‘SAD’ อยู่หรือเปล่า? เมื่อท้องฟ้าอึมครึม อาจทำให้เป็น ‘โรคซึมเศร้าจากอากาศ’

              สวัสดีค่ะชาว Dek-D เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบหนีหนาวมาหาแดดที่ประเทศไทย” ฟังแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเค้าประทับใจอะไรกับแดดแรงๆ ที่บ้านเรา หรือในประเทศเมืองร้อนอื่นๆ กันนะ แต่วันก่อนพี่ไปเจอบทความหนึ่งที่เค้าช่วยไขข้อข้องใจว่า ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายของคนเราได้ค่ะ (คนที่อยู่ต่างประเทศเป็นกันบ่อย) ยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าหน้าหนาวที่ช่วงเวลากลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนานขึ้น ผู้คนในประเทศแถบหนาวราวๆ 2-8% จะมีอาการซึมเศร้า ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา จิตตก และนอนนานกว่าปกติ 
 
              ส่วนในไทยของเราก็มีคนประสบปัญหานี้ไม่น้อย (แม้จะไม่ได้ค่อยสัมผัสอากาศหนาวก็ตาม) แต่น้องๆ รู้มั้ยคะว่าสภาพอากาศครึ้มฟ้ามัวฝนนั้นก็ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้    ยิ่งช่วงนี้ฝนตกบ่อยๆ ก็มีหลายคนที่อาจตกอยู่ในภาวะนี้เช่นกัน ดังนั้น วันนี้พี่เลยอยากพาน้องๆ มาทำความรู้จักภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) นั่นเองค่ะ พร้อมชวนมาเช็กตัวเองกันด้วยว่าเราเข้าข่ายอยู่ในภาวะนี้หรือเปล่า? แล้วถ้าหากเป็นเราต้องรับมืออย่างไรบ้าง? พร้อมแล้วตามไปดูกันเลยค่ะ ^^
 

 Photo   Credithttps://pixabay.com 
 
ทำความรู้จัก Seasonal Affective Disorder (SAD)  
 
              Seasonal Affective Disorder (SAD) คือ รูปแบบหนึ่งของภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล อาการป่วยนี้มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี อย่างที่พี่ได้บอกไปในตอนต้นว่าส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนที่อาศัยอยู่ในแถบประเทศที่หนาวเย็น ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดก็คือ มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกหดหู่ ไม่มีเรี่ยวแรง อยากนอนอยู่แต่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งภาวะ SAD นี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลให้การเรียน การงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมีปัญหาด้วย 
 
อากาศหนาวจัดทำให้เกิดภาวะ SAD ได้อย่างไร?
 
              แม้ทางการแพทย์ยังไม่มีผลการศึกษาแน่ชัดที่บ่งชึ้ถึงสาเหตุแท้จริงของภาวะความผิดปกติทางอารมณ์อันเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจัยหลักๆ คาดว่ามาจากนาฬิกาชีวิตในตัวเราหรือที่เรียกว่า Biological clock/Circadian rhythm  ทำงานผิดปกติจากเดิม เพราะถูกรบกวนจากช่วงเวลากลางวันที่สั้นลง จนนำไปสู่การเกิดภาวะ SAD นั่นเองค่ะ 
 


Photo   Credit:https://pixabay.com 
 
              นอกจากนี้สารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “เซโรโทนิน” จะลดลงในช่วงฤดูหนาว (รวมถึงในวันที่มีแสงแดดน้อย) ซึ่งสารที่ว่านี้ถือเป็นตัวการหลักในการควบคุมสภาพอารมณ์ของเรา ยิ่งถ้าหากลดลงไปมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมาได้นั่นเอง ไม่เพียงเท่านี้นะคะ เพราะฤดูที่เปลี่ยนแปลงยังทำให้ร่างกายหลั่งสาร “เมลาโทนิน” มากผิดปกติด้วย โดยสารนี้เป็นตัวควบคุมการระบบการหลับ/ตื่นของเรา เมื่อมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นก็อาจทำให้รูปแบบการนอนรวนเรและอารมณ์แปรปรวนได้ค่ะ 
 
Note: คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นก็มีสิทธิ์เป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้  ภาวะนี้เรียกว่า “summer depression” เป็นอาการหดหู่เศร้าซึมอันเกิดจากความชื้นและอากาศร้อนจัด  
 
ภาวะ SAD เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง แล้วเราเข้าข่ายหรือไม่?
 
              หลายคนอาจคิดว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย แต่น้องๆ ทราบไหมว่ามีทฤษฎีหนึ่งพบว่าภาวะ SAD นั้นจะเกิดกับเพศหญิงมากกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมักต้องทรมานจากอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแบบพวกเราก็มีโอกาสเป็นเหมือนกันนะคะ:(  ว่าแล้วลองมาเช็กอาการเบื้องต้นกันหน่อยว่า เรานั้นเข้าข่ายเป็น SAD หรือเปล่านะ? 
 

Photo   Credit:https://pixabay.com 
 
  • เกิดความรู้สึกหดหู่ สิ้นหวังเกือบทุกวัน
  • หมดความสนใจในสิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข
  • อ่อนเพลีย หมดพลัง ไร้เรี่ยวเเรง
  • มีปัญหาเรื่องการนอน โดยจะนอนนานกว่าปกติ
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง อยากอาหารหวานๆ มากกว่าเดิม
  • เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง หรือกระวนกระวายใจอยู่เสมอ
  • ขาดสมาธิ จิตใจไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำ
  • รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก คิดว่าตัวเองไม่มีค่า
  • มีความคิดวนเวียนถึงเรื่องความตาย หรือการฆ่าตัวตาย
     
              นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยจากอาการ SAD หรือโรคซึมเศร้าก็มีความเสี่ยงสูงเข้าข่ายเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งหากใครเป็นโรคไบโพลาร์อยู่แล้วก็อาจส่งผลให้อาการย่ำแย่ลงไปอีก ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมืองหนาว หรือพื้นที่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร ที่แทบไม่ได้เห็นแสงอาทิตย์ก็มีแนวโน้มเป็น SAD ได้มากกว่าเช่นกันค่ะ (เพื่อนพี่ที่เรียนอยู่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็คอนเฟิร์มเลยว่ามีอาการแบบนี้บ่อยมากกก)
 

Clip


 
              อย่างที่พี่ได้บอกไปว่าภาวะ SAD นี้ ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะคนในเมืองหนาวเท่านั้น สำหรับพื้นที่อากาศชื้น ครึ้มฟ้ามัวฝนอยู่บ่อยๆ ก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดจากอากาศได้เช่นกัน ยกตัวอย่างคุณ เจ๋อเจ๋อ Jer Jer ยูทูบเบอร์ชื่อดังชาวไต้หวันก็เล่าว่า เหตุผลที่ตัวเองเลือกย้ายมาอยู่ประเทศไทยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องของอากาศนั่นเอง โดยคุณเจ๋อเจ๋อได้บอกว่า สภาพอากาศที่ประเทศนั้นไม่ทำให้เค้ารู้สึกซึมเศร้า เบื่อหน่ายเท่ากับตอนอยู่ไต้หวัน แถมยังเล่าอีกว่าตอนอยู่ไทเปมีหลายครั้งที่ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์เลยตลอดทั้งเดือน ไม่มีแม้แต่แสงแดดยามเช้ามาทักทายให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใส มีเพียงเมฆทะมึนสลับกับสายฝนที่สร้างบรรยากาศเทาๆ ให้เหงากว่าเดิม อีกทั้งคนไต้หวันชอบใส่เสื้อผ้าโทนดำที่ยิ่งทำให้รู้สึกเศร้าซึมขึ้นไปอีก ด้วยความที่รู้สึกไม่แฮปปี้ เจ๋อเลยไปปรึกษาแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่  จนกระทั่งช่วงพายุฝนผ่านพ้นไป อากาศกลับมาแจ่มใสอีกครั้ง เจ๋อเลยค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น นั่นทำให้เค้าพบว่าสภาพอากาศมีผลทำให้จิตใจหดหู่ และพอย้ายมาอยู่เมืองไทยอาการเหล่านั้นก็หายเป็นปลิดทิ้งเลยค่ะ (อันนี้คือเข้าใจเหตุผลเลย เพราะว่าที่ไต้หวันฝนตกบ่อยมากจริงๆ จนถึงกับมีประโยคที่บอกว่า ถ้าไปไต้หวันแล้วไม่เจอฝนเท่ากับไปไม่ถึง ฮือออ)
 

Photo   Credit:https://pixabay.com
 
ถ้าเป็นแล้ว ต้องรักษา SAD ยังไงบ้าง?
 
             สำหรับแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (SAD) หลักๆ แล้วมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน มาดูกันต่อเลยว่ามีวิธีไหนบ้าง


Photo   Credit:https://media.istockphoto.com 
 
  1.  การบำบัดด้วยแสง (light therapy) วิธีนี้เป็นวิธีที่หลายคนบอกว่าเวิร์กที่สุดเลยค่ะ ซึ่งเป็นการให้ผู้ป่วยเข้าฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์ โดยควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ครั้งละประมาณ 30 นาที - 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน เพื่อปรับสมดุลเคมีในสมอง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ถึง 80% เลยทีเดียว ทั้งนี้ การบำบัดด้วยแสงอาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ตาล้า คลื่นไส้ เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น สำหรับผู้ที่ซื้อกล่องฉายแสง (Light Boxes) มารักษาเองที่บ้านควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นควรเลือกซื้อกล่องแสงที่มีขนาดใหญ่เพียงพอและหลีกเลี่ยงการจ้องไปที่แสงโดยตรง (จิตแพทย์บางท่านก็แนะนำว่าให้เปิดโคมไฟในห้องนอนก็ได้เช่นกันค่ะ)
     
  2. การรับประทานยา  ผู้ป่วยบางรายต้องต่อสู้กับภาวะ SAD ที่รุนแรง ดังนั้นการทานยาร่วมกับการรักษารูปแบบอื่นจึงช่วยปรับสภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หลักๆ แล้ว ตัวยาที่ทานจะเป็นยาช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง รวมถึงยารักษาโรคซึมเศร้าอย่าง Paxil, Prozac และ Zoloft ก็สามารถรักษาและบรรเทาอาการอย่างได้ผลเช่นกัน ที่สำคัญคือควรรับประทานยาดังกล่าวตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจัดให้ค่ะ
     
  3. การรักษาด้วยจิตบำบัด เป็นการพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะ SAD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสภาวะอารมณ์และรับมือกับอาการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
     
              นอกจากแนวทางข้างต้นแล้ว การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง  ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หันมาทานผักผลไม้มากขึ้นก็สามารถช่วยลดอาการจิตตกหดหู่ได้ ทั้งนี้ หากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวป่วยจากภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล เราควรใช้เวลาร่วมกับอีกฝ่ายให้มากๆ (แม้ว่าเขาจะอยากอยู่ลำพังก็ตาม) ไม่เพียงเท่านี้นะคะ การให้กำลังใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน หรือถ้าเป็นไปได้การชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเช่น เดินรับแสงแดดยามเช้า ออกกำลังกาย ก็อาจจะช่วยบรรเทาภาวะ SAD นี้ได้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ 
 

Photo   Credit:https://pixabay.com 
 
              เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะช่วยให้น้องๆ รู้จักกับภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD) กันมากขึ้น เผื่อว่าน้องๆ ไปใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมืองในช่วงเวลาหนาวเหน็บ เราจะได้หมั่นเช็กอาการอยู่เสมอและรับมืออย่างเข้าใจ หรือหากอาการ SAD เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว เราจะได้เป็นอีกกำลังใจให้คนที่อยู่ในภาวะดังกล่าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างดีค่ะ ^^
 
Sources:
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น