ไหนใครเป็นนักสะสมความเศร้าบ้าง สารภาพมาซะดี ๆ
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีพฤติกรรมที่ชอบทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกเศร้า หรือเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงเศร้าบิล์ดตัวเอง การแชร์สเตตัสแสดงความผิดหวัง เพื่อตอกย้ำความทรงจำแย่ ๆ ให้ตัวเองรู้สึกเจ็บปวดอยู่ซ้ำ ๆ หรือบางคนถึงขั้นมีพฤติกรรมอกหักทิพย์ เพื่อสร้างให้ตัวเองกลายเป็นคนเศร้า ทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องเศร้าจริง ๆ วันนี้พี่แคทเลยอยากจะชวนน้อง ๆ Dek-D มาสำรวจตัวเองว่าเรากำลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายภาวะสะสมความเศร้า หรือ Chronically Unhappy อยู่หรือเปล่า
ภาวะสะสมความเศร้า หรือ Chronically Unhappy
เป็นอาการของคนที่ชอบการเสพติดความทุกข์แบบเรื้อรัง ปล่อยให้ความรู้สึกผิดหวัง โศกเศร้า เสียใจเข้ามาทำร้ายตัวเองซ้ำ ๆ โดยที่บางครั้งไม่มีสาเหตุชัดเจน และแม้ว่าจะสามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้แล้ว แต่ก็จะพยายามพาตัวเองกลับไปหาความเจ็บปวดเหล่านั้นอีกจนได้
สำรวจตัวเอง เรากำลังเป็นนักสะสมความเศร้าอยู่หรือเปล่านะ ?
ไม่ดูแลตัวเอง
ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ หรือดูแลตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองดูโทรมและแย่ลง ไม่ยอมลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวให้สดชื่นดูดี รวมถึงยังกินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือบางคนถึงขั้นไม่ยอมกินอะไรเลยก็มี
แค้นฝังหุ่น
จะไม่ยอมให้อภัยคนที่ทำเราเจ็บปวด หรือเสียใจเป็นอันขาด ทุกครั้งที่มีโอกาสก็จะนึกถึงสิ่งที่เขาคนนั้นทำกับเรา และพูดถึงคนคนนั้นด้วยความฝังใจให้คนใกล้ตัวฟังซ้ำ ๆ อยู่เสมอ
ชีวิตเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง
คนที่อมทุกข์มักจะมีแววตาที่เศร้า ความคิดล่องลอย คิดว่าทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน รวมถึงคิดว่าตนเองไม่สามารถก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้แล้ว เกิดความรู้สึกมืดแปดด้าน สิ้นหวัง และไม่อยากใช้ชีวิตต่อ ยิ่งถ้าไปพบเจออะไรที่สะกิดใจนิดหน่อยก็จะเอามาเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตตัวเองอยู่แบบนั้น ทำให้ไม่สามารถก้าวไปไหนได้ซักที
มองโลกในแง่ร้าย
อาจจะเพราะกลัวความผิดหวังในอนาคต หลอนกับความล้มเหลวในอดีต จึงทำให้ไม่ว่าใครจะเข้ามาในชีวิตก็จะเหมารวมมองว่าเขาเป็นคนไม่ดีแบบคนที่ตนเองเคยเจอมา พร้อมกับสร้างกำแพงในใจเอาไว้ ไม่ยอมเปิดใจรับใครง่าย ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกทำร้ายจิตใจอีก
เมื่อไหร่ที่ชีวิตปกติสุข จะหาความทุกข์มาใส่
เมื่อรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองราบรื่น หรือมีความสุขมากเกินไปก็จะพยายามดึงความรู้สึกแย่ ๆ กลับมาทำร้ายให้ตัวเองเกิดความเจ็บปวดอยู่แบบนั้น เช่น กลับไปดูแชตที่เคยคุยกับแฟนเก่า ดูรูปในอดีตที่เคยถ่ายด้วยกัน ส่องโปรไฟล์เขาคนนั้น หรือเปิดเพลงเศร้าให้ตัวเองร้องไห้
ใช้สารเสพติดเป็นทางออก
เมื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเศร้าและดำดิ่งจนสุดแล้ว ก็จะแก้ปัญหาโดยการหันหน้าเข้าหาสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ ดูดบุหรี่ หรือพึ่งพายาเสพติด ที่ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่สามารถทำให้ลืมความทุกข์ต่าง ๆ ไปได้แค่ชั่วคราวก็ยังดี
มนุษย์เราเคยชินง่ายแต่เปลี่ยนแปลงยาก เมื่อเกิดความทุกข์ใจร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น แต่ลดระดับฮอร์โมนเซโรโทนินลง หากเราปล่อยให้ตัวเองทุกข์ใจไปเรื่อย ๆ ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าก็กลายเป็นการเสพติดความเศร้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งฮอร์โมนเซโรโทนินนี้เป็นฮอร์โมนแห่งความสงบสุข ที่สามารถช่วยเยียวยาผู้นิยมเสพติดความเศร้าเสียใจได้
แล้วเราจะรับมือกับมันได้ยังไง ?
ดร.วาเลอเรีย ริโซลี (Dr.Valeria Risoli) นักจิตวิทยาคลินิกจากคลินิกกายภาพบำบัดดูไบและเวชศาสตร์ครอบครัว มีความเห็นว่าแม้จะทำได้ยากและใช้เวลานาน แต่การเลือกจะมีความสุขนั้นไม่เคยสายเกินไป โดยสามารถเริ่มทำจากวิธีง่าย ๆ ได้ดังนี้
- ทำความเข้าใจเมื่อต้องผิดหวัง ความเสียใจไม่ใช่เรื่องผิด จงปล่อยให้ตัวเองรู้สึกผิดหวัง แต่ต้องไม่จมดิ่งเกินไป จากนั้นค่อย ๆ ยอมรับและทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากยังคงรู้สึกเป็นทุกข์อย่างต่อเนื่อง ให้พยายามดึงตัวเองออกจากความคิดลบแบบเดิม ๆ โดยอาจใช้วิธีตั้งคำถามว่า ทำไมเรายังรู้สึกแบบนี้ ? เราจะรู้สึกเศร้าไปอีกนานแค่ไหน ? แล้วเราจะเยียวยาความรู้สึกนี้ได้อย่างไร ?
- พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าเป็นไปได้ให้พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่รักและสนับสนุนเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท และหลีกเลี่ยงคนที่ชอบตำหนิหรือพูดถึงเราในแง่ลบเกินจำเป็นในแบบที่ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
- มองหาข้อดีในทุก ๆ เรื่อง พยายามมองหาข้อดีในทุก ๆ เรื่อง อาจใช้วิธีการจดบันทึกสิ่งที่รู้สึกขอบคุณและทำให้เรามีความสุขในแต่ละวันก็ได้
- ฝืนยิ้ม ถ้าไม่สามารถกำจัดความทุกข์ออกจากใจได้จริง ๆ ลองแสร้งมีความสุขด้วยการฝืนยิ้มกับเรื่องดี ๆ หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นไปก่อนก็ได้ เพราะอย่างน้อยแค่ฝืนยิ้มก็ทำให้เซโรโทนินหลั่งออกมาแล้ว
ความผิดหวังเสียใจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะจัดการกับมันหรือจะปล่อยมันทิ้งไว้แบบนั้น
ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังเศร้าอยู่ตอนนี้ พี่แคทอยากบอกว่าไม่เป็นไรเลย ปล่อยให้ตัวเองได้เศร้า เสียใจบ้าง แล้วรีบลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อให้ไว แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับมันได้จริง ๆ แนะนำว่าให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะมันอาจจะกัดกินจนทำให้เรากลายเป็นคนที่เสพติดความทุกข์หรือเป็นนักสะสมความเศร้าได้แบบไม่รู้ตัว
0 ความคิดเห็น