หลงตัวเองบ้างก็ดี! นักวิจัยชี้คุณค่าของการหลงตน ช่วยต้านซึมเศร้า+เพิ่มรอยยิ้ม

          สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าพูดถึงอาการ ‘หลงตัวเอง’ เชื่อเถอะว่าเกิดขึ้นได้กับทุกคน จะมากหรือน้อยก็คละๆ กันไป ปกติพอได้ยินคำนี้ ทุกคนมักจะแอบยี้ในใจไว้ก่อน อาจเพราะว่าการหลงตัวเองอย่างสุดโต่งมักจะแผ่พลังลบมาสู่คนรอบข้างเสมอๆ แต่รู้ไหมว่านักวิจัยก็ค้นพบคุณค่าของการหลงตัวเองเหมือนกันนะคะ แอบกระซิบว่า ‘หลงตัวเองไว้หน่อยก็ดี’


 
ต้นแบบของ ‘คนหลงตัวเอง’
          คำว่า ‘หลงตัวเอง - Narcissisitic’ มีต้นกำเนิดมาจากภาษากรีก Narcissus เป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง โดยดอกไม้นี้ก็ได้ชื่อมาจากเทพปกรณัมกรีกอีกทอดหนึ่ง เรื่องราวโศกนาฏกรรมของ ‘นาร์ซีซัส’ บุตรเทพแม่น้ำผู้หลงใหลในตัวเอง นาร์ซีซัสเป็นเทพผู้มีรูปโฉมงดงามเป็นที่เฝ้าฝันของหนุ่มๆ สาวๆ วันหนึ่งขณะที่กำลังก้มลงดื่มน้ำในลำธาร เขาเกิดมองเห็นเงาตัวเองในสระน้ำแล้วหลงในรูปลักษณ์นั้น ยิ่งมองเงาสะท้อนความงามสุดเพอร์เฟคท์ของตัวเอง ก็ยิ่งหลงใหลมัวเมาจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ สุดท้ายก็สิ้นใจตายอยู่ข้างลำธารนั้น ความลุ่มหลงในตัวเองของเทพนาร์ซีซัสจึงถูกนำมาใช้อธิบายบุคคลที่หลงตัวเองนั่นเองค่ะ   

แบบไหนเรียกว่า ‘หลงตัวเองขั้นหนัก’
          สมาคมจิตแพทย์สหรัฐอเมริกาได้นิยามบุคลิกภาพแบบหลงตนเองไว้ว่าเป็นรูปแบบของความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญยิ่งใหญ่ในความเพ้อฝันหรือพฤติกรรม มีความต้องการเป็นที่ชื่นชอบ และขาดความเห็นอกเห็นใจ การหลงตัวเองก็จะมีขีดระดับอาการซ่อนอยู่ค่ะ หยิบปากกามาลองเช็กตัวเองกันเลยว่าเรามีอาการหลงตัวเองอยู่กี่ข้อ ถือว่าเป็นบุคลิกภาพแบบผิดปกติหรือยัง?

          1. รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ โดยยังไม่ต้องมีความสำเร็จเกิดขึ้นจริง
          2. หมกมุ่นเพ้อฝันเกี่ยวกับความสำเร็จ อำนาจ ความฉลาด ความงาม ความรัก แบบไร้ขีดจำกัด
          3. เชื่อว่าตัวเองพิเศษ โดดเด่น รู้จักใกล้ชิดกับคนดัง
          4. ต้องการความชื่นชมอย่างมาก


 
          5. คิดว่าตัวเองต้องได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่ เช่น คาดหวังว่าต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ต้องเป็นฝ่ายได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ
          6. มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากคนอื่น เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
          7. ไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้คนอื่น สนใจแต่ตัวเอง
          8. อิจฉาคนอื่น และเชื่อว่าคนอื่นก็อิจฉาตน
          9. ชอบแสดงพฤติกรรมเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดดี รวมถึงดูหมิ่นคนอื่น  

          ทั้งหมดนี้ถ้ามีมากกว่า 5 ข้อขึ้นไป กำลังอาการหนักค่ะ ต้องเตรียมลดระดับลงมาหน่อย

หลงตัวเองแบบนี้สิ ‘กำลังน่ารัก’
          เหรียญยังมีสองด้าน ความหลงตัวเองก็เช่นกันค่ะ มีข้อเสียก็ต้องมีข้อดี งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ค้นพบพลังทางบวกของการหลงตัวเองว่า ถ้ามีในระดับพอเหมาะจะช่วยเพิ่มระดับความสุขให้ชีวิตได้ ดังนี้ 

          1. เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น - การหลงตัวเองมีความสัมพันธ์กับการสร้างอัตลักษณ์ทางบวกหรือการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง พร้อมที่จะปกป้องตัวเองในยามที่กำลังขาดความมั่นใจหรือท้อแท้
          2. ก้าวสู่ความเป็นผู้นำ - คนหลงตัวเองมักสร้างการรับรู้ว่าตนมีสติปัญญามากกว่าผู้อื่น และจะไม่หยุดเรียนรู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเก่งจริง ฉลาดจริง มีความสามารถโดดเด่นสมที่จะเป็นผู้นำได้ 


 
          3. อารมณ์มั่นคงในแง่ดี - คนหลงตัวเองพร้อมที่จะสร้างเกราะป้องกันทางอารมณ์ไม่ให้หวั่นไหวไปกับความรู้สึกลบๆ สามารถจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ได้
          4. หลงตัวเองต้านซึมเศร้า - บางอารมณ์ของการหลงตัวเองอาจทำให้รู้สึกต่อต้านความไม่เพอร์เฟคท์ที่มีในตัว แต่จริงๆ แล้วคนหลงตัวเองมีอารมณ์ทางบวกในความทรงจำที่ตนภาคภูมิใจซ่อนไว้อยู่มาก ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นผลดีกับคนที่มีอาการซึมเศร้า
          5. พึ่งพาตัวเองได้ดี - ความสนใจในเรื่องของตัวเองคือจุดแข็งที่ทำให้คนหลงตัวเองพึ่งพาตัวเองได้ดี พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอผู้อื่น 

          โอ้! เห็นข้อดีทั้งหมดแล้วหลายคนอาจจะนึกขอบคุณตัวเองขึ้นมา ที่ ‘หลงตัวเอง’ จนได้ดีขนาดนี้ (อะจึ้ย! หยอกๆ นะคะ) ว่าแต่น้องๆ เคยหลงตัวเองเรื่องอะไรกันมาบ้าง กล้าแชร์สักหน่อยไหม?        
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
cuir.car.chula.ac.th
www.qub.ac.uk.html
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น