สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D พี่เชื่อว่าหลายคนคงกำลังเตรียมตัวสมัครสอบทุนรัฐบาล (ทุนก.พ.) กันอยู่แน่ๆ แต่น้องรู้ไหมว่า นอกจากทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง) ที่หลายคนรู้จักแล้ว ทาง ก.พ. ยังมีทุนอื่นที่ทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนกระทรวงการต่างประเทศ ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) น้องๆ คงสงสัยล่ะสิ ว่าทุนเหล่านี้เป็นยังไง? วันนี้พี่เลยชวนรุ่นพี่ที่ได้รับทุนจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุน ก.พ.) เมื่อปี 2559 มาบอกเล่าประสบการณ์และแนะนำการเตรียมตัวสอบ รับรองว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลที่จะทำให้น้องๆ มีแรงฮึดเตรียมตัวสอบทุนในปีนี้อย่างแน่นอน!
แนะนำตัวเล็กน้อย
สวัสดีครับ ชื่อ ‘ภู - ธฤต ตั้งกิจวนิชกุล’ อายุ 22 ปี ตอนนี้อยู่ปี 3 คณะธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม (Petroleum Geophysics) มหาวิทยาลัย The University of Texas at Austin ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ
ภูกับ Wellhead (หัวหลุมผลิตน้ำมัน) เก่าๆ ที่ The University of Texas at Austin
ผมได้ทุนรัฐบาลที่ร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ทุนปตท.) ปี 2559 ซึ่งตอน ม.6 ประมาณเดือนตุลาคม สำนักงานก.พ. ก็เปิดรับสมัครมีหลายทุนมาก ทั้งทุนคิง ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย หรือทุนจากหน่วยงานต่างๆ เขาให้เราเลือกได้ 2 ทุน ผมเลือกทุน ปตท. และเขาก็มี 2 สาขาให้เลือกอีกคือ ธรณีฟิสิกส์กับวิศวกรรมปิโตรเลียม ผมเลยเลือกสาขาธรณีฟิกส์ปิโตรเลียมเพราะผมชอบคณิตกับฟิสิกส์ และอยากทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล และทำงานพวก Offshore (ไกลจากฝั่ง) กลางทะเลอะไรแบบนี้ ผมเลยสมัครอันนี้ไปครับ
สิ่งที่ทุนให้ก็ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าเครื่องบิน ค่าเทอม ค่าประกัน ค่าใช้จ่ายรายเดือน ตลอดระยะเวลาการเรียนปริญญาตรี ซึ่งตัวเงื่อนไขของทุนก็คล้ายๆ กับทุนอื่นของรัฐบาลครับ คือหลังเรียนจบต้องกลับมาทำงานใช้ทุนตามจำนวนปีที่เรียน
รับแค่สาขาละ 1 คน!
ต้องเป๊ะทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์
รีวิวการสอบข้อเขียน
สำหรับปีผม ทุนปตท.รับสาขาละคนเท่านั้น โดยการสอบรอบแรกเป็นข้อเขียน 4 วิชาครับ คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ไทย+สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ
- คณิตศาสตร์: ในความคิดข้อสอบไม่ยากมากครับ สิ่งสำคัญคือต้องแสดงวิธีทำให้ครบ อย่าใช้สูตรลัดเหมือนที่โรงเรียนกวดวิชาสอน คำแนะนำคือ พยายามเขียนทุกขั้นตอนและอย่าลืมให้เหตุผลด้วย
- วิทยาศาสตร์: วิชานี้อ่านเยอะมากกกก เพราะรวม 3 วิชา (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) แต่เนื้อหาไม่ค่อยยาก เป็นพื้นฐาน เน้นแสดงวิธีทำมากกว่า
- ไทย+สังคมศึกษา: เป็นคำถามปลายเปิด สำหรับรอบผม หนึ่งในข้อสอบที่เจอมีให้อธิบายพรหมวิหาร 4 พร้อมวิธีการเอาไปใช้ ฟังดูเหมือนจะไม่ยาก แต่จริงๆ แล้ววิชานี้เป็นวิชาที่คนกลัวเยอะเพราะไม่รู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร
- ภาษาอังกฤษ: ถ้าจำไม่ผิดเป็นข้อสอบช้อยส์ ความยากประมาณ GAT เงื่อนไขคือต้องได้คะแนนมากกว่าค่าเฉลี่ย อันนี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่ผ่านทุกวิชาจะถือเป็นโมฆะเลย
จริงๆ แล้วเนื้อหาข้อสอบไม่ได้ต่างจากข้อสอบเข้ามหา’ลัยเท่าไหร่ สามารถอ่านควบคู่กันได้ เพียงแต่รูปแบบข้อสอบอาจต่างจากข้อสอบเข้ามหา’ลัยที่เป็นช้อยส์ วิธีการเตรียมตัวของผมคือ พยายามฝึกทำข้อสอบเยอะๆ อย่างผมก็ดาวน์โหลดข้อสอบที่ ก.พ. แจกในแต่ละปีมาฝึก อันนี้สำหรับผมคิดว่ามันคือขุมทรัพย์เลย เพราะการฝึกทำให้เราคุ้นชินกับรูปแบบข้อสอบและรู้แนวข้อสอบมากขึ้นครับ
รีวิวการสอบสัมภาษณ์
หลังจากผ่านการสอบข้อเขียนจะคัดเหลือ 10 คนเพื่อสอบสัมภาษณ์ในรอบที่สอง ซึ่งการสอบจะใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้อาวุโสในบริษัท ปตท.สผ. ทั้งหมด 3 ท่าน สำหรับผมคิดว่าการสอบรอบนี้สำคัญกว่ารอบข้อเขียน เพราะกรรมการจะคัดจากการพูด การแสดงความคิดเห็น ทัศนคติต่างๆ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น สัมภาษณ์กลุ่มและเดี่ยว
- สัมภาษณ์กลุ่ม: เขาจะให้ทุกคนที่สอบผ่านข้อเขียนนั่งเรียงกัน ตรงข้ามมีกรรมการทั้งหมด 3 คน กรรมการจะกำหนดหัวข้อให้อภิปรายร่วมกัน เช่น รอบผมได้เรื่อง “คุณคิดเห็นอย่างไรกับการเมืองและการพัฒนาประเทศ”
- สัมภาษณ์เดี่ยว: ถามทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมา เช่น อยู่โรงเรียนทำอะไร เพื่อนๆ มองเราเป็นคนยังไง มีจุดอ่อนแอของตัวเองมั้ย ทำไมถึงสมัครทุนนี้ ทำไมคุณสมควรได้รับทุน ถ้าไม่ได้ทุนจะเรียนอะไร นอกจากนี้มีคำถามเพื่อดูความตั้งใจด้วย เช่น พร้อมกลับมาใช้ทุนใช่มั้ย รู้เงื่อนไขทุนมั้ย แล้วก็มีคำถามเชิงกดดัน อย่างผมโดนถามเกี่ยวกับความเชื่อบางอย่าง (จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไร 5555) แล้วกรรมการก็ challenge คำตอบของเราไปเรื่อยๆ ส่วนตัวขอแนะนำว่าตอนสัมภาษณ์ให้พูดความจริง พูดสิ่งที่เราเชื่อและคิดจริงๆ เพราะถ้าเราพูดจริง เขาถามกลับมายังไงเราก็ตอบได้อย่างมีความมั่นใจ ไม่ลังเล
- สัมภาษณ์เดี่ยว: ถามทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมา เช่น อยู่โรงเรียนทำอะไร เพื่อนๆ มองเราเป็นคนยังไง มีจุดอ่อนแอของตัวเองมั้ย ทำไมถึงสมัครทุนนี้ ทำไมคุณสมควรได้รับทุน ถ้าไม่ได้ทุนจะเรียนอะไร นอกจากนี้มีคำถามเพื่อดูความตั้งใจด้วย เช่น พร้อมกลับมาใช้ทุนใช่มั้ย รู้เงื่อนไขทุนมั้ย แล้วก็มีคำถามเชิงกดดัน อย่างผมโดนถามเกี่ยวกับความเชื่อบางอย่าง (จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไร 5555) แล้วกรรมการก็ challenge คำตอบของเราไปเรื่อยๆ ส่วนตัวขอแนะนำว่าตอนสัมภาษณ์ให้พูดความจริง พูดสิ่งที่เราเชื่อและคิดจริงๆ เพราะถ้าเราพูดจริง เขาถามกลับมายังไงเราก็ตอบได้อย่างมีความมั่นใจ ไม่ลังเล
ปรับพื้นฐาน - ช่วงเวลาเอาชนะตัวเอง
ก่อนเข้าเรียนที่มหา’ลัย ทางทุนจะส่งเด็กทุนทั้งหมดไปเข้าค่ายด้วยกัน 3 เดือนที่ Brewster Academy เพื่อเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม หลังจากนั้นเราต้องสอบ TOEFL Paper-Based Test เพื่อวัดระดับภาษา ซึ่งทางทุนจะพิจารณาคะแนนเราและส่งไปเรียนปรับพื้นฐานที่ไฮสคูลอีก 1 ปี ตัวภูได้เรียนที่ The Hill School ที่ Pottstown ครับ
บรรยากาศโรงอาหารที่ The Hill School
พอได้มาเรียนก็พบว่าระบบม.ปลายที่อเมริกาต่างจากไทยมาก เขาไม่ได้เรียนตามตารางสอนที่โรงเรียนจัดเหมือนเรา เด็กสามารถเลือกเรียนได้เอง ตอนนั้นภูลงเรียนไป 5 วิชา มีคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์และตัวที่โรงเรียนบังคับคือ ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์อเมริกา โชคดีนะครับที่เขาบังคับให้เรียน 2 วิชานี้ เพราะนอกจากจะได้รู้จักประเทศเขาและได้ฝึกการอ่านเขียน ยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ว่าเด็กที่นี่เขามองสังคม การเมืองและเศรษฐกิจกันยังไง เพราะตอนอยู่ม.ปลายที่ไทย ผมเรียนสายวิทย์เลยสนใจอยู่แค่ไม่กี่อย่าง
รูปแบบการเรียนคณิต ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ ไม่ค่อยต่างจากที่ไทย เน้นให้อาจารย์เลกเชอร์ แต่อังกฤษกับประวัติศาสตร์จะต่างมากๆ ตั้งแต่โต๊ะเรียนที่เป็นวงกลม วิธีเรียนคือ ให้งานเด็กไปอ่าน อีกวันอาจารย์ก็จะมาเปิดประเด็นให้เด็กอภิปรายกันเอง อยากบอกว่าการบ้านเยอะมากกกกกกก เกือบ 80% เป็นการบ้าน แต่ข้อดีก็คือข้อสอบไม่ยากมาก เนื้อหาจะออกคล้ายๆ การบ้านที่ทำเลย
โต๊ะเรียนสำหรับอภิปราย
ช่วงแรกผมค่อนข้างมีปัญหากับระบบการเรียน ภาษาผมไม่แข็งแรง สำเนียงก็ไม่ดี ผมเลยอายที่จะแสดงความคิดเห็นในคลาส ผมพูดน้อยมากกกก แล้วบางทีพูดไปคนทำหน้างง ไม่ก็ถามว่า What? Can you say that again? ผมก็ยิ่งเสียความมั่นใจ แต่ด้วยความที่อยากทำเกรดให้ดูดี เพื่อยื่นมหาวิทยาลัย เพื่อเอามาทดแทนเกรดที่ไทยที่แค่พอใช้ได้ ผมเลยฮึดสู้ และบังคับตัวเองให้กล้าพูดในห้อง ทำเต็มที่เท่าที่ตัวเองทำไหว ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเพื่อน
ผมเริ่มฝึกจากการพูดคนเดียว คิดอะไรก็พูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แล้วผมก็ไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่โรงเรียนด้วย อาจารย์เขาก็แนะนำว่าผมควรพูดให้ดังขึ้น เปลี่ยนวิธีจาก 'พูดจากลำคอ' เป็น 'พูดจากท้อง' เพราะเขาบอกว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้เสียงจากลำคอเหมือนภาษาไทย ถ้าออกเสียงถูกเพื่อนก็จะเข้าใจมากขึ้น และอาจารย์เขาก็คอยช่วยแก้คำที่ผมพูดผิดให้ด้วยครับ
คลาสฟิสิกส์
มหา’ลัยที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้เต็มที่
เมื่อปรับพื้นฐานเสร็จก็เป็นช่วงสมัครมหา’ลัย ซึ่งทางปตท.จะมีลิสต์มหา’ลัยมาให้ครับ ผมสามารถเลือกสมัครได้ 6 แห่ง ตอนนั้นในใจเล็งไว้ 3 มหาวิทยาลัย คือ 1. Stanford University 2. The University of Texas at Austin 3. Colorado School of Mines ส่วนคณะไม่สามารถเลือกได้ ต้องเรียนตามสาขาที่เลือกตอนสมัครทุน (ของผมคือ ธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม) และหลังจากสมัครไป ผมก็ได้รับการตอบรับจากมหา'ลัย 2 ที่ครับ (ไม่ได้รับการตอบรับจาก Stanford)
สุดท้ายผมเลือก The University of Texas at Austin เพราะว่า Texas เป็นว่าเป็นรัฐที่มีแหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดในประเทศอเมริกา และก็มีผู้เชี่ยวชาญบริษัทด้านนี้เยอะ ผมมองว่าเป็นโอกาสดีและเหมาะกับคณะผมมากกว่า อีกอย่างหลักสูตรที่ The University of Texas at Austin ค่อนข้างหลากหลายกว่า มีวิชามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ให้เลือกเรียนมากกว่า ซึ่งจะต่างกับ Colorado School of Mines ที่เน้นวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์สุดๆ
The University of Texas at Austin
cr. www.utexas.edu
การเรียนที่ The University of Texas at Austin เป็นหลักสูตร 4 ปี โดย ปี 1-2 จะได้เรียนวิชาบังคับของมหา’ลัยและคณะ ย้อนไปตอนนั้นผมเรียน ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา โดยสไตล์การเรียนก็เป็นเลกเชอร์ ซึ่งจะเรียนที่หอประชุมเพราะนักศึกษาเยอะ ตอนนั้นก็งงๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่ก็สนุกดีนะครับ ได้เปิดโลกดี อีกอย่างตอนอยู่ปี 1 พลังยังเยอะเลยผ่านมาได้ ฮ่าๆ ส่วนวิชาคณะ คลาสจะเล็กกว่ามาก เพราะคณะผมมีแค่ประมาณ 10 คนเอง เวลาเรียนก็เจอคนเดิมๆ ทั้งอาจารย์และเพื่อน บรรยากาศจึงค่อนข้างสบาย สามารถยกมือถามตอบ คุยกันได้ เพราะรู้จักกันทุกคน
ตอนนี้ผมกำลังจะขึ้นปี 3 ผมแฮปปี้มาก เพราะเลือกเรียนตามความชอบตัวเองได้แล้ว แต่ละคนก็สามารถเลือกว่าอยากเรียนเฉพาะทางด้านไหน เช่น ปิโตรเลียม, ก่อสร้าง, สิ่งแวดล้อม อย่างผมก็จะเน้นทางด้านปิโตรเลียมและวิศวกรรมครับ แต่ถ้าอยากเรียนที่ advance มากขึ้น ก็สามารถขอเข้าไปเรียนคลาสของป.โท ป.เอกได้ด้วยนะ เพราะที่นี่เขาไม่มีการปิดกั้นเลย ถ้าใครสนใจเรียนก็แค่อีเมลไปบอกอาจารย์ได้เลยครับ
ศึกษางานแท่นขุดเจาะสำหรับทดสอบอุปกรณ์ที่บริษัทน้ำมัน เมือง Houston กับมหา’ลัย
ผู้ช่วยอาจารย์ทำวิจัย & ประสบการณ์เก็บข้อมูลที่ทะเล!
นอกจากเลือกเรียนได้ตามชอบ คนที่อยากปฏิบัติงานจริงยังสามารถช่วยอาจารย์ทำวิจัยได้ด้วย! ตัวผมได้ไปช่วยอาจารย์มา 2 งานครับ งานแรกเรียกว่า Seismic Data Progressing เป็นการถ่ายภาพใต้ดิน ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับแพทย์ที่มีฟิล์ม X-ray ซึ่งนักธรณีฟิสิกส์เองก็มีฟิล์ม X-ray ของใต้พื้นดินเหมือนกัน จะเรียกว่า Seismic data ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้เรารู้ว่าควรเจาะน้ำมันตรงไหน ใช้คาดการณ์คุณสมบัติของแหล่งน้ำมัน เพื่อส่งต่อไปให้วิศวกรทำการขุดเจาะต่อไป ส่วนอีกงานที่ทำอยู่ช่วงนี้คือ Rock Mechanic คือการศึกษาคุณสมบัติด้านกลศาสตร์ของหินบริเวณแหล่งน้ำมันเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการผลิตหรือขุดเจาะครับ
ภูนั่งประมวลผล Seismic Data ในจอคือภาพ “X-ray” ของใต้โลกนั่นเอง
นอกจากนี้คณะยังมีศูนย์วิจัย 2 แห่งที่ใหญ่มากถึงขนาดต้องไปตั้งนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าร่วมทำ Project ได้ ผมเองได้ไปอ่าวเม็กซิโก แหล่งผลิตน้ำมันที่เมื่อสองปีก่อนได้ประสบภัยจากเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ ผมได้อยู่ที่นั่น 2-3 อาทิตย์เพื่อศึกษาชั้นดิน ชั้นหินว่าสภาพหลังภัยพิบัติเป็นยังไง ผมได้ลองติดตั้งเครื่องมือ เก็บตัวอย่างชั้นหินและคลื่น Seismic มาตีความข้อมูล แต่ไม่ได้อยู่กลางทะเลตลอดเวลานะครับ ยังต้องเดินทางไปกลับ เพราะผมยังไม่มีประสบการณ์มากพอ
จริงๆ ผมคิดว่าตัวเองแข็งแรงนะ แต่วันแรกคือ เมาเรือ อ้วกไปทำงานไป แบบข้างๆ ตัวต้องเตรียมถังขยะรอไว้เลยครับ (หัวเราะ) แต่มันก็สนุกมากกก ได้ทำอะไรลุยๆ และได้รู้ว่าสิ่งที่เรียนมามันมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ คือของจริงซับซ้อนกว่ามาก วิธีการที่เราจะเอามาใช้ มันไม่ได้ตรงตามสูตรหรือทฤษฎีที่เรียนมาเป๊ะๆ ครับ
ออกทะเลที่อ่าวเม็กซิโกเพื่อเก็บตัวอย่างชั้นหิน และ คลื่น Seismic
อีกเรื่องที่ฮาคือ อาจารย์เขาซื้อเครื่อง AutoLab 1500 มาแล้วให้ผมไปศึกษาวิธีการใช้แล้วให้ไปสอนเขา (อาจารย์เขายุ่งไม่มีเวลา) ผมอึ้งมากเพราะเครื่องนี้ราคาประมาณ 15 ล้านบาท!!!! หน้าที่ของมันคือ จำลองความดันใต้พื้นดินที่แหล่งน้ำมันอยู่ ซึ่งความตลกคือ เวลาจะกดใช้ทีผมคิดหนักมากว่า 1.จะทำมันพังไหม 2.จะระเบิดไหม คือไม่อยากกดเลย เพราะถ้าพังก็ไม่มีเงินจ่ายและถ้าระเบิดก็ไม่อยากตาย 555555
ด้านหลังคือเครื่อง AutoLab 1500 แสนแพง
แข่งวิ่งและพายเรือ!
นอกจากเรียนอย่างหนักหน่วง ผมยังทำกิจกรรมด้วยครับ อย่างตอนปรับพื้นฐานที่ high school ผมเล่นกีฬาเยอะมาก ได้เป็นสมาชิกทีมวิ่ง ซ้อมหนักมากกกกกก คือวันธรรมดาเรียนเสร็จบ่าย 3 ก็ซ้อม เสาร์อาทิตย์ก็แข่ง แล้วก็มีวิ่งทางไกล (Cross Country) ด้วย พอเทอมสุดท้ายผมได้ลองเปลี่ยนไปพายเรือ ซึ่งอันนี้ผมไม่เคยเล่นมาก่อนเลย ด้วยความที่ผมตัวเล็กและไม่มีประสบการณ์ โค้ชเลยจับผมไปอยู่ทีมน้องๆ ม.3-4 ครับ (ฮา)
ต้องบอกว่าที่นี่เอาจริงเอาจังกับกีฬามาก โค้ชเคยให้ซ้อมพายเรือ 2 กม. แล้วสั่งให้ไปวิ่งต่ออีก 4 กม. ขาผมเป็นตะคริวตอนวิ่งจนลงไปนอนกองข้างถนน โชคดีได้น้องๆ ในทีมช่วยกันนวด ประคองกันไป สนุกมากๆ น้องๆ สปิริตสูง บอกให้เราสู้ตลอด
ภาพหลังแข่งฮาล์ฟมาราธอน (21 กม.) ครั้งแรกในชีวิต
ภาพภูกับน้องๆ ม.3-4 ตอนแข่งพายเรือระยะ 2 กิโลเมตร
cr. www.row2k.com
เด็กไทยเก่งเลข & ฟิสิกส์!
สังคมที่นั่นค่อนข้างเป็น individualistic (ปัจเจกนิยม) คือ ไม่มีการคาดหวังว่าเราต้องอยู่เป็นกลุ่ม ต้องมีเพื่อน เขาใช้ชีวิตใครชีวิตมัน ไม่มีการรับน้อง ข้อดีก็คือเขาไม่ค่อยมีความกดดันทางสังคมแบบคนเอเชีย เขาไม่ตัดสินเวลาเห็นคนอยู่คนเดียวว่าเป็นคนไม่มีเพื่อน และเขาก็ไม่มามองว่าเด็กเรียนเป็นเด็กเนิร์ด เขาจะมองประมาณว่าทุกคนมีความสุขในแบบของตนเองครับ
ส่วนตัวผมตอนเรียนปรับพื้นฐานมีคนไทยร่วมโรงเรียนแค่คนเดียว นอกนั้นเป็นต่างชาติหมด แต่ก็ไม่ได้ถูกเหยียดนะครับ ผมได้เพื่อนจากการติวเลขและฟิสิกส์ให้เพื่อน ด้วยความที่เราจบ ม.6 มาแล้ว เนื้อหาพวกนี้เราเคยเรียนมาก่อน เพื่อนเลยคิดว่าเราเก่งมากๆ ถึงขนาดที่เขาชมเหมารวมเลยว่า ทำไมเด็กไทยเก่งขนาดนี้ (หัวเราะ)
ภูและเพื่อนๆ ที่ The Hill School
พอเข้ามหา’ลัย มีรุ่นพี่ ทั้ง ป.ตรี-โท-เอก คนไทยเยอะเลยครับ ประมาณ 10 คนได้ พี่เขาคอยให้คำปรึกษา ผมเลยสนิทกับพี่ๆ คนไทยนี่แหละครับ นอกนั้นก็มีเพื่อนสนิทเป็นเด็กมาเลเซียคนนึงที่เป็นเด็กทุนจากบริษัทน้ำมันของมาเลเซีย แต่โดยรวมแล้วผมก็สนิทกับคนไทยมากกว่าเพื่อนๆ ต่างชาติครับ เพราะผมรู้สึกว่าเรายังมีความต่างทางวัฒนธรรมอยู่
ภูและพี่ๆ ชาวไทยที่มหา’ลัย
พูดถึงวัฒนธรรม ผมไม่มี Culture shock ใหญ่ๆ นะครับ ผมปรับตัวเรื่อยๆ ก็เลยโอเค แต่ถ้าถามว่ามีเรื่องที่ไม่ชินมั้ย ก็ต้องตอบว่า มีครับ ผมไม่ชินเรื่องเงิน เพราะเมื่อก่อนตอนอยู่ไทยกินข้าวแค่จานละ 35 บาท แต่ทุกวันนี้คือจานละ 200 บาท โค้ก 70 บาทงี้ เวลาคูณเงินกลับเป็นเงินไทยทีไรตกใจทุกทีครับ ผมเลยทำอาหารใส่กล่องไปทานที่มหา’ลัย ทำทีนึงก็เผื่อไว้สำหรับทั้งอาทิตย์ ใส่แบ่งๆ ประมาณ 10 กล่องครับ
ตัวอย่างข้าวกล่องที่ภูทำในแต่ละอาทิตย์
เป้าหมายคือเรียนต่อ
เป้าหมายของผมในตอนนี้คือ อยากได้เกรดดี อยากทำวิจัยเยอะๆ เพราะหลังจากทำงานสักพักผมอยากกลับมาเรียนต่อด้านเดิมที่อเมริกาเพื่อศึกษางาน ผมคิดว่าถ้าผมเก็บประสบการณ์ตั้งแต่ตอนนี้ ตอนสมัครเรียนในอนาคตผมจะไม่เหนื่อยมาก ผมอยากเป็นคนเลือกมหา’ลัยแทนที่จะให้มหา’ลัยเลือกเรา ส่วนชีวิตระยะยาว ผมคิดว่าจะกลับไปไทยเพราะอยู่ไทยสังคมแฮปปี้กว่าครับ
ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากสมัครทุนนี้หน่อยจ้า
ผมอยากแนะนำว่า อย่าคิดว่าการสอบชิงทุนเป็นภาระ ทำให้ไขว้เขวจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะจริงๆ แล้วแนวข้อสอบใกล้เคียงกัน แค่ข้อสอบทุนอาจจะยากกว่าซึ่งเป็นผลดี ถ้าให้เปรียบก็เหมือนการวิ่ง ก่อนเราจะลงแข่งมาราธอนสักครั้ง เราก็ต้องฝึกเกินระยะทางที่เราจะแข่งจริง เช่น แข่ง 10 กม. ก็อาจซ้อม 15 กม. ทำแบบนี้ตัวเราก็สบายขึ้น พร้อมสอบมากขึ้นไม่ว่าจะสนามไหน เพราะเราได้ฝึกที่ยากกว่ามาแล้ว ขอให้สู้เพราะพอโอกาสที่ได้รับ มันเยี่ยมมากจริงๆ
ภูตอนออกสำรวจ
โอ้โหหห พี่ภูสุดยอดไปเลยใช่มั้ยคะน้องๆ ได้ทำอะไรน่าตื่นเต้นเยอะมากเลย พี่เชื่อว่าชาว Dek-D ต้องมีคนอยากเดินตามรอยพี่ภูแน่ๆ เลย ดังนั้น.. ถ้ามีโอกาสก็อย่าลังเล ลองสมัครทุนดูนะคะ ประสบการณ์สนุกๆ รออยู่เพียบเลย ห้ามพลาดเลยนะ ตอนนี้ยังเตรียมเอกสารทันอยู่~ :)
0 ความคิดเห็น