อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่า~ เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้เห็นกระแสภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง (랑종/ The Medium)’ บนโลกออนไลน์กันแล้ว เรียกว่างานนี้ทำเอาฮือฮาสุดๆ เพราะนอกจากจะได้ ‘โต้ง บรรจง’ ผู้กำกับ ‘Shutter กดติดวิญญาณ’ ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีมากำกับแล้ว(แถมดังในเกาหลีมากๆ) ก็ยังมีอีกมือฉมังชาวเกาหลี ‘นาฮงจิน’ ตัวพ่อหนังสยองขวัญฝั่งนั้นมาเป็นโปรดิวเซอร์อีกด้วย เรียกว่าเป็นการเจอกันระหว่างตัวบิ๊กๆ ของ 2 ประเทศ จึงไม่แปลกใจเลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับความสนใจทั้งในไทยและเกาหลี (เปิดตัวฉายที่เกาหลี 7 วันกวาดรายได้ไป 184 ล้านบาท OMG!)
และล่าสุดผลงานกำกับของพวกเขาก็ได้คว้ารางวัล ‘Best of Bucheon’ จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival ประจำปีนี้ที่เกาหลีใต้มาเป็นที่เรียบร้อย ทำเอาคอหนังชาวไทยอยากดูกันสุดๆ วันนี้พี่ชีตาร์เลยจะพาไปทำความรู้จักกับโปรดิวเซอร์เกาหลีคนนั้นและเผย 3 จุดเด่นของหนังสยองขวัญแดนกิมจิเพื่อเป็นน้ำจิ้มรอชม ‘ร่างทรง’ กันค่ะ ตามไปดูกันเลย~
…
‘นาฮงจิน’ ตัวพ่อหนังสยองขวัญเกาหลี
‘ผมใช้เวลาคิดวนไปวนมาในหัวมากมายนับครั้งไม่ถ้วน
เพื่อสั่งสม ออกแบบ และสร้างสรรค์ภาพในจินตนาการ
จากนั้นผมก็จะรื้อสร้างใหม่เพื่อให้มันสามารถออกมาโลดแล่นในภาพยนตร์ได้ในขอบเขตที่แตกต่าง'
—นาฮงจิน, ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และโปรดิวเซอร์
นาฮงจิน (나홍진) เกิดในปี 1974 จบการศึกษาจาก ‘Korea National University of Arts (K-Arts)’ มหาวิทยาลัยสายอาร์ตตัวแม่ของเกาหลีใต้ หลังจากนั้นเขาได้เริ่มงานในวงการโฆษณาเพื่อไล่ตามความฝันที่อยากจะสร้างหนัง จนกระทั่งในปี 2003 เขาได้ก็เดบิวต์ในหนังสั้นเรื่องแรก ‘5 Minutes’ อย่างไรก็ตาม กลับเป็น ‘A Perfect Red Snapper Dish’ หนังสั้นแนวคอมเมดี-สยองขวัญเรื่องถัดมาในปี 2005 เจ้าของรางวัล ‘Best Film’ เวที the Mise-en-scene Short Film Festival ที่นำชื่อเสียงมาให้เขา
จากนั้นนาฮงจินก็เริ่มประสบความสำเร็จในวงการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2007 ‘Sweat’ หนังสั้นเสียดสีทุนนิยมภาพขาวดำที่ถ่ายทำด้วยเทคนิค Slow Motion ก็พาเขาก้าวขึ้นไปคว้ารางวัล ‘Best Short Film Director’ บนเวที the Grand Bell Award และ the Jury Prize ในงาน Bucheon International Fantastic Film Festival
แล้วในที่สุดนาฮงจินก็ได้สร้างหนังความยาวปกติขึ้นมาเป็นเรื่องแรกเมื่อปี 2008 ซึ่งก็คือเรื่อง ‘The Chaser’ ที่กระแสตอบรับปังแบบถล่มทลายสุดๆ ไม่เพียงทำรายได้ทะลุ Box Office ของเกาหลี แต่แทบจะกวาดทุกรางวัลใหญ่ๆ ในประเทศภายในปีนั้นไปเลยค่ะ! และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนหนังเรื่องนี้ยังได้อวดโฉมใน ‘เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์’ และนักวิจารณ์หลายคนยกย่องให้เป็นหนัง ‘ลัทธิ’ แอ็คชั่นระทึกขวัญแห่งชาติเกาหลีเลยก็ว่าได้
ต่อมาในปี 2010 นาฮงจินยังได้ตัวนักแสดงหลักชุดเดิมอย่าง ‘คิมยุนซอก’ และ ‘ฮาจองอู’ มาร่วมแสดงใน ‘The Yellow Sea’ ซึ่งเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก ‘20th Century Fox’ ของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่กวาดรายได้ในเกาหลีได้มหาศาลเท่ากับเรื่องก่อน แต่ก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมในหมวด ‘Un Certain Regard’ ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 64 และได้รับการยอมรับในความสำเร็จทางด้านศิลปะอีกครั้ง
หลังจากนั้นนาฮงจินก็ได้ห่างหายจากวงการไปสักพัก และกลับมาในปี 2016 พร้อมกับผลงาน ‘The Wailing’ หนังแนวสยองขวัญที่ผนวกเรื่องราวของ Shamanism (ลัทธิคนทรง) เข้ากับความเชื่อของคริสเตียน นอกจากจะได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในการฉายรอบปฐมทัศน์ระดับนานาชาติในเมืองคานส์แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกฉายในหลายพื้นที่ทั่วโลก และปัจจุบันก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อนำไปรีเมคเป็นฉบับฮอลลีวูดอีกด้วย!
ถึงจะผลิตหนังเต็มๆ มาเพียง 3 เรื่อง แต่ความปังเป็นพลุแตกของแต่ละเรื่อง ก็ทำให้ ‘นาฮงจิน’ สามารถขึ้นแท่น ‘หนึ่งในผู้กำกับชาวเกาหลีระดับแนวหน้าของโลก’ ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ
///
หนังระทึกขวัญเกาหลีต่างจากชาติอื่นยังไง?
หนังแนวสยองขวัญ (Thriller/ Horror) ของเกาหลีจะมีส่วนผสมสำคัญที่พบได้ไม่บ่อยในหนังแนวเดียวกันของชาติอื่นๆ เพราะนอกจากธีมเรื่องจะดาร์คสุดๆ แล้ว ผู้กำกับเองยังเป็นมือโปรด้านการส่งสารผ่านเนื้อเรื่องเอามากๆ เป็นเหตุผลที่หนังระทึกขวัญของเกาหลีได้รับความสนใจจากคอหนังจากทั่วโลกในช่วง 20 ปีให้หลังนี้ และยังเป็นขวัญใจในเทศกาลหนังต่างๆ ด้วย!
1. Contrast
หนังเกาหลีแนวนี้มีวิธีการเล่าเรื่องแบบผสมประเภทหนังเข้าด้วยกัน ภายในเรื่องเดียวเราอาจจะได้ดูทั้งแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ แล้วอยู่ๆ ก็อาจพลิกไปเป็นแนวสยองขวัญเลือดสาดโดยไม่รู้ตัว ฟังเผินๆ เหมือนจะพบเห็นได้ในหนังทั่วไปใช่ไหมล่ะ แต่ผู้สร้างหนังเกาหลีเขาได้ทำให้การเปลี่ยนผ่านเนื้อเรื่องทั้งดิบเถื่อนและรุนแรงกว่านั้นมาก และในขณะเดียวกัน ถึงเขาจะแทรกความคอมเมดี้เข้าไปในหนัง ก็ไม่ได้ทำให้ความรุนแรงในเรื่องลดน้อยลงเลย แต่กลับทำให้รู้สึกสลดหดหู่มากขึ้นไปอีก
เวลาที่เราดูหนังแนวนี้ ทุกคนคงเตรียมใจสะดุ้งกับอะไรที่น่ากลัวๆ ใช่มั้ยล่ะคะ แต่กิมมิก (Gimmick) ของหนังเกาหลีคือเขาจะหลอกให้เราตายใจก่อน ผ่อนคลายสักครู่ จากนั้นค่อยมาเจอความน่ากลัวที่จะโผล่มาเซอร์ไพรซ์เราในแบบที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว
2. Distance from the Truth
อีกหนึ่งแพตเทิร์นที่พบบ่อยคือการ ‘เอาผู้ชมออกจากความจริง’ เราแทบจะไม่รู้อะไรเลยในขณะที่ดู เพราะหนังพยายามจะกันเราออกจากความจริงหรือประเด็นสำคัญของเรื่องให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เราดำดิ่งอยู่กับการจินตนาการถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานา บางครั้งเราก็ตกหลุมพรางเพราะดันคาดเดาผิดจุดและหลงกลัวไปผิดประเด็น ทำเอาต้องอ้าปากค้างกับตอนจบไปตามๆ กัน หรือหลายครั้งเรื่องราวก็อาจถูกเล่าผ่านตัวละครที่ไม่น่าเชื่อถือ (Unreliable narrator) จนคนดูไม่รู้เลยว่าควรจะเชื่ออะไรกันแน่?
โดยทั่วไปแล้ว หนังประเภทนี้จะพุ่งเป้าไปที่การเฉลยที่ไปที่มาของเนื้อเรื่องหรือภูมิหลังของภูติผีปีศาจ (Antagonist) เพื่อให้ตัวละครหลักสามารถเอาชนะมันได้ในตอนจบ แต่สำหรับหนังสยองขวัญเกาหลีแล้วกลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตัวละครหลักทำได้เพียง ‘ลอง’ หาหนทางไปสู่ ’ความจริง’ เรื่อยๆ ในความมืดแห่งความไม่รู้เท่านั้น กิมมิกนี้จึงเป็นเหมือนภัยคุกคามที่จะค่อยๆ คืบคลาน และผลักเราให้จมดิ่งกับความกลัวยิ่งกว่าครั้งไหนๆ...
3. Endings
เมื่อตอนจบของเรื่องมาถึง เราจะมีอาการสับสน มึนงง อารมณ์ค้างกัน เพราะหนังไม่ได้ตั้งใจให้เรากลัว หากแต่เป็นการทำให้เรา ‘สิ้นหวัง’ กับเนื้อเรื่องที่ผ่านมาต่างหาก
‘การใส่ Melodrama ที่หนักหน่วงลงไปนับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังสยองขวัญเกาหลี... เพราะนี่เป็นเรื่องเล่าของผู้แพ้ จึงมีตอนจบที่น่าเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้’
—หนังสือ Korean Horror Cinema
เราจะแทบไม่รู้สึกกลัวสิ่งมีชีวิตลี้ลับอีกต่อไป มีเพียงความรู้สึกโศกเศร้าไปกับโชคชะตาของตัวละครหลักในเรื่องเท่านั้น ความรู้สึกสิ้นหวังนี้ต่างจากความกลัวโดยสิ้นเชิง เพราะมันทั้งหนักอึ้งและจะหลอกหลอนเราต่อไปแม้หนังจะจบลงแล้วก็ตาม…
…
สำหรับเราแล้วเวลาดูหนังสยองขวัญเกาหลีทีไร จะรู้สึกเหมือนขึ้นโรลเลอร์โคสเตอร์อารมณ์ตลอดเลยค่ะ เดี่ยวตลกสักพัก หวานแหววแป๊บๆ แล้วก็ตัดเข้ามาแบบน่ากลัวหลอนจิต และจบปิดแบบเศร้าๆ หม่นๆ เล่นเอาคนดูซึมฝังลึกลงไปในใจกันเลยทีเดียว และสำหรับใครที่รอดู ‘ร่างทรง’ ไม่ไหว อยากจะเสพผลงานของคุณนาฮงจินสักเรื่องรอไปพลางๆ เราขอแนะนำเรื่อง ‘The Wailing’ เลยค่ะ เพราะจะมีกลิ่นอายความเชื่อเรื่อง ‘Shamanism (คนทรง)’ คล้ายๆ กัน บอกเลยว่าดีงาม ควรค่าแก่การดูแน่นอน : )
Sources:https://mubi.com/cast/na-hong-jinhttp://www.koreanfilm.or.kr/eng/films/index/peopleView.jsp?peopleCd=10007437https://www.youtube.com/watch?v=490QcBgrNog
0 ความคิดเห็น