สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ วันนี้เรามีคอร์สดีบอกต่อเป็น ‘Life Savior’ สำหรับคนที่วางแผนจะเรียนต่อ ป.โท-เอก หรือใครก็ตามที่อยากสร้างภูมิคุ้มกันให้รับมือกับชีวิตการเรียนและการทำวิจัยอันหนักหน่วงได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ได้งานที่มีคุณภาพด้วยค่ะ คอร์สที่ว่านี้สอนโดย ‘Australian National University (ANU)’ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศออสเตรเลีย บอกเลยว่าดีงามม ในคอร์สจะมีรายละเอียดยังไงบ้าง ตามไปดูกันเลยค่า~
...
“How to Survive Your PhD”
อย่างที่เรารู้กันว่าในการเรียนระดับสูงๆ ระหว่างทางอาจจะต้องมีหยาดเหงื่อและหยาดน้ำตาไม่น้อยกว่าจะถึงฝั่งฝันความสำเร็จ และหากเราไม่สามารถปรับการเรียนและความยืดหยุ่นทางอารมณ์ให้สมดุลกันได้ ก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อสภาพกายและจิตใจ รวมถึงทำให้ผลลัพธ์ของงานออกมาไม่ดีมากนัก ดังนั้นคอร์สนี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาบัณฑิตศึกษา (ป.โท-เอก) ให้เรียนรู้วิธีรับมือกับการทำงานได้อย่างชาญฉลาด
เนื้อหาเกี่ยวกับ
- สาเหตุและตัวอย่างปัญหาทางอารมณ์ที่พบได้บ่อยในเหล่านักศึกษาป.เอกหรือผู้ที่ต้องทำงานวิจัย
- วิธีรับมือและแนวทางช่วยเหลือเมื่อเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์จากการเรียนป.เอก
- แนวทางพัฒนาจากนักวิชาการสู่หัวหน้างานวิจัยที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรคอร์ส
Week 1: Setting the scene (บทนำ)
มีงานวิจัยเผยให้เห็นหลายปัจจัยที่ส่งผลให้นักศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในด้านการเรียน ดังนั้นบทแรกจะพาไปเจาะลึกประเด็นเหล่านี้และต้นตอของปัญหากันค่ะ
Week 2: A quick history of the doctorate (ประวัติโดยย่อของปริญญาเอก)
พาไปทัวร์ประวัติศาสตร์ ย้อนอดีตไปยังสมัยยุคกลางตอนปลาย เพื่อให้เห็นจุดเริ่มต้นและแนวคิดของมหาวิทยาลัย รวมถึงเตรียมตัวเตรียมใจว่าการศึกษาระดับปริญญาด้านวิจัยเป็นเรื่องท้าทายแค่ไหน
Week 3: Confidence (ความมั่นใจ)
เจาะลึกเกี่ยวกับ ‘ความมั่นใจ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนป.เอก หลายคนขาดหรือมีมากเกินไป เช่น พาไปรู้จักกลุ่มอาการโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือ ‘Imposter Syndrome’ พร้อมนำเสนอวิธีที่เราจะรับมือ และในทางกลับกัน คอร์สนี้ก็จะพาไปเรียนรู้ผลกระทบจากการที่ผู้เรียนมีความมั่นใจสูงเกินไปด้วยค่ะ
Week 4: Frustration (ความหงุดหงิด)
ในการทำงานวิจัยอาจทำให้ผู้เรียนเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่ายกว่าปกติ บทเรียนนี้จะพาไปทำความเข้าใจธรรมชาติของภาวะดังกล่าว และดูว่าผู้ที่ควบคุมดูแลงานวิจัยจะสามารถรับมือได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
Week 5: Loneliness (ความอ้างว้าง)
นักศึกษาวิจัยมักต้องเผชิญความเหงาและความโดดเดี่ยวระหว่างการทำงานจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเลยค่ะ...แต่เพราะอะไรล่ะ? ในบทนี้เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างการแยกตัวจากสังคม (Social Isolation) และการแยกตัวทางปัญญา (Intellectual Isolation) และไขปมปัญหาที่ว่าผู้ควบคุมดูแลงานวิจัยควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักศึกษาที่พบเจอปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน
Week 6: Fear (ความกลัว)
ในขณะที่นักศึกษาวิจัยคาดหวังความประสบความสำเร็จสูง แต่พวกเขาก็หวาดกลัวต่อความล้มเหลวมากๆ เช่นกันค่ะ บทนี้จะเล่าให้ฟังโดยเน้นเรื่องความกลัวต่อการเขียนและการพูดในที่สาธารณะโดยเฉพาะ
Week 7: Curiosity (ความอยากรู้อยากเห็น)
เพราะการเป็นนักวิจัยที่ดีจะต้องอยากรู้อยากเห็นไปซะหมด! ความขี้สงสัยนับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากต่อการทำงานลักษณะนี้ แต่ก็ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่พอดีด้วยค่ะ ดังนั้นในสัปดาห์นี้เราจะเน้นทำ Literature Review หรือกระบวนการค้นคว้า สรุป และวิเคราะห์ผลการวิจัยของผู้อื่น รวมถึงผลกระทบเมื่อเราควบคุมความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้
Week 8: Confusion (ความสับสน)
ความสับสนเป็นสิ่งที่ผู้เรียนปริญญาวิจัยหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่คำถามคือนักศึกษาวิจัยสับสนสิ่งเดียวกันหรือไม่ เราจะมาหาคำตอบในบทนี้กันค่ะ
Week 9: Boredom (ความเบื่อหน่าย)
ปริญญาวิจัยมักเป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่กินเวลานานพอสมควร จึงส่งผลให้นักศึกษารู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำ แต่เชื่อมั้ยว่าภายใต้ความเบื่อหน่ายนั้นกลับมีเรื่องน่าสนใจมากกว่าที่เราคิดอีกค่ะ!
Week 10: Love (ความรัก)
จะทำอย่างไรถ้าหากเกิดไปมีใจให้หัวหน้างาน จะเหมาะสมหรือไม่? และหากเกิดสถานการณ์แบบนั้นขึ้นมาเราควรจะทำตัวอย่างไรในฐานะนักวิจัยเพื่อไม่ให้เสียงาน มาหาคำตอบกันได้ในบทส่งท้ายนี้กันเลยค่ะ
อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์…
สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดการแนะนำคอร์สเรียนดีๆ แบบนี้อีก อย่าลืมกดไลก์เพจ One More Course รวมคอร์สอัปสกิลเพื่ออนาคต by Dek-D และช่องทางอื่นๆ ด้านล่างนี้ไว้ด้วยนะคะ อยากได้แนวไหนลอง request กันเข้ามาได้เลยค่ะ : )
เข้าร่วมกลุ่ม แชร์คอร์สฟรี คอร์สออนไลน์ คอร์สอัปสกิล by One More Course
Facebook: One More Course by Dek-D
Instagram: @tornokandcourse
Twitter: @tornokandcourse
0 ความคิดเห็น