สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D! เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงเป็นแฟนๆ ของซีรีส์เกาหลี และอาจเคยสังเกตว่าหลายๆ เรื่องที่เดินสตอรี่ในโรงเรียน มักจะมาพร้อมการกลั่นแกล้งที่เรียกติดปากกันว่า ‘บูลลี่’ (Bullying) จริงอยู่ที่บทซีรีส์ถูกเขียนเพื่อเพิ่มความเข้มข้น แต่สิ่งที่สื่อเหล่านี้สะท้อนออกมาก็คือปัญหาการกลั่นแกล้งที่มีอยู่จริงและรุนแรงมากในสังคมเกาหลี
ท่ามกลางเหยื่อมากมาย หนึ่งในกลุ่มที่ถูกบูลลี่แต่ซีรีส์ไม่ค่อยตีแผ่ให้เห็นมากนัก นั่นก็คือเด็กที่เป็น “LGBTQ+” ในโรงเรียนนั่นเองค่ะ
ความหลากหลายทางเพศไม่ควรเป็นต้นเหตุแห่งความเกลียดชัง ยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ควรมีใครบางคนตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยเพื่อชี้ชะตาคนอื่น แต่อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ยังคงอยู่ในเกาหลี? ตามไปเปิดมุมมองและเบื้องหลังของความเจ็บปวดนี้กันค่ะ!
Content Warning: บทความนี้มีเนื้อหากล่าวถึงความรุนแรง,การทำร้ายร่างกาย, โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย
..........
‘วังตา’ การกลั่นแกล้งรังแกที่อาจส่งผลถึงชีวิต
ก่อนจะเจาะปัญหาการถูกบูลลี่ของ LGBTQ+ เราขอเล่าภาพใหญ่ของปัญหาที่สั่งสมมานานในเกาหลีใต้กันก่อนค่ะ คำว่า “การกลั่นแกล้ง/รังแก” นี้มีคำเรียกในภาษาเกาหลีว่า “วังตา” (เขียนว่า 왕따) พบเจอได้บ่อยมากและความรุนแรงก็มีหลายระดับ ตั้งแต่การเมินเฉยไม่ให้เข้าร่วมกลุ่ม ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการสร้างบาดแผลทั้งกายและใจ จนเหยื่อหลายคนอาจพาเข้าสู่วังวนของโรคซึมเศร้าได้
อ้างอิงจากงานวิจัยของคุณคิมจียุนและคุณโคยอง เรื่อง “Influence of Experiencing Bullying Victimization on Suicidal Ideation and Behaviors in Korean Adolescents” (อิทธิพลของการเจอประสบการณ์การเป็นการเหยื่อในการกลั่นแกล้งรังแกต่อแนวคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตายในเยาวชนเกาหลี) ในปี 2021 ยังชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ตกเป็นเหยื่อจากการถูกรังแก มีอิทธิพลให้เหยื่อมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น และจะผลักดันไปสู่แผนการอย่างมีนัยสำคัญ โดยความวิตกกังวลไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการวางแผนและการพยายามฆ่าตัวตายอีกด้วยค่ะ
ถ้าน้องๆ จินตนาการความรุนแรงของวังตาที่เกาหลีไม่ออก ลองมาดูกรณีตัวอย่างกันดีกว่าค่ะ ในปี 2012 น้องซึงมิน เด็กชายวัย 13 ปีตัดสินใจจบชีวิตของตน เนื้อความในจดหมายได้บรรยายถึงความทุกข์จากการถูกทุบตี รีดไถ เผาด้วยไฟแช็ก ไปจนถึงการถูกใช้ลวดพันรอบคอเป็นสายจูง // น่าหดหู่มากๆ ที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสถานศึกษา และผู้กระทำล้วนเป็นเยาวชน T_T
ย้อนรอย 8 ซีรีส์ตระกูล 'School' ดราม่าตีแผ่ปัญหาในรั้วโรงเรียนเกาหลี คลิก!
เปิดเบื้องหลังการบูลลี่ LGBTQ+ ในเกาหลี
ถ้าจะพูดถึงเหตุผลของการกลั่นแกล้งในเกาหลี ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยเลยค่ะ เรามาดูกันต่อเลยว่ามีสาเหตุหลักๆ จากอะไรบ้างนะ?
แนวคิดเป็นหนึ่งเดียว
ก่อนเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ขอเล่าย้อนประวัติศาสตร์ไปเมื่อปี 1950 สงครามเกาหลีได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปราวๆ 80% เรียกว่าส่งผลกระทบเต็มๆ กับเศรษฐกิจในประเทศนอกจากนี้เกาหลีเองก็ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมาไม่น้อย ดังนั้นภาครัฐจึงหาทางขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ (เห็นได้เลยว่าเกาหลีนั้นมีความชาตินิยมสูงมากกก) ซึ่งความเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เป็นแนวคิดที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันเลยค่ะ ประมาณว่าถ้ามีใครแตกแถว หรือทำอะไรแตกต่างจากขนบก็อาจถูกมองว่าแปลกแยกและไม่เข้าพวก
นอกจากนี้ยังมี “จริยธรรมหนักเบาสู้” ซึ่งน้องๆ อาจจะเห็นได้จากประโยค “คุณทำงานหนักมากเลย” (수고했어요: ซูโกเฮดซอโย หรือ 고생했어요: โคแซงเฮดซอโย) เพราะคนเกาหลีเชื่อว่าการทำงานหนักจะเป็นกุญแจนำไปสู่เป้าหมายที่ใฝ่ฝันได้ ทีนี้เมื่อใครๆ พากันขยัน การแข่งขันในเกาหลีจึงพุ่งสูง และเกิดเป็น “วัฒนธรรมปัลรีปัลรี (빨리 빨리)” ที่ต้องทำอะไรเร็วๆ ใครมือยาวสาวได้สาวเอาขึ้นมาอีก
"นักเรียนไม่ได้เห็นว่าเพื่อนของเขาคือ ‘เพื่อน’
แต่มองเป็นการแข่งขัน และเชื่อว่าจำเป็นต้องเอาชนะคนเหล่านั้นด้วย"
— ดร.แบ จูมี
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันให้คำปรึกษาเยาวชนเกาหลี
‘ความกดดันจากสังคมนำไปสู่การแข่งขัน’ เมื่อทำตามที่สังคมคาดหวังไม่ได้ บางคนก็เลยเลือกจะกลั่นแกล้งเพื่อนที่อ่อนแอกว่าแทน แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน แต่มันก็เป็นการแสดงอำนาจทางสังคมแบบอื่นที่ทดแทนสิ่งที่พวกเขาขาดไป ดังนั้นเด็กนักเรียนที่เป็น LGBTQ+ ที่นอกจากจะถูกมองว่าแปลกแยกจากคนอื่น พวกเขาก็อาจกลายเป็นสนามอารมณ์โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลักขงจื่อที่ฝังรากลึก
ปรัชญาของลัทธิขงจื่อฝังรากลึกอยู่ในเกาหลีมานานมากและรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์โชซอนค่ะ แนวคิดหลักๆ จะเน้นเรื่องบทบาทหน้าที่ของคน อย่างเช่นบุตรมีหน้าที่สืบทอดวงศ์ตระกูล ดังนั้นกลุ่มเพศหลากหลายที่มีบุตรไม่ได้จึงถูกมองว่าน่ารังเกียจและอกตัญญูต่อพ่อแม่ เมื่อมีความเชื่อแบบนี้จึงทำให้ฝ่ายผู้กระทำเข้าใจว่าตนกำลังแสดงความชอบธรรมด้วยการลงโทษหรือรังแกชาว LGBTQ+ นั่นเองค่ะ
ที่จริงแล้วหลักของขงจื่อไม่ได้แค่กระทบผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นนะคะ แต่ยังรวมไปถึงปัญหาการเหมารวมและแบ่งแยกบทบาททางเพศของเกาหลีอีกด้วย
มุมมองทางศาสนา
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านการนับถือศาสนาในระดับหนึ่ง มีตั้งแต่กลุ่มคนที่นับถือพุทธ, คริสต์ (นิกายคาทอลิคและโปรเตสแตนต์), ลัทธิขงจื่อ รวมถึงผู้ไม่นับถือศาสนา ทว่าท่ามกลางความหลากหลายนี้ มีกลุ่มคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัดบางกลุ่มมีความเชื่อว่า “การรักเพศเดียวกันเป็นบาป”
จู โจเซฟ ผู้ก่อตั้งองค์กรต่อต้านรักร่วมเพศเพื่อความเป็นปึกแผ่นของคริสต์ศาสนิกชน (Anti-Homosexuality Christian Solidarity organization) และเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ Christian Today รวมถึงมีบทบาทเป็นทูตพันธกิจแห่งวัฒนธรรมการแต่งงานของฮาเซ็ด (the Hesed Marriage Culture Mission) เคยถือป้ายประท้วงชาว LGBTQ+ ระหว่างงานโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปี 2018 ว่า
“คนเกาหลีส่วนใหญ่ต่อต้านการรักร่วมเพศ
และการแต่งงานของเพศเดียวกันโดยสิ้นเชิง”
เหตุผลที่เขาออกมาประท้วงในครั้งนั้น เพราะทราบมาว่าในบรรดาคณะกรรมการโอลิมปิกฤดูหนาว มีคนที่เห็นด้วยกับความรักระหว่างเพศเดียวกันนั่นเองค่ะ (ปกติในองค์กรต่อต้านรักร่วมเพศฯ ของจู โจเซฟก็มักจะรวมตัวคัดค้านชุมชน LGBTQ+ เป็นประจำอยู่แล้ว โดยมองว่าเป็นการพยายามแก้ไขความรักที่ผิดไปจากแบบแผน)
นอกจากนี้ในทุกๆ ปีที่มีการจัดขบวนพาเหรดเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month (เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) อีกฟากหนึ่งก็จะมีขบวนต่อต้านนำทัพโดยกลุ่มคนที่คลั่งไคล้ในศาสนา ออกมาถือป้ายและส่งเสียงตีกลองร้องด่าเหล่า LGBTQ+
............
เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ
และถึงแม้ว่าแนวโน้มการยอมรับเพศหลากหลายในเกาหลีจะมีทีท่าดีกว่าแต่ก่อน เห็นได้จากหลังๆ มานี้มีซีรีส์วายที่ดึงเหล่าไอดอล K-POP มาเป็นนักแสดงมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่ได้ถูกยอมรับขนาดนั้นซะทีเดียวค่ะ และก็ยังมีเคสความเจ็บปวดจากการถูกรังแกออกมาอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศิลปินเกาหลีที่เปิดตัวต่อสาธารณะชนว่าเป็นเกย์อย่าง “ฮอลแลนด์” (Holland) หรือ “โคแทซอบ” (Go Tae Seob, 고태섭) ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์การถูกทำร้ายร่างกายจากคนแปลกหน้าเพียงเพราะเป็นเกย์
ฮอลแลนด์เล่าสิ่งที่เกิดลงใน Instagram ของตนว่า
"เมื่อคืนตอนผมเดินแถวๆ อิแทวอนกับผู้จัดการและเพื่อน จู่ๆ ก็มีชายแปลกหน้าเดินเข้ามาตบหน้าผมสองครั้ง แล้วด่าว่าเป็น ‘เกย์สกปรก’ ตอนนี้ผมกำลังจะไปโรงพยาบาลพร้อมกับรอยแผลเป็นบนใบหน้า
นี่คืออาชญากรรมจากความเกลียดชังชัดๆ เลย การที่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นเกย์ ไม่ควรเป็นเหตุผลในการก่อความรุนแรงกับ LGBTQ+ คนอื่นๆ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง รวมถึงชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มบนโลกใบนี้ และนี่ก็ปี 2022 แล้วแต่ยังมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่เลย มันแสดงให้เห็นเรื่องจริงอันน่าเศร้าของสิทธินุษยชนในกลุ่ม LGBTQ+
ผมแจ้งความกับตำรวจแล้ว หวังว่าคดีจะคลี่คลายไปด้วยดี และสิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ผมหวังว่าโลกของเราจะเต็มไปด้วยความรักและความหวังมากกว่าความเกลียดชังและความรุนแรงครับ”
ย้อนไปสมัยเรียน ฮอลแลนด์ก็เคยเป็นเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งเพราะ come out กับเพื่อนๆ ว่าเป็นเกย์ เค้าเคยถูกรังแกสารพัด และมีครั้งนึงถูกเพื่อนใช้เน็กไทมัดคอแล้วจับตัวเขาลากไปทั่วสนามหญ้า ส่วนคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แต่กลับยืนหัวเราะเฉยๆ ซะงั้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นเจ็บปวดจนฮอลแลนด์เคยคิดอยากจบชีวิตตัวเองเลยทีเดียวค่ะ แต่ท่ามกลางความโหดร้ายก็มีเพื่อนบางคนเข้ามาให้กำลังใจจนเขาลุกขึ้นสู้ต่อได้
‘เกย์เกาหลี’ กับชีวิตที่ต้องแบกความกดดัน และความเกลียดชังจากสังคม คลิก!
ความเจ็บปวดของ LGBTQ+ เกาหลีที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน
นักเรียน LGBTQ+ ในเกาหลีส่วนใหญ่มักจะปกปิดตัวตนเพื่อไม่ให้ถูกหมางเมินหรือกลั่นแกล้ง เพราะความเข้าใจต่อเรื่องนี้ในหมู่เด็กมัธยมเกาหลียังคงเบาบาง แม้แต่หลักสูตรเพศศึกษาในประเทศก็ยังพยายามกำหนดบทบาททางเพศและไม่เคยกล่าวถึงความหลากหลายทางเพศเลยค่ะ
ในงานวิจัยปี 2019 เรื่อง “การวิเคราะห์เปรียบเทียบการรับรู้ของครูชาวเกาหลีและชาวอเมริกันที่คาดหวังเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ” (A comparative analysis of Korean and American prospective teachers' perceptions of LGBTQ issues) แสดงให้เห็นว่าแม้แต่อาจารย์เกาหลีใต้ส่วนใหญ่ก็ยังมีมุมมองด้านลบเกี่ยวเพศหลากหลายด้วย ดังนั้นนักเรียนที่ถูกรังแกจึงไม่รู้จะขอคำปรึกษาจากไหน เพราะถ้าหากบอกไปแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาอาจเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์รสนิยมทางเพศแทนก็เป็นได้
ผู้เข้าร่วมงานวิจัยท่านหนึ่ง ได้แชร์ประสบการณ์สมัยมัธยมว่า เมื่อก่อนในคาบโฮมรูมที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนพูดคุยปรึกษากับคุณครู เพื่อนผู้ชายคนนึงจึงได้บอกกับครูว่า ‘ตนเองมีความรู้สึกรักเพื่อนผู้ชายห้องเดียวกัน’ หลังจากเผยไปครูคนนั้นก็ทุบตีเพื่อนของอย่างรุนแรง ตอนนั้นเขาถึงเข้าใจทันทีว่าการปรึกษาในชั่วโมงโฮมรูมนั้นหมายถึง “พูดอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการเรียน แต่ไม่ใช่เรื่องรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง”
. . . . . . .
มาต่อกันที่ ‘อีจี’ ที่ได้เล่าประสบการณ์การถูกรังแกในโรงเรียนเพราะเป็นเกย์ให้กับทาง Human Rights Watch องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ว่าอาจารย์ของเขาพูดถึงความสกปรกของการรักเพศเดียวกันอย่างโหดร้าย
"สัตว์ป่าคงจะได้รับการรับรองไปด้วย
ถ้าหากการแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย”
. . . . . . .
ทางด้าน 'จินพูรึน' เลสเบี้ยนในคอมมูนิตี้ได้เผยความเจ็บปวดสมัยมัธยมเช่นกัน ท่ามกลางสังคมในโรงเรียนที่รับรู้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน เธอต้องถูกคุกคามและด่าทอในเชิงว่า “น่ารังเกียจ” และ “สกปรก” ทุกข์แค่ไหนอาจารย์ก็ช่วยเหลือไม่ได้ เพราะแม้แต่อาจารย์เองยังมอง LGBTQ+ ในแง่ลบไม่ต่างกัน
นอกจากนี้เธอยังเล่าว่า มีเพื่อนคนนึงที่ come out ว่าเป็นเลสเบี้ยนเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นก็ถูกกลั่นแกล้งจนต้องดร็อปเรียน และสุดท้ายก็เลือกลาออกจากโรงเรียนไปในที่สุด
ภายหลังจากเรียนจบมัธยมปลาย พูรึนจึงพยายามรวบรวมข้อมูลและทำบล็อกเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งอาจเจอเหตุการณ์ร้ายๆ เช่นเดียวกัน แต่กลับมีมีคนมาเขียนแสดงความคิดเห็นว่า
“ฉันจะฉีกเธอให้ตาย ฉันจะใช้กรรไกรฉีกเธอให้เป็นชิ้นๆ”
. . . . . . .
“พวกคนรักเพศเดียวกันสมควรถูกยิงตาย!”
คิมโดฮยอน ชายข้ามเพศวัย 26 ปียังคงจดจำสิ่งที่เพื่อนร่วมชั้นพูดได้ดี รวมถึงอาจารย์ของเขาที่เคยบอกไว้ว่า “โลกต้องมีหยินและหยาง เป็นเหตุผลที่โลกต้องแบ่งเป็นชายและหญิง”
แม้จะผ่านมาหลายปีแต่คำพูดเหล่านั้นยังคงฝังลึกไม่ไปไหน และโดฮยอนก็ได้บอกว่า “หลังจากเรียนจบสอบเข้ามหา’ลัยได้ ผมก็พยายามลบอดีตที่เจ็บปวดและตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเด็กทั้งหมด”
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการร่างข้อเสนอเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของ LGBTQ+ ตามกฎหมาย แต่คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมในเกาหลีก็คงคัดค้านแบบหัวชนฝา หรือต่อให้มีผู้สนับสนุนข้อเสนอนี้มากขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติยอมร่างพรบ. ที่จะดึงคนกลุ่ม LGBTQ+ ให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้พวกเขายังคงต่อสู้กันต่อไปแม้ว่าอาจเสี่ยงต่อการถูกขับไล่และทารุณกรรม
หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วต้องบอกเลยว่าแต่ละเคสน่าเห็นใจมากๆ เลยค่ะ และเชื่อว่าอาจไม่ใช่แค่ในเกาหลีเท่านั้น เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากการถูกกลั่นแกล้งด้วยเหตุผลเรื่องรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศ พี่พันตาก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้น้องๆ ชาว Dek-D ได้เปิดมุมมองและเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นนะคะ ^^
********************
Sources:https://www.hrw.org/news/2021/09/14/south-korea-lgbt-students-face-bullying-discrimination https://www.hrw.org/report/2021/09/14/i-thought-myself-defective/neglecting-rights-lgbt-youth-south-korean-schoolshttps://edition.cnn.com/2012/01/18/world/asia/south-korea-bullying/index.htmlhttps://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/app5.243http://polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=482https://chicagopolicyreview.org/2016/05/13/bullying-in-south-korea-a-long-lasting-burden-to-carry/https://edition.cnn.com/2012/07/25/world/asia/south-korea-school-bully/index.htmlhttps://www.hrw.org/news/2021/09/14/once-bullied-lgbt-south-koreans-advocate-inclusionhttps://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/app5.243https://www.youtube.com/watch?v=RFHZktkut2shttps://www.youtube.com/watch?v=p_vsIEs72p8http://www.scielo.org.za/scielo.php?script=sci_arttext&pid=S1947-94172019000100007 https://thegroundtruthproject.org/south-koreas-conservative-christians-odds-growing-lgbt-movement/
0 ความคิดเห็น