คงไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลกนี้ที่ได้พระราชสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งฝนหลวง" จะมีก็เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยทรงมีพระราชดำริจัดทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือราษฎร ด้วยการทำฝนเทียม ทรงคิดค้นตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ได้ทรงศึกษา ทดลอง เรื่อยมาจนกระทั่งฝนหลวงเริ่มปฏิบัติได้เป็นผลสำเร็จ สามารถสร้างเม็ดฝนโปรยความชุ่มชื่นได้ทั่วแผ่นดินจากพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
หลายคนอาจจะเข้าใจมาตลอดว่า ฝนที่ตกในแต่ละแห่งเกิดจากฝนที่ตกตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ความจริงในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี หากไม่มีฝนตกลงมาเลย คนในพื้นที่นั้นจะลำบาก ดังนั้นฝนเทียมจึงเป็นโครงการพระราชดำริที่ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง และยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำได้อีกด้วย มาลองดูขั้นตอนการทำฝนเทียมจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 กันค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นก่อกวน
คือการดัดแปรสภาพอากาศขณะนั้นเพื่อเร่งให้เกิดการรวมตัวของเมฆเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝน ต่อมาจะมีการโปรยสารเคมีประเภทดูดความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เช่น แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมออกไซด์ ในท้องฟ้าที่ระดับใกล้เคียงกับระดับกลั่นตัวซึ่งเป็นระดับฐานเมฆของแต่ละวัน จะทำให้มวลอากาศในบริเวณที่โปรยสารเคมีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการลอยตัวขึ้น
และจะโปรยสารเคมีประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง เช่น ยูเรีย แอมโมเนียไนเทรต น้ำแข็งแห้ง ที่ระดับสูงกว่าระดับฐานเมฆ 2,000-3,000 ฟุต เพื่อช่วยให้เกิดเมฆเร็วขึ้นและปริมาณมากกว่าที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเริ่มก่อกวนในช่วงเช้าทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย
ภาพ "ตำราฝนหลวง" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวงเพื่อนำไปปฏิบัติ
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นเลี้ยงให้อ้วน
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศและเมฆขณะนั้น เพื่อเร่งให้เกิดการก่อตัวของเมฆให้มีขนาดใหญ่และหนาแน่นขึ้น โดยใช้สารเคมีผงแคลเซียมคลอไรด์โปรยเข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับฐานเมฆหรือทับยอดเมฆ หรือระหว่างฐานและยอดเมฆ หรือโปรยรอบๆ และระหว่างช่องว่างของก้อนเมฆทางด้านเหนือลมให้กระแสลมพัดพาสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆ หรือ โปรยสารเคมีสูตรร้อนสลับสูตรเย็นในอัตราส่วน 1:4 ทับยอดเมฆทั่วบริเวณที่เกิดสภาพเมฆที่มีความหนา 2,000-3,000 ฟุต ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง หรือที่บริเวณพื้นที่ใต้ลมของบริเวณที่เริ่มต้นก่อกวน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเร่งการกลั่นตัวของไอน้ำได้เร็วกว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นโจมตี
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศในก้อนเมฆที่รวมตัวหนาแน่นแล้วโดยตรง หรือ บริเวณใต้ฐานเมฆ หรือ บริเวณที่ต้องการ เป็นการเร่งให้เกิดฝนโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานขั้นตอนการโจมตีไว้ ดังนี้
1. แบบ Sanwich เป็นเทคนิคที่ความสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต (เมฆอุ่น) ใช้ผงโซเดียมคลอไรด์โปรยทับยอดเมฆด้านเหนือลม และผงยูเรียโปรยที่ระดับฐานเมฆใต้ลมในเวลาเดียวกัน โดยทำมุมเยื้องกัน 45 องศา วิธีนี้จะทำให้เมฆทวีความหนาแน่นขึ้น เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีปริมาณมากขึ้นจนมารวมกันที่ฐานเมฆทำให้ใกล้เกิดฝน วิธีนี้ต้องเสริมการโจมตีด้วยการโปรยสารเคมีสูตรเย็นจัดคือ น้ำแข็งแห้งที่ใต้ฐานเมฆ 1,000 ฟุต เพื่อเร่งให้ฝนตกเร็วขึ้น
2. แบบเมฆเย็น เป็นกรณีที่ยอดเมฆสูงมาถึงระดับ 20,000 ฟุต ใช้สารซิลเวอร์ไอโอไดด์ยิงจากเครื่องบินที่ความสูง 21,500 ฟุต ทำให้ไอน้ำระเหยกลายเป็นผลึกน้ำแข็งจนตกลงมา และละลายเป็นเม็ดน้ำเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่น ทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัวเป็นเม็ดใหญ่ทะลุฐานเมฆเป็นเม็ดฝนตกลงพื้นดิน
3. แบบ Super Sandwich เป็นเทคนิคใหม่ที่ทรงคิดค้นขึ้นเมื่อปี 2542 เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในช่วงแล้งยาวนานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ วิธีการนี้คือการรวม 2 วิธีเข้าด้วยกันคือ แบบ Sandwich และแบบเมฆเย็น จะทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดิม นับเป็นน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยประชาชน
เรียกว่าเป็นบุญของชาวไทยที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานกว่า 70 ปี เราอาจจะเคยได้ยินว่าไม่มีใครสั่งเรื่องฟ้าฝนได้นอกจากเทวดา ก็ไม่ใช่คำพูดที่ผิด เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราก็เปรียบเสมือนเทวดาที่คอยดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด นำความร่มเย็นมาสู่ทุกพื้นที่ และที่น่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือ โครงการฝนหลวงของพระองค์ ได้ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 13898 เรื่อง การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน (ฝนหลวง)
สำหรับใครที่อยากเข้าใจขั้นตอนการทำฝนหลวงมากขึ้น มีคลิปปฏิบัติการฝนหลวง ฉบับการ์ตูน น่ารักและเข้าใจง่ายมากๆ ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก
www.royalrain.go.th/royalrain/p/warmcloudrainmaking,
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=12&chap=5&page=t12-5-infodetail13.html,
https://sites.google.com/site/samutrk/กรรมวิธีการทำฝนหลวง,
www.youtube.com/watch?v=r2DeCF8xlhU,
1 ความคิดเห็น
ว่าแต่ใช้ระยะเวลากี่วันหรอคะ สำหรับการทำฝนหลวง?