Spoil
- PMS คือ อาการที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมในช่วงก่อนมีประจำเดือน
- สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สาร serotoin หรือสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ลดลง
- อาการ PMS รุนแรง โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์เหมือนกัน แต่อาการต่างกัน
- ทั้งสามโรคดังกล่าว ไม่ได้เป็นสาเหตุของกันและกัน แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นต่อกันได้
พี่หมอคะหนูมักจะหงุดหงิดบ่อย ร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวนในช่วงก่อนประจำเดือนมามากๆ เลยค่ะ หนูจะเป็นโรคซึมเศร้ามั้ยคะ?
สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน มีคนถามมาแบบนีี้ พี่หมอก็ต้องรีบมาตอบใน คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้เลยค่ะ
โดยเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนที่ว่าคือ เรื่องของอารมณ์และความรู้สึกในช่วงก่อนวันนั้นของเดือน พี่เชื่อว่าน้องผู้หญิงหลายคนเคยมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรืออาจจะเผลอเหวี่ยงใส่คนรอบข้างโดยไม่ตั้งใจ หรือบางครั้งก็ร้องไห้ง่ายๆ กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะร้านประจำปิด ซึ่งพี่หมอขอยอมรับว่าพี่ก็เคยเป็นเหมือนกันค่ะ ฮ่าๆ ซึ่งอาการก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้เรียกว่า Premenstrual Syndrome หรือเรียกย่อๆว่า PMS นั่นเองค่ะ
Premenstrual Syndrome
คือ อาการที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมในช่วงก่อนมีประจำเดือน พบได้ 3 ใน 4 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์โดยทั่วไป มักเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ และหายไปเมื่อประจำเดือนมานั่นเองค่ะ อาการที่พบได้มีดังนี้
- ด้านอารมณ์ ได้แก่ เครียด วิตกกังวล มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้บ่อย อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
- ด้านพฤติกรรม ได้แก่ นอนไม่หลับ ไม่อยากเข้าสังคม เบื่ออาหารหรืออยากกินมากขึ้นกว่าเดิม สมาธิจดจ่อน้อยลง และความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนไป
- ด้านร่างกาย ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่ม ท้องอืด เจ็บบริเวณเต้านม สิวขึ้น ท้องผูกหรือท้องเสีย
โดยอาการที่พี่หมอบอกมาทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีครบทุกข้อนะคะ หลายคนมีอาการที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีอาการหลายข้อ บางคนมีอาการแค่นิดเดียวเองค่ะ
สาเหตุของอาการเหล่านี้คืออะไรกันแน่?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการได้มีดังนี้
- การเสียสมดุลของฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน
- สารสื่อประสารในสมองผิดปกติ โดยเฉพาะ serotoin เป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ หากสารนี้ต่ำลงก็จะส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และมีปัญหานอนไม่หลับได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนผิดปกติอีกด้วย
- ภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าทำให้อาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรงขึ้นได้ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะนี้โดยตรง
แล้วจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ได้ไหม?
ต้องบอกน้องๆ ไว้ก่อนว่า คนที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรง โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ ทั้งสามโรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์เหมือนกันแต่อาการต่างกัน โดยที่คนๆ นึงสามารถเป็นได้มากกว่า 1 โรคนะคะ แต่คนที่เป็น PMS นั้น หากมีอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันจะกลายเป็นโรคที่เรียกว่า Premenstrual dysphoric disorder (PMDD) ค่ะ ซึ่งการวินิจฉัยโรคมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย เศร้า กังวลหรือเครียด
- ต้องมีการเปลี่ยนดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ สนใจสิ่งต่างๆลดลง ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย กินจุ นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาจนไม่สามารถควบคุมได้
โดยอาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องมีอย่างน้อย 5 อาการในช่วงก่อนมีประจำเดือน และอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังมีประจำเดือน จากนั้นอาการจะหมดไปภายใน 1 สัปดาห์หลังหมดประจำเดือน
ซึ่งจะแตกต่างจาก โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือจะต้องมีอารมณ์เศร้าเกือบทั้งวันและทุกวันหรือความสนใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่วมกับอาการอื่นตามเกณฑ์วินิจฉัยของแพทย์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการนั้นทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
ส่วน โรคไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่มีอารมณ์ดีมากผิดปกติหรืออารมณ์หงุดหงิดง่ายผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่นตามเกณฑ์วินิจฉัยของแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน หรือ 1 สัปดาห์ตามชนิดของโรคค่ะ
ทั้งสามโรคนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของกันและกัน แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นต่อกันได้
วิธีจัดการกับภาวะ PMS ด้วยตัวเอง
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
- งดเครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่สูบบุหรี่
- จัดการกับความเครียด เช่น ระบายกับคนที่ไว้ใจ ดูหนัง ฟังเพลง
- การรักษาด้วยยา ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
เป็นไงกันบ้างคะ วิธีที่พี่แนะนำง่ายใช่มั้ยล่ะ PMS ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องรู้จักภาวะอารมณ์ของตัวเองขณะนั้นให้ได้และจัดการกับมัน สำหรับวันนี้พี่หมอขอตัวก่อนนะคะ แล้วอย่าลืมติดตาม คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตอนต่อไปนะคะ
ที่มาhttps://www.webmd.com/women/pms/what-is-pmshttps://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ครั้งที่ 4 . กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2558
1 ความคิดเห็น
กำลังมีปัญหาพอดีเลยค่ะ ตอนแรกคิดว่าจะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา แต่เมื่อได้ลองอ่านบทความนี้ ขอลองปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำในบทความดูก่อนค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ