ปฏิเสธไม่เป็น! “เพื่อนชวนไปไหนก็ไป” “ใครโยนงานอะไรให้ก็ทำ”
ใครเป็นแบบนี้บ้าง ? ไม่ใช่เพราะว่าอยากทำ หรือเป็นคนขยัน แต่เพราะเป็นคนขี้เกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธคนอื่น กลัวว่าเขาจะไม่โอเคกับเรา เลยจำใจต้องทำในสิ่งที่คนอื่นเสนอมาให้ซะทุกอย่าง จนลืมที่จะนึกถึงความรู้สึกของตัวเอง ถ้าใครเป็นอยู่ มาค่ะ วันนี้พี่แคทได้รวม 5 ช่วงเวลาสำคัญที่เราควรจะต้องรู้จักปฏิเสธ และเห็นแก่ตัว (เอง) มาฝากคนขี้เกรงใจด้วย
Melissa Deuter ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์คลินิก กล่าวว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นคำที่ดูน่าเกลียด แต่จริง ๆ แล้วมันมีความหมายที่แตกต่างกันอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือการเป็นคนใจร้ายและไม่เกรงใจผู้อื่น แต่อีกอย่างหนึ่งคือการที่เราต้องรับผิดชอบต่อการตอบสนองความต้องการของเรา ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนสำคัญของการเป็น “ผู้ใหญ่”
5 เวลาที่เราควรเห็นแก่ตัว (เอง) เลิกเป็นมนุษย์ขี้เกรงใจ
1. เมื่อต้องการความช่วยเหลือ
เชื่อว่าหลายคนเป็นแบบนี้ เมื่อมีคนมาขอความช่วยเหลือก็จะตอบตกลงทุกครั้ง แต่พอถึงเวลาที่ตัวเองต้องการความช่วยเหลือบ้างกลับไม่กล้าที่จะบอกคนอื่น เพราะด้วยความเกรงใจ และกลัวคนอื่นจะคิดว่าเราไม่มีความสามารถ ทำให้ต้องมานั่งเครียดหาทางออกอยู่คนเดียว อันที่จริงแล้วการขอความช่วยเหลือบ้างในยามจำเป็นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เรามีคนช่วยคิดหาทางออก ซึ่งดีกว่าตัดสินใจคนเดียว ดังนั้นถ้าเรื่องไหนมันแบกรับไม่ไหวจริง ๆ ก็อย่ามัวแต่เกรงใจคนอื่นอยู่นะ รีบเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวเลย ไม่งั้นจะกลายเป็นเราที่แย่ซะเอง
2. เมื่อต้องการพักผ่อน
ในวันหยุด หรือช่วงเวลาหลังเลิกเรียน เลิกงาน เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะให้เวลากับตัวเองได้พักผ่อน การพักผ่อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนอนหลับเท่านั้น แต่หมายถึงการทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้ผ่อนคลาย อาจจะเป็นการดูซีรีส์ อ่านหนังสือ หรือไปเดินห้าง ในช่วงเวลาของเราแบบนี้ถ้าหากมีงานด่วน หรือมีใครให้ช่วยอะไรขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องตอบรับก็ได้ ก็เพราะว่ามันคือเวลาพักผ่อนเราก็ต้องอยากให้ตัวเองได้พักถูกมั๊ย ดังนั้นเราสามารถเลือกที่จะปฏิเสธในสิ่งที่เราไม่อยากทำได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะรู้สึกผิดเลย
3. เมื่อต้องการอยู่คนเดียว
เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากพบเจอใครที่ทำให้ต้องสูญเสียพลังงานชีวิตเพิ่มขึ้น ยิิ่งถ้ามีเพื่อนมาชวนออกไปสังสรรค์ข้างนอกแต่วันนั้นไม่ใช่วันที่เราอยากจะสนุกเฮฮา แล้วเราตัดสินใจไปก็คงจะไม่จอยอย่างแน่นอน ดังนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะเอ่ยปากปฏิเสธและบอกเหตุผลไปตรง ๆ ได้เลย อย่ามัวแต่เกรงใจ จงจำไว้ว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเลือกใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากกว่าที่จะสละเวลาส่วนตัวอันมีค่าให้กับคนอื่น
4. เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ Toxic
เมื่อเรากำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นแฟน เพื่อน หรือคนรอบตัว จนทำให้ต้องเกิดความรู้สึกแย่และไม่มีความสุข ก็ไม่จำเป็นต้องทนอีกต่อไป ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือการเดินออกมาค่ะ เราต้องกล้าที่จะออกมาจากตรงนั้น โดยไม่ต้องไปห่วงว่าถ้าเขาไม่มีเราแล้วจะเป็นยังไง อย่าไปกลัวว่าการเดินออกมา หรือการหายไปของเราจะไปทำร้ายความรู้สึกของใครหรือเปล่า เพราะสิ่งที่เราต้องรักษาให้ดีที่สุดคือใจของเราเองไม่ใช่คนอื่น
5. เมื่อเรา “ให้” มากกว่า “รับ”
“ความสัมพันธ์ที่ดีคือ เมื่อเป็นผู้รับแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ให้ที่ดีด้วย” แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นแต่ผู้ให้อย่างเดียว เช่น เราเป็นคนคอยให้เพื่อนลอกการบ้านอยู่เสมอ หรือเป็นฝ่ายเลี้ยงข้าวแฟนตลอด แต่เราไม่เคยได้รับอะไรกลับมาบ้างเลย นั่นแสดงให้เห็นว่ามันไม่ปกติแล้ว เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะต้องไม่ปล่อยให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้ให้อย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องหัด “เห็นแก่ตัว” บ้าง หยุดเป็นผู้ให้คนอื่น แล้วหันมอบสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองแทน
การเป็นคนแก่ตัว (เอง) มีข้อดียังไง ?
Bob Rosen ผู้เขียน Grounded: How Leaders Stay Rooted in an Uncertain World กล่าวว่า ถ้าเราใช้ “ความเห็นแก่ตัว” ได้อย่างถูกทาง ตัวเราเองก็จะได้ประโยชน์ 4 อย่างเหล่านี้
- ทำให้สุขภาพดีขึ้น
- จะได้เปรียบกว่าคนอื่นหากอยู่ในฐานะผู้นำ
- มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อใจตัวเองมากขึ้น
- มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
0 ความคิดเห็น