สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D รู้กันหรือเปล่า? กฎหมายต่างๆ ที่บังคับใช้ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นหลายระดับ ไม่ได้มีแค่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากอำนาจในการออกกฎหมายมีที่มาต่างกัน ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปรู้จักลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทย พร้อมทั้งองค์กรที่บัญญัติกฎหมายต่างๆ ขึ้นมากันค่ะ
ทำไมต้องมีลำดับศักดิ์ของกฎหมาย?
เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร ทุกสิ่งที่จะมาเป็นกฎหมายจะต้องผ่านการตราออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งอาจมีโอกาสที่ทำให้กฎหมายต่างๆ ที่ตราขึ้นมาในบางครั้งอาจมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน เพราะกฎหมายในประเทศไทยมีมากกว่า 10,000 ฉบับ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการกำหนดหลักความสำคัญของกฎหมาย หรือที่เรียกว่า การจัดลำดับ “ศักดิ์ของกฎหมาย” (Hierarchy of law) ขึ้น
การจัดลำดับศักดิ์ให้กฎหมาย ถือเป็นการให้ระดับความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะมีอำนาจเหนือกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า หากกฎหมายสองฉบับขัดแย้งกัน กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะเป็นตัวตัดสิน โดยลำดับศักดิ์กฎหมายไทย แบ่งออกเป็น 6 ลำดับ ดังนี้
ลำดับที่ 1 รัฐธรรมนูญ
เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจอธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากขัดหรือแย้งกฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับ
ตัวอย่าง : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ลำดับที่ 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความเพื่อประกอบเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ ละเอียดชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญมอบหมายและกำหนด โดยถือว่ากฎหมายประเภทนี้มีลักษณะและหลักเกณฑ์พิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดกระบวนการในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติทั่วไป โดยกำหนดในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป
ตัวอย่าง : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ลำดับที่ 3 พระราชบัญญัติ/ประมวลกฎหมาย/พระราชกำหนด
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราพระราชบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเนื้อหาจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยผู้ที่มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ คือ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ร.บ. ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในระดับที่กว้างขวาง และใช้บังคับในหลายด้านในชีวิตประจำวัน เช่น การคุ้มครองสิทธิของประชาชน การจัดระเบียบและการควบคุมการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ หรือธุรกิจต่างๆ โดยปกติพระราชบัญญัติจะมีลักษณะเป็นการนำเอาหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ ที่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมากำหนดไว้ เพื่อเป็นแนวทางรวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามด้วย
ตัวอย่าง : พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายในลำดับเดียวกับพระราชบัญญัติ องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราประมวลกฎหมาย คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ประมวลกฎหมายมีลักษณะเรียบเรียงเรื่องราวไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เดียวกันและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ประมวลกฎหมายจะประกาศใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมาย”
ตัวอย่าง : ประมวลกฎหมายอาญา ประกาศใช้บังคับโดย พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 เป็นต้น
ปัจจุบันประมวลกฎหมายมีอยู่ 8 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายยาเสพติด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายอาญาทหาร (อ้างอิงจาก : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มีความสำคัญในระดับเดียวกันกับพระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนร่วมพระราชกำหนด มี 2 ประเภท
1. พระราชกำหนดทั่วไป ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
ตัวอย่าง : พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ตัวอย่าง : พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540
ลำดับที่ 4 พระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด โดยให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น พระราชกฤษฎีกาจะอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่ออธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ตามหลักการในพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดนั้น
เมื่อพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ดังนั้นจะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ในลำดับที่สูงกว่าไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย
ตัวอย่าง : พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ
ลำดับที่ 5 กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง
กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจะบัญญัติกฎกระทรวงออกมา โดยมีพระราชบัญญัติหรือ พระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งให้อำนาจไว้ และต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระราชกฤษฎีกาแต่มีลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า
ประกาศกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวง แต่มีความแตกต่างกันที่ประกาศกระทรวงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเหมือนกับกฎกระทรวง แต่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ตัวอย่าง:
- กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครและการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ
- ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
ลำดับที่ 6 ข้อบัญญัติท้องถิ่น
เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด หรือกฎหมายอื่น ให้ออกข้อบัญญัติจังหวัดเพื่อใช้บังคับในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ นอกเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล และเขตตำบล ในกรณีที่ตำบลใดมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสมาชิกสภาจังหวัดเสนอร่างข้อบัญญัติจังหวัดต่อสภาจังหวัดเพื่อพิจารณา
โดยทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตราข้อบัญญัติต่าง ๆ ได้ ดังนี้ คือ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
ตัวอย่าง : ข้อบัญญัติเทศบาลเกี่ยวกับการเก็บขยะมูลฝอย
การจำแนกกฎหมายตามลำดับศักดิ์
- บทบัญญัติกฎหมายแม่บท ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
- อนุบัญญัติกฎหมายลูก ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และข้อบัญญัติท้องถิ่น
กฎหมายแต่ละลำดับองค์กรใดบัญญัติขึ้น?
ทำความเข้าเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยกันไปครบทุกลำดับแล้ว พี่แป้งสรุปให้อีกรอบว่าแต่ละกฎหมายฝ่ายใดองค์กรใดเป็นผู้บัญญัติขึ้นมา โดยสามารถแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. กฎหมายลายลักษณ์อักษรซึ่งถูกบัญญัติขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย
2. กฎหมายลายลักษณ์อักษรซึ่งถูกบัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ได้แก่ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา
3. กฎหมายลายลักษณ์อักษรซึ่งถูกบัญญัติขึ้นโดยฝ่ายปกครอง (หน่วยงานรัฐ) ได้แก่ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และข้อบัญญัติท้องถิ่น
กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะมีระดับความสำคัญสูง และใช้บังคับได้กว้างขวางกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารก็จะมีระดับความสำคัญสูงและใช้บังคับได้กว้างขวางกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายปกครอง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หลักเกณฑ์บังคับใช้กฎหมาย
“กฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า สามารถยกเลิกกฎหมายที่ต่ำกว่า” เช่น หากกฎหมาย 2 ฉบับมีความขัดแย้งกัน กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะใช้บังคับ ส่วนต่ำกว่าจะถูกยกเลิกไปในส่วนที่ขัดแย้ง
กรณีกฎหมายในลำดับศักดิ์เดียวกันขัดแย้งกัน!
เช่น พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 1 กับ พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 2 มีเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน ต้องดูรายละเอียดว่าทั้งสองฉบับที่ขัดแย้งกัน ฉบับไหนเป็นกฎหมายเฉพาะ ฉบับไหนเป็นกฎหมายทั่วไป หลักเกณฑ์คือ “กฎหมายเฉพาะ ย่อมยกเลิก กฎหมายทั่วไป”
แต่ถ้าพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายทั่วไปทั้งคู่ แต่มีเนื้อหาขัดแย้งกันจะใช้หลักเกณฑ์คือ “กฎหมายที่ใหม่กว่า สามารถยกเลิกกฎหมายที่เก่ากว่า”
มาทดสอบความรู้กัน!
ทำความเข้าใจเรื่องลำดับศักดิ์กฎหมายครบทุกลำดับแล้ว มาทดสอบความรู้กันดีกว่าค่ะ วันนี้มีแนวข้อสอบสังคมศึกษามาให้น้องๆ ฝึกทำ 2 ข้อ ถ้าพร้อมแล้วเริ่มเลย!
1. องค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาออก พระราชบัญญัติ ได้แก่องค์กรใด?
1) คณะรัฐมนตรี
2) รัฐสภา
3) พระมหากษัตริย์
4) สภาผู้แทนราษฎร
___________________________________________________
2. ข้อใดกล่าวถึงประเภทของพระราชกำหนดได้ถูกต้อง?
1) พระราชกำหนดธรรมดากับพระราชกำหนดพิเศษ
2) พระราชกำหนดธรรมดากับพระราชบัญญัติการเงิน
3) พระราชกำหนดทั่วไปกับพระราชกำหนดภาษีอากรและเงินตรา
4) พระราชกำหนดชั่วคราวกับพระราชกำหนดถาวร
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่าแต่ละข้อตอบอะไรบ้างคะ คอมเมนต์ด้านล่างได้เลย!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
0 ความคิดเห็น