เก็บ 3 เทคนิคจาก TED Talks : เรียนภาษายังไงให้ใช้ได้เหมือนเจ้าของภาษามาเอง!

       สวัสดีค่ะชาว Dek-D เคยจินตนาการมั้ยคะว่าถ้าเราสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ราวกับเจ้าของภาษาเลยจะเป็นยังไงบ้าง คงจะเท่ไม่ใช่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ ^^  วันนี้พี่ไอซ์เลยอยากจะมาแชร์ 3 เทคนิค เรียนภาษาอย่างไรให้เหมือนกับเจ้าของภาษา ซึ่งคุณ “Marc Green” ได้แนะนำไว้ใน TED Talk เมื่อปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ

     เนื่องจากคุณ Marc Green กล่าวว่าเราไม่ได้มีการแบ่งระดับภาษาที่เป็นสากล เขาจึงได้แบ่งภาษาออกเป็น 4 ระดับใหญ่ๆ นั่นก็คือ


 

   1. ระดับพื้นฐาน (Basic level) ระดับที่เรารู้คำศัพท์และแกรมมาร์พื้นฐาน และสามารถสร้างบทสนทนาง่ายๆ ได้นั่นเองค่ะ

   2. ระดับกลาง (Fluency) ระดับที่เราสามารถใช้ภาษานี้เพื่อคิดหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมั่นใจ พูดง่ายๆ คือกลายเป็นจิตใต้สำนึกของเราไปแล้ว และแม้ว่าจะห่างหายไปเป็น 10 ปีหรือมากกว่านั้น ก็จะใช้เวลาปัดฝุ่นไม่นาน และกลับมาใช้คล่องแคล่วเหมือนเดิมค่ะ

   3. ระดับสูง (Master level) ระดับที่เรามีความรู้เชิงลึกในสาขาเฉพาะทาง หรืออ่านวรรณกรรมคลาสสิกภาษานั้นๆ ได้

   4. ระดับเจ้าของภาษา (Native speaker) ระดับที่เราสามารถใช้และพูดภาษาได้ราวกับเจ้าของภาษา

     นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า การจะฝึกฝนจากระดับพื้นฐานไประดับกลาง “ไม่มีทางลัด” เราต้องขยันทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ และแม้ขั้นนี้จะยากแล้ว แต่การฝึกจากระดับกลางไปสูงยิ่งยาก ต้องอาศัยความขยันและความพยายามมากขึ้นไปอีก

     อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการพัฒนาไปถึงระดับเจ้าของภาษา เราสามารถกระโดดจากระดับกลางมาได้เลยโดยไม่ต้องผ่านระดับสูง เนื่องจากระดับสูงจะเป็นทักษะเชิงวิชาการ ซึ่งเจ้าของภาษาบางคนก็อาจไม่ได้มีความรู้เชิงลึกเฉพาะทางเช่นกันค่ะ

     เดี๋ยวเรามาดูกันต่อค่ะว่า 3 เทคนิคที่ช่วยให้เรียนภาษาแล้วใช้งานได้ราวกับเป็นเจ้าของภาษานั้นมีอะไรบ้าง!


   1. แก้ไขการออกเสียง (Pronunciation)



     เราจำเป็นต้องลดสำเนียงดั้งเดิมของเราให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเขาแนะนำว่าให้เราหาหนังสือของภาษานั้นๆ มาสักเล่ม สุ่มหน้าไหนมาก็ได้ แล้วอ่านประโยคแรกของหน้านั้นให้เจ้าของภาษาฟัง 3 รอบ 

   - รอบที่ 1 อ่านด้วยสำเนียงของเราแบบชัดเจน 
   - รอบที่ 2 พยายามลดสำเนียงของเราลง
   - รอบที่ 3 พยายามอ่านให้ไม่มีสำเนียงของเราเหลืออยู่เลย 

     หลังจากนั้นก็ให้เขาอ่านประโยคนั้นให้เราฟังว่าจริงๆ แล้วสำเนียงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และให้เราพูดตาม ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนกว่าเจ้าของภาษาจะบอกว่าเขาไม่ได้ยินสำเนียงดั้งเดิมของเราแล้วค่ะ 

     น้องๆ อาจจะคิดว่ามันคงจะต้องใช้เวลานานมากแน่ๆ กว่าจะพูดสักประโยคให้ถูกต้อง แต่พี่รับประกันเลยว่าถ้าเราอดทนและทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ น้องๆ จะต้องประหลาดใจกับสำเนียงที่เปลี่ยนไปของตัวเองอย่างแน่นอนค่ะ


   2. เรียนรู้ภาษาพูด (Colloquial Speech)



     อย่างที่เรารู้กันว่าภาษาพูดนั้นต่างกับภาษาเขียน และคำศัพท์ที่ใช้พูดก็อาจแตกต่างในแต่ละพื้นที่ เช่น ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า ‘le travail’ = งานของฉัน แต่เมื่อคนฝรั่งเศสพูดกับเพื่อนของเขา เขาอาจจะใช้คำว่า ‘mon boulot’ แทน หรืออย่างในภาษาอังกฤษ หากเป็นอเมริกาอาจใช้คำว่า ‘stand in line (ต่อแถว)’ ในขณะที่สหราชอาณาจักรอาจใช้คำว่า ‘stand in queue (ต่อคิว)’

     ดังนั้นถ้าเราต้องการพัฒนาไปถึงระดับเจ้าของภาษา เราก็จำเป็นต้องใช้คำกริยาหรือคำแสดงอาการต่างๆ ที่คนท้องถิ่นพูดกัน โดยอาศัยการสังเกตเวลาเจ้าของภาษาใช้ตอนสนทนากันนั่นเองค่ะ


   3. Cultural Traits



     การพยายามนำลักษณะทางวัฒนธรรม (Cultural Traits) มาใช้ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้เราดูเหมือนเจ้าของภาษาค่ะ น้องๆ อาจยังไม่เห็นภาพว่าคำนี้หมายถึงอะไร ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเราหัวกระแทกตู้ เรามักจะร้องว่า ‘โอ๊ย’ ใช่มั้ยล่ะคะ แต่รู้หรือไม่ว่าคนแต่ละชาติจะมีลักษณะการตอบสนองแตกต่างกันออกไป เช่น ชาวอเมริกาอุทานว่า ‘ouch’ (เอ้าช์) ส่วนชาวเยอรมันก็ ‘Ow-ah’ (เอ้าหว่า) ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสอาจอุทานว่า ‘Ay (อัย)’ 

     หรืออย่างในสถานการณ์ที่คนแต่ละชาติตอบ “ตกลง” ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่างกัน เช่น ชาวอเมริกันตอบ ‘uh-huh (อ่าห้ะ)’ คนเยอรมันอาจจะตอบว่า ‘Mm-hmm (อืมหื้ม)’ ส่วนคนฝรั่งเศสก็อาจจะตอบว่า ‘Hmm (อืมม)’

     สิ่งเหล่านี้ที่พี่ยกตัวอย่างก็คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั่นเองค่ะ ดังนั้นถ้าจะสังเกตและเลียนแบบก็ถือว่าค่อนข้างยาก ต้องพยายามซึมซับเรื่อยๆ จนเป็นส่วนหนึ่งของเราให้ได้

     เราจะเห็นว่าทั้ง 3 เทคนิคต้องเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของภาษาทั้งสิ้น ดังนั้นคุณ Marc Green จึงแนะนำว่าถ้ามีโอกาสไปอาศัยที่ต่างประเทศสักระยะเวลานึงก็จะเป็นประโยชน์มากๆ หรืออย่างน้อย การได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นเจ้าของภาษาก็ช่วยพัฒนาได้ดีเหมือนกัน 

     แต่หากเราไม่มีโอกาสเข้าหาเจ้าของภาษาจริงๆ เขาก็ยังไม่อยากให้ถอดใจและหยุดเรียนรู้นะคะ เพราะยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากที่ช่วยฝึกฝนได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูรายการทีวีหรือภาพยนตร์ การเลียนแบบตัวละคร หรือการจดสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเอาไว้ และสำหรับวิธีที่ดีที่สุดที่เขาแนะนำ คือการเรียนรู้ผ่านการฟังเพลง เพราะเพลงจะช่วยเรื่องการออกเสียง ทั้งฝึกได้ตลอดเวลา แล้วยังเรียนรู้ศัพท์ที่เจ้าของภาษาใช้ผ่านเนื้อเพลงได้อีกด้วยนะคะ 
 
       

       เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? พี่เชื่อว่าเทคนิคทั้ง 3 เทคนิคคงไม่ยากเกินความสามารถของน้องๆ ใช่มั้ยล่ะคะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้ค่ะ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถใช้ภาษานั้นๆ ได้ราวกับเจ้าของภาษาอย่างแน่นอนค่ะ สู้ๆ > <
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น