สัมภาษณ์! นักศึกษาไทยผู้ได้ทุน Chevening ไปเรียนปริญญาโทที่เคมบริดจ์

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้ พี่พิซซ่า มีแขกรับเชิญขั้นเทพมาด้วยท่านหนึ่งค่ะ นั่นคือพี่ธัญ คงสวัสดิ์เกียรติ ที่ได้รับทุน Chevening ประจำปี 2013/2014 ไปศึกษาต่อที่ University of Cambridge ค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าทุนนี้ดียังไงและควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
 


ธัญ คงสวัสดิ์เกียรติ
ผู้ได้รับทุน Chevening ปี 2013/2014
ศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ที่ University of Cambridge

พี่พิซซ่า: สวัสดีค่ะพี่ธัญ ขอทราบประวัติการศึกษาคร่าวๆ ก่อนไปเรียนต่อที่อังกฤษด้วยค่ะ

พี่ธัญ: ผมจบปริญญามา 2 สาขาครับ สาขาแรกเป็นการเรียนทางด้าน Bio-Business ในระดับปริญญาตรีและโท ณ มหาวิทยาลัย Tokyo University of Agriculture ประเทศญี่ปุ่น เกรดเฉลี่ยที่เทียบได้คือ 3.98 (ป.ตรี) และ 4.0 (ป.โท) ครับ ส่วนสาขาที่สองเป็นสาขานิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ยที่ได้คือ 3.38 ครับ
     หลังจากจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ ผมได้เข้าทำงานเป็นผู้จัดการแผนกกฎหมาย ที่กลุ่มบริษัท Bridgestone ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี และได้ใช้ความรู้ทั้งทางด้านภาษาญี่ปุ่น ความเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นผนวกกับความรู้ทางด้านกฎหมายที่เรียนมาครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: วางแผนตั้งแต่ตอนไหนคะว่าจะสอบชิงทุนนี้

พี่ธัญ: ผมทราบข้อมูลเกี่ยวกับทุน Chevening มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่แล้วครับ และก็ตั้งใจเอาไว้ว่าถ้าคุณสมบัติครบเมื่อไรก็จะสมัครและพยายามดูซักครั้ง เพราะการที่จะได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของผมตั้งแต่เด็กแล้วครับ
     เมื่อคุณสมบัติครบผมก็สมัครขอรับทุน Chevening เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขานิติศาสตร์ ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อเรียนในสาขากฎหมายธุรกิจและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับสิ่งที่ได้เรียนมาและได้ทำงานอยู่ครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: มีการเตรียมตัวอย่างไรก่อนสมัครทุนคะ

พี่ธัญ: ผมเริ่มเตรียมตัวจากการดูกำหนดเวลาและเกณฑ์การรับสมัครของทั้งทางมหาวิทยาลัยที่สนใจ และทางทุน Chevening ในปีก่อนๆ ซึ่งทำให้ผมทราบว่าผมควรจะพร้อมที่จะสมัครกับทั้งทางมหาวิทยาลัยและกับทางทุน Chevening ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นผมจึงเริ่มเตรียมตัวสอบ IELTS ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยสอบอยู่หลายครั้งเหมือนกันนะครับกว่าจะได้คะแนน 7.5 ซึ่งพอดีกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทางมหาวิทยาลัย Cambridge กำหนดไว้ และผมก็ใช้คะแนนเดียวกันนี้สมัครทุน Chevening ด้วย โดยยื่นไปพร้อมกับใบสมัครครับ
     ทั้งนี้ทางทุน Chevening เอง ไม่ได้กำหนดว่าผู้สมัครจะต้องมีคะแนน IELTS มายื่นหรือจะต้องได้รับการตอบรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ณ เวลาที่สมัครทุนนะครับ น้องๆ ที่สนใจควรเช็คเรื่องเวลารับสมัครของสาขาและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจ และช่วงเปิดรับสมัครของทุน Chevening ให้ดี โดยสามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องระยะเวลาในการยื่นเอกสารภายหลัง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับทุน Chevening ได้ที่เว็บไซต์ http://www.chevening.org/apply นะครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: การขอจดหมายแนะนำจากอาจารย์ลำบากไหมคะ เพราะเราจบจากมหาวิทยาลัยไปทำงานนานแล้ว

พี่ธัญ: สำหรับผม ผมว่าไม่ลำบากนะครับเพราะผมได้ทำกิจกรรมในช่วงที่เรียนซึ่งทำให้มีการติดต่อกับอาจารย์หลายท่านอยู่เสมอ ดังนั้นท่านจึงยินดีเขียนจดหมายแนะนำ (Recommendation Letter) ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านรู้ว่าเป็นการแนะนำเพื่อขอรับทุน Chevening ครับ สำหรับน้องๆที่จบมานานแล้วแนะนำว่าอาจจะทำนัดกับท่านอาจารย์ก่อนที่จะเข้าไปพบเพื่อ พูดคุยให้ท่านอาจารย์จำรายละเอียดของเราได้และสามารถที่จะเขียนแนะนำให้กับเราได้ครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: ตอนสอบสัมภาษณ์ทุน ลักษณะการสอบเป็นอย่างไรคะ

พี่ธัญ: ในปีที่ผมสมัคร ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะมาสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ณ สถานทูตอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ตรงถนนวิทยุครับ โดยกรรมการผู้สัมภาษณ์จะมีทั้งหมด 3 ท่าน
     ในช่วงแรกกรรมการจะแนะนำทุน Chevening ให้ฟังก่อนว่าเป็นอย่างไรและครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมถึงจะอธิบายให้ฟังว่าการสัมภาษณ์ในวันนี้จะมีคำถามหลักๆ ทั้งหมด 8 คำถาม ซึ่งอาจจะมีคำถามย่อยๆ อีก ถ้าหากกรรมการมีข้อสงสัย โดยจะให้เวลาตอบคำถามทั้งหมดประมาณ 30 นาที ซึ่งผู้เข้าสัมภาษณ์จะต้องจัดสรรเวลาด้วยตัวเอง และกรรมการแต่ละท่านจะเวียนกันถามคำถามไปเรื่อยๆ ทีละคำถามจนจบ
     คำถามจะเป็นคำถามทั่วไปและคำถามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ เช่น ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณควรที่จะได้ทุนนี้, คุณอยากที่จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอะไร และเพราะเหตุใด, คุณจะใช้โอกาสนี้ที่ได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษมาพัฒนาประเทศไทยอย่างไรบ้าง เป็นต้นครับ สำหรับตัวผมเองผมจะใช้เทคนิคการตอบคำถามโดยเน้นความชัดเจนของเหตุและผล รวมถึงยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ถ้าน้องๆ คนไหนจะลองเอาไปปรับใช้ผมก็ไม่หวงนะครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: หลังเรียนจบ ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ

พี่ธัญ: ปัจจุบันผมทำงานตำแหน่ง Legal Manager อยู่ที่บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: ทุน Chevening ช่วยในด้านการทำงานอย่างไรบ้างคะ

พี่ธัญ: การที่ผมได้รับทุน Chevening ทำให้ผมสามารถนำความรู้ ความเข้าใจระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ ตลอดจนหลักการและวิธีคิดของคนอังกฤษในการออกกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ และที่สำคัญคือเนื้อหาของกฎหมายและแนวคำพิพากษาสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มาเทียบเคียงกับกฎหมายไทยและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้ในงานที่ทำอยู่ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยฝึกให้ผมจับประเด็นได้ดีขึ้น สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น รวมถึงสามารถให้คำแนะนำทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติให้กับองค์กรได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: อยากให้พี่ธัญเล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากทุน Chevening ให้ฟังด้วยค่ะ

พี่ธัญ: จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในฐานะนักเรียนทุน Chevening ทุนนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่ทำให้ผมได้ศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในประเทศอังกฤษคือ University of Cambridge ผมมีโอกาสที่จะได้ศึกษากับอาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นผู้คิดค้นหรือวางหลักเกณฑ์ที่ใช้กันทั่วโลก หรือเป็นผู้เขียนหนังสือที่ใช้กันในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้รับมิตรภาพที่ดีและอบอุ่นไม่ว่าจากนักเรียนทุนด้วยกันที่มาจากประเทศต่างๆ และเรียนสาขาต่างๆ กันไป หรือนักเรียนต่างชาติและนักเรียนอังกฤษในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่คอยเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ผ่านการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งผมยังมีโอกาสที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและท่องเที่ยวไปในเมืองต่างๆ ที่สวยงามและน่าสนใจทั่วสหราชอาณาจักร
     ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ที่ได้รับทุนนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ของทาง Chevening คอยดูแลช่วยเหลือและจัดกิจกรรมดีๆ ให้ตลอดเวลา ตั้งแต่ที่ยังอยู่ที่เมืองไทยหรือตอนศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ และแม้กระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว ทางสถานทูตอังกฤษ กรุงเทพ และเจ้าหน้าที่ก็ยังคงช่วยเป็นสื่อกลางให้กับนักเรียนทุนฯ และจัดกิจกรรมดีๆ ให้พวกเรา ทำให้เกิดเป็นสังคมเล็กๆ ที่อบอุ่นและช่วยเหลือกันและกันอยู่ตลอด ซึ่งในระหว่างนักเรียนทุนด้วยกัน เราเรียกมันว่า “ครอบครัว  Chevening” ผมอยากให้น้องๆ ได้รับโอกาสและสิ่งดีๆ จากทุน Chevening นี้เหมือนกับผม และเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัว Chevening กับพวกเรานะครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat

พี่พิซซ่า: สุดท้ายนี้ พี่ธัญมีคำแนะนำอะไรอยากฝากถึงน้องๆ ในเว็บไซต์ Dek-D.com ที่สนใจทุน Chevening อยู่ไหมคะ

พี่ธัญ: ก่อนอื่นผมคงต้องบอกก่อนเลยว่า ผมก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับของเว็บไซต์ Dek-D.com มานานแล้วนะครับ ดังนั้นเมื่อตอนที่รู้ว่าจะได้สัมภาษณ์ลงเว็บไซต์ Dek-D.com ผมก็ตื่นเต้นและดีใจมากๆ สำหรับสิ่งที่อยากบอกน้องๆในนี้ก็คือ ทุน Chevening เป็นโอกาสที่ดีที่จะให้น้องๆ ได้เปิดวิสัยทัศน์และเพิ่มพูนความรู้ในสาขาที่ตนเองสนใจ เพื่อสร้างให้น้องก้าวไปเป็นผู้นำที่ดีและมีความสามารถ และยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเราด้วย
..… ผมอยากให้น้องๆ ที่มีคุณสมบัติแต่ยังลังเลว่าควรจะสมัครดีหรือเปล่า
หรือกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับเลือก กล้าตัดสินใจที่จะสมัครดูครับ .....
     ผมเองตอนที่สมัครก็มีความกังวลเหมือนกันว่าทาง Chevening จะเลือกให้ทุนเฉพาะผู้สมัครที่เป็นข้าราชการ หรือเป็นอาจารย์เท่านั้นหรือเปล่า เพราะผมเองก็ทำงานในภาคเอกชนมาโดยตลอด แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจสมัครและเตรียมความพร้อมเต็มที่ จนทำให้ได้รับเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุน Chevening จากประเทศไทยปี 2013/2014 ครับ


courtesy of Mr. Thun Khongsawatkiat


     ขอบคุณพี่ธัญมากๆ เลยค่ะที่ให้เว็บไซต์ Dek-D.com สัมภาษณ์ ต้องขอบอกเลยว่าพี่ธัญเก่งมากๆ เลยค่ะ ที่กล้าตัดสินใจสมัครทุนนี้แม้จะมีความกังวลหลายๆ อย่าง ฉะนั้นน้องๆ คนไหนที่มัวแต่ไม่กล้าสมัครเพราะกลัวไม่ได้ทุนก็อย่าเพิ่งไปคิดว่าเราจะไม่ได้ ถ้าคุณสมบัติครบแล้วก็สมัครไปเลยค่ะ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบที่พี่ธัญบอก

     ทุน Chevening รอบนี้ปิดรับสมัครวันที่ 3 พฤศจิกายน 2015 นะคะ ถ้าใครลืมระเบียบการไปแล้วก็กลับไปดูได้ที่นี่เลยค่ะ www.dek-d.com/studyabroad/35200/




บทความช่วยในการสมัครเรียนต่อ
4 เทคนิคเขียนเรียงความสมัครเรียนต่อนอก ให้ชนะใจกรรมการ!
Study Plan! เขียนยังไงให้โดนใจกรรมการ
รวมคำถามสอบสัมภาษณ์เรียนต่อนอก 12 ข้อที่ต้องเจอแน่ๆ
อยากเรียนนอกต้องอ่าน! CV และ Resume คืออะไร?
วิธีขอจดหมายแนะนำขั้นเทพ! (สำหรับศิษย์เก่าที่จบมานานแล้ว)
3 สิ่งที่ต้องคิดให้ดี เวลาจะเลือกที่เรียนป.โทต่างแดน

 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด