สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนครับ ช่วงนี้เกือบทุกบริษัทมีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน โรงเรียนก็เปิดไม่ได้ ทำให้ต้องอยู่บ้านกันไปยาวๆ ส่วนเด็กจบใหม่ปกติก็หางานยากอยู่แล้ว พอเป็นยุคโควิดยิ่งหางานยากเข้าไปใหญ่ และถ้าน้องๆ คนไหนที่กำลังเรียนหรือเรียนจบสายภาษา ไม่ว่าจะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ แม้ว่าจะได้ผลกระทบเรื่องการทำงาน แต่พวกเราก็ยังมีข้อได้เปรียบเรื่องงานฟรีแลนซ์ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และไม่จำเป็นต้องทำงานบริษัทเสมอไป เรียกว่ากักตัวนั่งทำงาน work from home ก็มีรายได้เข้ารัวๆ
แต่ถ้าจะพูดถึงงานแปลก็คงธรรมดาไป วันนี้พี่วินเลยพาไปรู้จักกับ 10 งานฟรีแลนซ์ที่สายภาษาแบบเราสามารถทำได้ พูดเลยว่าบางงานเห็นแล้วต้องร้องว่า เห้ย มีงานแบบนี้ด้วยเหรอเนี่ยย!
1. เขียนคอนเทนต์
ทุกวันนี้รอบตัวเรามีเรื่องราวให้เขียนมากมายเลย เหมือนกับว่าโลกหมุนเร็วขึ้น มีข้อมูลข่าวสารมากมาย นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้เราเขียนคอนเทนต์เยอะมาก ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ หรือบนแพลตพอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันไป อย่าง Facebook เราสามารถเขียนบทความได้ง่ายๆ ไม่จำกัดความยาว ส่วน Twitter เห็นจำกัดตัวอักษร แต่เราก็สามารถสร้างคอนเทนต์เขียนสรุปเป็น thread ได้เหมือนกัน (เน้นใช้คำน้อยที่สุด แต่ต้องดึงความสนใจผู้อ่านให้ได้) หรือถ้าใครเน้นอยากใช้รูปภาพเล่าเรื่องไปด้วย Instagram ก็จะตอบโจทย์มากกว่า
การเขียนคอนเทนต์ไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะต้องเป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้เสมอไปนะครับ น้องๆ ยังสามารถเขียนคอนเทนต์ได้สารพัดหัวข้อ ใครอยากรีวิวสินค้า เขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจ หรือเขียนให้คำแนะนำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราถนัดก็ได้หมด ฉะนั้นแล้ว ถ้าเป็นคนชอบเล่าเรื่อง มีความรู้แล้วอยากแบ่งปันงานนี้ถือว่าตอบโจทย์มากๆ เลยครับ (อย่างพี่วินเองก็มีเพจของตัวเองไว้เขียนคอนเทนต์เหมือนกัน // ใครที่กำลังคิดว่าพี่วินขายเพจตัวเอง ใช่ครับ เข้าใจถูกแล้ว ลองเข้าไปดูเล่นๆ ได้ที่เพจไอจี @kan_tsing นะครับ)
ในด้านของราคาจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น
- ความยาวของบทความ: ถ้าเนื้อหายาวมาก ราคาก็จะสูงขึ้น บางที่ใช้วิธีบวกเพิ่มจากเรตตั้งต้น เช่น เรตตั้งต้น 3 หน้า 400 บาท ถ้าเกิน อาจบวกเพิ่มอีก 50 บาทเป็นต้น (บางทีก็กำหนดจำนวนคำไปเลย)
- ประเภทของเนื้อหา: ถ้าเนื้อหายาก มีความเฉพาะทางมากๆ คนทำก็อาจจะเรียกราคาสูงขึ้น เพราะเขาต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมนั่นเอง
- ระยะเวลาทำก่อนส่งงาน: ถ้าใช้ด่วน ราคาก็อาจจะสูงขึ้นได้ (ลูกค้าเงินหนา ก็เสกงานให้อย่างไวเลยจ้า)
- ภาษา: งานไหนต้องมีการแปลก็บวกราคาไปได้อีกครับ
นอกจากนี้ ถ้าใครมีความสามารถในการทำกราฟิกประกอบบทความ ก็ยิ่งได้เปรียบและสามารถเรียกราคาได้ขึ้นอีกเยอะเลยครับ
2. ทำเรซูเม่
เป็นอีกงานหนึ่งที่เรียกได้ว่ามีงานเข้าอยู่ตลอด เพราะทุกๆ ปีจะต้องมีนักศึกษาจบใหม่ใช้ resume, CV รวมถึงพอร์ตในการสมัครงานเช่นกัน ถึงแม้ว่าทุกวันนี้มีเว็บไซต์ทำสำเร็จรูปได้ง่ายๆ เพียงแค่กรอกข้อมูลเข้าไปก็เป็นอันเสร็จ แต่สิ่งที่ทางเว็บไซต์ทำให้เราไม่ได้และเป็นสิ่งที่เด็กสายภาษามีก็คือ ความแม่นยำเรื่องแกรมมาร์ และความครีเอตในการใช้ภาษา นอกจากนี้ยังมีโอกาสถูกปัดตกอีกด้วย เพราะนอกจากจะดูออกว่าเป็นภาษา AI แล้ว มันยังสื่อถึงความตั้งใจของเราจริงๆ ด้วย อย่าลืมนะครับ HR แต่ละบริษัทเขาผ่านการอ่านเรซูเม่มานับไม่ถ้วน ยังไงก็ดูออกแน่นอนนน
สำหรับเรตราคา เท่าที่พี่ลองไปหามาคือ หลายที่เริ่มต้นที่ 350 บาท ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอาจจะเพิ่มเป็น 400 บาทขึ้นไป ส่วนตัวพี่เองมองว่าแม้ราคาอาจจะสูงไปนิด แต่ถ้างานที่ได้ออกมาดีและช่วยให้มีโอกาสในด้านการเรียนและการงาน ก็เป็นตัวช่วยที่คุ้มเหมือนกันครับ ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มรับจ้างทำใหม่ๆ อาจลองลดราคาลงมาหน่อยก็ได้ หรือถ้ามั่นใจแล้วก็ตั้งราคาเรตทั่วไปเลย
3. ทำสไลด์
ใครที่เวลาทำงานกลุ่มแล้วต้องเป็นคนทำสไลด์ทุกที (ทำฟรีจนเชี่ยวชาญ) โอกาสของคุณมาถึงแล้ว เพราะว่าการรับจ้างทำสไลด์ก็เป็นงานได้เหมือนกัน!
เวลาทำสไลด์จะต้องอาศัยทั้งความสามารถในการสรุปใจความสำคัญและย่อยเนื้อหาให้อ่านง่ายขึ้นด้วย เพราะหากใส่เนื้อหาทั้งหมดลงไปจะไม่น่าอ่าน และลดความน่าสนใจของงานลงไปอย่างน่าเสียดายเลยครับ นอกจากนี้ยังมีอีกทักษะที่ควรมาคู่กันคือ 'การออกแบบ' เพราะสีก็คือภาษารูปแบบนึงเหมือนกัน อย่างเช่นข้อมูลที่เด่นๆ ควรเน้นด้วยสีโทนร้อน อย่างสีแดง สีส้ม สีเหลือง เป็นต้น
สำหรับเรตทั่วไปจะอยู่ที่ 400-500 บาทเลย ซึ่งถือว่าสูงมากๆ แล้ว แต่ถ้าสมมติเรามีโปรไฟล์ และมีโอกาสได้สไลด์ให้กับงานใหญ่ๆ เช่น งานวิชาการระดับชาติ งานพรีเซนต์บริษัท ก็อาจจะได้เงินหลายพันเลยครับ! (ลูกค้าบางคนคือเปย์หนักสุดๆ)
4. ทำชีทสรุปขาย
เชื่อว่าทุกโรงเรียนจะต้องมีเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อแห่งสรุป สำหรับใครที่ชอบทำสรุปให้เพื่อนบ่อยๆ นี่คือช่องทางทำเงินที่ดีเลยครับ ตอนแรกพี่เข้าใจว่ามีแต่คนที่ทำชีทสรุปขายในนามตัวเอง จนมาเจอเว็บ moresheet.co ถึงได้รู้ว่าวงการนี้เล่นใหญ่กว่าที่คิดไปอีก เท่าที่ไปเช็กราคาบนเว็บคือมีราคาตั้งแต่ 2 บาทถึงหลักร้อย บางอันฟรีเลยก็มี (ตัวแปรหลักๆ คือเนื้อหาและความยาว) ส่วนรายได้จากการขายชีท ถ้ายกตัวอย่างเว็บข้างต้นเขาจะเก็บส่วนแบ่ง 60% จากเงินที่ได้จากการขายชีทสรุปของเราครับ
แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเอาชีทสรุปของเราไปขายกับทางเว็บเสมอไปก็ได้ครับ อาจจะต่อยอดจากการทำเพจคอนเทนต์สอนภาษาในเฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิต เริ่มแรกอาจจะทำแจกก็ได้ครับหรือที่เรียนกันว่า ‘giveaway’ และพอเราทำไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเริ่มขายชีทได้ แค่นี้เราก็ได้เงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องหารใครแล้ว
สิ่งที่คนทำชีทจะต้องมีอย่างแน่นอนเลยคือความรู้และความถูกต้องของข้อมูล ถ้าเราให้ข้อมูลผิดๆ ไป ผลกระทบนอกจากจะทำให้เราเสียเครดิตแล้วยังทำให้คนอ่านได้ข้อมูลไปผิดๆ อีก และอีกอย่างที่สำคัญเลยก็คือทักษะการใช้ภาษา เชื่อว่าหลายๆ คนเลือกที่จะอ่านสรุปของเพื่อนเพราะอ่านแล้วเข้าใจมากกว่าอ่านหนังสือเรียน ดังนั้นแล้วใครที่คิดจะทำชีทก็ควรคำนึงว่าคนอ่านเข้าใจสิ่งที่เราเขียนลงไปหรือไม่ครับ
5. คีย์ข้อมูล
ฟังเผินๆ ดูเป็นงานแสนธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่จริงๆ สำคัญมากนะครับ นอกจากการคีย์ข้อมูลส่วนตัวหรือตัวเลขแล้ว บนโลกใบนี้ยังมีข้อมูลยากๆ พิศดารๆ ให้เราพิมพ์อีกเยอะ เช่น พินอินจีน สมการคณิตศาสตร์ สูตรเคมี ฯลฯ ซึ่งเราอาจเรียกค่าตอบแทนสูงขึ้นได้อีกเพราะมันพิมพ์ยากกว่าตัวหนังสือทั่วไปนอกจากนี้ในแง่ของทักษะ อาศัยพิมพ์เร็วอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะบางครั้งอาจได้รับเอกสารเป็นลายมือเขียน ทำให้เราต้องงัดทักษะการแกะลายมือด้วย หรือถ้าได้ภาษาต่างประเทศก็อาจได้ค่าจ้างสูงขึ้นตามไปด้วยนะครับ
สำหรับเรื่องราคานะครับ พี่วินลองไปสำรวจพบว่าราคาจะเป็นแบบเหมารวม เริ่มต้นที่ประมาณ 250 บาทต่อหนึ่งงาน (1-5 หน้า รวมจำนวนครั้งที่สามารถแก้งานให้ได้) หรือหากงานง่ายๆ หน่อยก็คิดเป็นหน้าก็จะตกประมาณหน้าละ 10 บาท ถ้าใครพิมพ์เร็วๆ เก่งๆ อาจลองรับงานทางนี้ก็ได้นะครับ ส่วนพี่วินคงต้องขอผ่านไปก่อน เพราะพี่พิมพ์ช้ามาก TT
6. เขียนแคปชันโซเชียลมีเดีย
ถ้าเปรียบเทียบคอนเทนต์เหมือนอาหารจานหลัก แคปชั่นก็คืออาหารเรียกน้ำย่อย appetizer ที่ดีจะนำไปสู่ main course ฉันใด caption ที่ดีก็นำไปสู่คอนเทนต์ของเราฉันนั้น ดังนั้นจึงเป็นงานที่สำคัญไม่แพ้การสร้างคอนเทนต์เลยครับ
ทักษะสำคัญอย่างแรกที่ควรมีหากต้องการเขียนแคปชัน ก็คือทักษะการโน้มน้าวใจผู้อ่านครับ จะทำยังไงเพื่อตรึงความสนใจของผู้อ่านด้วยคำพูดสั้นๆ ไม่กี่คำ ลองนึกถึงคำโปรยของหนังสือก็จะเห็นภาพชัดเจนเลยครับ นอกจากนี้ ถ้ารู้จักเล่นคำก็อาจจะช่วยให้แคปชันของเราเก๋มากขึ้น ยิ่งเป็นคนตามเทรนด์โซเชียล รู้ว่าตอนนี้คนกำลังสนใจและพูดถึงเรื่องอะไร มีคลังศัพท์เก๋ๆ ไว้เกาะกระแส ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสได้งานมากขึ้นไปอีก
ส่วนเรื่องของราคา อันนี้แล้วแต่คนจะคิดเลย บางคนเขียนให้ 1-3 ประโยคต่องานและคิดประมาณ 350 บาท บางคนทำให้เลย 5 แคปชัน 500 บาท (ไม่เกิน 7 บรรทัด) บางคนก็ตั้งราคาหลายพัน เพราะอาจจะทำกราฟิกหรือถ่ายภาพให้ด้วยเป็นแพ็กเกจ พี่แนะนำว่าให้ลองเก็บข้อมูลของแต่ละเจ้าแล้วปรับราคาให้เหมาะกับความสามารถของเราจะดีที่สุดครับ
7. ถอดเทป
บอกเลยครับว่าการถอดเทปไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะว่าเรามีโอกาสจะเจอกับไฟล์เสียงหลายล้านแบบเลย บางอันได้ยินติดๆ ขัดๆ ไม่ค่อยชัด เสียงรบกวนเยอะมาก บางไฟล์ฟังแล้วจะหลับจนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไปอีก (นี่แหละที่เขาบอกว่า มารไม่มี บารมีไม่เกิด ความง่วงก็เป็นมารรูปแบบหนึ่ง) หรือต่อให้เจอไฟล์เสียงแบบดีๆ ไม่มีอุปสรรคมากล้ำกราย ก็ใช่ว่าจะถอดเทปได้เท่าเวลาที่อัดไว้นะครับ ลองนึกถึงตอนเรียนที่อาจารย์ให้ดูคลิปเรียน หลายครั้งเราต้องกลับไปฟังใหม่เพราะฟังไม่ทัน ยิ่งถ้าเป็นภาษาต่างประเทศคือวนกลับไปที่เดิมหลายรอบเลย ด้วยปัญหาที่ว่ามานี้จึงทำให้อาชีพถอดเทปสำคัญมากกก ต้องงัดทั้งความถึกทนเฉพาะตัวและสกิลภาษาในบางกรณี
สำหรับเรตราคาถอดเทป บางเจ้าคิดชั่วโมงละ 500 บาท ถ้าเกินคิดนาทีละ 9 บาท หากถอดเทปภาษาต่างประเทศราคาจะสูงขึ้นอีกครับ และหากถอดเทป+แปลจากที่ถอดเทปอีก บางคนก็อาจคิดนาทีละ 25 บาท // แต่งานถอดเทปไม่ได้มีแค่นี้ครับ เพราะยังรับจ้าง paraphrase ได้ด้วย บอกได้เลยว่ารวยเละ!
8. แปลซับไตเติล
ขึ้นชื่อว่าการแปล จะแปลแค่ไม่กี่ประโยคหรือยาวเป็นบทความก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ เพราะว่าในความเป็นจริงคือ เราต้องเข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทาง แล้วเรียบเรียงออกมาให้สละสลวยและรักษาใจความสำคัญของต้นฉบับให้มากที่สุด หรือบางกรณีที่ท้าทายมากๆ ก็เช่นหากต้องแปลมุกตลกที่รู้กันในวัฒนธรรมนั้น (แต่สังคมของผู้ใช้ภาษาปลายทางจะไม่เก็ตหรือไม่ขำ) เราอาจถึงขั้นต้องคิดมุกใหม่ที่มาเทียบเคียงเลยทีเดียวครับ
สำหรับในกลุ่มงานแปล งานแปลซับไตเติล (subtitle) ถือว่าค่าตอบแทนดีพอสมควรเลยบางคนอาจคิดค่าเป็นรายนาที เช่น เริ่มต้น 5 นาที 700 บาท แต่ถ้าเกินจากนั้นคิดนาทีละ 20-30 บาท // ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ บอกเลยว่ารายได้ดีและมีช่องทางให้ทำเยอะด้วย เช่น อนิเมะญี่ปุ่น ซีรีส์จีนหรือเกาหลี ทุกวันนี้ก็บูมในไทยหนักมากกกตามกระแสแต่ละช่วง ถ้าใครชอบเสพสื่อบันเทิงขอแนะนำเลยครับ เพราะถือว่าได้หาเงินพร้อมทำงานอดิเรกไปในตัว
ใครที่อยากเริ่มรับจ้างแปลซับ แนะนำว่าให้ลองหาคลิปในยูทูบมาทำซับเพื่อเก็บเป็นพอร์ตให้กับตัวเอง พอเรามีพอร์ตแล้วก็อาจจะสร้างเพจผลงานของตัวเองเลย เช่น instagram หรือ facebook คนจะได้เห็นผลงานของเราง่ายขึ้น
9. รับเขียน abstract
Abstract หรือ “บทคัดย่อ” เป็นส่วนสรุปของบทความวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ความหมายก็ตามตัวเลยครับว่าเอาบทความมา “คัด” และ “ย่อ” โดยส่วนมากแล้วจะยาวแค่ครึ่งหน้าถึงหน้าเดียวเท่านั้น ในแง่ปริมาณฟังดูน้อย แต่ได้เงินดีมาก! เท่าที่พี่ไปเจอมา ถ้าแปลบทคัดย่อจากอังกฤษเป็นไทยจะได้ตกงานละ 400 บาท แต่ถ้าแปลจากไทยเป็นอังกฤษก็จะราวๆ 500 ไปจนถึงหลักพัน หรือถ้าเป็นกรณีให้เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ค่าตอบแทนจะตก 400-500 บาทตามลำดับครับ // พี่วินแนะนำว่าให้ตั้งราคาสูงๆ ไว้ก่อน (อาจจะซัก 1,000 บาท) เพราะเรายังไม่รู้ว่าวิจัยที่เราจะได้ทำนั้นยากแค่ไหน รอให้เขาต่อรองราคามาก่อน แล้วเราค่อยดูความเหมาะสม
อาจจะมีคนสงสัยว่าจะมีคนจ้างเขียน abstract อย่างเดียวจริงๆ หรอ คำตอบคือ “มีครับ” ถ้าน้องๆ ลองได้เปิดบทความวิชาการบ่อยๆ ก็จะเห็นว่ามีหลายๆ บทความเลยที่เขียนไว้เป็นภาษาไทย แต่มีบทคัดย่อทั้งสองภาษา บางคนก็คิดว่าจะจ้างคนอื่นทำส่วนนี้แล้วเอาเวลาไปทำงานส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวิจัยของตัวเองก็มีครับ หลักๆ แล้วทักษะภาษาที่น่าจะได้ใช้กับงานนี้คือการสรุปความ เพราะเราต้องอ่านบทความหลายสิบหน้า และเขียนย่อให้เหลือแค่หน้าเดียว แถมยังต้องใช้ภาษาวิชาการที่ยากกว่าภาษาที่เราใช้ทั่วไปพอสมควร (ถึงเป็นภาษาไทยก็ไม่ง่าย) ฉะนั้นใครที่เก่งภาษาและสรุปเก่งๆ งานนี้อาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ครับ
10. ทำ research
หากเป็นการรับทำ abstract จะต้องรอให้ตัววิจัยเสร็จก่อน แต่ถ้าทำ research จะสลับกัน โดยเราจะต้องช่วยหาข้อมูลต่างๆ นานามาเพื่อใช้ทำวิจัยในขั้นต่อไป
งานนี้ฟังดูกว้างมากเพราะวิจัยก็มีหลายแบบแล้วแต่ศาสตร์ มีกระบวนการหลายอย่างให้ทำ นอกจากหาข้อมูลแล้วยังอาจได้วัดค่าที่ใช้ทดลอง เก็บข้อมูลกับคน หรืออาจหมายรวมการทำบรรณานุกรมด้วย และๆๆๆ งานวิจัยบางประเภท เพียงเราเข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างการทดลองวิจัยก็ได้เงินเหมือนกัน เราได้เงิน เขาได้ข้อมูล win-win เลยครับ
สำหรับเรตราคางานลักษณะจะขึ้นอยู่กับความยากง่าย ถ้าไปเข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างก็อาจได้สัก 100-200 บาทขึ้นไป ถ้าช่วยหาข้อมูลหรือวัดค่าต่างๆ อาจมากกว่านั้นอีก (พี่วินช่วยระบุราคาที่แน่นอนไม่ได้เพราะงานหลากหลายมากจริงๆ ครับ)
นอกจากนี้บางคนยังช่วยอาจารย์ทำวิจัย ซึ่งเขาจะประเมินค่าตอบแทนให้ตามชั่วโมงที่ทำ อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยควรระวังการโดนกดราคาหรือโดนเบี้ยว(แม้จะเป็นอาจารย์ก็ตาม)นะครับ ส่วนมุมผู้จ้างทำนั้น หากแค่ให้คนอื่นช่วยเก็บข้อมูลก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่าถึงกับจ้างคนอื่นทำวิทยานิพนธ์เลย เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องมาสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Defense) ก่อนจบ ซึ่งจะลำบากมากหากเราไม่แม่นเนื้อหางานของตัวเองมากพอ แล้วอาจารย์ก็สามารถสังเกตได้ไม่ยากด้วยนะครับ ดังนั้นทำเองดีที่สุด!
ว่าแต่เราจะรับจ้างทำ research ได้จากช่องทางไหนบ้าง? อาจเริ่มต้นจากลองหารุ่นน้องที่ต้องทำ research ส่งก็ได้ อย่างถ้าเป็นวิทยานิพนธ์หรือ IS เราอาจจะรับจ้างรุ่นน้องในการหาข้อมูล ถ้าสมมติว่าเป็นภาษาต่างประเทศแล้วคนที่จ้างเราอ่านไม่ออก เราก็สามารถช่วยเขาอ่านข้อมูลและสรุปให้เขาได้ (แน่นอนว่าได้เงินครับ) ราคาก็แล้วแต่จะคุยกันเลยยยย
......
งานแต่ละอย่างที่พี่วินหยิบมาให้ดูเป็นงานที่สำคัญๆ ทั้งนั้นเลย อย่างไรก็ตาม เรื่องการตั้งราคา ควรจะลองหามาตรฐานในแต่ละวงการว่าควรจะตั้งเท่าไหร่ ไม่แพงหรือถูกเกินไปเพราะหากตั้งเรตไว้ต่ำมากอาจส่งผลต่อราคามาตรฐานของงานในแวดวงอาชีพนั้นๆ (พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มคนจ้างบางคนจะยิ่งกดราคาให้ต่ำลงไปอีก) ใครที่กำลังหางานอยู่ แนะนำให้ลองเข้าไปดูตามกรุปต่างๆ ลองแกล้งๆ แปะผลงานของตัวเอง หรือสร้างเว็บไซต์หรือเพจของตัวเองไปเลยก็ยังได้ สุดท้ายแล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ขอให้ได้งานดีๆ เยอะๆ ครับ
Sourceshttps://fastwork.co/content-writing?page=5https://www.uresume360.com/https://fastwork.co/user/pinniq/presentation-37699036?https://fastwork.co/presentationhttps://moresheet.co/https://fastwork.co/search?page=1&q=%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5https://fastwork.co/search?q=%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99https://fastwork.co/search?q=%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9Bhttps://fastwork.co/search?q=%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%8B%E0%B8%B1%E0%B8%9Ahttp://www.chalermlarp.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD/https://fastwork.co/search?q=%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%20abstracthttps://www.xn--82cydr1amje3g9ac0rmf.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD-abstract-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9-%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99/https://fastwork.co/search?q=%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2 Photo Credithttps://www.facebook.com/FreelancethemoviePhoto by Thought Catalog on Unsplash Photo by Markus Winkler on UnsplashPhoto by Slidebean on UnsplashMoresheet.co Photo by Burst on UnsplashImage by Werner Moser from Pixabay Image by LUM3N from Pixabay Photo by Scott Graham on UnsplashPhoto by Windows on Unsplash
0 ความคิดเห็น