รู้หรือไม่? “หมวดวิชาต่างๆ“ ในแผนการศึกษา คืออะไร ต่างกันยังไง


 
     หลายครั้งที่น้องๆ ม.ปลาย เปิดอ่านตัว “หลักสูตร” หรือ “แผนการศึกษา” ของแต่ละสาขาวิชา แต่ละคณะ ก็จะต้องเจอกับคำศัพท์ที่ไม่คุ้นตา หรือแม้แต่ พี่ๆ นิสิตนักศึกษา ที่ต้องลงทะเบียนเองครั้งแรก ก็เกิดความสงสัย ว่า “หมวดวิชาต่างๆ” คืออะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร ทั้ง “วิชาทั่วไป” “วิชาบังคับ” “วิชาเลือก” “วิชาเฉพาะ” เยอะแยะเต็มไปหมด ต้องเรียนอะไรกันบ้าง วันนี้พี่แนนนี่ และ Dream Campus ก็จะพาน้องๆ ไปหาคำตอบกันค่ะ
 

 
     บรรดา "หมวดวิชา” ต่างๆ ที่เราเห็นกันในหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย ก็จะแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ แต่หลักๆ แล้วจะต้องแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือ "หมวดวิชาศึกษาทั่วไป" "หมวดวิชาเฉพาะ" และ "หมวดวิชาเลือกเสรี" เพราะทั้ง 3 หมวดนี้คือ "โครงสร้างหลักสูตร" ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยกระทรวงฯ ก็ได้จำกัดความของแต่ละหมวดวิชา ไว้ดังต่อไปนี้
 
1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
     หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง เข้าใจ และเห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งจะต้องมีจํานวนหน่วยกิตรวม ไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต และครอบคลุมสาระของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษา และกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม (ประกาศฯ ข้อ ๙.๑)
2) หมวดวิชาเฉพาะ
     หมายถึง วิชาแกน วิชาเฉพาะด้าน วิชาพื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพ ที่มุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะมีการกำหนดจำนวนหน่วยกิตที่แตกต่างกัน  (ประกาศฯ ข้อ ๙.๒)
3) หมวดวิชาเลือกเสรี
     หมายถึง วิชาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตามที่ตนเองถนัด หรือสนใจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใดๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี จํานวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต (ประกาศฯ ข้อ ๙.๓)
ที่มา : ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘
 
     อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรกว่า เราจะเห็นความแตกต่างของหมวดวิชาในแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งความแตกต่างเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้ "โครงสร้างหลักสูตร" ที่กระทรวงฯ ประกาศไว้ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป
  • หมวดศึกษาทั่วไป เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Gen-ed (เจน-เอ็ด) ซึ่งย่อมาจาก General Education ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาบังคับ มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้แต่ละสาขาวิชา แต่ละคณะ ทุกๆ คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยนิสิตนักศึกษาทุกสาขาวิชา ทุกคณะ (ส่องแต่ละมหาวิทยาลัย (คลิก))
  • หมวดวิชาเฉพาะ จะเป็นวิชาที่จะแตกต่างกันออกไปตามคณะ ตามสาขาวิชา และแต่ละมหาวิทยาลัยก็อาจจะเลือกใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปด้วย บางที่ก็เรียกวิชาแกน บางที่ก็วิชาเฉพาะด้าน วิชาพื้นฐานวิชาชีพ เป็นต้น
     โดยในหมวดวิชาเฉพาะนี้ ยังสามารถแบ่งวิชาต่างๆ ออกตามลักษณะ ดังนี้
  • วิชาบังคับ เป็นวิชาที่ทุกคนจำเป็นจะต้องเรียน ซึ่งก็มีหลาย บังคับคณะ บังคับสาขา บังคับเอก (จำเป็นที่จะต้องเรียนทุกคน)
  • วิชาบังคับเลือก เป็นวิชาที่ทุกคนจะต้องเรียน แต่จะมีหลายวิชาที่สามารถลงเรียน เป็นตัวเลือกให้
  • หมวดวิชาเลือกเสรี นับเป็นวิชาที่ค่อนข้างอิสระ นิสิตนักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามใจชอบ ซึ่งหลายคนมักจะนึกถึง วิชาด้านภาษา กับวิชาด้านกีฬา เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วในแต่ละหลักสูตรยังมีวิชาอื่นๆ ที่สามารถลงได้อีก หรือบางหลักสูตรอาจจะอนุโลมให้เรียนวิชาเฉพาะอื่นๆ ที่สนใจเป็นวิชาเลือกเสรีแทนก็ได้
     
     ในการจัดการหลักสูตรแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งน้องๆ จะต้องศึกษา และตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ และถ้ามีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับรายวิชา หรือการลงทะเบียนให้สอบถามอาจารย์ หรือฝ่ายการศึกษาของคณะค่ะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด