สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ จากบทความก่อนหน้าที่เราได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การบริจาคอวัย และ การบริจาคร่างกายเป็น ‘อาจารย์ใหญ่’ กันไปแล้ว วันนี้เราจึงจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “การบริจาคดวงตา” ไขข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เป็นปมปัญหาให้หลาย ๆ คน ไม่กล้าบริจาคดวงตา เพื่อสร้างการรับรู้และประกอบการตัดสินใจค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า
มีจำนวนสะสมของผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาทั้งสิ้น 18,950 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีจำนวนสะสมดวงตาของผู้ที่ขึ้นทะเบียนรอรับการผ่าตัดทั้งสิ้น 10,568 ดวง
การบริจาคดวงตา
การบริจาคดวงตา คือ การแสดงความจำนงตั้งแต่ยังมีชีวิตเพื่อมอบดวงตาของตนเองภายหลังจากเสียชีวิตแล้ว ให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการมองเห็นให้สามารถกลับมามองเห็นได้เป็นปกติอีกครั้ง การบริจาคดวงตาไม่ได้เป็นการนำดวงตาทั้งดวงมาใช้ แต่ใช้เพียงกระจกตาด้านหน้าของดวงตาเท่านั้น
การบริจาคดวงตาแตกต่างจากการบริจาคอวัยวะอื่น ๆ เพราะโอกาสการเข้ากันของเนื้อเยื่อค่อนข้างสูง ดังนั้นทุกคนจึงสามารถบริจาคดวงตาให้กับผู้ป่วยที่เข้าคิวรอรับการรักษาได้โดยไม่เจาะจงว่าเหมาะสมบริจาคให้กับใคร
เกร็ดความรู้
ดวงตาของคนต่างทวีป แม้จะมีสีของตาที่ต่างกัน เช่น สีฟ้า เทา น้ำตาล ผู้บริจาคที่ไม่มีเชื้อชาติไทยก็สามารถแสดงเจตจำนงบริจาคดวงตาให้คนไทยได้ เนื่องจากสีของตาอยู่ด้านในตาซึ่งไม่เกี่ยวกับกระจกตา
ใครสามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้บ้าง?
- สามารถบริจาคได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่อายุ 2 ปี เป็นต้นไป
- ผู้ที่มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ผู้ที่ผ่านการทำเลสิค หรือเคยผ่าตัดต้อกระจกสามารถบริจาคดวงตาได้
- ผู้ที่ปราศจากเชื้อที่มีการถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายกระจกตา เช่น ไวรัสเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ บี ซี เป็นต้น
ข้อจำกัดการบริจาคดวงตา
บุคคลที่มีภาวะต่อไปนี้ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้
1.เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากผู้บริจาคอาจเป็นพาหะหรือถ่ายทอดเชื้อโรคไปสู่ผู้รับการรักษาได้
2.ติดเชื้อในกระแสเลือดตอนเสียชีวิต
หมายเหตุ: ภายหลังเสียชีวิตดวงตาจะเริ่มเสื่อมสภาพ และเน่าเปื่อยเร็ว ดังนั้น เพื่อให้ดวงตายังคงไว้ซึ่งสภาพดี ครอบครัวของผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาควรโทรแจ้งศูนย์ดวงตาทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต เพื่อให้มีการจัดเก็บดวงตาโดยเร็วที่สุด ซึ่งควรจัดเก็บให้เรีบยร้อยภายใน 6-8 ชั่วโมง
ดวงตาที่มีผู้บริจาคสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง?
1.ส่วนกระจกตา (Cornea) ใช้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยกระจกตาพิการ เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
- เปลี่ยนกระจกตาที่ขุ่นให้ใส
- เปลี่ยนกระจกตาที่ไม่เรียบให้เรียบ
- รักษารูปทรงและรูปร่างของกระจกตา
- รักษาโรคกระจกตาติดเชื้อที่ควบคุมด้วยยาไม่ได้
เกร็ดความรู้
จักษุแพทย์ที่ผ่าตัดอาจใช้กระจกตาทั้งชั้นความหนาเปลี่ยนให้แก่ผู้ป่วย หรือ แบ่งชั้นกระจกตาเพื่อผ่าตัดซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่พิการ จะเห็นได้ว่าดวงตาที่มีผู้บริจาคนั้นสามารถนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างน้อยที่สุด 2 คน
2.ส่วนตาขาว (Sclera) ใช้ผ่าตัดตกแต่งเสริมเบ้าตาในผู้ป่วยที่ใส่ตาปลอม
3.ส่วนเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระจกตากับตาขาว (Limbal Tissue) เนื้อเยื่อบริเวณนี้มีสเตมเซลล์หรือเซลล์แม่ของเซลล์ผิวกระจกตาที่สามารถนำไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำมารักษาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีผังผืดที่ผิวกระจกตา
เคยผ่าตัดตามาก่อนสามารถบริจาคดวงตาได้หรือไม่?
เคยผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์
สามารถบริจาคได้ แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อน
เคยผ่าตัดดวงตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก
สามารถนำมาใช้ได้หลังจากผ่านการตรวจนับเซลล์แล้ว
เคยได้รับการยิงเลเซอร์รักษาเบาหวาน ต้อหิน
สามารถนำมาใช้ได้ภายหลังจากได้รับการตรวจสอบแล้ว
ขั้นตอนการบริจาคดวงตา
แสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ที่นี่ คลิก
เมื่อบริจาคดวงตาแล้วจะได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตา ควรพกบัตรผู้บริจาคติดตัวไว้และแจ้งให้ญาติรับทราบว่าได้ทำเรื่องบริจาคดวงตาไว้ในระหว่างมีชีวิต
ในกรณีบริจาคอวัยวะแทนญาติ กรุณาโทรแจ้งศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยทันทีที่ผู้บริจาคเสียชีวิต ในวันและเวลาราชการ
โทร. 02 256 4039-40, 02 251 4200-1
หรือทางมือถือ 081 902 5938 และ 081 836 4927 ตลอด 24 ชม.
ข้อควรปฏิบัติหลังแสดงความจำนงบริจาคดวงตา
- แจ้งสมาชิกในครอบครัว ญาติ หรือคนใกล้ชิดให้ทราบ
- ถ้ามีปัญหาเกี่ยกวับดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์
- เก็บบัตรอุทิศดวงตาไว้กับตัว
ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
E-mail: eyebank@redcross.or.th
Website: http://eyebank.redcross.or.th
บริจาคสมทบทุนศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขบัญชี: 045-231-390-2
ชื่อบัญชี: ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
*ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยส่งหลักฐานการโอนเงิน (สลิปการโอนเงิน) มายัง ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
การบริจาคดวงตาเป็นเหมือนการส่งมอบแสงสว่างและการมองเห็นที่มีคุณภาพให้กับผู้อื่น
แม้ร่างกายจะสูญสลายไปในที่สุด แต่ในวาระสุดท้ายเรายังได้ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็น จึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมบริจาคดวงตาหรือสามารถสมทบทุนในกิจการช่วยผู้ป่วยกระจกตาพิการได้ตามข้อมูลในบทความ มาร่วมเป็นผู้ให้ด้วยกันนะคะ
ที่มา https://redcross.or.th/news/infographics/18616/https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/%40rama26_e01.pdfhttps://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=324https://eyebankthai.redcross.or.th/?page_id=1261https://www.chulabhornchannel.com/wp-content/uploads/2022/08/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B0.pdf
0 ความคิดเห็น