16 อาชีพน่าสน!! สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอนจบ
มาแล้วจ้า...มาแล้ว อาชีพน่าสน (จะสนใจ สนใคร สนทำไม สนกันไหม สนไหน...ก็เลือกเอาตามชอบจ้า ฮา) อาชีพทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและที่เกี่ยวข้อง อีก 8 อาชีพที่จะนำเสนอในครั้งนี้ก็น่าทำความรู้จัก และเลือกไปเป็นเป้าหมายในการเลือกเรียนต่อได้เยี่ยมไม่แพ้ครั้งก่อนเลยนะคะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน "16 อาชีพน่าสน!! สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอนแรก" ก็อย่าลืมไปอ่านกันได้นะ แต่ตอนนี้อย่างได้มัวพร่ำรำพันให้ยาว ขอเชิญชาว Dek-D.com ทัศนากันได้เลย!!!
1. อรรถบำบัด (นักแก้ไขการพูด) การพูดเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เป็นรูปแบบการสื่อสารสำคัญที่จะใช้กับคนรอบข้าง หากบกพร่องไปก็จะลำบากมาก สื่อสารกันไม่เข้าใจ พูดกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งบนโลกนี้ยังมีอีกหลายๆ คนที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร ทั้งที่เป็นมาตั้งแต่เกิดหรือพบอุบัติเหตุภายหลังจนทำให้มีปัญหาการพูด การออกเสียง เช่น ออทิสติก หูตึง ปากแหว่งเพดานโหว่ ลิ้นไก่สั้น เป็นต้น และคนที่จะช่วยบำบัดรักษา คือ นักอรรถบำบัด ชื่อเท่เนอะ
นักอรรถบำบัด ก็คือ นักแก้ไขการพูด มีหน้าที่ในการประเมินสภาพความผิดปกติ ทางภาษาและการพูด และให้การบำบัดรักษาแก้ไข ฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยวิธีการที่เหมาะสมทั้งทางกายภาพ (ฝึกพูด) และด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงให้แนะนำแก่ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ด้วย อาชีพนี้ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่มากค่ะ อย่างในโรงพยาบาลทุกแห่งและโรงเรียนเฉพาะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ควรมีนักแกไขการพูดประจำอยู่ เพื่อให้มีการบำบัดรักษากันได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง แต่บุคลากรเชี่ยวชาญด้านนี้มีน้อยจริงๆ เด็กๆ หลายคนเลยขาดโอกาสตรงนี้ไป คนที่สนใจอาชีพนี้ ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ปรับตัวเข้าหาผู้คนได้ เพราะต้องเจอผู้มาฝึกพูดหลายแบบ มีกลวิธีนำพาการฝึกพูดให้น่าสนใจ สาขานี้ต้องเรียนทั้งเรื่องสรีระที่เกี่ยวกับการสื่อสาร และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เทคนิคารปฏิบัติต่อผู้ป่วยลักษณะต่างๆ ต้องรู้จักการฟังและต้องพูดให้ชัดเจน ได้เรียนภาษามือ และเป็นวิชาชีพที่ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะเช่นกัน สนใจต้องเลือก: คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย 2. นักกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดไม่ใช่หมอนวด!! (และการเรียกหมอกายภาพหรือคนที่เรียนกายภาพบำบัดว่าหมอนวด ก็เป็นการเสียมารยาทมากๆ ไม่ว่าใครก็ไม่ต้องการให้คนอื่นมาดูแคลนสิ่งที่ตนเองกำลังทำหรอกค่ะ จริงไหม?) แม้เราจะเห็นว่าหมอกายภาพจะรักษาด้วยการนวดเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ มีเทคนิคและการรักษาเฉพาะทางอีกหลายวิธี โดยใช้การรักษาทางกายภาพ เช่น ไฟฟ้า ความร้อน แสง รังสี น้ำ แรงทั้งจากภายนอกอย่างการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยมือผู้รักษา การนวด ดัด ดึง ยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย และแรงจากภายในกล้ามเนื้อผู้ป่วยเอง เป็นการรักษาจากภายนอก ให้สภาพร่างกายกลับมาสู่สภาวะปกติ แต่ก็ไม่ได้เน้นแต่ด้านกระดูกอย่างเดียวนะคะ ต้องเรียนถึงระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หัวใจและทรวงอก ฯลฯ
การทำงานของนักกายภาพบำบัดคลอบคลุมได้ตลอดชีวิตคนเรา อย่างคุณแม่ที่ออกกำลังกายในวิธีวารีบำบัด เด็กที่เกิดมามีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว รวมไปถึงปัญหาคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ที่ปวดคอ ปวดหลัง ตึงกล้ามเนื้อ คนที่เกิดโรคเฉัยบพลันจนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต คนที่เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งนักกายภาพบำบัดมีบทบาทในการรักษาทั้งสิ้น เมื่อเรียนจบ ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สามารถทำงานในโรงพยาบาลของทั้งรัฐและเอกชน เปิดคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัดได้ และยังปฏิบัติงานตามสถานสุขภาพ หรือโรงเรียนเพื่อนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ค่ะ สนใจต้องเลือก: คณะกายภาพบำบัด หรือคณะเทคนิคการแพทย์/สหเวชศาสตร์ สาขากายภาพบำบัด
3. แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นอีกกลุ่มที่ปฎิบัติงานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยให้การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การเรียนแพทย์แผนไทย นอกจากวิชาพื้นฐานอย่างกลุ่มวิทยาศาสตร์ สังคม และภาษาแล้ว ยังต้องเรียนวิชาเฉพาะทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างกายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน สรีรวิทยาและชีวเคมีพื้นฐาน พยาธิวิทยาพื้นฐาน เภสัชพฤกษศาสตร์ การตรวจร่างกายและวินิจฉัย และวิชาชีพเฉพาะทางแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เข้มข้น อย่างเช่น เวชกรรมแผนไทย เภสัชกรรมแผนไทย หัตถเวชกรรมแผนไทย และการผดุงครรภ์ เป็นต้น ดูจากรายวิชาเรียนพี่เกียรติว่า ไม่ใช่แค่รู้เรื่องสมุนไพรอย่างเดียวจะเป็นแพทย์แผนไทยได้นะเนี่ย ต้องรู้เรื่องอาการและการวินิจฉัย การใช้ยาแผนไทย และการรักษาด้วยวิธีการประยุกต์ต่างๆ ที่เหมาะสมด้วย
พี่เกียรติว่าเป็นอีกทางเลือกที่ดีทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้ คนเริ่มหันมาสนใจของกิน อย่างชาสมุนไพร ของใช้ อย่างสบู่ แชมพู ทั้งกลุ่มผู้รักความสวยความงาม ก็สนใจเครื่องสำอางสมุนไพรมากขึ้น เมื่อเรียนจบแล้วมีสิทธิ์ขอสอบขึ้นทะเบียนและสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ สามารถทำอาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ในหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยได้ แม้ตอนนี้จะยังไม่แพร่หลายนัก ในหลายโรงพยาบาลก็ยังไม่มีแผนกเฉพาะทางแพทย์แผนไทย แต่เชื่อว่าแพทย์ทางเลือกกลุ่มนี้จะค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนเริ่มหันเข้าหาวิธีทางธรรมชาติมากขึ้นจ้า
สนใจต้องเลือก: คณะแพทย์แผนไทย หรือคณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 4. นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาคลินิกมีหน้าที่ประเมินความบกพร่องทางจิตด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาและข้อมูลของผู้ป่วย ให้คำปรึกษาและการรักษาทางจิตวิทยาร่วมกับจิตแพทย์และแพทย์อื่นๆ มีทั่งให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล หรือทำเป็นกิจกรรมกลุ่มบำบัด เช่น ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง จนแขนขาใช้ไม่ได้ และยังทำใจยอมรับไม่ได้ จึงต้องมารับการบำบัดจากนักจิตวิทยาคลินิก เป็นต้น หากร่างกายหายเจ็บ แต่จิตใจยังป่วย ชีวิตก็ยังไม่มีสุข นักจิตวิทยาคลินิกจึงมีส่วนสำคัญต่อการบำบัดฟื้นฟูต่อสภาพจิตใจมาก น้องๆ ที่สนใจอาชีพนี้ ควรมีความช่างสังเกต ชอบวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ชอบคาดคะเน เช่น ชอบวิเคราะห์นิสัยเพื่อน ชอบรับฟังเรื่องราวต่างๆ และให้คำปรึกษา เป็นต้น สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนแบบต่างๆ ได้ แบบว่าเนียนเข้าไปทำตัวสนิทสนมกับคนอื่นได้
สามารถทำงานในแผนกจิตเวชของโรงพยาบาล เป็นนักจิตวิทยาตามสถานพินิจหรือศาล เพื่อทำการประเมินสภาพจิตของผู้ต้องหา หรือบำบัดทางจิตแก่ผู้ต้องขัง คนที่เรียนจบสาขาจิตวิทยาคลินิกแล้ว มีสิทธิ์สอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาจิตวิทยาคลินิกได้ (จิตวิทยาสาขาอื่นๆ ก็สอบได้ แต่ต้องมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปี และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานวิชาชีพ) นักจิตวิทยาไม่ใช่จิตแพทย์ สามารถการประเมินความบกพร่องจากข้อมูลภูมิหลัง สิ่งแวดล้อม และใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาได้ แต่จิตแพทย์ใช้การวินิจฉัยในทางชีวกายภาพ ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ สั่งจ่ายใช้ยาในการบำบัดรักษาได้
จิตวิทยามีหลายสาขา เช่น จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ เป็นต้น แต่ละสาขาจะมีจุดเน้นต่างกันไป แล้วคณะที่เปิดสอนด้านจิตวิทยาก็มีหลายคณะ ได้แก่ คณะจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ในสาขาจิตวิทยา แต่คณะและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในด้านจิตวิทยาคลินิกและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกนั้นมีไม่กี่ที่จ้า น้องๆ ต้องศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจนะจ๊ะ
5. สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ อาชีพสายสังคมศาสตร์ที่พี่เกียรติเลือกมาให้เกี่ยวข้องกับสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์หรือ นักสังคมสงเคราะห์ทางคลินิก เป็นผู้ทำงานในโรงพยาบาล ถือวิชาชีพหนึ่งในทีมงานด้านสุขภาพ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ป่วยและญาติ ในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ การจัดการกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยสิทธิการรักษาพยาบาลประเภทต่างๆ เป็นต้น
จัดเป็นอาชีพที่สำคัญ และไม่ค่อยมีผู้รับรู้บทบาทเท่าใดนัก มองเหมือนคนทำงานเอกสารธุรการธรรมดา แต่จริงๆ เป็นงานสำคัญ เป็นผู้ประสานงานระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และหน่วยงานภายนอก ทำให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือด้านสวัดิการตามความเหมาะสมไม่เว้นว่าจะจน รวย พิการหรือปกติดีก็ตาม ทั้งยังต้องทำหน้าที่การวางแผนฟื้นฟูผู้ป่วย ส่งต่อเพื่อพักฟื้นหรือฝึกอาชีพผู้พิการ การประสานงานเพื่อจัดหางานให้ผู้พิการ การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและปรับปรุงที่พักอาศัย ติดต่อกับองค์กรต่างๆ เพื่อหาจัดหาอุปกรณ์ช่วยผู้พิการต่างๆ การจัดสถานศึกษาแก่เด็กพิการ รวมแล้วงานของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จีงทำงานเพื่อการดูแลผู้ป่วยไปพร้อมๆ กับการรักษาสิทธิ์ และคุ้มครองผู้ป่วยตามหลักสวัสดิการของรัฐและหน่วยงานต้นสังกัด
และนี้กำลังมีการผลักดันให้เป็นอีกอาชีพที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะ สาขาสังคมสงเคราะห์คลินิก ทั้งนี้เพราะต้องทำงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพประชาชน มีมาตรฐานการควบคุมดูแลและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง น้องๆ ที่ชอบการติดต่อประสานงาน มีความเชื่อมั่นต่อความดีงาม ทนงานเอกสารจุกจิกได้ และไม่เกี่ยงที่ต้องลงภาคสนาม งานนี้จะทำให้พบปะผู้คนที่หลากหลาย เป็นทางเลือกหนึ่งที่แม้จะอยู่เบื้องหลัง แต่ก็เป็นงานที่ขาดไม่ได้เสียเลย
งานสังคมสงเคราะห์มีหลายส่วน เช่น งานเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเนื้องานต่างกันไป สามารถเลือกเรียนได้ แต่ที่พี่เกียรติยกมาในครั้งนี้เกี่ยวข้องการสุขภาพคน จึงเป็นส่วนสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ค่ะ
สนใจต้องเลือก: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในสาขา/วิชาโทสังคมสงเคราะห์การแพทย์ แต่ในคณะสังคมศาสตร์หรือคณะมนุษยศาสตร์บางที่ ก็มีแผนวิชาสังคมสงเคราะห์ด้วยค่ะ หลักสูตรต่างกันบ้าง ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจ!! 6. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำหน้าที่ความรู้และบริการงานด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป โดยทั่วไปจะจำแนกงานได้ 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ งานสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม งานด้านสุขศึกษา งานด้านโภชนาการสาธารณสุข และงานอาชีวอนามัยความปลอดภัย วิชาที่เรียนและงานที่สามารถทำได้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการป้องกันโรค การควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสาธารณสุข สามารถปฏิบัติงานได้หลากหลายทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งสถานพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สถานประกอบการต่างๆ โรงงาน โดยทำงานไปตามสาขาวิชาที่เลือกเรียน เช่น ถ้าเรียนสาขาที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ จะเน้นศึกษาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขพลานามัย แล้วช่วยพัฒนาเกื้อกูลและส่งเสริมโครงการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ เพื่อทำให้สุขอนามัยของคนกลุ่มเป้าหมายให้มีความสมบูรณ์ เป็นต้น น้องๆ ที่จะเลือกเรียนสาขานี้ ต้องพร้อมลงภาคสนามพบปะผู้คน เพราะต้องเรียนรู้และฝึกความชำนาญในการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งในองค์กรเอกชน ในโรงเรียน และในชุมชน ต้องไปออกค่ายสุขภาพ ไปหาข้อมูลในชุมชนตลอดเพื่อมาวางแผนดูแลสุขภาพคนในสังคมนั่นเอง
สนใจต้องเลือก: คณะสาธารณสุขศาสตร์/คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ 7. นักเวชศาสตร์การกีฬา น้องๆ ที่เป็นนักกีฬาคงทราบว่าการเล่นกีฬาต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการเล่นทั้งสิ้น และสำหรับนักกีฬาอาชีพต่างๆ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพยายามให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเกิดจากการแข่งขัน การฝึกซ้อม หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม ดังนั้นจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านดูแลนักกีฬา ตั้งแต่การวางแผนฝึกซ้อม ดูแลสุขภาพ บำบัดอาการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นงานหลักของคนกลุ่มอาชีพนี้ค่ะ นักเวชศาสตร์การกีฬา เป็นหนึ่งในการแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยนำความรู้ทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้การเล่นกีฬาเกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด และทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดังเดิม ทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน บำบัด และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กับนักกีฬาทั้งในสภาวะปกติและในระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อร่างกายสมบูรณ์และพร้อมที่จะใช้งานได้ดีที่สุด ทั้งยังสามารถทดสอบสมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางการกีฬา โดยการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ประเมินความคล่องตัว ประเมินปริมาณการใช้อ๊อกซิเจนของร่างกาย ประเมินสมรรถภาพปอด เป็นต้น ตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ได้ น้องๆ ที่สนใจอาชีพนี้ต้องชอบการทดลอง การวางแผน ชอบงานที่เป็นระบบ แต่ก็ต้องพร้อมที่จะทำงานทั้งในห้องทดลองและภาคสนามด้วย พี่เกียรติว่าต้องเป็นคนไม่เกลียดเหงื่อด้วยนะ เพราะต้องทำงานกับนักกีฬาที่ชุมโชกเหงื่อ บางคนไม่ชอบคนเปียกเหงื่อชุ่มๆ ใช่ไหมล่ะ? และควรชื่นชอบหรือสนใจกีฬาอยู่บ้าง (จะชอบดู หรือชอบเล่นก็ได้)
สนใจต้องเลือก: คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา/คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา สาขาทางเวชศาสตร์การกีฬา หรือสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ถึงแม้คณะจะเกี่ยวข้องกับกีฬา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเล่นกีฬาเป็นและเล่นเก่งถึงจะเข้าเรียนได้นะคะ แต่ก็ต้องเรียนเพื่อให้รู้จักกีฬานั้นๆ แล้วเอาไปประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ทางการแพทย์ เพื่อมาใช้ในงานค่ะ
ยาวไกลเนอะ กว่าจะได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางขั้นสุดยอดเนี้ย แต่ไม่เกินความตั้งใจแน่นอนจ้า อิอิ น้องๆ ที่อยากเป็นหมอ ต้องเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถอุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ได้ ปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆได้ มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ช่างสังเกตและละเอียดถี่ถ้วน และก็ต้องคิดให้ไว ตัดสินใจให้เร็ว เพราะถ้าช้าก็หมายถึงชีวิตของผู้ป่วย ทั้งไม่รังเกียจต่อสิ่งไม่พึงประสงค์อย่าง เลือด ปัสสาวะ นำเหลือง อาเจียน ฯลฯ จ้า หมอเฉพาะทางต่างๆ มีหลากหลาย เช่น สูติและนรีแพทย์ ศัลยแพทย์ จักษุแพทย์ แพทย์อายุรกรรม โสต ศอ นาสิกแพทย์ แพทย์ผิวหนัง กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์นิติเวช แพทย์รังสีวิทยา โลหิตแพทย์ แพทย์ประสาทวิทยา ฯลฯ ซึ่งน้องๆ ที่อยากเป็นหมอจริงๆ สามารถเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง ละเอียด ลึกซึ้ง ได้จากหนังสือดีๆ เฉพาะกิจเล่มนี้ "กว่าจะเป็นหมอ" โดยพี่ทีม Dek-D นี่เองจ้า
สนใจต้องเลือก: คณะแพทยศาสตร์ นี่เป็นเพียงการนำเสนอเพียงเบื้องต้นเท่านั้น รายละเอียดของแต่ละอาชีพยังมีมากกว่านี้ ซึ่งพี่เกียรติไม่สามารถบอกเล่าได้หมด เพราะไม่ใช่คนในวงอาชีพนั้นๆ ที่สำคัญมุมเล็กๆ ที่ไม่น่าเป็นปัญหาของแต่ละอาชีพ เช่น ต้องเจอกับสิ่งไม่พึงประสงค์ ไม่ชอบเหงื่อ กลัวเลือด ขยะแขยงกับสัตว์ตัวเล็กๆ ยั้วเยี้ยๆ เป็นต้น หรือตาบอดสี คุณสมบัติไม่ตรงตามที่คณะต้องการ อาจเป็นปัญหามากกว่าที่คิดสำหรับตัวเราก็ได้ จึงต้องศึกษาข้อมูลดีๆ ก่อน และแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรเดียวกันที่ชื่อต่างกัน หรืออาจเปิดใหม่ในปีที่น้องๆ จะสอบเข้าก็ได้ ที่สำคัญถ้าสนใจในอาชีพเหล่านี้ น้องที่กำลังจะจบ ม.3 ต้องเลือกเรียนสายวิทย์ - คณิต ไว้เลย
และส่วนใหญ่อาชีพทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพนี้ ต้องมีการสอบใบประกอบโรคศิลปะหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย (เดี๋ยวกลายเป็นหมอเถื่อนนะ) น้องๆ ต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า คณะและมหาวิทยาลัยที่น้องจะเลือกเข้าเรียนนั้น มีหลักสูตรที่ดี และได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพนั้นๆ แล้วหรือยัง ไม่อย่างนั้นหากจบออกมาแล้วไม่มีสิทธิ์สอบใบอนุญาตจะเศร้าใจ ดังนั้น ถ้าน้องๆ สนใจอาชีพไหน ต้องไปหารายละเอียดเพิ่มเติมนะจ๊ะ (ย้ำหลายทีแล้วเนอะ ฮา ก็อยากให้เตรียมตัวจริงๆ นะ เตรียมก่อน มีชัยก่อน) อนาคตของเรา เราสามารถหาข้อมูลและขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ ครู รุ่นพี่ หรือใครก็ได้ แต่คนที่จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะทำจริงๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากตัวน้องๆ เองนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นอย่านิ่งนอนใจที่จะไม่ค้นหาตัวเองนะคะ ปล. สัตวแพทย์และสายที่ใกล้ (ก็วิทยาศาสตร์สุขภาพเหมือนกันเนอะ) ไม่ต้องเสียใจน้า โอกาสหน้าฟ้าใหม่ ต้องนำเสนอแน่ๆ จ้า ตอนนี้ขอแบบดูแลคนก่อนเนอะ แฮะๆๆ แหล่งอ้างอิง,ภาพประกอบ
www.purdue.edu/push/medicalservices/sportsmedicine.shtml
www.thaiclinicpsy.com
www.9net.co.th/pmrpmk/?page_id=1505
www.prevetmed-unit.blogspot.com/2010/10/blog-post_21.html
www.thaisocialwork.org/
www.liveon.uiowa.edu/?page_id=3061
|
แสดงความคิดเห็น
ถูกเลือกโดยทีมงาน
ยอดถูกใจสูงสุด
รายชื่อผู้ถูกใจความเห็นนี้ คน
แจ้งลบความคิดเห็น
คุณต้องการที่จะลบความเห็นนี้ใช่หรือไม่ ?
35 ความคิดเห็น
พึ่งรู้ว่ามีอาชีพนักแก้ไขการพูดด้วย อาชีพนี้น่าสนใจมากๆเลยค่ะ
(ไม่ค่อยโปรโมตตัวเองเลยเนอะ
สมัครสอบไปแล้ว >"<
อยากเรียนมากๆ
อยากเป็นนักจิตวิทยาอ่ะนะ เพราะชอบทำแบบทดสอบทายใจบ่อย และก็ฟังเรื่องเพื่อน ๆ ที่มาเล่าที่ค้างคาในใจ


แต่ไปไม่ถึงจริง ๆ วิทย์-คณิตยากเกินไป ไปเป็นนักเขียนดีกว่า ฝึกอีกนิดหน่อยเดี๋ยวก็มีคนมาอ่านเองแหละ
น้องๆ ที่สนใจอาชีพนี้ ควรมีความช่างสังเกต ชอบวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ชอบคาดคะเน เช่น ชอบวิเคราะห์นิสัยเพื่อน ชอบรับฟังเรื่องราวต่างๆ และให้คำปรึกษา เป็นต้น สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนแบบต่างๆ ได้ แบบว่าเนียนเข้าไปทำตัวสนิทสนมกับคนอื่นได้
ส่วนใหญ่ที่ใช้คือการออกกำลัีงกายค่ะ การนวดเป็นแค่ส่วนประกอบแค่นั้นเอง
เพราะที่รักษาคนไข้อยู่ทุำกวัน ใช้การนวดแค่ 10เปอร์เซนต์เองค่ะ
ขอบคุณค่ะ ได้ทราบรายละเอียดมากขึ้นอีกแล้ว ^_^
ที่ใช้คำว่า ใช้การนวดเป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้ เพราะเขียนในมุมมองคนนอกที่ไม่ได้เป็นหมอกายภาพค่ะ คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ จะเห็นว่าหมอกายภาพรักษาด้วยวิธีนวดมากกว่าค่ะ คงยากที่จะได้เห็นว่าหมอกายภาพรักษาบำบัดด้วยวิธีอะไรบ้าง ถ้าไม่ได้เป็นผู้ป่วยเสียเองเนอะ
แต่มีผู้รู้มายืนยันแบบนี้ น้องๆ ต้องสนใจมากขึ้นอีกแน่ๆ เลย อิอิ
หวังว่าน้องๆ จะได้รับข้อมูลไปประกอบการเลือกเรียนนะจ๊ะ สู้ๆๆทุกคนจ้า
สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์นี้เลยน่ะจ๊ะ
http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=703354
รับรองว่าเข้าไปแล้วไม่ผิดหวังแน่นอนจ้าาาา