อันยองง สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หลายคนน่าจะทราบดีกันอยู่แล้วว่าสังคมเกาหลีใต้นั้นมีอยู่ภายใต้อำนาจ ‘ปิตาธิปไตย’ หรือระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และในปัจจุบันผู้หญิงชาวเกาหลีที่ถูกกดทับมาเป็นเวลานานเริ่มออกมาต่อสู้ เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่พวกเธอสมควรจะได้รับ
แต่ว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของพวกเธอล้วนได้รับการต่อต้านจากชายชาวเกาหลีอยู่เสมอ จนลุกลามใหญ่โตและกลายเป็นความขัดแย้งทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะอะไรพวกเขาถึงต่อต้านและเกลียดชังการเคลื่อนไหวของฝ่ายหญิงขนาดนี้? ตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
เมื่อสูญเสียอำนาจในมือ ฝ่ายขวาคือคำตอบ
โดยทั่วไปคนมักจะมองว่าเด็กรุ่นใหม่แทบทุกพื้นที่ทั่วโลกล้วนมีความคิดทางการเมืองฝ่ายซ้าย (เสรีนิยม) ที่เชื่อเรื่องของสิทธิ ความเท่าเทียม เสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ในทุกมิติ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นพวกหัวสมัยใหม่นิยม ในขณะที่คนรุ่นเก่าจะมีความคิดทางการเมืองฝ่ายขวา (อนุรักษ์นิยม) ทั้งเชื่อในค่านิยมตามระบบแบบดั้งเดิม และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุดเลยล่ะค่ะ
ในหลายประเทศรวมทั้งไทยเองก็เป็นไปตามนั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่พากันหันหน้าหาฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นทิศตรงข้ามกับวัยรุ่นส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ เพราะจากความเห็นในปัจจุบันพบว่าชายชาวเกาหลีรุ่นใหม่กลับเปลี่ยนขั้วและย้ายฝั่ง หันกลับไปซบอกพรรคการเมืองฝ่ายขวาซะงั้น
ในปี 2017 หากใครยังจำกันได้เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนนับแสนออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ ‘พัคกึนฮเย’ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในขณะนั้น ด้วยเหตุผลเรื่องของการคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งพัคกึนฮเยก็มาจากพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั่นเองค่ะ
และหัวหอกที่สำคัญของการประท้วงในครั้งนั้นคือคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘Sewol Generation’ คนที่ได้รับผลกระทบและโกรธแค้นในการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลพัคกึนฮเยในเหตุโศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่ม ที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อคนทั้งประเทศ (อ่านต่อ)
ไม่เอารัฐบาลที่เข้าข้างผู้หญิง
ในตอนสุดท้ายเมื่อรัฐสภาได้ลงความเห็นให้ถอดถอนพัคกึนฮเยออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ผลคือ ‘มุนแจอิน’ ที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี และหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนแรก Gallup Korea ได้เผยผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ ปรากฏว่าความพึงพอใจของวัยรุ่นพุ่งสูงถึง 90% มากกว่าค่าเฉลี่ยรวมทุกช่วงวัยที่อยู่ราวๆ 81% เสียอีกค่ะ
จากตัวเลขที่สูงปรี๊ดในตอนนั้น ใครจะคาดคิดว่าใน 4 ปีต่อมา ผลสำรวจประจำเดือนพฤษภาคมของ Gallup Korea จะแสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจของคนรุ่นใหม่ต่อรัฐบาลชุดเดิมลดฮวบลงเหลือแค่ 34% เท่านั้น โดย 37% ของผู้หญิงในช่วงอายุ 20 ปียังคงให้การสนับสนุนประธานาธิบดีมุนแจอิน ถึงแม้ว่าตัวเลขในส่วนนี้จะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม แต่สิ่งที่น่าตกใจมีมากกว่านั้นค่ะ เพราะในจำนวนเพศชายช่วงอายุ 20 ปีที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้กลับลดลงไปอยู่ที่ 17% เท่านั้นเอง นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเมื่อแยกกลุ่มประชากรออกตามเพศและอายุ หรือกล่าวอีกนัยคือ ผู้ชายในช่วงอายุ 20 ปี สนับสนุนพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้สูงอายุวัย 60 ปี (24%) เสียอีกค่ะ
อะไรเป็นเหตุทำให้ผู้ชายย้ายฝั่ง?
เพราะมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของ Feminist
จากการศึกษาพบว่า เหตุผลที่ผู้ชายรุ่นใหม่ชาวเกาหลีหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนตลาดเสรี ไม่ได้ต่อต้านรัฐสวัสดิการ หรือไม่แม้กระทั่งต่อต้านคำสั่งถอดถอนอดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเย แต่ประเด็นทางการเมืองเดียวที่ทำให้พวกเขาย้ายข้างคือ ‘จุดตัดในเรื่องของเพศและอำนาจ’
เกาหลีใต้เป็นสังคมที่ใช้คำสอนของขงจื๊อมาเป็นรากฐานและวิถีปฏิบัติของประชาชน ดังนั้นแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่จึงฝังรากลึกอยู่คู่กับดินแดนแห่งนี้จนแยกออกจากกันไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่สังคมบีบคั้นและกีดกันผู้หญิงตลอดมา
ในขณะที่ชายสูงอายุมองว่าตัวเองมีอำนาจนำเหนือผู้หญิง เป็นช้างเท้าหน้า มีสิทธิ์ขาดเต็มที่ที่จะบังคับจับจูงสมาชิกหญิงในครอบครัวอย่างไรก็ได้ แต่ผู้ชายรุ่นใหม่นั้นต่างกันออกไปค่ะ พวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเองนั้นมีนำอาจเหนือกว่า แต่กลับนิยามว่าผู้ชายต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของ Feminist
นโยบายของมุนแจอินเป็นมิตรกับสตรีมากไป
ผู้ชายเกาหลีมองว่าการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา จึงส่งแรงต่อต้านและเกลียดชังอย่างมหาศาลต่อแนวคิดสตรีนิยมในหมู่มนุษย์เพศชาย จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 58.6% ของผู้ชายต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์ และ 25.9% ของจำนวนดังกล่าวบอกว่าพวกเขามีความเกลียดชังอยู่ที่ระดับ 12 (ระดับทั้งหมดคือ 0-12)
ผู้ชาย 83.3% ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลมุนแจอิน เพราะเห็นว่า ‘มีความเป็นมิตรกับสตรีมากเกินไป’ มีหลายนโยบายที่ดูเหมือนต้องการทลายเพดานแก้ว(=อุปสรรคที่มองไม่เห็น) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทมีการแต่งตั้งผู้หญิงขึ้นมาทำงาน การพยายามทำให้คณะรัฐมนตรีมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น หรือการประกาศขยายอายุคดีความทางเพศ เป็นต้น จากนโยบายเหล่านี้ทำให้ผู้ชายคิดว่าตัวเองสูญเสียโอกาสในการทำงานมากขึ้นอีกด้วยล่ะค่ะ
ความเห็นชายเกาหลีที่ต่อต้านเฟมินิสต์
- 100% เห็นด้วยว่า “ปัจจุบันการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชายรุนแรงกว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง”
- 95.7% ไม่เห็นด้วยว่า “การเลือกปฏิบัติทางเพศคือสาเหตุที่ผู้หญิงเกาหลีมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย”
- 78.3% เห็นด้วยว่า “ผู้หญิงมีรายได้น้อยเพราะความทุ่มเทในการทำงานลดน้อยลง”
- 58.3% ไม่เห็นด้วยว่า “สังคมที่ยุติธรรมคือการที่ผู้ชายและผู้หญิงมีรายได้ใกล้เคียงกัน”
เนื่องจากการถอดถอนพัคกึนฮเยออกจากตำแหน่งในคราวนั้น ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสูญเสียคะแนนความนิยมมหาศาล พวกเขาแพ้การเลือกตั้งระดับชาติถึง 4 ครั้งติดต่อกัน ก่อนจะมาชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ดังนั้นพรรคฝ่ายขวาที่ต้องการกู้สถานการณ์และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาอีกครั้ง จึงหันมาเลือกใช้ 'นโยบายที่ต่อต้านผู้หญิง' เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองค่ะ
ต้นเหตุแห่งความเกลียดชัง
#MeToo ฉันด้วยเหมือนกัน
ในปี 2017 ที่นักแสดงหญิงและนางแบบชาวอเมริกันได้ออกมาเปิดเผยผ่านแฮชแท็ก #MeToo ว่าตนถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายในอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง ปรากฏว่าแฮชแท็กดังกล่าวที่สื่อความหมายอย่างง่ายว่า 'ฉันเองก็โดนเหมือนกัน' นี้ ไม่ได้โด่งดังแค่ในสหรัฐฯ แต่แพร่สะพัดไปทั่วโลก และส่งแรงกระเพื่อมมาถึงเกาหลีใต้เช่นกันค่ะ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้หญิงเกาหลีที่ไม่ต้องการตกอยู่ภายในเงามืดอีกต่อไป ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้กับสิ่งที่ต้องเผชิญ โดยผู้ปลุกกระแส Me Too ในเกาหลีคือ ‘ซอจีฮยอน’ เธอได้ให้สัมภาษณ์ผ่านการไลฟ์สดว่าถูก ‘อันแทกึน’ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีลวนลามในงานศพเมื่อปี 2010
และยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อมีการเปิดเผยและตั้งข้อกล่าวหาทางเพศต่อ ‘อันจองฮี’ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี, ‘โกอัน’ นักประพันธ์ที่โด่งดัง และ ‘คิมกีด็อก’ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัล ก็ยิ่งเปรียบเสมือนการเติมน้ำมันลงในกองเพลิงที่ทำให้ผู้หญิงเกาหลีออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ ในปี 2018 สังคมในชีวิตจริงและโลกโซเชียลของเกาหลีเต็มไปด้วยการถกเถียงทั้งเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรแห่งนี้ อย่างเช่นประเด็นที่ว่าในตำแหน่งงานเดียวกันผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ชาย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยและพูดถึงไปทั่วไปประเทศ
สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงในดินแดนชายเป็นใหญ่นี้เริ่มขึ้นเมื่อมีคนลงถนนเพื่อประท้วงเป็นจำนวนมาก ณ พื้นที่ใจกลางกรุงโซล ผู้หญิงนับร้อยลุกมาหยิบไมค์เพื่อแบ่งปันและเล่าเรื่องราวการโดนล่วงละเมิดทางเพศที่ผ่านมาเป็นเวลา 2,018 นาทีโดยไม่มีหยุดพัก!
เธอประท้วง ฉันก็ประท้วง
และหลังการชุมนุมของผู้หญิง ในถนนสายเดียวกันนี้ก็มีกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายออกมารวมกลุ่มประท้วงเพื่อโต้กลับเฟมินิสต์เช่นเดียวกันค่ะ
“เราคือกลุ่มเพื่อความยุติธรรม ต่อต้านความเกลียดชัง และความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง” — มุนซองโฮ
“เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศอีกต่อไป แต่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แสดงออกถึงความรุนแรงและความเกลียดชังต่างหาก” — มุนซองโฮ
“ผมไม่สนับสนุน #MeToo นะ ยอมรับแหละว่าผู้หญิงวัย 40-50 เจอความไม่เป็นธรรมทางเพศจริงๆ แต่ผมไม่เชื่อว่าผู้หญิงวัย 20-30 ปีก็ถูกกดขี่จากการเลือกปฏิบัติเหมือนกัน” — นายพัค นักศึกษาวัย 20
กระจกสะท้อนภาพชีวิตผู้หญิงเกาหลี
‘คิมจียองเกิดปี 82 (82년생 김지영)’ คือหนังสือเล่มบางๆ เพียงไม่กี่ร้อยหน้าจากปลายปากกาของ ‘โชนัมจู’ ภายใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชีวิตประจำวันอันแสนเรียบง่ายของตัวเอกที่ชื่อ 'คิมจียอง' กลับแฝงด้วยมวลความเจ็บปวด อึดอัด ขมขื่น และทุกข์ทรมานแสนสาหัสกับสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีทุกคนต้องเผชิญในแต่ละวัน
และความจริงที่โชนัมจูเสนอก็ทำให้หนังสือเล่มนี้โด่งดังและเป็นกระแสอย่างมากในฐานะหนังสือ ‘เฟมินิสต์’ เพราะช่วงก่อนหนังสือจะถูกวางจำหน่ายนั้น ได้เกิดคดีชายคนหนึ่งฆาตกรรมหญิงสาวในรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกังนัม โดยคนร้ายให้เหตุผลว่าตนลงมือ ‘เพราะถูกละเลยและดูถูกจากผู้หญิง’ จากคดีดังกล่าวบวกกับอิทธิพลของกระแส MeToo ที่เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวทางเพศของคนใหญ่คนโตและวงการบันเทิง ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจสูงสุด ไม่เพียงยอดตีพิมพ์กว่าล้านฉบับ แต่ยังถูกนำไปแปลอีกหลายภาษาและสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน
“สำหรับผู้หญิงชาวเกาหลีแล้ว นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ตีแผ่เรื่องราวและประสบการณ์ร่วมของพวกเธอ ดังนั้นคิมจียองไม่ใช่เพียงแค่ตัวแทนของใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่เธอเป็นดั่งภาพสะท้อนของผู้หญิงทุกคน” — Jamie Chang ผู้แปล ‘คิมจียองเกิดปี 82’ เป็นฉบับภาษาอังกฤษ
“ฉันเพียงอยากให้หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนชั้นในร้านหนังสือหรือตามห้องสมุด เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้หญิงในยุคนี้ ใช้ชีวิต มีความคิด และต้องพยายามในแต่ละวันมากขนาดไหน ... หากพวกเธอล้วนผ่านประสบการณ์นั้นมาเหมือนกัน เราก็ควรนำสิ่งเหล่านี้มาพูดคุยกันในที่สาธารณะได้แล้วค่ะ” — โชนัมจู ผู้เขียน
ไม่ซาบซึ้งต่อสามีที่แสนดี
ในขณะที่ผู้หญิงมองเห็นความเจ็บปวดของตัวเองผ่านตัวละครคิมจียอง ผู้ชายเกาหลีกลับมองว่า หนังสือเล่มนี้นำเสนอมุมมองที่บิดเบี้ยวและใส่ร้ายผู้ชายอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขายังไม่ชอบใจตัวละครที่เกรี้ยวกราดใส่สามีผู้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง อีกทั้งไม่ซาบซึ้งต่อสามีที่แสนดีด้วย
ปฏิกิริยาของผู้ชายต่อหนังสือเล่มนี้รุนแรงถึงขั้นส่งเรื่องถึงทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อให้หยุดเผยแพร่ รวมถึงการรุมประณามด่าทอใครก็ตามที่อ่านหนังสือเล่มนี้เลยล่ะ หนึ่งในนั้นคือไอรีน สมาชิกวง Red Velvet ที่ถูกแฟนคลับชายกล่าวโจมตี ประกาศตัวเลิกสนับสนุน รวมถึงเผาการ์ดและกรีดรูปของเธอทิ้งทั้งหมดเพื่อระบายความโกรธแค้นที่มี เพียงเพราะเธอออกมาบอกว่าได้อ่านหนังสือเล่มนี้เท่านั้นเอง
คนดังหญิงกับการถูกโจมตีว่าเป็นเฟมินิสต์
นาอึน Apink
เรื่องของเรื่องคือเธอได้โพสต์รูปถ่ายตัวเองลงใน Instagram โดยเคสมือถือในรูปมีข้อความว่า 'Girls can do anything' (ผู้หญิงสามารถทำอะไรก็ได้) เท่านั้นล่ะค่ะเป็นเรื่องเลยทีเดียว เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่านาอึนเป็นเฟมินิสต์และต้องการเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไป อีกทั้งยังถูกแฟนคลับชายจำนวนมากกล่าวโจมตีจนต้นสังกัดต้องออกมาแถลงว่าเคสมือถือนั้นเป็นเพียงของขวัญที่ได้จากการถ่ายทำเท่านั้น และในเวลาต่อมาเธอก็ได้ลบรูปดังกล่าวออกไป
ยูนา Brave Girls
ล่าสุด ยูนา Brave Girls เกิร์ลกรุปที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ก็โดนโจมตีเหมือนกันค่ะ เมื่อเธอพูดคำว่า ‘오조억’ (ห้าพันล้านวอน) ขณะเล่นวิดีโอเกมขณะไลฟ์สด ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าหมายถึงคำว่า ‘오조오억’ (ห้าล้านล้าน/ห้าพันล้านวอน) หมายถึงจำนวนมาก ซึ่งเป็นคำที่เฟมินิสต์เกาหลีชอบใช้เวลาที่ตกใจกับอะไรบางสิ่งที่มีจำนวนมาก คำพูดเช่น '오조오억' ก่อนหน้านี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกใช้เพื่อแสดงความเกลียดชังต่อผู้ชายอีกด้วยค่ะ
นอกจากนี้ชาวเน็ตยังไปขุดภาพเก่าที่เธอใส่เสื้อซึ่งมีคำว่า ‘No power like girl power’ (ไม่มีพลังอำนาจใดเทียบเท่าพลังของผู้หญิง) ทำให้แฟนคลับผู้ชาย โจมตีว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ ถึงขั้นตามไป dm ด่าใน ig และไล่เธอไปโกนหัวด้วย
เชียร์ลีดเดอร์
ไม่ใช่แค่ไอดอลที่โดนโจมตีค่ะ ล่าสุดเชียร์ลีดเดอร์สาวจากทีมเบสบอล LG ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เหตุผลเพียงเพราะว่า ‘เธออยากตัดผมสั้น’ หลังจากนั้นก็โดนทัวร์ลงและด่าทอเสียๆ หายๆ พร้อมกล่าวหาว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ ซึ่งคอมเมนต์ส่วนใหญ่ก็หลงประเด็นไปมากกกก ทั้งล้อเลียนหน้าตาและกล่าวว่าในทางลบมากมาย
เช่นแอคนามว่า ‘ชินอูจอง’ แสดงความเห็นว่า “เธอจำไอรีนกับซูจีไม่ได้เหรอ? ความอวดฉลาดของพวกเฟมินิสต์นี่เป็นสิ่งที่มีปัญหามากที่สุดจริงๆ แน่นอนว่าพวกเธออาจจะฉลาดแต่ก็มีแนวโน้มหน้าตาขี้เหร่ด้วย แล้วนี่พวกคนสวยก็ยังจะเป็นเฟมินิสต์อีกอะนะ”
เยอึน Wonder Girls (HAT:FELT)
เยอึน Wonder Girls เล่าผ่านรายการ Radio Star ว่าเธอเคยอ่านหนังสือ ‘คิมจียองเกิดปี 82 (82년생 김지영)’ และรู้สึกชอบจึงได้แชร์ลง SNS ส่วนตัว แต่จู่ๆ กลับโดนโจมตีและด่าทออย่างหนักจากชายเกาหลีว่าเป็นเฟมินิสต์(อีกแล้ว) ด้วยเหตุนี้เองทำให้เยอึนไปศึกษาเพิ่มเติมถึงความหมายของที่แท้จริงว่ามันคืออะไร
“หลังจากไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็เลยรู้ว่ามันคือ หลักการที่ว่าด้วยความเท่าเทียมของผู้ชายและผู้หญิง ถ้าเป็นแบบนั้นฉันก็เลยคิดว่าตัวเองสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้นะ ก็เลยพูดออกไปแบบนั้นค่ะ”
จากนั้นเธอก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น และยิ่ง speak up มากเท่าไหร่ก็ยิ่งโดนจดจ้องมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็ตามมักจะโดนผู้ชายที่เกลียดชังเฟมินิสต์หยิบเอาการกระทำเหล่านั้นมาเป็นประเด็นและโจมตีอยู่เสมอ(กระทู้เยอะมากก) แต่เธอก็ไม่แคร์และเดินหน้าเพื่อความเท่าเทียมต่อไป จนล่าสุดกระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งให้เยอึนเป็นนักร้องคนแรกของเกาหลีที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ //ปังมากก สมมง Wonder Girls!
นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก
นักกีฬาที่ในสังคมเกาหลีถูกยกย่องว่าเป็นดั่งผู้ที่อยู่สูงสุดของยอดพีระมิดเองก็ไม่เว้นที่จะโดนกระแสต่อต้านเช่นเดียวกันค่ะ เมื่อ 'อันซาน' (안산) นักกีฬาสาววัย 20 ปี เจ้าของ 3 เหรียญทอง จากกีฬายิงธนูประเภทคู่ผสม ประเภททีมหญิง และประเภทหญิงเดี่ยว เรียกว่ากวาดเหรียญทองหมดทุกประภทที่ลงแข่งในโอลิมปิกเกม ณ กรุงโตเกียวครั้งนี้ ยังไม่วายตกเป็นเป้าความโกรธแค้นอย่างหนักเพียงเพราะเธอผมสั้น ด้วยเหตุนี้ผู้ชายเกาหลีจึงได้กระหน่ำส่งเรื่องไปยังสมาคมยิงธนูแห่งเกาหลีใต้ว่า ‘อันซานสมควรที่จะขอโทษต่อสาธารณะรวมถึงส่งคืนเหรียญทองเพราะเหตุผลที่เธอตัดผมสั้นและเป็นเฟมินิสต์’ นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปคุกคามยัง DM ส่วนตัวจนเธอถึงขนาดต้องตั้งไบโอว่า ‘ต่อจากนี้จะไม่อ่าน DM แล้วค่ะ’ เลยล่ะค่ะ
สัญลักษณ์เจ้าปัญหา
อีกประเด็นนึงที่ดูจะ Trigger ความเป็นชายของเกาหลีมากคือเจ้าสัญลักษณ์นิ้วโป้งแตะกับนิ้วชี้ ถ้าพูดถึงที่มาก็ต้องย้อนไปเมื่อปี 2015 ที่ไวรัส MERS กำลังระบาด ในตอนนั้นมีผู้หญิงเกาหลี 2 คนที่ติดเชื้อขณะเดินทางจากกรุงโซลไปยังฮ่องกง แต่พอถึงที่หมายแล้วพวกเธอกลับปฏิเสธการกักตัว ทำให้ถูกกระแสโจมตีอย่างรุนแรง หนึ่งในคำด่าเหล่านั้นคือ Kimchi bitch (แปลเป็นไทยคงประมาณว่า ‘ยัยแรดกิมจิ’ ) ซึ่งสื่อความหมายถึงผู้หญิงที่จ้องจะจับผู้ชายรวยๆ
ทีนี้ก็เป็นเรื่องค่ะ มีการโต้กลับจากฝ่ายหญิงด้วยคำว่า ‘ไอ้พวกชายกิมจิ’ และล้อเลียนถึงอวัยวะเพศ 6.9 ซม ของผู้ชายเกาหลีบ้าง แล้วหลังจากนั้นกลุ่มเฟมินิสต์ที่ค่อนข้างหัวรุนแรง (Radical feminist) ได้ปล่อยโปสเตอร์ออนไลน์ออกมา เป็นโลโก้นิ้วมือและนิ้วชี้ประกบกันเพื่อที่จะสื่อถึงอวัยวะเพศชายที่มีขนาดเล็กของคนเกาหลี
ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เวลาเจอสัญลักษณ์แบบนี้ ผู้ชายเกาหลีก็มักจะตีความไปว่ากำลังโดนดูถูกและเหยียดหยามอยู่ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยก็ตามค่ะ
ปลดป้ายโฆษณาออกให้หมด
เช่นครั้งนึงร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ของเกาหลีอย่าง ‘G25’ เคยต้องปลดภาพโฆษณาที่มีการใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ประกบกันและทำท่าว่าจะหยิบไส้กรอก หลังจากปล่อยออกไปก็ถูกกลุ่มผู้ชายตีอย่างหนักว่าล้อเลียนขนาดอวัยวะเพศพวกเขา ทำแบบนี้มันเหยียดหยามกันสุดๆ และไม่สามารถรับได้!
นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ ที่โดนเหมือนกันเพียงเพราะมีสัญลักษณ์ที่เป็นประเด็น เช่น โฆษณาธนาคาร แบรนด์ไก่ทอดชื่อดัง หรือภาพโปรโมตแคมเปญของสถานีตำรวจกรุงโซล เป็นต้น ล้วนต้องปลดออกทั้งหมดเลยล่ะค่ะ
ดาราไอดอลก็ไม่เว้น
ไม่นานมานี้ ‘อี แชยอน’ อดีตสมาชิก ‘IZ*ONE’ ได้โพสต์สตอรี่ IG เป็นภาพที่เพื่อนของเธอทำมือลักษณะคล้ายกันนี้ เพื่อเล่นกับมุมกล้องและต้องการสื่อว่าตัวเธอเล็กเท่าเม็ดถั่วเขียว แต่ในคืนนั้น IG ของเธอกลับโดนแจ้งรีพอร์ตในหัวข้อ ‘บูลลี่และล่วงละเมิด’ เนื่องจากถูกตีความว่าเธอกำลังส่อเสียดล้อเลียนถึงความเป็นชายของพวกเขาอยู่ ทำเอาแชยอนงงไปเลยจนต้องมาโพสต์บอกว่า ‘รีพอร์ตกันทำไมคะ ฉันทำอะไรผิดเหรอ?’
และก่อนหน้านั้น ระหว่างเดินพรมแดงงานประกาศรางวัลโทรทัศน์ ‘Baeksang Arts Award 2021' ‘แจแจ’ YouTuber ชื่อดังได้โพสต์ท่าโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งคีบช็อกโกแลต ก็โดนโจมตีอีกเหมือนกัน
นอกจากประเด็นนี้ แจแจยังต้องเผชิญออร่าความเกลียดชังจากชายเกาหลีแค่เพราะเธอออกตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรทีก็มีสายตาจับจ้องแล้วยกมาเป็นประเด็นด่าทอตลอดๆ
บังคับแค่ผู้ชายให้เกณฑ์ทหารนั้นไม่ยุติธรรม
เพราะอัตราการเกิดที่ลดลง
ผลพวงจากสงครามเกาหลีได้นำไปสู่กฎหมายที่ระบุว่า ชายเกาหลีใต้ทุกคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-35 ปี และมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ต้องเข้ากรมเกณฑ์ทหารเป็นระยะเวลา 18 เดือน เพื่อฝึกอบรมและเตรียมการรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
และเนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตราการเกิดที่ต่ำลงในทุกปี จึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 จำนวนผู้ที่ร่วมกองทัพจะลดลง 6 เท่าจากปีก่อนๆ นอกจากนี้ฝ่ายกลาโหมยังออกมาบอกอีกว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า กองทัพจะเหลือทหารเพียงครึ่งเดียวจากจำนวนที่มีในปัจจุบัน
ฉันเข้าเธอก็ต้องเข้า
ผู้ชายเกาหลีหลายคนก็ไม่เต็มใจที่จะต้องเข้ากรม เพราะนอกจากต้องสูญเสียอิสรภาพไปเกือบ 2 ปีแล้ว ยังทำให้แผนการเรียนการทำงานล่าช้า และขัดต่อความก้าวหน้าในชีวิต อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกไม่ยุติธรรมที่มีแต่เพศชายต้องเข้าเกณฑ์ทหาร เลยเป็นอีกหนึ่งที่มาของแนวคิดที่ว่า ‘ผู้ชายตกเป็นเหยื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ และพยายามส่งเสียงเรียกร้องว่าผู้หญิงก็ต้องเข้ากรมด้วยเหมือนกัน
จากงานวิจัยของ ‘มาคยองฮี’ นักวิจัยด้านนโยบายทางเพศจากสถาบันพัฒนาสตรีแห่งชาติเกาหลี ระบุว่า 72% ของผู้ชายให้ความเห็นว่าการบังคับเฉพาะผู้ชายให้เกณฑ์ทหารนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเลือกปฏิบัติทางเพศ ในขณะที่ 65% คิดว่าผู้หญิงควรที่จะต้องเข้าเกณฑ์ทหารด้วย และ 68% เชื่อว่ามันเป็นการเสียเวลาของผู้ชายที่ต้องเข้ากรม
“การเข้ากรมช่างไร้ประโยชน์ และมันก็ไม่ยุติธรรมด้วยที่มีเพียงแค่เพศเดียวที่ต้องสละเวลาช่วงวัย 20 ปีไปให้กองทัพ แทนที่จะได้ใช้เวลาทำตามความฝันของเรา”
— นายพัค ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้ากรม
“ถ้าต้องใช้เวลาที่ควรพัฒนาตนเองไปเกณฑ์ทหาร เมื่อกลับออกมาผมจะไม่อยู่รั้งท้ายพวกผู้หญิงในตลาดแรงงานเหรอครับ”
— นายคิมตั้งคำถาม
ด้วยเหตุนี้ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่าง ‘พัคยงจิน’ จึงได้ผุดนโยบายยกเลิกการเข้ากรม 18 เดือนของชายเกาหลี และเปลี่ยนมาให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงทุกคน ต้องเข้าอบรมการฝึกทหารพื้นฐานเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อทดแทนรูปแบบเดิม
แท้จริงแล้ว Feminisim/Feminist ที่โดนเกลียดชังคืออะไร?
คลื่นการเคลื่อนไหว
‘Feminism’ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเหล่าเฟมินิสต์ที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิ และโอกาสต่างๆ ทางสังคมที่พวกเธอสมควรจะได้รับ ซึ่งมูฟเมนต์นี้มีมานานมากแล้วค่ะ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 กันเลยทีเดียว เป็นการแสดงเจตจำนงต้องการจะปลดแอก และทวงคืนพื้นที่หลักที่ถูกผู้ชายยึดครอง เพื่อที่ผู้หญิงจะสามารถพาตัวเองก้าวออกมาจากชายขอบที่ถูกผลักไสไปในตอนแรก เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการแสดงจุดยืนของผู้หญิง (Women’s Standpoint) ที่ต้องการหลุดพ้นจากวาทกรรม ‘ความเป็นหญิง’ หรือค่านิยมต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้พวกเธอเป็น รวมถึงโครงสร้างที่ทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงแค่วัตถุไม่ใช่คนที่มีชีวิต เริ่มต้นจากการเรียกร้องของคนขาว ไปสู่การต่อสู้ของผู้หญิงผิวดำ และในปัจจุบันที่กระแส #MeToo ได้ปลุกพลังให้หญิงสาวชาวตะวันออกทั้งหลายลุกขึ้นมาทวงความเป็นธรรมให้กับตัวเอง
นิยามการต่อสู้ที่แท้จริงคือแบบไหน?
แต่ไม่ได้มีแค่ชายชาวเกาหลีที่ต่อต้านแนวคิดนี้ เพราะสังคมอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงถึงผู้หญิงด้วยกันเองบางส่วนก็ไม่ชอบใจแนวคิดนี้ค่ะ เพราะมีภาพจำฝังหัวที่ว่าเฟมินิสต์คือผู้หญิงก้าวร้าว หัวรุนแรง เกลียดผู้ชาย และต้องการจะทำให้เพศของตัวเองเป็นใหญ่เหนือชาย
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลักการของเฟมินิสต์นั้นง่ายนิดเดียวเองค่ะ นั่นคือการมองและปฏิบัติกับมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอกันโดยไม่ต้องมีเพศใดได้รับอภิสิทธิ์และอยู่เหนือกว่า และไม่มีใครต้องโดนกดขี่เพียงเพราะเพศสภาพของตน หรือกล่าวได้ว่าเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศไม่ใช่แค่เพียงผู้หญิงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ค่านิยมที่ผู้ชายต้องเข้มแข็งและห้ามอ่อนแอ จนในหลายๆ ครั้งไปกดทับให้พวกเขาไม่กล้าแสดงความอ่อนไหวออกมาเพราะกลัวสังคมตัดสินว่า ‘ไม่แมน’ และเฟมินิสต์ก็พยายามทำลายกรอบความเชื่อนี้เช่นกันค่ะ
ถึงแม้ว่าขบวนการของเฟมินิสต์จะเริ่มจากการต่อสู้ของผู้หญิง แต่ไม่ได้สงวนเฉพาะสตรีเท่านั้น เพราะเฟมินิสต์ไม่ใช่เพศแต่เป็นแนวคิด เป็นหลักการที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมของทุกคน ดังนั้นทุกคนสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามค่ะ
พจนานุกรมฉบับ Oxford ได้ให้ความหมายของ Feminisim ไว้ว่า “Feminism (N) The belief and aim that women should have the same rights and opportunities as men.”
“จากความหมายและคำนิยามของ “Feminism” คือความเชื่อที่ว่าผู้ชายและผู้หญิงสมควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียม เป็นทั้งทฤษฎีทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางสังคมของเพศต่างๆ … ถ้าคุณเกลียดคำนี้ (feminism/feminist) สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำแล้วค่ะ แต่แนวคิดเบื้องหลังต่างหากที่สำคัญที่สุด”
— Emma Watson, UN 2014
“ถ้าผู้ชายไม่มีพฤติกรรมแข็งกร้าวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นจะต้องถูกกดทับหรือกดขี่ ถ้าผู้ชายไม่ต้องการจะควบคุมแต่แรก ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นรู้สึกว่าตัวเองต้องยอมจำนน ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงก็ควรจะอ่อนไหวหรือเข้มแข็งได้อย่างอิสระ”
— Emma Watson, UN 2014
...................................
ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ แต่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงและต่อสู้อยู่เสมอ ทว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนบางกลุ่มในสังคม ไม่เฉพาะในเกาหลีใต้ แต่ในอเมริกาใต้มีผู้หญิงถูกฆ่าและลักพาตัวรายวัน (อ่านต่อ) ที่เอเชียกลางก็มีเด็กหญิงมากมายถูกบังคับให้แต่งงานกับคนคราวพ่อ แอฟริกาเด็กสาวต้องเสียชีวิตจากการถูกขลิบอวัยวะเพศ เพียงแค่ลืมตามาดูโลก ผู้หญิงก็ถูกเปรียบให้เป็นดั่งสิ่งปฏิกูลเหมือนในสุภาษิตจีนที่ว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" หรือคำสอนของไทยเองก็จะมีสุภาษิตสอนหญิงหรือขนบว่าเกิดเป็นผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแบบไหน และยังมีพื้นที่อีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ผู้หญิงกำลังถูกกรอบค่านิยมครอบงำโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง
sources:Michele Dillon, “Chapter Ten: Feminist,” in Introduction to Sociological Theory: Theorists, Concaepts, and Their Applicability to the Twenty-First Century, 3rd Ed., (New York: John Wiley & Sons Ltd., 2020)https://foreignpolicy.com/2021/06/23/young-south-korean-men-hate-liberals-feminists/ https://www.billboard.com/articles/columns/k-town/8257777/female-k-pop-stars-face-criticism-feminist-behavior https://www.allkpop.com/article/2021/06/brave-entertainment-to-take-legal-action-against-malicious-commenters-spreading-false-information-that-brave-girls-yuna-is-a-feminist https://pann-choa.blogspot.com/2021/07/teen-stories-wow-look-at-those.html https://edition.cnn.com/2019/09/21/asia/korea-angry-young-men-intl-hnk/index.html https://www.wsj.com/articles/south-koreas-military-is-shrinkingsome-say-women-must-answer-the-call-of-duty-11622727598 https://en.yna.co.kr/view/AEN20210420007200315 https://www.hankyung.com/entertainment/article/202105143646H https://indianexpress.com/article/explained/explained-how-an-emoji-fueled-widespread-sexism-debate-in-south-korea-7362258/ https://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2021/05/694_308476.html https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/american_english/feminism https://asiasociety.org/korea/metoo-movement-south-korea https://www.bbc.com/news/world-asia-50135152 https://www.npr.org/2020/04/19/835486224/south-korean-bestseller-kim-jiyoung-born-1982-gives-public-voice-to-private-pain https://www.theguardian.com/books/2020/feb/19/kim-jiyoung-born-1982-cho-nam-joo-bestseller-review https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/0306422018819321 https://www.nytimes.com/2020/04/14/books/review/kim-jiyoung-born-1982-cho-nam-joo.html https://pulsenews.co.kr/view.php?year=2021&no=182191 https://time.com/6075235/moon-jae-in-south-korea-election/ https://www.bbc.com/news/world-asia-38114558 https://unsplash.com/photos/qjsmpf0aO48 https://www.bbc.com/thai/international-53153218 https://www.insight.co.kr/news/349182 https://www.soompi.com/article/1124159wpp/apinks-agency-addresses-concerns-son-naeuns-photo https://www.wmagazine.com/story/park-ye-eun-wonder-girls-hatfelt https://www.khan.co.kr/national/court-law/article/202107221509001 https://zapzee.net/2020/05/12/yeeun-confronts-a-youtuber-who-contradicted-her-feminist-remarks/ https://twitter.com/worldarchery/status/1418864507829592069/photo/1
11 ความคิดเห็น
ผู้ชายเกาหลีเขาเต็มไหมคะ Fragile อะไรเบอร์นี้ งงมาก
ขอบคุณมากๆนะคะ ข้อมูลละเอียดมากๆเลยค่ะ อ่านแล้วเศร้าสังคมปิตาธิปไตยมีอยู่ทุกมุมโลกจริงๆ
เปราะบางเหลือเกินผู้ชายเกาหลี... นิดๆหน่อยๆ ก็เหมือนจะปสดได้ตลอดเวลา55
'มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน'อันนี้น่าจะสุภาษิตจีนนะคะ คนจีนค่อนข้างกดขี่ผู้หญิงค่ะ เน้นใช้งานไม่ค่อยให้ออกหน้าออกตา มองว่าลูกสาวทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลได้ง่ายแต่งงานแล้วก็ต้องออกเรือนไปอยู่บ้านผู้ชายจึงเป็นที่มาของค่าสินสอด สินสอดนี่คือค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้หญิงที่ลูกสาวไม่สามารถอยู่ดูแลรับใช้ได้แล้วค่ะ ถ้าคนไทยแท้ๆน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้านส่วนผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากกว่าค่ะ ตามต่างจังหวัดยังพอมีการบังคับให้ลูกสาวทำงานบ้านทุกอย่างแต่ลูกชายไม่ต้องทำเพราะเป็นผู้ชายอยู่นะคะ
เขาเป็นเกมเมอร์ครับ
เป็นประเทศที่คนไทยเราควรมองเป็นเยี่ยงอย่างครับ นอกจากเจริญด้านเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนยังมีความกล้าที่แสดงความคิดเห็นทางสังคม กล้าที่จะสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่จริง เป็นกําลังใจให้ครับ
อ่านเพลินค่ะ เขียนบทความได้ดีมาก????
มันวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ก็เพราะการเกณฑ์ทหารอย่างเดียวเลย ถ้าล้มระบบนี้ได้ ผช ที่ต่อต้านเฟมก็น้อยลงแล้ว
ไม่แปลกใจถ้าชายเกาหลีจะโสด ดูแต่ละเรื่องดิโคตรปัญญานิ่ม มันกลัวไรกัน ยอมรับความจริงกันไม่ได้มากกว่าถ้าผญจะต้องได้เท่าตัวเองหรือได้ดีกว่าตัวเอง