามติดไปถึงหน้าไซต์งานของพี่นักโบราณคดีคนเก่งแห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ฟื้นฟูภูมิปัญญาแห่งสถาปัตยกรรมไทยเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกโลกในโปรเจกต์ใหญ่ "วัดกระจี" ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และยูเนสโกค่ะ

PROFILE :

  • ศุทธิภพ จันทราภาขจี (พี่แบม)
  • มัธยมศึกษา : โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ
  • ปริญญาตรี : คณะโบราณคดี
    มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ปัจจุบัน : นักโบราณคดีปฏิบัติการ
    สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา

เด็ก ม.ปลายสายวิทย์ที่เบนเข็มจากคณะยอดฮิตสู่เส้นทางนักโบราณคดี

แม้จะได้ทราบประวัติเพียงคร่าวๆ ก็เดาได้ไม่ยากว่าพี่แบมคือผู้ที่เปรียบเสมือนนักสืบมือโปรที่สามารถสืบเรื่องราวย้อนกลับไปในอดีตได้แล้วนำมาบอกเล่าได้อย่างมีเหตุผล จนชวนให้คิดไปว่าเขาคงวางแผนที่จะเรียนโบราณคดีมาอย่างแน่วแน่ แต่เมื่อได้พูดคุยกันแล้วกลับต้องแปลกใจ เพราะพี่แบมได้เปิดเผยกับทีมงานว่าเขาก็เหมือนกับเด็กสายวิทย์ทั่วไป ที่เคยสนใจอยากเข้าคณะยอดฮิตอย่างสถาปัตยกรรมศาสตร์มาก่อน...

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

พี่แบมเล่าว่าช่วงที่เรียน ม. 6 ได้สอบติดโควตาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย แต่ในใจอยากลองแอดมิชชั่นดู จึงเลือกสถาปัตย์ไว้สามอันดับแรกตามที่เคยมุ่งหมาย ส่วนอันดับ 4 นั้นเผื่อไว้ให้คณะโบราณคดี เพราะเขาเคยมีความทรงจำในวัยเด็กเมื่อครั้งไปเที่ยวอยุธยากับคุณพ่อ แล้วเกิดความประทับใจในความน่าค้นหาของศิลปะวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในแหล่งโบราณสถาน ทั้งๆ ที่ไม่เคยสนใจจะหาข้อมูลเลยด้วยซ้ำว่าคณะนี้เขาเรียนอะไร? เรียนจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

เมื่อผลแอดมิชชั่นออกมาว่า พี่แบมสอบติดคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาจึงตัดสินใจสละสิทธิ์โควตาอย่างไม่ลังเล แล้วเลือกฟังเสียงเล็กๆ ในใจที่บอกว่าการเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีจะทำให้เขามีความสุขได้ ซึ่งนั่นก็สมใจเขาล่ะ!

เจ้าตัวเอ่ยปากเองเลยว่าตลอด 4 ปีของการเป็นนักศึกษา คือช่วงเวลาที่สนุกมากจนต้องให้คำนิยามว่าโบราณคดีคือ "ศาสตร์แห่งความเป็นลูกครึ่ง" เพราะการย้อนกลับไปหาความจริงทุกมิติของมนุษย์ในอดีต จำเป็นต้องหยิบยืมองค์ความรู้จากศาสตร์อื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ฯลฯ มาผสมผสานกันเพื่อให้เข้าใจเหตุผลอย่างครอบคลุมที่สุด

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

หลังจากสำเร็จการศึกษา พี่แบมก็เริ่มงานเป็นภัณฑารักษ์ปฏิบัติการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน แล้วผันตัวมาเป็นนักโบราณคดีปฏิบัติการที่สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ที่ทำให้ชีวิตของเขายิ่งใกล้ชิดประวัติศาสตร์ไทยจนแทบจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการดูแล ปกป้อง โบราณสถานอันเป็นสมบัติของชาติอย่างเต็มตัว และนี่ก็คือหน้าที่ประจำวันของพี่แบมค่ะ...

1 วัน ของอาชีพนักโบราณคดี

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

8.30 - 9.00 น.

ทุกเช้าตรู่ของวันจันทร์ - ศุกร์ พี่แบมจะต้องเข้าไปเซ็นชื่อลงเวลาเข้าทำงาน แล้วนั่งประจำโต๊ะเพื่อเช็กเอกสารคำสั่งต่างๆ เพื่อวางแผนการทำงานในแต่ละวันค่ะ โดยหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายก็คือการออกตรวจท้องที่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งถือเป็นเขตโบราณสถาน ที่พี่แบมอธิบายว่าถ้าใครต้องการสร้างอาคารบ้านเรือนหรือเหมืองในบริเวณนี้ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังจังหวัดก่อน เพื่อให้มีการพิจารณาแล้วผ่านเรื่องลงมาที่สำนักศิลปากรให้ออกสำรวจว่าสามารถปลูกสร้างได้มั้ยนั่นเองค่ะ

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

9.00 - 12.00 น.

ปกติแล้วพี่แบมจะต้องออกตรวจท้องที่แทบทุกวัน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับช่างสำรวจช่างโยธา หรือนักโบราณคดีด้วยกัน เพื่อช่วยกันตรวจสอบว่าในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งมานั้นสามารถปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน หรือทำเหมืองได้รึเปล่า

โดยพี่แบมและทีมจะต้องไปเช็กให้ละเอียดถึงหน้างาน ว่ามีเศษชิ้นส่วนของภาชนะอะไรอยู่ในดินมั้ย ขุดลงไปเจอภาชนะอะไรรึเปล่า พร้อมกับตรวจแปลนก่อสร้างแล้วประเมินว่าถ้าสร้างเสร็จแล้วจะทำลายภูมิทัศน์โดยรอบมั้ย หรือมีมลพิษใดๆ ที่ทำลายธรรมชาติบ้าง ซึ่งกว่าจะพิจารณาว่าพื้นที่ไหนผ่านหรือไม่ ก็หมดไปครึ่งวันแล้วล่ะ

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

13.00 – 16.00 น.

พักทานข้าวกลางวันเพิ่มพลังกันแล้ว ก็เข้าสู่การทำงานที่ต้องใช้กำลังกันต่อค่ะ ขอบอกเลยว่าช่วงนี้ถือเป็นไฮไลต์ของการทำงานภาคสนาม และในวันนี้พี่แบมได้เปิดโอกาสให้เราได้ไปเกาะติดถึงหน้าไซต์งานโครงการอนุรักษ์วัดกระจี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และองค์การยูเนสโก หรือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พื้นที่เก่าแก่โบราณที่เคยเป็นวัดเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในปัจจุบันนั้นหลงเหลือเพียงซากเจดีย์บางส่วนที่ผุพังไปตามกาลเวลา แต่ว่าเราจะมาสืบหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตกัน ณ บัดนี้!!!

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

พี่แบมได้เดินนำทีมงานไปรอบๆ บริเวณเจดีย์องค์ใหญ่ พร้อมกับอธิบายว่าก่อนหน้านี้มีเพียงเจดีย์องค์นี้เท่านั้น แต่หลังจากที่มีโครงการดังกล่าวขึ้น ก็มีการรวบรวมข้อมูล และคาดคะเนว่าในบริเวณใกล้เคียงน่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อยู่ด้วย แล้วมาหยุดหน้าปากหลุมที่มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ค่ะ...

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี' ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

งานนี้พี่แบมก็ได้หยิบเอา "เกรียงธรณีวิทยา" อุปกรณ์คู่ใจของนักโบราณคดีออกมาโชว์แล้วบอกเหตุผลว่า นี่คืออุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดของคนทำงานอาชีพนี้ เนื่องจากใช้ในการขุดในแนวลึกเพื่อหาหลักฐานที่ซ่อนอยู่ในชั้นดิน และขุดในแนวราบเพื่อปาดหาหลักฐานอื่นๆ ซึ่งเราจะพบมันได้ทันทีที่เกรียงสะดุดนั่นเอง

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

แต่อุปกรณ์ที่นักโบราณคดีใช้ค้นหาหลักฐานยังไม่หมดเพียงเท่านี้หรอกค่ะ เพราะพี่แบมให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยว่า การขุดมี 2 แบบ ได้แก่
- "ขุดค้น" เพื่อเปิดหน้าดินเข้าไปตามหลักโบราณคดี จนถึงชั้นดินธรรมชาติที่ไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ แล้วตรวจสอบว่ามีร่องรอยโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือหลักฐานใดๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ ด้วยอุปกรณ์ที่ขุดได้ลึก เช่น จอบ เสียม อีเตอร์
"ขุดแต่ง" เพื่อปรับระดับพื้นโบราณสถานที่ขุดพบให้เท่ากับชั้นดินที่มีการใช้งานเดิม ซึ่งต้องลอกเอาชั้นดิน หิน อิฐ ปูนที่ผุพังทับถมออกด้วยความปราณีต ที่บางครั้งก็ต้องใช้อุปกรณ์อย่างเกรียง มีด หรืออุปกรณ์นอกเหนือจากนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อความเหมาะสม เช่น ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นค่อยๆ เซาะเศษทรายออกอย่างเบามือเพื่อไม่ให้รอยสลักต่างๆ ถูกทำลาย

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

16.00 - 16.30 น.

หลังจากขุดกันมาจนหลังขดหลังแข็งแล้ว ทีมของพี่แบมต้องมาทำการสรุปผลของการทำงานในวันนี้ว่าเจอหลักฐานอะไรมาบ้าง และต้องการใช้ความรู้ทางด้านใดอธิบายหลักฐานเพิ่มเติมบ้าง เช่น เจอโครงกระดูกมนุษย์แล้วต้องการทราบว่าเสียชีวิตตั้งแต่ต้อนไหน ซึ่งก็ต้องมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเอง หรือประสานงานกับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ไปวิจัยต่อหรือวิเคราะห์หาคำตอบ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นรายงานสรุปค่ะ

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

สำหรับโครงการนี้ จะนำผลสรุปที่มีการอธิบายถึงบริบททางสังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยตีความออกมาได้จากหลักฐานที่ทีมพี่แบมได้ขุดพบมาพิจารณาว่า จะมีการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบใดต่อไปเช่นเดียวกับโครงการทางโบราณคดีอื่นๆ ที่มีทั้งอนุมัติสร้างเป็นแหล่งโบราณสถานต่อไป หรือเลือกฝังกลบด้วยการนำหลักฐานที่ได้จัดหมวดหมู่ คลุมด้วยผ้าจีโอเท็กซ์ไทล์ โรยทรายทับแล้วทำการฝังกลบเพื่อเก็บรักษาคุณค่าของประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ในที่เดิม ซึ่งกว่าจะปิดจ็อบได้ก็กินเวลาไปประมาณ 1 ปีเต็มเลยล่ะ

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

"เคยเจอผีมั้ย?" คำถามยอดฮิต ที่ตามติดตัวนักโบราณคดีไปทุกที่

ได้มากระทบไหล่นักโบราณคดีทั้งที พี่ส้มก็ขอจัดคำถามยอดฮิตที่คนทั่วไป หรือแม้กระทั่งใครหลายๆ คนที่กำลังอ่านอยู่ชอบนำไปสนทนากับกลุ่มคนในวงการอาชีพนี้ให้พี่แบมได้ช่วยตอบซะเลยค่ะ

พี่แบมเล่าขำๆ ว่าตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเจอสิ่งเหนือธรรมชาติเลยสักครั้ง แม้ว่าในสมัยเรียนจะต้องอยู่ในห้องเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แต่ละชิ้นต่างก็มีเรื่องเล่าชวนขนลุก หรือทำงานอยู่ในหลุมที่มีโครงกระดูกก็ตาม ก็ไม่เคยได้ยินเสียงแปลกๆ หรือภาพหลอนใดๆ เกิดขึ้นทั้งนั้น มีเพียงจินตนาการของเราที่ได้แต่หวาดๆ ไปเอง

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

แต่สาเหตุที่เห็นนักโบราณคดีมีการบวงสรวงเจ้าที่ก่อนจะทำการสำรวจหรือหรือขุดหลักฐานต่างๆ ก็มีหลายเหตุผล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อสถานที่ เช่น ทำเพื่อความสบายใจของคนในท้องถิ่นเพื่อจะได้ไม่มีปัญหากับชาวบ้านในภายหลังนั่นแหละจ้า

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'

2 สิ่งที่คนอยากเป็น 'นักโบราณคดี' ต้องตั้งใจทำ

แม้อาชีพนักโบราณคดีจะเป็นงานที่เข้มข้นทั้งทฤษฎี และต้องลุยให้สุดตัวกับงานภาคสนาม แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความพยายามของมนุษย์เลยค่ะ ยิ่งถ้าใครมีความฝันอยากจะทำงานด้านนี้แล้ว พี่แบมก็มีเทคนิคดีๆ เพียง 2 ข้อเท่านั้น มาแนะนำให้ฝึกฝนกันไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยนะ

  • ใฝ่รู้ : หมั่นตั้งคำถามกับข้อมูลที่เราได้รับอยู่ตลอด ว่าสิ่งนี้มาจากใคร มีที่มาจากไหน ทำไมเราต้องเชื่อ แล้วสืบหาถึงต้นตอที่แท้จริงให้ได้ จากการฟังและอ่านให้มาก โดยเฉพาะการค้นคว้าจากหนังสือ

  • มีเหตุผล : ไม่อธิบายอะไรโดยปราศจากเหตุผล ทุกอย่างต้องมีทฤษฎีประกอบหรือมีกรณีศึกษาที่หนักแน่นพอที่จะไม่ให้คนแย้งได้

ตามติด 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน 'นักโบราณคดี'
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Lula Lula Mae Member 1 เม.ย. 61 01:37 น. 2

ของจริงคือแบบนี้เนอะ ใครตามกระแสแบบไม่เผื่อหน้าเผื่อหลังต้องคิดดีๆนะ เสียดายที่เรียนแทนคนที่เขาตั้งใจและชอบมาตั้งแต่เด็กจริงๆ ไม่ใช่เพราะละครประเดี๋ยวประด๋าว //ขออธิบายก่อนว่า ตามละครไม่ผิดหรอก แต่ต้องตามละครมานานระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งแห่เพราะบุพเพสันนิวาส ซึ่งเรื่องนี้มันเพิ่งมีเท่าไรเองอะ ไม่รอให้ความชอบมันตกตะกอนในใจก่อนค่อยตัดสินใจอีกทีก่อนหรอ?

1
มัณทนา Member 1 เม.ย. 61 14:23 น. 2-1

ใช่เลยค่ะ

เราเกลียดพวกที่ชอบเรียนคณะยอดนิยมตามกระแส เรียนตามชาวบ้าน

และอีกพวกคือเอาไปอวดพวกมนุษย์ป้าข้างบ้านว่า "กรูเรียนคณะนี้นะ"

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Lula Lula Mae Member 1 เม.ย. 61 01:37 น. 2

ของจริงคือแบบนี้เนอะ ใครตามกระแสแบบไม่เผื่อหน้าเผื่อหลังต้องคิดดีๆนะ เสียดายที่เรียนแทนคนที่เขาตั้งใจและชอบมาตั้งแต่เด็กจริงๆ ไม่ใช่เพราะละครประเดี๋ยวประด๋าว //ขออธิบายก่อนว่า ตามละครไม่ผิดหรอก แต่ต้องตามละครมานานระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งแห่เพราะบุพเพสันนิวาส ซึ่งเรื่องนี้มันเพิ่งมีเท่าไรเองอะ ไม่รอให้ความชอบมันตกตะกอนในใจก่อนค่อยตัดสินใจอีกทีก่อนหรอ?

1
มัณทนา Member 1 เม.ย. 61 14:23 น. 2-1

ใช่เลยค่ะ

เราเกลียดพวกที่ชอบเรียนคณะยอดนิยมตามกระแส เรียนตามชาวบ้าน

และอีกพวกคือเอาไปอวดพวกมนุษย์ป้าข้างบ้านว่า "กรูเรียนคณะนี้นะ"

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด