4 ฮอร์โมนเบื้องหลัง "ความอ้วน" ที่แท้ทรู


  “สิ่งที่แสดงออกมาผ่านร่างกายของเรา ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจาก ฮอร์โมน” เคยได้ยินประโยคนี้ไหมคะ สาวๆ NUGIRL พี่แอนเจเคยได้ยินจากการอ่านบทความหนึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย วันนี้นึกถึงประโยคนี้อีกครั้ง เลยอยากจะเล่าเรื่อง “ความอ้วน” ที่มีความลับคือ “ฮอร์โมน” อยู่เบื้องหลัง ให้สาวๆ NUGIRL ได้อ่านกันในคอลัมน์ Health Me 

เรามารู้กันคร่าวๆ ก่อนค่ะว่า “ฮอร์โมน” คืออะไร?
สารเคมีที่ระบบการทำงานในร่างกายสร้างขึ้นมา เพื่อสื่อสารกับอวัยวะต่างๆ โดยจะถูกส่งไปทั่วร่างกายด้วย “ต่อมไร้ท่อ” และซึมเข้าสู่เส้นเลือด แล้วออกคำสั่งให้อวัยวะนั้นๆ ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ได้อย่างปกติ ดังนั้น “ฮอร์โมนเป็นหัวหน้าของอวัยวะในร่างกายเรา” นั่นเองค่ะ
 

การขาดฮอร์โมนนั่นเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อายุที่มากขึ้น หรือพันธุกรรมค่ะ ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของเราที่ไปรบกวนการทำงานปกติของร่างกาย เช่นนอนไม่พอ กินของมัน ของทอด หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารเคมีรอบๆ ตัวมากเกินไป
 

ส่วนฮอร์โมนที่เป็นเบื้องหลัง “ความอ้วน” หลักๆ มีอยู่ 4 ชนิดค่ะ 
 
1. โกรทฮอร์โมน ฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงต่อ “ส่วนสูง” ในเด็กและวัยรุ่น สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนี้  โกรทฮอร์โมนยังช่วยควบคุมปริมาณไขมัน และกล้ามเนื้อ ไปจนถึง ระบบการเผาผลาญต่างๆ 
 

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า “ผู้ที่มีโกรทฮอร์โมนในระดับต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีภาวะเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย”  การทำให้โกรทฮอร์โมนในร่างกายอยู่ในระดับที่ปกติข้อแรก ต้องนอนก่อน 4 ทุ่ม โกรทฮอร์โมนจะถูกหลั่งออกมาเมื่อเราหลับได้ 90 นาที หากเราหลับไม่สนิท ร่างกายจะชะลอการสร้างฮอร์โมนนี้ไว้ก่อน เป็นที่มาที่ทำให้เราไม่สูง และไม่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงอย่างเพียงพอให้เผาผลาญไขมันในร่างกายได้ 


2. ฮอร์โมนที่มาจากต่อมไทรอยด์ ประกอบไปด้วย ไทรอกซิน (T4) ไตรไอโอโดไทโรนิน (T3) และ แคลซิโทนิน โดยฮอร์โมนที่ส่งผลทำให้เราอ้วนมากที่สุด คือ ฮอร์โมนไทรอกซิน และไตรไอโอโดโทนินค่ะ ฮอร์โมนทั้งสองทำหน้าที่ร่วมกับ โกรทฮอร์โมน (ฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโต) ส่งผลถึง กล้ามเนื้อ สมอง และหัวใจ
 

หลายคนสงสัยว่า ฮอร์โมนทั้ง 2 ข้อที่ผ่านมาไม่เห็นเกี่ยวกับไขมัน หรือน้ำหนักในร่างกายเลยพี่แอนเจขอบอกเลยว่าเกี่ยวค่ะ “กล้ามเนื้อคือเตาเผาที่ดีในร่างกาย” กล้ามเนื้อจะช่วยเผาผลาญอาหาร ไขมันในร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น! 
 
3. ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเรามีความเครียด ฟังดูเหมือนจะไม่ดี แต่คอร์ติซอลจำเป็นต่อร่างกายในแง่กระตุ้นในเราตื่นตัวในตอนเช้า ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง และยังลดการอักเสบของร่างกายอีกด้วย แต่พี่แอนเจจะขอพูดในเรื่องความอ้วนอย่างเดียวนะคะ 
ในสาวๆ NUGIRL ที่อดหลับอดนอนมาหลายวัน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากผิดปกติ ทำให้เรา “โหย/อยาก” อาหารที่มีแคลอรี่หรือไขมันมากๆ เพื่อมากเป็นพลังงานสำรองให้ร่างกายเราใช้ต่อสู้กับปัญหาค่ะ (พี่แอนเจเคยอธิบายในบทความ “เหตุผลของความหิว” แล้วว่า ถ้าอยากจะควบคุมความหิว เราต้องไม่ให้ตัวเองเครียดด้วย) นอกจากต้องการอาหารมันๆ พลังงานเยอะๆ แล้ว ยังจะไปจัดเก็บไขมันไว้ที่หน้าท้องอีกด้วย เป็นที่มาของอาการ “เครียดลงพุงนั่นเอง”


4. ฮอร์โมนเกรลิน เป็นฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาจากกระเพาะอาหาร เพื่อเป็นการสั่งให้ร่างกายรู้ว่า ถึงเวลาต้องกินแล้ว!! และจะค่อยๆ ลดลงหลังจากเรากินไปแล้ว 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นหากเราควบคุมให้ฮอร์โมเกรลินทำงานอย่างเป็นปกติ ไม่บ่อยเกินไป ก็จะช่วยทำให้เราไม่หิวบ่อย ไม่หิวหนักได้  
 

    เห็นไหมคะว่าเบื้องหลังความอ้วน ที่แท้ทรูนั้นมาจากฮอร์โมนในร่างกายของเรานั้นเองแต่เราไม่สามารถบอกได้นะคะ ว่าตอนนี้ร่างกายของเรามีการหลั่งฮอร์โมนอย่างผิดปกติ มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องอาศัยการเจาะเลือดตรวจอย่างละเอียด สิ่งที่เราผู้เป็นเจ้าของร่างกายทำได้ก็คือ “การทำทุกอย่างให้เป็นปกติ” นั่นคือการนอนหลับให้ครบ 7-8 ชั่วโมง / วัน กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหลากหลายไม่ซ้ำกัน หาวิธีจัดการกับความเครียดที่เข้ามาในแต่ละวันเช่นออกกำลังกาย อาบน้ำอุ่น หรือฟังเพลง
แล้วกลับมาพบกับคอลัมน์ Health Me  ได้ทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของทุกเดือนนะคะ ^^

ขอบคุณที่มา
www.student.chula.ac.th
www.pobpad.com
www.lovefitt.com
www.honestdocs.co
 
 NUGIRL เปลี่ยนตัวเองให้สวยไม่ใช่เรื่องยาก
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด