'ความกดดัน' ศัตรูตัวฉกาจที่เหล่าไอดอลเกาหลีต้องเจอตลอดช่วงชีวิต

 
   ชวนทำแบบฝึกหัดภาษาเกาหลี (คำศัพท์+ไวยากรณ์) ลุ้นรับเครื่องเขียนจากเกาหลี!

      สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... เจอกับ พี่เป้ และ KoreanKori ที่นำเรื่องน่ารู้จากเกาหลีใต้มาฝากเช่นเคย

      เชื่อว่าแฟนคลับศิลปิน K-Pop คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ... กว่าที่ไอดอลที่ตนรักจะเติบโตมาจนมีชื่อเสียง พวกเขาต้องผ่านความลำบากมาเยอะมาก ชีวิตผู้คนในสังคมเกาหลีใต้ที่มีภาวะแข่งขันกันสูงรวมไปถึงวงการบันเทิง ยิ่งทำให้คนทำงานในวงการนี้มีความเครียดความกดดันเพิ่มขึ้นทวีคูณ แม้จะโด่งดังและมีชื่อเสียงติดลมบนแล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาต้องแบกรับนั้นอาจไม่ได้ลดน้อยลงเลยแม้แต่น้อย ซึ่ง "ความกดดัน" ดังกล่าวที่ว่านั้นกำลังจะถูกกล่าวในบทความนี้ ต้องขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก จอย-ณัฐฐานิตา วิชัย อดีตสมาชิกวง Rania ที่เคยทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีใต้ ที่มาแบ่งปันและเล่าประสบการณ์บางส่วนให้ได้ฟัง   
 


ความคาดหวังกับการเดบิวต์

       หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า กว่าจะได้เดบิวต์ในฐานะไอดอล แทบทุกคนต้องผ่านการเทรนเป็นระยะเวลายาวนานมากๆ ใครโชคดีหน่อยที่มาในจังหวะที่เหมาะสม อาจจะเทรนไม่ถึงปีแล้วได้เดบิวต์เลย (แต่ก็น้อยจนแทบนับคนได้) โดยเฉลี่ยแล้ว กว่าจะได้เดบิวต์เป็นไอดอลนั้น ทุกคนต้องใช้ชีวิตในฐานะเด็กฝึกเป็นเวลา 4-5 ปีเลยทีเดียว หลายคนต้องยอมทิ้งโอกาสหลายๆ อย่างเพื่อมาเป็นศิลปินฝึกหัด บางคนเคยเกิดความสับสนระหว่างการฝึกว่า ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตวัยเรียนอย่างสนุกสนาน ดูมีอนาคตที่สดใส เรากลับต้องมาตามฝันที่ไม่รู้เลยว่ามันจะสำเร็จมื่อไร หรือการที่เห็นคนเข้ามาเป็นเด็กฝึกทีหลังเราแต่กลับได้เดบิวต์ก่อนนั้น จะให้บอกว่าไม่รู้สึกอะไรเลยก็น่าจะเป็นเรื่องโกหกที่สุดในชีวิตแล้ว


จอห์นนี่ แห่ง NCT127 เคยเป็นเด็กฝึกหัดในค่าย SM ถึง 9 ปี!

"ถ้าใครมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งมากๆ อาจมองว่านี่คือความท้าทาย
แต่ถ้าใครที่อ่อนไหวง่าย แน่ล่ะว่า นี่คือความกดดันที่ค่อยๆ สะสมขึ้นเรื่อยๆ"

      ในระหว่างเป็นเด็กฝึก ก็ใช่ว่าทางค่ายจะซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไอดอลหลายคนเคยเปิดเผยว่า ตนเองต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง หรือบางอย่างค่ายก็ออกให้แต่ไม่ได้ฟรีไปซะทีเดียว เพราะค่ายจะจดค่าใช้จ่ายแทบทุกอย่างเอาไว้ว่าลงทุนไปเท่าไร และค่อยมาหักลบกับเงินที่ทำงานให้หลังจากเดบิวต์แล้ว ดังนั้นในช่วงปีสองปีแรกของการเดบิวต์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไอดอลแทบไม่มีรายได้เลยหรือมีรายได้น้อยมากๆ จะเรียกว่าปีแห่งการทำงานเพื่อปลดหนี้ก็ว่าได้ เช่น วง APink ที่เดบิวต์ตั้งแต่ปี 2011 แต่สมาชิกได้รับรายได้กันอย่างจริงจังเมื่อต้นปี 2014 เมื่อออกซิงเกิ้ล Mr.Chu (ข้อมูลจาก all4apink)


 

      "จอย" เล่าว่า ในกรณีของจอย ค่ายไม่มีเงินเดือนให้ระหว่างเป็นเด็กฝึกหัด โดยค่ายออกค่าใช้จ่ายให้แทบทุกอย่างยกเว้นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือ Living Cost นั่นแปลว่า จอยต้องจ่ายค่าอาหารเอง ลำพังอาหารทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่บางทีต้องทานอาหารตามที่ครูฝึกหรือเทรนเนอร์กำหนดมา ยิ่งอาหารไดเอ็ตซึ่งมีราคาสูงนั้นถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตในแต่ละเดือนทีเดียว

     ไม่หมดแค่นั้น ความเครียดเบอร์ใหญ่ที่ต้องเจอและคนนอกอาจจะคาดไม่ถึงว่า มันเริ่มสร้างความกดดันให้แก่ไอดอล นั่นคือ "การไม่มีเพื่อน" เพราะเมื่อถูกวางตัวให้เดบิวต์แล้ว (ว่าที่)ไอดอลจะถูกสั่งไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ให้เล่นโซเชียลมีเดีย เวลาที่ซ้อมหนักและอยากระบายให้เพื่อนสนิทฟังก็ไม่สามารถทำได้เลย เหมือนเราอยู่ตัวคนเดียว ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่อยู่ดีๆ จะมีเทรนนี่บางคนหายหน้าหายตาไปทั้งๆ ที่มีแววจะได้เดบิวต์ในอีกไม่ช้า เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร สิ่งที่เราต้องทำคือ อดทน แต่แน่นอนค่ะว่า ภูมิต้านทานทางจิตใจของคนเราไม่เท่ากัน...


ความสำเร็จหลังเดบิวต์

     ทุกคนย่อมคาดหวังว่า ตัวเองจะมีโอกาสประสบความสำเร็จทันทีหลังจากการเดบิวต์ด้วยซิงเกิ้ลแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อเสียงของค่ายเป็นตัวแปรสำคัญมาก ใครเดบิวต์กับค่ายเล็กก็ต้องกัดฟันสู้กันหน่อย อย่าง "จอย" เล่าว่า ก่อนเดบิวต์ จอยเคยคิดว่า จะดังหรือไม่ดัง อยู่ที่ความสามารถของเรามากกว่า แต่พอเดบิวต์จริงๆ ก็ต้องพบกับความจริงอันโหดร้ายที่ว่า ชื่อเสียงและขนาดของค่ายมีส่วนสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว รวมถึงเวลาไปขึ้นคอนเสิร์ตหรือออกงานต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่า คนที่มาจากค่ายเล็กมักได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกับศิลปินที่มาจากค่ายใหญ่ แต่จอยมองว่า นั่นเป็นเรื่องปกติของทุกวงการ  

วง Tahiti ที่มาจากค่ายเล็ก แม่ของสมาชิกคนหนึ่งเคยเผยว่า
ลูกสาวแทบไม่มีรายได้เลยตลอดการทำงาน ใช้ชีวิตลำบากมาก

      ส่วนใครเดบิวต์กับค่ายใหญ่ ก็ใช่ว่าจะโล่งใจ เพราะมีความสำเร็จของรุ่นพี่ที่ผ่านๆ มาเป็นเสมือนตัวเปรียบเทียบว่า เราจะทำได้แบบนั้นหรือเปล่า? แล้วถ้าทำไม่ได้ล่ะ...?

      ไอดอลตัวท็อปของวงการหลายคน ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ซิงเกิ้ลแรก ยกตัวอย่างเช่น ไอยู ที่เริ่มมีชื่อเสียงอย่างจริงจังหลังจากเดบิวต์ไปได้ประมาณปีกว่า หรืออีกตัวอย่างที่เห็นชัดมากคือ วง EXID ที่แทบจะถอดใจกันแล้วว่า หากยังไม่ดัง อาจจะต้องแยกย้ายกันไปตามทาง แต่สุดท้ายก็เหมือนปาฏิหาริย์ที่มีแฟนคลับอัปโหลดคลิปของ ฮานี จนมีคนดูหลายล้านวิว กลายเป็นปรากฎการณ์ข้ามคืนบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้รายการเพลงต่างๆ ถึงกับยกหูโทรศัพท์โทรไปเชิญวง EXID กลับมาขึ้นเวทีโปรโมตอีกรอบ


"ดังนั้น ไม่ใช่แค่ความสามารถ แต่จังหวะและโอกาสเป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ"
 
      และความดังอาจไม่ได้ช่วยการันตีความสำเร็จเสมอไป เก่งแค่ไหน ดังแค่ไหน แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า ทุกผลงานที่ถูกปล่อยออกมา จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ หากปังมาแล้วสัก 4 อัลบั้ม แต่อัลบั้มที่ 5 กลับไม่เปรี้ยงเท่าที่คาด เป็นใครก็ย่อมรู้สึกอกหักหรือผิดหวัง กลัวทำทีมงานผิดหวัง กลัวทำแฟนคลับเสียใจ
 

สถิติตัวเลข มันคือการแข่งขัน

      เสียงร้องไห้โฮด้วยความดีใจของศิลปินที่ได้รับถ้วยรางวัลในรายการเพลง ... หากตั้งใจฟังดีๆ เราอาจจะได้ยินเสียงร้องไห้เบาๆ ของศิลปินที่ไม่เคยได้รับรางวัลซ่อนอยู่ในเสียงนั้นก็เป็นได้

      เหล่าแฟนคลับต่างรู้สึกสนุกที่เห็นไอดอลของตนเองได้แสดงความสามารถบนเวทีในรายการเพลงทุกสัปดาห์ เช่น Music Core, Music Bank แต่ภายใต้ความสนุกของการแสดง มันคือการแข่งขันในตัว เห็นได้ชัดผ่านการประกาศก่อนจบรายการว่า ในสัปดาห์นี้ ซิงเกิ้ลของใครจะคว้าถ้วยรางวัลไป มันคงเป็นความรู้สึกที่ไม่น่ายินดีนัก ที่ตัวเราจะทำได้แค่ยืนอยู่แถวหลังและไม่เคยออกมารับถ้วยรางวัลนั้นในแถวหน้าเลย


     รวมไปถึงชาร์ทเพลงต่างๆ อีกเกือบนับสิบ ที่อัปเดตกันรายชั่วโมงว่าซิงเกิ้ลไหนมาแรงแซงขึ้นอันดับ เชื่อเถอะว่า ไอดอลแทบทุกคนต่างก็รีเฟรชและกดดูกันแทบทั้งวันไม่ต่างจากแฟนคลับอย่างเราๆ ที่คอยเอาใจช่วยพวกเขา 

      ถือเป็นความโชคดีสำหรับอุตสาหกรรมเพลงในเกาหลีใต้ที่ "ซีดี" ยังไม่หดหายไปตามกระแสการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ แฟนคลับยังทุ่มซื้อซีดีกันสุดตัว มีไอดอลบางวงที่ยังสามารถทำยอดขายซีดีได้เป็นหลักแสน แต่ในทางกลับกัน บางวงกลับขายได้แค่หลักไม่กี่พันแผ่นเท่านั้น นั่นแปลว่า แทบจะไม่ได้อะไรจากยอดขายซีดีเลยก็ว่าได้ เรียกว่านอกจากจะกดดันยอดดาวน์โหลดแล้ว ยังต้องใส่ใจเรื่องยอดขายซีดีอีกด้วย


ยิ่งฉายเดี่ยว ยิ่งกดดัน

      ตัวไอดอลนั้นเหมือนสินค้า หากทางค่ายมองว่า มีสินค้าชิ้นไหนที่น่าจะถูกนำมาต่อยอดได้ ทางค่ายก็ไม่รอช้าที่จะหยิบออกมาเพื่อดันให้ฉายเดี่ยว

       แต่ถ้าวัดกันจริงๆ ไอดอลที่เป็นสมาชิกในบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุปนั้น เมื่อมาเดบิวต์ฉายเดี่ยว แทบจะนับคนได้เลยว่าใครกันที่ประสบความสำเร็จจริงๆ บางคนได้ฉายเดี่ยวซิงเกิ้ลเดียวและถูกทิ้งไว้กลางทาง แฟนคลับบางคนอาจจะรู้สึกโกรธเกลียดทางค่ายที่ทิ้งๆ ขว้างๆ ไอดอลที่ตนรัก แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจ ทุกอย่างคือการลงทุน สินค้าตัวไหนทำเงินไม่คุ้ม ทางค่ายคงไม่เลือกที่จะลงทุนต่อ


แทยอน สมาชิกวง Girls' Generation ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการออกอัลบั้มเดี่ยว

      ยกตัวอย่างเช่น มีสมาชิกเกิร์ลกรุปรายหนึ่งเคยระบายความรู้สึกผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า ทางค่ายแทบไม่เคยให้โอกาสตนเลย เสนอโปรเจกต์อะไรไปก็ไม่สนใจ ได้แต่รอแล้วรอเล่า แต่หากมองในมุมธุรกิจ ต้องยอมรับว่า ทางค่ายอาจมองว่า แนวเพลงของไอดอลคนนั้นไม่ตรงกับที่ค่ายต้องการ 

     รวมไปถึงไอดอลที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ฉายเดี่ยวเหมือนเพื่อนในวง การมองเห็นเพื่อนในวงได้เล่นซีรีส์ ได้เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา ได้ทำอะไรมากมายโดยที่เราแทบไม่มีโอกาส แม้จะรู้สึกยินดีกับเพื่อนรักอย่างเต็มหัวใจ แต่การเกิดความรู้สึกน้อยใจเล็กๆ ก็ไม่น่าใช่เรื่องแปลกเลย 

      "จอย" เล่าว่า ด้วยความที่เกิร์ลกรุปจะมีอายุของตัวเอง พอถึงช่วงเวลาหนึ่งมักมีอันต้องแยกย้ายไปตามทางของแต่ละคน ซึ่งต้องยอมรับว่า หากสมาชิกคนไหนในวงมีแฟนคลับจำนวนมาก แฟนคลับก็จะยังตามซัพพอร์ตงานเดี่ยวต่อไปแม้จะแยกวงไปแล้ว ดังนั้นการแข่งขันในวงเพื่อให้ตนเองได้รับความรักจากแฟนคลับถือไม่ใช่เรื่องแปลกเลย 

      กรณีที่เห็นชัดมากๆ เช่น กรณีของวง 4Minute ที่กระแสเดี่ยวของ ฮยอนอา เป็นที่พูดถึงมากกว่ากระแสของวง แฟนคลับจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทางค่ายแสดงออกชัดเจนมากว่าเน้นดันฮยอนอาเพียงคนเดียว และคาดว่านั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมาชิกอีก 4 คนไม่ต่อสัญญากับค่าย    


 
คอมเมนต์ที่กัดกร่อนหัวใจ
     
      ไม่มีใครแฮปปี้แน่นอนเมื่อได้เห็นคนเข้ามาคอมเมนต์ด่าตัวเรา ไอดอลก็เช่นกัน พวกเขาได้รับ 악플(อักพึล) หรือคอมเมนต์รุนแรงอยู่แทบตลอดเวลาทั้งจากแอนตี้แฟนหรือจาก Neitizen (ชื่อเรียกชาวเน็ตเกาหลี) ที่ไม่ใช่ทั้งแฟนคลับหรือแอนตี้แฟน แต่บางคนก็ใช้คำรุนแรงในการคอมเมนต์จนทำให้ไอดอลหลายคนท้อใจ

      โซยู สมาชิกวง Sistar เล่าว่า บางข่าวที่เกี่ยวกับเธอ มีคนเข้ามาคอมเมนต์ถึง 3,000 คอมเมนต์ และเธอก็อ่านจนครบ! เธอจำได้แทบทุกคำทุกประโยคว่าถูกด่าอะไรบ้าง เช่น สวยไม่เท่าสมาชิกคนอื่นๆ


       ยองแจ GOT7 เล่าว่า แม้จะมีคอมเมนต์ชมสัก 100 คอมเมนต์ แต่ถ้ามีคอมเมนต์ด่า 1 คอมเมนต์ เขาเองก็ใส่ใจคอมเมนต์นั้นและเสียใจมาก
     
      ข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ จาก "จอย" คือ จอยมองว่า แม้คอมเมนต์ที่รุนแรงอาจจะทำให้ใจเสียบ้าง แต่นั่นก็ไม่มีผลต่อจิตใจเท่ากับ "การแข่งขัน" เพราะสิ่งที่ทำให้ไอดอลหลายคนเครียดและกดดันจนบางคนมีอาการโรคซึมเศร้า ส่วนมากมาจากการแข่งขันทั้งในค่ายด้วยกันเอง ในวงด้วยกันเอง และกับศิลปินต่างค่าย เพราะหากวันไหนที่ชื่อเสียงของเราหดหาย เท่ากับว่าเราจะไม่ใช่สินค้าที่ทำเงินอีกต่อไป ทุกคนต้องพยายามคงมูลค่าของตัวเองไว้เสมอ เพราะเมื่อไม่มีมูลค่าแล้ว บริษัทก็คงหันไปใส่ใจกับสินค้าตัวอื่นที่มีมูลค่ามากกว่าแทน ...

       ในขณะที่เวลาเดินผ่านไป ไอดอลต่างก็มีอายุมากขึ้น สวนทางกับสัญญาการทำงานที่เหลือระยะเวลาสั้นลงเรื่อยๆ และหากบริษัทตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญา ท้ายสุด พวกเขาอาจต้องกลับไปเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีมูลค่าอะไรในธุรกิจบันเทิงเลยก็เป็นได้

        และนั่นคือความกดดันที่พวกเขาต้องเจอตลอดทั้งชีวิตการทำงาน

 

Clip

เพลง Noir ของ Sunmi เป็นเพลงที่เธอแต่งขึ้นมาเพื่อตีแผ่ถึงความกดดันที่เหล่าไอดอลเจอ ทั้งเรื่อง Cyber Bullying และโรคซึมเศร้า  




      ลองมานั่งคิดอีกมุม ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับสิ่งที่จอยเล่ามา ถ้าใครเคยอยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันกันเรียน แข่งขันกันทำงาน คงจะเข้าใจความเครียดเหล่านั้น เพราะนอกจากจะต้องแข่งกับมาตรฐานเดิมของตัวเองแล้ว ยังต้องแข่งกับคนอื่นด้วย ซึ่งมันไม่ง่ายเลยจริงๆ

       ในแง่ของแฟนคลับอย่างเราๆ หากลองนึกว่า มีอะไรที่เราพอจะช่วยเหลือพวกเขาได้บ้างมั้ย? คำตอบคือได้แน่นอน แค่ช่วยคอมเมนต์เป็นกำลังใจให้พวกเขาและไม่คอมเมนต์รุนแรงเอามันส์หรือเพียงเพื่อความสะใจ แค่นี้ก็ถือว่าดีมากๆ แล้วค่ะ
       
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

ㅠㅠㅠ 1 ม.ค. 61 22:12 น. 4

นึกถึงบังทันเลยค่ะ กว่าจะเดบิวต์ พอได้เดบิวต์ก็ไม่ดังเพราะมาจากค่ายที่เล็ก โดนเอาเปรียบ วงการบันเทิงไม่สนใจ ไม่เคยได้ที่1 จน I need u ทำให้ได้ที่1 หลายปีหลังเดบิวต์

แต่ตอนนี้ดีใจที่เขาดังแล้ว กินอยู่ดี ไม่อดยาก และพวกเขานั้นทำงานหนักมาก คงจะโดนกดดันตลอด แต่ทึ่งมากที่ยังอยู่ด้วยกันและสู้จนถึงตอนนี้

สำหรับคนที่เป็นเทรนนี่ และไอดอลคนอื่นๆ สู้ๆนะคะ ขอให้สมหวังค่ะ

2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Moonam 31 ธ.ค. 60 09:24 น. 3

ค่ายเพลงหรือนายทุนเห็นการทุ่มเทของเด็กๆ และความฝัน เป็นเพียง สินค้าเท่านั้น สิ้นค้าชิ้นไหนที่ไม่สามารถทำรายได้ให้ ได้ก็ต้องถูกคัดทิ้ง ใจร้ายมากต้องทิ้งชีวิตที่ควรจะเป็นเพื่อความฝัน ที่ไม่รูได้เลยว่าจะสำเร็จหรือไม่ สู้นะไอดอล

0
กำลังโหลด
thadthong2548 Member 2 ม.ค. 61 23:31 น. 5

คุณมองยังไงเนี่ย โซยู sistar เค้าออกจะสวย เเล้วก็น่ารักถึงเเม้ว่าจะไม่ใช่เเฟนคลับตัวจริงเเต่ก็สวยเท่าๆกันหมดนั้นเเหละ

0
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Moonam 31 ธ.ค. 60 09:24 น. 3

ค่ายเพลงหรือนายทุนเห็นการทุ่มเทของเด็กๆ และความฝัน เป็นเพียง สินค้าเท่านั้น สิ้นค้าชิ้นไหนที่ไม่สามารถทำรายได้ให้ ได้ก็ต้องถูกคัดทิ้ง ใจร้ายมากต้องทิ้งชีวิตที่ควรจะเป็นเพื่อความฝัน ที่ไม่รูได้เลยว่าจะสำเร็จหรือไม่ สู้นะไอดอล

0
กำลังโหลด
ㅠㅠㅠ 1 ม.ค. 61 22:12 น. 4

นึกถึงบังทันเลยค่ะ กว่าจะเดบิวต์ พอได้เดบิวต์ก็ไม่ดังเพราะมาจากค่ายที่เล็ก โดนเอาเปรียบ วงการบันเทิงไม่สนใจ ไม่เคยได้ที่1 จน I need u ทำให้ได้ที่1 หลายปีหลังเดบิวต์

แต่ตอนนี้ดีใจที่เขาดังแล้ว กินอยู่ดี ไม่อดยาก และพวกเขานั้นทำงานหนักมาก คงจะโดนกดดันตลอด แต่ทึ่งมากที่ยังอยู่ด้วยกันและสู้จนถึงตอนนี้

สำหรับคนที่เป็นเทรนนี่ และไอดอลคนอื่นๆ สู้ๆนะคะ ขอให้สมหวังค่ะ

2
กำลังโหลด
thadthong2548 Member 2 ม.ค. 61 23:31 น. 5

คุณมองยังไงเนี่ย โซยู sistar เค้าออกจะสวย เเล้วก็น่ารักถึงเเม้ว่าจะไม่ใช่เเฟนคลับตัวจริงเเต่ก็สวยเท่าๆกันหมดนั้นเเหละ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด