สวัสดีค่ะชาว Dek-D เชื่อว่าหลายคนที่อยากเรียนต่อคณะด้านการออกแบบ น่าจะเล็ง ‘สหรัฐอเมริกา’ ไว้เป็นอันดับต้นๆ ใช่มั้ยล่ะคะ เพราะนอกจากขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการศึกษาและสาขาที่หลากหลาย ยังเป็นประเทศที่ให้คุณค่ากับงานศิลปะมากๆ แถมรัฐบาลเองยังให้พื้นที่โชว์ศักยภาพกันได้แบบแฟร์ๆ นับเป็นโอกาสเติมเต็มความฝันและสร้างโอกาสก้าวหน้าให้คนที่อยากเดินเส้นทางสายนี้
และไม่นานมานี้เองค่ะ ในต่างประเทศก็มีข่าวงานแข่งขันฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกอย่าง ‘Super Bowl’ โดยปีนี้จัดที่เมือง Tampa ในรัฐ Florida ไฮไลต์เด็ดคือมีนักร้องดาราระดับฮอลลีวูดมาร่วมโชว์เปิดสนามแบบปังๆ แล้วเชื่อมั้ยว่าโลโก้สุดเก๋ของงานที่เป็นรูปเรือใบในธีมสีแดง-น้ำเงิน ถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์วัยเพียง 24 ชื่อของเธอคือ ‘เชอรี่’ - พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์ บัณฑิตป้ายแดงจาก University of Tampa นั่นเองค่ะ!
พี่มายมิ้นท์ก็ไม่รอช้ารีบส่งข้อความไปหาเจ้าตัวเพื่อขอสัมภาษณ์ประสบการณ์สุดพีคนี้มาฝากทุกคนทันที เวลาเกือบ 10 ปีที่อเมริกาของพี่เชอรี่จะมีอะไรบ้าง เส้นทางสายดีไซน์เนอร์ของเธอจะสนุกและโหดหินขนาดไหนเรามาติดตามกันเลย
เป็นเด็กโครงการพิเศษวิทย์-คณิตฯ
แต่รู้ว่าใจไม่ได้ชอบทางนี้
“เราชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาไปร้านหนังสือจะชอบยืนดูหน้าปก เล่มไหนหน้าปกดีไซน์ดีก็ซื้อเลยโดยไม่ค่อยโฟกัสกับเนื้อหา จนวันนึงก็เกิดความคิดแวบเข้ามาในหัวว่า ‘ถ้าเกิดเราได้ออกแบบปกเองบ้างจะเป็นยังไง?' ทำให้ตัดสินใจว่าจะไม่ต่อ ม.ปลายที่ไทย แล้วไปค้นหาตัวเองที่อเมริกาแทน โชคดีครอบครัวโอเค เลยได้ไปแลกเปลี่ยน ม.4 ที่เมือง Tampa ที่รัฐ Florida”
ถึงอเมริกาครั้งแรก
ได้แค่ Yes, No, OK
เริ่มปีแรกเราเรียนที่ โรงเรียนรัฐฯ ชื่อ Sickles High School คนที่นู่นพูดเร็วมากๆ ตอนนั้นภาษาที่เรียนจากไทยมาตลอดไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ โชคดีโฮสต์มัมคอยช่วยคอยแก้ให้เวลาพูดผิด เพื่อนที่โรงเรียนก็ช่วยพูดช้าๆ ให้เราเข้าใจหรือคอยเสริมตรงที่ไม่ทัน ส่วนเราเองก็พก talking dict ไว้เปิดหาศัพท์ด้วย ว่างๆ ก็เปิดซีรีส์ฝรั่งดู พยายามโฟกัสเวลาสื่อสาร ผ่านไปสัก 5-6 เดือนก็เข้าที่ ฟังออก พูดได้มากขึ้น
ที่ประทับใจคือครูทุกคนแฮปปี้ที่จะสอนและช่วยเหลือทุกเรื่อง อย่างเวลาไปถามส่วนตัวหลังเลิกเรียน ก็ช่วยอธิบายให้ละเอียดจนกว่าเราจะเข้าใจ หรือตอนที่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยเข้าที่ เราเคยไม่เข้าใจข้อสอบวิชานึงจนคะแนนออกมาไม่ดี เลยไปขอครูสอบใหม่ เขาก็แฟร์มากๆ คือให้สอบใหม่ทั้งเราและเพื่อนในห้องที่อยากแก้ตัว จากนั้นก็เอาคะแนนรอบที่ดีที่สุดเป็นคะแนนสุดท้ายของการสอบ อีกอย่างคือเวลาครูสัมผัสได้ว่าเด็กคนไหนลังเลสับสน จะช่วยไกด์ให้ทันที และเพิ่มความมั่นใจให้เราด้วยทำให้เรากล้าเริ่มหรือลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง
พอปรับตัวเรื่องเรียนได้แล้วทุกอย่างก็น่าสนใจไปหมด ที่อเมริกาจะมีวิชาหลักพวกคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ (แต่ไม่มีแยกเรียนแผนวิทย์-ศิลป์เหมือนที่ไทย) แล้วเลือกได้อีกว่าจะเรียนอะไร เราก็เลือกลงวิชาสายศิลปะจัดเต็มมาก แล้วไม่คิดเลยว่าจะได้มาเรียนปั้นหม้อที่อเมริกา! เรียนตั้งแต่พื้นฐานการปั้นด้วยนะ มันทำให้เรายิ่งชอบศิลปะขึ้นไปอีก พอลองนึกดูก็รู้สึกตัดสินใจถูกที่มาอเมริกา ถึงช่วงแรกจะลำบากหน่อยแต่มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย ถ้าอยู่ไทยคงไม่มีวันก้าวออกจาก Comfort zone ได้"
โรงเรียนรัฐบาล vs เอกชนในอเมริกา
ทำไมถึงย้ายมาเอกชน?
“พอจบ ม.4 เราย้ายโรงเรียนเพราะตัดสินใจแล้วว่าจะไม่กลับไทย พอดีกับที่น้าของเราเปิดร้านอาหารไทยที่ Tampa พอดี ก็เลยค่อนข้างลงตัว เราย้ายไปโรงเรียนเอกชนชื่อ Bayshore Christian School เหตุผลที่ย้ายเพราะถ้าในอเมริกา นักเรียนต่างชาติต้องได้รับเอกสารรับรองสถานะการเรียน ซึ่งมีแค่โรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่ออกให้ได้
พอย้ายมาแล้ว อย่างแรกที่ประทับใจคือสิ่งอำนวยความสะดวกอลังมาก (แต่ค่าเทอมก็แพงแหละ) การเรียนก็หลากหลายและยืดหยุ่น มีแค่วิชาพื้นฐานที่ล็อกไว้ นอกนั้นจัดตารางเรียนเองได้เลย ทำให้ได้เรียนวิชาที่สนใจจริงๆ อย่างพวกการวาดเขียนสีน้ำมัน การออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ แล้วยังเป็นช่วงที่ได้ค้นหาตัวเองเต็มที่ด้วยนะ
"แล้วเรื่องที่รู้สึกว่า 'เออ แบบนี้เจ๋งอะ' คือตอนที่อยากเรียนวิชาแอดวานซ์ขึ้น พวกตัดต่อ VDO หรือกราฟิกดีไซน์เน้นๆ ปรากฏว่าพอไปคุยกับอาจารย์ เค้าก็โอเคที่จะสอนเรา แล้วเราก็ยื่นหนังสือถึง ผอ.แจ้งความประสงค์ขอเปิดรายวิชานอกตารางเรียนเป็นวิชาเสริม เขาก็อนุมัติด้วย เราเลยภูมิใจเบาๆ ว่าเรานี่แหละผู้บุกเบิกรายวิชา เป็นนักเรียนคนเดียวในคลาสกราฟิกดีไซน์ // พีคตรง ผอ.ให้คอมพ์ใหม่ใช้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่เราเต็มใจมากคือต้องทำงานให้โรงเรียน เช่นเวลามีงานโรงเรียนก็ตามไปเก็บภาพมาลงเว็บโรงเรียน หรือมีวาง layout หนังสือรุ่น ม.6 นอกจากได้ฝึกฝีมือยังมีค่าตอบแทนให้ด้วย"
“จริงๆ ช่วงที่เหนื่อยๆ ก็เคย homesick นะ คิดถึงครอบครัวคิดถึงเพื่อนที่ไทย
แต่พอเราได้ทำในสิ่งที่ใช่ เหมือนเราเจอที่ของตัวเองแล้ว เราก็เลยเลือกจะเต็มที่กับมัน
ความรู้สึกแบบนั้นก็เลยค่อยๆ หายไปเอง”
กราฟิกดีไซน์ vs สถาปัตย์
รู้สึกทางไหนใช่กว่า?
“พอจบเกรด12 (ม.6) ก็มาถึงทางแยกของชีวิตระหว่างกราฟิกดีไซน์กับสถาปัตย์ฯ เพราะกราฟิกดีไซน์ของอเมริกาจะเป็นคณะแยกออกมาเลย ไม่ได้เป็นสาขาวิชาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เหมือนของไทย
เราก็ลองปรึกษาที่บ้านดู เค้าก็เชียร์ให้ไปสถาปัตย์แหละ เพราะที่นี่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (License) ซึ่งมีคนสอบผ่านไม่มากและอาชีพก็เป็นที่ต้องการสูง ส่วนดีไซเนอร์ขอบข่ายงานจะกว้างกว่า ครอบครัวเลยกลัวว่าจะการแข่งขันสูง ใจเราตอนนั้นอะไรก็ได้เพราะ ม.ปลายได้เรียนเขียนแบบเหมือนกัน แล้วเราก็เสพงานศิลปะ เลยรู้สึกว่าสถาปนิกก็ออกแบบบ้านกับอาคารได้ปังเหมือนกัน เงินก็สูง เราเลยตัดสินใจเรียนสถาปัตย์ระบบ College ที่ Hillsborough Community College”
การสอบเข้าเรียนต่อที่อเมริกาต้องผ่านกี่ด่าน?
- คะแนน SAT
- คะแนนภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL ITP : สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
- Portfolio : คณะทางศิลปะจะต้องส่งผลงานที่เคยทำมาด้วย
- เรียงความ (essay): เหตุผลที่อยากเข้าเรียนที่นั้นๆ และแพลนการเรียนในอนาคต
- การสอบสัมภาษณ์จะมีในกรณีนักศึกษาต้องการขอทุน
เรียนสถาปัตย์ที่อเมริกา
สุขภาพพังจนตัดสินใจย้ายสาย!
“ข้อดีของการเรียนระบบ College คือเซฟค่าใช้จ่ายไปเยอะเพราะรัฐฯ มีเงินสนับสนุน เวลาเรียนก็ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่ยอมรับว่ายากจริง หลายคนอาจคิดว่าแค่วาดเขียน ออกแบบบ้าน ตกแต่งภายใน แต่จริงๆ กว่าจะถึงขั้นนั้นต้องเรียนวิชาพื้นฐานมาก่อน เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เรียนเขียนแปลน และอีกเยอะแยะ
แล้วที่พีคคือต้องทำโมเดลหรือที่เด็กสถาปัตย์เรียกว่า ‘ตัดโม’ นั่นแหละ จำได้ว่าพอเลิกเรียนตอนเย็น ไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารของน้าถึงดึก แล้วนั่งตัดโมถึงเกือบเช้า เสร็จ 8 โมงเช้าไปเรียนต่อ ใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้เป็นปี ตอนนั้น suffer แล้วเพราะรู้สึกมันไม่ใช่สิ่งที่ชอบจริงๆ (เราอาจจะแค่ชอบดูโมเดลบ้านแต่ไม่ได้ชอบทำอะ)
แล้ววันที่เป็นจุดเปลี่ยนก็คือตอนตัดโมถึงเช้า แล้วขับรถไปเรียนต่อ เรามีอาการชัก! ตอนนั้นหมอบอกว่าเราใช้ร่างกายหนักเกินไป พักผ่อนน้อย สุขภาพพังมากกกก ทำให้เราคิดได้นะว่าจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรอ? ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่โอเคแล้ว เราก็ปรึกษาที่บ้านเลยว่าจะย้ายไปเรียนดีไซน์ ขอเลือกชีวิตตัวเองดีกว่า พอวางแพลนเสร็จก็ใช้เวลา 2 ปีที่ College เก็บวิชาพื้นฐานให้หมด โชคดีตรง 2 คณะนี้มีวิชาพื้นฐานเหมือนกันหลายวิชา ทำให้เก็บหน่วยกิตได้ ตอนนั้นสุขภาพดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด"
“เราเชื่อเสมอว่าไม่มีใครไม่เคยทำพลาดหรอก อย่างน้อยก็ต้องเคยทำอะไรผิดสักครั้งในชีวิต แต่สำคัญอยู่ที่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้ว...เราเรียนรู้อะไรจากมันบ้างแค่นั้นเอง”
จากสถาปนิกสู่เส้นทางดีไซเนอร์:
ในที่สุดเราก็เจอสิ่งที่ใช่แล้ว
“เราเรียนระบบ College ได้ 2 ปีเก็บหน่วยกิตวิชาพื้นฐานเสร็จก็โอนหน่วยกิตมาเรียนในระบบมหาวิทยาลัยที่ University of Tampa ก็คือมาเริ่มปี 3 ที่นี่เลย ระบบการศึกษาอเมริกาไม่ค่อยจุกจิกเท่าไหร่ และถ้าอยากขอทุนก็ขอได้เลยไม่ค่อยมีข้อผูกมัด เราโชคดีที่ได้ทั้งทุนทั้งโอนหน่วยกิตมาได้ ตอนนั้นเลยรู้สึกว่า ‘เอาล่ะ...ทุกอย่างลงล็อกหมดแล้ว เหลือแค่เรามุ่งมั่นเท่านั้น’
มารู้จักกับ University of Tampa สักหน่อย
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Tampa และเป็นอันดับต้นๆ ของรัฐ Florida เลยทีเดียวค่ะ ที่นี่ประกอบไปด้วย 4 Colleges แต่ละแห่งจะมีคณะแยกย่อยต่างกัน
- College of Arts and Letters เช่น Art and Design, Communication, English and Writing, Film, Animation and New Media, Languages and Linguistics
- Sykes College of Business : คณะที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัย
- College of Natural and Health Sciences เช่น Biology, Chemistry, Biochemistry and Physics, Health Sciences and Human Performance และ Nursing
- College of Social Sciences, Mathematics and Education เช่น History, Sociology, Geography and Legal Studies, Mathematics, Political Science and International Studies และ Psychology
“จุดขายของมหา’ลัยอย่างแรกคือตั้งอยู่ใจกลางเมืองและมีพื้นที่กว้างมาก เข้าไปตอนแรกเราว้าวกับแคมปัสมากๆ อะ แล้วยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกจัดเต็มให้สมควร จริงๆ คณะเราไม่ได้ใหญ่มาก แต่อุปกรณ์ที่ต้องใช้มีครบ แล้วนักศึกษาก็ส่งเสียงไปถึงผู้บริหารได้ว่าอยากได้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง เขาจะรับฟัง”
“ส่วนคณะ Business นี่ไม่ต้องพูดถึง อลังการล้านแปดมากค่ะคุณ เค้ามีห้องไว้สอนเทรดหุ้นโดยเฉพาะเลย แล้วนักศึกษาทั้งมหา’ลัยก็มาเรียนคลาสนี้ได้หมด จะมีโซนให้นักศึกษามาหาคอนเนกชัน พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ทำให้มีธุรกิจ start-up จากม.เราเยอะมาก”
กราฟิกดีไซน์เรียนอะไรบ้าง?
“วิชาเรียนเฉพาะทางมีเยอะมาก แต่เรายกให้ 5 วิชานี้น่าสนใจสุด
- วิชา Printmaking (ศิลปะภาพพิมพ์): เรียนเกี่ยวกับการสร้างงานทัศนศิลป์ 2 มิติ อาจจะมีการแสดงมิติที่สามโดยการสร้างขึ้นโดยการประกอบกันองค์ประกอบหรือหลักการของทัศนศิลป์ (Elements and Principal of Art) โดยอาศัยแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การแกะสลักแม่พิมพ์หรือการพิมพ์สกรีน (screen printing)
- วิชาแกลอรี : วิชานี้ไม่ได้สอนแค่การจัดแกลลอรี คัดเลือกงานไปขึ้นโชว์ แต่เขาสอนไปยันการเตรียม portfolio การถ่ายผลงานของเรายังไงให้น่าสนใจ เตรียมตัวเราให้พร้อมกับการยื่นขอฝึกงานหรือการสมัครงานจริงๆ
- วิชาถ่ายภาพ : เป็นเบสิกที่เด็กกราฟิกทุกคนต้องทำให้ได้ เรียนตั้งแต่ถ่ายกล้องฟิล์มไปจนถึงจัดแสงในสตูดิโอ อย่างตอนเรียนถ่ายรูปฟิล์มคือสนุกมากๆ อาจารย์ให้ทำตั้งแต่ล้างฟิล์มไปยันอัดรูปเอง เราได้สกิลผสมน้ำยาล้างฟิล์มจากคลาสนี้แหละ
- วิชาอักขระ (Typography) : วิชานี้เรียนตั้งแต่ที่มา ประเภท และองค์ประกอบของตัวอักษร เรียนเทคนิคและศิลปะในการนำไปประยุกต์ใช้ตัวอักษร และหลักการออกแบบต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มีความหมายชัดเจน มีความน่าสนใจ รวมไปถึงการครีเอตฟอนต์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เลย
"ด้วยความที่คณะและมหา'ลัยมีอิสระในการเลือกเรียนมาก เลยมีวิชาชื่อ 'Individual Study' (ไทยก็มีนะถ้าจำไม่ผิด) เราเลือกเรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นคณะที่คณะไม่มีสอน ที่สำคัญคือเราจะเป็นคนเดียวที่เรียนวิชานี้ เขียน adenda ของวิชาเรียนเองเลย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและประเมินงานเรา อย่างเช่นตอนนั้นเราสนใจพวก UI and UX Design ที่คณะไม่ได้สอนแขนงนี้ละเอียดเท่าไหร่ เราก็เลยลงเพื่อโฟกัสเพิิ่มเติม เป็นวิชาที่ท้าทายมากเพราะเรียนคนเดียว ได้ค้นหาทดลองทำเองทุกอย่าง"
"ที่นี่จะตัดคะแนนแบบ A+, A, AB (ชื่อจะแปลกหน่อย แต่เป็นแบบ A, B, C, D นั่นแหละ) ซึ่ง% คะแนนคือโหดมากกกก ตัด A ที่ 95% จ้า ใครที่จะได้เกรดสวยๆ ผลงานต้องปังจริงๆ อะ ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ยตามมาด้วยค่าใช้จ่ายค่าอุปกรณ์มหาศาลเลยนะ เรียนคณะทางสายนี้ต้องทำใจไว้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างที่บอกว่าทางมหา’ลัยมีทุนช่วยเรื่องค่าเทอม ราวๆ 30,000 ดอลลาร์ต่อปีก็ดีที่ยังมีทุนช่วย เราก็เลยลงเงินตัวเองไปกับอุปกรณ์อย่างเดียวเลย”
Culture เจ๋งๆ แบบอเมริกันสไตล์
“ที่นี่ซีเรียสความสุภาพอยู่แล้วตามมารยาทพื้นฐานทางสังคม แต่จะไม่ยึดโยงไว้กับอายุอะไรแบบนั้น เรารู้สึกนักศึกษากับอาจารย์ไม่มีระยะห่างกันมาก มีอะไรพูดกับเค้าได้โดยตรงแบบไม่ต้องกังวลเรื่องความอาวุโส เวลาเลิกคลาสนักศึษาก็ชวนอาจารย์ไปดื่มคลายเครียดกันได้ ชิลล์ๆ เลย” แล้วพอความสัมพันธ์ไม่มีกำแพงมากั้น"
"เวลาคอมเมนต์งานอาจารย์ก็จะไม่ใช้คำแบบเสียดสีหรือดูถูกงานนักศึกษา แต่จะรักษาน้ำใจเราสุดๆ คือเค้าบอกว่าศิลปะไม่มีถูกผิด แต่หลักการมันก็มีอยู่นะถ้างานเรามันไปไกลแบบหลุดไปเกิน เค้าก็จะแนะนำว่า ‘งานของคุณดีนะ...ไอเดียดีเลยแต่ถ้าเพิ่มอันนี้ไปด้วยจะดีกว่ามั้ย’ นักศึกษาก็จะใจฟูแล้วว่าเราไม่ได้โดนด่าแต่อาจารย์ติเพื่อก่อจริงๆ แล้วที่อิมแพ็คเรามากๆ อีกอย่างคือมหา’ลัยใส่ใจ mental health ของนักศึกษา ถ้าเครียดหรือมีปัญหาอะไรก็ไปหานักจิตวิทยาได้เลย เค้าไม่ได้มองว่าการเข้าไปตรงนั้นคือเราป่วย แต่หมายถึงเราต้องการทางออกเฉยๆ พอได้รับการแก้ไขเราก็ไปต่อได้”
“การศึกษาที่ดีไม่ควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกแย่ เราว่ามันต้องดีมาตั้งแต่โครงสร้างการศึกษา มาจนถึงเรื่องของบุคลากรเลย การเรียนการสอนที่ให้เกียรติกันและกันเราว่ามันสะท้อนคำว่า สังคมอุดมปัญญามากที่สุดแล้ว”
ตอนปี 4 ทำโปรเจกต์จบชื่อ ‘Note to Self’
"Note to Self เป็นแคมเปญให้คนได้มีพื้นที่แสดงออก โดยมีกระดาษโน้ตให้เขียนข้อความถึงตัวเอง อาจเป็นสิ่งที่อยากบอกตัวเองตอนนี้หรือในอนาคตก็ได้ เราได้แรงบันดาลใจจากวิชาปรัชญาที่เราลงเป็นวิชาเลือก ซึ่งทำให้เราเข้าใจโลกและตัวเองมากขึ้่น เรามองว่าการเข้าใจตัวเองสำคัญมากเลยอยากส่งต่อให้คนอื่น อยา่งน้อยที่เล็กๆ ตรงนี้จะให้คุณได้เล่าเรื่องในใจออกมาบ้าง"
"คณะเราจะมีวันจัดแสดงผลงาน ซึ่งจัดที่แกเลอรีของมหา’ลัย นักศึกษาก็จะไปจองพื้นที่ที่เหมาะกับผลงานตัวเองกัน เป็นการรวมพลคนสายศิลป์เลยแหละ ใครที่จองที่กว้างเอาไว้ก็เตรียมเหนื่อยจ้าเพราะต้องจัดที่ให้คุ้มๆ ซึ่งคนคนนั้นคือเราเอง5555 เป็นการพรีเซนต์โปรเจกต์ที่เหนื่อยแต่ภูมิใจมากกกก แล้วก็ได้ใช้ความรู้ทุกวิชาที่เรียนมาตลอด 4 ปีเลย”
เปิดประสบการณ์ฝึกงานครั้งแรก:
เส้นทางดีไซเนอร์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
“ด่านนี้เป็นก้าวสำคัญมากสำหรับชีวิตนักศึกษาของเราเลย ตอนนั้นต้องยื่นฝึกงานแล้วก็เรียนซัมเมอร์ควบคู่กันไปด้วย เราก็ยื่นเลย...ยื่นไปหลายที่มากทั้งเมืองอื่นและที่ Tampa แต่เชื่อมั้ยว่าเค้าปฏิเสธเราหมด (ใจแป้วไปแล้วจุดนั้น) ยกเว้น Schifino Lee เป็นเอเยนซีเดียวที่รับเราเข้าฝึกงาน บริษัทนี้ทำเกี่ยวกับงานโฆษณาแบบครบวงจร"
แล้วสิ่งที่เราเซอร์ไพรส์สุดเลยคือเค้าดูแลโปรเจ็กต์ออกแบบโลโก้งาน Super Bowl 2021 อยู่ด้วย! จริงๆ เราประทับใจขั้นตอนการรับสมัครเด็กฝึกงานของอเมริกาอยู่เหมือนกัน คือเค้าจะไม่ได้ให้ส่งรูปถ่ายหรือระบุเชื้อชาติมาในใบสมัครเลย เพราะเค้าเลี่ยง bias สุดๆ อะ เค้าจะดูที่ผลงานกันล้วนๆ เราเลยคิดว่าแบบนี้แฟร์ดี”
จากเด็กฝึกงานสู่เจ้าของไอเดียโลโก้งานแข่งขันระดับโลก!
“อย่างที่บอกว่าเอเยนซีนี้รับผิดชอบเรื่องออกแบบโลโก้งาน Super Bowl Fan Experience ซึ่งโลโก้นี้ก็จะไปอยู่บนโปรดักต์ที่เกี่ยวกับงาน อย่างของระลึกเช่น กระเป๋า เสื้อ พวงกุญแจ เอาไปสกรีนลายหน้ากากอนามัย ตอนนั้นเราไม่คิดว่าบอสจะให้เด็กฝึกงานคือเรากับเพื่อนอีกคนได้ลองเสนอไอเดียเลย แต่บอกแล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรที่นี่แฟร์มาก ไม่ได้แบ่งชนชั้นอะไรขนาดนั้น บอสเลยเสนอว่าให้เด็กฝึกงานออกแบบโลโก้งานนี้แข่งกับบอส เราก็แบบ ‘หา? บอสเอาจริงหรอ? เราเนี่ยนะ’ อะไรประมาณนี้ ถึงบอสจะบอกให้คิดซะว่าเป็นกิจกรรมฝึกฝีมือเล่นๆ แต่เรากลับไม่คิดงั้นนะ เราอยากทำให้เต็มที่ที่สุดและซีเรียสกับมันมากๆ ด้วย
โจทย์ที่เค้าให้มาคือทำยังไงก็ได้ให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนบอลเห็นโลโก้นี้แล้วคิดถึงเมือง Tampa (=ทำผลงานให้เข้าถึงง่าย) เราก็เริ่มโดยการนั่งรีเสิร์ชหาข้อมูลประวัติเมืองนี้ 2 วันเต็มๆ แล้วได้แรงบันดาลใจจากทีมฟุตบอลของ Tampa ด้วย จากนั้นก็ไปเดินถามคนใน ม.ทีละคนว่า 'ถ้าพูดถึงเมืองนี้ จะนึกถึงอะไร?' สุดท้ายได้คอนเซ็ปต์เรือใบโจรสลัด ซึ่งเกี่ยวกับประวัติของ Tampa และเมืองนี้ยังอยู่ติดทะเล มีอ่าว Tampa Bay ด้วย"
"โจทย์ต่อไปคือต้องออกแบบโลโก้ที่มีรายละเอียด 20 อย่างให้ออกมามินิมอล 5555 ตอนได้ยินครั้งแรกเราอึ้งไปเลย ยังไงนะคะ? ที่บรีฟมาเมื่อกี้เอาแบบมินิมอลจริงๆ หรอ? แต่หน้าที่ของดีไซเนอร์คือทำตามความต้องการของลูกค้าค่ะ เราก็โอเคเริ่มร่างแบบโดยที่ดูจากโลโก้งานปีก่อนๆ ว่าเค้าชอบประมาณไหน แบบที่ร่างไว้เยอะมากจนนับไม่ไหวเลยอะ "
"ระหว่างทำโปรเจ็กต์ทางเอเยนซีก็คอยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์กับสถานที่ และมีทีมงานคอยช่วยเด็กฝึกงาน จนเราได้ชิ้นที่เป็นไฟนอลมาแล้ว แต่บังเอิญวันนั้นเราติดงานที่มหา’ลัยพอดีมาพรีเซนต์เองไม่ได้ เลยฝากบอสพรีเซนต์ให้ลูกค้าแทนเรา"
โอกาสที่ได้มาแบบไม่คาดฝัน
“หลังจากนั้นบอสโทรหาเราแล้วบอกให้เข้าออฟฟิศด่วนมากๆ ต้องมาเลยมาเดี๋ยวนี้! เราก็แปลกใจแล้วว่าต้องมีอะไรสักอย่าง พอเราเข้าไปออฟฟิศบอสก็มารอรับหน้าประตูเลย แล้วบอกว่า ‘ลูกค้าเลือกผลงานเธอนะ’ เท่านั้นแหละเราเหมือนหูดับไปเลย คืออึ้งมากๆ แบบมากที่สุด ความคิดแรกคือบอสหลอกเราแน่ๆ แกล้งเราเล่นชัวร์ จนบอสต้องไปเปิดอีเมลที่ลูกค้าส่งมาให้เราดูเป็นการยืนยัน เราก็กรี๊ดเลย5555 ไม่เคยคิดว่าเค้าจะเลือกผลงานของเด็กฝึกงานอะ ดีใจมากกกก"
"แต่ความรู้สึกต่อมาคือความกลัวนะ ถ้าพูดกันจริงๆ อายุงานเราน้อยมากในสายดีไซเนอร์ แล้วงานระดับใหญ่มากเรียกได้ว่า Super Bowl เป็นงานที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลกแล้ว แต่เราก็โชคดีที่มีบอส มีทีมงานในเอเยนซีที่ช่วยกันตลอด ไม่เคยปล่อยเราเคว้งเลย และเค้าก็ให้เกียรติเราเสมอในฐานะเจ้าของไอเดีย ซึ่งเราแฮปปี้กับตรงนี้มากๆ เวลา 3 เดือนที่ทำโปรเจกต์นี้มีคุณค่าสำหรับดีไซเนอร์ฝึกหัดอย่างเราจริงๆ และตลอดเวลาที่ฝึกงาน เอเยนซีและทีมให้โอกาสเด็กฝึกงานเยอะมากจนเราประทับใจและรู้สึกขอบคุณมาจนถึงทุกวันนี้"
“ตอนนั้นเราคิดเล่นๆ ว่าถ้าผลงานของเราไปอยู่ในงานที่มีมูลค่าสูงขนาดนั้นได้จะเป็นยังไงนะ? เราก็เลยไม่ทำแบบเป็น exercise สำหรับเด็กฝึกงานแต่เราทุ่มเทกับมันมากๆ แม้มันจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เราได้มาอยู่จุดนี้ แต่เราก็จะคว้าโอกาสนั้นไว้แล้วทำให้เต็มที่”
“ความรู้สึกตอนเห็นผลงานเราไปอยู่ในงานและได้เห็นคนถือโปรดักต์ที่มีโลโก้ของเราอยู่...ตอนนั้นภูมิใจมาก ความพยายามของเราออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ไม่เคยเสียใจที่เปลี่ยนมาเรียนกราฟิกดีไซน์เลย คิดว่าเรามาถูกทางแล้ว ต่อจากนี้เราก็พร้อมที่จะเรียนรู้เส้นทางนี้ และเราก็จะทำทุกงานออกมาให้ดีที่สุด”- เชอรี่ พัชณิษฐ์
เป็นยังไงกันบ้างคะกับประสบการณ์เส้นทางกราฟิกดีไซเนอร์สไตล์พี่เชอรี่ ช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่อเมริกาเปลี่ยนเธอให้สตรองและมีมุมมองที่กว้างมากๆ เลยล่ะค่ะ จะเห็นว่าการสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาสักอย่างนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้ที่สั่งสมมา ความทุ่มเท ความอดทนต่ออุปสรรคและที่สำคัญต้องมีใจรักที่จะทำสิ่งนั้นด้วย
พี่มายมิ้นท์เชื่อว่าถ้าเราเริ่มต้นด้วยความชอบ เราก็จะมีความสุขที่ได้ทำและอยากจะทำมันออกมาให้ดีที่สุด ยิ่งบวกกับความคิดสร้างสรรค์เข้าไปด้วยผลงานจะต้องออกมาเป็นที่น่าพอใจแน่นอน ในอนาคตเราก็คงจะได้เห็นผลงานที่มีคุณค่าของดีไซเนอร์ที่ชื่อว่าเชอรี่-พัชณิษฐ์ในงานระดับโลกต่อไปอีกหลายๆ ผลงาน มาเป็นกำลังใจให้เธอในเส้นทางสายนี้กันนะคะ ส่วนพี่มายมิ้นท์ก็จะขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการค้นหาตัวตนให้เจอและได้ทำในสิ่งที่รักเช่นกันค่ะ ส่วนเรื่องราวประสบการณ์เด็กนอกในครั้งหน้าจะเป็นอะไร ติดตามได้ที่เว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ ของ Dek-D ค่ะ ^ ^
0 ความคิดเห็น