พี่เกล - โสพิชา (เกล อูคูเลเล่) แชร์เทคนิคสอบติด "แพทย์ จุฬาภรณ์" แบบละเอียด [EP.2]

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D วันนี้ยังคงอยู่กับ พี่เกล-โสพิชชา อังคะไวมงคล  หรือน้องเกล อูคูเลเล่ ผู้ที่ได้สอบผ่านการคัดเลือก TCAS รอบ 1 Portfolio ใน "หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"  กันอีกครั้ง แต่ EP. นี้มาเจาะลึกเกี่ยวกับเทคนิคการเตรียมตัวสอบ IELTS, BMAT และสอบสัมภาษณ์ MMI ของพี่เกลกันบ้าง พี่แนนนี่รับรองเลยว่าใครที่ต้องสอบวิชาเหล่านี้ จะได้รับเทคนิคไปประยุกต์กับตัวเองแบบจุกๆ แน่นอน

พี่เกล - โสพิชา (เกล อูคูเลเล่) แชร์เทคนิคสอบติด "แพทย์ จุฬาภรณ์" แบบละเอียด [EP.2]

Q : เกลได้เตรียมตัวสอบ IELTS อย่างไร

ด้วยความที่เรียนโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว เลยไม่ได้ติว IELTS เยอะมาก เพราะโรงเรียนก็มีสอนอยู่แล้ว แบบ IELTS จะแบ่งออกเป็น 4 เรื่อง คือ Writing, Reading, Listening, Speaking หลักๆ เกลก็ติวจาก Mock Test ย้อนหลังที่มีในออนไลน์ อันนี้ดีมากๆ ฟรีด้วย  ส่วน Speaking เกลจะฟังจาก Youtube เอา ดูว่า Band 6 เขาพูดอะไรกัน Band 7  เขาพูดอะไรกัน แล้วก็จำเทคนิคมาใช้ แล้วก็เกลไม่ถนัด Writing เท่าพาร์ตอื่นๆ ก็เลยจะมีหาข้อมูลเพิ่มเติมเตรียมตัวไว้หน่อย มีเสิร์ชเทคนิคต่างๆ มาไว้ใช้

Q : เล่าให้ฟังหน่อยว่าเตรียมตัวสอบ BMAT อย่างไร

จริงๆ BMAT เป็นการสอบที่ท้าทายมากเลยค่ะ  เหมือนแบบเราต้องสู้กับเวลา มันจะไปเร็วมาก เกลใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 5 เดือนก่อนสอบจริง แต่ว่าใน 5 เดือน เหมือนแบบเกลเพิ่งทำความรู้จักกับตัวข้อสอบ เพิ่งได้ลองทำข้อสอบไปนิดเดียว เริ่มจริงจังติวเข้มจริงๆ 2 อาทิตย์ก่อน ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ดีเลย ไม่ต้องทำตามนะคะ มันเครียดและกดดันมากๆ เลยค่ะ

เกลลองติวเอง ไม่ได้เข้าเรียนคอร์ส หรือสถาบันกวดวิชาอะไร  เพราะอยู่ม.5 ถ้าไม่ผ่านยังมีโอกาสอีกครั้งด้วย แต่อยากจะบอกว่าครั้งแรกที่เกลลองทำ BMAT สมมติพาร์ตแรกให้เวลา 60 นาที แต่เกลใช้เวลาไป 3 ชั่วโมงก็ยังไม่เสร็จเลยค่ะ ซึ่งก็คือกังวลมากๆ ว่าวันจริงจะทำทันไหม  ถ้าเกิดใครที่ลองทำ BMAT ครั้งแรก อย่าพึ่งตกใจนะคะ มันยาก ใช้เวลาเยอะจริงๆ น่าจะต้องเริ่มฝึกด้วยการค่อยๆ ทำไปก่อน ไม่ต้องเคร่งกับเวลามาก ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เข้าใจโจทย์ไปก่อน แล้วพอชินกับโจทย์แล้วค่อยจับเวลา

คือข้อสอบ BMAT จะแบ่งเป็น 3 พาร์ต พาร์ต 1 เป็น Critical Thinking จะเกี่ยวกับ Logic (การคิดวิเคราะห์) วิธีการติวก็คือ ต้องฝึกทำโจทย์เยอะๆ อย่างเดียวเลยค่ะ เหมือนจะมีบางโจทย์ที่ต้องใช้จินตนาการค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างข้อนึง เขาจะให้ลูกเต๋ามา จริงๆ มี 6 ด้าน แต่เราจะเห็นด้านหน้าได้แค่ 3 ด้าน แล้วตัวคำตอบจะให้รูปลูกเต๋าแบบกางออก มา ให้เราเลือก 6-7-8 ช้อยส์ เราเหมือนต้องใช้จินตนาการว่าถ้าพับออกมาแล้วข้อไหนตรงกับลูกเต๋าที่เห็นอยู่บ้าง แล้วเวลาก็จำกัด ช้อยส์ก็เยอะ ก็เลยค่อนข้างยากนิดนึง คือพาร์ตนี้ตอนสอบจริงๆ ก็คือ เดาไปเยอะเหมือนกัน ตอนท้ายๆ เวลาไม่พอก็วงไปเลย แต่เกลจะสังเกตรูปแบบได้ จากการข้อสอบเก่าๆ หลายๆ ปี เห็นว่าช้อยส์ C ออกบ่อย เลยดิ่ง C ไป สำหรับพาร์ตนี้ถ้าไม่เข้าใจอะไร ก็เข้า Youtube จะมีคนต่างชาติอธิบายข้อสอบ  BMAT แต่ละข้อออกมาเลย  คือถ้าติดข้อสอบปีไหน ข้อไหนก็เสิร์ชดู ก็จะมี solution ว่าทำยังไงในแต่ละข้อให้ ตรงนี้ก็จะช่วยมากๆ เลยค่ะ เพราะเขาอธิบายค่อนข้างเคลียร์เลย

พาร์ต 2 ก็เป็นเกี่ยวกับ Scientific Knowledge คือทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ โชคดีที่ว่าข้อสอบตรงกับข้อสอบ IGCSE ที่โรงเรียนเกลสอนอยู่  เนื้อหาตรงกัน แล้วเกลเคยไปสอบไปแล้วตอน ม.4 ข้อมูลในหัวยังค่อนข้างใหม่อยู่ด้วย เลยเอามาช่วยติว BMAT ได้ แต่ก็มีบางคำถาม แต่ส่วนน้อยมากที่เนื้อหาสูงกว่า IGCSE  เลยไปติวเพิ่มนิดนึงเลย ส่วนที่อยากแนะนำเลย คือในเว็บ Official BMAT ทางแคมบริจด์ จะมีสรุป  Note  สรุปเนื้อหา มี Diagram บอก เป็น Text Book มาให้แล้วว่าต้องอ่านอะไรบ้าง ทุกคนสามารถไปหาอ่านได้จากในนั้น ซึ่งเกลได้ไปเลือกใช้ในวิชาฟิสิกส์เยอะเลย เพราะที่โรงเรียนเกลไม่ได้เรียนฟิสิกส์

พาร์ต 3 เป็นการเขียน Essay ก็จะมี 3 ตัวเลือก จะมี Topic ประมาณเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ทางการแพทย์  แบบจะต้องเขียนให้พอดีกับ 1 หน้า A4 ความยากคือต้องกะให้พอดี มีกระดาษให้หน้าเดียว เขียนเกินไม่ได้ เขียนน้อยไปก็ไม่ดี คือ หลายคนบอกถ้าเป็นไปได้ให้เลือกหัวข้อเกี่ยวกับการแพทย์ก็จะดี เพราะเราจะสอบเข้าแพทย์ แต่เกลไปดูกรรมการมาคุย มาให้คำแนะนำ เขาก็บอกว่าจะเลือกอะไรก็ได้ พยายามเลือกหัวข้อที่เราเข้าใจมากที่สุด และจะตอบได้ดีที่สุด เขาไม่ได้สนใจว่าจะเลือกหัวข้ออะไร แต่ควรเลือกหัวข้อที่มั่นใจที่สุด ส่วนการเตรียมตัวสอบพาร์ตนี้เกลมีหาคนช่วยเช็ก writing ให้ว่าตอบตรงคำถามไหม ก็จะสร้างความมั่นใจให้เราดีมากๆ ข้อสอบพาร์ตนี้ จริงๆ แล้ว ไม่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเยอะ จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ความคิดของเรามากกว่า เน้นการเรียบเรียง การรอธิบาย การสื่อสารออกมาให้คนอ่านมากกกว่า 

เกลเองฝึกทำข้อสอบเก่าๆ เยอะมาก ตั้งแต่ปี 2005 - 2021 ช่วงปีแรกๆ จะมี 3 set  เกลทุกอันเลยค่ะ ช่วงแรกๆ ก็จะฝึกให้คุ้นชินกับคำถามก่อน แต่ช่วงหลังๆ จะทำให้เหมือนอยู่ในห้องสอบจริงๆ เลย คือ  ห้องเงียบๆ แล้วก็จับเวลาในการทำ เกลจะไล่ทำจากปีเก่าๆ ก่อน แล้วปีใหม่ๆ เก็บไว้ทำทีหลัง จะเหมือนฝึกตัวเองครั้งสุดท้ายก่อนสอบจริงด้วย

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ BMAT Ninja เหมือนเว็บที่รวมข้อสอบเก่าเนี่ยแหละค่ะ แต่มันจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เรา พาร์ต 1-2-3 แล้วแต่พาร์ตจะแบ่งเป็นแต่ละรายวิชา  แบ่งเป็นหัวข้อ แบ่งเป็น Topic สมมติิเราไม่เข้าใจหัวข้อไหน ก็เลือกฝึกเฉพาะโจทย์ในหัวข้อที่เราไม่เข้าใจได้ Function เขาค่อนข้างดี ข้อเสียคือจะมีไปเอาข้อสอบที่โจทย์คล้ายๆ BMAT แต่ไม่ใช่ BMAT มาด้วย แต่ก็มีไม่เยอะค่ะ

Q : เทคนิคในการเขียน Essay ฉบับน้องเกล

คุณครูที่โรงเรียนช่วยเช็ก Essay และแนะนำเทคนิคการเขียนให้ คือวิทยาลัยฯ เขาต้องการ 800 - 1,000 คำ เกลให้คุณครูที่โรงเรียนช่วยอ่าน ช่วยเช็กให้ค่ะ เกลก็มีค่อนข้างหลาย Draft เหมือนกัน  พอให้คุณครูเช็ก ก็มี feedback กลับมา ก็แก้ใหม่ ส่งไปส่งกลับหลายรอบอยู่

เกลเริ่มเขียนจากเขียน bullet point  ก่อนค่ะ ซึ่งตอนแรก list มาว่าจะเขียนอะไร มันก็เยอะมาก เขียนจริงๆ ต้องไม่เกิน 1,000 คำ ซึ่งพอให้ครูเช็ก ครูก็มี  feedback ว่าแบบอันนี้พรรณนามากเกินไป ไม่ค่อยตรงกับคำถาม หรือเกลเขียนอันนี้ไปแล้วมันโชว์ skills อะไร ก็เลยต้องตัดพวก detail ย่อยๆ ออกค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แล้วครูก็ให้คำแนะนำมาอย่างนึง คือ มหาวิทยาลัยถามคำถามแบบนี้แต่ที่จริงๆ มหาวิทยาลัยต้องรู้อะไร พวกแบบ character พวก quality  ของเราเป็นยังไง ตรงตามที่มหาวิทยาลัย หรือแพทย์ต้องการยังไง ครูก็เลยแนะนำเกลใส่ quality ไปในทุกพารากราฟของ essay เช่นแบบ อ่อนน้อมถ่อนตน, สามารถทำงานภายใต้แรงกดดันได้, มีวินัย ความเป็นระเบียบ ความอดทน,  Resilience (ล้มแล้วสามารถลุกให้ได้) แล้วที่สำคัญคือ communication การอ่าน การเขียน แล้วความยากคือ ในขณะเดียวกันเกลก็ต้องตอบให้ตรงกับคำถามด้วย

Q : รีวิวการสอบสัมภาษณ์แบบ MMI

ตอนที่เตรียมตัวทำ MMI  เกลหาความรู้รอบตัวค่อนข้างเยอะ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะถามเกี่ยวกับอะไร เท่าที่ได้ยินมา บางครั้งก็ถามเกี่ยวกับจริยธรรม หรือความรู้รอบตัว เกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมือง อย่างแบบมีปีนึงเขาถามว่า จะพัฒนาชุมชนหลักสี่ยังไง (วิทยาลัยตั้งอยู่ตรงนั้น) ซึ่งถ้าไม่รู้จักพื้นที่ ไม่มีข้อมูล ก็จะตอบไม่ได้ เกลก็กลัวตรงนี้ เพราะว่าคิดว่าความรู้รอบตัวของเกลไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ก็ต้องเตรียมตัวทางนี้ค่อนข้างเยอะด้วย หรือจะมีเกี่ยวกับหลักสูตรที่เรียน คือเป็นหลักสูตรที่ต้องการผลิตแพทย์ที่เป็น CRA Doctor ซึ่งก็ต้องรู้ว่า CRA Doctor มีคุณสมบัติอย่างไร เกลก็เตรียมตัวตรงนี้ไป โชคดีของเกลเขาไม่ได้ถามลึกมา เป็นความรู้รอบตัวทั่วๆ ไป

ส่วน MMI ของเกลเป็นออนไซต์ จะมีห้องสัมภาษณ์จริงๆ  7 ห้อง ห้องพักอีก 2 ห้อง เขาเรียกมาสัมภาษณ์ประมาณ 60 กว่าคน แบ่งเป็นกลุ่มทีละ 9 คน หมุนเวียนตามห้องตอบคำถามต่างๆ ไป เกลจำได้ว่าตื่นเต้นมาก เพราะเคยได้ยินมาจากหลายคนว่า บางที่กรรมการสัมภาษณ์จะโหด เหมือนพยายามจะซักเรา เหมือนจะดูว่าถ้าโดนกดดัน เราจะทำยังไง จะหลุดไหม แต่ว่าก็ได้ยินเหมือนกันว่าที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อาจารย์ใจดี แล้วก็ค่อนข้างที่จะ friendly ไม่เหมือนที่อื่น แต่ว่าด้วยความที่ได้ยินมาอยู่แล้ว ก็ยังกังวลอยู่ดีค่ะ

ในแต่ละห้องเขาก็จะมีคำถาม มี Topic ไม่เหมือนกัน ในหนึ่งห้องเขาก็จะให้เวลา 8 - 10 นาที บางห้องก็ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ บางห้องก็มีโจทย์เป็นภาษาไทย  ให้ตอบเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่เคยได้ยินมาว่า หลักสูตรของเกล เข้าเน้นให้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเดี๋ยวต้องมีไปเรียน UCL

อย่างเช่น ห้องนึงเกี่ยวกับ Role play ห้องนึงเป็นห้องจิตวิทยา ห้องนึงเป็นการเช็กพอร์ตของเรา เราเข้าใจพอร์ตจริงหรือเปล่า เป็นคนทำพอร์ตอันนี้จริงหรือเปล่า 

ห้องนึงเขาให้เล่นเกม เป็นเกมทำหัตถการ แต่เราไม่ต้องรู้เบสิกของหัตถการมาก่อนนะคะ มันจะมี instruction ให้เลยว่า เอาสำลีไปชุบแอลกอฮอล์ตรงนี้ มาเช็ดแขนผู้ป่วยตรงนี้ เกลก็เหมือนแค่กดปุ่มเลื่อน ตามเกม ซึ่งก็จะมีบอกอยู่นะคะว่าต้องกดตรงไหน แต่ก่อนเล่นเกม ตัวเกมจะมีเล่าให้ฟังว่า ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพราะแบบนี้ๆ แล้วก็ให้เราทำหัตถการแบบนี้ๆ เหมือนน่าจะทดสอบเราว่าเราได้อ่านไหม เพราะตอนเล่นเกมไป อาจารย์ก็จะถามว่า ผู้ป่วยเป็นอะไร ทำไมถึงมาโรงพยาบาล อะไรแบบนี้ค่ะ

ห้องนึงเกี่ยวกับ research  อย่าง ของเกล โดนคำถามที่ว่า ช่วงนี้เกิดเหตุการณ์ของ COVID ขึ้น  ทำให้นิสัยการล้างมือของหลายๆ คนเปลี่ยนไป ก็คือ ล้างมือมากขึ้น ด้วยความที่ล้างมือมากขึ้น ก็จะเกิดโรค Hand Eczema ได้ เขาก็ให้แพลนโครงการวิจัยขึ้นมา ว่าเราจะหาสาเหตุของโรคนี้ในชุมชนได้ยังไง เกลก็ต้องอธิบายไปว่า เกลอาจจะไปชุมชนที่นี่ แล้วก็ทำเป็นเซอร์เวย์  ซึ่งทำเป็นแบบ diabetic sampling  ก็คือค่อนข้างละเอียด แล้วในเซอร์เวย์ก็จะต้องมี Open Ended Question (คำถามปลายเปิด), Close Ended Question (คำถามปลายปิด) เหมือนพยายามอธิบายการแพลน กระบวนการคิดของเราให้ได้มากที่สุด  มันค่อนข้างกดดัน เหมือนอาจารย์จะจ้องเราอยู่ด้วย แต่อาจารย์ใจดีจริงๆ ค่ะ

Q : ตอนนี้มีแฟนๆ เรียกคุณหมอเกล บ้างไหม รู้สึกอย่างไร

เห็นบ้างในโซเชียลมีเดียค่ะ แต่เวลาเกลอ่าน ก็ไม่ได้คิดมากอะไร เรียกได้ แต่ถ้าเป็นอย่างรุ่นน้องที่โรงเรียนก็จะมีเรียก คุณหมอพี่เกล เกลก็จะมีแซวๆ กลับว่ายังไม่ได้เป็นหมอเลยค่ะ

Q : สุดท้าย ฝากถึงน้องๆ ชาว Dek-D ที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยหน่อย

อยากเป็นกำลังใจให้น้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนที่กำลังจะเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ช่วงนี้อาจจะช่วงที่หนักนิดนึง  ยุ่งวุ่นวาย ต้องรับบทหลายอย่าง ที่โรงเรียนอาจจะมีสอบด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ก็จะยุ่งนิดนึง เกลเชื่อว่าถ้าผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ มันก็จะมีความภาคภูมิใจ เวลามองย้อนกลับไปว่า มันหนักนะ แต่เราก็ผ่านมาได้นะ สุดท้ายเกลอยากให้ทุกคนมีความมุ่งมั่น ความพยายาม และขอให้ได้ทำตามเป้าหมายที่ตัวเองได้ตั้งไว้

 

โอโหหห ละเอียดสุดๆ ไปเลยใช่ไหมคะ ใครที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถนำเทคนิคต่างๆ ของพี่เกลไปปรับประยุกต์ใช้ได้เลย แอบกระซิบเพิ่มอีกนิดว่า ปี 67 นี้ราชวิทยาลัยฯ จะเปิดรับใน กสพท เป็นปีแรกด้วย

 

EP. 1 : มาทำความรู้จักพี่เกล-โสพิชา อัปเดตการทำงาน พร้อมล้วงเทคนิคการทำ Portfolio
EP. 1 : มาทำความรู้จักพี่เกล-โสพิชา อัปเดตการทำงาน พร้อมล้วงเทคนิคการทำ Portfolio
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น