- เกือบครึ่งของต้นทุนในการทำคอนเสิร์ต คือค่าตัวศิลปิน
- ผู้จัดไทยเพิ่ม-ลดโปรดักชันต่างๆ เองไม่ได้ เพราะอยู่ในสัญญาที่ตกลงกับศิลปินไว้ตั้งแต่ต้น
- ศิลปินบางคนขอขนโซฟามาเอง, ขอพาเชฟส่วนตัวมาด้วย, ขอนั่งรถยี่ห้อนี้เท่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ผู้จัดต้องรับเอาไว้
- แต่ถ้าขายสปอนเซอร์ได้มาก ก็สามารถทำให้ตั๋วคอนเสิร์ตถูกลงได้นะ
____________________________
น้องๆ ชาว Dek-D โดยเฉพาะแฟนคลับศิลปินเกาหลี พอจะจำได้รึเปล่าว่าปีนี้ดูคอนเสิร์ตไปกี่ครั้ง? และแต่ละครั้งเสียเงินกันเท่าไหร่บ้าง? พี่กวางให้เวลาคิด 1 นาที แล้วน่าจะรู้สึกเหมือนๆ กันว่า “บัตรคอนเสิร์ตเดี๋ยวนี้แพงจัง!” เพราะปัจจุบันราคาต่ำกว่าหลักพันแทบไม่มีให้เห็น ยิ่งที่นั่งแถวหน้าๆ ราคาทะลุหลักหมื่นก็ยังมี! แล้วบัตรคอนเสิร์ตแพงได้ขนาดนี้เพราะอะไรนะ? เพราะค่าเงินเฟ้อ? น้ำมันแพง? หรือผู้จัดแค่แกล้งแฟนคลับเล่นๆ??? เอาล่ะ อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน เพราะวันนี้เราจะค่อยๆ ตามไปไขความจริงกัน
คอนเสิร์ต KCON ที่เพิ่งผ่านมา เหล่าอากาเซเสียค่าบัตรคอนเสิร์ตไปเท่าไหร่?
ภาพจาก Facebook : KCON Global
แท้จริงแล้วในค่าบัตร เป็นค่าตัวของศิลปินไปแล้วเกือบครึ่ง!
จากการพูดคุยกับพี่ B1 ซึ่งผ่านการจัดคอนเสิร์ตให้ศิลปินมาแล้วทั่วโลก เปิดเผยว่า ในความเป็นจริงผู้จัดต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้เยอะมาก ระดับที่ต้องมีเงินขั้นต่ำ 5 – 6 ล้านบาท ในการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ซึ่งหลายๆ ครั้งก็สามารถทะลุถึงหลักสิบล้านได้เลยทีเดียว ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ๆ นั้นได้แก่ค่าตัวศิลปิน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุน ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง คือค่าโปรดักชั่น และค่าดูแลจัดการต่างๆ
โปรดักชั่น คือสิ่งที่ต้องทำตามสัญญา
แน่นอนว่าค่าตัวศิลปินนั้น คงไม่สามารถขอลดราคากันได้ งั้นเราลองกลับมามองที่ค่าใช้จ่ายด้านโปรดักชันบ้าง ว่าผู้จัดไทยสามารถเพิ่มหรือลดต้นทุนได้ตามใจชอบแค่ไหน ตรงนี้พี่ B1 ก็ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้จัดไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน เพราะโปรดักชันที่ต้องใช้ในคอนเสิร์ตนั้น ถูกเขียนไว้ในข้อตกลงตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามความต้องการของต้นสังกัดศิลปิน ที่จะประเมินความเหมาะสมในแต่ละประเทศ อาทิเช่น โปรดักชั่นสำหรับประเทศโซนเอเชีย ประเทศโซนยุโรป และโซนอเมริกา เป็นต้น
“โปรดักชั่นทำให้คอนเสิร์ตแพงจริงๆ เพราะมันพอๆ กันกับค่าตัวศิลปิน หรือมากกว่านิดหน่อย แต่นับว่าคุ้มค่าสำหรับคนดูแน่ ถ้าโชว์ออกมาดี ส่วนตัวพี่คิดว่าเป้าหมายในการทำงานคือเพื่อให้คนดูมีความสุข ศิลปินแฮปปี้ และบริษัทไม่ขาดทุน เพราะถ้าศิลปินแฮปปี้ คนดูแฮปปี้ แต่บริษัทขาดทุนก็คงไม่ได้ ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่าเราเอาเปรียบคนดูหรืออะไรนะ เราแค่ต้องทำธุรกิจ”
อย่างที่บอกไปว่าโปรดักชันในการจัดคอนเสิร์ตนั้น ล้วนเป็นไปตามสเป็กที่ตกลงไว้ตั้งแต่ต้น แต่ความน่าภาคภูมิใจก็คือ แทบจะไม่มีอะไรเลยที่ทีมงานไทยเราทำไม่ได้ เรียกว่าขอแค่ให้บอกมา ก็พร้อมจะหาให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะจอ LED ใหญ่แค่ไหน พลุอลังการยังไง หรือจะอยากได้ลูกโป่ง Papershoot รถเข็น แสงเลเซอร์ เวทีไฮโดรลิกส์ ฯลฯ ทีมงานไทยสามารถเสกให้ได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งการควบคุมแท่งไฟด้วย wifi ที่เราเห็นในต่างประเทศบ่อยๆ ประเทศไทยเราก็สามารถทำได้ เหมือนกับที่เคยมีในคอนเสิร์ต Coldplay และ จางเสวียโหย่ว มาแล้ว
อยากได้ไฟกี่สี เวทียืดหดแค่ไหน ขอแค่บอกมา โปรดักชันไทยเราก็ทำให้ได้!
ภาพจาก Facebook : EXO
ค่าใช้จ่ายยิบย่อย ที่เหมือนจะไม่จำเป็น แต่ก็จำเป็นต้องจ่าย!
นอกจากค่าตัวศิลปินและค่าโปรดักชัน ผู้จัดคอนเสิร์ตยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการต่างๆ ทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ยานพาหนะ อาหารการกิน รวมถึงดูแลความต้องการอื่นๆ ของต้นสังกัดและศิลปินอีกด้วย ในบางครั้งผู้จัดไทยจำเป็นต้องปิดโรงแรมทั้งชั้น ปิดห้องฟิตเนส หรือปิดสระว่ายน้ำทั้งสระ เพื่อให้ศิลปินใช้พักผ่อน แม้กระทั่งยานพาหนะที่ใช้ ก็จำเป็นต้องมีให้เพียงพอแก่ทีมงานทุกคน และในบางครั้งยังต้องเป็น รุ่น / ยี่ห้อ ที่ศิลปินต้องการอีกด้วย
“ศิลปินบางคนขอขนโซฟาขึ้นเครื่องบินมานั่งเองในห้องแต่งตัว บางคนก็ขอพาเชฟประจำตัวมาด้วย บางคนก็ขนแก๊งเพื่อนมาเที่ยวกันเป็นสิบๆ คน หรือบางคนขนพ่อแม่พี่น้องและญาติๆ มาทั้งตระกูลก็มี จุดนี้เราก็ต้องดูแลอำนวยความสะดวกทั้งหมด ไม่ว่าจะค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร มันคืออีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่เราต้องแบกรับไว้
“เคยมีศิลปินวงหนึ่งมากัน 5 คน แต่ต้องใช้รถ 7 คัน เพราะศิลปินจะนั่งคนละคัน แถมหนึ่งในนั้นยังรีเควสต์ด้วยว่าไม่อยากนั่งรถตู้ แต่จะขอนั่งรถ SUV เท่านั้น ซึ่งเราหาเช่าไม่ได้ ก็เลยต้องขอเช่ารถพี่ในออฟฟิศแทน ถือว่าเป็นเรื่องฮาๆ และเป็นค่าใช้จ่ายแบบงงๆ แต่เราก็ยอมจ่ายนะ”
ตั๋วเครื่องบินชั้น Business เพื่อความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ผู้จัดก็จ่ายให้นะ
ภาพจาก Facebook : TWICE
ต้นทุนสูง แต่ทุ่นแรงได้ด้วยเงินจากสปอนเซอร์
ในเมื่อค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ ผู้จัดไทยจึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในหลายๆ คอนเสิร์ต ต่อให้ขายบัตรได้หมด ก็ยังมีแนวโน้มที่จะขาดทุน แต่สิ่งที่ช่วยให้ผู้จัดมีกำไรคือเม็ดเงินจาก “สปอนเซอร์” ที่ทุ่มเงินกันรายละหลักแสนถึงล้านบาท เพื่อให้มีชื่อแบรนด์ตัวเองในคอนเสิร์ต และก็เม็ดเงินจำนวนนี้แหละ ที่สามารถช่วยให้ราคาตั๋วคอนเสิร์ตถูกลงได้!
“ที่เห็นค่าบัตรแพงๆ ต่อให้ขายหมดทุกใบบางทีก็ขาดทุน เราเลยต้องหาสปอนเซอร์มาเป็นรายได้ช่วยอุ้มค่าตั๋ว ถ้าเราขายสปอนเซอร์ได้ก่อนก็จะสามารถทำให้ค่าตั๋วถูกลงได้ด้วย แต่หลังๆ คอนเสิร์ตเกาหลีขายสปอนเซอร์ได้ยากขึ้น เพราะมันเฝือ งานหลังๆ ก็ไม่ค่อยทำกำไรเท่าไหร่ บางผู้จัดทำเพราะ passion ล้วนๆ”
หนุ่มๆ Wanna One เพิ่งมาไทยไป แต่แม้ตั๋วจะแพงแค่ไหนก็ Sold Out นะ
ภาพจาก Twitter : @WannaOne_twt
ตั๋วคอนเสิร์ตในปัจจุบัน แพงเกินไปหรือไม่?
ถ้าพิจารณาจากเหตุผลทั้งหมดที่ว่าไป จะเห็นได้ว่าต้นทุนของการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล และยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้จำนวนสปอนเซอร์ลดน้อยลง ทำให้ต่อให้ผู้จัดพยายามคิดราคาถูกยังไง ก็ทำได้เพียง 2-3 แถวหลังสุดของคอนเสิร์ตเท่านั้น น้องๆ ชาว Dek-D ล่ะ รู้สึกว่าตั๋วคอนเสิร์ตในปัจจุบันแพงเกินไปรึเปล่า และใช้วิธีไหนในการเก็บเงินซื้อตั๋วคอนเสิร์ตกันบ้าง แสดงความคิดเห็นได้ในกล่องคอมเมนต์เลย
11 ความคิดเห็น
ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตพวกนี้หรอกนะ
แต่ในฐานะคนนอก
อยากรู้ค่าตั๋วเลยคะ
555
แพงสุดอยู่ที่ประมาณ 8000 บาทเลยคับบบ แต่ถ้าทั่วๆไปแพงสุดก็จะอยู่ที่ราคาประมาณ 6500-6000
เคยชอบอยู่วงนึงตอนหลังเลิกชอบเพราะดันไปรู้เบื้องหลังบางอย่างมา แต่เราจะไม่พูดให้ใครเสียหาย ทุกวันนี้เลิกดูเกาหลีไปแล้ว
สวัสดีค่ะ มีชือพี่ต้นรัก วรานนทื จงพุนลมค่ะ และมีชื่อพี่ต้นรัก กัลยา วรานนทืมค่ะใช่เจ้าชายลีจุนกิมค่ะ.
จะได้เตรียมตังค์ถูก
มีงานมีตติ้งที่มีแถว vip ของคนนึงที่หลักหมื่นเลยนะ
เพิ่งเคยดูคอนครั้งแรกตอนช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง
เพราะรู้สึกว่าแพงมาตลอด และตอนที่ไปดูก็ว่าแพง แม้จะเป็นบัตรดอย
แต่ก็นั่นแหละ ถึงจะบัตรดอย ถึงจะราคาแพง แต่เราได้รับพลังที่ศิลปินส่งออกมา
การได้ไปดูคนที่เราชอบ มันก็คุ้มมาก คือคนอื่นไม่รู้ว่าได้อะไร แต่บอกตามตรง นี่ได้ชีวิตใหม่
ได้แรงบันดาลใจ ได้พลังจากการแสดงที่ศิลปินส่งผ่านมา ขนาดอยู่ดอย
จะว่าเวอร์ก็ตาม แต่บางอย่างเล็กๆน้อยๆ บางทีมีผลต่อใจบางคนได้นะคะ
เคยเห็นน้องผู้หญิงคนนึงโพสตั๋วคอนgot7ที่เบอลิน164ยูโร
เราล่าสุดไปดูคอนบังทันเมื่อเดือนที่แล้ว โซนนั่งประมาณตรงกลาง ไม่ใกล้ไม่ไกลเสียไป 180€ เพื่อนที่รู้จักนางนั่งหน้ากว่าเรานางจ่ายไป 200€ นิดๆ และพวกบัตรวีไอพีก็จะแพงมากกว่าไปอีก
แพงก้อไปค่ะ...ถ้าเป็นศิลปินที่เราชอบ..เรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เค้าจะมาเมื่อไหร่ ก้อเก็บตังค์รอค่ะ..ใจรัก ก้อต้องทำให้ได้
ประเทศไทยน่าจะทำบอยแบรนด์ แบบ9by9 ให้เป็นบอยแบรนด์จริงไแล้วก็สร้างวงบอยแบรนด์เยอะๆ