7 ข้อระวังในการเขียนเรียงความสมัครเรียนต่อนอก!!

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้นอกจากจะเป็นช่วงเริ่มต้นของการปิดเทอมแล้ว ยังเป็นช่วงที่ทุนส่วนใหญ่เปิดรับสมัครอยู่ด้วย มีน้องหลายคนถามเรื่องการสมัครทุนต่างๆ กับ พี่เป้ และพี่เยอะมากๆ รวมทั้งขอความเห็นเรื่องเรียงความสมัครทุน ซึ่งทั้งจากประสบการณ์ของพี่ เพื่อนๆ พี่ และที่พี่ได้อ่านของน้องหลายๆ คน พบว่าเรียงความสมัครทุนส่วนใหญ่จะผิดที่เดิมๆ เหมือนกันทั้งนั้น ซึ่งถ้าน้องมองคนเดียวมันอาจจะดูเล็กน้อย แต่ลองนึกภาพนะคะว่ากรรมการต้องอ่านเรียงความ 100 ฉบับซึ่ง 99 ฉบับเขียนผิดที่เดียวกันหมด ฉะนั้นการพิจารณาทุนก็ตัดสินง่ายขึ้นถูกมั้ยคะ วันนี้ พี่พิซซ่า ก็เลยรวบรวมความผิดที่เรามักจะมองข้าม แต่อาจส่งผลให้เรียงความของเราตกกระป๋องได้มาให้ดูค่ะ

 




สะกดผิด

     ไม่ว่าจะพิมพ์ผิดพลาดเพราะบังเอิญนิ้วไปโดน หรือพิมพ์ผิดเพราะความเคยชินก็ไม่ดีทั้งนั้นค่ะ ฉะนั้นน้องๆ ต้องตรวจทานหลายๆ รอบก่อนส่งว่าพิมพ์ถูกทุกตัวอักษรไหม โดยเฉพาะคนที่ใช้ภาษาแสลงหรือพิมพ์ย่อๆ คุยกับเพื่อนเป็นปกติอยู่แล้ว ความเคยชินจะทำให้น้องไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังพิมพ์ผิดอยู่ค่ะ เพื่อนพี่ที่ภาษาอังกฤษเทพมากราวกับเป็นภาษาแม่ แชตกับเพื่อนต่างชาติทุกวัน ก็เคยตกม้าตายเพราะติดพิมพ์แสลงนี่แหละค่ะ love ไม่ใช่ luv หรือ miss ไม่ใช่ miz และอีกหลายๆ คำที่เราอาจใช้จนติดเป็นอัตโนมัติ มองผ่านๆ ก็ไม่รู้สึกสะดุดว่าผิด คำพวกนี้น่ากลัวมาก

 




ผิดไวยากรณ์

     ถึงแม้ว่าการตัดสิน Study Plan จะดูจากเนื้อหาเป็นหลัก แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างสองคนที่มีทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่คนหนึ่งใช้ภาษาถูกต้องหมดเลย กรรมการก็ต้องเลือกคนนี้เพราะแสดงให้เห็นว่าใส่ใจและรอบคอบมากกว่าใช่มั้ยคะ น้องๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รอบรู้ด้านไวยากรณ์แบบครอบจักรวาลก็ได้แต่อันที่ง่ายๆ ก็อย่าพลาด อย่าง My mother takes me to school everyday. ก็อย่าลืม –s หลังกริยา หรือ I have 4 sisters. ก็อย่าลืมแสดงความเป็นพหูพจน์ ถ้าไวยากรณ์ง่ายๆ แบบนี้พลาด มันน่าหักคะแนนยิ่งกว่าใช้ Present Perfect Tense ผิดเวลาอีกนะคะ ส่วนไวยากรณ์ตัวที่ไม่มั่นใจ ก็มีอยู่ 2 ทางคือหาคำตอบให้ชัวร์ว่ามันคืออะไร ใช้ยังไง หรือเลี่ยงการใช้ไวยากรณ์นั้นไปเลย แล้วเขียนอ้อมๆ ด้วยประโยคง่ายๆ แทน ลองตรวจกับหนังสือไวยากรณ์ก่อน แล้วค่อยให้เพื่อน และอาจารย์ตรวจเพิ่มให้

 



ใช้คำสลับกัน

     มีหลายคำที่มักจำสลับกันหรือเขียนสลับกันตลอด ซึ่งเวลาใช้พูดหรือเขียนแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็ยังจำสลับกันเองเลย แต่ตอนนี้น้องกำลังเขียนเรียงความเพื่อสมัครเรียนต่อ และเป็นงานเขียนที่น้องควรให้เวลากับมันมากอย่างที่ไม่เคยให้กับการบ้านมาก่อน ^^ ฉะนั้นการจำสับสนเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดค่ะ อย่างน้อยตอนตรวจทานรอบสองก็น่าจะเห็นแล้วว่ากำลังใช้ผิดอยู่ คำที่มักจำสับสนก็เช่น advice/advise, by/buy/bye, choose/chose, device/devise, e.g./i.g., they/their และอื่นๆ อีกมากมาย (ดูตัวอย่างคำที่มักจำสับสนเพิ่มเติมได้ที่ >คลิกจ้า<)

     เคยมีคนนึงขอทุนไปศึกษาต่อที่สถาบันหนึ่งในเมือง Los Angeles แล้วอยากยกประเด็นขึ้นมาว่าบ้านเกิดเขาซึ่งก็คือกรุงเทพนั้นมีความหมายเดียวกับชื่อลอสแองเจลิสเลยว่า City of Angles เอิ่ม กรรมการน่าจะฮากริบไปตามๆ กัน

 



ความไม่เป็นทางการ

     เรียงความสมัครเข้าเรียนต่อหรือขอทุนไม่จำเป็นต้องเป็นทางการจัดราวกับบทสุนทรพจน์ก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรอยู่ในระดับกึ่งทางการค่ะ ห้ามใช้ระดับกันเองอย่างขึ้นต้นประโยคด้วย well,… ตอนคิดน้องอาจจะ “เอ่อ...” อยู่ในใจก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้กรรมการรู้ก็ได้ค่ะ การใช้คำฟุ่มเฟือยอย่าง like ในความหมายว่า “แบบ” (คือมันแบบ, แบบว่า) ที่เราติดเป็นภาษาพูดก็ไม่ต้องใช้ค่ะ หรือ you know ก็ห้ามเด็ดขาด ถึงพี่จะเน้นว่าการเขียนเรียงความนี้คือการแสดงความเป็นตัวเราให้กรรมการรู้จัก แต่เขาไม่ต้องรู้จักเราระดับเพื่อนซี้เนอะ

 



การให้ข้อมูลมากเกินไป

     น้องหลายคนอาจจะตีความผิดว่าการทำให้กรรมการรู้จักเราและจำเราได้ แปลว่าเราต้องเล่าให้ละเอียดๆ ให้เห็นว่าเรามีดีขนาดไหน จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ซะทีเดียวนะคะ เพราะคนส่วนใหญ่จะทำผิดข้อนี้มากที่สุด และเล่าทุกอย่างหูดับตับไหม้เลยละค่ะ ไม่ต้องละเอียดว่าเลี้ยงแมวสามตัว หมาห้าตัว ปลาทองเจ็ดตัวชื่อมันเดย์จนถึงซันเดย์ หรือใส่ผลงานตั้งแต่เต้นงานวันแม่ตอนป.สอง เรื่องพวกนี้สมควรใส่ก็ต่อเมื่อน้องสามารถฝึกปลาทองให้เต้นระบำอย่างพร้อมเพรียงกันได้หรือว่าการเต้นงานวันแม่ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการที่น้องเป็นนักเต้นและกำลังสมัครเรียนต่อที่สถาบันสอนบัลเล่ต์

     การพิจารณาว่าเรื่องไหนควรใส่หรือไม่ใส่ลงไปในเรียงความทำได้โดยถามตัวเองว่าถ้าโดนเรียกสัมภาษณ์ขึ้นมา น้องสามารถคุยเรื่องเหล่านี้กับคนสัมภาษณ์ได้หรือไม่ ถ้าคุยได้ให้ถามตัวเองต่อว่าในการสัมภาษณ์ที่มีเวลาจำกัด น้องอยากสละเวลามาคุยเรื่องนี้จริงๆ หรืออยากคุยเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่านี้ (เช่นสาขาที่จะเรียนหรือกฎระเบียบเพิ่มเติม)

 



การใส่ข้อมูลสถาบันที่จะสมัครผิด

     ข้อนี้จะเกิดกับคนที่นอกจากจะไม่รอบคอบแล้วยังเกียจคร้านสุดๆ ค่ะ นั่นคือสมัครทุกทุนที่มีและใช้เรียงความเดียวกันหมด โดยลืมแก้ชื่อสถาบัน คณะ หรือสาขาที่จะสมัครแต่ละที่ ข้อนี้น่าจะเป็นการผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดและเรียงความของน้องมีสิทธิถูกโยนลงถังขยะทันทีที่คณะกรรมการมหาวิทยาลัย Oxford เห็นคำว่า Cambridge ^^ ไม่ใช่แค่ชื่อสถาบันเท่านั้นนะคะ ชื่อเมือง รัฐหรือแม้แต่รายละเอียดของตึกก็อาจเกิดปัญหานี้ได้เช่นกัน น้องอาจจะอยากแสดงความมุ่งมั่นที่จะเข้ามหาวิทยาลัยกอกอ (นามสมมติ) โดยชมเชยตึกสีแดงของเขาว่าดูขลังมากเพื่อแสดงความใส่ใจในรายละเอียด แต่พอก๊อปปี้เรียงความเดิมไปส่งมหาวิทยาลัยขอขอ (นามสมมติ) แม้น้องจะแก้ชื่อทุกอย่างถูกหมดแล้ว แต่ไม่ได้ลบประโยคนี้ออก มหาวิทยาลัยขอขออาจจะคิดว่าน้องตาบอดสีก็ได้ เพราะของเขาไม่มีตึกสีแดงเลย

 



การหาข้ออ้าง

     ถ้าใครเคยอ่านเคล็ดลับเก่าๆ ของพี่จะเห็นว่าพี่เคยบอกว่าสามารถให้ข้ออ้างได้ถ้าเกรดตกบางเทอมเช่นญาติสนิทเสีย พ่อแม่หย่าร้าง เพิ่งย้ายโรงเรียนมากำลังปรับตัว หรือยังสับสนกับชีวิต ใช่ค่ะ น้องสามารถอ้างแบบนี้ได้เมื่อมันเป็นเรื่องจริง และน้องเกรดตกช่วงนั้นช่วงเดียว แต่ถ้าน้องได้เกรด 2.5 ทุกเทอม จะอ้างแบบนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะถึงเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นจริงๆ กรรมการจะมองว่าน้องก็ควรจะทำใจ ปรับตัวได้ หรือหาทางออกให้ชีวิตได้แล้ว ถ้ายังย่ำที่เดิมกรรมการจะคิดว่าน้องไม่มีการพัฒนา ไม่โตเป็นผู้ใหญ่หรือไม่มุ่งมั่นกับอนาคตของตัวเองค่ะ ส่วนเด็กกิจกรรมถ้าเป็นช่วงเริ่มทำกิจกรรมหรือเป็นช่วงที่กิจกรรมที่ทำก้าวกระโดดไปอีกขั้น เช่นแข่งกีฬาระดับจังหวัด หรือแข่งดนตรีรอบรองชนะเลิศ แล้วเกรดตกช่วงเหล่านั้นก็ใส่เหตุผลได้เลยค่ะ

 

     น้องอาจไม่รู้เลยว่ามีคำไหนที่แปลว่า “แต่” นอกจาก but ซึ่งน้องก็ใช้อยู่คำเดียวทั้งเรียงความ แม้น้องจะไม่สามารถเขียนได้หรูเท่าคนอื่นที่สลับใช้ however, even though และ yet และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถ้าน้องไม่พลาดกับข้อควรระวังทั้ง 7 ข้อนี้ เรียงความของน้องก็อาจจะน่าอ่านกว่าคนที่ใช้คำสวยๆ อีกนะคะ เหมือนกับเป็นคะแนนเข้าห้องที่ช่วยให้เกรดดีขึ้นได้เลยค่ะ (พี่ผ่านมาได้เพราะคะแนนช่วยกับคะแนนเก็บเต็มตลอด) ฉะนั้นเรื่องเล็กๆ ที่ดูจุกจิกแบบนี้อย่าพลาดเลยนะคะ

      ส่วนใครอยากอ่านบทความดีๆ เคล็ดลับการไปเรียนต่อนอก อย่าลืมแวะเวียนเข้าไปเจอกันได้ที่คอลัมน์เรียนต่อนอกที่ www.dek-d.com/studyabroad นะคะ


TWITTER: @PiZZaDekD


ข้อมูล
gradschool.about.com

ภาพประกอบ
librarytypos.blogspot.com, readinghorizons.com
firewireblog.com, idolator.com
madamenoire.com, memegenerator.ne
www.missfarah.com, emergingwriters.us

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

ซาลาเปา'า Member 16 มี.ค. 56 23:31 น. 3
ฮาตรง"ปลาทองเต้นระบำอย่างพร้อมเพรียงกันได้" ในข้อ "การใส่ข้อมูลมากเกินไป" นี่แหละ 5555 
0
กำลังโหลด

10 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
ซาลาเปา'า Member 16 มี.ค. 56 23:31 น. 3
ฮาตรง"ปลาทองเต้นระบำอย่างพร้อมเพรียงกันได้" ในข้อ "การใส่ข้อมูลมากเกินไป" นี่แหละ 5555 
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด