สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ หัวข้อที่เราจะพูดถึงในวันนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับ “การบริจาคอวัยวะ” ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่แปลกใหม่ในสังคมไทย หากแต่ยังไม่ได้มีการรับรู้และทำความเข้าใจในรายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการกันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีทัศนคติและความเชื่อที่กระทบต่อจิตใจเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ซึ่งเป็นปมเหตุให้คนไทยหลายคนไม่กล้าที่จะบริจาคอวัยวะ
ข้อมูลจากศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ปี 2567 ณ วันที่ 30 มิถุนายน ระบุว่า
มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว 390 คน และยังมีผู้ป่วยที่รออวัยวะอยู่ 7,069 คน
โดยอวัยวะที่ต้องการมากที่สุด คือ หัวใจ ไต ตับ
วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจในรายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เพื่อการรับรู้ ทำความเข้าใจ และเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้ที่สนใจจะบริจาคแต่ยังไม่รู้แนวทางกันค่ะ
การบริจาคอวัยวะคืออะไร ? สามารถบริจาคอวัยวะส่วนไหนได้บ้าง ?
การบริจาคอวัยวะ คือ การมอบอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้น ๆ เสื่อมสภาพ เงื่อนไขสำคัญสำหรับการบริจาคอวัยวะ คือ ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก เป็นต้น ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่)
หลังผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับบริจาค แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย แล้วมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนา
อวัยวะที่สามารถบริจาคและนำไปปลูกถ่ายได้ ได้แก่
หัวใจ, ปอด 2 ข้าง, ไต 2 ข้าง, ตับ, ตับอ่อน
เนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้ ได้แก่
ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น และกระจกตา
ภาวะสมองตาย
สมองตาย คือ ภาวะที่แกนสมองสูญเสียการทำงานถาวร ไม่สามารถรักษาให้ฟื้นคืนชีพได้อีก ทางการแพทย์จึงถือว่าเสียชีวิตแล้ว โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตายมาจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง หรือเส้นเลือดในสมองแตก
ในการบริจาคอวัยวะ แพทย์จะรับอวัยวะจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย แต่ยังให้เครื่องช่วยหายใจอยู่ และตราบใดที่ร่างกายยังมีออกซิเจนไหลเวียนในเลือด เลือดก็ยังไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นจึงสามารถนำอวัยวะของผู้ที่มีภาวะสมองตาย ไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่เพื่อความอยู่รอด
คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ
- ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
- กรุณาแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย
อวัยวะที่บริจาคจะถูกนำไปให้ใคร สามารถบริจาคให้ญาติได้หรือเปล่า?
เมื่อได้รับบริจาคอวัยวะมาแล้ว ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะจัดสรรให้แก่ผู้ที่รออวัยวะซึ่งได้ทำการลงทะเบียนกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะไว้ ทั้งนี้การรับบริจาคอวัยวะจะพิจารณาหมู่เลือด ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ระดับภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อ ระยะเวลาที่รออวัยวะ และอายุผู้ป่วยด้วย
ในกรณีที่ผู้บริจาคเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย จะไม่สามารถระบุให้นำอวัยวะผู้เสียชีวิตไปให้ญาติหรือคนในครอบครัวได้ เพราะศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจะจัดสรรอวัยวะให้กับผู้รอด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่มีการซื้อขายอวัยวะ
แต่ในกรณีที่ผู้บริจาคอวัยวะยังมีชีวิตอยู่ สามารถบริจาคอวัยวะ เช่น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก เป็นต้น ให้กับญาติโดยสายเลือด หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกันไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรที่เกิดจากสามี ภรรยาคู่นั้นเท่านั้น ตามระเบียบสภากาชาดไทยว่าด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
ขั้นตอนการจัดสรรอวัยวะ
ไต - หัวใจ - ปอด - ตับ
1.ลงทะเบียนกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
2.หากผู้รอรับอวัยวะอาการหนักจะจัดสรรให้กับผู้ป่วยนั้นก่อน
3.กรณีไม่มีผู้รอรับอวัยวะอาการหนัก จะจัดสรรตามลำดับของโรงพยาบาลสมาชิก
สิทธิประโยชน์ผู้บริจาคอวัยวะ
- ตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดฟรีปีละ 1 ครั้ง
- ได้รับการลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาด 50% ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และ ผู้ป่วยใน (IPD) โดยลดหย่อนค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์
- ขอพระราชเพลิงศพหรือดินฝังศพได้เป็นกรณีพิเศษ
ขั้นตอนแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ
ติดต่อแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะด้วยตนเองที่
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย
อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 1666 หรือ 0 2256 4045-6
เวลา 08.30 - 16.30 (เว้นวันหยุดราชการ)
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 0 2263 9600-99
เวลา 08.30 - 16.30 (ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ)
เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด
แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะผ่านการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ทำตามขั้นตอนดังนี้
- ดาวน์โหลดใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ คลิก
- กรอกข้อมูลลงในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
- ส่งไปรษณีย์ใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมาที่: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
- เมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับข้อความแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้
- เมื่อได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะแล้ว ให้กรอกชื่อและรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร หากบัตรสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะผ่านช่องทางออนไลน์ที่
- เว็บไซต์ www.organdonate.in.th
- แอปพลิเคชัน “บริจาคดวงตา-อวัยวะ”
บริจาคเงินช่วยเหลือ
ทั้งนี้ สามารถบริจาคเงินสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ สภากาชาดไทย ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย
เลขที่บัญชี: 001-2-779437
ชื่อบัญชี: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ธนาคารกรุงไทย
เลขที่บัญชี: 023-1-25888-7
ชื่อบัญชี: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขที่บัญชี: 045-2-88000-6
ชื่อบัญชี: สภากาชาดไทย (เพื่อการรับเงินบริจาคต่าง ๆ )
การขอรับใบเสร็จหลังบริจาค
สามารถส่งสำเนาหลักฐานการโอนเงิน พร้อมชื่อ (ระบุคำหน้า) นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ มายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยมีช่องทางดังนี้
- โทรสาร หมายเลข 0 2254 7357
- อีเมล odc_account@redcross.or.th
- ส่งไปรษณีย์: ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
การบริจาคอวัยวะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากมีการทำความเข้าใจกระบวนการและขั้นตอนอย่างถูกต้อง แม้เราจะยังไม่รู้ว่าเมื่อตายแล้วจิตของเราจะไปอยู่ที่ไหน แต่การบริจาคอวัยวะทำให้เรารู้ว่าความตายทำให้เราได้ส่งต่อลมหายใจให้อีกหลายชีวิตที่ยังรออวัยวะอยู่
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการบริจาคอวัยวะแตกต่างจากการบริจาคร่างกายในหลายบริบท
ที่มาhttps://redcross.or.th/donate/https://redcross.or.th/donate/organhttps://www.organdonate.in.th/https://www.organdonate.in.th/knowledgeหากใครสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างของการบริจาคทั้งสองแบบ และข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคร่างกาย ฝากติดตามคอนเทนต์ต่อไปด้วยนะคะ :)
0 ความคิดเห็น