สวัสดีค่าชาว Dek-D ความเดิมสองตอนที่แล้ว เราเคยชวน “พี่จิมมี่-กษิดิ์เดช สมบูรณ์กิตติชัย” รุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์ IR จุฬาฯ มาแชร์ตั้งแต่ประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ Sciences Po สถาบันสายสังคมศาสตร์ชื่อก้องโลกของฝรั่งเศส และหลังจากจบ ป.ตรี ก็สมัครติดทุน「 POSCO Asia Fellowship 」และได้รับการตอบรับเข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยครบ 3 แห่งคือ Seoul, Korea, Yonsei
ด้วยความที่มีช่วงว่างก่อนปิดเทอมเป็นปี พี่จิมมี่ใช้จังหวะนี้สมัครและติดทุนเต็มจำนวนเรียนต่อสาขา Conflict Governance and International Development ที่ University of East Anglia ประเทศอังกฤษ (ข้อดีของ ป.โท ที่อังกฤษคือเรียนปีเดียว) ต่อด้วย Political Science and International Relations (International Relations Major) ที่ Seoul National University (SNU) สำหรับ SNU คือมหาวิทยาลัยที่ครองอันดับ 1 ของเกาหลี ทั้งจากสำนัก QS World University Rankings 2024 และ The Times Higher Education World University Rankings 2024 เลยค่ะ!
แต่ๆ ชื่อคณะแนวรัฐศาสตร์เหมือนกัน เรียนใกล้เคียงกันไหม? แตกต่างกันตรงไหนบ้าง? แล้วรู้สึกยังไงหลังจากผ่านประสบการณ์เรียนรัฐศาสตร์จากคลาสของมหาวิทยาลัยดัง 3 ประเทศ? ตามมาอ่านรีวิวประสบการณ์ตรงกันเลยค่ะ!
Note: อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ทุนตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ “พี่จิมมี่" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พบพี่จิมมี่ได้ในวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair
เปิดความท้าทายครั้งใหม่
ปริญญา 3 ใบต่างกันยังไงบ้าง!
เรียนภาคปกติที่สอนทั้งภาษาเกาหลีและอังกฤษ เพราะตัวภาควิชาปกติผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในเกาหลี เช่น ประธานาธิบดีเกือบทุกคน นักการเมือง รวมถึง เลขาธิการสหประชาชาติ อย่าง Ban Ki-Moon จึงสามารถอนุมานได้ว่าภาควิชานี้จะทำให้ผมเก่งขึ้นแน่นอนครับ (แต่ทั้งนี้คือเราสามารถลงเรียนวิชานอกคณะกับเด็กอินเตอร์ได้นะ)
ตอนผมเรียนรัฐศาสตร์ที่ไทย จะเน้นลงทฤษฎีเป็นหลัก ไม่ได้เน้นวิจัย พอมา ป.โท ใบแรก (UEA) ยังพอมีเลกเชอร์ และเป็นการทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เน้นทฤษฎีด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย และความขัดแย้ง ระเบียบวิธีการวิจัยทางด้านคุณภาพ (Qualitative method) เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) การสนทนากลุ่ม (focus group) และ การทำวิจัยจดหมายเหตุ (Archival Research) ฝึกวิเคราะห์จากบทสัมภาษณ์ เปรียบเทียบกรณีศึกษา ทำ Focus Scoop ประมาณนี้ครับ
แต่พอมาเป็น ป.โท ใบที่สอง (SNU) แทบไม่มีเลกเชอร์เลย เน้นสัมมนาและระเบียบวิธีการวิจัย ซึ่งเป็นวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ที่มีความเป็นสายวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ต้องประยุกต์ใช้พื้นฐานสถิติแบบเข้มข้น เรียนการใช้โปรแกรม STATA และ R เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลมาทำวิจัย เช่น การวิจัยที่เน้นหาคำตอบว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต่างกัน สำรวจว่าอะไรคือ 1) ปัจจัยที่ทำให้สงครามการเมืองเกิดขึ้นหรือยาวนานกว่าในบางประเทศมากกว่าอีกประเทศ 2) ปัจจัยที่ทำให้บางประเทศสนับสนุนกลุ่มก่อกบฏในประเทศเพื่อนบ้าน มากกว่าประเทศอื่น 3) ปัจจัยที่ทำให้บางกลุ่มก่อกบฏเลือกรับผู้หญิงเข้ามาร่วม
หยิบเคสที่เจรจาสันติภาพสำเร็จและไม่สำเร็จมาเทียบกัน ทั้ง 2 เคสต้องเหมือนกันเพื่อจะได้ควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วหาสาเหตุว่าอะไรทำให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน
เขาจะ assumed ว่าทุกคนมีสกิลทำวิจัยแนวนี้แข็งแกร่งมาตั้งแต่ ป.ตรี แต่สำหรับผมไม่เคยเจอมาก่อน ต้องเริ่มใหม่หมดตั้งแต่ศัพท์เฉพาะ การเขียนเปเปอร์สไตล์วิจัยเชิงปริมาณก็ต่างกัน ต้องศึกษาว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง ฯลฯ
ผมอาศัยค้นคว้าจากวารสารวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่เขาทำเป็นเชิงปริมาณ หาหัวข้อที่สนใจมาอ่านให้ละเอียด สังเกตตัวแปรที่เขาใช้ จากนั้นก็ต้องลงมือทำเลยถึงจะเข้าใจ เช่น อาจลองหยิบ Data Set มาลองทำตามเพื่อดูว่าเรามาถูกทางมั้ย (อารมณ์เหมือนลองทำโจทย์เลขแล้วเอาคำตอบมาเทียบกับเฉลย) แล้วลองเอาตัวแปรควบคุมมาผสมกัน แล้ว run ดูเผื่อได้ความสัมพันธ์ใหม่ขึ้นมา
ถึงจะยากแต่ผมรู้สึกตัดสินใจถูกมากๆ
ข้อดีของการทำวิจัยเชิงปริมาณก็คือได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือจากการมีหลักฐานที่มารับรองและสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้ในบริบทอื่นได้ เพราะต้องศึกษาตัวแปรที่วัดได้เท่านั้น ทำให้จัดระเบียบความคิดได้ชัดเจนขึ้น และการฝึกใช้ซอฟต์แวร์สถิติอย่าง R หรือ, STATA ที่ประยุกต์ได้กว้างจะช่วยเพิ่มโอกาสหางานให้มากขึ้นไปอีก สมมติจะจะทำงานที่สถาบันวิจัย Think Tank เค้าจะ required ให้มี Skill ด้านนี้เป็นพิเศษ ยิ่งถ้าประยุกต์กับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากเป็นพิเศษ ถือเป็น Candidate ที่เข้มแข็งมากครับ
ลองมาโยงกับวิชาเรียนให้เห็นภาพขึ้น
พวก Article ของงานวิชาการเชิงปริมาณจะออกมาเป็นรูปแบบตาราง สถิติ เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในงานวิจัยโดยมานั่งวิเคราะห์กัน ซึ่งอาจารย์อธิบายละเอียดมากกกก ช่วยให้เราวิเคราะห์ตาราง สถิติเป็น ทำความเข้าใจได้ รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน สอนการอ่านเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบทความนั้นๆ ใช้เครื่องมือในการวัดตัวแปรที่ต้องการศึกษาถูกต้องไหม วิเคราะห์ขั้นตอนการสร้างทฤษฎีว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ และพิจารณาว่าตัวแปรที่ถูกกล่าวถึง ครอบคลุมทั้งหมดหรือยัง ส่วนการบ้านจะเยอะเพราะต้องทำ Reading Summary ส่งก่อนเรียน รวมๆ สัปดาห์ละ 5-6 บทความครับ
วิชาที่ผมชอบสุด ถ้าแปลเป็นไทยคือ "สงครามการเมืองและความขัดแย้ง" เรียนทุกมิติของสงครามกลางเมือง ซึ่งบางอย่างก็เป็นมุมมองที่เราไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นว่าอะไรคือสาเหตุความขัดแย้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ความขัดแย้งระยะยาว-ระยะสั้น และสาเหตุที่ทำให้สงครามสิ้นสุด มีตัวแปรอะไรที่สามารถใช้อธิบายได้ไหม หรือเวลาที่มีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบางกลุ่มเคลื่อนไหว และบางกลุ่มไม่เคลื่อนไหว หรือจะมาพิจารณาในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เพชรและน้ำมัน ว่าส่งผลยังไงต่อสงคราม เป็นต้น
ส่วนการคิดเรื่องหัวข้องานวิจัย วิธีที่ดีที่สุดคือตามข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศ อาจารย์อเมริกันคนนึงของผมให้ทุกคนอัปเดตข่าว 20 นาทีก่อนที่เริ่มอภิปรายเนื้อหาของวีคๆ นั้น ตรงนี้ช่วยจุดประกายในการทำรีเสิร์ช เพราะเราจะต้องหาว่าหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจจะทำ มีคนทำแล้วหรือยัง และมีทฤษฎีไหนสามารถอธิบายเหตุการณ์นั้นๆได้หรือไม่ สำหรับผมคิดว่างานวิจัยเชิงปริมาณยากกว่าเชิงคุณภาพตรงที่เราต้องสร้างชุดคำอธิบาย หรือทฤษฎี (Theory) ขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายความสัมพันธ์นั้นๆ ให้ได้ เช่น ทำไม X (ประชาธิปไตย) ถึงทำให้เกิด Y (สันติภาพที่ปราศจากสงคราม) เป็นต้น
เพื่อนหลากหลาย ดิสคัสได้แบบเดือดๆ
การมีส่วนร่วมในคลาสก็คือหนึ่งในเกณฑ์การให้คะแนน ทำให้มีการอภิปรายเยอะและมันส์ เราแสดงความเห็นได้เต็มที่ Topics เปิดกว้างคุยได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การประท้วง การเจรจาสันติภาพ การแทรกแซงการต่างประเทศ ฯลฯ และจะนำหลักวิทย์ฯ มาจับว่าอะไรคือสาเหตุของผลลัพธ์ที่เราสนใจ เช่น ทำไมกลุ่มก่อกบฎถึงเลือก strategy ก่อการร้ายครั้งนี้ขึ้นมา อาจารย์ก็จะไม่ชี้นำว่าอะไรถูก/ผิด แต่จะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด เช่น อะไรทำให้เกิดสงครามการเมืองนะ? ลองโยงตรรกะ (Logic) ดูสิ
แล้วเพื่อนมี background และความสนใจที่หลากหลาย ในประเด็นเดียวเราจะได้ฟังมุมมองน่าสนใจจากหลายมุม เช่น เพื่อนสายจิตวิทยาสังคม สายเศรษฐกิจหรือการเมือง หรือเพื่อนบางคนที่เคยทำการทดลองมาแล้วว่าทำไมมนุษย์ถึงมีพฤติกรรมอยากประท้วง ฯลฯ ส่วนผมก็จะเน้นแชร์ด้านประชาธิปไตย การเมืองการปกครอง เพราะเรามีพื้นฐานด้านสันติภาพจากการเรียน Conflict Governance and International Development ที่ UEA มาครับ
[คำเตือน] ถึงเรียนสายศิลป์ก็ใช่ว่าจะทิ้งเลขได้
โดยเฉพาะ "สถิติ" สำคัญมากๆ (ตอนเรียนเตรียมผมเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส ก็ยังมาเจอเอาตอนนี้) หรือถ้าถึงเวลาต้องเลือกคณะเรียนต่อ แต่ยังหาทางที่ชอบไม่เจอจริงๆ แนะนำให้เลือก Data Science ไว้ก่อน เพราะเราจะได้เรียน Tools และการเขียนโค้ดต่างๆ เพื่อใช้ต่อยอดไปเรียนสาขาที่เราสนใจได้ เช่น Business Analytics, Biostatistics ฯลฯ ยิ่งถ้าเกิดเป็นรัฐศาสตร์เชิงปริมาณ ถือเป็นแรร์ไอเทมเลยครับ
Tips: ถ้าจะหามหาวิทยาลัยที่สอนวิจัยแนวนี้ใน UK วิธีสังเกตคือชื่อขึ้นต้นด้วย Quantitative เช่น Quantitative Social Science
ส่วนใครที่มาเรียน ป.โท/เอก แนะนำว่าไม่ควรเลือกมหาวิทยาลัยจาก Rankings เพียงอย่างเดียว เพราะอาจไม่ตรงกับสไตล์หรือไม่ได้ตอบโจทย์เป้าหมายของเรา ควรเลือกจากอาจารย์ที่ปรึกษาคือพยายามเปิดดู Article มาเยอะๆ ก่อนว่าหัวข้อวิจัยเรากับเขาเป็นไปในทางเดียวกันมั้ย เรื่องคอนเน็กชันก็สำคัญมาก ตอนเรียนเองผมมีโอกาสได้ทำ Side Project กับอาจารย์ที่ปรึกษา และได้ตีพิมพ์กับวารสารชื่อดัง ซึ่งการที่มีชื่อร่วมตีพิมพ์กับเขาคือโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับนักเรียน ป.โท เลยครับ
เรียนหนักท่ามกลางบรรยากาศดีต่อใจ
ที่เกาหลีวิวสวยมากกกกครับ ถ่ายรูปยังไงก็ออกมาเหมือนอยู่ในซีรีส์ มหาวิทยาลัยอยู่บนเขา ต้นไม้ธรรมชาติก็ดี ช่วงซากุระบานคือเห็นเป็นทุ่ง Cherry Blossom ที่สวยและกว้างใหญ่สุดๆ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองนั่ง Shuttle Bus วนรอบมหา’ลัย // ที่ชอบอีกคือคาเฟ่ปิดตี 5 อ่านหนังสือข้างนอกได้ด้วยนะ
สถานีต่อไป ปริญญาเอก
ประสบการณ์เรียนที่ผ่านมาทั้งหมด พาผมไปเจอเพื่อนร่วมคลาสที่มีคุณภาพและมาจากหลายประเทศ แตกต่างทั้งแนวคิดการวิเคราะห์ ตัวอย่างกรณีศึกษา ได้ฟังเคสที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ มันมีความ international และเป็นประโยชน์มาก
ระหว่างเรียนที่ SNU ผมมีหาหลักสูตรและเตรียมสมัคร ป.เอกที่อังกฤษไปด้วย (เตรียมมา 2-3 ปี เดือดสุดคือ 4-5 เดือนหลังๆ) ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาตอน ป.โท ที่นี่ด้วยครับ ฝากเอาใจช่วยผมด้วยนะครับบบ! ถ้ายังไงจะมาอัพเดตให้ฟัง ผ่านช่องทาง FB : Kasidech Somboonkittichai นะครับ ติดตามได้เลย!
เว็บคณะ Politicals Science & IRเว็บคณะ ม.แห่งชาติโซล (SNU). . . . . . . . .
You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่จิมมี่ตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27 เม.ย. 2024
รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน (ICDF), ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!
"พี่จิมมี่" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ
เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
0 ความคิดเห็น