เด็กคนไหนสมดุลหรือไม่สมดุล อาจใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้
แนะนำแบบประเมิน เช็กความสมดุลของลูก โดย สสส.

การเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็กจนโตนั้นน่าจะเป็นเหมือนภารกิจที่มีความท้าทายของพ่อแม่ ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็มีความยากง่ายต่างกันไป สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี นั้นถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่ร่างกายมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงสูงมาก โดยเปลี่ยนจากเด็กเล็กไปสู่เด็กโตและเตรียมไปสู่วัยรุ่น รวมถึงเป็นช่วงวัยของการไปโรงเรียนแบบเต็มตัว ต้องปรับวิถีชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละวันเพื่อการเรียนรู้และทำกิจกรรมที่โรงเรียนเป็นหลัก

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงวิถีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว  และอาจจะไม่ทันได้สังเกตว่า ลูกกำลังมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่สมดุลจนอาจส่งผลเสียในระยะยาวหรือเปล่า

การจะดูว่าเด็กคนไหนสมดุลหรือไม่สมดุล อาจใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้

เพราะเหตุนี้ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” ได้ออกแบบเครื่องมือมาช่วยพ่อแม่ เพื่อตรวจเช็กความสมดุลของลูก ด้วย แบบประเมินความสมดุลของเด็ก ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความสมดุลสามด้านสำคัญ คือ กิจกรรมทางกาย กินอาหารดีมีประโยชน์ และ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ มีร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย มีสติปัญญาและอารมณ์ดี ลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะดื้ออินซูลิน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น

ผลการประเมินจาก แบบประเมินความสมดุลของเด็ก จะช่วยให้รู้ว่าลูกของเรานั้นยังขาดความสมดุลตรงจุดไหน ด้านไหนสมดุลดีแล้วควรสนับสนุนต่อไป หรือด้านไหนยังต้องปรับปรุง

ลองประเมินความสมดุลแบบง่ายๆ ใช้เวลาไม่นาน 

เพียงคลิกเข้าที่เว็บไซต์  https://balancekids.activekidsthailand.com  ก็จะพบ แบบประเมินความสมดุลของเด็ก  หน้าแรกจะเริ่มต้นด้วยการกรอกข้อมูลทั่วไปของลูก ได้แก่ เพศ วันเดือนปีเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบเอว

          จากนั้นเริ่มเข้าสู่ การประเมินความสมดุลด้านการวิ่งเล่น โดยผู้ปกครองจะต้องใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนนาที ที่เด็กๆ ได้มีกิจกรรมทางกายตามปกติในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่ได้ทำในวันธรรมดา (จันทร์ถึงศุกร์) และกิจกรรมในวันหยุด (เสาร์อาทิตย์) ได้กรอกแบบนี้ก็จะได้เช็กว่า ในหนึ่งวันลูกได้วิ่งเล่นออกกำลังกายถึง อย่าง  60 นาที ตามเกณฑ์ความสมดุลหรือไม่

ส่วนต่อไปคือ การประเมินความสมดุลด้านการกิน ซึ่งเป็นการใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนมื้ออาหาร อาหารว่าง ขนม นม และน้ำเปล่า ที่เด็กๆ ได้รับตามปกติในแต่ละวัน โดยจะแบ่งการประเมินเป็นช่วงวันธรรมดาและวันหยุด การกินอาหารครบ 5 หมู่ให้ครบ 3 มื้อต่อวันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในวิถีเร่งรีบของเช้าวันธรรมดาที่ต้องไปโรงเรียนทำให้เด็กๆ หลายคนกินมื้อเช้าไม่ทัน ซึ่งส่งผลเสียหลายอย่างตามมา เช่น ขาดพลังงานไปทำกิจกรรมต่างๆ ขาดสมาธิในการเรียนเพราะท้องหิว หรือทำให้สมองไม่สดชื่น จดจำและเรียนรู้ได้ไม่ดี

และส่วนสุดท้าย คือ การประเมินความสมดุลด้านการนอน ผู้ปกครองเพียงใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ พฤติกรรมการเข้านอนและตื่นนอน ของลูกในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็นช่วงวันธรรมดาและวันหยุด การเข้านอนหัวค่ำและนอนให้พอ 9-12 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายของเด็กได้รับโกรทฮอร์โมนอย่างเต็มที่ ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต โดยควรจะทำเป็นประจำสม่ำเสมอ สร้างนิสัยนอนหัวค่ำและตื่นเช้าทุกวัน เพราะการนอนดึกในวันธรรมดาแล้วค่อยไปนอนชดเชยในวันหยุด หรือการคิดว่านอนดึกตื่นสายในวันหยุดได้เพราะไม่ต้องไปโรงเรียน อาจสร้างนิสัยการนอนที่ไม่ดี ทำให้พลาดช่วงเวลาทองของโกรทฮอร์โมนติดต่อกัน ถึงแม้จะดูไม่เป็นอะไรในวันนี้ แต่พอรู้ตัวอีกทีลูกอาจมีส่วนสูงตกเกณฑ์ได้

เมื่อกรอกข้อมูลครบทั้งสามด้าน ระบบจะ สรุปผลการประเมิน ออกมาโดยแบ่งเป็น ข้อมูลด้านส่วนสูงและน้ำหนักเมื่อเทียบกับเกณฑ์ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบส่วนสูงกับน้ำหนักแล้วเด็กมีรูปร่างอ้วน เมื่อเทียบส่วนสูงกับอายุถือว่ามีส่วนสูงตามเกณฑ์ และเมื่อเทียบน้ำหนักกับอายุแล้วมีน้ำหนักตามเกณฑ์

ผลการประเมินยังบอกถึง ความสมดุลของพฤติกรรมสุขภาพ ผ่านข้อมูลพฤติกรรมทั้งสามด้าน “วิ่งเล่น-กินดี-นอนพอ” และสรุปออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยมว่าเด็กมีสามเหลี่ยมที่สมดุลหรือไม่ และมีผลเปอร์เซ็นต์ของแต่ละด้าน พร้อมคำแนะนำเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมต่อไป

เราเข้าใจดีว่าการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ทุกอย่าง แต่ความสมดุลสามด้าน “วิ่งเล่น-กินดี-นอนพอ” ถือเป็นพื้นฐานพฤติกรรมที่สำคัญที่หากเราช่วยกันส่งเสริมให้สมดุลได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้เติบโต แข็งแรง สมวัย และมีพัฒนาการที่ดีได้

รู้วิธีสร้างสามเหลี่ยมสมดุลเพิ่มเติมที่ 

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :  

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : https://socialmarketing.thaihealth.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น