'ป๋อง' วัยรุ่นไทยที่อุทิศตนสืบสานงานศิลปะชั้นสูง เพื่อธำรงพระพุทธศาสนา

      ถ้าจะชวนคุยรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยกันอย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าหลายคนคงพอเห็นปัญหาเรื่องการสืบสานศิลปะชั้นสูงของไทยอยู่บ้าง เพราะนี่เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความวิจิตรปราณีตซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน อีกทั้งมีเพียงผู้เชี่ยวชาญรุ่นปู่ย่าจำนวนไม่มากนักที่พร้อมจะถ่ายทอดวิชาให้แก่คนรุ่นหลัง จนกระทั่งองค์ความรู้ของงานศิลปะไทยบางแขนงก็เริ่มเลือนลางหายไปแบบที่คนรุ่นเราเองแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ...
    
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
     แต่สำหรับ Idol กิจกรรมที่พี่ส้มกำลังจะพาทุกคนไปรู้จักกันในวันนี้ คือเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังทุ่มเทกายใจให้กับการสืบสานงานศิลปะชั้นสูงเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "พุทธศิลป์" จนพัฒนาฝีมือถึงขั้นกวาดรางวัลระดับประเทศ พร้อมทั้งหารายได้ส่งตัวเองเรียนมาตั้งแต่ ม.ต้นจนมหา'ลัยเลยล่ะ และที่สำคัญเขายังยินดีแบ่งปันสกิลวาดเขียนขั้นเทพให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย! ชงมาเข้มขนาดนี้ก็อย่ารอช้า ไปเริ่มต้นบทสนทนากับ 'น้องป๋อง - ไชยอนันต์ จันต๊ะนัน' นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กันได้เลยจ้า!!!
   
น้องป๋อง - ไชยอนันต์ จันต๊ะนัน นักศึกษาชั้นปีที่ 2
คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
   
    
 'พุทธศิลป์' ศาสตร์แห่งเซียน แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ 
      
ก่อนที่จะลงลึกถึงการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ พี่ส้มว่าเราทุกคนมาปูพื้นฐานให้เข้าใจ 'พุทธศิลป์' ไปพร้อมๆ กันก่อนจะดีกว่า เพราะนี่คือหนึ่งในศิลปะที่มีไว้เพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาโดยตรง หรือถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คืองานอาร์ตตามวัดวาอาราม มีทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม เช่น เจดีย์ต่างๆ ภาพชาดกที่เห็นตามผนังโบสถ์ หรือแม้กระทั่งภาพเขียนที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วรรณคดี ในลายเส้นสไตล์อ่อนช้อยแบบไทยที่เราเห็นกันอยู่จนชินตานั่นเอง
    
เครดิต : Chaianan Janthanan
         
เมื่อความมีอยู่ของงานศิลปะเหล่านี้ได้ทำหน้าที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พุทธศิลป์จึงได้ถูกยกให้เป็นศิลปะชั้นสูง แต่เนื่องจากต้องใช้ความปราณีตบรรจงอย่างมากในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ขึ้นมา จึงทำให้มีชาวไทยจำนวนไม่มากนักที่ให้ความสนใจและสืบทอดศาสตร์ด้านนี้สักเท่าไหร่
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
ทว่าน้องป๋องกลับเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในภาพเขียนแนวพุทธศิลป์แล้วเดินหน้าศึกษาศาสตร์ด้านนี้อย่างจริงจังแล้วสะสมประสบการณ์ด้วยการฝึกฝีมือและลงประกวดอยู่บ่อยๆ จนในปัจจุบันก็ได้เปิดโกดังเล็กๆ เพื่อรวมกลุ่มเพื่อนผองน้องพี่เพื่อมาสร้างงานอาร์ตด้วยกัน
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
น้องป๋องเริ่มเล่าให้ทีมงานฟังว่า "ด้วยชื่องานว่าพุทธศิลป์ แปลความหมายออกมาแล้วอาจฟังเหมือนศิลปะของคนพุทธนะครับ แต่จริงๆ สำหรับผมแล้วแล้วมันก็คืองานศิลปะที่ใครๆ สามารถเรียนรู้ได้หมดถ้ามีใจรัก ซึ่งต้องบอกเลยว่าเท่าที่ผมเคยพบเจอเพื่อนๆ ในสนามประกวดมา เด็กรุ่นใหม่ที่ติดรางวัลด้วยกันมาตลอดเนี่ยไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นจำนวนคนที่น้อยมากนะ ถ้าเราอยากจะสืบสานศิลปะด้านนี้ต่อ เราต้องมีคนที่รู้วิชานี้เยอะๆ และไม่หวงวิชาด้วย"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
    
"จริงๆ แล้วฝีมือผมก็ไม่ได้ถึงขั้นเทพอะไรหรอกครับ แต่เวลามีใครมาถาม ถ้าเห็นแววเขาสนใจจริงๆ ผมยินดีสอน ยินดีแบ่งปันเลย อย่างโกดังที่เรารวมกลุ่มทำงานกันเนี่ย มีน้องคนนึงเป็นมุสลิมเขามาขอเข้าร่วมได้ ผมเห็นแววตั้งใจของเขา ผมดีใจมากเลยนะครับ มีเทคนิคดีๆ อะไรเลยเท่าที่รู้มาทั้งหมดผมจัดให้เต็มหมดเลย" น้องป๋องเล่าด้วยความภูมิใจ
    
     
 ศิษย์ "คูล"เพราะมี "ครู" 
   
แม้เจ้าตัวจะบอกว่าฝีมือตัวเองไม่ได้ขั้นเทพอะไร แต่พี่ส้มเดาว่าคนอ่านต้องค้านในใจบ้างแหละว่า "นี่แหละสวยสุดๆ แล้วพ่อคุ้ณณณ!!!!" ซึ่งก็แน่นอนค่ะ เห็นผลงานงามเลิศเตะตาซะขนาดนี้ มีเหรอที่จะไม่ถามถึงเบื้องหลังของความฉกาจฉกรรจ์ของเส้นสีและทีแปรงของเจ้าตัวน่ะ...
    
เครดิต : Chaianan Janthanan
    
น้องป๋องถึงขั้นต้องย้อนวัยไปขุดเมื่อครั้งสมัยเรียนประถมมาเล่าให้ฟังเลยค่ะว่า "ตอนเด็กๆ ผมชอบศิลปะครับ ชอบวาดการ์ตูน แต่จะต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่ชอบวาดการ์ตูนญี่ปุ่นหน่อย เพราะผมชอบเอาหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยที่จะมี แก้ว กล้า ม้านิลมังกร และตัวละครในวรรณคดีไทยมาวาดต่อเป็นเรื่องเป็นราวต่อไปอีกครับ วาดจนครูตีเลย บวกกับตอนนั้นฐานะทางบ้านผมก็ไม่ได้ร่ำรวย เคยได้ยินพ่อแม่ปรึกษากันทีเล่นทีจริงอยู่ว่าจะให้ผมเรียนแค่ ม.3 แล้วออกมาช่วยขายของแทน เพราะผมหัวไม่ดีเท่าไหร่ด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันมีแววจริงอยู่เหมือนกันเลยล่ะ 555555"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
"แต่ด้วยความที่ผมเรียนโรงเรียนในชนบทที่มีครูประจำชั้นคนเดียวสอนทุกวิชาอะครับ มันเลยเป็นโชคดีของผมที่ตอน ม.2 คุณครูประจำชั้นก็เห็นแววศิลปะของผมจากปกหนังสือเรียนภาษาไทยนี่แหละ เลยจับมาสอนวาดลายไทยจริงจังไปเลย ตอนนั้นติดครูมากๆ ถึงขั้นว่าเลิกเรียนก็ไม่ไปเล่นกับเพื่อน เอาแต่จะวาดรูปกับครู เลิกขึ้นรถรับส่งของโรงเรียนตอนเย็นเพราะอยากวาดรูปกับครูนานๆ บอกพ่อแม่ว่าจะขึ้นรถเมล์กลับบ้านเอง จนครูสงสารเลยต้องขับรถมาส่งผมกลับบ้านทุกวันน่ะครับ"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
    
"ช่วงที่ฝึกกับครูนี่ก็ต้องเรียกว่าใช้ใจรักจริงๆ เพราะวันนึงผมต้องขีดเส้นเป็นร้อยๆ เส้นให้มือมันเที่ยง(ชินกับการลากเส้น) จนครูเห็นแววแล้วว่าผมสามารถแข่งทักษะวิชาการได้ เลยส่งไปประกวดวาดรูปดู ครั้งแรกที่ไปก็ได้ที่ 2 ระดับประเทศกลับมา แล้วครูก็ไปบอกพ่อแม่ผมว่าให้ผมเรียนต่อให้จบ ม.6 นี่แหละ เพราะยังมีแววไปได้ไกลกับศิลปะ ครูคนนั้นเลยเป็นไอดอล เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสอบเข้าคณะครุศาสตร์ครับ เพราะผมอยากเป็นครูที่ให้โอกาสเหมือนที่ผมเคยได้รับมา" 
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
     
    
 ทำตัวให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว แล้วชีวิตจะได้รับการเติมเต็ม :) 
     
หลังจากที่เอ็นดูและอมยิ้มไปกับเรื่องราวชีวิตของเด็กชายป๋องเมื่อครั้งวันวานแล้ว ประเด็นต่อไปที่เราจะต้องพูดถึงกันก็คือสิ่งที่เขาได้จากการวาดภาพค่ะ ซึ่งน้องป๋องก็ได้เปิดเผยกับทีมงานว่าตั้งแต่ที่คว้ารางวัลระดับประเทศได้มาตอน ม.2 ก็ทำให้รู้สึกมั่นใจในฝีมือของตัวเองมากขึ้น จึงได้ลงประกวดวาดภาพแนวพุทธศิลป์มาเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้เขายิ่งหลงรักศาสตร์ด้านนี้มากขึ้นทุกที <3
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
    
"การลงประกวดอยู่เรื่อยๆ แน่นอนครับมันทำให้ผมต้องฝึกวาดรูปอยู่ตลอด แล้ววาดไปวาดมามันก็ยิ่งชอบ เรียกว่าติดเลยก็ได้นะ ถ้าวันไหนผมไม่ได้วาดรูปนี่รู้สึกเหมือนชีวิตมันขาดอะไรไป คล้ายๆ กับคนติดมือถือแล้วมันต้องหยิบมาสไลด์หน้าจอสักหน่อยก็ยังดี ผมก็เหมือนกันครับ ต้องจับดินสอจับพู่กันบ้าง 55555"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
       
"ถ้านับจากวันที่ผมเริ่มจริงจังกับพุทธศิลป์ก็กว่า 7 ปีแล้ว สิ่งแรกที่ผมได้รู้เลยคือ เราจะต้องทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว แล้วเราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด ของแบบนี้นะ ต่อให้เรามีอาจารย์เก่งแค่ไหนคอยสอนได้เราได้ทุกวัน แต่ถ้าเราหัวรั้น มีอีโก้สูง ทุกอย่างมันจะตัน จะจบอยู่แค่นั้นเลย ไม่ใช่แค่ความรู้ที่เราจะไม่ได้นะ มันยังมีอีกหลายอย่าง..."  
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
"เช่น รูปในส่วนที่ประกวดแล้วได้รางวัล นั่นคือผมก็ได้เงินมาเป็นทุนการศึกษาเลี้ยงตัวเองครับ แต่มากกว่านั้นคือรูปอื่นๆ ที่ผมวาดฝึกฝีมือนี่ก็มีคนมาขอซื้อไป เห็นมั้ยครับว่ามันเป็นผลประโยชน์ที่เราจะได้ตามมาอีก ซึ่งถ้าเราไปปิดใจไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกฝน ไม่สร้างผลงานอะไรต่อแล้ว มันก็ไม่มีทางจะพัฒนาอะไรต่อหรอกครับ"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
"และนอกจากเรื่องทฤษฎี ทักษะศิลปะ ที่คนเป็นศิลปินจะต้องเรียนรู้แล้ว การสร้างงานพุทธศิลป์ มันทำให้ผมต้องศึกษาถึงพุทธศาสนาให้เข้าใจพุทธประวัติ ชาดก แก่นธรรมะ ซึ่งมันก็ทำให้ผมเข้าใจหลักคิดที่ทำให้ใจตัวเองสงบด้วย เมื่อก่อนผมเป็นคนกินเหล้าสูบบุหรี่ แต่เดี๋ยวนี้เลิกหมดเพราะเราต้องใช้เวลา ใช้สติมาทุ่มเทให้กับการวาดรูปครับ นี่ก็เป็นข้อดีอีกอย่างที่เห็นความต่างได้ชัดเจนเลยนะ"
      
      
 ติดปีกให้ผลงานด้วยการประยุกต์... 
    
อย่างที่ทราบกันดีว่าไทยมีความอ่อนช้อยและต้องใช้ความปราณีตในการสร้างขึ้นมา บางทีก็มีความเกี่ยวพันกับศาสนาและความเชื่อจนบ่อยครั้งก็เกิดกรณีดราม่า เช่น การเอาภาพพระพุทธรูป หรือสัตว์ในวรรณคดีไปสกรีนลงบนของใช้ ว่าไม่เหมาะสม จนบางทีก็มีกระแสสังคมสวนกลับมาว่า "ถ้าอยากสืบสานต่อไป ก็ควรให้จับต้องได้มากกว่านี้สิ!" งานนี้จะออกหัวออกก้อยยังไงคงฟันธงไม่ได้ แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สร้างงานพุทธศิลป์คงต้องมีคำตอบที่ฟังแล้วได้ข้อคิดดีๆ บ้างแหละน่า...
    
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
น้องป๋องพูดตรงๆ ว่า "ผมว่าของแบบนี้มันไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้า แต่อยู่ที่สามัญสำนึกตอนเอาไปใช้งานมากกว่า เช่น สกรีนเสื้อรูปพระพุทธเจ้าเนี่ย มองเป็นงานศิลปะทำออกมาดีๆ ก็สวยเลยนะครับ ส่วนที่ว่าจะไม่เหมาะเนี่ย อยู่ที่เราใส่เสื้อนั้นไปทำอะไร เช่นใส่ไปแล้วไปผูกขึ้นสั้นๆ ให้มันวาบหวิว เต้นยั่วยวนทางเพศอะไรนั่นสิ ถึงจะไม่เหมาะสม"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
"งานพวกนี้ต้องปราณีตเป็นเรื่องจริงครับ แต่เราจะย่ำอยู่กับที่ก็ไม่ได้ อย่างที่บอกว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนา เช่นภาพวาดพุทธศิลป์สมัยก่อนเขาใช้สีฝุ่น ด้านๆ หมองๆ ไม่สดใส ไม่มีมิติ แต่เวลาผมไปประกวด หรือวาดแล้วมีคนซื้อ ก็ต้องประยุกต์บ้าง ปรับเป็นภาพสองมิติ เปลี่ยนเป็นใช้สีอะคริลิกให้ดูแล้วมีสีสันมากกว่าเดิม ภาพที่เราวาดจะได้ดูน่ามองขึ้น น่าสนใจ เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่างานไปด้วยครับ"
    
      
 ศิลปะและศาสนา ต้องไม่กลืนกินความเป็นตัวตนของใคร... 
    
พูดคุยกันมาถึงตอนช่วงท้ายของบทความแล้ว พี่ส้มคาดว่าต้องมีคนสงสัยแน่ๆ ว่าคนที่อุทิศชีวิตให้งานพุทธศิลป์แบบน้องป๋องนี่มีระดับแต้มบุญ เอ้ย!! เป็นคนธรรมะธัมโมมากแค่ไหน และติสต์เบอร์แรงขนาดไหน เพราะเจ้าตัวถึงขั้นบอกเองว่าต้องศึกษาธรรมะเพื่อทำงานศิลปะเลยด้วย... ยื่นไมค์จ่อไปเลยสิคะ จะรออะไร?
  
เครดิต : Chaianan Janthanan
      
น้องป๋องตอบแบบหมดเปลือกเลยว่า "ผมเป็นคนไม่ได้กักเกณฑ์ตัวเองว่าต้องมอบชีวิตให้ศาสนาและงานศิลปะ เพียงแต่ศิลปะเพื่อศาสนาหรือพุทธศิลป์เนี่ยคือสิ่งที่ผมทำแล้วมีความสุขและไม่เดือดร้อนใคร เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทุ่มเทไปก็คือความศรัทธาในสไตล์ของผมครับ"
   
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
"ผมเป็นคนไม่ได้เข้าวัดทำบุญอะไร แต่เชื่อในแก่นของหลักธรรมว่าถ้าเราละความชั่ว แล้วทำดี จิตใจเราก็จะสงบ ไม่กระวนกระวาย เราก็มานั่งวาดรูปได้อย่างมีความสุข ซึ่งสุขก็เป็นสุขในแบบของผมอีกแหละ เป็นสุขที่อยู่ในขอบเขตว่าไม่ทำให้ใครต้องทุกข์ใจ ผมเป็นคนชอบงานอัปมงคล(รูปยักษ์มาร)ด้วยซ้ำนะ พวกตัวละครร้ายๆ ในวรรณคดีนี่สนุกมือเลย เพียงแต่มันไม่ให้ความสุนทรีย์กับคนดูแล้วขายไม่ออกเท่านั้นแหละ เลยวาดอยู่คนเดียวไม่ได้เอาออกมาโชว์เท่าไหร่ แค่มันให้ความจรรโลงใจกับผมก็พอแล้วครับ 555555"
    
เครดิต : Chaianan Janthanan
   
เอาเป็นว่าเฉียบ! คม! เคลียร์! ทั้งลายเส้น ความคิด และคำพูดจริงๆ งานนี้ถ้าใครประทับใจในตัวตนและของชายหนุ่มผู้นี้ ก็สามารถเข้าไปชื่นชมผลงานของเจ้าตัวเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก Chaianan Janthanan ได้เลยค่า
       
     
        และแล้วบทสนทนาของเราก็จบลงเพียงเท่านี้ เหลือเพียงแต่ข้อคิดดีๆ ไว้เป็นตัวอย่างของความกล้าแสดงออก ความมุ่งมั่น และความจริงใจ ให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาตัวเองหรือพยายามไปสู่เป้าหมายในชีวิตที่วางไว้อยู่ ซึ่งบุคคลผู้นี้คู่ควรกับตำแหน่ง Idol กิจกรรมของเราจริงๆ ค่ะ ขอเสียงปรบมือดังๆ ให้กับ 'น้องป๋อง - ไชยอนันต์ จันต๊ะนัน' ด้วยจ้า!!!!
     
       
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com ไม่ว่าจะโชว์เดี่ยวหรือทีมเวิร์ก ก็สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่Methawee@dek-d.com ใครเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยค่ะ
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด