สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ภาษาไทยเรามีคำราชาศัพท์มากมาย แล้วน้องๆ เคยสงสัยมั้ยคะว่าในภาษาอังกฤษจะมีแบบนี้บ้างมั้ย พี่พิซซ่า บอกเลยว่ามีค่ะ ฉะนั้นวันนี้เราจะไปดูกันว่าคำราชาศัพท์สำหรับเจ้าขุนมูลนายระดับต่างๆ ในภาษาอังกฤษมีอะไรบ้าง รวมทั้งการเรียงลำดับฐานันดรศักดิ์ของแต่ละพระองค์ด้วยค่ะ
คำราชาศัพท์ในภาษาอังกฤษไม่ได้มีเยอะเท่าแบบของไทยนะคะ อย่างอวัยวะต่างๆ หรือคำกริยาที่เจ้าขุนมูลนายทำก็ไม่ได้มีคำราชาศัพท์เฉพาะค่ะ แต่ที่จะใช้แตกต่างจากคนทั่วไปจริงๆ จะเป็นการเรียกและคำลงท้ายซะมากกว่า ถ้าเทียบกับในละครก็จะเป็นการเรียกว่า "ฝ่าบาท" และลงท้ายด้วย "พะยะค่ะ" หรือ "เพคะ" นั่นเอง ทีนี้มาดูลำดับศักดิ์และคำราชาศัพท์ที่ต้องใช้ โดยอิงราชวงศ์อังกฤษกันค่ะ
King และ Queen
พระราชาและพระราชินี ถือเป็นผู้ปกครองสูงสุด การเรียกทั้ง 2 พระองค์ว่าฝ่าบาทจะใช้คำว่า Your Majesty ค่ะ ส่วนการเขียนจดหมายจ่าหน้าถึงทั้งสองพระองค์จะใช้คำทางการว่า HM The King กับ HM The Queen ตัวย่อ HM มาจาก His Majesty กับ Her Majesty
ส่วนการลงท้ายด้วยเพคะหรือพะยะค่ะนั้น จะกลับกับของไทยค่ะ ของบ้านเราจะดูเพศของผู้พูดว่าควรใช้คำไหนใช่มั้ยคะ แต่ในภาษาอังกฤษจะดูเพศของผู้ฟังเป็นหลักค่ะ ฉะนั้นถ้าพูดกับพระราชาจะลงท้ายด้วย Sire ในขณะที่การพูดกับพระราชินีจะลงท้ายด้วย Ma'am
Prince และ Princess
เจ้าชายกับเจ้าหญิงเป็นคำเรียกรวมๆ ของเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดค่ะ เรียกได้ทั้งลูก หลาน เหลน ลื่อ และรวมทั้งพี่น้องและลูกพี่ลูกน้องของพระราชาพระราชินี คำเรียกจะใช้ว่า Your Royal Highness ค่ะ ในขณะที่การเขียนจดหมายทางการจะต้องใช้ HRH นำหน้าชื่อตำแหน่ง HRH ย่อมาจาก His Royal Highness กับ Her Royal Highness ส่วนคำลงท้ายจะเป็น Sir สำหรับเจ้าชาย และ Ma'am สำหรับเจ้าหญิง
Lord และ Lady
Lord และ Lady เป็นพระอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ห่างออกไปอีกขั้น โดยปกติมักเป็นทายาทของลูกพี่ลูกน้องของรัชกาลปัจจุบันอีกที รวมถึงอดีตคู่สมรสของเชื้อพระวงศ์ สำหรับคำเรียกในภาษาพูดจะเรียกว่า Lord หรือ Lady แล้วตามด้วยชื่อเลย เช่น Lord Nicholas หรือ Lady Helen ค่ะ ไม่ต้องลงท้ายด้วย Sir หรือ Ma'am แล้ว ส่วนการจ่าหน้าเอกสารราชการจะเขียนเป็น The Lord และ The Lady แล้วตามด้วยชื่อต้นกับนามสกุลเท่านั้นค่ะ
ข้างบนคือพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ค่ะ ซึ่งผู้ที่จะได้รับฐานันดรศักดิ์ดังกล่าวจะเป็นชนชั้นเจ้านายเท่านั้น (รวมถึงคู่สมรส) ส่วนข้างล่างนี้จะเป็นฐานันดรศักดิ์ของชนชั้นขุนนาง ซึ่งบางชั้นอาจจะมีเจ้านายที่ได้บรรดาศักดิ์นั้นๆ ด้วย แต่คนธรรมดาก็สามารถมีบรรดาศักดิ์ด้วยได้เช่นกัน มีทั้งหมด 5 ชั้นค่ะ
Duke หรือ Duchess
Duke ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดที่คนธรรมดาสามารถขึ้นเป็นได้ แต่ก็มีเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ที่ได้ตำแหน่ง Duke ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์จะเรียกจัดเป็นกลุ่ม Royal Duke ค่ะ Duke ก็จะแบ่งต่อไปอีกว่าเป็น Duke of เมืองอะไร ภรรยาของ Duke จะเรียกว่า Duchess หรือถ้าบุตรสาวของ Duke ได้ขึ้นในตำแหน่งต่อจากพ่อก็จะเรียกว่าเป็น Duchess เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ สามีของเธอจะไม่ได้รับบรรดาศักดิ์ใดๆ จากการสมรส
สำหรับการเรียก Duke (ประมาณว่าเรียก "นายท่าน") ที่เป็นคนธรรมดา จะเรียกว่า Your Grace ในการส่วนตัว แต่ถ้าออกงานจะเรียกว่า Duke หรือ Duchess ไปเลยค่ะ ส่วนในการเขียน จะเรียกเต็มว่า His Grace The Duke of ..... หรือ Her Grace The Duchess of ..... แต่สำหรับ Royal Duke นั้นจะเรียกตามตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดของพระองค์ ซึ่งก็คือเจ้าชาย ให้ใช้คำเรียกตามหลักของเจ้าชายไปเลยค่ะ
ในสหราชอาณาจักรปัจจุบันนี้ มี Royal Duke 6 พระองค์ค่ะ ได้แก่
Duke of Edinburgh เป็นพระอิสริยยศขั้น Duke ของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
Duke of Cambridge เป็นพระอิสริยยศขั้น Duke ของเจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
Duke of York เป็นพระอิสริยยศขั้น Duke ของเจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
Duke of Gloucester เป็นพระอิสริยยศขั้น Duke ของเจ้าชายริชาร์ด พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 (เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2)
Duke of Kent เป็นพระอิสริยยศขั้น Duke ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 (เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2)
สำหรับเจ้าชายชาร์ลส์ผู้เป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 นั้น พระอิสริยยศขั้น Duke เป็นเพียงพระอิสริยยศชั้นรอง เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศสูงสุดเป็น Prince of Wales ที่เป็นตำแหน่งเฉพาะสำหรับองค์รัชทายาทแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งศักดิ์ Prince สูงกว่า Duke ทำให้ตำแหน่ง Duke กลายเป็นตำแหน่งขั้นรองลงไป
นอกจากนี้เจ้าชายชาร์ลส์ยังทรงดำรงพระอิสริยยศขั้น Duke ถึง 2 ตำแหน่ง คือ Duke of Cornwall และ Duke of Rothesay อีกด้วย Duke of Cornwall เป็นพระอิสริยยศสำหรับพระราชโอรสองค์โตในอังกฤษ ส่วน Duke of Rothesay เป็นพระอิสริยยศสำหรับองค์รัชทายาทแห่งสก็อตแลนด์ หากมีพระราชกรณียกิจในแถวคอร์นวอลล์หรือในสก็อตแลนด์ ก็จะทรงเลือกใช้พระอิสริยยศขั้น Duke เป็นหลัก
สำหรับบรรดาศักดิ์ขั้น Duke ในสหราชอาณาจักรที่ไม่ได้เป็น Royal Duke มีจำนวน 27 ตำแหน่ง สำหรับ Duke 24 คน (บางคนรับหลายตำแหน่ง)
คามิลลา พระวรชายาพระองค์ที่สองของเจ้าชายชาลส์ ดำรงพระอิสริยยศเป็น Duchess of Cornwall
ยกเว้นเมื่อเสด็จไปสก็อตแลนด์จะใช้ Duchess of Rothesay แทน
แม้ตามหลักแล้วพระองค์จะดำรงตำแหน่ง Princess of Wales ด้วย
แต่ตำแหน่งนี้เป็นที่จดจำของเจ้าหญิงไดอาน่าไปแล้ว จึงไม่เลือกใช้
Marquess หรือ Marchioness
Marquess เป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางที่รองลงมาจาก Duke ค่ะ หากเป็นผู้หญิงหรือเป็นภรรยาของ Marquess จะเป็นตำแหน่ง Marchioness สำหรับการเรียกว่านายท่านนั้น จะใช้คำว่า My Lord หรือ My Lady เป็นหลัก ส่วนการเขียนตำแหน่งอย่างเป็นทางการจะใช้ว่า The Most Hon The Marquess of ..... หรือ The Most Hon The Marchioness of ..... (ข้างหน้าย่อมาจาก The Most Honourable)
ส่วนมากบรรดาศักดิ์ Marquess มักเป็นบรรดาศักดิ์รองของ Duke อีกที หรือเป็นบรรดาศักดิ์ของทายาทที่จะขึ้นสืบทอดตำแหน่ง Duke ต่อจากบิดา เช่น ท่าน Andrew Russell ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Duke of Bedford เคยดำรงตำแหน่ง Marquess of Tavistock มาก่อนในตอนที่บิดาของเขาดำรงตำแหน่ง Duke of Bedford อยู่ ส่วนตอนนี้ตำแหน่ง Marquess of Tavistock ก็เป็นของบุตรชายของแอนดรูว์อีกที แต่ก็มีบางตระกูลที่บรรดาศักดิ์ขั้น Marquess เป็นขั้นสูงสุดของตระกูลแล้วค่ะ
Earl หรือ Countess
ตำแหน่ง Earl ในปัจจุบันเป็นรองจาก Duke และ Marquess อีกทีค่ะ แต่ว่าจะเท่าๆ กันกับ Count ในประเทศอื่นในยุโรป แต่เนื่องจากไม่มีคำศัพท์รูปผู้หญิงสำหรับ Earl จึงใช้ว่า Countess แทนในการเรียกสำหรับผู้หญิงค่ะ การเรียกก็จะเป็น My Lord กับ My Lady เหมือนกับ Marquess แต่การเขียนทางการจะใช้ว่า The Rt Hon The Earl of ..... หรือ The Rt Hon The Countess of ..... คำข้างหน้าย่อมาจาก The Right Honourable
ปัจจุบันในสหราชอาณาจักรมีตำแหนง Earl เยอะมากกกกกกกกกกค่ะ บ้างก็เป็นตำแหน่งรองของ Duke บ้างก็เป็นตำแหน่งสำหรับทายาทของ Duke และด้วยความที่มีเยอะ เพราะหลายตำแหน่งพระมหากษัตริย์ก็มอบให้ใหม่จากความดีความชอบ ไม่ได้สืบทอดกันมานานในตระกูล ชื่อเมืองของตำแหน่ง Earl ในหลายครั้งมักไม่ตรงกับตำแหน่งที่อยู่อาศัยจริงๆ หรือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ตามชื่อนั้นจริงๆ เช่น
กรณีที่เป็นตำแหน่งรอง: Earl of Merioneth คือพระอิสริยยศรองจาก Duke of Edinburgh ของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
กรณีที่เป็นตำแหน่งสำหรับทายาท: Earl of Southesk คือตำแหน่งของทายาทอันดับ 1 ของ Duke of Fife ค่ะ ถ้าวันหนึ่ง Earl of Southesk ได้ขึ้นเป็น Duke of Fife ลูกชายคนโตของเขาก็จะได้ตำแหน่ง Earl of Southesk แทน
Viscount หรือ Viscountess
บรรดาศักดิ์ Viscount มีศักดิ์รองลงมาจาก Earl อีกที ในอดีตมักเป็นตำแหน่งที่มอบให้ผู้ช่วยของ Earl เพราะมาจากคำว่า vice-count ซึ่ง Count เทียบเท่ากับ Earl ก็เลยหมายถึงตำแหน่งรองหัวหน้าจาก Earl ส่วนถ้าเป็นภรรยาของ Viscount ก็จะเรียกว่า Viscountess ค่ะ สำหรับการเรียกและการเขียนทางการจะใช้แบบเดียวกับ Earl เลยค่ะ
ปัจจุบันในสหราชอาณาจักรมีผู้ครอบครองบรรดาศักดิ์ขั้น Viscount กว่า 270 คน แต่ส่วนมากมักเป็นตำแหน่งรองจากตำแหน่งใหญ่อื่นๆ หรือใช้เป็นตำแหน่งทายาทของ Marquess หรือ Earl อีกที เช่น ท่าน Robert Gascoyne-Cecil คือผู้ดำรงตำแหน่ง Marquess of Salisbury ในปัจจุบัน โดยที่เขาดำรงตำแหน่ง Earl of Salisbury เป็นตำแหน่งรองเองด้วยแล้ว ทายาทของเขาจะไม่สามารถใช้ Earl of Salisbury ซ้ำได้อีก ทายาทจึงดำรงตำแหน่ง Viscount Cranborne แทน
Baron
Baron เป็นบรรดาศักดิ์ต่ำสุดของระบบขุนนางในสหราชอาณาจักรค่ะ ยกเว้นแค่ในสก็อตแลนด์จะเรียกชั้นนี้ว่า Lord of Parliament แทน เพราะมีศักดิ์บารอนเดิมอยู่ก่อนแล้วซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ที่ต่ำกว่าบารอนของที่อื่น จึงไม่เรียกซ้ำกัน สำหรับผู้หญิงจะเป็น Baroness หรือ Lady of Parliament แทน การเรียกว่านายท่านหรือท่านหญิงจะใช้ว่า My Lord กับ My Lady
ส่วนการเขียนอย่างเป็นทางการ จะใช้กับทั้ง Baron และ Lord of Parliament ว่า The Rt Hon The Lord ... ส่วน Baroness ที่ได้ตำแหน่งเองโดยไม่ได้มาจากการแต่งงาน สามารถใช้ว่า The Rt Hon The Baroness ... ได้ แต่ถ้าได้ตำแหน่งจากการแต่งงานจะใช้ว่า The Rt Hon The Lady ... ส่วน Lady of Parliament ไม่ว่าจะตำแหน่งได้เองหรือได้จากการแต่งงาน จะใช้ว่า The Rt Hon The Lady ... เหมือนกัน
สำหรับการเขียนหรือเอ่ยนามแบบย่อโดยทั่วไปนั้น จะมีความต่างกันเล็กน้อยระหว่างผู้ที่ได้ตำแหน่งเอง กับผู้ที่เป็นทายาทของตำแหน่งที่สูงกว่าค่ะ สมมติว่าชื่อต้นและนามสกุลคือ John Smith ถ้าเป็นบารอนเองจะเขียนโดยย่อว่า John, Lord Smith แต่ถ้าเป็นลูกคนรองๆ ลงไปของ Duke, Marquess หรือ Earl จะเป็น Lord John Smith ค่ะ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะวางตำแหน่งในหลักการเดียวกัน แต่เปลี่ยนจาก Lord เป็น Lady หรือ Baroness แทน ส่วนถ้าเป็นการเขียนชื่อในบัตรประจำตัวต่างๆ หากเป็นตำแหน่งบารอนเองจะเขียนเป็น John Smith, Baron of ...
เชื้อพระวงศ์และขุนนางในสหราชอาณาจักรสามารถมีหลายฐานันดรศักดิ์ได้ในเวลาเดียวกันค่ะ ถ้าเรียกย่อๆ ก็จะใช้ฐานันดรศักดิ์ที่สูงที่สุดที่คนนั้นมีแค่อันเดียวค่ะ
เช่น พระนามพร้อมพระอิสริยยศและบรรดาศักดิ์ทั้งหมดของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ His Royal Highness The Prince Philip, Duke of Edinburgh, Earl of Merioneth, Baron Greenwich, Royal Knight of the Most Noble Order of the Garter, Extra Knight of the Most Ancient and Most Noble Order of the Thistle, Member of the Order of Merit, Grand Master and First and Principal Knight Grand Cross of the Most Excellent Order of the British Empire, Knight of the Order of Australia, Additional Member of the Order of New Zealand, Extra Companion of the Queen's Service Order, Royal Chief of the Order of Logohu, Extraordinary Companion of the Order of Canada, Extraordinary Commander of the Order of Military Merit, Canadian Forces Decoration, Lord of Her Majesty's Most Honourable Privy Council, Member of the Queen's Privy Council for Canada, Personal Aide-de-Camp to Her Majesty, Lord High Admiral of the United Kingdom
แต่จะเรียกกันโดยย่อเพียง Prince Philip, Duke of Edinburgh เท่านั้นค่ะ
และจะเห็นว่าเจ้าชายฟิลิปทรงดำรงพระอิสริยยศทั้งหมด 3 ขั้นจาก 5 ขั้น คือ Duke, Earl และ Baron ในเวลาเดียวกันอีกด้วย (ส่วนที่เหลือจะเป็นเหรียญตราต่างๆ ตำแหน่งอัศวิน และตำแหน่งผู้บัญชาการต่างๆ ที่ไม่ได้เป็น 1 ใน 5 บรรดาศักดิ์ขุนนาง)
จริงๆ มีรายละเอียดยิบย่อยอีกเยอะมากเกี่ยวกับฐานันดรศักดิ์ต่างๆ ค่ะ มีตำแหน่งที่ได้รับข้อยกเว้นอีกเยอะ และฐานันดรศักดิ์ของแต่ละประเทศก็อาจจะแตกต่างกันออกไปอีกด้วย แต่คราวนี้น้องๆ ก็น่าจะเห็นภาพรวมของลำดับศักดิ์และระดับของคำศัพท์ที่ต้องใช้ด้วยแล้วนะคะ คราวหน้าที่ดูซีรีส์พีเรียดของฝรั่งอีกจะได้เข้าใจได้มากขึ้นว่าตำแหน่งไหนใหญ่กว่าตำแหน่งไหนบ้างค่ะ
อ้างอิง
7 ความคิดเห็น
อั่ก//กระอักเลือดตาย
ว้าว น่าสนใจค่ะ
ข้อมูลดีเลยครับ
แต่ในส่วน Lord กับ Lady ผมขอแย้งว่าไม่ใช่สิทธิธรรมจากการเป็น The children of British Prince นะครับ แต่น่าจะมาจากการเป็นThe Children of Peer มากกว่า สำหรับบุตรที่ไม่ได้เป็นบุตรคนโต จะเป็น The Lord กับ The Lady กรณีที่เป็นคู่สมรสของ The Lord จะต้องใช้ว่า The Lady ..( ชื่อสามี ).. จะลงด้วยชื่อตนเองไม่ได้ ณ ที่นี้ จะเห็นได้ว่า British Prince แต่ละพระองค์มักได้รับ Title ที่ Duke อยู่แล้ว จึงสืบตระกูลลงมา ดังนั้นไม่นับเป็นพระอิสริยยศแต่อย่างใด ( Lord Nicolas Windsor เป็นพระบุตรลำดับที้ 3 ใน Prince Edward , Duke of kent และ Lord Nicolas ก็เป็น Member of Royal Family อยู่ )
เช่น Lord Randolph Churchill บุตรคนที่ 5 ใน 7th Duke of Marlborough ก็เป็น The Lord เช่นกัน แต่ไม่เป็นเชื้อพระวงศ์แต่อย่างใด
ขอแก้ตรง พะยะค่ะ เป็น พ่ะย่ะค่ะ นิดนึงได้ไหมคะ ^^
ก็ไม่เห็นจะผิดหนิคะลองสะกดและสังเกตเสียงแต่ละคำดู
ขอบคุณที่รวบรวมมานะคะ ~
ขอถามหน่ออยนะคะ พอดีอ่านมังงะอิ้งแล้วไปเจอคำนี้ may you reach evangelium แปลว่าอะไรหรอคะ