พี่เกล - โสพิชา (เกล อูคูเลเล่) แชร์เทคนิคสอบติด "แพทย์ จุฬาภรณ์" แบบละเอียด [EP.1]

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน เชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงเห็นข่าวคราวของ พี่เกล-โสพิชชา อังคะไวมงคล   หรือที่เรารู้จักกันในนามของ "น้องเกล อูคูเลเล่" จากรายการ Thailand's Got Talent  (SS2)  ที่ได้สอบติด "หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันมาบ้างแล้ว

 วันนี้ทาง Dek-D มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่เกล ถึงเทคนิคการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแบบละเอียดยิบทุกรายวิชา พร้อมกับมาอัปเดตชีวิตการทำงานด้านดนตรีให้แฟนๆ ได้ติดตามกันด้วย ซึ่งพี่แนนนี่จะขอแบ่งบทความออกเป็น 2 EP. ดังนี้

พี่เกล - โสพิชา (เกล อูคูเลเล่) แชร์เทคนิคสอบติด "แพทย์ จุฬาภรณ์" แบบละเอียด [EP.1]

Q : แนะนำตัวคร่าวๆ ให้ชาว Dek-D รู้จักหน่อย 

สวัสดีค่ะ เกล-โสพิชา อังคะไวมงคล นะคะ อายุ 17 ปี เรียน ม.ปลายที่โรงเรียนนานาชาติชาร์เตอร์  (Charter International School) ซึ่งเป็นระบบอังกฤษ (IGCSE) ที่ไม่ได้แบ่งเป็นแผนการเรียนเหมือนหลักสูตรที่ไทย แต่จะให้เลือกเรียนวิชาที่สนใจได้เลย เกลก็เลือกเป็น Chemistry, Biology, Math Geography และ Computer Science  ส่วนปัจจุบันเรียนที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 (หลักสูตรแพทย์ 7 ปี 2 ปริญญา) เป็นหลักสูตรที่ต้องไปเรียนที่ UCL สหราชอาณาจักร ด้วย

Q : ปกติเกลมีความโดดเด่นด้านดนตรีมาตลอด อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์

จริงๆ ตั้งแต่เล็กๆ เกลมีความสนใจอยากเป็นหมอ เป็นหมอฟันนิดนึง พอโตขึ้นมาก็ไม่แน่ใจว่าอยากเป็นอะไร อยากเรียนอะไร แต่ว่าที่รู้ก็คือ ชอบพวกวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์) แล้วก็สนใจทางด้านร่างกายคนด้วย เลยคิดว่าค่อนข้างตรงกับคุณหมอค่ะ บวกกับที่ตอนเล็กๆ เริ่มร้องเพลง เริ่มโชว์ พอเวลาแสดงก็เห็นรอยยิ้ม เห็นแววตาทุกคนมีความสุข ก็เหมือนช่วยคนให้มีความสุข เลยยิ่งนึกถึงการเป็นหมอขึ้นมาอีก เพราะได้ช่วยคนได้อีกทางนึงด้วย แล้วตอนหลังๆ ก็มีได้ฝึกงาน ไป observe ที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และ รพ.ทหารอากาศสีกัน ลองไปดูว่าจะชอบทางสายนี้ไหม  เกลไปมาโรงพยาบาลละ 2 สัปดาห์ ก็ได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์  เลยทำให้ตัดสินใจว่าจะไปทางแพทย์จริงๆ

Q : ปัจจุบันในด้านของการทำงาน ตอนนี้เกลทำอะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้ยังทำงานทางด้านดนตรีอยู่ค่ะ ต้นสังกัดเกลอยู่ที่ไต้หวัน แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน เกลพึ่งไปอัดอัลบัมเพลงที่ไต้หวันมา น่าจะปล่อยออกมาประมาณปลายปีนี้ค่ะ เป็นเพลงจีนอัลบัมแรกของเกล จะมี 8 เพลง ส่วนใหญ่เป็นเพลงจีนเลยค่ะ จะมีบางเพลงที่ผสมคำไทยไปด้วย ผสมคำอังกฤษไปด้วย แล้วในนั้นมีบางเพลงที่เกลร่วมแต่งเองด้วย ค่อนข้างน่าสนใจเลยอยากให้ทุกคนได้ติดตาม (แฟนๆ ที่ไทยจะมีโอกาสได้ฟังไหม?) ​ได้ค่ะ มีลงสตรีมมิ่งปกติเลยค่ะ

(เป็นมาอย่างไรถึงได้ไปทำงานที่ไต้หวัน?) ช่วงก่อนโควิด ตอนเกลอายุประมาณ 12 ก็มีคนชวนให้ไปออกรายการที่ไต้หวัน เป็นรายการแข่งขันร้องเพลง reality show เกลก็ลองไปแข่ง ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะเข้ารอบไปได้ลึกขนาดนั้น แต่พอแข่งไปแข่งมาก็เข้ารอบเรื่อยๆ แล้วจากรายการนั้นก็มีแฟนคลับไต้หวันเยอะมากขึ้น สุดท้ายก็เลยได้เซ็นสัญญากับทางค่ายที่ไต้หวันค่ะ

 ตอนแรกเกลพูดภาษาจีนไม่ได้เลย คือ เริ่มเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนแล้วนิดนึง แต่ก็ยังพูดไม่ได้ คำศัพท์เป็นศูนย์เลย  ถ้าจะพูดอะไรตอนก่อนโชว์ หรือตอนปิดโชว์ ก็ต้องท่องสคริปต์เป็นประโยคๆ เอา  แต่ตอนนี้ก็พอได้แล้ว พอสื่อสาร-ฟังส่วนใหญ่รู้เรื่องค่ะ 

ช่วงก่อนโควิดเกลไปไต้หวันแทบจะทุกอาทิตย์ เสาร์-อาทิตย์มีงานโชว์ มีคอนเสิร์ตของตัวเองที่นู่น แล้วก็กลับมาเรียนต่อวันจันทร์  ส่วนช่วงโควิดไม่ได้ไปเลย ก็อาศัยไลฟ์ใน IG ร้องเพลง-คุยกับแฟนคลับแทน แต่ก็จะมีอยู่ 2 ครั้ง ต้องไปกักตัว 14 วัน ทำงาน 2 อาทิตย์  กลับมาไทยกักตัวอีก 14 วัน  กินเวลาไปเยอะมากค่ะ แต่ช่วงนี้สถานการณ์ดีขึ้น ก็เลยได้ไปไต้หวันบ่อยขึ้นแล้ว

Q : ทั้งเรียน ทั้งทำงาน แบ่งเวลาอย่างไรบ้าง

ช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่เรียนที่โรงเรียนอยู่ ถ้าเกลจะไปไต้หวัน คือต้องของานครูล่วงหน้ามาทำ แล้วก็เอางานนั้นไปทำที่ไต้หวันเวลาที่ว่าง หรือก่อนนอน หรือระหว่างรอบนเครื่องบิน ก็ค่อนข้างยุ่งนิดนึง จำได้ว่ามีครั้งนึงตรงกับช่วงสอบพอดี  เกลก็ปรึกษาครูว่าจะเอายังไงดี สอบก่อนได้ไหม สอบทีหลังได้ไหม ด้วยความที่ครูก็ไว้ใจเกลนิดนึง เหมือนก่อนหน้านั้นก็หยุดบ่อย แต่งานทัน เกรดไม่ตก เลยให้คุณแม่เอาข้อสอบไปให้ทำระหว่างกักตัวที่นู่น ก็ต้องหอบหนังสือไปเยอะมาก 14 กิโล แล้วก็ต้องทำ ต้องติวข้อสอบหนักอยู่เหมือนกัน

Q : มองอนาคตในการทำงาน และการเรียนแพทย์ไว้อย่างไร

เกลยังชอบทั้ง 2 ด้าน ดนตรีเกลก็ยังมีความสุขกับการทำอยู่ แล้วก็เป็นการผ่อนคลายด้วย แล้วแพทย์ เกลก็อยากไปทางสายนี้อยู่ อยากพยายามทำควบคู่กับไป เหมือนแบบถ้ายกตัวอย่าง แบบเรียนแพทย์ เครียดหนัก ก็หันมาพักทางดนตรี ไม่ได้ทิ้งไป แล้วดนตรีก็มีส่วนช่วยเรื่องการเรียนด้วย เรื่องสมาธิ ความจำ แล้วก็ผ่อนคลายได้ด้วย แล้วตอนนี้แอบเล็งไว้ว่า อยากไปต่อเฉพาะทางด้าน larynx หรือกล่องเสียงค่ะ เพราะในประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้น้อย แล้วมันก็ได้ทั้งแพทย์ ได้ความรู้เรื่องเส้นเสียงด้วย เพราะเกลก็ร้องเพลงด้วย

Q : เริ่มวางแผนเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร

ตอนนั้นก็เหมือนมีไอเดียว่าอยากไปสายนี้ เลยอยากไปฝึกงานที่โรงพยาบาล เพื่อค้นหาตัวเองด้วย ว่าอยากไปทางสายนี้ไหม และในขณะเดียวกันถ้าชอบทางสายนี้ ก็จะเป็นการเก็บ Portfolio ไปในตัว

พอตัดสินใจแล้วว่าอยากเรียนแพทย์ ก็ศึกษาว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องการอะไรบ้าง ด้วยความที่ตอนนั้นอยู่ม.4 ซึ่งก็มีแค่บางมหาวิทยาลัยที่รับนักเรียนเทียบวุฒิ GED แล้วก็พบว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (PSCM) เป็นหลักสูตรที่น่าสนใจมาก เพราะได้ไปเรียนที่ UCL ประเทศอังกฤษตอนปี 4 ด้วย จากนั้นก็ดูเฉพาะเจาะจงเลยว่า requirement ของที่นี่เป็นยังไง ก็เลยเริ่มรวบรวมกิจกรรมต่างๆ มาตั้งแต่เด็กๆ

Q : ยื่นสมัครด้วยเกณฑ์การคัดเลือกไหน

เกณฑ์การคัดเลือก TCAS รอบ 1 Portfolio

  • อายุ 16-25 ปี
  • กำลังศึกษาอยู่/สำเร็จการศึกษา จาก ม.6, Grade 12 , Year 13
  • มีผลคะแนนสอบตามที่กำหนด (มีกำหนด GPAX, GPA ชีววิทยา, เคมี, คณิตศาสตร์/ฟิสิกส์ หรือ AS/A-Level หรือ IB หรือ SAT II)
  • มีคะแนน BMAT
  • มีคะแนนทIELTS หรือ TOEFL
  • ทำ Portfolio 10 - 20 หน้า
    • ประวัติส่วนตัว
    • ผลงานวิจัยและวิชาการรวมทั้งรางวัลหรือทุนที่ได้
    • กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
    • Essay 800-1000 คำ โดยเลือกเขียน 1 จาก 2 หัวข้อ
      • ความล้มเหลว/ความผิดพลาดในอดีต และสิ่งที่ได้เรียนรู้
      • ความสำเร็จ/ประสบการณ์ที่ดีในอดีตที่มีผลต่อปัจจุบัน

ของเกลยื่น GPAX ของ ม.4 - ม.5 เทอม 1 เขากำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 3.50 แล้วด้วยความที่เกลไม่ได้จบม.6 เลยสอบ GED ให้เทียบเท่าจบม.6 ด้วย ส่วนคะแนนสอบ BMAT ก็ต้องได้มากกว่า 12  และ IELTS มากกว่า 7 

นอกจากนั้นก็มี Portfolio และให้เขียน Essay ด้วย เกลเลือกเขียนหัวข้อ "ความสำเร็จในอดีตที่มีผลต่อปัจจุบัน" ก็คือเขียนเรื่อง Thailand got's talent แล้วก็สิ่งที่ได้รับจากมันไป  แล้วก็สุดท้ายถ้า Port ผ่านการคัดเลือก ก็ได้สัมภาษณ์ MMI (Multiple Mini-Interview) จะเป็นหลายๆ ห้อง ให้เราเข้าไปคุยกับกรรมการ อาจารย์ค่ะ

Q : เกลเตรียม Portfolio อย่างไร

เวลาทำ Port ก็คือ เกลจะพยายามให้ Port สื่อสารถึงตัวตนของเราจริงๆ ความสนใจของเรา character ของเราด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนอย่างเดียว คือมีกิจกรรมประเภทอื่นๆ รางวัลหรือผลงานที่เกลได้รับด้วย 

ส่วนตัวเกลจะเริ่มศึกษาว่าทางวิทยาลัยฯ ต้องการเด็กแบบไหน Portfolio ประมาณไหน ฟังจากรุ่นพี่บ้าง ศึกษาข้อมูลจากออนไลน์บ้าง เหมือนเขาจะเน้นแบบ all rounded student คือทำเป็นทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรียนอย่างเดียว มีทำกิจกรรมด้วย อย่างเช่น ดนตรี กีฬา เต้น ซึ่งกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนของเกลที่แสดงออกถึงตัวตน ก็คือ ดนตรี  (แต่ผลงานด้านดนตรีของเกลน่าจะเยอะมาก เลือกใส่ยังไงบ้าง?) ตอนแรกใส่ไปค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะผลงานด้านดนตรีของเกลเยอะด้วย แล้วก็รู้สึกเหมือนใส่เยอะเกินไปด้วย พอกลับไปเช็กอีกที เหมือนจะเข้าคณะดนตรีมากกว่าแพทย์ เลยเลือกคัดออกไปบ้าง สุดท้ายก็ยังเยอะอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้มากขนาดนั้นแล้ว แล้วที่ใส่ไป เช่น  Thailand’s got talent และ Jungle Voice ที่ไต้หวัน

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็มีจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ เกลใส่ที่ไปฝึกงานที่ 2 โรงพยาบาลนั้น (รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และรพ.ทหารอากาศสีกัน) แล้วก็มีไปสอนคนตาบอด ที่มูลนิธิคนตาบอด เก็บชั่วโมงไปเรื่อยๆ ของเกลเก็บได้ประมาณ 30 ชั่วโมง แล้วก็ไปทำกิจกรรมดนตรี ร้องเพลงให้ผู้ป่วยฟัง ประมาณ 1 เดือน และกิจกรรมแชร์ริตี้หาเงินการกุศลต่างๆ เช่น งานวิ่งการกุศล เป็นต้น

มีใส่กิจกรรม NSC2022 (National Software Contest 2022) ที่ทำกับพี่ชายและเพื่อนๆ ชื่อโปรแกรม AMA care (อาม่าแคร์) โปรแกรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยใช้ AI เป็นการติดตั้งกล้องที่บ้านของผู้สูงอายุ กล้องจะตรวจจับว่าผู้สูงอายุล้ม หรือว่าต้องขอความช่วยเหลือ โดย AI จะวิเคราะห์-ประมวลผล และส่งข้อความแจ้งเตือนไปที่ผู้ดูแล ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ที่บ้านในขณะนั้น จริงๆ แล้วเทคโนโลยีมีอยู่แล้ว ของเราที่ทำคือ พยายามลดค่าใช้จ่ายลง ใช้อุปกรณ์ที่ราคาถูกลง (เช่น raspberry pi เป็นต้น) เพื่อให้คนทั่วไปจับต้องได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นก็ได้เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายและได้รับทุนการพัฒนาโปรแกรม จาก สวทช ด้วย

นอกเหนือจากนี้ยังมีแข่ง Robotics (VEX national competition) กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นการแข่งการสร้าง การบังคับหุ่นยนต์ให้ตรงตามโจทย์ที่ตั้งไว้ แข่งกับโรงเรียนอื่นๆ ระดับประเทศ ถ้าทีมไหนชนะจะได้ไปเป็นตัวแทนแข่งระดับโลกที่อเมริกา แต่ตอนนั้นทีมเกลและเพื่อนๆ ได้เข้าแค่ 8 ทีมสุดท้าย ก็เลยไม่ได้รับรางวัลอะไร แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี และได้เรียนรู้หลายๆอย่าง เลยไปใส่ใน portfolio ค่ะ

แล้วเนื่องจาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน์ เป็นวิทยาลัยแพทย์ที่เน้นเกี่ยวกับการวิจัยด้วย เกลก็เลยศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับ Dementia (ความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยที่เป็น Dementia ในผู้หญิงและผู้ชาย) และนําความรู้ที่ได้รับมาเรียบเรียงเป็นรายงาน (Literature Review)

สุดท้ายเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นผู้นำ คือ การทำชมรมหลังเลิกเรียนที่โรงเรียน โดยการตั้ง class สอนอูคูเลเล่าให้น้องๆ ป.4 ป.5  น้องๆ จะเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน  และเป้าหมายของเกลคือ สอนน้องๆจากที่บางคนไม่มีพื้นฐานทางด้านอูคูเลเล่เลย ให้สามารถไปแสดงบนเวที Christmas concert ของโรงเรียนได้ ซึ่งโครงการนี้เกลเป็นคนริเริ่มดำเนินการเองทั้งหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานโรงเรียนคุณครู ผู้ปกครอง เพื่อนๆ ที่มาช่วยสอน  จนทำให้งานนี้สำเร็จขึ้นมาได้  ตอนทํามันค่อนข้างท้าทายมากๆ เลย เนื่องจากเวลาที่จํากัดด้วย แต่มันก็ทําให้ได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำมากๆ เลยค่ะ

นอกจากกิจกรรมที่แสดงความเป็นผู้นำของเราแล้ว ก็จะมีกิจกรรมที่แสดงถึงว่าเราก็เป็นผู้ตามที่ดีและสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้เหมือนกัน เช่น เกลร่วมทีมการแข่งขัน Robotic (VEX national competition) ซึ่งเกลถูกมอบหมายให้รับผิดชอบในส่วน autonomous (ทำ coding/programing of robot)  ตอนนั้นก็พยายามรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดค่ะ 

ที่สําคัญของการทำ Port เลย คือควรระบุให้ชัดเจนว่าในแต่ละกิจกรรมเราได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง หรือได้ช่วยเหลือสังคมในด้านใดบ้างค่ะ

 

 

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ แค่ EP. แรก พี่เกลก็แชร์มุมมอง และเทคนิคการเตรียม Portfolio แบบจัดเต็มมาฝากน้องๆ กันไปแล้ว EP. หน้า พี่เกล จะมาพาไปลงลึกถึงการเตรียมตัวสอบในแต่ละรายวิชาอย่างละเอียดยิบ รอติดตามกันต่อได้เลย

EP. 2 : เปิดเทคนิคการเตรียมตัวสอบ IELTS, BMAT และสอบสัมภาษณ์ MMI แบบจัดเต็มของพี่เกล
EP. 2 : เปิดเทคนิคการเตรียมตัวสอบ IELTS, BMAT และสอบสัมภาษณ์ MMI แบบจัดเต็มของพี่เกล

 

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น